bloggang.com mainmenu search
Credit : ปิ่น บุตรี 21 พฤษภาคม 2551 13:29 น. - ผู้จัดการออนไลน์



“4”

     ตัวเลขนี้ในทางหวย ผมไม่รู้ว่าเป็นเลขเด่น เลขเด็ด เลขดัง หรือเลขดับ!!! เพราะผมไม่ใช่คนเล่นหวย

รู้แต่ว่าเลข 4 ตามคติความเชื้อของคนจีน(ตามความรับรู้ของคนไทยส่วนใหญ่) ถือเป็นเลขอัปมงคล เพราะ 4 ออกเสียงคล้ายกับคำว่า “ซี้” ที่แปลว่า ตาย

     ในขณะที่ในแวดวงกีฬา การได้ตำแหน่งที่ 4 ดูจะไม่ค่อยน่าจดจำเท่าๆไหร่ กีฬาหลายประเภทอันดับ 4 ไม่มีอะไรติดไม้ติดมือ ผิดกับอันดับ 3 ที่ยังมีเหรียญทองแดง(เหรียญบรอนซ์)ปลอบขวัญ

แต่ในทางศาสนาพุทธ 4 ถือเป็นตัวเลขที่แฝงไว้ด้วยนัยยะทางธรรมะที่ชวนให้ขบคิดตีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น อริยสัจ 4, พรหมวิหาร 4, สังคหวัตถุ 4, อิทธิบาท 4, บัว 4 เหล่า, ทิศหลัก 4 ทิศ เป็นต้น

     เมื่อเลข 4 มีคุณค่าแฝงปรัชญาลึกล้ำ วัดวาอารามหลายแห่งในบ้านเราจึงสร้างงานพุทธศิลป์ที่มีเลข 4 เกี่ยวข้องขึ้นมามากมาย เป็นดังปริศนาธรรมให้ชาวพุทธได้ตีความกัน โดยหนึ่งในวัดที่มีเลข 4 โดดเด่นมากก็คือ “วัดภูมินทร์”แห่งจังหวัดน่าน



     วัดนี้ ตั้งอยู่ ต.ในเมือง(ในเวียง) อ.เมือง ใกล้ๆกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจังหวัดน่าน ที่มี “งาช้างดำ” โบราณวัตถุล้ำค่าหนึ่งเดียวในเมืองไทยเป็นสิ่งชูโรง

     จากพิพิธภัณฑ์ฯเพียงเดินข้ามถนนจากประตูด้านข้าง(ซ้าย)ของพิพิธภัณฑ์ฯก็จะถึงยังวัดภูมินทร์ หนึ่งในวัดสวยงามไฮไลท์เมืองน่านที่ใครไปเยือนเมืองสงบงามแห่งนี้ ไม่น่าพลาดการไปเที่ยวชม วัด ไหว้พระ เสพศิลปะ ณ วัดภูมินทร์ด้วยประการทั้งปวง

     ทั้งนี้ใครที่เคยไปเที่ยววัดภูมินทร์จะรู้ดีว่า หลายสิ่งในวัดแห่งนี้เป็นสุดยอดหนึ่งเดียวในเมืองไทย ไล่ไปตั้งแต่พญานาคคู่ที่เลื้อยทะลุเป็นราวบันไดออกมาจากตัวอาคารหลัก ที่นอกจากจะเป็นนาคสะดุ้งชูหัวสง่าดูมีชีวิตชีวาแล้ว อ.ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินนามอุโฆษยังบอกว่านี่เป็น(รูปปั้น)พญานาคที่ดูทรงพลังที่สุดในเมืองไทยอีกด้วย

ถัดจากนาคไปก็เป็นตัวอาคารหลักของวัดที่เป็นสถาปัตยกรรมทรงจตุรมุข ที่มีลักษณะ ทรีอินวัน (3 in 1) มี 3 ฟังก์ชันในหนึ่งเดียว คือเป็นทั้งโบสถ์(แนวเหนือ-ใต้) วิหาร(แนวตะวันออก-ตะวันตก) และเป็นพระเจดีย์ประธานของวัดไปในตัว



     โบสถ์หลังนี้(ผมขอเรียกอาคารทรงจตุรมุขหลังนี้รวมๆว่าโบสถ์เหมือนทั่วๆไปเพื่อง่ายต่อความเข้าใจ)ตามเอกสารประวัติวัดระบุว่าสร้างโดย“เจ้าเจตบุตรพรหม”ผู้ครองนครน่าน ในปี พ.ศ. 2139 หลังขึ้นครองเมืองน่านได้ 6 ปี ซึ่งว่ากันว่าเป็นโบสถ์ทรงจตุมุขหลังแรกและหลังเดียวในเมืองไทย(ไม่นับโบสถ์วัดภูมินทร์ที่เมืองโบราณ จ.สมุทรปราการ เพราะเป็นการจำลองแบบมา)

     อนึ่งคนเก่าคนแก่ได้เล่าว่าวัดแห่งนี้ เดิมชื่อ“วัดพรหมมินทร์” ที่เชื่อว่าน่าจะเป็นการตั้งชื่อให้สอดคล้องกับเจ้าเจตบุตรพรหมผู้สร้างวัด แต่หลังจากนั้นชื่อวัดก็เพี้ยนเปลี่ยนไปตามคำเรียกขานแบบไทยๆเป็น“วัดภูมินทร์” มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่ง ณ วันนี้ยังหาสาเหตุแห่งความเพี้ยนของชื่อวัดไม่ได้

     ด้วยความเป็นเอกอุของโบสถ์หลังนี้ ทำให้รัฐบาลไทยเคยตีพิมพ์ภาพโบสถ์วัดภูมินทร์ลงในธนบัตรไทยใบละ 1 บาท ในสมัยรัชกาลที่ 8 ในปี พ.ศ. 2485 อีกด้วย

     นอกจากนี้หากพินิจพิเคราะห์ดูดีๆจะเห็นว่าวัดภูมินทร์มีความเกี่ยวข้องกับเลข 4 อยู่หลายประการด้วยกัน(นี่เป็นการข้อสังเกตเล่นๆของผมที่นึกได้แบบฉับพลันในทันทีที่ไปเดินชมวัดภูมินทร์หนล่าสุด หาได้เป็นข้อความเชิงวิชาการแต่อย่างใดไม่)

     เริ่มด้วยโบสถ์ที่มี 4 มุข 4 ทิศ เข้าได้ทั้ง 4 ด้าน จาก 4 ประตู ซึ่งเป็นบานประตูที่ทำจากไม้แกะสลักศิลปะล้านนาลงรักปิดทอง แต่ละบานดูงดงามไปด้วยลวดลายเถาวัลย์และสัตว์เล็กสัตว์น้อยต่างๆ เช่น กระรอก นก จักจั่น เป็นต้น

ความเกี่ยวข้องกับเลข 4 ลำดับต่อมาคือ วัดภูมินทร์ มีงานพุทธศิลป์ในระดับสุดยอดของเมืองไทยอยู่ 4 อย่างด้วยกัน นั่นก็คือ โบสถ์ทรงจตุรมุขและพญานาคทรงพลังตามที่กล่าวมาข้างต้น



     ส่วนอีก 2 อย่าง คืองานจิตรกรรมฝาผนังพื้นบ้านล้านนาอันขึ้นชื่อลือชา ไม่ว่าจะเป็นภาพคันธกุมารชาดก ภาพเปรตทรมาน ภาพวิถีชีวิตชาวไทลื้อ ภาพบุคคลขนาดเท่าตัวจริง ภาพกระซิบบันลือโลก ภาพโมนาลิซ่าสยาม ฯลฯ (เอาไว้มีโอกาสเหมาะๆผมจะเขียนถึงภาพจิตกรรมฝาผนังสุดคลาสสิคของวัดภูมินทร์แบบลงในรายละเอียดกันอีกที) และสุดท้ายก็คือองค์พระประธานที่สวยงามโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์จนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)ยกให้เป็นหนึ่งในพระพุทธรูปอันซีนไทยแลนด์(2)เลยทีเดียว

     สำหรับความพิเศษของพระประธานวัดภูมินทร์ นอกจากความงดงาม ขรึมขลัง สมส่วน ลงตัว สมกับเป็นพระพุทธรูปอันซีนไทยแลนด์(2) แล้วพระประธานวัดภูมินทร์ยังมีความเกี่ยวข้องกับเลข 4 ที่แฝงไว้ด้วยปริศนาธรรมให้ตีความขบคิดกันอีกด้วย

     อย่างแรกที่เห็นได้ชัดก็คือ พระประธานองค์นี้เป็นพระประธานจตุรทิศ ปางมารวิชัยศิลปะสุโขทัยองค์ใหญ่สีทองเหลืองอร่าม 4 องค์ประทับฐานชุกชีหนึ่งเดียวกัน ณ แกนกลางโบสถ์ แต่หันพระปฤษฎางค์ชนกัน(หันหลังชนกัน) หันพระพักตร์ไปทางทิศทั้ง 4

     พระประธานจตุรทิศองค์นี้ กระแสหนึ่งสันนิษฐานว่าสื่อถึงพระพุทธเจ้า 4 พระองค์คือ พระเจ้ากกุสันโธ โกนาคม กัสสปะ และโคตมะ

ส่วนอีกกระแสหนึ่งสันนิษฐานว่า พระประธานจตุรทิศ น่าจะเป็นพระพรหม 4 หน้า ที่เป็นปริศนาธรรมสื่อถึง พรหมวิหาร 4 อันได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา ตามหลักศาสนาพุทธ เพราะลักษณะของพระประธานนั้น หันพระพักตร์ไปทั้ง 4 ทิศ แบบพระพรหม 4 หน้า ซึ่งมีความสอดคล้องกับนามของผู้สร้างวัดภูมินทร์อีกด้วย

     ครับ และนั่นเป็นข้อสันนิษฐาน 2 กระแส ที่ต่างก็มีเหตุผลให้เชื่อถือแตกต่างกันออกไป

เรื่องนี้ใครจะเชื่อกระแสไหนก็สุดแท้แต่ ส่วนผมเมื่อได้เข้ามาเที่ยวชมในโบสถ์วัดภูมินทร์แห่งนี้ ผมเชื่อทันทีเลยว่าพระประธานองค์นี้ดูงดงามตามแบบศิลปะสุโขทัย แถมยังดูแตกต่างจากพระพุทธรูปทั่วไป

     ส่วนที่ไม่น่าเชื่อก็คือ ขณะที่ผมกำลังก้มลงกราบท่านและปิดทองบนองค์พระประธานจำลองที่ด้านหนึ่ง พอแหงนหน้าขึ้นมามองพระพักตร์ ผมมีความรู้สึกว่าท่านกำลังยิ้มมุมปากเล็กน้อยให้

อา..นี่เป็นเรื่องจริงหรืออุปปาทาน เพื่อความแน่ใจผมจึงเดินไปถามไกด์เยาวชนตัวน้อยที่คอยทำหน้าที่อธิบายสิ่งต่างๆในวัดภูมินทร์ว่า

“น้องเคยเห็นพระที่นี่ยิ้มหรือเปล่า”

“มีครับ พระประธานที่นี่มีหน้ายิ้มอยู่ 2 ด้าน”

ว่าแล้วไกด์ตัวน้อยคนนั้นก็พาผมไปดูพระ(หน้า)ยิ้มทั้ง 2 ด้าน

     ในนั้นผมไม่รู้ว่าทิศไหนเป็นทิศไหน รู้แต่ว่าใบหน้า(พระพักตร์)ที่ดูแฝงรอยยิ้มนั้น หน้าหนึ่งอยู่ฝั่งองค์พระประธานจำลอง ส่วนอีกหน้าหนึ่งอยู่ฝั่งบุษบกทรงสวยงาม ซึ่งการสร้างรอยยิ้มแฝงไว้ในพระพักตร์ของพระพุทธรูปนั้นถือเป็นศิลปะแบบสุโขทัย เพราะฉะนั้นการที่ผมเห็นพระประธานวัดภูมินทร์ยิ้มจึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด

แต่ที่แปลกก็คือ คำถามที่ไกด์น้อยเอ่ยถามผมว่า

“แปลกนะที่พี่สังเกตเห็นพระยิ้ม ปกติคนมาเที่ยวที่นี่เขาไม่ค่อยสนใจสังเกตกันเท่าไหร่”

     งานนี้ผมได้แต่เพียงยิ้มตอบน้องเขาไป พร้อมเกิดความรู้สึกงงๆตัวเองอยู่เหมือนกันว่า บังเอิญเหลือบไปเห็นพระยิ้มได้ยังไง

แต่เมื่อมาคิดอีกที ที่เรามองเห็น“พระยิ้ม” คงเกิดจากอาการ“ใจยิ้ม”ของเรานั่นเอง


H O M E
Create Date :04 มิถุนายน 2551 Last Update :22 กรกฎาคม 2551 21:13:18 น. Counter : Pageviews. Comments :0