บอกแล้วไม่ฟัง
Group Blog
 
All blogs
 

=> "ตั้งใจชำระหนี้" ดัชนีชี้วัด "คะแนนเครดิต"

"ตั้งใจชำระหนี้" ดัชนีชี้วัด "คะแนนเครดิต" (เครดิตบูโร)
กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

          หลังสงกรานต์ปี 2554 นี้  “บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ” หรือ “เครดิตบูโร” จะนำเอา “คะแนนเครดิต (Credit Scoring)” มาใช้
          ซึ่งเป็นสิ่งที่มีใช้กันมาในต่างประเทศนานแล้ว และกำลังนับถอยหลังเพื่อจะนำมาใช้ในประเทศไทยด้วยในอีกไม่นานเกินรอ
          โดย “Credit Scoring” นี้ เสมือนหนึ่งเป็นดัชนีชี้วัด “ความตั้งใจในการชำระหนี้” ของผู้กู้ โดยผ่านระบบการประมวลผลทางสถิติ จากข้อมูลดิบออกมาเป็นคะแนนนั่นเอง
          เชื่อว่า “Credit Scoring” นี้ จะมีประโยชน์ทั้งกับฝ่าย “สถาบันการเงิน” ผู้ให้บริการที่สามารถจะค้นหาลูกหนี้คุณภาพดีเพื่อลดความเสี่ยงให้กับตัวเอง
          และฝ่าย “ผู้บริโภค” หรือ “ผู้ต้องการสินเชื่อ” ที่ในอนาคตต้นทุนทางการเงินจะสะท้อนถึง “Credit Scoring” ที่ตัวเองมีด้วย
          Fundamentals สัปดาห์นี้ มีเรื่องราวเกี่ยวกับ “Credit Scoring” และทิศทางในการพัฒนาระบบข้อมูลเครดิตของไทยมาฝากกัน
          @ รู้จัก Credit Scoring
          เกี่ยวกับเรื่องนี้ “สุรพล โอภาสเสถียร” ผู้จัดการใหญ่ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (NCB) อธิบายให้ฟังว่า ปัจจุบัน (ปี 2553) เครดิตบูโรมีสถาบันการเงินเป็นสมาชิก 72 แห่ง มีจำนวนบัญชีในฐานข้อมูล 62.11 ล้านบัญชี แบ่งเป็นข้อมูลบุคคลธรรมดา 58.36 ล้านบัญชี และฐานข้อมูลเชิงพาณิชย์ 3.75 ล้านบัญชี โดยมีการเข้าดูข้อมูลเพื่อวิเคราะห์สินเชื่อทั้งปีจำนวน 15.92 ล้านครั้ง เรียกว่าเรามีฐานข้อมูลลูกค้ามากกว่าทุกแบงก์เพราะได้รวบรวมข้อมูลจากทุกที่มารวมไว้ที่เดียวกัน มีข้อมูลลูกหนี้กว่า 18 ล้านราย โดยได้นำข้อมูลดิบของลูกหนี้เหล่านี้มาพัฒนาใช้การคำนวณทางสถิติผ่านโมเดลเพื่อประมวลผลออกมาเป็น Credit Scoring ออกมาแล้วเปิดให้สมาชิกทดสอบดูว่า Credit Scoring ที่ได้เหมาะสมกับเขาหรือไม่ในการนำไปใช้จริงในการทำธุรกิจต่อไป เพราะถ้าไม่ดีจริงก็คงไม่มีใครนำไปใช้เช่นกัน
          “ทุกวันนี้ข้อมูลเครดิตจะบอกว่ามีหนี้ที่ไหน มีหนี้กี่บัญชี เป็นเงินเท่าไร จ่ายครบจ่ายตรงกี่บัญชี ค้างชำระอยู่ที่บัญชีไหน ค้างชำระเป็นเงินเท่าไร ยังเป็นคะแนนดิบ แต่นี่คือสิ่งที่เรากำลังพัฒนาขึ้นมาเอามาประมวลผลออกมาเป็นคะแนนในรูปแบบของ Credit Scoring ซึ่งจะเป็นข้อมูลเสริมเข้าไปจากที่มีอยู่เดิม ธนาคารพาณิชย์ปกติก็มี Scoring ใช้อยู่ในตัว แต่จะเป็นตัววัดความสามารถในการชำระหนี้ Credit Scoring ที่เครดิตบูโรจะทำจะไปเสริมตัวนี้เป็นการวัดอีกมุมหนึ่งคือวัดความตั้งใจในการชำระหนี้ ยกตัวอย่าง คนมีความสามารถในการชำระหนี้สูง แต่มีความตั้งใจในการชำระหนี้ต่ำ คนคนนั้น คือ หนี้สงสัยจะสูญ (NPL) ที่ มีเงิน มีหนี้ แต่ไม่ยอมจ่ายเป็น Strategic NPL ซึ่งมักจะสะท้อนออกมาว่าไม่กลัว ไม่มี ไม่หนี ไม่ให้ ถึงมีก็ไม่ให้”
          “คะแนนเครดิต (Credit Scoring)” เป็นเครื่องมือที่ใช้วัดพฤติกรรม “ความตั้งใจในการชำระหนี้” ของผู้มาขอสินเชื่อ เสริมเข้าไปกับ Scoring ปกติที่สถาบันการเงินทำอยู่แล้วซึ่งนั่นเป็นการประเมิน “ความสามารถในการชำระหนี้” ของผู้มาขอสินเชื่อเท่านั้น Scoring ของแบงก์ตอบโจทย์ความสามารถในการชำระหนี้ แต่ยังไม่ตอบโจทย์ความตั้งใจในการชำระหนี้ได้ดีเพียงพอ นี่จึงเป็นหนึ่งในบทบาทของเครดิตบูโรตามแผนแม่บททางการเงินฉบับที่ 2
          ตัวอย่าง นาย A เป็นลูกค้าดีที่แบงก์ Y แต่นาย A เป็นลูกค้าที่ไม่ดีที่แบงก์ Z อย่างนี้แบงก์  Y ก็เสี่ยง เพราะนาย A มาขอสินเชื่อเพิ่มที่แบงก์Yๆ ให้ แต่นาย A ไปขอสินเชื่อที่แบงก์ Zๆ ไม่ให้ เพราะเป็นลูกค้าที่ไม่ดีที่แบงก์ Z ดังนั้นการวิเคราะห์นาย A ก็ต้องนำเอาภาพรวมทั้งที่ “ดี” และ “ไม่ดี” มาพิจารณารวมกันว่าเขาเป็นยังไงกันแน่
          แน่นอนคงต้องมีคนดีมากกว่าคนไม่ดี เพราะถ้ามีคนไม่ดีมากกว่าคนไม่ดีทุกแบงก์คงมีปัญหาแล้ว แต่เรามีคนดีมากกว่าคนไม่ดี แต่วันนี้เรายังไม่มีรางวัลให้กับคนที่ดี Credit Scoring จะเป็นตัวคัดกรองแยกแยะให้ แบงก์ก็จะพยายามดึงคนที่ดีไปหาเขา เพราะว่าคนที่ดีเขาควรจะได้ดอกเบี้ยที่ถูก หลักการมีแค่นี้เอง เดี๋ยวกลไกการตลาดก็จะทำงานจะมีการเปลี่ยน ทุกวันนี้ดีมากดีน้อยก็ได้ดอกเบี้ยเท่ากัน
          “Credit Scoring จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยลดความเสี่ยงในการในการบริหารจัดการสินเชื่อให้กับสถาบันการเงินได้เป็นอย่างดี ซึ่งในต่างประเทศมีเครื่องมือตัวนี้ใช้มานานแล้ว แต่ในไทยกำลังจะมีใช้ในเร็วๆ นี้ นอกจากนี้ ยังช่วยทำให้ต้นทุนทางการเงินของสถาบันการเงินในอนาคตลดลงเพราะหากได้ลูกหนี้ที่มีเครดิตดีก็ไม่ต้องกันสำรองไว้มาก ซึ่งระบบคะแนนเครดิตนี้เสร็จแล้วตั้งแต่เดือนพ.ย.2553 ที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ระหว่างการทดสอบระบบ 3 เดือน (ธ.ค.53 - ก.พ. 54) โดยทางเครดิตบูโรตั้งเป้าว่าจะนำระบบคะแนนเครดิตมาใช้ให้ได้ในช่วงหลังสงกรานต์เดือนเม.ย.2554 นี้ โดย Credit Scoring จะมีเกรดมีตั้งแต่ HH - AA คิดเป็นคะแนนตั้งแต่ 300 - 900 คะแนน”
          @เข้าถึงต้นทุนการเงินที่ต่างกัน
          สุรพล ยังบอกอีกว่า นอกจากประโยชน์ต่อสถาบันการเงินแล้ว ในแง่ของผู้บริโภคหรือผู้ขอสินเชื่อเองนั้น Credit Scoring ก็มีประโยชน์เช่นกันนั่นคือโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อด้วยต้นทุนทางการเงินที่แตกต่างกันหาก Credit Scoring ไม่เท่ากันเหมือนในต่างประเทศผู้มีเครดิตดีอาจจะกู้สถาบันการเงินได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่าผู้ที่มีเครดิตไม่ดี เป็นต้น
          ตัวอย่าง นาย B กับนาย C อยู่ที่ทำงานเดียวกัน มีรายได้เท่ากัน ตำแหน่งเท่ากัน เพศเดียวกัน ขณะที่นาย B มีสินเชื่อบ้าน นาย C ก็มีสินเชื่อบ้านอยู่หมู่บ้านเดียวกันเลย นาย B จ่ายครบจ่ายตรงทุกงวดเรียกว่าดีหมดทุกอย่าง ในขณะที่นาย C จ่ายบ้าง ไม่จ่ายบ้าง เมื่อนาย B กับนาย C จะไปขอสินเชื่อแบงก์ทำไมเขาต้องได้ดอกเบี้ยเท่ากัน
          นั่นหมายความว่า แบงก์กำลังเอาดอกเบี้ยของคนที่ดีอย่างนาย B ไปชดเชยให้กับคนที่อาจจะแย่กว่าอย่างนาย C ซึ่งดูไม่เป็นธรรมเท่าไรนัก การคิดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงจะได้เกิดขึ้นได้ เพราะคนที่มี Credit Scoring สูงเขาก็ควรจะได้ดอกเบี้ยถูกเพราะเขาเป็นคนดี ก็เหมือนการสอบคนที่สอบได้คะแนนดีก็น่าจะมีโอกาสมากกว่าคนที่ได้คะแนนน้อย เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เชื่อว่าจะเกิดขึ้นตามมาในอนาคตจากการมี Credit Scoring
          “ทำไมคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความสามารถในการชำระหนี้และมีความตั้งใจในการชำระหนี้ คนกลุ่มนี้ดีทั้ง 2 ฝั่ง เขาควรจะได้ดอกเบี้ยที่ถูกกว่า ทุกวันนี้สมมตินาย D มีประวัติค้างชำระหนี้อยู่เมื่อ 6 เดือนที่แล้ว และมี 20 บัญชี  นาย E มี 15 บัญชี แล้วค้างมา 8 เดือนที่แล้ว เราไม่สามารถบอกได้ว่าใครดีกว่ากันเพราะไม่มีข้อมูลทางสถิติที่จะมาบอกได้เมื่อดูประวัติเขาทั้งหมดโดยรวมแล้ว แต่ Credit Scoring จะช่วยได้”
          Credit Scoring เป็นการเอาประวัติที่เกิดขึ้นซึ่งเป็นฐานข้อมูลดิบนำมาประมวลผลในเชิงสถิติเพื่อค้นหาว่า คนที่มีลักษณะนิสัยแบบนี้ มีพฤติกรรมการก่อหนี้ มีพฤติกรรมการชำระหนี้ แบบนี้ ที่อยู่ในระบบการเงินไทย ในอนาคตถ้าเขาไปเป็นลูกหนี้สถาบันการเงินเขาจะมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้เท่าไรเพื่อตัดประเด็นการตัดสินใจโดยใช้ความรู้สึกออกไป อย่างไรก็ตาม Credit Scoring ต้องใช้ร่วมกับข้อมูลอื่นในการวิเคราะห์ อย่าไปใช้เครื่องมือนี้โดดๆ ในการตัดสินใจ เพราะทุกวันนี้พฤติกรรมของคนเปลี่ยนแปลงไปมาก อย่าไปใช้ข้อมูลแค่ตัวใดตัวหนึ่ง
          “เดี๋ยวนี้การวิเคราะห์คนหนึ่งคนต้องใช้เครื่องมือหลายตัวประกอบกัน ดังนั้นการพิจารณาสินเชื่อไม่ได้หมายความว่าเราจะดูแค่ปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งเท่านั้น คงแต่ต้องดูองค์ประกอบทุกอย่างประกอบกันไปในภาพรวม”
          สมมติ คนที่มีลักษณะนิสัยแบบนาย B ใน 10,000 คน ที่ก่อหนี้แบบนี้มีลักษณะนิสัยการก่อหนี้และพฤติกรรมการชำระหนี้แบบนี้ ถ้าเขาเดินไปที่แบงก์เพื่อขอสินเชื่อ แบงก์ดูแล้วว่าคนแบบนาย Bนี้ ใน 10,000 คน ในอีก 12 เดือนข้างหน้า จะมีสักกี่คนที่ไม่ผิดนัดชำระหนี้ จะมีสักกี่คนที่ผิดนัดชำระหนี้ ประโยชน์คือธนาคารพาณิชย์จะได้ใช้ Credit Scoring เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจแล้วไปกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่จะเสนอให้กับนาย B ได้
          “Credit Scoring จะช่วยแบงก์ในการคัดกรองลูกค้า ในส่วนของผู้บริโภคก็จะช่วยให้คนที่มีความประพฤติดีได้กู้ด้วยดอกเบี้ยถูก เพราะว่าลูกค้าไปตรวจเองก็รู้ว่าตัวเองมีคะแนนเท่าไร แล้วทำไมต้องไปเอาดอกเบี้ยแพง ลูกค้าก็จะเริ่มต่อรอง ต่อมาคือ ธนาคารจะเริ่มแข่งขันกันมากขึ้น อาจจะออกบริการมาว่าสำหรับคนที่ได้คะแนนระดับนี้ขึ้นไปมาขอสินเชื่อที่นี้ จะใช้เวลาในการพิจารณาเร็วขึ้น ดอกเบี้ยลดลง คุณจะมีความสะดวกมากขึ้น Credit Scoring ไม่ใช่เป็นตัวที่คัดคนออก อย่าไปเข้าใจผิดอย่างนั้น เพราะคนที่มีประวัติค้างชำระเยอะๆ ยังไงก็เข้าถึงสินเชื่อไม่ได้อยู่แล้ว แต่ต้องมาดูว่าคนที่เหลือส่วนใหญ่คนที่เข้าถึงสินเชื่อวันนี้เขาถูกชาร์จดอกเบี้ยแพงไปหรือเปล่า ในเมื่อเขาเป็นคนที่มีประวัติการชำระหนี้ที่ดี”
          @เครดิตดีไม่มีขาย..อยากได้ต้องทำเอง
          เกี่ยวกับเรื่องนี้ สุรพล บอกว่า เวลาใครบอกว่าไปกู้เงินไม่ได้ เพราะว่าติดเครดิตบูโรมีประวัติค้างชำระ ไม่เคยมีใครตั้งคำถามเลยว่า “เหตุใดจึงมีการค้างชำระ” ทั้งที่ควรจะตั้งคำถามกลับไปถึงต้นเหตุ อย่าไปแก้ไขที่ปลายเหตุ “ไปลบข้อมูลๆ ลบข้อมูลไม่ได้ลบพฤติกรรมพฤติกรรมก็ยังซ้ำซาก”  ในไทยเก็บข้อมูล 3 ปี สหรัฐ 7 ปี อังกฤษ 6 ปี ออสเตรเลีย 5 ปี ญี่ปุ่น 5 ปี สิงคโปร์ 3 ปี และฮ่องกง 5 ปี เป็นต้น จึงไม่ถือว่าการเก็บข้อมูลของไทยนานเกินไปแต่ประการใด
          สิ่งที่ควรต้องพูดกันในวันนี้ คือ การมาช่วย “รณรงค์ให้คนมีวินัยไม่ดีกว่าหรือ” เพราะ “เครดิตดีไม่มีขาย อยากได้ต้องทำเอง”  ในส่วนของลูกหนี้ที่มีประวัติค้างชำระ ถ้ามีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากที่เคยค้างชำระ มีการจ่ายครบ จ่ายตรง ข้อมูลใหม่ที่ดีก็จะขึ้นไปแทนที่ข้อมูลเก่าที่ไม่ได้ และจะมีการอัพเดทข้อมูลเช่นนี้ให้เป็นปัจจุบันอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะทำให้ Credit Scoring ของลูกหนี้มีคะแนนที่เปลี่ยนไปด้วยตามฐานข้อมูลที่เปลี่ยนไปได้เช่นกัน ไม่ได้หมายความว่า ใครที่เคยได้คะแนนระดับนี้ ก็จะอยู่ในระดับนี้ตลอดไป แต่คะแนนจะเปลี่ยนไปตามพฤติกรรมการชำระหนี้ที่เปลี่ยนไปด้วย ถ้าจ่ายครบ จ่ายตรง Credit Scoring ก็ดีแน่นอน แต่คนที่อาจจะเคยคะแนนไม่ดีมาก่อน แล้วมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม คะแนนเครดิตก็สามารถดีขึ้นได้เช่นกัน นี่คือ วิธีแก้ปัญหาที่สาเหตุ ไม่ใช่ไปให้ลบข้อมูลเครดิตแบบนั้นไม่ใช่ เพราะพฤติกรรมไม่เปลี่ยน
          “ต้องถามว่าคุณติดเครดิตบูโรเพราะอะไร  ทำไมถึงไม่จ่าย หมุนเงินไม่ทันๆ เพราะเรามีธุรกิจเยอะเกินไปหรือเปล่า เราบริหารจัดการไม่ได้ใช่มั้ย แล้วสิ่งที่อันตรายที่สำคัญสำหรับระบบการเงินไทยคือกู้แล้วต้องได้ อย่าลืมว่าเงินกู้ที่แบงก์เอามาให้คุณกู้เป็นเงินฝากของอีกคน ถ้าเราเปรียบเทียบเราเก็บหอมรอมริบมาแทบตายแล้วเพื่อนมายืมเงิน แล้วเราก็รู้ว่าคนนี้ไม่มี ไม่หนี ไม่ให้ แล้วเราจะให้ยืมหรือเปล่าก็ให้ไม่ได้ เพราะนี่คือเงินของเรา แบงก์ก็เหมือนกัน ทำไมไม่จ่าย ถ้าหมุนเงินไม่ทัน ทำไมหมุนเงินไม่ทัน ทำธุรกิจหลายอย่าง แล้วหลายอย่างบริหารจัดการได้มั้ย ถ้าได้ทำไมเงินไม่พอจ่าย ที่สุดจะกลับไปหาตัวเองว่าเราใช้จ่ายยังไง ตรงนี้คือแก้ให้ตรงจุด ก็ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ดีขึ้นจึงจะถูกต้อง”
          อย่างไรก็ตามข้อมูลล่าสุดปี 2553 พบว่า ลูกหนี้ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ปกติไม่มีปัญหาแต่ประการใด ถือว่าสินเชื่อที่ปล่อยไปในระบบของสถาบันการเงินไทยอยู่ในเกณฑ์ปกติ ทั้งนี้หากดูข้อมูลเครดิตจากฐานบุคคลธรรมดาจำนวน 58.36 ล้านบัญชีนั้น พบว่าเป็นข้อมูลที่ Active อยู่ประมาณ 37 ล้านบัญชี หรือประมาณ 72% และเป็นข้อมูลที่หยุดส่งข้อมูลแล้วจำนวน 21 ล้านบัญชี หรือประมาณ 28% ในจำนวน 37 ล้านบัญชีที่มีการ Active อยู่นั้น พบว่าเป็นบัญชีปกติที่ไม่มีการค้างชำระ 31.4 ล้านบัญชี คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 85% อีก 5.6 ล้านบัญชี คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 15% นั้นมียอดค้างชำระเกิน 90 วัน หรือเรียกว่าเป็นหนี้สงสัยจะสูญ (NPL) นั่นเอง แต่ถ้ามองในแง่ของเม็ดเงินแล้วจะคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 9% ของยอดสินเชื่อรวมทั้งระบบเท่านั้น
          “ตัวเลขดังกล่าวเป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับในอดีตที่ผ่านมา ที่สะท้อนถึงความเข้มงวดและความระมัดระวังของสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อในช่วงที่ผ่านมา และอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้”
          @เก็บข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อมูลการเงิน
          โดยสุรพล บอกว่า ปัจจุบันข้อมูลเครดิตที่เครดิตบูโรเก็บนั้นเป็นเพียง “ข้อมูลทางการเงิน (Financial Data)” แต่ในอนาคตคงมีการเข้าไปเก็บข้อมูลในส่วนที่ “ไม่ใช่ข้อมูลทางการเงิน (Non Financial Data)” มาประกอบกับข้อมูลที่จัดเก็บอยู่เดิมด้วยเช่นกัน โดยหนึ่งในข้อมูลที่สะท้อนวินัยทางการเงินของบุคคลได้เป็นอย่างดี ก็คือ “การชำระค่าสาธารณูปโภค” เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ เพราะหากการจ่ายชำระเงินในส่วนนี้ตรงตามเวลาในจำนวนที่ครบถ้วนก็จะสะท้อนความรับผิดชอบของบุคคลคนนั้นได้อย่างชัดเจนขึ้นด้วย ในหลายประเทศเครดิตบูโรเขาก็มีการจัดเก็บข้อมูลในส่วนที่ไม่ใช่ข้อมูลทางการเงินด้วยเช่นกัน
          ปัจจุบัน “ธนาคารโลก (World Bank)” เองก็มีการจัดทำรายงานเปรียบเทียบการทำธุรกิจที่ "ยาก" หรือ “ง่าย” ในแต่ละประเทศ ที่เรียกว่า “Doing Business Report” นั้น ปัจจัยหนึ่งที่ใช้ในการประเมินร่วมกันกับอีกหลายๆ ปัจจัย คือเรื่องดัชนีความลึกของข้อมูลเครดิตที่จัดเก็บในเครดิตบูโร กรณีนี้ประเทศไทยได้ 5 คะแนน จากคะแนนเต็ม 6 คะแนน
          “ดังนั้นเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านคือมาเลเซียที่ได้คะแนน 6 คะแนนเต็ม  เมื่อมีการศึกษาก็พบว่าสิ่งที่เรายังขาดไปคือการเก็บข้อมูลประวัติการชำระค่าสาธารณูปโภคนั่นเอง หากเราต้องการยกระดับให้เท่ากับมาตรฐานสากลก็ต้องนำมาพิจารณา ซึ่งปัจจุบันเรื่องนี้อยู่ระหว่างการศึกษาว่าจะเหมาะกับประเทศไทยหรือไม่อย่างไร”
          สุรพล อธิบายให้ฟังว่า แนวคิดของการเก็บข้อมูลการชำระค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ นั้น เป็นการเปิดให้คนกลุ่มหนึ่งซึ่งอาจจะเป็นคนตัวเล็กๆ ในสังคมได้ “เข้าถึงสินเชื่อ” โดยเฉพาะประชาชนรายย่อยที่ไม่เคยมีสเตทเมนท์ (Statement) หรือ ยังไม่เคยมีประวัติการชำระสินเชื่อกับสถาบันการเงินใดๆ  เมื่อไปขอสินเชื่อสถาบันการเงินก็จะไม่มีข้อมูลอะไรให้เห็นเลยอาจทำให้ไม่ได้รับการอนุมัติ  ข้อมูลประวัติการชำระค่าสาธารณูปโภคตัวนี้จะเป็นตัวพิสูจน์ตนเองและสะท้อนวินัยทางการเงินให้สถาบันการเงินได้เห็น และใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาสินเชื่อรายย่อยที่เข้าไม่ถึงสถาบันการเงินให้มีความเป็นไปได้มากขึ้น เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนรายย่อยได้เข้าถึงระบบสถาบันการเงินด้วยการใช้ข้อมูลประวัติการชำระค่าสาธารณูปโภคที่จะสามารถสะท้อนวินัยในการชำระเงิน
          เพราะตอนนี้มีประชาชนอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินในระบบได้เพราะไม่มีเอกสารแสดงรายได้ ไม่มีสเตทเมนท์ (Statement) แต่ถ้าเขาเหล่านั้นเป็นคนมีวินัย  ค่าน้ำ ค่าไฟ ก็จ่ายครบ จ่ายตรง  ข้อมูลตรงนี้จะแสดงวินัย  เขาก็จะได้เข้าถึงสินเชื่อในระบบและเป็นลูกค้าที่ดีต่อไป มันมองได้ในมุมที่เป็นประโยชน์กับคนหมู่มากกลุ่มหนึ่งเหมือนกัน
          ตัวอย่าง พ่อค้าขายข้าวมันไก่คนหนึ่ง มีร้านติดสาขาธนาคารพาณิชย์เลย เจ้าหน้าที่สาขาก็รู้ว่าเขาขายข้าวมันไก่อยู่ที่นี่ แล้วก็เอาเงินมาฝากแบงก์ทุกวัน ถามว่าพ่อค้าขายข้าวมันไก่คนนี้ควรจะมีสิทธิขอสินเชื่อซื้อบ้านมั้ย ทำไมต้องรอให้เขาเก็บเงินให้ได้ 1 ล้านบาท ทั้งที่หากเขามาขอกู้ได้ 1 ล้านบาท ความหมายจะต่างกันมากเลย
          “ลองคิดดูว่าพ่อค้าขายข้าวมันไก่สามารถบอกได้ว่าค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ที่มีอยู่จ่ายครบ จ่ายตรงเป๊ะๆ ดูประวัติได้ ก็ได้สินเชื่อบ้าน ต่อมาเมื่อผ่อนบ้าน พ่อค้าขายข้าวมันไก่จ่ายเงินครบ จ่ายตรงเป๊ะๆ ต่อไปอีก ประวัติดีก็สามารถไปขอสินเชื่ออย่างอื่นได้อีก เช่น สินเชื่อรถ เป็นต้น นี่คือวิธีคิด ดังนั้นเราคงต้องถามว่าอยากจะให้คนตัวเล็กๆ ในสังคมที่เป็นคนดีได้มีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อหรือไม่ ส่วนรายละเอียดในการกำหนดกรอบเงื่อนไขว่าผิดนัดชำระกี่ครั้ง จำนวนเงินเท่าไร ถึงจะนับว่าเป็นผิดนัดชำระหนี้ ตรงนั้นสามารถศึกษาเพื่อวางหลักเกณฑ์ในรายละเอียดตอนหลังได้ไม่มีปัญหาแต่ประการใด”
          ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องราวของ “คะแนนเครดิต (Credit Scoring)” ที่กำลังจะก้าวเข้ามามีบทบาทในระบบสินเชื่อของสถาบันการเงินไทย หวังว่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยผลักดันให้กลไกตลาดทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ไม่มากก็น้อย
          สรวิศ อิ่มบำรุง

 ปิดหน้าต่างนี้




 

Create Date : 27 กุมภาพันธ์ 2554    
Last Update : 27 กุมภาพันธ์ 2554 23:11:20 น.
Counter : 566 Pageviews.  

=> คอลัมน์ ประทีบส่องใจ: ถามต้วเอง 4 ข้อ ก่อนไปก่อหนี้

คอลัมน์ ประทีบส่องใจ: ถามต้วเอง 4 ข้อ ก่อนไปก่อหนี้
ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2554

          ขึ้นปีใหม่ทั้งทีก็ต้องมีความหวังกันมั่งล่ะเนอะ ส่วนใครจะหวังให้ตัวเองเจริญรุ่งเรืองในด้านใด หรือแนวไหน ก็ขออนุโมทนาสาธุให้ ทุกท่านสมหวังดังที่ตั้งใจทุกประการ เช่น ใครอยากมีแฟนซะที ก็ขอให้สมปรารถนาสักที, ใครอยากให้เงินเดือนขึ้นก็ขอให้เป็นหยั่งงั้น หรือท่านใดที่ทำมาค้าขายมีธุรกิจส่วนตัวก็ขอให้ทำมาค้าขึ้นกันโดยทั่วหน้า....ด้วยเถอะเพี้ยง
          เท่าที่ติดตามข่าวสารด้านเศรษฐกิจกันมา รู้สึกว่า ยังไง้ยังไงปีนี้ก็ยังเป็นปีที่พวกเราทุกคนยังต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายในการดำเนินชีวิตกันอีกครั้ง เพราะปัญหายังรออยู่สำหรับผู้ที่ทำมาหากินนี่หว่า ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้าง พนักงาน ข้าราชการ นักธุรกิจ หรือพ่อค้าแม่ขายอะไรทั้งหลาย ฯลฯ ต่างก็ต้องตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากินโดยสุจริตและไม่ย่อท้อกันต่อไป
          ซึ่งถ้าเผื่อใครเกิดอาการชักหน้าไม่ถึงหลังในเรื่องของรายได้และรายจ่าย จนคิดว่าตัวเองอาจจะต้องไปกู้หนี้ยืมสินผู้อื่นแล้วไซร้ ทางด้าน เครดิตบูโร ซึ่งเป็นองค์กรจัดเก็บข้อมูลประวัติสินเชื่อ ก็ฝากคำถามมาให้ผู้ที่ริอยากจะกู้เงินไปใช้ทำอะไรก็แล้วแต่...ให้ฉุกคิดสักนิดก่อนจะกู้นะจ๊ะ
          เช่น ตอบให้ได้ก่อนว่า 1. การจะขอกู้เงินใครเค้าคราวนี้ ไม่ว่าคุณคิดจะกู้กับสถาบันการเงินหรือกู้กับเจ้าหนี้นอกระบบ (ว้ายตาย...กล้าไปยืมเจ้าหนี้นอกระบบจริงๆรึ) ช่วยกรุณาทบทวนตัวเองสักหน่อยเหอะว่า จะขอกู้เงินจำนวนนี้ (เป็นเงินเท่าไหร่ก็ว่ากันไป) ไปทำอะไรห้า?
          เออ ถ้าคิดจะกู้ยืมเงินไปสร้างบ้าน อันนี้
          โอเคเลย ขอสนับสนุนให้ทุกท่านมีบ้านเป็นของตัวเองด้วยคน เพราะการเป็นหนี้ซื้อบ้าน ยังพอมองเห็นอนาคตว่า คุณจะได้มีทรัพย์สินเป็นสมบัติส่วนตัว แถมการกู้เงินมาซื้อบ้านยังเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่สามารถเก็บไว้ได้ชั่วลูกชั่วหลานซะด้วย
          แต่ถ้าอยากกู้ ทว่ากะจะนำเงินไปเที่ยวเล่น หรือพูดง่ายๆว่ากู้เงินมาเพื่อไป "ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ" ละก็ อย่าสะเหล่อไปกู้เชียว เพราะมันไม่สมเหตุสมผลกับการที่จะเป็นหนี้เอาซะเลยนะซี
          2. ตอบให้ได้ก่อนว่า คุณมีหนี้อยู่ก่อนหน้านี้แล้วรึเปล่า? ถ้ามีอยู่แล้ว แล้วจะไปสร้างหนี้อีกทำไมยะ สู้รอให้ใช้หนี้ก้อนแรกให้หมดก่อนแล้วค่อยกู้ไม่ดีกว่าเรอะ
          แต่ถ้าใครไม่ฟัง ยังคงอยากก่อหนี้ต่อไป ก็มาถึงคำถามข้อ 3. คือ แล้วหนี้ก้อนใหม่ที่เกิดขึ้นนั้น ท่านมีแผนการจะใช้หนี้อย่างไรบ้าง?
          แหมบางคนนะ เวลาไปกู้หนี้ยืมสินเค้ามา ไม่ได้มีการวางแผนหรอกว่า จะหาเงินที่ไหนมาใช้คืน ทีนี้ "หนี้สิน" จึงกลายเป็น "ดินพอกหาง หมู" ดิ เฮ่อถ้าขืนเป็นงี้ก็ไม่ไหวอ่ะ ทางที่ดีคุณควรมีแผนไว้แต่เนิ่นๆว่า จะเจียดเงินรายได้เท่าไหร่ ไปใช้คืนให้ครบต่างหาก
          4. เมื่อมีทั้งหนี้เก่าและหนี้ใหม่ คุณมีแผนการใช้หนี้อย่างไร? ถ้าตอบได้ค่อยไปกู้ แต่ถ้าตอบไม่ได้ก็อย่าสร้างหนี้เกินตัว อย่าลืมสิว่า การไม่มีหนี้คือลาภอันประเสริฐ.
          "คนสมถะ




 

Create Date : 27 กุมภาพันธ์ 2554    
Last Update : 27 กุมภาพันธ์ 2554 23:17:16 น.
Counter : 331 Pageviews.  

=> คอลัมน์ ประทีปส่องใจ เรื่องลูกหนี้ที่ดีเป็นกันอย่างไร

//www.thairath.co.th/column/life/prateep/146738
ลูกหนี้ที่ดี เป็นกันอย่างไร

สำหรับผู้ที่ไม่ได้เกิดมาพร้อมกับความร่ำรวย หรือไม่ได้คาบช้อนเงินช้อนทองมาเกิด คงจะเคยผ่านประสบการณ์ขอกู้เงินจากสถาบันการเงินกันมาแล้วสินะ เพราะต้องมีบ้างแหละที่บางทีคิดอยากจะซื้อสินค้าอะไรสักอย่าง เอ้า ยกตัวอย่าง แบบว่า อยากซื้อรถยนต์สักคันมาใช้ก็ได้

ถ้าเผื่อคุณไม่มีเงินสดพอที่จะซื้อรถมาใช้ แต่มีความจำเป็นต้องใช้รถยนต์ส่วนตัว เนื่องจากอาศัยอยู่ในหมู่บ้านที่การเข้า-ออกแต่ละที แสนลำบากลำบน หนำซ้ำป้ายรถเมล์ก็ไม่ได้มีอยู่หน้าหมู่บ้านซะด้วย ดังนั้น ต่อให้ใจจริงอยากจะขึ้นรถเมล์ไปทำงานหรือไปเรียนมากกว่า เพราะเสียค่าใช้จ่ายถูกกว่ากันเยอะ ทว่าพิจารณาจากเส้นทางระหว่างบ้านกับที่ทำงานแล้ว ขืนรอขึ้นรถเมล์ก็ทุลักทุเลเต็มที

ด้วยประการฉะนี้ ก็เลยจัดแจงซื้อรถมาใช้ซะเลย แม้ต้องกู้เงินเขามาซื้อ แถมยังต้องยอมรับสภาพการเป็นหนี้ ต้องผ่อนส่ง ต้องเสียดอกเบี้ย ก็ต้องยอมกันล่ะ เพราะไม่มีทางเลือกที่ดีกว่านี้แล้วนี่ ดูดู๋ชีวิตของ "ผู้ที่ไม่มีอันจะกิน" ก็เป็นงี้แหละ คือต้องเคยผ่านประสบการณ์กู้หนี้ยืมสินบ้าง เพื่อจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิมไง ว่าแล้วจึงต้องก้มหน้าก้มตาผ่อนซื้อสินค้ากันต่อไป

แหม อย่าว่าแต่ซื้อรถแล้วผ่อนกันเลย บางคนนะ ซื้อคอมพิวเตอร์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ก็ขอผ่อนดีกว่า เพราะเดี๋ยวนี้ติดต่อขอผ่อนชำระค่าสินค้ากับสถาบันการเงินที่ปล่อยให้กู้ทางด้านนี้ง่ายจะตาย แถมยังได้สินค้าไปใช้ก่อน แล้วค่อยทยอยจ่ายคืนทีหลังซะด้วย

ซึ่งหากท่านใดมีวินัยในการผ่อนชำระจนสามารถจ่ายคืนหนี้สินได้หมดก็ถือว่าเยี่ยม ทีนี้เวลาอยากจะซื้อสินค้าอะไรต่อไป แล้วจำเป็นต้องผ่อน (อีกแล้ว) คราวนี้สถาบันการเงินก็คงปล่อยกู้ให้แบบสะดวกโยธินขึ้น เพราะถือว่าเป็นคนมีเครดิตดี ไม่เบี้ยว-ไม่หนี แถมยังจ่ายครบตามกำหนดซะด้วย เจ้าหนี้ก็แฮปปี้สิ แต่หากใครเบี้ยวหรือผ่อนชำระไม่ตรงตามกำหนดละก็ ทีนี้เกิดปัญหาแหงๆ เวลาจะกู้หนี้ยืมสินจากเจ้าหนี้ที่ไหนอีก คงยากกว่าเดิม โอ้ น่าเสียดายเนอะ

ดังนั้น เพื่อเป็นการรักษาเคร-ดิตของตัวเองให้สถาบันการเงินที่ ไหนๆ ก็ล้วนอยากได้เป็นลูกค้า เพราะมีประวัติในการชำระสินเชื่อที่ดี
ทาง เครดิตบูโร ซึ่งเป็นองค์กรจัดเก็บข้อมูลประวัติสินเชื่อ จึงแนะนำว่า......
* ก่อนยื่นขอสินเชื่อใหม่เพิ่ม เติม ขอให้ประเมินรายได้ของตนซะก่อนว่า มีเพียงพอต่อการชำระหนี้ในแต่ละเดือนหรือไม่ ถ้าคิดสะระตะแล้วมีรายได้พอที่จะชำระหนี้ได้ละก็ เชิญขอสินเชื่อกันเลย แต่ถ้าไม่พอก็อดใจไว้ก่อนเหอะ
*หากท่านใดมีบัญชีที่มียอดผิดนัดชำระ ณ เดือนปัจจุบัน ควรติดต่อสถาบันการเงินผู้ให้สินเชื่อเพื่อหาแนวทางผ่อนปรน อย่าหายไปซะเฉยๆนะ ทางที่ดี
*ควรจัดทำบัญชีการใช้จ่าย เพื่อที่จะบริหารการเงินของตัวเองให้สามารถชำระยอดคงค้างให้ตรงตามเวลาที่กำหนดไว้ซะด้วย มามะ มาเป็นลูกหนี้ที่มีเครดิตดีกันเถอะ.


"คนสมถะ"

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับวันอาทิตย์ที่ 6 กุมภ




 

Create Date : 22 กุมภาพันธ์ 2554    
Last Update : 22 กุมภาพันธ์ 2554 15:56:08 น.
Counter : 307 Pageviews.  

=> รายงาน: เครดิตบูโรกับข้อมูลจ่ายค่าสาธารณูปโภค

คอลัมน์: รายงาน: เครดิตบูโรกับข้อมูลจ่ายค่าสาธารณูปโภค

จากปัญหาภาวะหนี้ของประชาชนลุกลามไปสู่สถาบันการเงิน จนนำไปสู่การจัดตั้งหน่วยจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับหนี้ เพื่อไว้ตรวจสอบและเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการให้สินเชื่อ

"บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด"หรือที่เรียกกันติดปากว่า"เครดิตบูโร" กลายเป็นหน่วยงานสำคัญที่มีผลต่อการขอสินเชื่อของประชาชน ผู้ใดที่มีข้อมูลอยู่ในเครดิตบูโรคงจะลำบากลำบนในการขอสินเชื่อ

แม้ว่าบางรายจะมียอดสินเชื่อที่ติดค้างเพียงน้อยนิด ก็ไม่มีสิทธิบ่นหากสถาบันการเงินที่ขอสินเชื่อจะเอาเป็นข้ออ้างในการงดการพิจารณาสินเชื่อ
ที่ผ่านมาประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเครดิตบูโรนี้เป็นหน่วยสำคัญต่อการพิจารณาสินเชื่อ หากใครมีชื่อติดอยู่ในนี้ รับรองได้ว่าไม่มีโอกาสได้กู้อีกเป็นแน่แท้แม้บางรายจะชำระหนี้คืนสถาบันการเงินที่เป็นหนี้หมดแล้วแต่ก็ยังไม่สามารถขอกู้ได้อีกเพราะชื่อและประวัติยังคาอยู่ในเครดิตบูโร จนกว่าจะถึงระยะเวลาที่กำหนดจึงจะปลดออก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจและน่าติดตามว่าต่อไปเครดิตบูโรจะทำอย่างไร เพื่อเปิดโอกาสให้คนที่ปลดหนี้ให้กับตัวเองแล้วยังมีโอกาสในการใช้สิทธิเพื่อขอกู้ได้อีกครั้ง

ล่าสุดไม่ได้มีเพียงแค่การติดหนี้สถาบันการเงินเท่านั้น แต่ยังจะมีข่าวว่าหากประชาชนคนใดเป็นหนี้ค่าสาธารณูปโภคก็ยังจะถูกส่งข้อมูลเข้าเครดิตบูโรอีกด้วย ยิ่งทำให้ความกังวลในการใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางปัญหาหนี้ยิ่งแย่มากขึ้น
"สุรพล โอภาสเสถียร" ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) จึงต้องออกมาชี้แจงแถลงไขว่าอันที่จริงแล้วข้อมูลที่เครดิตบูโรจัดเก็บ ได้แก่ ข้อมูลประวัติการชำระสินเชื่อโดยข้อมูลสินเชื่อเมื่อเกิดขึ้นหรือเปิดบัญชีแล้วสถาบันการเงินก็จะส่งเข้ามาที่เครดิตบูโรตามที่กฎหมายกำหนด ไม่ใช่ส่งข้อมูลเมื่อมีการผิดนัดชำระหนี้ ที่เรียกกันว่าติดบูโรเข้ามาข้อมูลจะเป็นประวัติเริ่มตั้งแต่เปิดบัญชี มีการชำระเงินอย่างไร จ่ายครบ จ่ายตรงก็บอกว่าไม่ค้างชำระ ถ้าค้างก็บอกว่าค้าง จะจัดเก็บตามความจริงที่เกิดขึ้น และเมื่อข้อมูลเกิดความคลาดเคลื่อน เจ้าของข้อมูล ก็มีสิทธิในการทักท้วงและตรวจสอบได้ หน้าที่เครดิตบูโรคือเป็นผู้ให้บริการข้อมูลแก่สถาบันการเงินเพื่อใช้ประกอบการอนุมัติสินเชื่อเมื่อมีการยื่นขอสินเชื่อ ทั้งนี้ ก็เพื่อป้องกันความเสี่ยงให้กับสถาบันการเงิน ป้องกันการเกิด NPL ในระบบ ไม่ให้เกิดวิกฤติดังเช่นปี 2540 ที่ผ่านมา

แนวโน้มในการใช้ข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อมูลทางการเงินNon Financial Data) มาประกอบกับข้อมูลที่จัดเก็บอยู่เดิมของเครดิตบูโรในหลายประเทศมีหลายประเภทมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในข้อมูลที่สะท้อนวินัยทางการเงินของบุคคล ก็คือ การชำระค่าสาธารณูปโภคหากการจ่ายชำระเงินในส่วนนี้ตรงตามเวลาในจำนวนที่ครบถ้วนก็จะสะท้อนความรับผิดชอบของบุคคลคนนั้นได้อย่างชัดเจนขึ้น

ผลจากธนาคารโลกได้ทำรายงานเปรียบเทียบการทำธุรกิจที่ยากหรือง่ายในแต่ละประเทศ ที่เราเรียกว่า Doing Business Report นั้น ปัจจัยหนึ่งที่ใช้ในการประเมินร่วมกันกับอีกหลายๆ ปัจจัย คือเรื่องดัชนีความลึกของข้อมูลเครดิตที่จัดเก็บในเครดิตบูโร กรณีนี้ประเทศไทยได้คะแนน 5 คะแนน จากคะแนนเต็ม 6 ดังนั้น เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน คือ มาเลเซีย ที่ได้คะแนน 6 เต็ม เมื่อมีการศึกษาก็พบว่าสิ่งที่เรายังขาดไปคือการเก็บข้อมูลประวัติการชำระค่าสาธารณูปโภคนั่นเอง หากเราต้องการยกระดับให้เท่ากับมาตรฐานสากลก็ต้องนำมาพิจารณา ซึ่งเรื่องนี้อยู่ระหว่างการศึกษาว่าจะเหมาะกับประเทศไทยหรือไม่อย่างไร

ความเป็นไปได้ในการจัดเก็บข้อมูลสาธารณูปโภคในประเทศไทยจะดำเนินการให้เกิดขึ้นได้จริงนั้น ยังต้องมีกระบวนการและข้อพิจารณาอยู่มากพอควร เริ่มจากการศึกษาวิจัยว่าค่าสาธารณูปโภคในปัจจุบันมีการชำระกันอย่างไร พฤติกรรมการค้างชำระเป็นอย่างไรกระบวนการและระบบการจัดเก็บ การกำหนดคำนิยามต่างๆ หรือข้อจำกัดของกฎหมายต้องแก้ไขตรงไหนอย่างไรก่อน เพื่อให้การจัดเก็บข้อมูลมีความเที่ยงตรง เป็นธรรม และคำนึงถึงการคุ้มครองผู้บริโภคเพราะกฎหมายที่กำกับดูแลเครดิตบูโรนอกจากจะให้เครดิตบูโรเป็นเครื่องมือในการป้องกัน NPL แล้วยังต้องคำนึงถึงมาตรการการคุ้มครองผู้บริโภคในฐานะเจ้าของข้อมูลอีกด้วยจึงจะมีความสมดุลกัน
โดยในขณะนี้เครดิตบูโรมีโครงการศึกษาและระดมความ เห็นในเบื้องต้น

"การเก็บประวัติการชำระค่าสาธารณูปโภคนั้น หากจะมองให้เป็นประโยชน์กับประชาชนทั่วไปในแง่ของประชาชนรายย่อยที่ไม่เคยมีสเตตเมนต์ (Statement) หรือยังไม่เคยมีประวัติการชำระสินเชื่อกับสถาบันการเงินใดๆ เมื่อไปขอสินเชื่อสถาบันการเงินก็จะไม่มีข้อมูลอะไรให้เห็นเลยอาจทำให้ไม่ได้รับการอนุมัติข้อมูลประวัติการชำระค่าสาธารณูปโภคตัวนี้จะเป็นตัวพิสูจน์ตนเองและสะท้อนวินัยทางการเงินให้สถาบันการเงินได้เห็น และใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาสินเชื่อรายย่อยที่เข้าไม่ถึงสถาบันการเงินให้มีความเป็นไปได้มากขึ้น เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนราย ย่อยได้เข้าถึงระบบสถาบันการเงินด้วยการใช้ข้อมูลประวัติการชำระค่าสาธารณูปโภคที่จะสามารถสะท้อนวินัยในการชำระเงิน เพราะตอนนี้เราก็ทราบว่ามีประชาชนอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินในระบบได้ เพราะไม่มีเอกสารแสดงรายได้ ไม่มีสเตตเมนต์(Statement) แต่ถ้าเขาเหล่านั้นเป็นคนมีวินัย ค่าน้ำ ค่าไฟ ก็จ่ายครบ จ่ายตรง ข้อมูลตรงนี้จะแสดงวินัย เขาก็จะได้เข้าถึงสินเชื่อในระบบและเป็นลูกค้าที่ดีต่อไป มันมองได้ในมุมที่เป็นประโยชน์กับคนหมู่มากกลุ่มหนึ่งเหมือนกัน" ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร อธิบายเพิ่มเติมอย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวยังคงต้องใช้เวลาพอสมควร เท่าที่ประเมินคือ 1-2 ปี คงไม่สามารถทำได้ทันทีใน 1-2 เดือนแน่ๆ

"เรื่องนี้อย่าเพิ่งเข้าใจผิด เราต้องมีวิชาการมารองรับว่าภายใต้ระบบสังคม เศรษฐกิจไทย ที่บางส่วนเหมือนและบางส่วนต่างจากประเทศอื่นจะทำกันแบบไหน แต่ท้ายสุดยังไงก็ต้องเป็นประโยชน์กับคนไทย จึงจะเกิดขึ้นได้ การทำความเข้าใจ การเตรียม ตัวการเตรียมการ การเตรียมความพร้อมต้องจัดให้มีก่อน ไม่ใช่จู่ๆจะทำทันทีได้เลยครับ ผมเข้าใจถึงความกังวลของทุกภาคส่วนต้องขอขอบคุณที่มีข้อติติงมาให้กับเราได้คิด และต้องขอโทษทุกท่านที่อาจมีส่วนทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนไป" ผู้จัดการใหญ่ กล่าวในท้ายสุด

บรรยายใต้ภาพ
สุรพล โอภาสเสถียร--จบ--

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ




 

Create Date : 22 กุมภาพันธ์ 2554    
Last Update : 27 กุมภาพันธ์ 2554 23:14:17 น.
Counter : 601 Pageviews.  

=> เครดิตบูโรจัดเกรดลูกหนี้ ดึงค่าน้ำ-ไฟ-โทรศัพท์เข้าระบบ

เครดิตบูโรจัดเกรดลูกหนี้ ดึงค่าน้ำ-ไฟ-โทรศัพท์เข้าระบบ
Source - เว็บไซต์คมชัดลึก (Th)
Monday, February 14, 2011

บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (NCB) หรือเครดิตบูโร ถูกหลายคนเข้าใจว่า การมีรายชื่อติดในบูโร ถือเป็นการแบล็กลิสต์การกู้เงินจากธนาคาร และล่าสุด เมื่อผู้บริหารคนใหม่ของเครดิตบูโรออกมา เปรยว่า จะขยายไปสู่เก็บข้อมูลประวัติการจ่ายค่าสาธารณูปโภค อย่างค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์บ้าน และมือถือด้วย ก็ยิ่งทำให้เกิดความวิตกและเข้ใจไปว่า จะยิ่งทำให้สถาบันการเงินปฏิเสธการให้สินเชื่อมากขึ้น ซึ่ง "สุรพล โอภาสเสถียร" ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร ชี้แจงผ่าน "คม ชัด ลึก" ว่า แค่อยู่ในขั้นตอนของการศึกษาและรวบรวมข้อมูล หากพบว่ามีข้อเสียมากกว่าข้อดีก็จะไม่ฝืนดำเนินการ
พร้อมยืนยันว่า ที่ผ่านมาบริษัทจะเก็บข้อมูลเท่าที่จำเป็ฯ เช่น ชื่อ ที่อยู่ วันเดือนปีเกิด บัญชีสินเชื่อว่ามีกี่บัญชีสถานะเป็นอย่างไร ซึ่งสถาบันการเงิน หรือ ผู้ปล่อยกู้จะจัดส่งมาให้เป็นรายเดือน และขอย้ำว่า บทบาทของศูนย์ข้อมูลเครดิตนั้น ไม่ใช่เป็นตัวเร่งให้การปล่อยกู้ในอนาคตไปกระตุ้นให้เกิดการบริโภคจนไม่สามารถจ่ายหนี้คืนได้
"ที่ผ่านมามักมีคนเข้าใจผิดว่า ศูนย์ข้อมูล เคราดิตจะเก็บข้อมูลผู้ที่ผิดนักชำระหนี้ ซึ่งจริงๆ แล้ว ข้อมูลจะถูกส่งมาจากสถาบันการเงินตั้งแต่วันที่เริ่มมีบัญชีสินเชื่อ โดยยืนยันว่า ไม่มีการระบุเบอร์โทรศัพท์ของลูกค้า จึงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะเอาข้อมูลโทรศัพท์ลูกค้าไปขายและทุกอย่างล้วนเป็นความลับ"
ส่วนจุดเริ่มต้นของแนวคิดการนำประวัติการชำระค่าสาธารณูปโภคมาใช้ในเมืองไทย เพราะจากการเข้าร่วมประชุมบูโร คองเกรส ที่กรุงเบอร์ลินประเทศเยอรมนี พบว่า ทุกประเทศล้วนมีปัญหาเหมือนกันว่า มีคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่มีประวัติทางการเงินซึ่งเป็นกลุ่มสุดท้ายของพีระมิด หรือกลุ่มฐานราก อย่างพ่อค้า แม่ค้า ซึ่งกลุ่มนี้อาจจะมีรายได้ดี แต่ไม่มีสเตทเมนต์ จึงไม่สามารถยื่นขอกู้เงินได้ จึงมองว่าหากมีข้อมูลชุดใหม่ที่ชี้ชัดว่าคนกลุ่มนี้มีวินัยทางการเงินก็น่าจะช่วยเพิ่มโอกาสให้เข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น
โดยข้อมูลของธนาคารโลกระบุว่า มี 51 ประเทศจาก 180 ประเทศที่เก็บข้อมูลดังกล่าว เช่น ประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่ ทั้งสหรัฐ อังกฤษ แคนาดา แม้แต่บราซิลและอาร์เจนตินาก็เก็บแล้ว ส่วนในเอเชียมี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย แต่ สิงคโปร์กับฮ่องกงยังไม่เก็บ ซึ่งกระแสของโลกน่าจะเดินไปตามแนวทางนี้ จึงเป็นที่มาของการศึกษาถึงผลดี ผลเสีย และเป็นหนึ่งในแผนงานหลักของบริษัทในปีนี้
เก็บข้อมูล-ไฟต้องตีกรอบ
นายสุรพล กล่าวอีกว่า การศึกษาความเป็นไปได้ต้องมีข้อมูลตัวเลข สถิติ ชี้ชัดและต้องรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง เช่น มูลพิธิคุ้มครองผู้บริโภค และผู้ตัดสินใจว่าจะให้เครดิตบูโรเก็บข้อมูลดังกล่าวหรือไม่ คือกรรมการคุ้ครองข้อมูลเครดิต ซึ่งประกอบด้วยกรรมการที่เป็นตัวแทนจากทุกภาคส่วนทั้งภสครัฐ ธนาคารพาณิชย์ ผู้บริโภคและนักวิชาการ
นอกจากนั้น ยังมีรายละเอียดที่ต้องพิจารณาอีกมาก เช่น การให้คำจำกัดความที่ชัดเจน เป็นต้นว่าการกำหนดวงเงินหรือระยะเวลาที่จะเรียกว่าผิดนัด อาจเริ่มตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไป หรือค้างชำระตั้งแต่ 2-3 เดือน หรือหลังตัดนำตัดไฟแล้ว 1 เดือน เป็นต้น ซึ่งคงยึดหลักการเดียวกับการเก็บข้อมูลบัญชีสินเชื่อไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนกว่า คาดว่าจะสรุปได้ภายในเดือนมิถุนายนนี้ หลังจากนั้น หากเห็นว่าควรเดินหน้าต่อก็ต้องมีการแก้ไขกฎหมายจัดตั้งเครดิตบูโร เพื่อเปิดช่องว่างให้องค์กรอื่นๆ เข้าเป็นสมาชิกและขัดส่งข้อมูลมาให้เราได้ ซึ่งการจัดส่งข้อมูลจะต้องทำโดยสมัครใจ เชื่อว่ากระบวนการทุกอย่างกว่าจะแล้วเสร็จต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 1-2 ปี
"เรามองว่าคนที่ไม่มีวินัยค้างจ่ายค่าน้ำค่าไฟ ก็ถูกลงโทษอยู่แล้ว ด้วยการถูกตัดน้ำ-ไฟจนกว่าจะไปจ่ายเงิน แต่คนที่มีวินัยจ่ายเงินตรงทุกเดือนก็น่าจะได้รับรางวัล ได้ประโยชน์จากการรักษาประวัติตรงนี้ให้แบงก์สามารถนำข้อมูลไปใช้อ้างอิงในการปล่อยสินเชื่อได้"
นายสุรพล กล่าวว่า หน้าที่ของเครดิตบูโรต้องดูแลคุ้มครองผู้บริโภค จึงเก็บข้อมูลที่เพียงพอ ถูกต้อง ครบถ้วน ทันสมัยและพร้อมใช้งาน ซึ่งวิสัยทัศน์ของเครดิตบูโรต่อไปจะเป็นองค์กรที่กระตุ้นให้คนเห็นความสำคัญของประวัติทางการเงิน นอกเหนือจากการดูเงินออมจากบัญชี ต้องตื่นตัวดูภาระหนี้สินของตัวเองจากข้อมูลเครดิตด้วย โดยมองว่า ในอนาคตจะมีการเตรียมตัวก่อนไปขอกู้เงินมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากการขอข้อมูลปี 2550 ที่มีเพียงเดือนละ 4,000 คน ส่วนเดือนมกราคม ที่ผ่านมา มีผู้มาขอเช็กข้อมูลตัวเองถึง 2.5 หมื่นคน
สำหรับแผนการส่งเสริมให้คนไทยเข้าถึงข้อมูลด้วยตัวเองง่ายขึ้น มีทั้งการเพิ่มสาขาหรือยื่นขอได้ตามเคาน์เตอร์ของธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย และกดขอข้อมูลจากตู้เอทีเอ็ม นอกจากนี้ บริษัทมีแผนจะเดินสายชี้แจงทำความเข้าใจทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดไม่น้อยกว่า 20 ครั้ง ซึ่งถือเป็นการทำงานเชิงรุกครั้งแรกในรอบ 9 ปี ตั้งแต่มีการก่อตั้งบริษัทมา
ดันจัดเกรดลูกหนี้ชี้ชะตาเครดิต
นายสุรพลยังกล่าวถึงแผนงานสักคัญของปีนี้ด้วยว่า จะมีการนำระบบคะแนนเครดิต (เครดิต สกอริ่ง) มาใช้เป็นครั้งแรก โดยจากข้อมูลบัญชีสินเชื่อที่มีทั้งหมด 62 ล้านบัญชี เป็นสินเชื่อบุคคลธรรมดา 58 ล้านบัญชี นิติบุคคล 3.75 ล้านบัญชี ซึ่งปีที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์เข้ามาตรวจสอบข้อมูล 16 ล้านครั้ง และแต่ละแห่งอาจดูย้อนหลังไป 6 เดือน 12 เดือน หรือ 3 ปี แล้วแต่ความเข้มงวดในการให้สินเชื่อ นอกเหนือจากการดูหลักประกัน เช่น อายุ รายได้ ส่วนใหญ่ยังดูไปถึงความสามารถหรือความตั้งใจในการชำระหนี้ด้วย
ต่อไปเครดิตบูโรจะเพิ่มทางเลือกในการใช้เป็นเกณฑ์การพิจารณาการให้สินเชื่อด้วยระบบคะแนนของลูกค้าแต่ละราย โดยนำข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวกับบุคคลนั้นๆ ไปประมวลว่ามีความเสี่ยงอยู่ในระดับไหย หากมีความเสี่ยงน้อย เช่น ใน 1 หมื่นคนมีโอกาสแค่ 90 คน จะผิดนักชำระหนี้ก็จะได้คะแนนเต็ม 900 คะแนน หรืออยู่เกรดเอเอ และจะลดหลั่นลงไปเรื่อยๆ จนถึงระดับคะแนนต่ำสุด เอชเอช หรือ 300 คะแนน ซึ่งหมายถึงกลุ่มที่ความเสี่ยงสูงอาจเป็นหนี้เสียถึง 7,000 กว่าคน โดยกลุ่มนี้อาจมีประวัติการผิดนัดชำระหนี้บ่อยครั้ง หรือยังมีหนี้คงค้างชำระอยู่จนถึงปัจจุบัน เป็นต้น
"เป็นการนำข้อมูลของคนนั้นไปเปรียบเทียบกับคนส่วนใหญ่ เช่น ในหมื่นคนที่มีนิสัยการชำระหนี้เหมือนกันนั้นใน 12 เดือนข้างหน้า ผลออกมาว่ามีโอกาศจะเป็นหนี้ดีกี่คน หนี้เสียกี่คน ก็จะบ่งชี้คนนั้นได้ว่า คนคนนั้นได้คะแนนอยู่ในระดับใด ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มทดลองระบบความแม่นยำแล้ว หลังจากที่คิดพัฒนามาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2551 และเสร็จสมบูรณ์เดือนธันวาคมที่ผ่านมา"
ทั้งนี้ ในเดือนมีนาคมนี้ จะยื่นเรื่องไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อให้ออกระเบียบรองรับ คาดว่าประมาณเดือนเมษายน-พฤษภาคม น่าะมีผลบังคับใช้ ซึ่งต่อไปหากมีการขอข้อมูลเครดิต เจ้าตัวก็จะทราบว่าถูกจัดอยูในเกรดใด และจะมีการอัพเดททุกครั้งที่มีการขอข้อมูลหากมีข้อใหม่ๆ ที่ส่งเข้ามามีการเปลี่ยนแปลง
ส่วนการจัดเกรดพบว่า บัญชีส่วนใหญ่ยังเป็นลูกหนี้ที่ดี ระดับ เอเอ สัดส่วน 24.58% ระดับ บีบี 23.31% และ ซีซี 18.60% มากที่สุด แต่ขอย้ำว่าเครดิตบูโรไม่ได้เป็นผู้การันตีลูกค้าแต่เป็นเพยงการชี้วัดความน่าจะเป็นในการชำระหนี้ในอนาคต หรือเป็นการพยากรณ์ ซึ่งก็ย่อมมีโอกาสที่จะผิดพลาดได้
อย่างไรก็ตาม มองว่า กลุ่มผู้ที่รักษาประวัติของตัวเองจนได้คะแนนในระดับ เอเอ หรือ บีบี ควรจะได้รับประโยชน์ โดยมองว่าต่อไปแบงก์อาจจะแข่งขันกันดึงลูกค้ากลุ่มนี้ ด้วยการออกแคมเปญสินเชื่อดอกเบี้ยมาจูงใจและในทางกลับกัน กลุ่มที่ไม่สนใจรักษาประวัติของตัวเองหรืออยู่กลุ่มคะแนนต่ำก็อาจถูกชาร์จดอกเบี้ยสูงขึ้นตามความเสี่ยง
สุดท้าย นายสุรพล ฝากเตือนทุกคนว่า ในปีนี้เศรษฐกิจยังมีความน่าเป็นห่วงเรื่องค่าครองชีพสูง น้ำมันแพง ดอกเบี้ยขาขึ้น ขณะที่คนส่วนใหญ่รายได้ไม่เพิ่มขึ้นทำให้มีเงินเหลือเก็บน้อย หรือต้องก่อหนี้เพิ่มขึ้น จึงอยากให้คิดให้รอบคอบว่า จะก่อหนี้ใหม่ไปเพื่ออะไร หากกู้ไปบริโภคก็ต้องระมัดระวังเวลาจ่ายหนี้คืนจะมีเงินจ่ายตรงเวลาไหม หากถึงสิ้นเดือนแล้วคิดว่าต้องจ่ายหนี้อันไหนก่อนดี ถือว่าเป็นสัญญาณอันตรายแล้ว

บรรยายใต้ภาพ
สุรพล โอภาสเสถียร--จบ--

--คมชัดลึก ฉบับวันที่ 14 ก.พ. 2554 (กรอบบ่าย)--




 

Create Date : 22 กุมภาพันธ์ 2554    
Last Update : 22 กุมภาพันธ์ 2554 15:53:05 น.
Counter : 433 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  

amaridar
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add amaridar's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.