bloggang.com mainmenu search





แต้วแล้วท้องดำ ฤาจะสูญพันธุ์แล้ว




นนทวรรณ มนตรี



"นกแต้วแล้วท้องดำ" สัตว์ป่าสงวน 1 ใน 15 ชนิดของไทย บรรดานักดูนกทั่วโลกต่างรู้กันดีว่า หากอยากดูนกชนิดนี้ต้องเดินทางมาที่ประเทศไทย เพราะพบอยู่แห่งเดียวที่ "ป่าเขานอจู้จี้ จ.กระบี่"

แต่จากสภาพปัญหาการบุกรุกพื้นที่รอบเขานอจู้จี้ ทำให้หวั่นเกรงว่านกหายากชนิดนี้จะสูญพันธุ์หมดไปจากประเทศไทย

ทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงร่วมกับสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย จัดเสวนา "25 ปีแห่งการค้นพบนกแต้วแล้วท้องดำ ฤาจะสูญพันธุ์จากเมืองไทย"

เพื่อเป็นแนวทางในการอนุรักษ์ฟื้นฟูถิ่นอาศัย และสถานภาพนกแต้วแล้วท้องดำ

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า การค้นพบนกแต้วแล้วเมื่อ 25 ปีก่อน ได้นำมาซึ่งความหวัง สำหรับนกที่มีสีสันอันสวยงาม ซึ่งเป็นที่หวั่นเกรงว่าจะสูญพันธุ์มานานกว่า 30 ปี

โดยทั่วโลกพบนกแต้วแล้วท้องดำอาศัยอยู่เพียง 2 แห่ง คือ ป่าเขานอจู้จี้ จ.กระบี่ และเขตป่าไม้ในเทือกเขาตะนาวศรี ประเทศพม่า

เมื่อปีพ.ศ.2553 มีการสำรวจประชากร นกแต้วแล้วท้องดำ พบเพียง 13 ตัวเท่านั้น แยกเป็นตัวผู้ 8 ตัว ตัวเมีย 4 ตัว และไม่ทราบเพศอีก 1 ตัว

นายธีรภัทรชี้ภัยคุกคามของนกชนิดนี้ว่า สาเหตุสำคัญเกิดจากการบุกรุกถิ่นอาศัย จากผู้คนที่เข้ามาใช้พื้นที่ทำสวนปาล์มน้ำมัน ทำสวนยางพารา ปลูกบ้านเรือนทำเป็นชุมชน

จนถิ่นอาศัยของนกหมดไป ทำให้นกลดจำนวนลงไปด้วย รวมทั้งการล่าจับดักนกไปขาย เพราะนกแต้วแล้วท้องดำเป็นนกที่มีความสวยงาม

ที่ผ่านมาการจับกุมของเจ้าหน้าที่สามารถหยุดยั้งได้เพียงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น แต่สิ่งที่จะทำได้อย่างยั่งยืน คือ การทำความเข้าใจ และการให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับผู้นำชุมชน เพื่อจะได้นำไปเผยแพร่กับชาวบ้านต่อไป ให้คนและป่าสามารถอยู่ร่วมกัน

ทำให้มีผลต่อการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติของนก ขณะนี้ทางกรมอุทยานฯ ร่วมกับหน่วยงานภาคเอกชนต่างๆ จึงมีนโยบายที่จะขยายพันธุ์ในพื้นที่เพื่อปล่อยกลับสู่ธรรมชาติ

โดยเฉพาะการที่กรมอุทยานฯ ได้สำรวจวิจัยพื้นที่ป่าที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลในภาคใต้ จะทำให้ทราบจำนวนนกที่มีอยู่ในธรรมชาติ เพื่อจะเร่งฟื้นฟูป่าไม้ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ ให้เป็นแหล่งหากิน และที่อยู่อาศัยที่สำคัญของนกแต้วแล้วท้องดำ

โดยเตรียมประกาศให้ป่าเขาประ-บางคราม จ.กระบี่ เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ ป่า ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการบุกรุกได้อย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อว่าจะช่วยเพิ่มปริมาณนกให้มากขึ้น

นายชลธิศ สุรัสวดี รองอธิบดีกรมป่าไม้ ให้ข้อมูลเสริมในด้านการดูแลพื้นที่ว่า ไม่ว่าจะเป็นการบังคับใช้กฎหมาย การปฏิบัติอย่างจริงจังของเจ้าหน้าที่ เรื่องงบประมาณ การศึกษาวิจัย ต้องมีความรู้และข้อมูลที่ถูกต้อง รวมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่

น่าจะเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยอนุรักษ์ และฟื้นฟูสภาพป่าให้อุดมสมบูรณ์ สิ่งเหล่านี้จะช่วยส่งผลให้นกแต้วแล้วท้องดำ รวมทั้งสัตว์ป่าอื่นๆ สามารถดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน

แต่ปัญหาหนักใจคือ หน่วยงานที่รับผิดชอบป่าไม้ในท้องถิ่น ที่รับผิดชอบดูแลป่าสงวนบางคราม ไม่มีทั้งทรัพยากรบุคคลที่เพียงพอ และอำนาจสำหรับป้องกันการบุกรุกทำลายป่า ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผิดกับการดูแลพื้นที่ในส่วนของอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ที่มีประสิทธิภาพกว่า

ขณะที่ป่าเขานอจู้จี้อยู่ในการดูแลของป่าสงวนบางคราม ซึ่งยังไม่ได้รับการคุ้มครอง อีกทั้งมีสภาพเป็นป่าราบต่ำ จึงไม่สามารถรองรับประชากรที่มากพอจะอยู่รอดได้ของชนิดพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์ หนึ่งในนั้นคือนกแต้วแล้วท้องดำ

ด้าน นายฟิลลิป ดีราวด์ กรรมการสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย ร่วมชี้ว่า ปัจจุบันนกแต้วแล้วท้องดำถูกจัดเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์อันดับ 7 ของโลก จากบัญชีสัตว์ใกล้สูญพันธุ์เกือบ 6,000 ชนิด

ปัจจุบันป่าไม้ในภาคใต้ของไทยประสบปัญหา ถูกชาวบ้านบุกรุกทำลายป่า เพื่อใช้เป็นพื้นที่ทำกิน เช่น สวนยางพารา และสวนปาล์ม ทำให้แหล่งอาศัยของนกแต้วแล้วท้องดำลดลง

โดยขณะนี้สำรวจพบนกแต้วแล้วท้องดำ ในเขตป่าเขานอจู้จี้เพียง 13 ตัว ดังนั้น หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังอาจจะทำให้สูญพันธุ์ได้ในเวลาอันรวดเร็ว

ส่วน นายสมปราชญ์ ผลชู นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ หัวหน้าฐานปฏิบัติการป้องกันรักษาป่าที่ราบต่ำเขานอจู้จี้ ผู้ปฏิบัติอยู่ในพื้นที่ สะท้อนปัญหาว่า นับตั้งแต่ปีพ.ศ.2543 เจ้าหน้าที่กลุ่มวิจัยสัตว์ป่าได้ตามเก็บข้อมูลการลดลงของนกแต้วแล้วท้องดำ และการลดจำนวนถิ่นอาศัยที่ยังคงเกิดขึ้น

แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่มีอำนาจเข้าไปแทรกแซงได้ เพราะนอกจากจะพบตาข่ายดักนกทั้งในและนอกเขตแล้ว ยังมีการล่าสัตว์ เก็บหาของป่า การตัดไม้แบบผิดกฎหมายระดับเล็กๆ ยังแพร่ระบาดอยู่

"เมื่อเจ้าหน้าที่สำรวจหานกแต้วแล้วท้องดำ ชาวสวนยางและสวนปาล์มก็จะเฝ้าดูการเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่ จากนั้นชาวบ้านเหล่านั้นก็จะตัดต้นหวาย ต้นระกำ ที่มีรังนกแต้วแล้วท้องดำ" นายสมปราชญ์กล่าว

ปัญหาการบุกรุกป่าถือเป็นตัวการสำคัญต่อการอยู่รอดของนกหายากชนิดนี้ แน่นอนว่าลำพังหน่วยงานราชการ หรือนักอนุรักษ์ คงไม่พอ

แต่จะต้องมาช่วยกันคิดว่า จะทำอย่างไรให้ชาวบ้านในพื้นที่เองนั่นแหละหันมาช่วยอีกทางหนึ่ง ทั้งการฟื้นฟูสภาพป่าโดยรอบ หรือจัดสรรที่ทำกินให้ชาวบ้าน เพื่อช่วยลดการบุกรุกพื้นที่เพิ่ม ถ้าทำได้นกแต้วแล้วท้องดำก็จะไม่เสี่ยงสูญพันธุ์

หน้า 5


ขอขอบคุณ

ข่าวสดออนไลน์
คุณนนทวรรณ มนตรี


อาทิตยวารศุภสวัสดิ์ค่ะ
Create Date :03 กรกฎาคม 2554 Last Update :3 กรกฎาคม 2554 9:14:07 น. Counter : Pageviews. Comments :0