bloggang.com mainmenu search
โดย ชมพูนุท นำภา


หากยังจำได้...เมื่อครั้งที่มีการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติเรื่องรามเกียรติ์ ตอน พรหมาศ เมื่อปลายปี 2550 นั้น ได้สร้างความประทับใจให้แก่ผู้ชมทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่เป็นอย่างมาก

เพราะไม่เพียงความวิจิตรของเครื่องแต่งกายที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดสร้างขึ้นมาใหม่เท่านั้น แต่โขนใน ตอน พรหมาศนี้ ยังประกอบไปด้วยเรื่องราวอันน่าอัศจรรย์ใจ ฉากที่ยิ่งใหญ่ การร่ายรำที่อ่อนช้อยงดงาม ล้วนแต่จับใจผู้มีโอกาสชมการแสดงเมื่อครั้งโน้นเป็นอย่างยิ่ง

     เสียงชื่นชมซึ่งสะท้อนมาจากครั้งก่อนเปรียบดั่งน้ำทิพย์ชโลมหัวใจของทีมงาน คือ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และคณะกรรมการจัดสร้างเครื่องแต่งกายโขน-ละคร ให้เกิดกำลังกาย กำลังใจ พร้อมเสมอที่จะลุกขึ้นมาทำงานใหญ่อีกครั้งหนึ่ง

เป็นการทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่ออนุรักษ์ และสืบสาน "โขน" นาฏกรรมตามแบบประเพณีไทยโบราณ ซึ่งเป็นการแสดงชั้นสูงของคนไทย เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสชื่นชมการแสดงโขนชุดนี้ ในชื่อว่า การแสดงโขน ตอน พรหมาศ

คร่าวๆ สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยสัมผัสกับรามเกียรติ์ตอนนี้มาก่อน

ทศกัณฐ์ เจ้าพระนครลงกา ทราบข่าวสมเด็จพระเจ้าหลาน คือ แสงอาทิตย์และมังกรกัณฐ์เสียทีแก่ทัพพระราม จึงตรัสสั่งให้กาลสูรไปทูลอินทรชิตให้เร่งชุบศรพรหมาศ ก่อนยกไปราญรอนกับกองทัพพระลักษณม์

อินทรชิตแสร้งทำกลแปลงกายาเป็นองค์อมรินทรา ให้การุณราชแปลงเป็นคชาเอราวัณ พร้อมกับให้โยธาทั้งหลายกลายเพศเป็นเทพบุตรและเทพธิดา ออกมาระบำรำฟ้อนกลางเวหา

พระลักษณม์และพลวานรหลงกล จึงพิศเพลินด้วยความจำเริญตา เป็นทีให้อินทรชิตแผลงศรพรหมาศ ต้ององค์พระลักษณม์และพลวานรสลบไสลทั้งกองทัพ เว้นแต่หนุมานที่ไม่ต้องศรศิลป์อินทรชิต จึงขึ้นราญรอนกับอินทรชิต

หนุมานตีควาญท้ายคชาอาสัญ และง้างหักคอพญาเอราวัณได้สำเร็จ แต่ก็ต้องคันศรอินทรชิตฟาดสลบอยู่กลางสนามรบ ฝ่ายอินทรชิต และโยธาทั้งหลายก็เลิกทัพกลับพระนครลงกาด้วยความหรรษา

เมื่อความทราบถึงพระรามจึงรีบรุดมาช่วยเหลือ ครั้นเดินทางมาถึงสนามรบ ก็พบกับหนุมานซึ่งกลับฟื้นคืนมาเมื่อพระพายพัดต้องกาย หนุมานจึงทูลความทั้งหมดให้พระรามได้ทราบ เมื่อพระรามตรัสถามวิธีแก้ไขกับพิเภก พิเภกโหราจารย์จึงกราบทูลว่ามีสรรพยาที่จะแก้ไขให้กลับฟื้นคืนมาได้ อยู่ในภูผาชื่ออาวุธ


พระรามจึงใช้ให้หนุมานเดินทางไปเอาสรรพยามาแก้ไข กองทัพพระลักษณม์จึงกลับฟื้นคืนมา

รามเกียรติ์ตอนพรหมาศในครั้งนี้ มีหลายฉากที่คณะผู้ทำงานได้ศึกษาพัฒนาจากในครั้งก่อน

ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคที่นำเข้ามาใช้ เช่น การใช้สลิง การชักรอก การใช้ไฮดรอลิกส์ เทคนิคการนำเสนอคอช้างขาด รวมทั้งการใช้วงโยธวาทิต และวงปี่พาทย์ในการบรรเลง เป็นต้น

     สุดสาคร ชายเสม ซึ่งรับหน้าที่การจัดสร้างสิ่งของประกอบการแสดง เล่าว่า งานโขนเป็นงานที่ใหญ่และต้องใช้ช่างมหาศาล เช่น หัวโขนชิ้นหนึ่งยังต้องใช้ช่างเยอะมาก ทั้งช่างปั้น ช่างกลึง ช่างเขียน เป็นต้น ส่วนงานที่ตนเองต้องรับผิดชอบนั้น คือ สิ่งของประกอบฉาก ซึ่งต้องใช้ความรู้ทั้งทางด้านจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม เข้ามาร่วมกันทั้งหมด

"อย่างฉากท้องพระโรงของกรุงลงกา เราจำลองเหมือนกับท้องพระโรงในพระที่นั่งจักรีเลย มีเครื่องสูงมาประดับ ถ้าเห็นแล้วจะชอบ เพราะมันดูอลังการมาก และบนเพดานเราก็จะห้อยอัจกลับ น่าดูมากเพราะเราได้จำลองเหมือนกับการออกท้องพระโรงของกษัตริย์โบราณของไทยเรา จะต่างก็เพียงแท่นทองที่ทศกัณฐ์นั่งจะทำแบบวังหลวงไม่ได้ ต้องเป็นแท่นขาสิงห์ธรรมดา แล้วแท่นที่ประทับของกษัตริย์จะมีเศวตฉัตร แต่นี่ไม่มี" สุดสาครกล่าว แล้วขยายความถึงเครื่องสูงที่ใช้ประกอบฉาก

"เครื่องสูงในครั้งนี้ เราใช้เทคนิคทำให้เหมือนจริง คือ เครื่องสูงของเจ้านายจะใช้เส้นไหมทองปักหักทองขวาง ซึ่งจะมีความนูนออกมา ฉะนั้น เราก็ใช้เทคนิคใหม่ คือใช้วิธีสกรีนทองลงไป แล้วก็ใช้ไดร์เป่าพ่นจนกระทั่งนูนให้มีความเหมือนจริงมากที่สุด"

     นอกจากนี้ รูปแบบของคชสีห์และราชสีห์ สัตว์ในจินตนาการที่เป็นสัญลักษณ์แทนฝ่ายกลาโหมและมหาดไทย ที่จะวางตั้งไว้สองข้างของบัลลังก์ในท้องพระโรงกรุงลงกาในครั้งนี้ สุดสาครได้ใช้ความรู้เรื่องกายวิภาคเข้ามาปรับเปลี่ยนจากที่มีลักษณะแบน ให้กลายเป็นสัตว์ในจินตนาการที่มีกล้ามเนื้อ ทำให้งานดูร่วมสมัยขึ้นอีกด้วย


"ช่างไทยสมัยโบราณเขาจะไม่ใช้กายวิภาคมาก จะเป็นการจำมาเขียน แต่ว่าครั้งนี้เราใส่เข้าไป เพราะเป็นงานร่วมสมัย ถ้าเราศึกษาจริงๆ ก็จะเห็นว่าเป็นไทยด้วย และมีสิ่งใหม่ด้วย ไม่ได้เป็นแบบแผนอย่างเดียว อย่างช้างเมื่อเรามีความรู้เรื่องกายวิภาค ก็จะทำออกมาได้สัดส่วน เฉพาะหัวก็มีโหนกมีเหลี่ยม ดูแล้วเหมือนมีกระดูกอยู่ข้างใน"

ฉากที่ยิ่งใหญ่อลังการจะพลาดไม่ได้นั้น ผู้รับหน้าที่การจัดสร้างสิ่งของประกอบการแสดง บอกว่า คือฉากพระอินทร์ประทับบนหลังช้างเอราวัณ ซึ่งเป็นช้างเอราวัณที่ตัวใหญ่มาก สูงเกือบ 4 เมตร ทำด้วยเรซิ่น และเขียนสีปิดทอง

"ฉากนี้แหละเป็นฟินาเล่ที่ใหญ่ที่สุด เพราะอินทรชิตที่แปลงเป็นพระอินทร์อยู่บนหลังช้างเหาะมาในอากาศ แล้วช้างถูกหนุมานน้าวจนคอหักขาดออกมาเลย แล้วจะมีควันสีแดงพวยพุ่งออกมา ซึ่งมหัศจรรย์มาก นางฟ้าที่รำอยู่บนอากาศก็รำสวยมาก ไม่กลัวเลย ไม่เชื่อลองไปดูสิ" สุดสาครยิ้มบอกเล่าอย่างอารมณ์ดี

ที่เล่ามานี้เป็นเพียงคร่าวๆ หากดูกันจริงๆ จะมีรายละเอียดอีกมาก เพราะต้องใช้ช่างเยอะ เฉพาะทีมงานที่ทำสิ่งของประกอบฉากนี้ มีกว่า 20 คน ทุกคนเป็นช่างจริงๆ และงานเต็มมือ

"เอาเป็นว่างานฉากเราทุ่มเทมาก ใช้เวลามาก ใช้งบประมาณมาก รับรองได้ว่าประชาชนจะไม่ผิดหวังในการดูโขนครั้งนี้ เพราะส่วนมากคนที่จะดูสนุก คือคนที่อ่านมาแล้ว เพราะจะรู้อยู่แล้วว่าเนื้อเรื่องเป็นยังไง เวลามาดูก็มาดูท่ารำ เพลงเพราะไหม ทศกัณฐ์รำงามไหม จะไม่ได้ดูเอาเรื่อง เขาจะไปดูความอลังการของฉากทั้งนั้นแหละ" คำพูดทีเล่นทีจริง พร้อมรอยยิ้มที่ปรากฏบนใบหน้า

     จากนั้น สุดสาครก็แสดงความเห็นของตัวเอง ว่า "ฉากที่ตนเองชอบมากที่สุดคือฉากรำปะเลง ซึ่งสวยมาก เพราะเป็นชุดที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ รับสั่งให้ทำขึ้น คนรำจะสวมชฎา รำให้เกิดความเป็นสวัสดิมงคลแก่การแสดง ผู้แสดง และผู้ชม เป็นเรื่องของการปัดรังควาน"

"งานโขนในครั้งนี้ทุกฝ่ายทุ่มเทกันมาก ทั้งความตั้งใจและความประณีต ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่างานวัฒนธรรม ทำยังไงก็ไม่ได้กำไร เป็นงานที่ขาดทุน แต่สมเด็จฯเคยรับสั่งว่า ขาดทุนไม่เป็นไร กำไรเป็นของประชาชน เราจึงทำกันเต็มที่ อยากให้คนไทยหันมาสนใจกันบ้าง ถ้าถามคนที่เคยดูเมื่อปี 2550 ก็จะรู้ว่าประทับใจแค่ไหน" สุดสาครกล่าว

     นอกจากสิ่งของประกอบฉากแล้วในส่วนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพัสตราภรณ์ ที่ออกแบบควบคุมโดย วีรธรรม ตระกูลเงินไทย กลุ่มจันทร์โสมา บ้านท่าสว่าง ต.ท่าสว่าง อ.เมือง จ.สุรินทร์ ที่ใช้วิธีการปักสะดึงกรึงไหมตามแบบโบราณ ผลงานที่ออกมาล้วนงดงาม รวมทั้งการจัดสร้างถนิมพิมพาภรณ์ ขอบตัวละครเอก ที่สร้างโดยใช้เงินสลักดุน กะไหล่ทอง ประดับพลอย ดำเนินการโดยกาญจนาภิเษกวิทยาลัย หรือช่างทองหลวง การจัดสร้างหัวโขนและศิราภรณ์ ตามแบบโบราณ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังได้ผู้แสดงซึ่งเป็นศิลปินชั้นนำจากกองการสังคีต กรมศิลปากร สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป และวิทยาลัยนาฏศิลป กรุงเทพฯ มาแสดงในครั้งนี้อีกด้วย

เชื่อว่า...ใครที่ได้ชมโขนครั้งนี้จะรู้ว่าน่าภูมิใจแค่ไหนที่ได้เกิดมาเป็นคนไทย

และมีศิลปวัฒนธรรมที่งดงาม


     มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ และคณะกรรมการจัดสร้างเครื่องแต่งกายโขน-ละคร จัด "การแสดงโขน ชุดศึกพรหมาศ" วันที่ 19-21 มิถุนายน 2552 ที่หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

โดยการแสดงรอบปฐมทัศน์ วันที่ 19 มิถุนายน เวลา 19.30 น.

วันที่ 20-21 มิถุนายน เวลา 14.00 น. และเวลา 19.30 น. เป็นการแสดงรอบประชาชน

ระยะเวลาการแสดง 1 ชั่วโมง 45 นาที (โดยประมาณ)

สนใจสามารถซื้อบัตรชมการแสดงที่ Thai Ticket Major ราคา 200 บาท 400 บาท 600 บาท 800 บาท และพิเศษ 100 บาท สำหรับนักเรียน นักศึกษา

สำหรับวันที่ 19-20 มิถุนายน เวลา 19.30 น. เป็นการบรรเลงโดยวงปี่พาทย์ กรมศิลปากร ส่วนวันที่ 21 มิถุนายน เวลา 14.00 น. และเวลา 19.30 น. บรรเลงโดยวงดุริยางค์ทหารบก


ขอขอบคุณ
ที่มา :
มติชนออนไลน์ 5 มิถุนายน 2552 หน้า 20


H O M E
Create Date :05 มิถุนายน 2552 Last Update :5 มิถุนายน 2552 13:04:30 น. Counter : Pageviews. Comments :2