บอกแล้วไม่ฟัง
Group Blog
 
All blogs
 
=>เตรียมรับมือ"สังคมผู้สูงอายุ" "ผู้เฒ่า"แรงงานหลักของชาติในอนาคต

"โลก" กำลังเต็มไปด้วย ผู้สูงอายุข้อมูลจาก "กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ" (UNFPA) ระบุว่า จากการสำรวจ สถิติประชากรโลก พบ ว่า 1 ใน 10 จะมีผู้สูงอายุ (ตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไป) เพิ่มขึ้นมากกว่าประชากรกลุ่มอื่น โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา นั่นหมายความว่า โลกกำลังก้าวเข้าสู่ สังคมผู้สูงอายุ (Ageing Society) อย่างรวดเร็ว


สำหรับประเทศไทย ในปี 2552 มีสัดส่วนผู้สูงอายุอยู่ที่ร้อยละ 11.8 หรือ 7.5 ล้านคน คาดการณ์ว่าในปี 2568 ไทยจะก้าวกระโดด มีผู้สูงอายุมากถึง 14.4 ล้านคน และในปี 2593 ผู้สูงอายุจะล้นเมือง มีจำนวนมากถึงร้อยละ 27 ของพลเมืองทั้งประเทศในห้วงยามนั้น ผู้คนบนแผ่นดินสยาม 1 ใน 5 ราย จะเป็นผู้สูงวัย ซึ่งถือว่า เป็นอัตราการเพิ่มที่เร็วกว่าประเทศตะวันตกหลายเท่านัก !!


ณ เวลานี้ ตัวเลขผู้สูงอายุในประเทศไทย ถือว่าสูงที่สุดในภูมิภาค เอเชียตะวันออก และ เอเชียอาคเนย์ การเพิ่มขึ้นของผู้สูงวัย โดยไม่สัมพันธ์กับอัตราการเกิดของคนไทย ที่ลดต่ำลงจากร้อยละ 3 เหลือเพียงร้อยละ 1 เช่นนี้ ส่งผลให้คนวัยเกษียณจำนวนมาก ต้องนั่งหลังขด หลังแข็ง ทำงาน เพื่อหาเลี้ยงปากท้องตนเอง และหากภาครัฐเมินเฉย ไม่หามาตรการเยี่ยวยาปัญหาดังกล่าว รับรองว่าอีก 100 ปีข้างหน้า ผู้สูงอายุ จะต้องเป็นแรงงานหลักในการพัฒนาประเทศชาติ แทนคน หนุ่ม-สาว ที่มีจำนวนลดลงทุกขณะอย่างแน่นอน


ในรายงานผลการศึกษา "การสร้างโอกาสการทำงานของผู้สูงอายุ" สนับสนุนโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริม สร้างสุข ภาพ (สสส.) มีข้อมูลที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ผศ.ดร.นงนุช สุนทรชวกานต์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวหน้าโครงการวิจัยดังกล่าว อธิบายว่า


ปัจจุบันมีผู้สูงอายุจำนวนมากไม่มีบุตรหลานเลี้ยงดู เป็นที่พึ่ง รวมทั้งไม่มีเงินออมที่จะใช้ดำรงชีวิตในวัยชรา จึงต้องทำงานหารายได้เลี้ยงดูตนเอง




ซึ่งจากการสำรวจสภาวะการทำงานของประชากร ณ ไตรมาสที่ 3 ในปี 2552 พบว่า ร้อยละ 37.9 ของจำนวนผู้สูงอายุ วัยตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ยังอยู่ในกำลังแรงงาน โดยร้อยละ 70 ของ กลุ่มผู้สูงอายุชาย อายุ 60-65 ปี และ ร้อยละ 65 ของกลุ่มผู้สูงอายุชายอายุ 65 ปีขึ้นไป "ต้องทำงานต่อเนื่อง" เพราะเป็นรายได้หลักของครอบครัวส่วนกลุ่มผู้สูงอายุเพศหญิง มีอยู่ร้อยละ 60 ที่ต้องทำงาน นอกจากนี้ยังมีผู้สูงอายุอีกร้อยละ 30 ที่ต้องการทำงาน แต่ว่างงาน และยังพยายามหางานทำอยู่


จากผลการศึกษาโครงสร้างการทำงานของผู้สูงอายุ ยังพบว่าอุตสาหกรรม ที่ทั้งแรงงานสูงอายุทั้งชาย และหญิงกระจุกตัวมากที่สุดคือ


1. อุตสาหกรรมการขายส่ง ขายปลีก ซ่อมแซมยานยนต์ รถจักรยานยนต์ ของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือน


2 . อุตสาหกรรมการผลิต


3. อุตสาหกรรมโรงแรมและภัตตาคารส่วนลักษณะงานและอาชีพที่มีผู้สูงอายุทำมากที่สุด


อันดับ 1 คือ อาชีพการบริการ

2 . อาชีพพื้นฐาน และ

3.ความสามารถทางฝีมือ


ผศ.ดร.นงนุช ได้กล่าวว่า "ผู้สูงอายุที่มีระดับการศึกษาสูง ที่ยังคงทำงานอยู่นั้นมีอยู่ไม่มาก ส่วนใหญ่ของผู้สูงอายุที่ยังทำงาน เป็นผู้ที่ไม่มีการศึกษา หรือมีการศึกษาต่ำกว่าประถมและมีรายได้ที่ต่ำ จึงไม่สามารถเก็บสะสมเงินออมไว้เพียงพอ สำหรับเลี้ยงชีพในวัยชรา และจำเป็นต้องทำงานต่อไป" และ "การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุ มีงานทำ นอกจากจะสามารถช่วยให้ผู้สูงอายุ ได้พัฒนาศักยภาพต่อไปแล้ว ยังจะช่วยเพิ่มช่วงเวลา การออมสำหรับใช้ในยามชราภาพและลดช่วง เวลาการเป็นภาระต่อรัฐและประชากรในวัยทำงาน รัฐบาลจึงควรมีแผนปฏิบัติงานที่ชัดเจนในการส่งเสริมสนับสนุนการมีงานทำที่สอดคล้องกับสมรรถนะของผู้สูงอายุ"


ผศ.ดร.นงนุช เสนอแนะว่า รัฐบาลต้องมีมาตรการในการสร้างโอกาสการทำงานของผู้สูงอายุ คือ

1. สนับสนุนให้ผู้สูงอายุสามารถทำงานต่อไปได้

2. สนับสนุนให้ผู้สูงอายุได้ทำงานที่เหมาะสม

3. การประชาสัมพันธ์ปรับเปลี่ยนทัศนคติการหยุดทำงานเมื่ออายุ 60 ปี

4. ควรส่งเสริมและสนับสนุนให้นายจ้างจัดเวลาทำงานของผู้สูงอายุให้มีความยืดหยุ่น

5. ควรมีโปรแกรมการฝึกอบรมฝีมือแรงงาน ให้แก่แรงงานสูงอายุเป็นพิเศษ เพื่อพัฒนาศักยภาพในการทำงานของแรงงานสูงอายุ หรือเพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้สูงอายุสามารถเลือกอาชีพใหม่ หลังออกจากงานเดิม หรืออาจให้การจูงใจนายจ้างจัดอบรมเอง แก่แรงงานอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปของตน

6. ควรส่งเสริมให้ประชาชน มีสุขภาพที่ดีตั้งแต่เด็ก เพื่อให้มีสมรรถนะทำงานอยู่ได้แม้สูงอายุ โดยเฉพาะการส่งเสริม ให้ประชาชนออกกำลังกายสม่ำเสมอ และ ควรออกกกหมายให้มีพื้นที่สีเขียว เพื่อให้ประชาชนและผู้สูงอายุได้ออกกำลังกายและสันทนาการมากกว่าที่เป็นอยู่


ในด้านกฎหมาย ผศ.ดร.นงนุช บอกว่า รัฐควรมีการปรับปรุงแก้ไข กฎหมาย ระเบียบ ที่เอื้ออำนวยให้ผู้สูงอายุสามารถทำงานอยู่ได้ อาทิ

1. พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 ไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติต่อผู้สูงอายุ และคุ้มครอง การทำงานของผู้สูงอายุไม่ให้ได้รับอันตรายจากการทำงาน ทั้งในด้านลักษณะงาน และสิ่งแวดล้อม และลดจำนวนชั่วโมงการทำงานต่อหนึ่งวันลง ให้มีการพักในระหว่างทำงาน เพื่อให้สามารถดูแลรักษาสุขภาพได้

2. พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือน 2551 ไม่ควรกำหนดเจาะจงอายุเกษียณ 60 ปี แต่ให้ข้าราชการ ทำงานอยู่ต่อได้ตามความสมัครใจ เท่าที่สมรรถภาพทางร่างกายจะเอื้ออำนวย

3. ควรมีการระบุประเภทอาชีพที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุให้ได้รับความคุ้มครองสนับ สนุน นอกจากนี้ควรมีการปรับปรุงมาตรการด้านภาษี โดยใช้นโยบายทางด้านภาษีเพื่อจูงใจให้มีการจ้างงานผู้สูงอายุมากขึ้นเป็นอีกหนึ่งเสียงสะท้อน ที่ภาครัฐควรรับฟัง


ที่มา : “เตรียมรับมือ"สังคมผู้สูงอายุ" "ผู้เฒ่า"แรงงานหลักของชาติในอนาคต.” แนวหน้า 9 กุมภาพันธ์ 2553





Create Date : 10 พฤษภาคม 2553
Last Update : 22 พฤษภาคม 2553 20:40:09 น. 0 comments
Counter : 782 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

amaridar
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add amaridar's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.