bloggang.com mainmenu search
วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 17 ฉบับที่ 6328 ข่าวสดรายวัน


บ้านสมเด็จฯ ในมหา"ลัยมีตำนาน

ราชภัฏวันนี้

คัคนานต์ ดลประสิทธิ์ เรื่อง จุลวัฒน์ ถีติปริวัตร์ ภาพ




มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เป็นสถานศึกษาที่มีประวัติอันยาวนานมากว่า 100 ปี

เริ่มจากปีพ.ศ.2439 ก่อตั้งเป็นโรงเรียนราชวิทยาลัย หรือโรงเรียนบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ต่อมาเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และกลายมาเป็นมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน

ทุกระยะทุกยุคของ "บ้านสมเด็จ" ได้ผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพออกไปเป็นกำลังสำคัญของราชการและสังคม

ที่ตั้งและบริเวณโดยรอบของมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เดิมเคยเป็นจวน และที่ดินของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ หรือ ท่านช่วง บุนนาค ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินเมื่อต้นรัชกาลที่ 5

บริเวณนี้มีเนื้อที่ประมาณ 40 ไร่ พระยาสีหราชเดโชชัย หลานปู่ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ได้น้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ต่อมาจึงได้พระราชทานให้กระทรวงธรรมการนำมาเป็นที่ตั้งของโรงเรียน

ดังนั้นทุกๆ คนในมหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งนี้จึงเคารพเทิดทูนสมเด็จ เจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ โดยขนานนามท่านว่า "เจ้าพ่อ" และเรียกตนเองว่า "ลูกสุริยะ"

เนื่องจากสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ได้รับพระราชทานตรามหาสุริยมณฑล จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และยึดถือเป็นสัญลักษณ์แทนตัวท่านมาโดยตลอด และตราประจำมหาวิทยาลัย คือ รูปเสมาสุริยมณฑล

มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา หากนับรวมอายุแล้วเก่าแก่กว่าร้อยปี ความเข้มข้นทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์ชัด

แต่ด้วยความเก่าแก่ และมีความเป็นมาเกี่ยวข้องกับผู้ใหญ่ในแผ่นดินที่สมัยยังมีชีวิตเต็มไปด้วยบุญญาบารมี

จึงไม่แปลกที่จะมีเรื่องเล่าร่ำลือต่างๆ นานา

หลายเรื่องอาจเป็นเรื่องที่ชาวมหาวิทยาลัยเคยได้ยินกันจนคุ้นหู หรือบางเรื่องอาจจะยังเพิ่งเคยได้ยินกันก็มี

ดร.สุดารัตน์ ชาญเลขา รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เล่าเรื่องของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ว่า อาคารวิเศษศุภวัฒน์เป็นอาคารดนตรีไทย มีเศียรบรมครูหลายชนิด มีเครื่องเล่นดนตรีไทยหลายชนิด

ไม่ว่าจะเป็น ระนาดเอก กลอง ปี่ ขลุ่ย ฆ้อง เป็นต้น เมื่อสมัยก่อนเป็นหอพักชาย มีนักศึกษาโดดออกไปเที่ยวด้านนอกหลายครั้ง

"แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งนักศึกษากลุ่มนั้นกำลังจะไปเที่ยวจึงพบว่ามี "เจ้าพ่อ" ยืนถือดาบขวาง ใส่ชุดสีขาวกั้นไม่ให้ออกไปด้านนอก และทำสีหน้าขึงขังโกรธ กลุ่มนักศึกษาก็ได้ไปขอขมากับเจ้าพ่อ จากนั้นก็ไม่มีใครกล้าโดดออกเที่ยวด้านนอกอีกเลย"


นอกจากนี้ยังมีคนงาน นักการภารโรง ที่พักอยู่บริเวณตึกดังกล่าว บ่อยครั้งในเวลากลางคืนจะมีเสียงระนาด หรือไม่ก็เป็นเสียงดนตรีไทยเต็มวง แทบทุกคืน

บางครั้งอาจารย์ประจำภาควิชายังเคยเห็นชายรูปร่างใหญ่กำยำ เดินผ่านไปมาในห้องปฏิบัติ แต่พอเดินออกมาดู พบว่ากุญแจที่คล้องอยู่หน้าประตูไม่ได้เปิดแต่อย่างใด บางครั้งมีไฟดับ มีเสียงดนตรีไทย และเงา ออกมาเป็นระยะๆ แทบทุกวันเช่นกัน

ถัดมาเป็นสำนักงานศิลปวัฒนธรรมและหอประชุมที่มีตำนานเล่าขานกันมาว่า พระภิกษุสงฆ์ หรือผู้มีสัมผัสที่ 6 ที่เข้ามาบริเวณห้องประชุมกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าภายในห้องประชุมมีวิญญาณของเจ้าพ่อสิงสถิตอยู่

"แต่ที่เจอกับตัวเองเลยก็มีอาจารย์สอนพิเศษอยู่ท่านหนึ่ง ท่านมาสอนวิชาขับเสภา ระหว่างที่ท่านเดินไปเข้าห้องน้ำก็ได้ยินเสียงผู้ชายพูดว่า อยากฟังเสภา ขยับกรับให้ด้วย อาจารย์จึงเดินกลับมาที่ห้องประชุม และให้นักศึกษาทุกคนเงียบ จากนั้นอาจารย์ก็ขับเสภาจนจบเพลง"

สําหรับบ้านเอกะนาค ที่ถูกเรียกขานอย่างไม่เป็นทางการว่า "บ้านผีสิง" นั้น สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2462 ตรงสมัยรัชกาลที่ 6

เป็นบ้านเรือนไทย ทรงปั้นหยา ของ พ.ต.อ.พระยาประสงค์สรรพการ (ยวง เอกะนาค) ตำแหน่งรองอธิบดีกรมตำรวจในสมัยนั้น

ต่อมาบ้านหลังนี้ได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบุตรสาว คือ คุณประยูร เอกะนาค ซึ่งเสียชีวิตในเวลาต่อมา

แต่เนื่องจากบุตรสาวของท่านไม่มีทายาทสืบสกุล บ้านหลังนี้จึงตกเป็นของมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ตามพินัยกรรมที่ได้ระบุไว้ว่า หากไม่มีทายาทสืบต่อแล้ว ก็ให้บ้านหลังนี้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโรงเรียนมัธยมบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (ณ เวลานั้น)

ในเวลาต่อมามหาวิทยาลัยได้ปรับปรุงซ่อมแซมตัวบ้านให้สมบูรณ์เหมือนเดิมทั้งภายในตัวบ้านและภูมิทัศน์โดยรอบ

และใช้จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ แสดงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวฝั่งธนฯ เช่น จัดทำเป็นห้องบ้านช่างฝั่งธนฯ ขลุ่ย-บ้านลาว หัวโขน-บางไส้ไก่ ขันลงหิน-บ้านบุ หล่อพระ-บ้านช่างหล่อ ขนมฝรั่ง-กุฎีจีน ห้องพระเจ้าตากสิน

ห้องประวัติเจ้าของบ้าน (พระยาประสงค์) ห้องชีวิตชาวเรือ ชาวน้ำ ชาวสวนฝั่งธนฯ

แล้วยังจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ศูนย์กรุงธนบุรีศึกษา ภายในพิพิธภัณฑ์ศูนย์กรุงธนบุรีศึกษาประกอบด้วยห้องจัดแสดงทั้งหมด 10 ห้อง

เหตุการณ์ชวนขนหัวลุกที่เล่าต่อกันมา คือ นักศึกษาที่เข้ามาถ่ายรูปบริเวณบันไดด้านหน้า พอถ่ายรูปเสร็จนำรูปไปล้าง และนำมาดูพบว่าในภาพนั้นมีหญิงชรา นุ่งผ้าโจงกระเบน ตัดผมทรงดอกกระทุ่ม กำลังก้าวขึ้นไปบนบ้านหลังนั้น

อาจารย์นำรูปของคุณประยูรมาเทียบกับรูปที่ถ่ายไว้ พบว่าลักษณะรูปร่างและใบหน้าคล้ายคลึงกับท่านมาก หลังจากนั้นก็มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอยู่ประมาณ 2-3 ครั้ง

นายสุชาครีย์ ก่อเกียรติตระกูล หัวหน้างานอาคารและสถานที่ เล่าว่า ตอนที่เข้ามาทำงานในช่วงแรกๆ บริเวณด้านหลังอาคาร 100 ปี ศรีสุริยะวงศ์ มีกอกล้วยตานีรกมาก ทางอธิการบดีจึงมีคำสั่งให้ตัดกอกล้วยนั้นทิ้ง โดยมีคนงานของบริษัทรับเหมาก่อสร้างมาตัด

หลังจากตัดต้นกล้วยตานีได้ 1 ต้น คนงานคนดังกล่าวก็กลับบ้าน เมื่อถึงบ้านแล้ว คนงานดังกล่าวแสดงกิริยาอาละวาด โวยวาย เหมือนถูกผีเข้า

ญาตินำไปหาร่างทรง คนงานบอกว่ามาตัดเขาทำไม เขากำลังตั้งท้องอยู่ ต่อไปนี้ห้ามคนงานคนนี้เข้ามาที่มหาวิทยาลัยเด็ดขาด

"ผมและคนงานก็ได้ไปขอขมา หลังจากขอขมาเสร็จก็ไปดูที่ลำต้นกล้วยก็พบว่ามียางคล้ายๆ เลือดซึมออกมาอยู่ตลอดเวลา จึงได้ทำเป็นศาลเพียงตา และใช้ผ้า 3 สี ผูกบริเวณกอกล้วย" นายสุชาครีย์กล่าว

"หลังจากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น ทราบว่าต้นกล้วยดังกล่าวเป็นต้นกล้วยที่นำมาจากพิธีไหว้ครู แล้วนำมาลงไว้ที่บริเวณนี้ ซึ่งโดยปกติเป็นคนไม่เชื่อเรื่องลี้ลับอยู่แล้ว แต่พอมาเจอเหตุการณ์แบบนี้ จากที่ไม่เชื่อเลย เหลือเพียงแค่ 50 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ไม่ได้คิดอะไรมากมายเพราะถือว่าทำงาน อีกอย่างก็ไม่รู้ประวัติของมหาวิทยาลัยนี้ เพราะไม่มีใครเล่าเรื่องอะไรให้ฟังเลย แต่ตอนนี้ก็ไม่คิดที่จะตัดต้นกล้วยทิ้งแล้ว อยู่ยังไงก็ให้อยู่อย่างนั้น" นายสุชาครีย์ กล่าว

นายธนาศาล ประกายสันติสุข หรือ "เซียะ" อายุ 23 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ โปรแกรมวิชาดนตรีไทย เล่าถึงประสบการณ์ว่า ขณะที่ศึกษาอยู่ปี 2 วันที่เกิดเหตุเป็นวันอาทิตย์ ซึ่งต้องออกไปแสดงงานด้านนอก อาจารย์นัดตอน 08.00 น. จึงได้เข้ามาที่อาคารวิเศษศุภวัฒน์ เพื่อซ้อมดนตรีไทยกับเพื่อนก่อนขึ้นแสดงจริง

ระหว่างนั้นมีเพื่อนไปเข้าห้องน้ำ หลังจากทำธุระเสร็จต้องเดินผ่านห้องโถงที่มีเครื่องดนตรีไทย เรียกว่า เครื่องมอญ ประกอบด้วย ฆ้องมอญ 4 วง ระนาดเอก ระนาดทุ้ม เปิงมางคอก ตะโพน ซึ่งมีอายุตั้งแต่รัชกาลที่ 5

"จังหวะที่เดินกลับนั้น พอดีประตูห้องโถงเปิดอยู่ สายตาที่มองเข้าไปในห้องโถง พบชายผิวเข้ม ใส่เสื้อขาว นุ่งโจงกระเบนขาว นั่งมองหน้าอยู่ จึงรีบวิ่งออกมา หลังจากนั้นก็เกิดเหตุการณ์อย่างเดียวกันอีกหลายครั้ง จนกระทั่งอาจารย์ที่ซื้อเครื่องมอญชุดนั้นมา เล่าที่มาของเครื่องมอญให้ฟังว่า เครื่องดนตรีชุดนี้เจ้าของเขาตายแล้ว แต่ลูกนำเครื่องดนตรีมาขาย เจ้าของหวงเครื่องดนตรีชุดนี้มาก"

เซียะเล่าต่ออีกว่า เมื่อครั้งงาน 117 ปี บ้านสมเด็จเจ้าพระยา มีการแสดงเยอะมาก ซึ่งคนที่ต้องแสดงส่วนใหญ่ต้องขึ้นมาแต่งตัวที่ห้องโถงดังกล่าว มีผู้หญิงเรียนอยู่ที่วิทยาลัยนาฏศิลป์ เข้าไปเล่นเครื่องดนตรีชุดนี้แล้วเล่นอย่างแรงมาก หลังจากเสร็จงาน ผู้หญิงคนนั้นก็กลับบ้าน ระหว่างที่นอนอยู่ก็รู้สึกอึดอัดตัวเอง จึงลืมตาขึ้น พบว่ามีชายผิวเข้ม ใส่เสื้อขาว นุ่งโจงกระเบนสีแดง ขึ้นไปเหยียบอกและชี้หน้า พอวันรุ่งขึ้นผู้หญิงคนนั้นมาปรึกษาอาจารย์ ก็เลยให้ผู้หญิงคนนั้นไปจุดธูปขอขมากลางแจ้ง นอกจากนี้ยังมีนักการภารโรงบางคนเห็นเจ้าพ่อที่บริเวณศาลด้านหน้าอาคารดังกล่าว บางคนก็ได้ยินเสียง บางคนก็เห็นเป็นเงา

"ส่วนตัวแล้วเชื่อเรื่องนี้มาก เพราะเคยบนกับเจ้าพ่อไว้ว่าขอให้เรียนจบตามเกณฑ์ ซึ่งในช่วงแรกๆ ก็มีปัญหาเรื่องการเรียนหลายอย่าง หลังจากบนไปแล้วเกรดก็เริ่มทยอยออกเรื่อยๆ ผมก็ซื้อดอกดาวเรืองกับ เป๊ปซี่ไปถวายเจ้าพ่อ" เซียะกล่าว

นอกจากนั้นยังมีศาลพระภูมิประจำสถาบัน หรือที่เรียกกันว่า ศาลพ่อปู่ ตั้งอยู่บริเวณด้านหลังอาคารเฉลิมพระเกียรติที่นักศึกษาใหม่ทุกรุ่นจะต้องไปเคารพสักการะ เชื่อกันว่า หากนักศึกษาคนใดต้องการที่พึ่งพิงทางใจในเรื่องต่างๆ สามารถมาขอพรกับพ่อปู่ได้

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ทำการบูรณะมหาวิทยาลัยใหม่เกือบทั้งหมด ซึ่งตอนนี้เหลือตึกเก่าแก่อยู่ 3 ตึก ได้แก่ สำนักศิลปวัฒนธรรมและหอประชุม บ้านเอกะนาค และอาคารวิเศษศุภวัฒน์

พร้อมกับเรื่องเล่าและตำนานที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น


หน้า 21

H O M E
Create Date :27 มีนาคม 2551 Last Update :22 กรกฎาคม 2551 21:29:14 น. Counter : Pageviews. Comments :14