บอกแล้วไม่ฟัง
Group Blog
 
All blogs
 
=> เติมให้เต็ม…(ร่าง) พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ

เติมให้เต็ม…(ร่าง) พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ

โดย : รองศาสตราจารย์ ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา


ร่าง พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ที่รัฐบาลกำลังเร่งผลักดันอยู่ในขณะนี้ เป็นความพยายามที่จะสร้างหลักประกันทางการเงินยามชราภาพ ให้กับประชาชนกลุ่มใหญ่ของประเทศ (ส่วนใหญ่เรามักเรียกประชากรกลุ่มนี้ว่า “แรงงานนอกระบบ”) ที่ยังไม่มีหลักประกันเหมือนกับกลุ่มข้าราชการหรือลูกจ้างเอกชนที่เป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคม เพิ่มเติมจากเงินเบี้ยยังชีพ 500 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลได้ประกาศให้สิทธิสำหรับผู้สูงอายุทุกคน ยกเว้นเพียงข้าราชการบำนาญและผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปที่ทำงานและรับเงินเดือนจากรัฐบาลอยู่แล้ว ภาพของระบบบำนาญโดยภาครัฐในปัจจุบัน หากเกิดกองทุนการออมแห่งชาติขึ้น จะมีลักษณะดังต่อไปนี้

ร่าง พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ที่รัฐบาลเสนอเป็นแบบสมัครใจ กลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้ที่ไม่มีระบบการคุ้มครองเพื่อการชราภาพใดๆ (ยกเว้นเบี้ยยังชีพ) โดยที่สมาชิกต้องมีส่วนร่วมจ่ายโดยกำหนดเป็นระบบแบบกำหนดการจ่ายเข้ากองทุน หรือที่เรียกกันว่า Defined Contribution สมาชิกแต่ละคนจะมีบัญชีรายบุคคล กอช.กำหนดให้สมาชิกจ่ายเงินสะสมเดือนละ 50 บาท และรัฐบาลจะจ่ายเงินสมทบให้ด้วยตามอายุของผู้ออม (ช่วงอายุ 20-30 ปี จะจ่ายให้ร้อยละ 50 ช่วงอายุ 30-50 ปีจะสมทบร้อยละ 80 และช่วงอายุ 50-60 ปีจะสมทบร้อยละ 100 ของเงินสะสมของสมาชิก) สมาชิกที่ประสบปัญหาทางการเงิน อาจจะขาดจ่ายเงินสะสมได้โดยไม่ขาดสมาชิกภาพ แต่ก็จะไม่ได้เงินสมทบส่วนของรัฐบาลระหว่างการขาดจ่ายเงินสะสม เงินบำนาญจะได้รับเมื่ออายุ 60 ปีในรูปแบบของบำนาญตลอดชีพ โดยที่ระดับเงินบำนาญแต่ละเดือนที่ได้รับนั้นจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความสม่ำเสมอของการจ่ายเงินสะสม เงินสมทบจากรัฐบาล และผลตอบแทนจากการลงทุนที่กองทุนการออมแห่งชาตินำไปบริหารจัดการ


นอกจากบำนาญแล้วกองทุนการออมแห่งชาติยังกำหนดสิทธิประโยชน์อื่นๆ ไว้ เช่น เมื่อเริ่มรับบำนาญแล้วและหากเสียชีวิตลงก่อนอายุ 80 ปี ทายาทจะมีสิทธิรับบำเหน็จตกทอด หากสมาชิกที่มีอายุอยู่ในช่วงจ่ายเงินสะสมต้องตกอยู่ในภาวะทุพพลภาพ ส่งเงินสะสมต่อเนื่องไม่ได้ รัฐบาลจะช่วยจ่ายเงินสมทบให้กึ่งหนึ่งของอัตราเงินสมทบที่ประกาศไว้ แล้วค่อยไปรับเงินบำนาญเมื่ออายุถึง 60 ปี เป็นต้น




ในความเป็นจริงแล้ว หากเราอยากให้ร่าง พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ได้ทำหน้าที่ประกันรายได้ยามชราภาพให้กับผู้สูงอายุอย่างแท้จริงแล้ว ยังมีบางประเด็นพึงพิจารณาเพื่อเติมร่าง พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติให้เต็ม


ประการแรก ความครอบคลุมควรจะแผ่ขยายไปถึงกลุ่มลูกจ้างเอกชนด้วย เหตุผลสำคัญที่สนับสนุนแนวความคิดนี้ คือ “การเปลี่ยนงาน” ไม่ว่าจะเป็นกรณีเปลี่ยนงานจากการทำงานในระบบ (เป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคม) ไปสู่นอกระบบ (เป็นสมาชิก กอช.) หรือในทางกลับกัน การเปลี่ยนงานในลักษณะนี้ จะทำให้ประโยชน์ที่ได้รับจากระบบบำนาญที่สังกัดอยู่น้อยลงไป เช่น ระหว่างเป็นสมาชิก กอช.แล้วออกไปทำงานในระบบก็ต้องหยุดสะสมเงินในระบบ กอช. ซึ่งมีผลให้เงินบำนาญที่ได้จากระบบนี้ลดลงไป หรือในช่วงที่ไปทำงานในระบบและเป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคม อาจจะสั้นเกินไปจนได้รับเพียงบำเหน็จ อีกทั้งการที่รัฐบาลสมทบร่วมกับสมาชิกของ กอช.นั้น ก่อให้เกิดประเด็นความไม่เป็นธรรมกับสมาชิกกองทุนประกันสังคม ซึ่งมิได้รับการสมทบร่วมจากรัฐบาลในกรณีของสิทธิประโยชน์ชราภาพ ไหนๆ จะสร้างระบบแห่งชาติขึ้นมาแล้ว รัฐบาลก็ควรสร้างกองทุนการออมแห่งชาติ ที่ครอบคลุมประชากรวัยทำงานทั้งในระบบและนอกระบบ ซึ่งจะขจัดปัญหาการเสียประโยชน์จากการย้ายระบบบำนาญเนื่องจากการเปลี่ยนงาน และสร้างความเป็นธรรมระหว่างคนทำงานสองกลุ่มนี้ได้ไปในตัวด้วย


หากกองทุนการออมแห่งชาติขยายวงออกไปให้ครอบคลุมแรงงานในระบบที่เป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคมด้วยแล้ว โดยยึดว่าสมาชิกจ่ายเงินสะสมเดือนละ 50 บาทต่อเดือน งบประมาณที่รัฐบาลจะต้องสมทบร่วมด้วยในแต่ละปี จะประมาณการได้ดังตารางต่อไปนี้


ประการที่สอง กองทุนการออมแห่งชาติควร ที่จะมุ่งเน้นการสร้างสวัสดิการคู่ขนานไปด้วย นอกเหนือจากเงินบำนาญหรือบำเหน็จตกทอดแล้ว กองทุนควรที่จะส่งเสริมการสร้างหลักประกันในรูปแบบอื่นพร้อมกันไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น การสร้างสวัสดิการบำนาญชราภาพ เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ เป็นต้น เพื่อให้มีการช่วยเหลือเกื้อกูลระหว่างสมาชิก สมาชิกคนใดที่เริ่มรับบำนาญแล้วแต่เสียชีวิตก่อนวัยอันควร เงินส่วนที่เป็นเงินสะสมของเจ้าตัวยกให้ทายาทในรูปแบบของเงินบำเหน็จตกทอด เงินส่วนเงินสมทบของรัฐที่เหลือก็นำมาเข้ากองทุนเพื่อการกระจายไปสู่สมาชิกคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกที่อาจเสียชีวิตช้า สมาชิกที่อาจตกอยู่ในภาวะทุพพลภาพตั้งแต่วัยทำงาน หรือสวัสดิการประเภทอื่นๆ


ประการที่สาม ภาคประชาชนควรได้เข้ามามีส่วนร่วมในกองทุนบำนาญแห่งชาติด้วยทั้งในระดับคณะกรรมการนโยบายของกองทุนและคณะกรรมการสรรหาผู้บริหารกองทุน อีกทั้งในคณะกรรมกองทุนการออมแห่งชาตินั้น ควรจะสรรหาและแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ และมีผลงานเป็นที่ยอมรับด้านการเงิน การลงทุน การบริหารธุรกิจ การบัญชี เศรษฐศาสตร์ คณิตศาสตร์ประกันภัย และกฎหมาย เพื่อกำกับดูแลการบริหารเงินกองทุนของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศให้เกิดดอกออกผลอย่างแท้จริง


แม้ว่าวันนี้ประเทศไทยมีเงินเบี้ยยังชีพสำหรับผู้สูงอายุอย่างถ้วนหน้าแล้วก็ตาม เพื่อที่จะร่วมกันสร้างหลักประกันทางการเงินที่มั่นคง มั่นใจ และอุ่นใจให้ผู้สูงอายุอย่างมีศักดิ์ศรี และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย โดยไม่เป็นภาระทางการเงินการคลังกับสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชากรวัยทำงานในปัจจุบันหรือลูกหลานของเราในอนาคต รีบเถอะครับ ช่วยกัน เติมให้เต็ม…(ร่าง) พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ


ที่มา //www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/opinion/reader-opinion/20100831/350563/เติมให้เต็ม…(ร่าง)-พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ.html

วันที่ 31 สิงหาคม 2553 08:11





Create Date : 08 กันยายน 2553
Last Update : 20 กันยายน 2553 10:05:03 น. 1 comments
Counter : 710 Pageviews.

 
แม้แต่การกู้เงินจากธนาคารโดยใช้บำเหน็จตกทอดค้ำประกัน
ออกข่าวมาตั้งนานยังไม่สำเร็จเลยครับ ง่ายกว่าโครงการนี้เยอะ


โดย: ข้าราชการบำนาญ IP: 180.183.53.28 วันที่: 9 กันยายน 2553 เวลา:8:35:22 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

amaridar
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add amaridar's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.