บอกแล้วไม่ฟัง
Group Blog
 
All blogs
 

=> วิจัยชี้ค่าใช้จ่ายสุขภาพคนแก่อีก 12 ปีพุ่ง 3.62 เท่า

วิจัยชี้ค่าใช้จ่ายสุขภาพคนแก่อีก 12 ปีพุ่ง 3.62 เท่า
23 พฤษภาคม พ.ศ.2554


สวปก.เผยรายงานวิจัย ค่าใช้จ่ายให้บริการสุขภาพของกลุ่มผู้สูงอายุ อีก 12 ปีข้างหน้า จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ถึง 3.62 เท่า โดยสูงกว่าค่าใช้จ่ายสุขภาพโดยรวมทุกอายุ เพราะอัตราค่าบริการและค่ายา และเทคโนโลยีการแพทย์...


เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2554 นพ.ถาวร สกุลพานิชย์ รอง ผอ.สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) เปิดเผยรายงานวิจัยเรื่องผลสัมฤทธิ์การใช้บริการสุขภาพในกลุ่มผู้สูงอายุ และ ผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายสุขภาพของภาครัฐในอนาคตในช่วงปี พ.ศ. 2554 -2564 ว่าการวิจัยได้ทำแบบจำลองการคลังสุขภาพ ประมาณการณ์ค่าใช้จ่ายสุขภาพตามสิทธิประโยชน์ หรือลักษณะของสวัสดิการสุขภาพการให้บริการสุขภาพของกลุ่มผู้สูงอายุวัย 60 ปีขึ้นไป ภายใต้การจัดบริการของ 3 กองทุน ได้แก่ กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กองทุนประกันสังคมและกองทุนสวัสดิการข้าราชการ โดยมีประชากรภายใต้การดูแลประมาณ 62.2 ล้านคน แบ่งเป็นผู้สูงอายุร้อยละ 26 โดยในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีผู้สูงอายุร้อยละ 13 ของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการมีสัดส่วนผู้สูงอายุอยู่ที่ร้อยละ 27 พบว่าจากการประมาณการค่าใช้จ่ายสุขภาพในกลุ่มผู้สูงอายุภายใต้การดูแล 3 กองทุน มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยในปี พ.ศ. 2565 หรืออีก 12 ปีข้างหน้า จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ถึง 3.62 เท่าและสูงกว่าค่าใช้จ่ายสุขภาพโดยรวมทุกอายุ โดยปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มอัตราการใช้บริการ อัตราค่าบริการและค่ายา รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีทางการแพทย์นพ.ถาวร กล่าวว่า ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา คนไทยมีอายุยืนขึ้นอย่างชัดเจน และก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ จึงมีความเสี่ยงจากปัญหาการเสื่อมของอวัยวะ โรคภัยไข้เจ็บ ทั้งโรคเรื้อรัง โรคประจำตัว ทำให้ผู้สูงอายุต้องไปรับบริการทางสุขภาพแบบต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม หากผู้สูงอายุในอนาคตมีภาวะสุขภาพดี ในสัดส่วนที่สูงขึ้น อัตราการเจ็บป่วย และอัตราตายลดลง ค่ารักษาพยาบาลต่อคนต่อปีในอนาคตก็มีแนวโน้มลดลงได้ แต่หากภาวะสุขภาพไม่ดี ก็จะทำให้ค่าใช้จ่ายทางสุขภาพเพิ่มสูงอย่างรวดเร็ว ค่าใช้จ่ายเหล่านี้จะสูงขึ้นหากรัฐบาลยังไม่มีระบบการป้องกัน ปัญหาสุขภาพที่ดีอาจทำให้ประเทศสูญเสียเม็ดเงินไปกับค่ารักษาพยาบาลเป็น จำนวนมากในอนาคตรอง ผอ.สวปก.กล่าวด้วยว่า รัฐบาลควรเน้นพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ โดยการค้นหาปัจจัยเสี่ยง และโรคเรื้อรัง รวมทั้งการมีแผนการดูแลเฉพาะตัว มุ่งเน้นการขยายการคัดกรองความเสี่ยงและมุ่งดูแลประชาชนตั้งแต่ยังไม่มี อาการแสดงของโรค จัดหาทรัพยากรด้านสาธารณสุขให้เหมาะสม เพียงพอ รวมทั้งวิธีที่เหมาะสมให้ผู้สูงอายุมากกว่า 70 ปี สะดวกต่อการเข้ารับบริการ เร่งรัดการจัดระบบบริการฟื้นฟูสภาพที่เป็นระบบต่อเนื่อง และ เร่งหาข้อสรุปแนวทางการจัดระบบการดูแลระยะยาว เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่ไม่สามารถฟื้นฟูสภาพจนกลับสู่ภาวะปกติ


ที่มา : “วิจัยชี้ค่าใช้จ่ายสุขภาพคนแก่อีก 12 ปีพุ่ง 3.62 เท่า.” ไทยรัฐ 18 พฤษภาคม 2554.




 

Create Date : 24 พฤษภาคม 2554    
Last Update : 24 พฤษภาคม 2554 17:02:08 น.
Counter : 335 Pageviews.  

=> สสช. เผยปัจจุบันผู้สูงอายุกว่า 3 ล้านคนจากจำนวนผู้สูงอายุทั้งสิ้น 8 ล้านคนต้องทำงานนอกบ้านมากขึ้น

สสช. เผยปัจจุบันผู้สูงอายุกว่า 3 ล้านคนจากจำนวนผู้สูงอายุทั้งสิ้น 8 ล้านคนต้องทำงานนอกบ้านมากขึ้น
23 พฤษภาคม พ.ศ.2554


สำนักงานสถิติแห่งชาติ เผย ปัจจุบันผู้สูงอายุกว่า 3 ล้านคน จากจำนวนผู้สูงอายุ 8 ล้านคน ต้องทำงานนอกบ้านมากขึ้น


นายวิบูลย์ทัต สุทันธนกิตติ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากการสำรวจปี 2553 พบว่าปัจจุบันประเทศไทย มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 11 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ทำให้ประเทศไทยก้าวย่างสู่สังคมผู้สูงอายุ เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะผู้สูงอายุในภาคแรงงานเพิ่มขึ้น จากการสำรวจพบว่ามีผู้สูงอายุต้องทำงาน 3 ล้าน 1 แสนคน จากผู้สูงอายุทั่วประเทศ 8 ล้านคน เป็นแรงงานนอกระบบร้อยละ 90.3 แรงงานในระบบร้อยละ 8.7 ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขายและบริการมากที่สุดร้อยละ 46.8 รองลงมาเป็นการทำงานเกี่ยวกับความสามารถทางฝีมือและธุรกิจการค้า ด้านการเกษตรและประมง และผู้บัญญัติกฎหมาย ข้าราชการระดับอาวุโส และผู้จัดการ


ส่วนอัตราค่าตอบแทนและค่าจ้างแรงงานในวัยสูงอายุที่เป็นแรงงานในระบบ มีค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 11,199 บาท ส่วนผู้สูงอายุที่เป็นแรงงานนอกระบบ จะมีค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 3,143 บาท ขณะที่อุบัติเหตุที่เกิดจากการทำงานทั้งแรงงานในระบบและนอกระบบ พบว่า ได้รับบาดเจ็บจากของมีคมบาด/ทิ่ม/แทง มากสุดร้อยละ 64.3 รองลงมาเป็นการพลัดตกหกล้ม การชน/กระแทก และอุบัติเหตุจากยานพาหนะ


ที่มา : “สสช. เผยปัจจุบันผู้สูงอายุกว่า 3 ล้านคนจากจำนวนผู้สูงอายุทั้งสิ้น 8 ล้านคนต้องทำงานนอกบ้านมากขึ้น.” สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ 21 พฤษภาคม 2554.




 

Create Date : 24 พฤษภาคม 2554    
Last Update : 24 พฤษภาคม 2554 17:00:59 น.
Counter : 499 Pageviews.  

=> ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเรียบร้อยแล้ว !

ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเรียบร้อยแล้ว !

 
ณ วันที่ 1 กันยายน 2553 ประเทศไทยมีจำนวนประชากร จำนวน 65.4 ล้านคน เป็นประชากรหญิง 33.3 ล้านคน (50.9%) และเป็นประชากรชาย 32.1 ล้านคน (49.1%) ซึ่งมากเป็นลำดับ 4 ของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองจากประเทศอินโดนีเซีย 240 ล้านคน ฟิลิปปินส์ 92 ล้านคน และเวียดนาม 88 ล้านคน ตามลำดับ

 
ในปัจจุบันจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2553 นี้ประเทศไทยมีผูสูงอายุคิดเป็นประมาณ 11% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ทำให้ประเทศไทยก้าวย่างสู่ "สังคมผู้สูงอายุ" เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตามคำนิยามขององค์การสหประชาชาติ (UN) ที่กำหนดไว้ว่า ประเทศใดมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป สัดส่วนเกิน 10% ของประชากรทั้งประเทศ ถือว่าประเทศนั้นได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) และจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) เมื่อสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เพิ่มเป็น 20% ของประชากร

 
จากการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรหรือการสำรวจแรงงานพบว่า ในปี 2553 มีผู้อายุที่ทำงาน 3.1 ล้านคน จากจำนวนผู้สูงอายุทั้งสิ้น 8.0 ล้านคน หรือคิดเป็น 38.8%

 
ทั้งนี้ จากการสำรวจยังพบว่า การทำงานของผู้สูงอายุเหล่านี้ ส่วนใหญ่ทำงานในฐานะของแรงงานนอกระบบถึง 90.3% ซึ่งหมายถึงเป็นผู้ทำงานที่ไม่ได้รับสวัสดิการและความคุ้มครองจากการทำงาน และอีกส่วนหนึ่งเป็นแรงงานในระบบ

 
สำหรับอาชีพของผู้สูงอายุ ทั้งแรงงานในระบบและนอกระบบ พบว่าเป็นแรงงานในระบบ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพขั้นพื้นฐานต่างๆ ในด้านการขาย 27.8% รองลงมาเป็น ผู้ปฏิบัติงานด้านความสมารถทางฝีมือและธุรกิจการค้า 20.6% ผู้ปฏิบัติงานทีมีฝีมือในด้านการเกษตรและประมง 13.2% และผู้บัญญัติกฎหมาย ข้าราชการระดับอาวุโส และผู้จัดการ 12.2%

 
สำหรับผู้สูงอายุที่เป็นแรงงานนอกระบบ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพผู้ปฏิบัติงานที่มีฝีมือในด้านการเกษตรและประมง 64.0% รองลงมาเป็นพนักงานบริการและพนักบริการและพนักงานขายในร้านค้า 19.0% และผู้ปฏิบัติงานด้านความสามารถทางฝีมือและธุรกิจการค้า 6.4%

 
ที่มา : “ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเรียบร้อยแล้ว !.” กรุงเทพธุรกิจ 18 เมษายน 2554.




 

Create Date : 23 เมษายน 2554    
Last Update : 23 เมษายน 2554 10:07:30 น.
Counter : 871 Pageviews.  

=> :: สัมภาษณ์พิเศษ :: เครดิตบูโร เตือนภัยระบบการเงิน

:: สัมภาษณ์พิเศษ :: เครดิตบูโร เตือนภัยระบบการเงิน : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจและกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ประจำวันที่ 14 เมษายน 2554

โดย : สาธิต อุปชา

เครดิตบูโรพร้อมส่งสัญญาณเตือนภัยระบบการเงิน ป้องกันซ้ำรอยวิกฤติเศรษฐกิจ



ต้องยอมรับว่าตลอดช่วง ระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา หลังจากมีการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือ เครดิตบูโร ภาพลักษณ์ของเครดิตบูโร ออกมาค่อนข้างที่จะเป็นลบ ทั้งที่วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการจัดตั้งเครดิตบูโร ก็เพื่อที่จะเป็น แหล่งข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้าสถาบันการเงิน เพื่อลดความเสี่ยงในการปล่อยกู้ แต่ในสายตาของบรรดาลูกหนี้สถาบันการเงินที่มีกว่า 63 ล้านบัญชี ครอบคลุมลูกหนี้ 19 ล้านราย ไม่ค่อยมีใครสบายใจมากนักหากติดอยู่ในแบล็คลิสต์ หรือ ลูกหนี้ที่ผิดค้างชำระกับสถาบันการเงิน เพราะโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อย่อมลดน้อยถอยลงตาม



สุร พล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) บอกกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า หลังจากที่เขาเข้ามารับตำแหน่งผู้จัดการเครดิตบูโร ตั้งแต่เดือนส.ค. 2553 ที่ผ่านมา เขามีความตั้งใจว่า จะทำอย่างไรให้คนได้เข้าใจถึงบทบาทของเครดิตบูโรว่ามีประโยชน์กับลูกหนี้และ สถาบันการเงินอย่างไร เครดิตบูโรมีหน้าที่อะไร ทำอย่างไรที่จะทำให้ประชาชนได้เข้าถึงระบบข้อมูลที่เครดิตบูโรมีอยู่ และสุดท้ายคือ สร้างความมั่นใจให้กับลูกหนี้และสถาบันการเงินว่า เครดิตบูโรมีการรักษาความ มั่นคงปลอดภัยในระบบข้อมูลอย่างไร



ที่สำคัญข้อมูลที่เครดิตบู โรมีอยู่ยังสามารถนำไปต่อยอดให้กับระบบสถาบันการเงิน ในการอนุมัติสินเชื่อ หรือทบทวนสินเชื่อ และที่สำคัญนำไปใช้เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงให้กับสถาบันการเงิน สอดคล้องกับแผนแม่บทพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (มาสเตอร์แพลน) ที่ในอนาคตอันใกล้จะนำไปสู่ระบบเครดิตสกอริ่ง ซึ่งระหว่างเดือนมี.ค.-พ.ค. เครดิตบูโร ต้องรวบรวมข้อมูลสินเชื่อส่งไปให้ กับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พิจารณา ซึ่งได้ว่าจ้างเครดิตบูโร ของสหรัฐ เป็นผู้พัฒนาระบบ



โดยเงื่อนไขสำคัญในการใช้ระบบเครดิตสกอริ่ง ระบุชัดว่าสถาบันการเงินห้ามนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ในการปฏิเสธสินเชื่อ

สุร พล บอกว่า อีกบทบาทหนึ่งที่สำคัญของเครดิตบูโร ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของการเป็นส่วน หนึ่งในการพัฒนาระบบสถาบันการเงินคือ เครดิตบูโร จะนำข้อมูลสถิติที่ได้จาก การจัดเก็บมาเผยแพร่เป็นรายไตรมาส เพื่อเป็นการส่งสัญญาณเตือนระบบสถาบันการเงิน (Early Warning Signal Systems) โดยเตรียมเปิดแถลงข้อมูลอย่างเป็นทางการในเดือนพ.ค. นี้ และจะทำต่อเนื่องทุกไตรมาส

"รูปแบบการนำเสนอจะมีการหยิบยก ข้อมูลสินเชื่อที่กำลังเป็นประเด็นในสังคมขณะนี้ กรณีสินเชื่อบ้านที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะเกิดปัญหาฟองสบู่หรือไม่ เราก็จะนำข้อมูลมาเผยแพร่ว่า ข้อมูลการผิดนัดชำระหนี้ กลุ่มลูกหนี้ระดับไหนที่มีปัญหาในการผิดนัดชำระหนี้ ไม่ใช่คนนั้นพูดทีคนนี้พูดที โดยไม่มีข้อมูลอ้างอิง แต่ในฐานะที่เราเป็นคนเก็บสถิติข้อมูล เราจะเอาเรื่องนี้มาเผยแพร่ ว่าข้อมูลหรือสถิติเป็นอย่างไร เพื่อที่จะส่งสัญญาณเตือนให้ทุกฝ่ายระมัดระวัง ไม่ว่าจะเป็นผู้กู้ ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์และสถาบันการเงิน"

สุรพล กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาเครดิตบูโรได้จับมือกับบริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ (แอล.พี.เอ็น.) และเตรียมจับมือกับบริษัทพฤกษา เรียลเอสเตท เพื่อที่จะตรวจสุขภาพทางการเงินให้แก่ลูกหนี้ โดยลูกหนี้ที่จะทำสัญญาซื้ออสังหาริมทรัพย์กับแอล.พี.เอ็น. สามารถที่จะตรวจสอบข้อมูลของตัวเองก่อนว่า มีความสามารถเพียงพอในการกู้หรือไม่ ซึ่ง แอล.พี.เอ็น.จะจัดศูนย์ให้คำปรึกษาร่วมกับสถาบันการเงิน และเครดิตบูโร ก็จะเปิดเผยข้อมูลสถิติการชำระหนี้ให้ลูกหนี้ได้รับทราบ ซึ่งในจุดนี้จะทำให้ลูกหนี้สามารถวางแผนการเงิน และช่วยลดปัญหาลูกค้าที่ผ่อนดาวน์ไปแล้ว แต่ไม่สามารถกู้เงินจากสถาบันการเงิน เพื่อกู้ซื้อบ้าน จนทำให้ในที่สุดต้องโดนยึดเงินดาวน์ในภายหลัง

ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 เม.ย. ที่ผ่านมา เครดิตบูโร ได้เปิด “ศูนย์บริการตรวจเครดิตบูโร” หรือ Bureau Express บนสถานี BTS ศาลาแดง เพื่อให้กลุ่มพนักงานออฟฟิศ ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ที่จับจ่ายใช้สอยผ่านบัตรเครดิตอยู่เป็นประจำ แต่ยังไม่ค่อยได้เห็นข้อมูลประวัติสินเชื่อของตนเองผ่านรายงานข้อมูลเครดิต ว่าข้อมูล “ถูกต้อง ครบถ้วน และทันสมัย”’ หรือไม่

ศูนย์บริการตรวจ เครดิตบูโร จะมีเจ้าหน้าที่ให้บริการตรวจเครดิตบูโรพร้อมตอบข้อสอบถาม เพียงผู้ใช้บริการนำบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงพร้อมค่าธรรมเนียม 100 บาท ก็สามารถรอรับรายงานข้อมูลเครดิตได้เลยทันทีภายในเวลา 15 นาที



"ถาม ว่าคุ้มไหมกับค่าเช่าพื้นที่เดือนละ 5 หมื่นบาท ถ้าถามเชิงธุรกิจผมยอมรับว่าไม่คุ้ม แต่ในเชิงรับผิดชอบต่อสังคมผมถือว่าคุ้มค่า เพราะเราคือ ศูนย์ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ คำว่าแห่งชาติคือ ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม เราไม่คาดหวังกำไรสูงสุด แต่ก็ต้องไม่เป็นภาระต่อผู้ถือหุ้นด้วย ซึ่งการดำเนินงานของเครดิตบูโร เข้าถึงจุดคุ้มทุนแล้วตั้งแต่ปี 2550"



ปัจจุบัน ผู้ใช้บริการสามารถขอข้อมูลเครดิตได้หลายช่องทางผ่าน 1.ศูนย์บริการตรวจเครดิตบูโร ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) สำนักงานใหญ่ อาคาร 2 ชั้น 2 เปิดให้บริการทุกวันจันทร์- ศุกร์ 2.ซิตี้แอดวานซ์ 4 สาขา ได้แก่ สาขาศูนย์การค้า เดอะ มอลล์ บางกะปิ ท่าพระ งามวงศ์วาน และศูนย์การค้าฟิวเจอร์ปาร์ครังสิต ทุกวันศุกร์-อาทิตย์ ซึ่งจะได้รับข้อมูลภายใน 15 นาที

ส่วนในต่างจังหวัดก็สามารถตรวจ เครดิตบูโรได้ รับรายงานข้อมูลเครดิตทางไปรษณีย์ ภายใน 7 วัน ผ่าน 1.เคาน์เตอร์ธนาคาร นครหลวงไทย ไอซีบีซี (ไทย) และกรุงไทย ทุกสาขาทั่วประเทศ 2.ทำรายการผ่านตู้ ATM ธนาคารกรุงไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ง่ายๆ หากมีบัตรธนาคารไหน ก็ทำรายการผ่านตู้ ATM ธนาคารนั้น 3.ทำรายการผ่านระบบธนาคารบนโทรศัพท์มือถือ ของธนาคารกรุงไทย เพียงมีบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิตของธนาคารกรุงไทย

วันนี้คุณ ตรวจสุขภาพเครดิตของคุณ เพื่อความพร้อมในการรับมือกับวิกฤติที่ไม่คาดคิดในอนาคตตั้งแต่เนิ่นๆ แล้วหรือยัง!!



//www.bangkokbiznews.com/home/detail/finance/finance/20110414/386446/%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%9A%E0%B8%B9%E0%B9%82%E0%B8%A3-%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%87%E0%B8%B4%E0%B8%99.html




 

Create Date : 14 เมษายน 2554    
Last Update : 14 เมษายน 2554 10:22:54 น.
Counter : 588 Pageviews.  

=> สำนักงานสถิติแห่งชาติประกาศผลสำมะโน 65.4 ล้านคน

สำนักงานสถิติแห่งชาติประกาศผลสำมะโน 65.4 ล้านคน
11 เมษายน พ.ศ.2554

 
ประชากรประเทศไทยเพิ่มแต่อัตราการเกิดลด กรุงเทพมหานครยังครองแชมป์จังหวัดที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดและมีความหนาแน่นของประชากรสูงสุด

 
นายวิบูลย์ทัต สุทันธนกิตติ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผย ผลเบื้องต้นสำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ. 2553 ว่า ประเทศไทยมีจำนวนประชากร ณ วันที่ 1 กันยายน 2553จำนวน 65.4 ล้านคน เป็นประชากรหญิง 33.3 ล้านคน (ร้อยละ 50.9) และเป็นประชากรชาย32.1 ล้านคน (ร้อยละ 49.1) ซึ่งมากเป็นลำดับ 4 ของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองจากประเทศอินโดนีเซีย 240ล้านคน ฟิลิปปินส์ 92 ล้านคน และเวียดนาม 88 ล้านคน ตามลำดับ

 
นายวิบูลย์ทัต กล่าวว่า จากการทำสำมะโนประชากรทุก 10 ปี พบว่าประเทศไทยมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นทุกรอบโดยอัตราการเพิ่มของประชากรแต่ละรอบแตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม พบว่า อัตราการเพิ่มของประชากรในประเทศไทยได้ลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2503 เป็นต้นมา คือ อัตราการเพิ่มของประชากรในระหว่างปี 2503-2513 เป็นร้อยละ 2.70 ต่อปี ระหว่างปี 2533-2543 เป็นร้อยละ 1.05 ต่อปี และระหว่างปี 2543-2553 ลดลงเหลือร้อยละ 0.77 ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลมาจากประเทศไทยมีอัตราการเกิดที่ลดต่ำลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง

 
ประเทศไทยมีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 20.3 ล้านครัวเรือน โดยมีขนาดครัวเรือนเฉลี่ย 3.2 คน ซึ่งมีขนาดเล็กลงเมื่อเทียบกับสำมะโนประชากรและเคหะ ปี 2543 ซึ่งมีขนาดครัวเรือนเฉลี่ย 3.9 คน ภาคที่มีขนาดครัวเรือนเฉลี่ยใหญ่สุด คือภาคใต้ 3.54 คน รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3.53 คน ภาคเหนือ 3.1 คน ภาคกลาง 3.0 คน และกรุงเทพมหานครมีขนาดครัวเรือนเฉลี่ยเล็กสุด 2.9 คน

 
ในเรื่องความหนาแน่น ประเทศไทยมีพื้นที่ประมาณ 513,120 ตารางกิโลเมตร มีความหนาแน่นของประชากร โดยเฉลี่ย 127.5 คนต่อ 1 ตารางกิโลเมตร ซึ่งหนาแน่นกว่า 10 ปีที่แล้ว (118.1 คนต่อ 1 ตารางกิโลเมตร) เป็นที่ทราบกันดีว่า ประชากรมีการย้ายถิ่นฐานมาหาแหล่งงานในกรุงเทพมหานคร จังหวัดในปริมณฑล และจังหวัดใหญ่ๆ ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก จังหวัดที่มีความเจริญ มีสถานศึกษา โรงพยาบาล สถานบริการทางด้านสาธารณสุขการคมนาคมขนส่งสะดวกสบายจะมีประชากรอยู่กันหนาแน่น จึงส่งผลทำให้จังหวัดเหล่านี้มีความหนาแน่นของประชากรเฉลี่ยสูงขึ้น เช่น กรุงเทพมหานคร มีความหนาแน่นของประชากรสูงสุด เพิ่มจาก 4,028.9 คนต่อ 1 ตารางกิโลเมตรในปี2543 เป็น 5,258.6 คนต่อ 1 ตารางกิโลเมตรในปี 2553 จังหวัดที่มีความหนาแน่นของประชากรโดยเฉลี่ยสูงที่สุด 10 อันดับ คือ กรุงเทพมหานคร รองลงมา คือ จังหวัดนนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ภูเก็ต ปทุมธานี สมุทรสงคราม นครปฐม ชลบุรี และพระนครศรีอยุธยา ตามลำดับ

 
ที่มา : “สำนักงานสถิติแห่งชาติประกาศผลสำมะโน 65.4 ล้านคน.” ข่าวประชาสัมพันธ์สำนักงานสถิติแห่งชาติ 8 เมษายน 2554.




 

Create Date : 12 เมษายน 2554    
Last Update : 12 เมษายน 2554 20:16:00 น.
Counter : 754 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  

amaridar
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add amaridar's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.