บอกแล้วไม่ฟัง
Group Blog
 
All blogs
 
=> การดูแลเพื่อความมั่นคงสำหรับผู้สูงอายุ

=> การดูแลเพื่อความมั่นคงสำหรับผู้สูงอายุ

รศ.ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ


สัปดาห์นี้แขกรับเชิญของคอลัมน์ยังคงเป็น รศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา (อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ และรองคณบดี วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ต่อนะคะ ในเรื่องของการเตรียมหลักประกันสุขภาพผู้สูงอายุค่ะ


นอกเหนือจากหลักประกันทางการเงินแล้ว เรื่องของ"การดูแล" เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่มีความสำคัญในการสร้างความมั่นคงสำหรับผู้สูงอายุในการดำรงชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้สังคมไทยยุคปัจจุบันและอนาคต ซึ่งได้ย่างก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว หากผู้สูงอายุต้องตกอยู่ในสภาพไม่สามารถช่วยเหลือตนเองในการประกอบกิจวัตรประจำวันได้ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการกินอาหาร การทำความสะอาดร่างกาย การเดิน การลุกนั่ง ต้องนอนติดเตียงตลอดเวลา ไม่สามารถลุกเดินเหินไปไหนมาไหนได้ ต้องอาศัยอุปกรณ์ต่างๆช่วยในการดำรงชีวิต มีอาการหลงหรือมีปัญหาความจำเสื่อม


ในภาพรวมผู้สูงอายุในปัจจุบันอาจจะยังมีลูกหลายคนลูกหลานจึงสามารถแสดงความเป็น "ลูกหลานที่ดี" ด้วยการช่วยกันดูแล อันเป็นการตอบแทนพระคุณของท่านได้ไม่ยากนัก ทว่าผู้สูงอายุในอนาคตเล่าจะมีโอกาสได้รับการเกื้อหนุนในลักษณะเดียวกันหรือไม่ แนวโน้มจากการที่เรามีลูกกันน้อยลง สังคมไทยในอนาคตจะมีผู้สูงอายุที่ขาดหลักประกันด้านการดูแลโดยลูกหลานมากขึ้นเรื่อยๆ กล่าวได้ว่า ในอนาคตคงจะไม่ง่ายที่จะกล่าวแค่ว่าลูกหลานอกตัญญูทอดทิ้งพ่อแม่ของตน




ระบบสนับสนุนอย่างเป็นทางการสำหรับการดูแลผู้สูงอายุหากในปัจจุบันของสังคมไทยเรียกได้ว่ายังไม่ค่อยพร้อมมากนัก ผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้งหรือที่ครอบครัวไม่สามารถดูแลได้เนื่องจากเหตุผลทางเศรษฐกิจ อาจขอรับการดูแลแบบสงเคราะห์ได้ที่สถานสงเคราะห์ หรือศูนย์บริการรับดูแลผู้สูงอายุของรัฐบาล มูลนิธิ สมาคม หรือองค์กรทางศาสนา กรณีผู้สูงอายุหรือครอบครัวที่มีฐานะดีสามารถ "ซื้อบริการดูแล"ได้จากสถานประกอบการภาคเอกชนได้ ไม่ว่าจะเป็นในลักษณะของการจ้างผู้ดูแลมาดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน หรือการเข้ารับบริการในบ้านพักคนชรา หรือสถานบริบาลเอกชน ซึ่งในการนี้ผู้สูงอายุหรือครอบครัวก็ต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง


ผู้เขียนและทีมวิจัยเคยลงสำรวจข้อมูลสถานประกอบการเอกชนที่ให้บริการด้านนี้ ทั้งในเขตกรุงเทพมหานครและเขตเมืองใหญ่ในต่างจังหวัดระหว่างปี พ.ศ. 2552 พบว่าหากจ้างผู้ดูแลมาดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน ค่าจ้างผู้ดูแลรายเดือนตกอยู่ที่ระดับ 6,000-15,000 บาท ขึ้นอยู่กับทักษะ ประสบการณ์ของผู้ดูแล และระดับภาวะพึ่งพาของผู้สูงอายุ คำนวณเบื้องต้นกรณีที่ผู้สูงอายุนอนติดเตียงเป็นระยะเวลา 5 ปี และต้องจ้างผู้ดูแลมาช่วยตลอด (สมมติว่าจ่าย 10,000 บาทต่อเดือนตลอด) เราต้องเตรียมเงินไว้อย่างน้อย 600,000 บาท


ทั้งนี้ ยังไม่ได้นับรวมค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการดูแลประเภทอื่นๆ ที่ตามมา เช่น ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ แผ่นรองซับกายอุปกรณ์ เป็นต้น แม้กระทั่งหากลูกหลานต้องหยุดงานหรือลาออกจากงานมาช่วยดูแล นั่นก็นับเป็นต้นทุนด้วยส่วนหนึ่งเหมือนกัน หากผู้สูงอายุเข้ารับบริการดูแลในสถานบริบาลประเภทต่างๆ โดยตรง ค่าใช้จ่ายต่อเดือนแบบเหมาบริการในเขตกรุงเทพฯ ตกอยู่ประมาณ 5,000-57,000 บาท ส่วนในเขตเมืองใหญ่ค่าใช้จ่ายต่อเดือนแบบเหมารวมตกอยู่ประมาณ 12,000-25,000 บาท ขึ้นอยู่กับประเภทของสถานบริบาล ประเภทของห้องที่เข้าพัก และบริการที่เหมารวมอยู่


ในปัจจุบันเห็นได้ว่าเกิดช่องว่างขึ้นระหว่างระบบการสงเคราะห์และการซื้อบริการจากสถานบริบาลของเอกชน ผู้สูงอายุหรือครอบครัวที่มีกำลังทรัพย์ในระดับปานกลางคงไม่สามารถที่จะแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเหยียบหมื่นทุกเดือนได้ไหว ขณะเดียวกันก็อาจจะไม่ต้องการใช้บริการของสถานดูแลของหน่วยงานของรัฐบาลหรือองค์กรไม่แสวงหากำไร


บางกรณีครอบครัวพร้อมที่จะดูแลผู้สูงอายุที่บ้านเป็นหลัก แต่ต้องการบริการอื่นมาเสริมเป็นบางครั้งบางคราวเพื่อลดภาระอันหนักหน่วงและก่อให้เกิดความเครียดในการดูแล จากนี้ไปมีความจำเป็นที่ต้องคิดเรื่องของ "ความหลากหลาย" ของบริการดูแลผู้สูงอายุกันมากขึ้น ทั้งในเรื่อง (หนึ่ง)จะดูแลในรูปแบบอย่างไร เช่น บริการเยี่ยมผู้สูงอายุตามบ้านบริการฟื้นฟูร่างกาย บริการดูแลผู้สูงอายุช่วงเวลากลางวันบริการดูแลระยะสั้น บริการด้านสารสนเทศ บริการด้านจัดหาอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง บริการให้คำปรึกษากับผู้ดูแลที่ตกอยู่ในสภาวะเครียด เป็นต้น (สอง) ใครจะเป็นผู้จัดบริการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเข้ามามีบทบาทได้อย่างไรและมากน้อยเพียงไร หรือจะใช้กลไกชุมชนในการจัดบริการหากพื้นที่ใดชุมชนขาดความเข้มแข็ง ใครจะเข้ามารับผิดชอบ นอกจากนั้นแล้ว (สาม) โครงสร้างพื้นฐานด้านกฎหมายที่เกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นกฎกติกาที่ชัดเจนเกี่ยวข้องการจัดตั้งสถานบริการประเภทต่างๆ รวมทั้งการให้บริการที่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการ กฎหมายคุ้มครองผู้สูงอายุที่เข้ารับบริการในสถานบริบาล โดยเฉพาะเรื่องของทรัพย์สินเงินทองก็จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมเช่นกัน


รศ.ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญและมากประสบการณ์ด้านประชากรศาสตร์ จากวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะมาประจำการบอกเล่าเรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับประชากรไทย ทุกๆ วันอาทิตย์ ในคอลัมน์ 100 ปีปรีดิ์เปรม--จบ--


ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์




Create Date : 15 กันยายน 2553
Last Update : 20 กันยายน 2553 9:58:19 น. 0 comments
Counter : 1101 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

amaridar
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add amaridar's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.