bloggang.com mainmenu search

     จากกรณีที่ สำนักงานบริพัตรผู้ดูแลผลประโยชน์ที่ดินในเวิ้งนครเขษม ย่านค้าเก่าแก่แห่งหนึ่งของเกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีเนื้อที่ 14 ไร่ 1 งาน 91 ตารางวา โดยมีเจ้าของผู้ถือกรรมสิทธิ์อยู่ คือ ราชสกุลบริพัตรไม่ต่อสัญญาจากผู้เช่าจำนวน 440 ราย ซึ่งกำลังสิ้นสุดลงในเดือนกันยายน 2555 และอยู่ในขั้นตอนประมูลที่ดินแปลงดังกล่าว มูลค่าหลายพันล้านบาท เพื่อให้ธุรกิจเอกชนเข้ามาลงทุนพัฒนาโครงการอหังสาริมทรัพย์ขนาดใหญ่

ส่งผลให้ชาวชุมชนเวิ้งนาครเขษม นำโดยนายวิศิษฐ์ เตชะเกษม ต้องออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการให้นายทุนข้างนอกมาร่วมประมูล โดยติดป้ายคัตเอาท์ รวมถึงขึ้นป้ายผ้าขนาดใหญ่ในการต่อต้านบริเวณโดยรอบเวิ้งนาครเขษม พร้อมรวมตัวกันจัดตั้งบริษัท เวิ้งนาครเขษม จำกัด เพื่อระดมเงินในการประมูลซื้อที่ดินแปลงดังกล่าว โดยเสนอที่ราคาประมูล 4,800 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าราคาประเมินประมาณ 1.8 เท่า รวมถึงยื่นข้อเสนอให้ทางสำนักงานบริพัตร จัดแบ่งแปลงที่ดินให้ ซึ่งก็ถูกปฏิเสธในเวลาต่อมานั้น



     ผู้สื่อข่าวมติชนออนไลน์ ได้ลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นผู้เช่าที่ดินในเวิ้งนาครเขษม เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ถึงกรณีดังกล่าว เริ่มที่ผู้เช่ารายหนึ่งซึ่งไม่ขอเปิดเผยชื่อระบุว่า เราต้องเรียกร้องสิทธิผู้เช่าเดิมตามกฎหมาย แต่เรียกร้องอะไรมากกว่านี้ไม่ได้ เป็นสิทธิของเจ้าของที่ เขาอยากจะขายก็ต้องขาย เรื่องของเขา ถ้าต้องถูกขายไปให้คนอื่นจริงก็เสียดาย เพราะพื้นที่เราอยู่อาศัยกันมา 3 ชั่วอายุคน เป็นระยะเวลากว่า 100 ปีแล้ว แต่ที่ตนข้องใจ ทำไม สำนักบริพัตรไม่เห็นใจผู้เช่าบ้าง หรือมาถามเราก่อนก็ได้ ว่าสู้ไหวไหมหากจะทำการขายพื้นที่ตรงนี้ ทุกอย่างมันต่อรองกันได้ ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ ก็มาบอกว่าจะขายโดยให้ประมูล

"พวกศักดินาสมัยก่อน ซึ่งต่อมาพัฒนาตัวเองมาเป็นนักธุรกิจ เมื่อ 30 ปีที่แล้ว อาชีพของเขาคือ เก็บค่าเช่า เก็บดอกเบี้ย แต่พอเวลานี้กลับจะขาย เราอยู่กันมา 3 ชั่วอายุคน ผลประโยชน์รายได้คุณก็เก็บมาร่วมร้อยปีแล้ว ทำไมคุณไม่ตั้งราคาว่า จะเอาเท่านั้นเท่านี้ แล้วไปตกลงกันมาว่าไหวมั้ย ต่อรองกันได้ แต่อย่างนี้ไม่ใช่คุณมาตั้งราคาบอกให้ประมูล อย่างนี้เห็นใจหรือทำธุรกิจล่ะ และสูงกว่าราคากลางอีก ถามว่าคนในนี้ทำธุรกิจจะสามารถรวมเงินกันหลายๆ พันล้านไปสู้นักธุรกิจรวยๆ ได้ไหม เดี๋ยวนี้เขามีการร่วมทุนกันระหว่างประเทศ ระหว่างทวีปแล้ว คุณจะเอาอะไรไปสู้กับเขา"

หนึ่งในผู้เช่ารายเดิมยังระบุต่อว่า ก่อนหน้านี้ไม่มีใครทราบมาก่อนว่า สำนักงานบริพัตรจะนำที่ดินเวิ้งนาครเขษม มาประมูลเพื่อขาย เพราะไม่เคยบอกอะไรเลย ส่วนที่นายวิศิษฐ์พร้อมด้วยผู้เช่าคนอื่นๆ ไปรวมตัวกันจัดตั้งในรูปแบบบริษัท เพื่อประมูลแข่ง ตนบอกเลยว่า เดินทางผิด ทำไมเราไม่ต่อรองกันก่อน ตนมองสภาพการณ์แล้วว่า อสังหาริมทรัพย์ พอถึงจุดๆ หนึ่งเราต้องพัฒนา ที่เราอยู่นี่ไม่ใช่โบราณสถาน แต่เป็นที่พักอาศัยเรื่องปกติ เพียงแต่ว่าเราควรมีส่วนร่วมเท่านั้นเอง ส่วนตัวในเมื่อเป็นเวิ้งนาครเขษม ก็พัฒนาให้เป็นตึกใหม่ลักษณะเดียวกันหมด แต่คงรูปแบบเดิมไว้ทุกอย่างเหมือนเดิม จัดให้เป็นระบบระเบียบมากกว่าเดิม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ สังคมในนี้เป็นสังคมที่เคยทำแบบไหนก็ทำแบบนั้นไม่มีการพัฒนา

"มนุษย์ทุกคนถือกำเนิดมาเท่ากัน ย่อมมีสิทธิความเป็นอยู่ต้องมีความเสมอภาค เสรีภาพ และอิสรภาพภายใต้กฎหมายเดียวกัน คนไทยเรานี่แปลกอย่างไม่ถูกเสี้ยมสอนให้ยอมรับความจริง คนมีอำนาจสามารถปกปิดความจริงได้ แต่ไม่สามารถทำให้ความจริงสาบสูญได้ เพราะเมื่ออำนาจหมดจะทำให้ความจริงปรากฎ ผมอยู่ที่นี่มาตั้งแต่เกิด ผมไม่ถือว่าแผ่นดินนี้ศักดิ์สิทธิ์เหมือนที่ป้ายข้างนอกเขาเขียนกันนะ และผมไม่ถือว่าแผ่นดินนี้ให้คุณกับผม ไม่ถือว่าเจ้าของที่ดินนี้มีบุญคุณแก่ผม ทุกวันนี้ผมต้องจ่ายค่าเช่า 5,700 บาท ต่อเดือน แถมยังต้องจ่ายแป๊ะเจี๊ยะอีกแสนกว่าบาท ต่อระยะเวลา 3 ปี ซึ่งใบเสร็จค่าเช่าที่ได้รับก็ไม่มีบอกว่าค่าภาษีเท่าไหร่ เพื่อให้เราที่ทำธุรกิจสามารถนำไปหักภาษี ณ ที่จ่ายได้ และสัญญาค่าเช่าที่นี่แปลกประหลาด ที่ให้ต่อ 3 ปี ครั้งหนึ่ง ซึ่งตามกฎหมายปัจจุบันระบุให้มีระยะเวลา 5 ปี 10 ปี 15 ปี ขึ้นไป ต่อการต่อสัญญา 1 ครั้ง" ผู้เช่ารายนี้ระบุ

ด้านนายวิชัย วงศ์อริยะกวี เจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด เอเชียมิวสิค อีกหนึ่งผู้เช่าที่เปิดร้ายขายเครื่องดนตรีรายใหญ่ เวิ้งนาครเขษม ซึ่งต้องจ่ายค่าเช่าที่ดิน โดยมี 2 ร้านของตัวเอง รวมแล้ว 64,000 บาท ต่อเดือน รวมถึงจ่ายค่าแป๊ะเจี๊ยะ อีกจำนวน 2 ล้านกว่าบาท ต่อ 3 ปี เผยว่า ตนอยู่ที่นี่มาตั้งแต่เกิด รู้ว่า คงสู้เขาไม่ได้ถ้าจะรวมเงินกันไปประมูล แต่เราต้องสู้เพื่อลูกหลานของเรารุ่นหลัง เพื่อให้มีการอนุรักษ์และพัฒนา แม้มันจะเป็นสิทธิของเจ้าของที่ที่จะขายให้คนอื่น ถ้าเขาอยากจะได้เงินมากกว่า ที่จะอนุรักษ์เอาไว้ ซึ่งก่อนหน้านี้ ทางสำนักบริพัตรเก็บเงียบมาตลอดเรื่องการเปิดประมูลขายที่ดิน แต่พวกตนมาทราบเองว่าจะมีการขาย ก็ไปประท้วงกับเขา ณ เวลานั้น ราคาขายตั้งอยู่ที่ 3,500 ล้านบาท จากนั้นก็เพิ่มจำนวนราคาประมูลขายมาเรื่อยๆ กระทั่งอยู่ที่กว่า 5,000 ล้าน ซึ่งเป็นมูลค่าที่พอๆ กันกับกับที่ดินแถวชิดลม หรือย่านดังๆ อื่นๆ ในกทม.

"พื้นที่ตรงนี้ สมัยก่อนไม่มีอะไรเลย แต่บรรพบุรุษของเรามาเช่าเพื่อทำมาค้าขาย พัฒนาจนกลายเป็นย่านการค้าที่เจริญแบบทุกวันนี้ มูลค่าตรงนี้ทำให้พื้นที่ตรงนี้ดูสูงขึ้น มาพร้อมกับ สำเพ็ง คลองถม แถวๆ นี้ มันมาพร้อมกัน พอเจริญขึ้นมา เขาถือว่าเป็นพื้นที่ของเขาแล้วเขาจะมาขาย โดยไม่คำนึงถึงว่า ที่มันเจริญมาขนาดนี้ได้เพราะอะไร มัวแต่มองว่า หานายทุนต่างชาติ หรือนายทุนที่ให้กำไรเขาได้ดี อย่างนี้มันไม่ถูกต้อง ที่เราระดมทุนกันประมูลที่ดินตรงนี้ ก็ไม่ได้ให้ราคาต่ำ ที่เราเสนอให้ก็เป็นมูลค่าสูงกว่าความจริงด้วยซ้ำ ขณะนี้ชาวเวิ้งก็ต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิของพวกเราด้วย พวกไม่เคยอยู่ที่แห่งนี้ ไม่รู้หรอกว่ามันมีคุณค่าอย่างไรกับจิตใจและความผูกพันของพวกเราอย่างไร"

นายวิชัย ยังกล่าวอีกว่า เมื่อคืนวันที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมา กลุ่มของพวกตนได้เดินทางเข้าพบ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ช่วยเหลือชุมชนเวิ้งนาครเขษม ซึ่ง ทางผู้ว่าฯกทม. ก็บอกกับพวกตนว่า ไม่รู้จะช่วยเหลืออย่างไร เพราะเรื่องดังกล่าวนี้ขึ้นอยู่กับสำนักงานบริพัตร ซึ่งแม้ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์จะมีนามสกุลบริพัตร แต่ก็เป็นอีกสายหนึ่งจึงไม่สามารถทำอะไรได้ แต่ก็เห็นใจผู้เช่าทุกราย ซึ่งพวกตนก็เข้าใจ ว่าเจ้าตัวตกที่นั่งลำบาก โดยที่ผ่านมา ชาวชุมชนได้เทคะแนนเลือกม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เป็นผู้ว่าฯ กทม. และถ้าลงเลือกตั้งครั้งต่อไปก็ยังจะเลือกอยู่

ปิดท้ายที่ นายอุดม โภคาชัยพัฒน์ เจ้าของร้าน ไทยพงษ์การไฟฟ้า ผู้แทนจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า และหนึ่งในผู้อาวุโสที่ได้รับการนับถือของชุมชนเวิ้งนาครเขษม วัย 78 ปี ให้ความเห็นว่า ทางสำนักงานบริพัตร เจ้าของที่ดินไม่บริสุทธิ์ใจที่จะขายที่ดินให้พวกตนอยู่แล้ว ก่อนหน้านี้ พวกตนเคยไปติดต่อที่จะขอซื้อที่ดินแห่งนี้ ว่ามีราคาเท่าไหร่ แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบ ไม่บอกว่าจะขายให้ได้ในราคาเท่าไหร่ เพียงแต่อ้างนู่นอ้างนี่เรื่อยเปื่อย นอกจากนี้ ระหว่างที่พวกตนเคยไปติดต่อขอซื้อ ก็มีเด็กในเวิ้ง ลูกหลานของคนที่นี่ เติบโต ร่ำรวยที่นี่ แล้วไปเป็นนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ก็มาติดต่อซื้อที่ดินในเวิ้งนาครเขษมแห่งนี้เช่นกัน แต่วัตถุประสงค์ของเขาไม่ใช่เพื่อการดำรงอนุรักษ์ไว้แบบที่เป็นอยู่ แต่เป็นการมองแบบคนรุ่นใหม่ แบบนักลงทุนเพื่อเก็งกำไร พัฒนาให้เป็นแบบรูปแบบอื่น ทางสำนักบริพัตรก็เท่ากับมีตัวเลือกเพิ่มมาอีกหนึ่งในการเปิดประมูลขาย

ผู้อาวุโสแห่งเวิ้งนาครเขษม ให้ความเห็นต่อว่าจากนี้ทั้งๆ ที่รู้สู้ไม่ได้ เราก็ยังร่วมกัน ปัญหาอยู่ที่ว่า เรารวบรวมได้ 4,800 ล้าน ซึ่งถือเป็นจำนวนที่เยอะแล้วในการไปร่วมประมูลซื้อ ราคาสูงพอตัว แต่เขาก็ตั้งราคาหนีเราไปอีก เป็นที่ราคา 5,500 ล้าน ยังไม่รวมภาษี และค่าขนย้ายอีก คนที่นี่ ค้าขาย 3 ปี ก็ส่งแป๊ะเจี้ยะให้เขาทีหนึ่ง แม้จะขึ้นค่าเช่า ขึ้นแป๊ะเจี้ยะ เราก็อยู่กันไป ในส่วนของตน เสียค่าเช่า 2 ห้อง ตกราคา 14,700 บาทต่อเดือน ทั้งยังเสียค่าแป๊ะเจี๊ยะอีก 400,000 บาท ต่อ 3 ปี

นายอุดมเปิดเผยว่า เรื่องนี้ผู้ใหญ่รุ่นๆ เดียวกันอายุ 70-80 จริงๆ เขาก็บ่นกันว่า การตั้งราคาประมูลแบบนี้ไม่ใช่ราคาขาย ไม่ตั้งใจจะขายให้เรา ส่วนคนรุ่นกลาง รุ่นหนุ่มชาวเวิ้งนาครเขษมก็มุมานะที่จะซื้อกลับมา เราก็ไม่กล้าพูดอะไร เราก็ร่วมประชุมกับเขาทุกครั้ง แม้จะรู้ว่า สู้ไม่ได้ แต่เราก็ต้องร่วมกันกัดฟันสู้

"ผมเกิดที่นี่ บ้านนี้อยู่กันรุ่นต่อรุ่นมาร้อยกว่าปี เราอยู่ที่นี่มีความสุขที่นี่ เราก็อยากได้ที่นี่มาก อีกหนึ่งอุปสรรค คือโฉนดเก่าที่ดินแปลงนี้เป็นแปลงรวม ไม่ได้แบ่งว่า ส่วนของใครเป็นของใคร แล้วเราจะไปแบ่งได้อย่างไร แต่ถ้าไปให้บุคคลที่ 3 ก็ต้องเป็นการจัดสรรที่ดิน จะเหลือเท่าไหร่ เหลือกี่ห้อง นี่คือปัญหา และหากประมูลร่วมกัน ได้มาเป็นโฉนดรวมก็ไม่แฮปปี้กันอีก หาเงินแล้วมาไว้ตรงกลาง และไม่รู้ว่าใครจะเป็นคนบริหารนี่ล่ะคือ อุปสรรคใหญ่"

ผู้อาวุโสวัยเกือบ 80 หนึ่งในผู้เช่าเก่าแก่เวิ้งนาครเขษม ได้ฝากทิ้งท้ายว่า "ในฐานะที่เป็นคนเก่าแก่ ผมอยากจะวิงวอนพวกนายทุนทั้งหลาย ถ้ามาประมูล คนเก่าแก่ย่อมสู้ไม่ได้ เพราะเรามีทุนแค่นี้เท่าที่มี หรือถ้ามีก็ต้องไปหยิบยืมญาติพี่น้องแต่อย่างไรก็สู้ไม่ได้ เรามีเท่านี้ นายทุนก็เพิ่มขึ้นไปอีกเราไม่อยากให้นายทุนข้างนอกที่มีเงินหนามากว้านซื้อเอาไป ซึ่งผิดความมุ่งหมายของเราที่อยากจะอนุรักษ์รูปแบบเดิมเอาไว้ เราเคยอยู่ที่นี่ ก็อยากอยู่ที่นี่ ไม่มีใครอยากจะไปต่อสู้กับนายทุนหรอกครับ สุดท้ายแล้วถ้าต่อสู้ไม่ได้ เราก็ต้องย้าย นาทีสุดท้าย ประวัติศาสตร์ต้องพลิกแพลงไป โดยที่เราต้องจำยอม อย่างที่คนรุ่นใหม่บอกว่าบ้านเมืองจะเจริญย่อมมีการเปลี่ยนแปลง"

Credit : มติชนออนไลน์ 06 สิงหาคม พ.ศ. 2554

สนามหลวงพยากรณ์ออนไลน์

H O M E
Create Date :08 สิงหาคม 2554 Last Update :8 สิงหาคม 2554 12:19:16 น. Counter : Pageviews. Comments :1