bloggang.com mainmenu search
มติชนออนไลน์ - วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11049


เพราะภาพหนึ่งภาพสามารถรื้อฟื้นความทรงจำได้เป็นอย่างดี สถานเอกอัครราชทูตอิตาลี ประจำประเทศไทย, คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จึงจัด "The Galileo Chini Exhibition @ Central Chidlom 100 ปี มรดกศิลป์ กาลิเลโอ คีนิ จิตรกรสองแผ่นดิน ผู้รังสรรค์งานศิลป์ ในพระที่นั่งอนันตสมาคม" เพื่อร่วมฉลอง 140 ปีความสัมพันธ์ทางการทูต และการแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมไทย-อิตาลี (พ.ศ.2411-2551) นำย้อนรอยประวัติศาสตร์ผ่านผลงานศิลปะชิ้นล้ำค่า ซึ่งประเมินมูลค่ามิได้ ของศิลปินเอกชาวอิตาเลียน "กาลิเลโอ คีนิ" (Galileo Chini) โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จไปทรงเปิดงาน

     จากการจัดนิทรรศการครั้งนี้ เนื่องจากเมื่อ พ.ศ.2453 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เชิญ "กาลิเลโอ คีนิ" ศิลปินเอกชาวอิตาเลียน ที่มีความสามารถในการสร้างสรรค์งานจิตรกรรม เข้ามารับงานตกแต่ง "พระที่นั่งอนันตสมาคม" ซึ่งศิลปินคนนี้ได้เข้ามาทำงาน รังสรรค์ผลงานต่างๆ ทั้งภาพถ่ายในพระราชพิธีต่างๆ ซึ่งในงานนี้จึงรวบรวมภาพถ่ายที่หายาก จากฝีมือของกาลิเลโอ คีนิ มารวมไว้ที่นี่

หนึ่งฤดี โลหผล หัวหน้าสาขาวิชาภาษาอิตาเลียน ภาควิชาภาษาตะวันตก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า นิทรรศการนี้จะเริ่มตั้งแต่บันทึกการเดินทางสู่สยามด้วยภาพถ่ายขาวดำ เบื้องหลังการวาดภาพจิตรกรรมแบบเฟรสโก้บนเพดานโดม พระที่นั่งอนันตสมาคม ผลงานจิตรกรรมที่สร้างสรรค์ขึ้นระหว่างที่อยู่ในประเทศไทย

     "ผลงานที่ศิลปินผู้นี้ทำขึ้นมีทั้งการออกแบบฉากมหาอุปรากร "ตูรันดอท" (Turandot) ของคีตกวีเอก "ปุชชินี่" (Puccini) ซึ่งกลายเป็นมรดกศิลป์อันล้ำค่า ภาพศึกษาฉลองพระองค์รัชกาลที่ 6 และภาพศึกษาคทาจอมทัพรัชกาลที่ 6 และอีกหลายผลงานที่ไม่เคยจัดแสดงที่ใดมาก่อน เพื่อเป็นการย้อนเวลาไปในอดีตอีกครั้งหนึ่ง"



นิทรรศการนี้จะมีถึงวันที่ 6 กรกฎาคม เวลา 10.30-21.30 น. ที่ ดิ อีเว้นท์ฮอลล์ ชั้น 3 ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลชิดลม

หน้า 25



100 ปี มรดกศิลป์ กาลิเลโอ คีนิ

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 28 พฤษภาคม 2551 19:27 น.


เพื่อร่วมฉลอง 140 ปีความสัมพันธ์ทางการทูต และการแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรม ไทย- อิตาลี (ค.ศ.1868 -2008) บจก.สรรพสินค้าเซ็นทรัล, สถานเอกอัครราชทูตอิตาลี ประจำประเทศไทย, คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ, กระทรวงการต่างประเทศ, กระทรวงวัฒนธรรม, ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด, บจก.สิงห์ คอร์ปอเรชั่น และ คานาดอย กรุ๊ป

     จะนำเราย้อนรอยประวัติศาสตร์ ผ่านผลงานศิลปะซึ่งประเมินมูลค่ามิได้ของ กาลิเลโอ คีนิ (Galileo Chini) จิตรกรเอกชาวอิตาเลียน ที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัย จากล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ในการเขียนภาพจิตรกรรมตกแต่งภายใน “พระที่นั่งอนันตสมาคม” พระราชวังดุสิต ผ่านนิทรรศการ The Galileo Chini Exhibition @ Central Chidlom 100 ปี มรดกศิลป์ กาลิเลโอ คีนิ จิตรกรสองแผ่นดิน ผู้รังสรรค์งานศิลป์ ในพระที่นั่งอนันตสมาคม โดยนิทรรศการจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 6 มิถุนายน-6 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 ณ ดิ อีเว้นท์ ฮอลล์ ชั้น 3 ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลชิดลม

ตลอดระยะเวลาที่พำนักอยู่ในประเทศไทยในช่วงปี พ.ศ.2454 ถึง พ.ศ.2456 กาลิเลโอ คีนิ ได้รับมอบหมายให้รังสรรค์งานศิลปะมากมาย เพื่อใช้ในพระราชวังและอาคารต่างๆ ที่ทางราชสำนักสยามได้จัดสร้างขึ้น และยังได้มีโอกาสรังสรรค์งานจิตรกรรมที่โดดเด่นหลายชิ้น ซึ่งรวมถึงการวาดภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบรมวงศานุวงศ์ ภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในท้องถิ่น รวมทั้งภาพภูมิประเทศและทิวทัศน์ของสยามประเทศ

     แต่เมื่อใดที่เอ่ยถึงจิตรกรผู้นี้สิ่งแรกที่คนในแวดวงศิลปะทั่วโลกนึกถึงก็คือ ความงดงามของจิตรกรรมปูนเปียก (Fresco) บริเวณเพดานโดมท้องพระโรง พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งเป็นผลงานที่เป็นมาสเตอร์พีซในชีวิตศิลปินของเขา

     ผศ.ดร.หนึ่งฤดี โลหผล หัวหน้าสาขาวิชาภาษาอิตาเลียน ภาควิชาภาษาตะวันตก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ผู้ศึกษาค้นคว้าชีวิตและผลงานของจิตรกรเอกมาอย่างยาวนาน กล่าวว่า

     สำหรับประเทศอิตาลีแล้ว กาลิเลโอ คีนิ นับเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงในยุคปลายศตวรรษที่ 19 และศตวรรษที่ 20 หากเทียบกับศิลปินในยุคนั้นแล้ว คีนิเป็นคนที่ไม่ปิดกั้นตัวเองอยู่ในกรอบ แต่เปิดกว้างต่อการสร้างงานศิลปะหลากหลายรูปแบบ นอกจากภาพเขียนบนผืนผ้าใบที่นิยมสร้างสรรค์กันในเวลานั้น ภาพเขียนแบบฉากอุปรากร ตลอดจนจิตรกรรมฝาผนังประดับสถาปัตยกรรมร่วมสมัย เขายังได้สร้างโรงเซรามิกขึ้น เพื่อสร้างสรรค์งานศิลปะแนวอุตสาหกรรมประเภท กระเบื้องดินเผา เครื่องเคลือบดินเผา ที่ตกทอดกันมาในตระกูลคีนิจนถึงปัจจุบันนี้

ในปีสุดท้ายของรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.5 ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เรียก กาลิเลโอ คีนิ เข้ามาเขียนภาพจิตรกรรมประดับท้องพระโรง พระที่นั่งอนันตสมาคม และคินีกก็ได้เดินทางออกจากอิตาลีเข้ามาถึงประเทศสยามในเดือนกันยายน พ.ศ. 2454 อันตรงกับรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

     ช่วงเวลาแรกคีนิได้ใช้เวลาในการศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองสยามในมิติที่ช่วยให้เขาได้เห็น ได้รู้จัก และเข้าใจปัจจัยต่างๆ ที่มีประโยชน์ต่อการออกแบบภาพจิตรกรรมประดับพระที่นั่งอนันตสมาคม

     ซึ่งบรรดาภาพถ่าย ภาพร่างแบบ ภาพจิตรกรรม ที่เขียนเพื่อศึกษาและเตรียมงานจำนวนมากมายหลายชิ้นในเวลานั้นของเขาที่ยังมีหลงเหลืออยู่ ส่วนหนึ่งจะถูกนำมาจัดแสดงในนิทรรศการที่จะมีขึ้นด้วย เพื่อให้เราได้เห็นภาพของเมืองสยามเมื่อกว่า 100 ปีก่อน ซึ่งในวันนี้ได้กลายเป็นประวัติศาสตร์ไปแล้ว อีกทั้งภาพจากปลายพู่กันที่บันทึกบรรยากาศที่สงบนิ่งและมีสีสันของเมืองสยาม เช่น ภาพบรรยากาศในวัด ภาพบ้านเรือนริมฝั่งน้ำ และภาพวันตรุษจีนในเมืองพระนคร

     โดยก่อนหน้านี้ กาลิเลโอ คีนิ ได้นำภาพเขียนจากเมืองสยยามเหล่านั้นติดตัวกลับไปยังบ้านเกิดของเขาด้วย และได้เคยปรากฏต่อสายตามหาชนในยุโรป ผ่านห้องแสดงงานศิลปะนานาชาติในงานเวนิสเบียนนาเล (Venice Biennale)

     ในการจัดนิทรรศการ The Galileo Chini Exhibition @ Central Chidlom 100 ปี มรดกศิลป์ กาลิเลโอ คีนิ ผศ.ดร.หนึ่งฤดี กล่าวว่าได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจาก มิสเปาลา โปลีโดริ คีนิ(Paola Polidori Chini) ทายาทคนเดียวของกาลิเลโอ คีนิ และ มิสเตอร์วิเยริ คีนิ(Vieri Chini) ผู้ที่ยังสืบสานงานเซรามิกของตระกูล

     นอกจากนี้ มิสเปาลา คีนิ ผู้ดูแลมรดกศิลป์ของผู้เป็นปู่ จะมอบภาพพระบรมสาทิสลักษณ์รัชกาลที่ 1 ที่กาลิเลโอ คีนิ ได้เขียนขึ้นในปี พ.ศ.2455 เพื่อเตรียมการเขียนภาพจิตรกรรม ณ พระที่นั่งอนันตสมาคมให้เป็นสมบัติของประเทศไทยด้วย

     หลังจากที่ก่อนหน้านี้เธอได้เคยมอบสมบัติหลายชิ้นให้กับประเทศไทย ด้วยเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยมากกว่า อาทิ ภาพถ่ายประวัติศาสตร์ทั้งหมดที่คุณปู่ของเธอ ได้นำติดตัวไปอิตาลี โดยเธอขอเก็บไว้เพียงภาพถ่ายของคุณปู่เพียงภาพเดียว ขณะที่ภาพพระบรมสาทิสลักษณ์รัชกาลที่ 6 พิมพ์เขียว ต้นฉบับพระที่นั่งอนันตสมาคม จำนวน 9 ชิ้น เธอได้ทูลเกล้าฯ ถวายแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เมื่อปี พ.ศ. 2547 และในการจัดนิทรรศการครั้งนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงพระราชทานพระราชานุญาตให้นำมาจัดแสดงพร้อมกันด้วย




ที่ผ่านมา ในบ้านเราเคยจัดแสดงผลงานของคีนิมาหลายครั้ง แต่จะเน้นไปที่ผลงานเพียงบางด้าน แต่ครั้งนี้ จะเป็นนิทรรศการที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เพราะเป็นการรวบรวมผลงานของศิลปินท่านนี้ไว้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์แบบ


H O M E



Create Date :22 มิถุนายน 2551 Last Update :22 กรกฎาคม 2551 21:10:33 น. Counter : Pageviews. Comments :0