บอกแล้วไม่ฟัง
Group Blog
 
All blogs
 
=> บำนาญแห่งชาติถ้วนหน้า

‘บำนาญแห่งชาติถ้วนหน้า’ การถักทอเครือข่ายความคุ้มครองทางสังคม


ไม่เพียงความไม่ยั่งยืนแน่นอนของเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุถ้วนหน้า 500 บาทที่จัดสรรให้ผู้สูงอายุทุกคนอันเนื่องมาจากนโยบายรัฐบาลแต่ละชุดหรือนายกรัฐมนตรีแต่ละคน ระบบบำเหน็จบำนาญที่ครอบคลุมเฉพาะแรงงานในระบบ 14 ล้านคน ไม่รวมแรงงานนอกระบบที่มีมหาศาลถึง 24 ล้านคน หรือร้อยละ 70 ของผู้มีงานทำทั่วประเทศในปัจจุบันก็ยังเป็นวิกฤตใหญ่ของสังคมสูงอายุไทย


ในการผ่านพ้นอุปสรรคดังกล่าว การเรียกร้องให้รัฐจัดระบบบำนาญรองรับฝ่ายเดียวไม่อาจทำได้ในทางปฏิบัติ อีกทั้งไม่ใช่คำตอบสุดท้ายถึงแม้นประเทศไทยจะพยายามเป็นรัฐสวัสดิการ (Welfare state) ด้วยการแจกเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุถ้วนหน้า ในทางกลับกันการส่งเสริมการออมของประชาชนโดยรัฐบาลสมทบเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ 22,955 ล้านบาทในกรณีที่มีผู้เข้ากองทุนร้อยละ 100 หรือร้อยละ 0.27 ของ GDP กลับคุ้มค่ากว่ามาก เพราะไม่สร้างภารระหนักหนาทางการคลังในระยะยาว


การพึ่งตนเองให้อยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีมีรายได้มั่นคงเพียงพอต่อการดำรงชีพจึงต้องตั้งต้นในวัยแรงงาน ไม่อาจรอล่วงเลยถึงวัยเกษียณที่ไร้เรี่ยวแรงและตลาดแรงงานรองรับ ดังนั้นการวางแผนการออมระยะยาวนับแต่วัยแรงงานผ่านระบบบำนาญแห่งชาติที่ออกแบบมาให้รัฐและประชาชนช่วยเหลือเกื้อกูลกันด้วยระบบการออมและการสมทบเงินออมจากภาครัฐจึงเป็นคำตอบสุดท้ายของสังคมสูงอายุไทยที่ปัจจุบันมีผู้สูงวัยกว่า 7 ล้านคน และจะทะยานเกือบ 18 ล้านคนในอีก 2 ทศวรรษหน้า


ด้วย ‘ยิ่งออมเร็วเท่าไร ชีวิตชราและประเทศชาติก็ยิ่งมั่นคงเร็วขึ้นเท่านั้น’ คนไทยอายุ 20 ปีขึ้นไปจึงควรต้องตั้งต้นออมแต่วันนี้เพื่อจะได้มีเงินในบั้นปลายมากพอประคับประคองชีวิตให้อยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี ในขณะเดียวกันก็ไม่เป็นภาระรัฐในการจัดสรรรายได้ให้อยู่ได้ไม่กระเบียดกระเสียรเกินไป




ในการออมผ่านกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ที่เป็นกองทุนการออมเพื่อวัยสูงอายุที่ให้สิทธิประชาชนสัญชาติไทยที่มีอายุไม่เกิน 60 ปีและไม่เป็นผู้ได้รับการคุ้มครองและหลักประกันทางสังคมกรณีชราภาพตามกฎหมายอื่นที่มีการจ่ายสมทบของนายจ้างหรือรัฐบาลหรืออยู่ในระบบบำเหน็จบำนาญภาครัฐ เช่น แม่บ้านพ่อบ้าน พ่อค้าแม่ค้า สามารถเข้าเป็นสมาชิกระบบบัญชีรายบุคคล โดยกองทุนเป็นนิติบุคคล ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ และรายได้กองทุนไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน จะมีระดับขั้นและจำนวนเงินสมทบในแต่ละช่วงวัย ตามการคำนวณของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) บนเงื่อนไขว่าสมาชิกออมต่อเนื่อง ดังนี้


1) อายุ 20-30 ปี ออมเดือนละ 100 บาท รัฐสมทบเดือนละ 50 บาท ถ้าเริ่มออมตั้งแต่อายุ 20 ปีจะมีเงินออมทั้งสิ้น 290,185.10 บาทเมื่ออายุครบ 60 ปี 2) อายุ 30 ปี 1 เดือน-50 ปี ออมเดือนละ 100 บาท รัฐสมทบเดือนละ 80 บาท ถ้าเริ่มออมตั้งแต่อายุ 30 ปีจะมีเงินออมทั้งสิ้น 168,326.01 บาทเมื่ออายุครบ 60 ปี และ 3) อายุ 50 ปี 1 เดือน-60 ปี ออมเดือนละ 100 บาท รัฐสมทบเดือนละ 100 บาท ถ้าเริ่มออมตั้งแต่อายุ 50 ปีจะมีเงินออมทั้งสิ้น 32,600.40 บาทเมื่ออายุครบ 60 ปี


หนุ่มสาวที่เริ่มชีวิตทำงานทั้งแบบแรงงานในระบบและนอกระบบ (Formal and informal sector) ถ้าตั้งต้นไวที่อายุ 20 ปี โดยออมระดับพื้นฐานเดือนละ 100 บาท เมื่อถึงวัยเกษียณก็จะได้รับบำนาญตลอดชีพเดือนละ 1,710 บาท รวมเบี้ยยังชีพอีก 500 บาท เบ็ดเสร็จเดือนละ 2,210 บาท แม้ไม่มากเมื่อเทียบกับรายจ่ายปัจจัย 4 หากแต่ก็เป็นความภาคภูมิใจในน้ำพักน้ำแรงบวกกับการอดออมในวัยเยาว์


ในทางกลับกันถ้าเริ่มต้นออมช้า เช่น เริ่มต้นเข้ากองทุนเมื่ออายุ 30, 40 และ 50 ปีจะมีเงินบำนาญเดือนละ 992, 487 และ 192 บาทตามลำดับก่อนรวมเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่อนาคตไม่แน่นอน


ทั้งนี้ สศค. กำหนดให้ประชาชนสามารถออมขั้นต่ำในแต่ละเดือนแค่ 100 บาท สามารถออมสะสมเพิ่มตามความประสงค์ได้อีกเดือนละ 100-1,000 บาท และรัฐบาลจะจ่ายสมทบให้ตามสิทธิเป็นลำดับชั้นตามช่วงอายุของผู้ออม โดยอัตราเงินสะสมและเงินสมทบจะมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจด้วย ถ้ารายได้ลดลงก็ลดจำนวนเงินสมทบออมได้ แต่ขั้นต่ำต้องเดือนละ 100 บาท


กรณีที่มีรายได้ไม่แน่นอน เช่น เกษตรกรที่รายได้หลักมาจากการขายผลผลิตทางการเกษตรในแต่ละรอบจะสามารถเลือกจ่ายเงินออมสะสมเข้ากองทุนเป็นรายงวดทั้งแบบ 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปีรวบยอด 12 เดือน ส่วนกรณีที่ประสบภาวะยากลำบาก เจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลขาดรายได้ ผู้ทุพพลภาพที่ทำงานไม่ได้และมีใบรับรองแพทย์ไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุน แต่ยังคงได้รับสิทธิบางส่วนจากการที่รัฐบาลจ่ายเงินสมทบให้กึ่งหนึ่งของกรณีปกติ


กรณีย้ายถิ่นก็ไม่มีปัญหาเพราะใช้บัตรประจำตัวประชาชนเป็นตัวเชื่อมโยง จึงสมทบที่จังหวัดใดก็ได้ และไม่มีปัญหาเหมือนระบบประกันสังคมถึงแม้ต้องออกจากโรงงานไปขับแท็กซี่ ขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ในขณะเดียวกันก็ไม่ต้องกังวลว่าถ้าเสียชีวิตก่อนอายุ 60 ปีจะสูญเงินนี้ฟรีๆ เพราะทายาทหรือบุคคลที่ผู้สมทบเงินออมระบุชื่อไว้จะได้รับเงินบำเหน็จตามบัญชีสะสมและเงินสมทบหากเสียชีวิตหลังเกษียณก่อนระยะเวลาที่กำหนดไว้จากการเงินออมแค่วันละ 3 บาทกว่าๆ จากอัตราเดือนละ 100 บาท


ทั้งนี้ นอกเหนือเงินบำนาญชราภาพที่เป็นหัวใจแล้ว เครื่องมือการออมเพื่อการชราภาพนี้ยังเพิ่มแรงจูงใจให้ประชาชนร่วมออม ไม่ว่าจะเป็นเงินบำนาญทุพพลภาพ เงินบำเหน็จตกทอด หรือเงินค่าฌาปนกิจสงเคราะห์ ที่ล้วนแล้วแต่มีคุณค่าความหมายต่อการดำรงชีวิตและปึกแผ่นของชุมชน ไม่เช่นนั้นปัจจุบันชุมชนมากมายคงไม่จัดสวัสดิการเหล่านี้เพื่อรองรับความต้องการของคนในชุมชนเอง


อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดของสังคมไทยที่คนทำงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ ซ้ำส่วนมากหาเช้ากินค่ำ แค่ประคับประคองชีวิตอยู่รอดได้ในแต่ละวันก็ลำบากยากแค้นเหลือแสนแม้นจะขยันหมั่นเพียรตัวเป็นเกลียวแล้วก็ตาม แต่สุดท้ายรายได้ก็น้อยนิด หนี้สินกลับเยอะแยะ


ครั้นหวังพึ่งเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเดือนละ 500 บาทก็ไม่เพียงพอ อนาคตเงิน 500 บาทอาจมีค่าแค่ 20 บาทเพราะอัตราเงินเฟ้อ นอกเหนือจากความไม่มั่นคงทางนโยบายเบี้ยยังชีพในแต่ละรัฐบาล


ดังนั้น ด้วยตระหนักถึงปัญหาแท้จริง ระบบบำนาญชราภาพถ้วนหน้าจึงถูกออกแบบมาให้มีทั้งแบบบังคับและสมัครใจบน 3 หลักการสำคัญ คือ


1) หลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐานซึ่งเป็นระบบที่เน้นการกระจายรายได้ โดยรัฐจะประกันรายได้ระดับพื้นฐานในวัยชรามิให้ผู้สูงวัยตกไปสู่ความยากจนผ่านเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุถ้วนหน้า 500 บาท/เดือนที่ถือเป็นบำนาญขั้นพื้นฐาน


2) ระบบการออมซึ่งเป็นระบบบังคับเพื่อสร้างแรงจูงใจให้มีการออม กระจายรายรับของบุคคลช่วงวัยทำงานไปสู่ช่วงชราภาพ โดยเงินออมนี้จะนำไปลงทุนทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตมั่นคง และ 3) การประกันความเสี่ยงซึ่งเป็นการออมเพิ่มเติมโดยสมัครใจตามฐานะของแต่ละคน เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนภาคเอกชนต่างๆ เพื่อสร้างเสริมความมั่นคงทางรายได้ของผู้สูงอายุแต่ละคน


ระบบบำนาญแห่งชาติที่มีการรวมเงินจากกองทุน (Scheme) ต่างๆ ที่มีลักษณะคล้ายกันเข้าด้วยกันเพื่อมิให้เกิดความซ้ำซ้อนจึงเป็นหลักประกันความมั่นคงของชีวิตชราเพราะเมื่ออายุ 60 ปีบริบูรณ์ก็รอรับเงินออมได้ ‘ออมเยอะได้เยอะ ออมน้อยได้น้อย’ โดยเครื่องมือนี้ถือเป็นโอกาสและความท้าทายใหญ่หลวงสำหรับสังคมไทยที่ไม่ปรารถนาให้คนเฒ่าแก่มีชีวิตคับแค้นขัดสนดังฉากชีวิตชราในรายการวงเวียนชีวิตและสกู๊ปชีวิตที่เรียกน้ำตาผู้ชมผู้ห่วงใยสวัสดิภาพคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงวัย


อนาคตบั้นปลายชีวิตผู้สูงวัยไทยที่ไม่ใช่แค่ผู้ทำงานในระบบราชการจะอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่ตกเป็นภาระครอบครัวหรือรัฐบาลมากเหมือนอดีต ด้วยมีรายได้จากการออมเงินทองของตนเองในช่วงเยาว์วัย แม้จะเป็นเงินจำนวนไม่มากนักในแต่ละเดือน หากแต่สำหรับผู้สูงอายุที่ไร้งานไร้รายได้ เงินรายเดือนก้อนนี้มีค่ามหาศาลยิ่งนัก ทั้งถักทอเป็นโครงข่ายความคุ้มครองทางสังคม (Social Safety Net) ที่ครอบคลุมกลุ่มประชากรชายขอบสังคมไทย


ข้อมูล มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) //www.thainhf.org 11/5/53




Create Date : 08 มิถุนายน 2553
Last Update : 12 มิถุนายน 2553 19:13:48 น. 0 comments
Counter : 516 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

amaridar
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add amaridar's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.