บอกแล้วไม่ฟัง
Group Blog
 
All blogs
 

=> สูตรวิเศษ มีชีวิตสุขสบาย ไม่ตายก่อนอายุ 99 ปี

สูตรวิเศษ มีชีวิตสุขสบาย ไม่ตายก่อนอายุ 99 ปี


มีคำถามว่า อายุขัยของคนเราสูงสุดคือเท่าไร บางคนบอกว่าสูงสุด 150 ปี ต่ำสุด 120 ปี ซึ่งไม่ถูก เพราะมนุษย์เรามีระยะเจริญเติบโต 20-25 ปี และอายุขัย เป็น 5-7 เท่าของระยะเจริญเติบโต นั่นคือต่ำสุด 100 ปี สูงสุด 175 ปี ดังนั้น ถ้าจะอยู่ถึงอายุร้อยปี ไม่ใช่ความฝัน อีกแล้ว แต่ขึ้นอยู่กับว่าคุณอยากอยู่ถึงขนาดนั้นหรือไม่?


ถ้าจะอยู่ร้อยปีก่อนอื่นต้องมีสุขภาพดี ซึ่งมาจากพื้นฐาน 4 ประการในชีวิตประจำวัน


1. อารมณ์ ภาวะจิตที่สงบสุข คือ มีโภชนาการที่สมดุล

2. อาหาร

3. ออกกำลังกายพอเหมาะ

4. พักผ่อนนอนหลับเพียงพอ


โดยปกติแล้ว ประการที่สี่ชักจูงให้งดบุหรี่และเหล้าอีกด้วย


การแพทย์แผนจีนจัดภาวะจิตใจเป็นอันดับหนึ่งในการบำรุงสุขภาพ กล่าวคือ ภาวะจิตเป็นตัวกำหนดพฤติกรรม และผลพวงต่างๆ เกิดจาก พฤติกรรม มองในแง่สรีระ คนเราอยู่ได้โดยอาศัยอวัยวะทั้ง 5 คือ ตับ หัวใจ ม้าม ปอด และไต ตัวอย่างกรณีโรงพยาบาลออกใบมรณบัตร มักจะระบุสาเหตุการตายว่า หัวใจวาย ตับวาย ไตวาย เป็นต้น ถ้าผู้ป่วยตายด้วยเส้นเลือดหัวใจอุดตัน เพราะเลือดเข้มข้นและสกปรก แสดงว่าตับหมดสมรรถภาพในการฟอกพิษหรือกลั่นกรองเลือดให้บริสุทธิ์ไหลเวียนไม่คล่องตัว ทำให้เกิดการอุดตันในเส้นเลือด


ผู้ป่วยโรคหัวใจจำนวนมาก ก่อนหัวใจวายมักจะบันดาลโทสะ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำลายการทำงานของตับด้วย ฉะนั้น โปรดจำไว้ว่า อย่าโมโหโทโส เพราะไม่ช่วยแก้ไขปัญหาใดๆ เลย มีแต่ทำลายร่างกายเท่านั้น


ขอฝากคำขวัญให้ทุกท่านว่า “หัวเราะสามเวลา ห่างไกลโรคและยา”


ทีนี้มาพูดเรื่องอาหารการกิน องค์การอนามัยโลกเตือนว่า คนเราเกิดโรคเนื่องจากสาเหตุ (1) รูปแบบการดำรงชีวิตไม่เหมาะสม (2) กินอาหารไม่สมดุล มีทั้งที่กินมากเกินและขาดแคลน นั่นคือ ไขมันมากเกิน แต่แร่ธาตุและวิตามินขาดแคลน สรุปคือ ไม่รู้จักกิน จึงทำให้เกิดโรค


อยากจะถามว่า เรากินอาหารเพื่ออะไร คำตอบคือ (1) เพื่อดำรงชีพ (2) เพื่อป้องกันโรค (3) เพื่อรักษาโรค ตัวอย่างเช่นโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ล้วนเกิดจากการกินทั้งนั้น ในเมื่อการกินทำให้เกิดโรคได้ ก็ต้องกินเพื่อรักษาโรคได้เช่นกัน




Socrates บิดาแห่งแพทย์แผนปัจจุบัน เคยกล่าวเตือนว่า “จงกินอาหารให้เป็นยา อย่ากินยาเป็นอาหาร” จีนโบราณก็มีคำกล่าวว่า“ ใช้อาหารรักษาโรคดีกว่ายา” แต่ทุกวันนี้มันกลับกันหมด


แพทย์แผนจีนใช้วิธีมอง ฟัง ดม ถาม แมะ ก็สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำ ตัวอย่างเช่น ตับมีปัญหา สีหน้าจะออกเขียว หัวใจมีปัญหา สีหน้าจะออกแดง ม้ามมีปัญหา สีหน้าจะออกเหลือง คนไข้หอบหืด สีหน้าจะออกขาว คนไข้ไตเสื่อม สีหน้าจะออกดำ


ขอแนะว่าถั่วเขียวเหมาะสำหรับบำรุงตับ เพื่อให้ตับขับพิษออกจากร่างกาย แต่ก็ต้องกินให้ถูกวิธี คนทั่วไปมักจะต้มถั่วเขียวจนเละซึ่งไม่ถูกต้อง วิธีที่ถูกคือต้มให้น้ำเดือดประมาณ 5-6 นาทีก่อนที่ถั่วจะแตกเม็ด รินเอาน้ำออกซึ่งจะได้น้ำถั่วเขียวที่มีสีเข้มข้นที่สุด ดื่มแล้วมีสรรพคุณขับพิษสูงสุด จากนั้นเติมน้ำต้มถั่วต่อจนเละกินเป็นอาหาร


หัวใจชอบสีแดงให้กินถั่วแดง ม้ามชอบเหลือง ให้กินถั่วเหลือง ปอดชอบสีขาวให้กินถั่วขาว ไตชอบสีดำให้กินถั่วดำ ถามว่า ทำไมถึงให้กินแต่ถั่ว? ก็เพราะตำรายาจีนมีคำว่า “คนเรากินถั่วทั้ง 5 จะสมบูรณ์พูนสุข” โภชนาการแผนจีนก็เน้นว่า “กินไม่พ้นถั่ว”


ต่อไปจะพูดถึงรสชาติอาหาร เปรี้ยวบำรุงตับ ขมบำรุงหัวใจ หวานบำรุงม้าม เผ็ดบำรุงปอด เค็มบำรุงไต หมายความว่า ต้องกินให้ครบทุกรสชาติอย่างละนิด ให้เกิดสมดุล เช่นรสเปรี้ยวบำรุงตับ กินมากตับพัง จีนเป็นประเทศที่มีผู้ป่วยโรคตับมากในจีนเองต้องยกให้มณฑลชานซีครองแชมป์โรคตับเพราะคนที่นั่นชอบกินน้ำส้มสายชู รสเผ็ดบำรุงปอด กินมากปอดพังเช่นกัน สถิติกระทรวงสาธารณสุขจีนปีที่แล้วระบุว่า ชาวเสฉวนและชาวหูหนานที่อพยพจากจีนใต้ไปอยู่ภาคเหนือ นำเอานิสัย ชอบกินพริกติดตัวไปด้วย นานวันเข้าเป็นโรคมะเร็งในปอดตามๆ กัน ทั้งนี้เพราะเหตุว่า ภาคใต้อากาศชื้น กินเผ็ดป้องกันความชื้นได้ แต่ภาคเหนืออากาศแห้ง กินเผ็ดมากจะทำลายปอด


ถ้าถามว่ากินอาหารอย่างไรจึงจะเหมาะ มีหลักจำง่ายๆ ดังนี้

“สีสันหยาบ-ละเอียด ดิบ-สุก คาว-เจ” หมาย ความว่า กินอาหารต้องคละกันหลากสีและหลายรสชาติ หยาบและแข็งควบคู่กับละเอียดและนิ่ม สุกควบคู่กับดิบ คาวควบคู่กับเจ ขอแนะนำว่า ต่อไปนี้ให้กินผักดิบผลไม้สดแต่ละมื้อ ถ้าเปลือกกินได้ ก็กินทั้งเปลือกจะยิ่งดี เพราะแพทย์แผนจีนถือว่ากินของดิบลดอาการร้อนใน แพทย์แผนปัจจุบันก็ยังถือว่า ผักผลไม้สดดิบให้วิตามินดีกว่า


คนที่อยากได้ยาบำรุงร่างกาย อย่าลืมผักและผลไม้มีวิตามินสูง ถ้ากินให้ถูกวิธี ก็สามารถดูดซึมวิตามินเพียงพอต่อร่างกาย สิ่งที่ต้องการ คือแคลเซียม ผู้หญิงควรกินแคลเซียมวันละ 3,000 มก. ขึ้นไป ผู้ชายกินวันละ 4,000 มก. ขึ้นไป พร้อมกับอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ


คนทั่วไปมักเข้าใจผิด คิดว่าแคลเซียมใช้สำหรับรักษา โรคไขข้ออักเสบ ที่จริงแล้วแคลเซียมช่วยกระตุ้นให้โลหิต ไหลเวียนด้วย นอกจากนั้น
ยังป้องกันเส้นโลหิตแข็งตัว ดังนั้น ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ควรกินแคลเซียมให้เพียงพอ เพื่อให้เส้นโลหิตอ่อนตัว ความดันก็จะลดตามยาลดความดันก็ไม่ต้องกินมาก


ขอฝากคำขวัญให้ทุกท่านว่า“อยากให้ร่างกายดี กินอาหารถูกวิธียากให้สุขภาพเยี่ยม อย่าลืมกินแคลเซียม“อย่าลืม อาหารต้องมาก่อนยา พึงใช้ยาในยามวิกฤติเท่านั้น ขอให้อาหารที่มีคุณค่า การรักษาที่ดีที่สุดคือเวลา” หมายความว่า ตัวคุณเองต้องรู้จักรักษาตัวเอง ห้องครัวในบ้านเป็นโรงพยาบาลที่ดีที่สุด ยากับอาหารมีความหมายเดียวกัน กินอาหารให้ถูกต้องก็คือยาที่ดีที่สุด การรักษาต้องต่อเนื่อง ไม่ใช่ทดลองแล้วก็หยุด


(เรียบเรียงจากคำบรรยายของแพทย์แผนจีน)




 

Create Date : 20 ตุลาคม 2553    
Last Update : 31 ตุลาคม 2553 19:19:06 น.
Counter : 1055 Pageviews.  

=> เคล็ด (ไม่) ลับบริหารเงินหลังเกษียณ! ใช้จ่ายอย่างไร? สุขใจบั้นปลาย

เคล็ด (ไม่) ลับบริหารเงินหลังเกษียณ! ใช้จ่ายอย่างไร? สุขใจบั้นปลาย
ทีมวาไรตี้


เข้าสู่ปลายเดือนกันยายนทีไร จะมีอีกหลายชีวิตก้าวเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งการเกษียณอายุ หลาย ๆ สิ่ง หลาย ๆอย่างในชีวิตกำลังจะเปลี่ยนไปไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสุขภาพการดำเนินชีวิต และที่จะลืมกล่าวถึงไม่ได้ คือเรื่องของสถานะทางการเงิน!!


แล้วจะวางแผนการใช้จ่ายอย่างไรให้สามารถใช้ชีวิตหลังเกษียณได้อย่างมีความสุข...มีเงินพอเลี้ยงชีวิตไปจนถึงสิ้นอายุขัย??


พจณี คงคาลัยเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายบริหารความสัมพันธ์และการขายสายงานลูกค้าบุคคล ธนาคารกรุงเทพ เผยถึงวิธีการใช้จ่ายเงินหลังชีวิตเกษียณให้ฟังว่าจะเป็นเรื่องที่ดีมากถ้ามีการวางแผนและเก็บออมเงินไว้ตั้งแต่ตอนที่ยังทำงานอยู่


เมื่อชีวิตเกษียณเดินทางมาถึง...การบริหารเงินที่ได้มาจากการเกษียณในรูปแบบของเงินบำนาญซึ่งเป็นเงินที่ได้รับจำนวนเท่า ๆ กันทุกเดือนไปจนกว่าจะเสียชีวิต ทำได้โดยจัดแบ่งเงินที่มีอยู่เป็น 2 ส่วนในส่วนแรกเป็น ค่าใช้จ่ายต่าง ๆซึ่งจะเป็นส่วนของ การดำรงชีวิตประจำวัน คำนวณดูว่าเดือนหนึ่งจะใช้เท่าไร


อีกส่วนหนึ่งเป็น เงินออมโดยการออมนี้ มีทั้งการออมในระยะสั้น โดยส่วนหนึ่งแบ่งมาออมในรูปของ บัญชีออมทรัพย์ซึ่งอาจจะเป็นฝากประจำระยะสั้น 3 เดือน หรือ6 เดือน แต่ไม่ควรเกิน 1 ปีหากมีความรู้ในเรื่องกองทุนก็สามารถแบ่งเงินอีกส่วนหนึ่งมาลงทุนในกองทุนจำพวกพันธบัตร หรือกองทุนตราสารหนี้ ที่ไม่มีความเสี่ยงมากเท่าไรนักได้อีกด้วย


"การลงทุนในรูปแบบของกองทุนนั้น สามารถซื้อขายได้ทุกวัน ซึ่งจะดีในแง่ของอัตราดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนจะสูงกว่าการฝากเงินแบบออมทรัพย์ปกติ แต่ผู้เกษียณจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการลงทุนเหล่านี้ด้วย"




เมื่อผ่านไประยะหนึ่งเงินที่ฝากไว้หรือเงินที่นำไปลงทุนในรูปแบบของกองทุนจะมีมากขึ้น ตรงนี้หากมีความรู้ในเรื่องการลงทุนสามารถนำเงินส่วนนี้ไปลงทุนในกองทุนตราสารหนี้หรือพันธบัตรรัฐบาลต่อได้ ซึ่งจะได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น แต่จะต้องมีระยะเวลาไม่ยาวนัก คือ ไม่ควรเกิน 3 ปี ในช่วงของคนหลังเกษียณ


"การลงทุนในรูปแบบนี้จะต้องประเมินตนเองด้วยว่าทำได้หรือไม่ เพราะอาจจะมีเหตุการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของสุขภาพ การเจ็บป่วย ต้องดูด้วยว่าประกันที่ทำไว้คุ้มครองหรือไม่ หรือมีสวัสดิการของรัฐรองรับหรือไม่ ถ้ามีรองรับในส่วนนี้ หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้นก็ไม่มีสิ่งที่น่ากังวลใจ


แต่ถ้ายังมีความเสี่ยงเช่น มีโรคประจำตัว ซึ่งสวัสดิการของรัฐหรือการคุ้มครองของประกันไม่ครอบคลุมก็ไม่ควรนำเงินไปลงทุนในระยะยาว 3 ปี แต่อาจจะทำได้ในรูปแบบของฝากประจำ3 เดือน 6 เดือน หรืออาจจะเป็นกองทุนรวมที่มีลักษณะสามารถซื้อ-ขายได้ทุกวัน"


สิ่งที่ต้องระมัดระวังในการใช้เงิน คือต้องมีวินัยในการใช้เงินพอสมควรมีการแบ่งเงินไว้อย่างชัดเจนว่า ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเดือนหนึ่งใช้เท่าไร อีกส่วนหนึ่ง คือเงินเก็บ ก็ต้องเก็บจริง ๆ แต่ก็มีผู้เกษียณหลายคนที่ถูกรบกวนโดยลูกหลาน ญาติหรือเพื่อน จึงต้องมีวิธีการจัดการในเรื่องนี้ให้ดี ชี้แจงให้เข้าใจกันทั้ง 2 ฝ่าย


"หากจะต้องให้ก็ต้องให้โดยที่ตนเองไม่เดือดร้อนและต้องให้แบบรู้คุณค่าด้วยโดยการสอนให้รู้จักการออมเงินไปด้วยในตัว ไม่ใช่ว่าให้ไปแล้วเอาไปซื้อโทรศัพท์มือถือ ซื้อเสื้อผ้า โดยที่ไม่เกิดคุณค่าขึ้นมา แต่อาจจะให้ในรูปแบบของเงินฝาก เปิดบัญชีให้จำนวนหนึ่ง หลังจากนั้นให้หลานเก็บเงินฝากเองเพื่อสร้างพฤติกรรมในการออมให้กับเด็กต่อไปที่สำคัญจะต้องใจแข็งเข้าไว้ ก่อนที่จะตัดสินใจต้องคิดให้รอบคอบ"


ส่วนเงินหลังเกษียณที่ได้มาในรูปแบบของเงินบำเหน็จเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารกล่าวเพิ่มเติมว่า เงินในส่วนนี้จะได้มาเป็นเงินก้อนแบบครั้งเดียวจบ ซึ่งเงินก้อนนี้ทำให้ผู้เกษียณอายุปวดหัวไปหลายต่อหลายคนแล้ว เพราะไม่รู้ว่าจะจัดสรรปันส่วนกับเงินก้อนนี้อย่างไรดีที่จะทำให้มีใช้ เลี้ยงตนเองไปได้นานจนกว่าจะเสียชีวิต โดยที่ไม่เป็นภาระของลูกหลาน เพราะถ้าให้เลือกได้เกือบทุกคนจะเลือกเงินหลังเกษียณในรูปแบบของเงินบำนาญกันทั้งนั้น


แต่หากไม่มีทางเลือกเมื่อได้เงินบำเหน็จมาแล้ว การจัดการสิ่งแรก คือ ไม่ว่าจะได้เงินมาเท่าไรให้แบ่งเงินออกเป็น 3 ส่วนเท่า ๆ กัน โดยเงินในส่วนแรก จะเป็น เงินที่นำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันอาจจะรวมไปถึง ค่ารักษาพยาบาลเล็กน้อย และค่าทำบุญ ทำกุศล ด้วย


โดยเงินก้อนแรกในส่วนนี้ควรจะเก็บไว้ในรูปของบัญชีออมทรัพย์เพื่อจะได้ถอนง่าย ใช้สะดวก มีสภาพคล่องสูง ไม่ควรเก็บเงินสดไว้กับตัวเอง แม้ไม่สะดวกสำหรับผู้สูงอายุในการไปเบิกถอนก็ตามแต่อยากให้เก็บเป็นเงินสดไว้เพียงให้พอที่จะใช้ในแต่ละช่วงเวลาเท่านั้น เช่น ในแต่ละเดือนใช้เท่าไรก็ควรมีเงินสดเท่านั้นหรืออาจจะมากกว่าเล็กน้อย




"ในส่วนที่ 2 จะเป็นเงินในรูปแบบของการออมซึ่งจะเป็นเงินออมฉุกเฉิน เก็บไว้เพื่อเป็นค่ารักษาพยาบาลหรือเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยมาก ๆตรงนี้ก็เช่นกันต้องดูด้วยว่ามีประกันครอบคลุมไปถึงเรื่องของสุขภาพหรือไม่ หรือมีสวัสดิการของรัฐเข้ามาช่วยเหลือในส่วนนี้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม แนะนำให้เก็บไว้เพราะไม่มีใครรู้ว่าในอนาคตข้างหน้าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นบ้าง เช่น ถ้าต้องผ่าตัดใหญ่ อาจจะต้องใช้เงินก้อนนี้ ถ้าไม่มีเก็บไว้ก็จะต้องลำบากหรือเดือดร้อนลูกหลานได้"


เงินในส่วนนี้จะอยู่ในรูปของเงินฝากประจำ 3 เดือนหรือ 6 เดือน รวมทั้ง จะลงทุนในกองทุนรวมที่สามารถซื้อ-ขายได้ทุกวันก็ได้ ตลอดจน เงินฝากประจำที่สามารถได้รับดอกเบี้ยเป็นรายเดือนเพราะการฝากเงินแบบนี้จะทำให้เหมือนกับมีบำนาญใช้ส่วนหนึ่ง อาจจะน้อยกว่าแต่เงินต้นยังคงอยู่ ตรงนี้เป็นการสร้างความอุ่นใจให้กับผู้สูงอายุว่าเมื่อมีอะไรเกิดขึ้นอาจจะไปถอนเงินก้อนใหญ่ออกมาใช้ก่อนกำหนดได้ และในขณะเดียวกันก็ได้รับดอกเบี้ยเป็นรายเดือนด้วย


ถัดมาที่เงินก้อนสุดท้ายถ้าเกษียณจริง ๆ คือ ไม่ได้ทำงานอีกต่อไปแล้ว อาจจะต้องเอาเงินส่วนนี้ไปเพิ่มให้งอกเงยมากขึ้นในส่วนนี้เผื่อไว้สำหรับเงินเฟ้อด้วย โดยผู้สูงอายุบางรายที่มีความรู้ในเรื่องหุ้น หรือเรื่องการลงทุนสามารถทำได้ 2 อย่าง คืออย่างแรก ลงทุนใน กองทุนรวมที่ไม่เกิน 3 ปีซึ่งกองทุนรวมเหล่านี้จะมีผลตอบแทนทุก 3 เดือน ทุก 6 เดือนโดยจะมีเงินกลับคืนเข้ามาให้ในบัญชี เช่น กองทุนรวมตราสารหนี้ เพราะมีความเสี่ยงน้อยถึงแม้ว่าผลตอบแทนจะไม่หวือหวาเท่าที่ควรก็ตาม


อีกส่วนหนึ่งนำไป เล่นหุ้นแต่การลงทุนในส่วนนี้สำหรับผู้สูงอายุไม่ควรจะลงทุนมากนัก และไม่อยากให้เล่นในลักษณะของการเก็งกำไร และควรเล่นหุ้นที่มีพื้นฐานดี อาจจะเป็นหุ้นธนาคารหุ้นพลังงาน ซึ่งเป็นหุ้นที่จ่ายแบบปันผล ซึ่งจะได้รับเงินปันผลเป็นระยะ ๆ ถึงแม้จะขายทิ้ง ราคาก็ไม่ได้ต่างจากตอนที่ซื้อมามากนัก


บางคนเมื่อเกษียณแล้วต้องการท่องเที่ยวเป็นหลักก็ควรมีส่วนที่ 4 โดยจะต้องจัดวางแผนไว้ว่าใน 1 ปี จะเดินทางไปท่องเที่ยวกี่ครั้ง ในแต่ละครั้งใช้เงินเท่าไร ก็ต้องเก็บเงินก้อนนี้ไว้ ซึ่งอาจอยู่ในรูปของเงินฝาก หรือกองทุนรวมที่หมุนเวียนถอนได้ทุกวัน


โดยภาพรวมแล้ว การบริหารเงินหลังเกษียณ 30 เปอร์เซ็นต์ ควรอยู่ในรูปของเงินสด ที่มีสภาพคล่องสูงส่วน 35 เปอร์เซ็นต์ ควรอยู่ในรูปของเงินฝาก ซึ่งเป็นเงินออมที่สามารถถอนเมื่อไรก็ได้ส่วนอีก 40-45 เปอร์เซ็นต์อาจจะอยู่ในรูปของกองทุนรวมตราสารหนี้ หรือกองทุนรวมต่าง ๆ ส่วนใครที่อยากเล่นหุ้นก็ให้ใช้ประมาณ 10-20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น อย่ามากเกินไปกว่านี้ เพราะมีความเสี่ยงสูง


"เรื่องการลงทุนในรูปแบบอื่น ๆ เช่น การซื้อที่ดินการซื้อทอง ไม่แนะนำเพราะเมื่อซื้อแล้วจะเป็นภาระที่จะต้องนำมาเก็บรักษา เมื่อถึงเวลาต้องรีบขายเพราะราคาขึ้น ขายไม่ได้ก็ปวดหัว เครียดอายุมากขึ้นไม่ควรจะต้องมานั่งคิดอะไรมากแล้ว รวมทั้งอันตราย เมื่อนำทอง นำที่ดินมาเก็บไว้ที่บ้าน อาจโดนปล้นหรือลูกหลานมาขอ ทำให้ลำบากในการตัดสินใจ อีกทั้งทรัพย์สินเหล่านี้เมื่อเสียชีวิตก็เอาไปไม่ได้ ฉะนั้น อะไรที่เป็นทรัพย์สินที่จับต้องได้ควรพยายามหลีกเลี่ยง ควรเก็บเป็นเงินไว้จะดีกว่า เมื่อยามเดือดร้อนเจ็บป่วยสามารถนำออกมาใช้ได้ทันที"

ในส่วนของคนที่มีหนี้สินหลังเกษียณ ควรจะนำเงินที่ได้จากการเกษียณมาจ่ายชำระให้หมดเสียก่อนหากไม่ใช่เงินจำนวนมากนัก แต่ถ้าเป็นเงินจำนวนมากก็ค่อย ๆ ทยอยจ่าย โดยอาจจะนำเงินในส่วนที่เป็นดอกเบี้ยที่ได้จากการฝากเงินหรือลงทุนในกองทุนรวม รวมทั้งการเล่นหุ้นมาจ่ายชำระเป็นงวด ๆ ไปจนกว่าจะหมด


พจณีกล่าวทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า ผู้สูงอายุจะต้องพึ่งพาตนเองเป็นหลัก หากสามารถบริหารเงินหลังเกษียณได้จะเป็นเรื่องดี จะได้ไม่ต้องมานั่งเสียใจหากลูกหลานไม่ดูแลเมื่อมีเงินมีทองแล้ววาจาจะศักดิ์สิทธิ์ แต่ไม่ใช่ไม่ให้เลยต้องพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไปอย่าให้โดยที่เขาไม่รู้คุณค่าของเงินนั้นเด็ดขาด ไม่เช่นนั้นก็จะต้องให้กันอีกเรื่อย ๆ


หากทำได้เช่นนั้น ชีวิตหลังเกษียณ จะเป็นไปอย่างราบรื่น มีความสุข สมวัยเพราะได้เตรียมการไว้แล้วนั่นเอง.


"สิ่งที่ต้องระมัดระวัง คือต้องมีวินัยในการใช้เงินพอสมควร มีการแบ่งเงินไว้อย่างชัดเจนว่า ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเดือนหนึ่งใช้เท่าไร อีกส่วนหนึ่ง คือเงินเก็บก็ต้องเก็บจริง ๆ "


ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์




 

Create Date : 28 กันยายน 2553    
Last Update : 29 กันยายน 2553 8:56:26 น.
Counter : 1774 Pageviews.  

=> หลักประกันทางการเงินสำหรับผู้สูงอายุ ตอนที่ 3

หลักประกันทางการเงินสำหรับผู้สูงอายุ ตอนที่ 3


รศ.ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ


สัปดาห์นี้ขอเรียนเชิญ รศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ และรองคณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ มาเป็นแขกรับเชิญของคอลัมน์ต่อค่ะ ครั้งนี้จะเป็นเรื่องการเตรียมหลักประกันทางการเงินเพื่อยามสูงอายุตอนจบ


สัปดาห์ที่แล้วได้บรรยายให้ท่านผู้อ่านเห็นถึงความสำคัญ
ของ "บำนาญ" และเล่าถึงข้อเสนอระบบบำนาญใหม่ตามร่าง พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติของรัฐบาลชุดปัจจุบัน มีวัตถุประสงค์เพื่อดึงประชาชนไทยกลุ่มที่ยังขาดหลักประกันด้านบำนาญ ซึ่งก็คือกลุ่มแรงงานนอกระบบให้มีโอกาสเข้าถึงหลักประกันนี้อย่างถ้วนหน้า แนวคิดระบบบำนาญตามร่าง พ.ร.บ.นี้อยู่บนพื้นฐานของการออม โดยที่แต่ละคนจะมี "บัญชีส่วนบุคคล" หรือกระปุกออมสินของตนเอง ประชาชนถูกคาดหวังให้ออมเงินอย่างสม่ำเสมอ โดยที่รัฐบาลร่วมสร้างหลักประกัน สมทบเงินร่วมลงกระปุกด้วย

กองทุนการออมแห่งชาติจะรับผิดชอบนำเงินในแต่ละกระปุกไปบริหารจัดการให้เกิดดอกออกผล เมื่ออายุ 60 ปีเงินที่อยู่ในกระปุกทั้งสามส่วน (เงินออมของตน เงินสมทบของรัฐบาล และดอกผล) จะกลายมาเป็นเงินบำนาญรายเดือนให้เราจนสิ้นอายุขัย


นอกจากบำนาญแล้ว กองทุนฯ ยังจัดให้มีสวัสดิการเสริมเพื่อสมาชิกด้วยเหมือนกัน แม้จะไม่มากก็ตาม กล่าวคือ ถ้าหากเสียชีวิตก่อนวัยอันควร เงินในกระปุกที่ยังคงอยู่จะแปรสภาพไปเป็นบำเหน็จตกทอดให้กับทายาท หรือหากเราตกอยู่ในภาวะทุพพลภาพตั้งแต่ยังหนุ่มและออมเงินต่อไปไม่ไหว รัฐบาลจะช่วยออมแทนให้ส่วนหนึ่งต่อไปจนมีอายุ 60 ปีดังนั้นในอนาคตจึงยังคงได้รับบำนาญ แต่ก็อาจจะไม่มากเมื่อเปรียบเทียบกับหากเราไม่ตกอยู่ในภาวะทุพพลภาพและออมเงินเองได้


ภายใต้ระบบนี้ (หนึ่ง) ประชาชนตระหนักและรักษาวินัยในการออมอย่างเคร่งครัดเสมือนหนึ่งเป็นเจ้ามดในนิทานอีสป "เจ้ามดกับจิ้งหรีด" ที่คอยเก็บอาหารทีละเล็กทีละน้อยสะสมไว้ในรังของตน (สอง) รัฐบาลสร้างแรงจูงใจด้วยการสมทบเงินร่วม (สาม) กองทุนการออมแห่งชาติได้บริหารจัดการเงินอย่างมืออาชีพเพื่อให้เกิดดอกออกผล โปร่งใสและตรวจสอบได้ จะเป็นปัจจัย "สามประสาน" ที่ทำให้กองทุนการออมแห่งชาติทำหน้าที่เป็นเสมือน "ลูกหลานที่ดี" คอยห่วงใยดูแลด้านการเงินให้กับพวกเขาเหล่านั้นยามชราภาพไปจนสิ้นอายุขัย


นอกจากนั้นแล้วระบบบำนาญลักษณะนี้สะท้อนให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมในการแบกภาระของประชาชนอย่างมีศักดิ์ศรี ผู้รับบำนาญก็ไม่ต้องแบมือขอรัฐบาลแต่เพียงฝ่ายเดียวอีกทั้งยังไม่ส่งผลต่อภาระทางการเงินการคลังของรัฐบาลมากมายนัก ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือรูปแบบระบบบำนาญของกองทุนการออมแห่งชาติ จะไม่ผลักภาระทางการเงินไปให้ลูกหลานของเราเกินกว่าที่จำเป็น


สังคมไทยต้องตระหนักว่าการออกแบบระบบบำนาญในยุคนี้อยู่ภายใต้บริบททางประชากรที่เข้มงวด การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรสู่สังคมสูงวัยเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว การลดลงของอัตราภาวะเจริญพันธุ์ทำให้จำนวนประชากรเด็กลดลงเรื่อยๆ แม้กระทั่งประชากรวัยทำงานก็มีแนวโน้มลดลงเช่นกัน หากเราสร้างระบบบำนาญในลักษณะที่ดึงทรัพยากรจากลูกหลานของเรามาอย่างไม่ลืมหูลืมตา เช่น หากใช้มาตรการเบี้ยยังชีพถ้วนหน้าเพียงอย่างเดียวมาแก้ปัญหาหลักประกันทางการเงินสำหรับผู้สูงอายุแล้ว ภาระทางการเงินการคลังนี้ก็จะถูกส่งต่อออกไปเรื่อยๆ สู่รุ่นลูกรุ่นหลาน เหมือนเวลาเราเล่นไพ่อีแก่กินน้ำอย่างไรก็อย่างนั้น คนร่วมวงไพ่คนสุดท้าย (ลูกหลานในอนาคต) ที่จับได้ไพ่อีแก่ (ภาระทางการเงินการคลัง)จะเป็นฝ่ายแพ้ (รับภาระนั้นไป)


ความมั่นคงทางการเงินสำหรับผู้สูงอายุนั้น มิได้จำกัดเฉพาะแต่เพียงการมีรายได้ในแต่ละเดือนสำหรับการดำรงชีวิตเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้สภาวการณ์ที่สังคมเปลี่ยนสู่สังคมสูงวัย ลูกหลานที่จะมาคอยดูแลพ่อแก่แม่เฒ่ามีจำนวนลดลงเรื่อยๆ สวนทางกับจำนวนผู้สูงอายุ ซึ่งมีจำนวนและสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น คาดการณ์กันว่าจะมีจำนวนผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพาช่วยเหลือตนเองได้น้อยและต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิดเพิ่มมากขึ้น


หากผู้สูงอายุไม่มีลูกหลานที่จะมาคอยดูแล หรือครอบครัวไม่สามารถทำหน้าที่ "ลูกหลานที่ดี" ได้ นอกเหนือจากเรื่องใครจะมาดูแลท่านแทน จะจ้างคนมาดูแลได้หรือไม่จะมั่นใจกับสถานบริบาลเอกชนที่มีอยู่ได้มากน้อยเพียงไรหรือภาระทางการเงินจะตามมาสักเพียงไรที่จะหาซื้อ"บริการลูกหลานที่ดี" เหล่านั้นมาทดแทน ยังจะมีเรื่องการสร้างความมั่นคงทางการเงินในด้านทรัพย์สินให้กับผู้สูงอายุด้วยเหมือนกัน ในกรณีที่ผู้สูงอายุต้องพึ่งพาผู้อื่นจนกระทั่งทำธุรกรรมทางการเงินด้วยตนเองไม่ได้ ลูกหลานที่ดีที่ไหนจะมาช่วยดูแลทรัพย์สินที่สะสมมาตลอดชีวิตด้วยน้ำพักน้ำแรงของท่าน หรือแม้แต่เงินบำนาญรายเดือนของท่าน


สัปดาห์หน้าจะขออนุญาตเปิดประเด็นใหม่เรื่อง "การดูแลระยะยาวเพื่อความมั่นคงสำหรับผู้สูงอายุ" ซึ่งเป็นประเด็นการเตรียมการสู่สังคมสูงวัยที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่ง


รศ.ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญและมากประสบการณ์ด้านประชากรศาสตร์ จากวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะมาประจำการบอกเล่าเรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับประชากรไทย ทุกๆ วันอาทิตย์ ในคอลัมน์ 100 ปีปรีดิ์เปรม

--จบ--


ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์





 

Create Date : 15 กันยายน 2553    
Last Update : 7 ตุลาคม 2553 17:11:49 น.
Counter : 757 Pageviews.  

=> หลักประกันทางการเงินสำหรับผู้สูงอายุ ตอนที่ 2

หลักประกันทางการเงินสำหรับผู้สูงอายุ ตอนที่ 2


รศ.ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ


จากสัปดาห์ที่แล้วที่ได้เรียนเชิญ รศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา (อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์จและรองคณบดี วิทยาลัยประชากรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่อง แหล่งรายได้เพื่อการออมเงินสำหรับผู้สูงอายุ และในสัปดาห์นี้ท่านมีข้อมูลเรื่อง "บำนาญ" หลักประกันทางการเงินสำหรับผู้สูงอายุ มานำเสนอต่อค่ะ


"บำนาญ" จัดเป็นหลักประกันทางการเงินที่สำคัญแหล่งหนึ่งสำหรับผู้สูงอายุ ในช่วงที่ผ่านมาสังคมไทยมีการพูดถึงความจำเป็นของบำนาญกันอย่างหนาหู ไม่ว่าจะเป็นในด้านของความเพียงพอหรือความครอบคลุม เบี้ยยังชีพที่ปัจจุบันได้ถูกประกาศให้เป็นสิทธิของผู้สูงอายุทุกคนแล้วยกเว้นข้าราชการบำนาญและผู้สูงอายุที่ทำงานรับเงินเดือนประจำจากรัฐบาลก็จัดว่าเป็น "เงินบำนาญขั้นพื้นฐาน" แหล่งที่มาของงบประมาณสำหรับเบี้ยยังชีพก็คือภาษีอากรของประชาชนทั่วประเทศ นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีระบบบำนาญอื่นๆ อีก ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจกับท่านผู้อ่านก่อนว่า ในปัจจุบันภาพรวมของระบบบำนาญ (โดยภาครัฐ) ของประเทศไทยมีหน้าตาเป็นอย่างไร


หากแบ่งประชากรวัยทำงานเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

ข้าราชการ ลูกจ้างในสถานประกอบการเอกชน และประชากรกลุ่มที่เหลือ จะทำให้เข้าใจภาพของระบบบำนาญในปัจจุบันได้ง่ายขึ้นดังนี้


กลุ่มแรก ข้าราชการมีหลักประกัน 2 ส่วน ได้แก่เงินบำนาญและเงินที่ได้รับจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ แหล่งที่มาของเงินส่วนแรกมาจากภาษีอากรของประชาชน ส่วนที่สองเป็นระบบบังคับเกิดจากการสะสมเงินของเจ้าตัวร่วมกับการสมทบร่วมของรัฐบาลในฐานะนายจ้าง


กลุ่มที่สอง ลูกจ้างในสถานประกอบการเอกชน มีหลักประกัน 2 ส่วน ส่วนแรกคือ เบี้ยยังชีพ และส่วนที่สอง คือสิทธิประโยชน์ชราภาพ (บำนาญหรือบำเหน็จ) จากกองทุนประกันสังคม คนกลุ่มนี้ถูกบังคับให้เข้าเป็นสมาชิกกองทุนตามกฎหมายและจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนทุกเดือน สิทธิการได้รับเงินบำนาญและระดับของเงินบำนาญขึ้นกับรายได้ก่อนเกษียณอายุและระยะเวลาที่จ่ายเงินสมทบเป็นสำคัญ ที่ต้องเน้นย้ำคือแหล่งที่มาของหลักประกันที่คนกลุ่มนี้ได้รับมีองค์ประกอบจากทั้งภาษีอากรและการมีส่วนร่วมจ่ายของเจ้าตัวเองด้วยเหมือนกับกลุ่มข้าราชการ


กลุ่มที่สาม ประชากรที่เหลือ ประชากรกลุ่มนี้มีมากถึงสองในสามของจำนวนประชากรวัยทำงานทั้งหมดหรือประมาณ 23 ล้านคน ส่วนใหญ่เรารู้จักกันในนามของ "แรงงานนอกระบบ" เช่น คนขับรถแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง พ่อค้าแม่ค้าหาบเร่แผงลอย เกษตรกร ผู้รับงานไปทำที่บ้านผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัว เป็นต้น หลักประกันของคนกลุ่มนี้ในปัจจุบันมีเพียงเบี้ยยังชีพเท่านั้น หากสถานการณ์ยังคงเป็นอยู่อย่างในปัจจุบัน กล่าวได้ว่าเมื่อเข้าสู่บั้นปลายของชีวิตประชาชนกลุ่มนี้คงจะไม่รู้สึกมั่นใจหรืออุ่นใจกับหลักประกันเท่าที่มีอยู่เป็นแน่แท้




แนวทางการสร้างหลักประกันด้านรายได้ยามชราภาพสำหรับผู้สูงอายุที่ควรเป็นอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักประกันที่ทำให้คนที่ยังขาดหลักประกันที่มั่นคงอย่างกลุ่มที่สามได้รู้สึกอุ่นใจ รัฐบาลจะเพิ่มเบี้ยยังชีพให้มากขึ้นโดยใช้เงินภาษีอากรหรือ? ประชาชนกลุ่มนี้จะร่วมมือร่วมใจกันสร้างหลักประกันแบบเดียวกันกับข้าราชการหรือลูกจ้างในสถานประกอบการเอกชนโดยมีรัฐบาลเป็นตัวตั้งตัวตีหรือ?ทางเลือกสองทางนี้นำไปสู่ภาพรวมของระบบบำนาญของประเทศที่แตกต่างกัน การเพิ่มเงินเบี้ยยังชีพโดยใช้ภาษีอากรนอกจากจะก่อให้เกิดภาระผูกพันทางการเงินการคลังกับรัฐบาลในอนาคตแล้ว ที่สำคัญกว่านั้นคือภาระจะตกอยู่กับประชากรวัยทำงานและจะทวีความหนักหน่วงยิ่งขึ้นเมื่อสังคมไทยประสบการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอายุประชากรโดยที่ประชากรเด็กและวัยทำงานมีแนวโน้มลดน้อยลงเรื่อยๆ กระนั้นก็ตาม แม้ว่าประชาชนกลุ่มนี้จะยินดีสร้างหลักประกันด้วยการมีส่วนร่วมจ่ายแบบลงขันกันในลักษณะเดียวกับกองทุนประกันสังคม กล่าวคือหนุ่มสาววัยกลางคนและวัยใกล้เกษียณมาร่วมลงขันกันตามกติกาที่กำหนด ใครที่อายุถึงเกณฑ์ก่อน (แก่ก่อน) ก็มารับเงินบำนาญรายเดือนไปการสร้างหลักประกันในลักษณะนี้จะรับผลกระทบโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร หนุ่มสาวที่เข้ามาสู่ระบบทีหลังต้องแบกภาระทางการเงินเพื่อรองรับผู้สูงอายุที่รับบำนาญ ซึ่งมีมากขึ้น


ภายใต้สถานการณ์และข้อจำกัดทางประชากร รัฐบาลชุดปัจจุบันโดยกระทรวงการคลังพยายามผลักดันร่าง พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะสร้างหลักประกันให้กับประชาชนกลุ่มที่สามนี้โดยสมัครใจ ระบบนี้จะให้สมาชิกออมเงินขั้นต่ำเป็นรายเดือนตามกฎหมายกำหนดเพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนในวงกว้าง รัฐบาลสมทบร่วมด้วยตามอายุสมาชิก อายุ 20-30 ปี รัฐสมทบร้อยละ 50 อายุ 30-50 ร้อยละ 80 และอายุ 50-60 ปี ร้อยละ 100 ของเงินออมขั้นต่ำรายเดือนแต่ละคนจะมีบัญชีส่วนตัวของตัวเอง เงินออมและเงินสมทบร่วมของรัฐบาลของแต่ละคนจะไม่ปะปนกัน รัฐบาลจะนำเงินของแต่ละคนไปบริหารจัดการให้เกิดดอกออกผลเมื่ออายุ 60 ปี มีเงินสะสมในบัญชีของตนเท่าไรก็จะนำมาคำนวณเป็นเงินบำนาญรายเดือน คนที่มีรายได้น้อยหรือรายได้ไม่สม่ำเสมอก็ค่อยๆ ออมในระบบนี้ได้เนื่องจากการขาดส่งเงินออมจะไม่ทำให้ถูกตัดออกจากสมาชิกภาพ แต่เงินบำนาญที่ได้จะน้อยลงตามส่วน สัปดาห์หน้าจะขอมาเจาะลึกร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ รวมทั้งปิดท้ายด้วยพูดคุยถึงเรื่องหลักประกันทางการเงินในประเด็นสำคัญอื่นๆ


รศ.ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญและมากประสบการณ์ด้านประชากรศาสตร์ จากวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะมาประจำการบอกเล่าเรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับประชากรไทย ทุกๆ วันอาทิตย์ ในคอลัมน์ 100 ปีปรีดิ์เปรม--จบ--


ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์





 

Create Date : 15 กันยายน 2553    
Last Update : 20 กันยายน 2553 17:51:20 น.
Counter : 625 Pageviews.  

=> หลักประกันทางการเงินสำหรับผู้สูงอายุ ตอนที่ 1

หลักประกันทางการเงินสำหรับผู้สูงอายุ ตอนที่ 1


รศ.ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ

การเตรียมความพร้อมของภาครัฐที่สำคัญและได้รับความสนใจจากคนทั่วไป คือ การเตรียมหลักประกันทางการเงินเพื่อยามสูงอายุสัปดาห์นี้จึงเรียนเชิญ รศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ และรองคณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาเป็นแขกรับเชิญของคอลัมน์ค่ะ


ภายใต้การเปลี่ยนแปลงสู่สังคมสูงวัยของประเทศไทย สิ่งที่สังคมพึงให้ความสำคัญนั้นมิได้มีเพียงแต่ประเด็นจำนวนและสัดส่วนของประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเท่านั้น แต่คงจะต้องตระหนักด้วยว่าอายุขัยเฉลี่ยของผู้สูงอายุเหล่านั้นมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ หากเรายึดอายุเกษียณที่ 60 ปีแล้ว หลังเกษียณจากการทำงาน ผู้สูงอายุจะใช้ชีวิตต่อไปอีกประมาณ 20 ปี ประเด็นเชิงนโยบายที่สำคัญก็คือ ผู้สูงอายุจะมีความมั่นใจและความอุ่นใจในการใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านหลักประกันทางการเงิน


โดยทั่วไป ผู้สูงอายุมีแหล่งรายได้สำหรับดำรงชีวิตยามชราภาพหลายประเภท นับตั้งแต่รายได้จากการทำงาน การเก็บออมเงินไว้ใช้หลังเกษียณ การเกื้อหนุนจากลูกหลานทั้งในรูปตัวเงินและสิ่งของ บางคนได้รับเงินชดเชยจากบริษัทหรือมีเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อเกษียณ บางคนอาจได้รับเงินโอนประเภทต่างๆจากรัฐบาล เช่น บำเหน็จ บำนาญ เป็นต้น


จากการสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทยพ.ศ. 2550 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า มากกว่าร้อยละ 50 ของผู้สูงอายุมีแหล่งรายได้หลักจากการเกื้อหนุนจากบุตร รองลงมา ร้อยละ 29 ของผู้สูงอายุมีแหล่งรายได้หลักจากการทำงาน แม้ว่าดอกเบี้ยจากเงินออมหรือการใช้เงินออมที่สะสมไว้ รวมทั้งเงินบำนาญยังคงไม่ใช่แหล่งรายได้หลักสำหรับผู้สูงอายุของไทยในปัจจุบัน หากเรามองไปในอนาคต จะพบว่าการเกื้อหนุนจากบุตรนั้นจะค่อยๆ ลดความสำคัญลงไป เนื่องจากสังคมไทยกำลังเผชิญกับปัญหาการลดต่ำลงของภาวะเจริญพันธุ์ ครอบครัวไทยมีลูกกันน้อยลงหรือไม่มีลูก หลายคนอาจจะไม่ได้แต่งงาน ในภาพรวมบทบาทของการเกื้อหนุนทางการเงินจากบุตรจะค่อยๆลดลงไปเรื่อยๆ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ผู้สูงอายุต้องเตรียมการทางการเงินไว้แต่เนิ่นๆ ตั้งแต่ช่วงเวลาทำงาน




กระนั้นก็ตามเพียงลำพัง "การออมเงิน" คงมิสามารถสร้างหลักประกันที่มั่นคงและอุ่นใจให้กับผู้สูงอายุได้ ยกตัวอย่างเช่น เราอาจจะพบปัญหาออมเงินน้อยเกินไป เนื่องจากเราไม่ทราบว่าอายุขัยที่แท้จริงของตนเองเป็นเท่าไร ผู้สูงอายุอาจจะขาดความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการเงินออมที่มีอยู่ เงินเฟ้ออาจทำให้มูลค่าที่แท้จริงของเงินออมลดลงไป เป็นต้นด้วยสาเหตุที่กล่าวข้างต้น เราคงไม่สามารถปฏิเสธบทบาทของหลักประกันรายได้ยามชราภาพโดยภาครัฐหรือ "บำนาญ" ได้ หากเราต้องการสร้างหลักประกันที่มั่นคงและอุ่นใจตลอดอายุขัยของผู้สูงอายุ


ปัจจุบันประเทศไทยมีระบบบำนาญโดยภาครัฐอยู่หลายระบบ แต่ละระบบมีกลุ่มเป้าหมาย วิธีการทางการเงินการคลัง หรือระดับของเงินบำนาญแตกต่างกัน"เบี้ยยังชีพสำหรับผู้สูงอายุ" จัดเป็นบำนาญประเภทหนึ่งที่รัฐบาลนำเงินจากภาษีอากรของประชาชนทั้งประเทศมาจัดสรรให้กับผู้สูงอายุ ปัจจุบันรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เปลี่ยนเบี้ยยังชีพจากระบบแบบคัดเลือกมาเป็นระบบถ้วนหน้า โดยถือว่าเป็นสิทธิสำหรับผู้สูงอายุทุกคน ยกเว้นเฉพาะข้าราชการบำนาญและผู้สูงอายุที่รับเงินเดือนจากรัฐบาลอยู่แล้วจะไม่ได้รับเงินในส่วนนี้ อาจเรียกได้ว่าระบบนี้ก็คือเงินบำนาญพื้นฐานนั่นเอง โดยผู้สูงอายุทุกคนจะได้รับเงินเบี้ยยังชีพ 500 บาทต่อคนต่อเดือน ไปตลอดจนสิ้นอายุขัยปัจจุบันมีผู้สูงอายุลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพรวมแล้วทั้งสิ้นประมาณ 5.65 ล้านคน และยังมีผู้สูงอายุที่มีสิทธิแต่ยังไม่ได้ลงทะเบียนอีกประมาณ 1.22 ล้านคน


ทว่า เบี้ยยังชีพ 500 บาทต่อคนต่อเดือนนั้น มิใช่จำนวนเงินที่สูงมากนัก แต่นั่นก็มิได้หมายความว่ารัฐบาลควรจะเพิ่มเงินเบี้ยยังชีพอย่างไม่ลืมหูลืมตา เหตุผลคงไม่ใช่เพียงแค่เรื่องฐานะทางการเงินการคลังของรัฐบาลเพียงเท่านั้น ภาระทางภาษีอากรนี้จะตกอยู่กับใครเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึง อย่าลืมว่าสังคมไทยกำลังเผชิญกับปัญหาการลดต่ำลงของภาวะเจริญพันธุ์ปัจจุบันประเทศเราเสมือนหนึ่งครอบครัวที่มีคนวัยทำงานประมาณ 6 คน กำลังดูแลผู้สูงอายุ 1 คน ในอีกสองทศวรรษข้างหน้าภาพนี้จะเปลี่ยนไปอย่างน่าตกใจ สังคมไทยกำลังจะกลายเป็นครอบครัวที่มีคนวัยทำงานประมาณ 2.5 คน ดูแลผู้สูงอายุ 1 คน การสร้างหลักประกันที่มั่นคงและอุ่นใจ โดยใช้เบี้ยยังชีพเพียงลำพังนั้น เท่ากับผลักภาระไปให้กับลูกหลานของผู้สูงอายุเหล่านั้นโดยตรง


สัปดาห์หน้าจะขอมาคุยต่อว่า แนวทางการสร้างหลักประกันด้านรายได้ยามชราภาพสำหรับผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร และปัจจุบันสังคมไทยได้ก้าวมาถึงไหนแล้วสำหรับการเตรียมการในเรื่องนี้--จบ--


ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์





 

Create Date : 15 กันยายน 2553    
Last Update : 20 กันยายน 2553 17:44:34 น.
Counter : 787 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  

amaridar
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ให้ทิปเจ้าของ Blog [?]
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]


ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add amaridar's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.