bloggang.com mainmenu search
คอลัมน์ สยามประเทศไทย

โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ


ผู้คนในดินแดนสุวรรณภูมิ มีความสัมพันธ์ทางสังคมวัฒนธรรมและทางชาติพันธุ์ในลักษณะ "เครือญาติ" อย่างน้อย 3,000 ปีมาแล้ว ก่อนมีพระพุทธเจ้า ก่อนมีพุทธศาสนา

เครือญาติชาติพันธุ์สุวรรณภูมิพวกนี้ มี "ศาสนาผี" อยู่แล้ว โดยมี "แถน" เป็นใหญ่สุดในหมู่ลาว แล้วมี "มด" ในหมู่เขมร มี "เม็ง" ในหมู่มอญ

     ไทย เป็นชื่อรวมสมมุติเรียกคนสุวรรณภูมิพวกหนึ่ง เพิ่งมีขึ้นราวหลัง พ.ศ.1700 บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคกลาง ต่อมาใช้เรียกคนในดินแดนประเทศไทยทุกชาติพันธุ์เป็น "คนไทย" แล้วเรียกวัฒนธรรมผสมผสานของทุกชาติพันธุ์นั้นว่า "วัฒนธรรมไทย"

     ด้วยเหตุนี้วัฒนธรรมไทยหรือความเป็นไทยจึงมี 2 ระดับ คือ วัฒนธรรมหลวงของเจ้านายคนชั้นนำ กับวัฒนธรรมราษฎร์ของสามัญชนคนทั่วไป ส่วนในทางการละเล่นดนตรีและนาฏศิลป์ก็เช่นเดียวกัน จำแนกได้ 2 ระดับ คือ ระดับหลวง กับระดับราษฎร์

ฉะนั้น ดนตรีไทยจึงจำแนกเป็นดนตรีหลวงกับดนตรีราษฎร์

แต่สถาบันการศึกษาที่มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับดนตรี ไม่จำแนกตามพยานหลักฐาน แต่จำแนกตามตามความเข้าใจ (คับแคบ) กับความพอใจของผู้มีอำนาจในทางล้าหลัง-คลั่งชาติ ว่า ดนตรีไทย และดนตรีไม่ไทย

ดนตรีไทย คือ ปี่พาทย์, มโหรี, เครื่องสาย มีใช้ในวัฒนธรรมของเจ้านายคนชั้นนำ

ดนตรีไม่ไทย คือ แคน, โปงลาง, มังคละ, กาหลอ ฯลฯ เรียกให้ดูดีขึ้นเพื่อลดความน่าเกลียดว่าดนตรีพื้นเมือง เช่น พื้นเมืองอีสาน, พื้นเมืองเหนือ, พื้นเมืองใต้

     จะเห็นชัดว่าดนตรีพื้นเมือง คือ "ดนตรีไม่ไทย" นี่เท่ากับว่าวงการดนตรีไทยกำลังเหยียดหยามแล้วผลักไสเครื่องมือพวกหนึ่งให้มี "ความเป็นอื่น" เป็นคนอื่นที่ไม่ใช่ไทย

อันตรายมากขึ้นเมื่อระบบการเรียนการสอนถูกกำหนดให้แยกกันเด็ดขาด คือพวกเรียนดนตรีพื้นเมือง หรือ "ไม่ไทย" จะไม่เรียนดนตรีไทย และในทางกลับกัน พวกดนตรีไทยก็ไม่เรียนพวก "ไม่ไทย" เพราะมัน "ไม่ไทย" แล้วจะเรียนทำไม

ผลคือต่างฝ่ายต่างคับแคบ งมงายฟูมฟายแต่ความสำคัญของตน โดยไม่เข้าใจคนอื่น เพราะรังเกียจความเป็นอื่นเสียแล้ว

     ถึงตรงนี้ทำให้เสียดายอย่างยิ่งที่นักประวัติศาสตร์ไทยไม่อ่านเอกสารกัมพูชา โดยเฉพาะพวกชอบอ้างประวัติดนตรีไทย ไม่เคยอ่านประวัติดนตรีกับโขนละครกัมพูชา เช่น

ประชุมเรื่องตำนานและนิทานพื้นบ้านเขมร (ภาค 1-9) อาจารย์ประยูร ทรงศิลป์ แห่งสถาบันราชภัฏธนบุรี แปลจากต้นฉบับภาษาเขมร หนา 1,000 หน้า ขนาด A4 พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2540

     โครงการศึกษาวัฒนธรรมไทย-กัมพูชา โดยอาจารย์ภูมิจิต เรืองเดช มีเรื่องต่างๆ แบ่งเป็น 5 เล่ม เช่น อองโกร์ นครน้ำ, หนังสีและหนังเล็ก, ระบำแขมร์, ละครโขน, มารดาธิปไตยในสังคมเขมร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2548


ขอขอบคุณ
ที่มา :
มติชนรายวัน 9 กันยายน 2551 หน้า 21

H O M E

Create Date :10 กันยายน 2551 Last Update :10 กันยายน 2551 22:15:02 น. Counter : Pageviews. Comments :0