Dragon Zakura เข้ามหาวิทยาลัยน่ะเรื่องขี้ผง
Dragon Zakura เข้ามหาวิทยาลัยน่ะเรื่องขี้ผง

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน

โดย วินิทรา นวลละออง



คิดว่าประโยคข้างบน พระเอกของเรื่อง Dragon Zakura หรือ "นายซ่าท้าเด็กแนว" คงพูดกรอกหูนักเรียนอยู่เป็นประจำค่ะ ที่จริงการ์ตูนเรื่องนี้เคยยกมาพูดไปแล้วพร้อมๆ กับช่วงที่ละครญี่ปุ่นซึ่งสร้างจากการ์ตูนเรื่องนี้กำลังฉายอยู่พอดี แต่แล้วหนังสือการ์ตูนก็ขาดช่วงไปนานมาก นานจนลืมเรื่องนี้ไปแล้ว เพิ่งได้ฤกษ์คลอดเล่ม 4 มาไม่กี่วันนี้เอง

"นายซ่าท้าเด็กแนว" เป็นการ์ตูนที่ได้รับรางวัลการ์ตูนยอดเยี่ยมประจำปี 2005 จากสำนักพิมพ์ Kodansha ซึ่งแจกรางวัลทุกปีสำหรับการ์ตูนและผู้รังสรรค์การ์ตูนผู้ทรงคุณค่า หลายเรื่องที่ได้รับรางวัลนี้ไม่ใช่การ์ตูนมหากาพย์ยิ่งใหญ่หรือยอดขายถล่มทลาย แต่เป็นการ์ตูนที่มีศิลปะการเล่าเรื่องได้น่าติดตาม เนื้อหาคุ้มค่าต่อการเสียเวลาอ่าน และสะท้อนภาพแนวคิดร่วมสมัยของญี่ปุ่นผ่านสัญลักษณ์ต่างๆ ในการ์ตูนได้อย่างน่าชื่นชม จึงไม่แปลกที่ "นายซ่าฯ" จะเหมาะสมกับรางวัลนี้ที่สุดสำหรับประเทศที่คิดว่าการสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ต่างจากการออกรบ

ซากุระงิเป็นทนายความจนๆ ที่ตัดสินใจเข้าไปทวงหนี้โรงเรียนมัธยมปลายริวซัง โรงเรียนซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแหล่งรวมคนหัวขี้เลื่อยและเด็กไม่เอาไหน เขาเห็นว่าการปิดโรงเรียนไม่ใช่ทางแก้ปัญหาจึงเสนอโครงการสร้างชื่อเสียงให้โรงเรียนด้วยการตั้งเป้าหมายว่าจะต้องมีนักเรียนจากริวซังเข้ามหาวิทยาลัยโตเกียวให้ได้! สำหรับความรู้สึกของคนญี่ปุ่นยุคเก่า มหาวิทยาลัยโตเกียวคือสุดยอดของมหาวิทยาลัยสำหรับคนเก่งค่ะ ทุกคนเชื่อว่าจบมหาวิทยาลัยนี้ย่อมมีอนาคตที่สดใสรออยู่แน่นอน (แม้ในความเป็นจริง ปัจจุบันนี้มีมหาวิทยาลัยชั้นแนวหน้าในญี่ปุ่นอีกหลายแห่งที่สอนบางสาขาวิชาแจ๋วกว่ามหาวิทยาลัยโตเกียวเพียบ)

ในเล่ม 4 เล่ามาถึงหน่วยกล้าตาย 2 คน ที่ยินดีเข้าคอร์สเรียนพิเศษของซากุระงิ ติวเข้ม 1 ปีเพื่อเข้ามหาวิทยาลัยโตเกียวให้ได้ ทั้งสองคนกำลังเรียนภาษาอังกฤษค่ะ เด็กไทยบางคนกลัวภาษาอังกฤษเพราะพูดไม่เก่ง และเด็กยุคเก่าหลายคนเรียนแต่ไวยกรณ์โดยไม่ทราบวิธีการใช้ภาษาในชีวิตประจำวันด้วยซ้ำ แต่เชื่อไหมคะว่าญี่ปุ่นลำบากกว่าเราค่ะ

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ไม่รู้ภาษาอังกฤษเลยก็อยู่ได้ เพราะทุกอย่างในบ้านเมืองเขาหาภาษาอังกฤษได้น้อยมากๆ ประกอบกับลักษณะคำในภาษาญี่ปุ่นไม่มีตัวสะกดและมีเสียงวรรณยุกต์ไม่หลากหลายนัก (ของไทยผันได้ตั้ง 5 เสียงแถมตัวสะกดได้เกือบทุกแบบ) ดังนั้น เวลาคนไทยพูดภาษาอังกฤษจึงฟังง่ายกว่าคนญี่ปุ่นพูด

เริ่มต้นแบบนี้แล้วรู้สึกภาคภูมิใจขึ้นไหมคะ ในการ์ตูนเรื่องนี้ก็หยิบยกความกลัวภาษาอังกฤษของชาวญี่ปุ่นมาพูดเหมือนกันค่ะ ครูพิเศษบอกกับนักเรียนว่าในบรรดาเด็กที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยโตเกียว มีน้อยคนเหลือเกินที่จะเก่งภาษาอังกฤษ และคำว่าเก่งภาษาอังกฤษก็ใช่ว่าจะต้องพูดกับฝรั่งได้เหมือนผีฝรั่งเข้าสิงเสียหน่อย ข้อสอบภาษาอังกฤษเข้ามหาวิทยาลัยโตเกียวไม่ได้ทดสอบว่าเราเก่งภาษาอังกฤษแต่ทดสอบว่าเราใช้ภาษาอังกฤษพื้นฐานสำหรับการเรียนมหาวิทยาลัยได้หรือไม่ต่างหากค่ะ

แบบนี้ก็สบายสิคะ ไวยกรณ์พื้นฐานอาจจำเป็น แต่สิ่งที่พบในวิชามารเรียนลัดของการ์ตูนเรื่องนี้คือการ "จำประโยคพื้นฐาน" ค่ะ ข้อสอบไม่ได้มีอะไรซับซ้อนมาก เพียงแค่เราจำความรู้พื้นฐานให้ได้และระวังไม่ให้เขียนผิด แค่นี้ก็เพียงพอแล้วค่ะ

สิ่งที่ได้รับตอนอ่านเล่ม 4 จบไม่ใช่เทคนิคการสอบภาษาอังกฤษ แต่เป็นความเข้าใจถึงธรรมชาติของวิชาและการสอบ ซากุระงิแสดงให้เราเห็นว่าคนเก่งอาจสอบได้คะแนนดี แต่คนที่รู้หลักการทำข้อสอบจะได้คะแนนดียิ่งกว่า เพราะข้อสอบไม่ใช่ตัววัดว่าเราโง่หรือฉลาดแต่วัดว่าความรู้ส่วนที่เขาต้องการให้มี เรามีและแสดงให้เห็นว่ามีจริงได้แค่ไหน ดังนี้ ถ้ามีความรู้เยอะแต่ไม่รู้จักดึงออกมาใช้หรือนำเสนอได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ย่อมสอบได้คะแนนไม่ดีเหมือนกัน

แต่แค่เทคนิคดีก็ใช่ว่าชีวิตจะประสบความสำเร็จนะคะ ไม่อย่างนั้นคนที่เรียนในโรงเรียนกวดวิชาก็ต้องสอบติดมหาวิทยาลัยดีๆ กันหมดแล้วสิ

คำตอบสุดท้ายที่ซากุระงิบอกเราคือต่อให้เทคนิคล้ำเลิศเพียงใด ความใส่ใจทุ่มเทต่างหากที่เป็นกุญแจสำคัญของความสำเร็จ

ยาจิม่า หนึ่งในสองนักเรียนคอร์สติวเข้มพิเศษของซากุระงิต้องการสอบเข้ามหาวิทยาลัยโตเกียวให้ได้เพื่อพิสูจน์ให้ครอบครัวเห็นว่าเขาไม่ใช่เด็กเหลือขอ ความไม่มั่นใจในตัวเองของเขาทำให้ท้อและเป๋ไปบ้างเหมือนกัน ส่วนมิซึโนะต้องการเปลี่ยนชีวิตตัวเองจากวังวนของครอบครัวที่สิ้นหวัง เธอจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากสอบเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ ให้ได้และทำงานเลี้ยงตัวเอง สิบกว่าปีที่ทั้งสองใช้ชีวิตขาดทุนมาตลอด จึงหวังว่ายอมขาดทุนยิ่งกว่าที่ผ่านมาโดยการตั้งใจเรียนอย่างยากลำบากเพื่อหวังผลให้ช่วงชีวิตที่เหลืออีกหลายสิบปีมีแต่กำไร

เป็นการ์ตูนที่ดีและเหมาะกับศักราชใหม่หลังประกาศผลสอบเข้ามหาวิทยาลัยแบบช่วงนี้เลยค่ะ หากอ่านแล้วเกิดแรงฮึดขึ้นมาตั้งแต่ต้นปีการศึกษาแบบนี้ น้องๆ ที่กำลังเตรียมสอบหรือรอสอบใหม่ปีหน้าจะได้มีความหวังว่าความพยายามอยู่ที่ไหน ใช่ว่าจะมีแต่ความพยายามอยู่ที่นั่นความสำเร็จก็อยู่ด้วยค่ะ

//www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01sun02180551&day=2008-05-18§ionid=0120



Create Date : 15 มิถุนายน 2551
Last Update : 25 พฤศจิกายน 2556 16:58:44 น.
Counter : 1259 Pageviews.

0 comment
'รถด่วน 999' กับการมองอนาคตผ่านแว่นในอดีต
'รถด่วน 999' กับการมองอนาคตผ่านแว่นในอดีต
คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน โดย วินิทรา นวลละออง

"....แต่เมื่อเมเธลกับเท็ตสึโร่ลงมาที่ดาวนี้ ทุกอย่างรอบตัวกลับไม่เป็นเหมือนอย่างที่คิด บ้านทุกหลังเหมือนญี่ปุ่นยุคหลังสงคราม เต็มไปด้วยบ้านเก่าๆ ที่ซ่อมแล้วซ่อมอีกเหมือนเพิ่งผ่านพายุมาหมาดๆ...."

แทบไม่น่าเชื่อว่า ผลงานเรื่อง Galaxy Express 999 ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2520 คือ 31 ปีก่อน หนึ่งปีต่อมาก็สร้างเป็นภาพยนตร์การ์ตูนทางโทรทัศน์และได้รับความนิยมจนฉากออกมาถึง 113 ตอน ในช่วงเวลาเพียง 4 ปี มีการ์ตูนเพียงไม่กี่เรื่องในธุรกิจอุตสาหกรรมการ์ตูนที่ยิ่งใหญ่ของญี่ปุ่นสามารถทำได้ค่ะ และที่มหัศจรรย์ยิ่งกว่าคือ เมื่อนำต้นฉบับดั้งเดิมมาพิมพ์ใหม่และเพิ่งหยิบอ่านเมื่อกี้ เนื้อหาแนวไซไฟซึ่งควรตกยุคไปไกลแบบไม่เห็นฝุ่นกลับร่วมสมัยและไม่มีความเชยแม้แต่น้อย ตัวละครหลักอย่างเมเธลสาวงามเหมือนหลุดมาจากภาพกำเนิดวีนัส และเท็ตสึโร่ ได้สร้างเอกลักษณ์ของตนเองขึ้นมาและทำให้ผู้คนจดจำพวกเขาได้ ไม่มีวันล้าสมัยแม้ว่าจะผ่านไปอีกเป็นร้อยปีก็ตาม

วันนี้นั่งอ่านเล่ม 7 ค่ะ รู้สึกกินใจจนต้องยกมาคุยเสียหน่อย ตอนที่อ่านแล้วรู้สึกว่า "ใช่เลย!" คือ "ดวงดาวแห่งอนาคต" แวบแรกคิดว่าต้องเป็นดาวที่เต็มไปด้วยอุปกรณ์ไฮเทคมากมายแน่ๆ แต่อนาคตของการ์ตูนเมื่อสามสิบปีก่อนอาจจะหมายถึงดาวที่เต็มไปด้วยหุ่นยนต์ก็ได้

แต่เมื่อเมเธลกับเท็ตสึโร่ลงมาที่ดาวนี้ ทุกอย่างรอบตัวกลับไม่เป็นเหมือนอย่างที่คิด บ้านทุกหลังเหมือนญี่ปุ่นยุคหลังสงคราม เต็มไปด้วยบ้านเก่าๆ ที่ซ่อมแล้วซ่อมอีกเหมือนเพิ่งผ่านพายุมาหมาดๆ กระทั่งโรงแรมที่รถด่วน 999 จัดให้ยังซอมซ่อจะพังมิพังแหล่ แตกต่างจากโรงแรมอื่นที่เท็ตสึโร่เคยเห็น เพราะไม่มีพนักงานต้อนรับหรือห้องพักหรูหรา

ความเป็นอยู่ของคนบนดาวนี้เรียบง่ายไม่ซับซ้อนค่ะ ทุกคนดูโผงผางตรงไปตรงมาและขยันขันแข็งทำงาน อาหารที่นำมาให้ก็พูนจานและจัดวางเหมือนอาหารกรรมกร คือไม่เน้นความสวยงามทั้งที่เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้รสชาติสำหรับอาหารญี่ปุ่น ห้องอาบน้ำรวมถ้าไม่ร้อนก็มีคนคอยบริการเติมฟืนให้ ลูกสาวเจ้าของโรงแรมช่วยขัดตัวเท็ตสึโร่ (ด้วยแปรงขัดพื้น) เรียกว่าเรียบง่าย ไม่พิธีรีตองแต่จริงใจกันทั้งดาวค่ะ

เช้าวันรุ่งขึ้น แทนที่จะเป็นเช้าสดใสกลับกลายเป็นเช้าที่ยับเยินเนื่องจากมีพายุแปลกๆ พัดโรงแรมทั้งหลังพังหมด ไม่เหมือนพายุในบ้านเรานะคะ พายุขี้โม้ในการ์ตูนเขาพัดพังแค่จุดเดียวค่ะ ผลคือทุกอย่างในโรงแรมกระจัดกระจายหายไปทั่วเมือง แต่เจ้าของโรงแรมกับลูกสาวก็ยังยิ้มแย้มราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ปัญหาคือบัตรผ่านขึ้นรถด่วน 999 ของเมเธลและเท็ตสึโร่ก็หายไปกับข้าวของทั้งหมดด้วย เหลือแค่เสื้อผ้าติดตัวคนละชุด

วินาทีนั้นเท็ตสึโร่สงสัยเจ้าของโรงแรมและลูกสาวขึ้นมาทันที เป็นไปได้อย่างไรที่โรงแรมพังทั้งหลังแต่สองคนนั้นยังหัวเราะได้ คำตอบมีอย่างเดียวคือ สองคนนั้นต้องขโมยบัตรผ่านและวางแผนจะขึ้นรถด่วนแทนพวกเขาแน่

อ่านถึงตรงนี้ก็พยักหน้าค่ะ เห็นด้วยๆ แต่เมเธลกลับบอกว่า "เท็ตสึโร่จะสงสัยคนที่นี่ไม่ได้นะ" นั่งรอซักพักก็มีคนเอาราเมงมาให้กินและปลอบใจว่าไม่ต้องกลัว ซักวันต้องมีเรื่องดีๆ เกิดขึ้นแน่ เท็ตสึโร่ถึงกับยิ้มออกเลยค่ะ เขาสาบานว่าแม้บัตรจะถูกขโมยและต้องติดอยู่ที่ดาวนี้ แต่ซักวันเขาต้องไปยังดาวที่ต้องการให้ได้ เขามองเห็นตัวเองในอนาคตเป็นอย่างนั้น

ในที่สุดของทั้งหมดรวมถึงบัตรผ่านก็ถูกนำมาคืนให้ทั้งสองจนได้ ของทุกชิ้นถูกพายุพัดกระจายไปทั่วเมือง แต่ชาวเมืองก็ร่วมแรงร่วมใจหามาให้ได้ครบทุกชิ้น เท็ตสึโร่อ้าปากค้างเลยค่ะ เขาถามว่า ไม่ขโมยบัตรไปขึ้นรถไฟเหรอ เจ้าของโรงแรมก็หัวเราะแล้วบอกว่า จะขโมยทำไม ของแบบนั้นแค่ตั้งใจทำงาน ซักวันก็ซื้อเองได้ โรงแรมพังแล้วแต่มือเท้ายังอยู่ก็สร้างขึ้นมาใหม่ได้

และเพราะทุกคนเชื่อมั่นว่าความพยายามจะนำมาซึ่งอนาคตที่ดี จึงไม่มีใครอิจฉาอยากมีของที่คนอื่นมี เพราะถ้าคนอื่นมีได้ ซักวันเราก็ต้องมีได้เช่นกัน แต่ช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง

อ่านจบแล้วรู้ทันทีว่าเมเธลให้เท็ตสึโร่แวะที่ดาวนี้ทำไม เท็ตสึโร่เติบโตขึ้นและเริ่มมองเห็นอนาคตของตัวเอง ในระหว่างที่คนอ่านก็โตขึ้นและดีใจที่ยังมือสองมือสองเท้าให้ทำงานได้เช่นกัน

ไม่น่าเชื่อเลยค่ะ ได้ยินสุภาษิต "ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น" มาตั้งนานแต่ไม่เคยซาบซึ้ง แต่เพียงแค่อ่านการ์ตูนเรื่องเดียวก็เข้าใจอย่างซาบซึ้งเลยค่ะ ความดีเห็นทีจะแค่สอนไม่ได้ ต้องนำเสนออย่างน่าสนใจด้วยนะคะเด็กๆ ถึงจะยอมทำตาม

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11019,หน้า 21



Create Date : 14 พฤษภาคม 2551
Last Update : 25 พฤศจิกายน 2556 16:58:38 น.
Counter : 1046 Pageviews.

6 comment
The Puppet Master Lin ตุ๊กตาพิศวง


ใครอยากลองอ่านการ์ตูนที่ให้อารมณ์ย้อนยุคไปเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน เล่มนี้ถือว่าเป็นฟอสซิลมีชีวิตที่ทรงคุณค่าของวงการการ์ตูนเลย

หากกล่าวถึงชื่อ 'วาดะ ชินจิ' แล้ว สิ่งแรกที่แฟนๆ การ์ตูนนึกถึงคงเป็น 'การ์ตูนแอ๊คชั่นที่ผู้หญิงอ่านได้ ผู้ชายอ่านดี' เนื่องจากผู้วาดเป็นผู้ชายจึงเข้าใจความสนุกในแบบผู้ชายได้ดีกว่า ในทางกลับกัน อาจารย์วาดะยังเป็นมือวางอันดับต้นๆ ในฐานะนักเขียนการ์ตูนผู้หญิงแนวแอคชั่นที่อยู่ยืนยงมาหลายสิบปี ดังนั้นผลงานล่าสุด 'ปริศนาตุ๊กตาพิศวง' แม้จะตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์การ์ตูนผู้หญิงในไทย ก็มั่นใจได้ว่าคุณหนุ่มๆ คงเต็มใจซื้อกันแน่นอนค่ะ

'ริน' ลูกสาวคนเล็กของครอบครัวนักเชิดหุ่นกระบอกบุนราขุ (หุ่นไม้ขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นซึ่งอาจต้องใช้ผู้เชิดหลายคน) ทราบข่าวร้ายว่าคุณปู่และพี่สาวของเธอเสียชีวิตจากไฟไหม้บ้าน ขณะนั้นเธอเรียนอยู่ในโรงเรียนประจำที่เยอรมนี ทางเดียวที่จะกลับญี่ปุ่นได้คือลักลอบหนีออกมาโดยมีสมบัติติดตัวเพียงชิ้นเดียวคือ 'โปเต้' ตุ๊กตาหมีคู่ใจ

สิ่งแรกที่รินทำเมื่อกลับมาถึงญี่ปุ่นคือไปพบ 'อาซาโอกะ มิยาบิ' คู่หมั้นของพี่สาวผู้ล่วงลับ เธอแน่ใจว่าอาซาโอกะเป็นคนฆ่าพี่สาวและเผาบ้านแน่ๆ แต่ความที่อาซาโอกะเป็นนักไวโอลินที่มีชื่อเสียงจึงไม่มีใครสนใจฟังเรื่องของรินเลยสักคน

ในตอนนั้นเอง รินกลับไปยังบ้านที่เหลือแต่ตอตะโก และเมื่อเข้าไปยังห้องเก็บสมบัติลับของตระกูล เธอจึงพบว่าหุ่นกระบอก 3 ตัวที่ได้รับสืบทอดจากบรรพบุรุษหายไปจากตู้เก็บเสียแล้ว นั่นคือจุดเริ่มต้นของการต่อสู้เพื่อชิงหุ่นกระบอกคืนมาค่ะ

เรื่องราวเหมือนจะเริ่มต้นด้วยการชำระแค้นแบบธรรมดา แต่ก็กลายเป็นการ์ตูนแอ๊คชั่นไปทันทีเมื่อรินไม่ได้เชิดหุ่นด้วยวิธีดังเช่นที่คนทั่วไปเชิดกัน เธอมีพลังพิเศษทำให้หุ่นกระบอกขยับได้โดยไม่ต้องใช้เส้นเชือกราวกับมีชีวิต เช่นเดียวกับอาซาโอกะผู้ขโมยหุ่นกระบอกทั้งสามไปและใช้มันในการฆ่าคนหลายครั้ง งานนี้ทางเดียวที่รินจะสู้ได้คือต้องสู้ด้วยหุ่นค่ะ!...ไม่ใช่ตุ๊กตาหมีอย่างโปเต้แน่นอน (อารมณ์เหมือนนักสู้คอมพิวเตอร์สมัยก่อนที่ส่งหุ่นไปสู้กันเอง)

สหายสนิทที่รินพบที่เยอรมนีได้ส่งตุ๊กตาน่ารักตัวหนึ่งมาให้ เธอชื่อ 'อลิซ' และเป็นไม้เบื่อไม้เมากับรินจนทะเลาะกันเป็นประจำ อย่างไรก็ตามเมื่อต้องร่วมมือกันจัดการอาซาโอกะ ทั้งรินและอลิซจึงผนึกกำลังกันปราบเหล่าร้ายเพื่อพิทักษ์ความยุติธรรมค่ะ สู้ต่อไปนะรินและอลิซ!

...ฟังที่เล่ามาแล้ว รู้สึกโบราณนิดๆ อย่างบอกไม่ถูกไหมคะ

เอกลักษณ์ในเนื้องานของ The Puppet Master Lin เรื่องนี้และการ์ตูนแอ๊คชั่นของอ.วาดะทุกเรื่องคือสไตล์การ์ตูนในยุค 70 ค่ะ เนื้อเรื่องมีความคลาสสิคและอ่านง่ายแม้สำหรับเด็กประถมเนื่องจากตัวเลวก็เลวมากจนไม่บอกก็รู้ว่าเป็นผู้ร้ายแน่นอน ในระหว่างที่ตัวเอกมันมีปมความแค้นกับตัวโกงโดยมีลักษณะของ anti-ideal hero หรือมีบุคลิกที่ต่างจากตัวเอกในอุดมคติทั่วไป เช่น ใจร้อน อาฆาตมาดร้าย เจ้าคิดเจ้าแค้น และหลายครั้งที่ตัวเอกของ อ.วาดะตกเป็นทาสของอารมณ์ตัวเองจนเสียท่าให้กับตัวโกงอย่างไม่น่าเชื่อ

ลักษณะสำคัญอีกอย่างที่มักทำให้นักอ่านการ์ตูนรุ่นใหม่อมยิ้มคือช่วง Resolution ของเรื่องค่ะ (ช่วงหลังไคลแมกซ์) ที่อ.วาดะมักให้ตัวโกงออกมาสาธยายว่าแท้จริงแล้วทำเลวด้วยความจำเป็นหรอกนะ มีประโยชน์อะไรที่เราจะทำดีให้คนอื่นชื่นชม สู้ทำเลวแล้วยอมทนฟังเสียงกร่นด่าแต่สุดท้ายก็เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติดีกว่า หลังจากนั้นก็จะมีฉากตัวเอกซาบซึ้งจนกระทั่งทั้งสองก็กลายมาเป็นเพื่อนกันในที่สุด

...ย้อนยุคมาก โบราณที่สุด แต่ถือเป็นตัวแทนการ์ตูนของยุคสมัยเลยค่ะ

แม้อารมณ์จะดูเก่าไปสักนิด แต่ อ.วาดะถือว่าเป็น story teller หรือนักเล่าเรื่องที่มีความสามารถสูงที่สุดคนหนึ่งในวงการเลยค่ะ เรื่องที่อาจารย์แต่งถูกนำไปสร้างเป็นละคร ภาพยนตร์ และการ์ตูนโดยนักวาดท่านอื่นมากมาย แต่ไม่ว่าจะเปลี่ยนลายเส้นอย่างไร เอกลักษณ์ในการเล่าเรื่องของ อ.วาดะก็ยังคงโดดเด่นเสมอ ไม่แปลกใจเลยที่ อ.วาดะได้รับยกย่องให้เป็นเจ้าแห่งการ์ตูนแอคชั่นผู้หญิงในยุคสมัยเดียวกับ อ.คุรุมาดะ มาซามิซึ่งตอนนั้นวาด 'นักชกเจ้าสังเวียน' และได้รับยกย่องให้เป็นเจ้าแห่งการ์ตูนแอ๊คชั่นผู้ชาย

ใครอยากลองอ่านการ์ตูนที่ให้อารมณ์ย้อนยุคไปเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน เล่มนี้ถือว่าเป็นฟอสซิลมีชีวิตที่ทรงคุณค่าของวงการการ์ตูนเลยค่ะ

//www.matichon.co.th/news_detail.php?id=11694&catid=47



Create Date : 24 พฤศจิกายน 2550
Last Update : 25 พฤศจิกายน 2556 16:57:58 น.
Counter : 1508 Pageviews.

0 comment
วัฒนธรรมขนมปังญี่ปุ่นจากการ์ตูน
คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน โดย วินิทรา นวลละออง

วันนี้ไปเดินเล่นในห้างสรรพสินค้าอีกแล้วค่ะ คิดว่าจะไปซื้อของและรับประทานอาหารเย็นเสร็จแล้วก็กลับบ้าน แต่โชคร้ายที่อ่านการ์ตูนเกี่ยวกับขนมก่อนไป ผลก็คือเกิดอาการอยากกินขนมสุดชีวิตขึ้นมา หนึ่งในการ์ตูนที่อ่านคือ 'Lucky Star' ซึ่งในฉากหนึ่ง โคนาตะ อิซึมิ สาวน้อยนักกีฬาผู้มีนิสัยเพี้ยนนิดๆ นั่งกิน 'ช็อกโกโคโรเนะ' (Chocolate Coronet, Choco Korone) อยู่

สำหรับท่านที่นึกไม่ออก เจ้าช็อกโกโคโรเนะคือขนมปังที่ปั้นเป็นเส้นยาวๆ เหมือนงู เสร็จแล้วก็พันรอบแกนที่รูปร่างเป็นกรวยแล้วไปอบ ขนมที่ได้จึงมีลักษณะเหมือน 'โคนไอศครีม' และมีรูกลวงเปิดหัวท้ายให้ใส่ไส้ช็อกโกแลตหรือครีมตามศรัทธา

โคนาตะถามซึคาสะสหายสาวว่า 'ปกติกินช็อกโกโคโรเนะจากด้านไหนก่อนเหรอ' (เนื่องจากด้านหนึ่งเหมือนปากแตรใหญ่ๆ กับอีกด้านเป็นปลายเรียวเล็กของกรวย) ซึคาสะจังตอบไปว่าน่าจะกิน 'หัว' ก่อน ซึ่งโคนาตะก็งงอีกรอบ

'ตรงไหนคือหัวของโคโรเนะเหรอ'

...ก็จริงค่ะ ด้านใหญ่หรือด้านเล็กล่ะเนี่ย

ความน่ารักของฉากกินช็อกโกโคโรเนะทำให้ขนมชนิดนี้กลายเป็นขนมตัวแทนของ Lucky Star ไปเลยค่ะ แฟนๆ จากหลายประเทศที่ไม่เคยเห็นร้านขนมปังแบบญี่ปุ่นถึงกับคร่ำครวญว่าจะหาขนมชนิดนี้ได้จากส่วนไหนของโลก!

ปรากฏการณ์ขนมปังฮิตจากการ์ตูนไม่ใช่เรื่องใหม่ค่ะ ตัวละครสาวน้อยน่ารัก Kanon ทำให้ไทยากิ (ขนมปังสอดไส้ถั่วแดงที่มักทำเป็นรูปปลาไท) ขายดีเป็นเทน้ำเทท่ามาแล้ว ส่วนชานะน้องหนูผมแดงก็สร้างความดังให้เมล่อนปัง ดังนั้น เมื่ออ่านการ์ตูนเรื่อง Lucky Star ฉากนี้แล้วจึงรู้สึกว่าอยากกินช็อกโกโคโรเนะขึ้นมาจับใจโดยไม่ทราบสาเหตุ เป็นแรงดึงดูดที่ลี้ลับจริงๆ

ขนมปังรวมถึงขนมเค้กของญี่ปุ่นนั้น แม้จะได้รับวัฒนธรรมจากต่างชาติเข้ามาเต็มๆ แต่เนื่องจากขนมที่คนญี่ปุ่นชอบต้องมีลักษณะนุ่ม, นิ่ม, ชุ่มฉ่ำ, เหนียวหนึบ, สีขาวจั๊วะ, และไม่หวานมาก (ออกจืดเลยด้วย) ดังนั้น ขนมเค้กของร้านญี่ปุ่นในไทยหลายแห่งจึงไม่ค่อยถูกปากคนไทยซึ่งชอบเนื้อเค้กแข็ง รสเข้มข้นและหนักเนยเท่าไร อย่างไรก็ตาม ขนมปังแบบญี่ปุ่นที่มักปรากฏในการ์ตูนเป็นประจำมีมากมายหลายอย่างเลยค่ะ ทราบไว้ประดับความรู้ขณะอ่านการ์ตูนนะคะ

'อันปัง' (Anpan) หรือขนมปังสอดไส้ถั่วแดงกวน ในไทยมีขายทั่วไปตามร้านสะดวกซื้อใกล้บ้าน ขนมปังชนิดนี้โด่งดังจากการ์ตูนเรื่องอันปังแมนค่ะ ยังไม่เคยลองของญี่ปุ่นแท้แต่ยืนยันว่าอันละสิบบาทบ้านเราก็อร่อยขั้นเทพ

'โอกาสุปัง' (Okazupan) หรือขนมปังไส้ของคาว อาจเป็นไส้แกง (คาเรปัง) หรือทำเป็นฮ็อตดอกสอดไส้ยากิโซบะ (ยากิโซบะปัง...เอาบะหมี่ผัดมายัดไส้ขนมปังเนี่ยนะ) ไม่ก็หนีบด้วยหมูชุบแป้งขนมปังทอด (คัตสึปัง) ก็ได้ค่ะ ที่แปลกอีกอย่างคือ 'โคร็อกเกะปัง' สอดไส้ด้วยมันฝรั่งบดปรุงรสชุบแป้งทอด ไม่น่าเชื่อว่าคาร์โบไฮเดรตสองอย่างมารวมกันก็ยังอร่อยได้

'เมล่อนปัง' (Melonpan) คือขนมปังก้อนเท่ากำปั้นรสหวาน ผิวภายนอกเป็นคุกกี้กรอบและวาดลายหน้าขนมปังเป็นตาข่ายทำให้ขนมปังมีลักษณะคล้ายแตงเมล่อน ไม่ได้เพราะใส่เมล่อนนะคะ แล้วก็ไม่ค่อยจะทำรสเมล่อนด้วยค่ะ (มักจะหวานๆ เฉยๆ)

'ครีมฮอร์น' (Kureemu Horn) หรือขนมปังรูปกรวยสอดไส้ค่ะ หนึ่งในไส้ที่ฮิตที่สุดคือช็อกโกแลตซึ่งเรียกว่า 'ช็อกโกโคโรเนะ' นี่ล่ะค่ะ

'ชูครีม' (Shuu Kureemu) คือขนมอบเนื้อโปร่งแข็งสอดไส้ครีมคัสตาร์ดไม่หวานจัด ดูเผินๆ เหมือนเอแคลร์ยักษ์ ผิวนอกส่วนใหญ่จะหวานกรอบเหมือนคุกกี้เช่นเดียวกับเมล่อนปัง อร่อยมากๆ! เมื่อก่อนเคยมีคนเปิดเป็นร้านขายชูครีมในไทย ซื้อกินเกือบทุกวันเลยค่ะ แต่เสียดายที่ตอนหลังปิดไปเสียแล้ว

ขนมปังภูมิปัญญาญี่ปุ่นเหล่านี้ส่วนใหญ่หาซื้อได้ตามเบเกอรี่ชื่อญี่ปุ่นในไทยนะคะ (เช่น ยามาซากิซึ่งเน้นขนมปัง และฟุจิยะที่เน้นเค้ก) ใครอยากลิ้มรสเค้กแบบญี่ปุ่นลองได้ค่ะ ขาวๆ เบาๆ ฟูๆ จืดๆ แปลกลิ้นดี ที่ยังไม่เคยเห็นกับตาก็มีแค่ยากิโซบะปังกับโคร็อกเกะปัง แต่กาโตว์เฮาส์มาประยุกต์เปลี่ยนยากิโซบะเป็นผัดกะเพราหมูแทนก็อร่อยค่ะ (แอบเรียกเองว่ากะเพราปัง)

เขียนคอลัมน์วันนี้เสร็จ สงสัยเย็นนี้ได้ไปเสาะหาคาเรปังไส้แกงมากินซักชิ้นซะแล้ว แต่ถึงจะอร่อยแค่ไหน ขนมปังภูมิปัญญาไทยแบบขนมปังหน้าน้ำพริกเผาก็เป็นสุดยอดในดวงใจแล้วค่ะ อะไรจะมาสู้ 'ชิลลี่เพสปัง' ได้ เผ็ดสะใจสุดสุด

//www.matichon.co.th/news_detail.php?id=11034&catid=47



Create Date : 17 พฤศจิกายน 2550
Last Update : 25 พฤศจิกายน 2556 16:57:52 น.
Counter : 1446 Pageviews.

0 comment
ผีซ่าส์กับฮานาดะ การ์ตูนที่ควรได้ดูสักครั้งในชีวิต



คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน โดย วินิทรา นวลละออง

คำถามที่มักจะถูกถามเสมอๆ เกี่ยวกับเรื่องการ์ตูนมักจะไม่พ้นการจัดอันดับค่ะ คือมักจะให้เราบอกว่าเรื่องไหนมีความเป็น 'ที่สุด' ในความคิดของคนที่อ่านการ์ตูนมาตั้งแต่อนุบาลจนกระทั่งอายุเข้าทศวรรษที่สามอย่างเรา พวก 'ชอบที่สุด' หรือ 'สนุกที่สุด' เป็นคำถามที่ตอบยากมาก ถามกี่ครั้งก็จะนึกขึ้นมาได้หลายสิบเรื่องเพราะแม้แต่ในคำว่า 'ชอบ' ก็ยังตีความได้อีกหลายอย่าง เช่น ชอบภาพ ชอบเนื้อเรื่อง ชอบการดำเนินเรื่อง ฯลฯ

แต่การ์ตูนที่ 'ซาบซึ้งที่สุด' จนบรรยายเป็นคำพูดไม่ได้ ต้องบรรยายออกมาเป็นน้ำตา นั่นคือ 'ผีซ่าส์กับฮานาดะ' ซึ่งออกขายเป็น VCD และ DVD ในไทยแล้ว เรื่องนี้ได้รับรางวัลภาพยนตร์การ์ตูนโทรทัศน์ยอดเยี่ยมจาก Tokyo International Anime Fair ปี 2003 (แซงอินุยาฉะได้), รางวัลแอนิเมชั่นยอดเยี่ยมจาก Asian Television Technical & Creative Awards ปี 2003 (เอาชนะการ์ตูนฉายโรงในปีนั้นอย่าง Baron the Cat Returns), กับรางวัลการ์ตูนยอดเยี่ยมประเภททั่วไปจากหนังสือการ์ตูนเรื่องเดียวกันในงาน Kodansha Manga Award ครั้งที่ 19 ประจำปี 1995 (ซึ่งปีนั้นคินดะอิจิได้รางวัลประเภทการ์ตูนผู้ชาย)...เป็นหางว่าว

'ฮานาดะ อิจิโระ' เป็นเด็ก ป.3 ที่เกิดและเติบโตในจังหวัดแถบชนบทของญี่ปุ่น เรื่องราวน่าจะเกิดขึ้นในช่วงที่โทรทัศน์สีเพิ่งจะมีขายไม่นาน (น่าจะประมาณสามสิบกว่าปีก่อน) ซึ่งเรื่องทั้งหมดเริ่มจากอิจิโระต้องการให้ซื้อโทรทัศน์ใหม่เป็นรุ่นมีสีจนกระทั่งทะเลาะกับคุณแม่ สุดท้ายเมื่อหนีออกจากบ้านก็กลับประสบอุบัติเหตุถูกรถชนแต่อิจิโระรอดมาได้อย่างปาฏิหาริย์

แม้จะรอดตายแต่อิจิโระต้องเย็บศีรษะถึง 9 เข็ม และได้ของแถมมาอีกอย่างคือความสามารถในการมองเห็นและได้ยินเสียงวิญญาณของคนที่ตายไปแล้ว

แม้อิจิโระจะเป็นเด็กที่ซนที่สุดในหมู่บ้าน เรียกว่าเหยียบที่ไหนสิ่งมีชีวิตตายเรียบ แต่จุดอ่อนเพียงอย่างเดียวของเขาคือ 'กลัวผี' ถึงอย่างนั้นกลับต้องมารับฟังคำขอของวิญญาณซึ่งคดีแรกสุดคือวิญญาณสาวสวยต้องการให้ไปหาชายที่รัก

ความที่พื้นเพเป็นเด็กที่มีจิตใจดี (ผสมปอดแหกเมื่ออยู่กับผี) ทำให้อิจิโระยอมช่วยเหลือจนวิญญาณหญิงสาวคนนั้นไปสู่สุคติได้ในที่สุด ข่าวนี้คงแพร่สะพัดไปในหมู่วิญญาณทำให้มีวิญญาณมาขอความช่วยเหลืออีกหลายครั้ง

ความน่ารักของการ์ตูนเรื่องนี้อยู่ที่วิธีคิดแบบเด็ก ป.3 ของอิจิโระนี่ล่ะค่ะ สำหรับเด็กที่ไม่รู้จักความตาย (แต่รู้ว่าตายไปต้องเป็นผีแล้วผีน่ากลัว) ไม่รู้จักความรักหรือความผูกพันอย่างลึกซึ้งระหว่างคนที่มีชีวิตอยู่กับคนที่ตายไปแล้ว (รู้แต่ว่าถ้าไปสู่สุคติก็จะไม่ได้คุยกันอีกเลยเศร้า) ไม่รู้จักกระทั่งการฆ่าด้วยการฉีดยา (แต่รู้แค่ว่าฉีดยามันเจ็บก็เลยกลัว) อิจิโระจึงเลือกกลัวแต่ในสิ่งที่ทำให้คนดูหัวเราะออก เพราะหลายครั้งเราเผลอซาบซึ้งไปกับฉากลาจากที่แสนเศร้า แต่อิจิโระกลับมีมุมมองในแบบเด็กๆ และเหตุผลแบบเอาแพะมาชนแกะที่เรานึกไม่ค่อยถึง

แนวคิดที่ได้จากการ์ตูนเรื่องนี้อีกอย่างคือ 'การเปิดโอกาสให้ทำความดีอาจทำให้คนคนหนึ่งได้รับการหล่อหลอมจนเป็นคนดีได้ในที่สุด' อิจิโระที่ซนจนหมดทางเยียวยาและไม่เคยคิดจะทำเรื่องดีๆ ให้พ่อแม่สบายใจกลับต้องมาเสียสละช่วยเหลือวิญญาณเพียงเพราะกลัวโดนผีหลอก ที่จริงเขาก็ไม่ได้เต็มใจช่วยหรอกนะ ว่าง่ายๆ คือโดนบังคับ แต่เมื่อได้เรียนรู้การทำความดีและเห็นผลตอบแทนที่ชัดเจนคือคนที่เราทำดีให้เขาสบายใจ ความดีจึงค่อยๆ หลอมเป็นส่วนหนึ่งในใจของอิจิโระทีละนิดในที่สุด

ยิ่งดูก็ยิ่งเกิด 'ศรัทธาในความดี' มากขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ จากที่มองคนอื่นโดยคาดเดาเจตนาตามใจตัวเองก็เริ่มมองที่การกระทำกับผลของการกระทำมากขึ้น เคยเห็นคนมีชื่อเสียงบางคนไปทำบุญหรือทำความดีไหมคะ หลายคนอาจมองว่า 'สร้างภาพ' หรือ 'ไม่จริงใจ' แต่ไม่ว่าเขาจะไม่ตั้งใจหรือถูกบังคับให้ทำความดีแบบอิจิโระ อย่างน้อยผลดีที่เขาทำก็ส่งให้คนอื่นมีความสุขค่ะ และสุดท้ายสักวันก็จะหลอมกลายเป็นความดีในหัวใจของเขาเอง

'ผีซ่าส์กับฮานาดะ' ไม่ได้สอนให้ใครทำความดีค่ะ แต่ทุกครั้งที่ดูเราจะรู้สึกว่าจิตใจตัวเองได้รับการชำระจนสะอาดขึ้นทีละนิด มองว่าความเสียสละไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของคนที่ดีขนาดพ่อพระแม่พระถึงจะทำได้ แต่แม้ว่าเราจะเป็นคนเลวนิดๆ เราก็ยังเสียสละและทำดีได้เช่นกัน

อิจิโระทำให้เราศรัทธาในความกล้าที่จะทำดีของตัวเองค่ะ

//www.matichon.co.th/news_detail.php?id=9562&catid=8



Create Date : 04 พฤศจิกายน 2550
Last Update : 25 พฤศจิกายน 2556 16:57:47 น.
Counter : 2327 Pageviews.

2 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  

iamZEON
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 111 คน [?]



ยินดีต้อนรับทุกท่านนะครับ ^^/

ข่าวสารการ์ตูนญี่ปุ่น
กับเกี่ยวข้องอย่างภาพยนตร์-เพลง
รายชื่อการ์ตูนออกใหม่-งานหนังสือ
เรื่องทั่วๆไปทั้งในและนอกประเทศก็มีบ้าง
New Comments
Group Blog
All Blog
MY VIP Friend