บอกแล้วไม่ฟัง
Group Blog
 
All blogs
 
=> จับสัญญาณคนไทยกับแคมเปญรัฐแก้หนี้ :: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 26 - 29 พ.ค. 2554

จับสัญญาณคนไทยกับแคมเปญรัฐแก้หนี้

การประกาศโครงการรีไฟแนนซ์หนี้บัตรเครดิตของกระทรวงการคลัง ผ่านการดำเนินการของธนาคารรัฐ 3 ราย ด้วยเงื่อนไขจูงใจดอกเบี้ยต่ำ 10% นาน 3 ปี เป็นประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางทั้งด้านบวกและด้านลบ มีทั้งที่เป็นห่วงเรื่องวินัยของลูกหนี้ และเสียงสนับสนุนเพราะมองว่าเป็นทางเลือกผ่อนปรนภาระให้กับลูกหนี้ธนาคารเอกชน ที่แบกดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมในอัตราสูง

อย่างไรก็ตาม โครงการในลักษณะนี้นอกจากจะถูกมองว่าเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคแล้ว ในบางแง่บางมุมกระแสความนิยมที่ประชาชนมีต่อโครงการ อาจสะท้อนนัยบางประการเกี่ยวกับ "หนี้" ในมือของประชาชนด้วยหรือไม่

หากพิจารณาข้อมูลของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) พบว่า ในไตรมาส 1/54 ที่ผ่านมา ทั้งระบบมีการเปิดบัญชีสินเชื่อใหม่ทั้งสิ้น 1.62 ล้านบัญชี แบ่งเป็นสินเชื่อบัตรเครดิต3.83 แสนบัญชี มีสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้นสุทธิ 1,189 ล้านบาท สินเชื่อ

บ้าน 8.32 หมื่นบัญชี มีสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้น112,315 ล้านบาท สินเชื่อส่วนบุคคล5.01 แสนบัญชี มีสินเชื่อคงค้างเพิ่ม84,174 ล้านบาท สินเชื่อรถยนต์ 3.60 แสนบัญชี มีสินเชื่อคงค้างเพิ่ม 168,529 ล้านบาท และอื่น ๆ 2.96 แสนบัญชีมียอดสินเชื่อคงค้าง 114,941 ล้านบาท

เมื่อพิจารณาที่ข้อมูลการชำระหนี้ของลูกหนี้รายย่อยทั้งระบบย้อนหลัง3 ไตรมาส ซึ่งไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก สะท้อนว่าความสามารถในการชำระหนี้ยังอยู่ในเกณฑ์ดี

ข้อมูลบัญชีสินเชื่อทั้งระบบ ณไตรมาส 1/54 ที่ 62.52 ล้านบัญชี แบ่งเป็นสินเชื่อบุคคลธรรมดา 58.75 ล้านบัญชี สินเชื่อนิติบุคคล 3.77 ล้านบัญชีนั้นพบว่า บัญชีสินเชื่อบุคคลธรรมดาที่มีการเคลื่อนไหวมีอยู่ทั้งสิ้น 37.5 ล้านบัญชี ซึ่งหากเรียงลำดับจากจำนวนบัญชีพบว่า สินเชื่อบัตรเครดิตมีสัดส่วนมากสุดคือ 13.7 ล้านบัญชี หรือ 37%ตามด้วยสินเชื่อส่วนบุคคล 10 ล้านบัญชีหรือ 27% สินเชื่อที่อยู่อาศัย 4.2 ล้านบัญชี หรือ 11% สินเชื่อรถยนต์4.0 ล้านบัญชี หรือ 10% อื่น ๆ อีก5.6 ล้านบัญชี หรือ 15%

โดยกลุ่มสินเชื่อบุคคลที่มีการแสดงความเป็นห่วง พบว่าจากบัญชีที่มีการเคลื่อนไหว 10 ล้านบัญชี เป็นลูกหนี้ปกติอยู่ 7.4 ล้านบัญชี หรือ 74% ส่วนที่ต้องระวังและติดตามคือมีการค้างชำระ31-90 วัน มีอยู่ 2 แสนบัญชี หรือ 2%เป็นหนี้เสีย หรือ NPL 2.4 แสนบัญชีหรือ 24%

สำหรับสินเชื่อบัตรเครดิต จาก 13.7 ล้านบัญชี พบว่าเป็นลูกหนี้ดีอยู่ 12.2 ล้านบัญชี หรือ 89% ต้องระวังติดตาม1 แสนบัญชี หรือ 1% และเป็น NPL 1.4 ล้านบัญชี หรือ 10% สินเชื่อรถยนต์จาก 4 ล้านบัญชี เป็นลูกหนี้ดี3.3 ล้านบัญชี หรือ 83% ลูกหนี้ที่ต้องระวังและติดตาม 3 แสนบัญชีหรือ 5.6% และ NPL 4 แสนบัญชีหรือ 11.4%

ส่วนสินเชื่อที่อยู่อาศัย เป็นกลุ่มที่มีNPL ต่ำสุด และเครดิตบูโรระบุว่าเป็นกลุ่มที่ไม่ต้องกังวลเนื่องจากมีหลักทรัพย์ค้ำประกันจำนองไว้กับธนาคาร จาก4.2 ล้านบัญชี พบว่าเป็นลูกหนี้ดีอยู่3.2 ล้านบัญชี หรือ 76% ลูกหนี้ต้องระวังและติดตาม 7 แสนบัญชี หรือ 17% และ NPL 3 แสนบัญชี หรือ 7%

แต่ในฐานะผู้จัดการใหญ่ของเครดิตบูโร "สุรพล โอภาสเสถียร"กลับมองข้อมูลสินเชื่อเหล่านี้ด้วยความระมัดระวังโดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ราคาน้ำมันค้าปลีกในประเทศปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องถึงปัจจุบัน และถ้ายังคงต่อเนื่องไปอีก ย่อมต้องมีกลุ่มที่เสี่ยงและต้องติดตามอย่างใกล้ชิดนั่นคือ กลุ่มลูกหนี้สินเชื่อบุคคล เพราะราคาน้ำมันจะส่งผลต่อราคาสินค้าและเงินเฟ้อ กลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะมีรายได้น้อยและคงที่ ถ้ารายจ่ายสูงขึ้น ความสามารถชำระหนี้กลุ่มนี้จะลดลง

ในส่วนผลของมาตรการกระตุ้นของภาครัฐทั้งโครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัย 0%2 ปี มาตรการรีไฟแนนซ์สินเชื่อบัตรเครดิตในกลุ่มลูกค้าที่ประวัติการชำระหนี้ดี สุรพลให้ความเห็นว่า เป็นพัฒนาการที่ต้องจับตามอง เนื่องจากจะมีผลทำให้การแข่งขันในระบบสถาบันการเงินสูงขึ้น เนื่องจากแต่ละธนาคารคงจะมีมาตรการเพื่อป้องกันลูกค้าตัวเองเพราะลูกค้าบางกลุ่มก็มีอยู่จำนวนไม่มาก เช่น ลูกค้าบัตรเครดิตที่ไม่จ่ายเต็มวงเงิน ซึ่งธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยจากกลุ่มนี้ก็มีอยู่เพียง 6.75% ของฐานสินเชื่อบัตรเครดิตคงค้าง 1.52 แสนล้านบาท โดยปัจจุบันลูกค้าบัตรเครดิตมีการจ่ายเต็มจำนวนมีอยู่ถึง 40-60%

อย่างไรก็ตาม ผู้จัดการใหญ่เครดิตบูโรก็ให้ความเห็นในที่สุดว่า แม้จะต้องพยายามป้องกันฐานลูกค้าตัวเอง แต่ธนาคารพาณิชย์คงไม่ทำให้ถึงขั้นมีการหย่อนความเข้มงวดในการให้สินเชื่อเพราะอาจเป็นการได้ไม่คุ้มเสีย

ทั้งนี้ ข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์แสดงให้เห็นว่า นับจากต้นปีมาอัตราเงินเฟ้อของไทยได้ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยในส่วนของเงินเฟ้อทั่วไปนั้นในเดือนม.ค.-เม.ย. อยู่ที่ 3.03% 2.87% 3.14%และ 4.04% ตามลำดับ ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานช่วงเวลาเดียวกันก็ปรับตัวอย่างต่อเนื่อง อยู่ที่ 1.32% 1.45% 1.62% และล่าสุดเดือน เม.ย. 2.07% ตามลำดับ

ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้ตั้งข้อสังเกตในรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อฉบับล่าสุดว่า การเร่งตัวขึ้นของเงินเฟ้อของประเทศไทยนั้นส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเร่งตัวของราคาในหมวดพลังงาน ที่ถูกกดดันจากฝั่งอุปสงค์ที่สูงขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และฝั่งอุปทานที่มีความไม่สงบในประเทศผู้ผลิตน้ำมันเป็นแรงกดดันสำคัญ

เงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นหมายถึงราคาสินค้าที่แพงขึ้น ส่งผลให้อำนาจการจับจ่ายของผู้บริโภคลดน้อยลงไปตามลำดับนั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่ความสามารถในการชำระหนี้เป็นประเด็นขึ้นมา โดยเฉพาะกลุ่มลูกหนี้ที่ความสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจได้น้อย

ในรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อล่าสุดประจำเดือน เม.ย. ธปท.ตั้งข้อสังเกตว่าหนี้สินของภาคครัวเรือนได้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการกู้ยืมเพื่อซื้อยานพาหนะที่ขยายตัวในอัตราสูงมาระยะหนึ่งแล้ว และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอันเป็นผลจากรายได้ที่สูงขึ้นต่อเนื่อง

สัญญาณหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นได้เริ่มปรากฏตั้งแต่ปี 2553 ถือเป็นปัจจัยที่ธปท.ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในระยะต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น และอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้น

ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 26 - 29 พ.ค. 2554




Create Date : 26 พฤษภาคม 2554
Last Update : 26 พฤษภาคม 2554 10:42:33 น. 0 comments
Counter : 676 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

amaridar
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add amaridar's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.