bloggang.com mainmenu search

พระพุทธมณเฑียร พระพุทธรัตนสถานอยู่ซ้ายมือ


     พระมหามณเฑียร หมายถึงที่ประทับของพระมหากษัตริย์ ที่ใช้เป็นที่บรรทมและเสด็จออกว่าราชการ

หมู่พระมหามณเฑียรในพระบรมมหาราชวัง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๓๒๕ เพื่อทรงใช้เป็นพระราชพิธีมณฑลในพระราชพิธีปราบดาภิเษก และประทับอยู่ตลอดรัชกาล และใช้เป็นพระราชพิธีมณฑลสำหรับประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ สืบเนื่องกันมาทุกรัชกาลในราชวงศ์จักรี

     พระมหามณเฑียรนี้สร้างเป็นพระที่นั่งหมู่ หันหน้าไปทางทิศเหนือ สร้างเป็นแนวตรง และแนวขวางต่อเนื่องกัน โดยมีมุขแล่นถึงกันโดยตลอด ประกอบด้วยหมู่พระวิมานที่บรรทม และท้องพระโรงสำหรับเสด็จออก มีท้องพระโรงหลัง พระปรัศว์ซ้าย พระปรัศว์ขวา หมู่พระมหามณเฑียรนี้สร้างเป็นแบบสถาปัตยกรรมไทย มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงษ์ ตั้งอยู่ต่อเนื่องในเขตพระราชฐานชั้นในและชั้นกลาง ประกอบด้วยพระที่นั่งและหอใหญ่น้อย จำนวน ๗ องค์ คือ


พระพุทธมณเฑียร และพระที่นั่งจักพรรดิพิมาน ถ่ายจากพระที่นั่งภวดลทัศไนย


1. พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เป็นพระที่นั่งองค์ประธานของพระที่นั่งในหมู่พระมหามณเฑียร ก่อสร้างในรูปลักษณะของสถาปัตยกรรมไทยองค์พระที่นั่งก่ออิฐถือปูน สร้างเป็น ๓ องค์แฝด ภายนอกเป็นระเบียงรายล้อมด้วยเสานางจรัลอยู่ทุกด้าน เป็นพระวิมานที่บรรทมของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงเสด็จประทับอยู่เป็นประจำ

2. พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เป็นพระที่นั่งต่อกับท้องพระโรงหน้าพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ทางทิศเหนือ ทรงใช้เป็นที่ประทับทรงพระสำราญหรือให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และใช้เป็นพระราชพิธีมณฑลในการประกอบพิธีบรมราชาภิเษกจนถึงรัชกาลปัจจุบัน พระที่นั่งไพศาลทักษิณเป็นที่ประดิษฐานของปูชนียวัตถุสำคัญ ๓ อย่าง คือ

1) พระสยามเทวาธิราช ประดิษฐานอยู่ในพระวิมานตอนกลางองค์พระที่นั่ง ตรงพระทวารเทวราชมเหศวร

2) พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ เป็นที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงประทับรับน้ำอภิเษกในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ประดิษฐานอยู่เกือบสุดองค์พระที่นั่ง ด้านทิศตะวันออก

3) พระที่นั่งภัทรบิฐ เป็นที่ประทับรับเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ เครื่องบรมราชูปโภคอันเป็นโบราณมงคล รับพระแสงราชศาสตราวุธ และพระแสงอัษฎาวุธในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ประดิษฐานอยู่ตอนหน้าสุดองค์พระที่นั่ง ด้านทิศตะวันตก

3. พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมาน อยู่ติดกับพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ทางทิศเหนือ เป็นท้องพระโรงสำหรับเสด็จออกฝ่ายหน้า เช่น เสด็จออกขุนนาง ออกมหาสมาคม ออกทรงบำเพ็ญพระราชกุลต่าง ๆ พระที่นั่งองค์นี้ใช้เป็นพระราชพิธีมณฑลในวันเฉลิมพระชนม์พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ มีพระราชบัลลังก์ตั้งอยู่ ๒ องค์ คือ

1) พระที่นั่งบุษบกมาลามหาจักรพรรดิพิมาน

2) พระแท่นมหาเศวตฉัตร



4. พระที่นั่งเทพสถานพิลาส พระปรัศว์ขวา เป็นพระที่นั่งอยู่ทางขวาของพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในเขตพระราชฐานชั้นใน ใช้เป็นที่ประทับของฝ่ายใน

5. พระที่นั่งเทพอาสน์พิไล พระปรัศว์ซ้าย เป็นพระที่นั่งอยู่ทางซ้ายของพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในเขตพระราชฐานชั้นใน ใช้เป็นที่ประทับของฝ่ายใน

6. หอพระสุราลัยพิมาน อยู่ทางทิศตะวันออกของพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เป็นที่ประดิษฐานปูชนียวัตถุ เช่น พระบรมสารีริกธาตุ พระมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วมรกตองค์น้อย พระชัยเนาวโลหะ พระชัยวัฒนประจำรัชกาล และพระพุทธปฏิมากรสำคัญอื่น ๆ

7. หอพระธาตุมณเฑียร อยู่ทางทิศตะวันตกของพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ก่อสร้างและตกแต่งเหมือนกับหอพระสุราลัยพิมานทุกประการ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ , ๒, ๓

     ระหว่างหอพระธาตุมณเฑียรกับองค์พระที่นั่งไพศาลทักษิณ มีมุขกระสันต่อเนื่องกัน ผนังด้านเหนือเจาะเป็นช่องพระบัญชรเปิดออกสู่ลานข้างพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ด้านทิศตะวันตก เรียกว่า "สีหบัญชร" ใช้เป็นที่พระมหากษัตริย์เสด็จออกให้เข้าเฝ้าเป็นการฉุกเฉินในเวลาวิกาล





     พื้นที่ทางตะวันออกของู่พระมหามณเฑียร อันเป็นที่ตั้งพระที่นั่งบรมพิมานและ พระที่นั่งใหญ่น้อยในสวนศิวาลัยนั้น เคยเป็นสวนสำหรับประพาสสำราญพระอิริยาบถมาแต่ ครั้งรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 2 เมื่อขยายเขตพระราชวังทางด้านทิศใต้แล้วมีที่ว่าง จึงโปรด เกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งทอง 3 หลัง สร้างตึกแบบยุโรปและเก๋งจีนอีกเป็นจำนวนมาก

สวนดังกล่าวเรียกว่า "สวนขวา" เพราะอยู่ทางขวาของพระมหามณเฑียร ต่อมาในรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้รื้อสิ่งก่อสร้างในสวนไปปลูกสร้างและประดับประดาในพระอารามต่าง ๆ เพื่อ อุทิศพระราชกุศลถวายแด่สมเด็จพระบรมชนกนาถ รวมทั้งพระที่นั่งใหญ่ 3 องค์ ก็ทรงมี พระราชดำริจะรื้อไปสร้างเป็นพระอาราม แต่ไม่ดำเนินการ ครั้นถึงรัชกาลที่ 4 ทรงพระราช ดำริว่าถ้ารื้อพระที่นั่งดังกล่าวไปสร้างวัด

     พระราชมณเฑียรสถานที่สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จะไม่เหลือปรากฏในพระบรมมหาราชวัง จึงโปรดเกล้าฯ ให้ ทำการบูรณะแล้วสถาปนาเป็น "พระพุทธมหามณเฑียร" พร้อมทั้งโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง พระพุทธรัตนสถานขึ้นทางเบื้องหน้าพระพุทธมหามณเฑียรนั้น แล้วก่อกำแพงแก้วกั้นยก เป็นพุทธเจดีย์สถานอารามภายในพระบรมมหาราชวัง ขนานนามว่า "พระพุทธนิเสศน์" และ สถาปนาเก๋งโรงละครทางด้านทิศใต้ของพระพุทธมหามณเฑียร เป็นพระที่นั่งทรงธรรม สำหรับมีเทศน์ในวัง

     ส่วนเนื้อที่ในสวนขวาที่เหลืออยู่นั้น โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราช มณเฑียรขึ้นหมู่หนึ่ง พระรชทานนามว่า "พระอภิเนาวนิเวศน์" ประกอบด้วยพระที่นั่งและ หอต่าง ๆ รวม 10 องค์ด้วยกัน แล้วเสด็จมาประทับ ณ พระอภิเนาวนิเวศน์นี้จนตลอดรัชกาล ครั้นสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งทรงผนวช สำหรับเสด็จประทับในคราว เสด็จออกผนวชทางด้านทิศเหนือของพระพุทธมณเฑียร ต่อมาพระพุทธมณเฑียรและพระ อภิเนาวนิเวศน์ทรุดโทรมมากจนเหลือที่จะรักษาไว้ได้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อลงแล้วปรับที่บริเวณนั้ทำเป็นสวน ส่วนพระที่นั่งทรงธรรม ก็โปรดเกล้าฯ ให้รื้อไปปลูกไว้ ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม

ภายในสวนศิวาลัยปัจจุบันนี้ มีพระพุทธรัตนสถานอยู่ตอนกลาง และยังมีพระที่นั่ง น้อยใหญ่อยู่ในบริเวณสวนอีก 3 องค์


     พระที่นั่งบรมพิมาน อยู่ทางด้านเหนือของสวนศิวาลัย เดิมเป็นที่ตั้งคลังสรรพาวุธ เรียกว่าโรงแสง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้รื้อสร้างเป็น พระที่นั่ง 2 ชั้น หลังคารูปโค้งมุงกระเบื้องหินชนวนแบบยุโรป พระราชทานนามว่าพระที่นั่ง ภานุมาศจำรูญ เพื่อให้เป็นที่ประทับของพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ซึ่งสวรรคตเสียก่อน

แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะทรงดำรง พระยศเป็นสยามมกุฎราชกุมารต่อจากเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ก็ไม่ได้เสด็จประทับ ณ พระที่นั่ง องค์นี้ แต่เมื่อเสด็จขึ้นทรงราชย์แล้ว จึงได้เสด็จมาประทับเป็นครั้งคราว แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ เปลี่ยนชื่อเป็นพระที่นั่งบรมพิมานตามชื่อพระวิมานที่ประทับในพระอภิเนาวนิเวศน์ของสมเด็จ พระบรมอัยกาธิราชที่รื้อไปแล้ว

     เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ได้เสด็จมาประทับ ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ก่อนการพระราชพิธีบรมราชภิเษกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันท มหิดล เมื่อคราวเสด็จนิวัติพระนครใน พ.ศ. 2489 ก็เสด็จประทับ ณ พระที่นั่งบรมพิมาน พร้อมด้วยสมเด็จพระอนุชาธิราชและสมเด็จพระราชชนนีและเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งองค์นี้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะ และต่อมามุขทาง ด้านใต้เพื่อจัดเป็นที่พักรับรองพระราชอาคันตุกะชั้นประมุขและพระราชวงศ์ชั้นสูงของ นานาประเทศ และให้สร้างเรือนรับรองทรงไทยขึ้นทางด้านหลังพระที่นั่งอีก 2 หลัง สำหรับ คณะผู้ติดตาม



     พระที่นั่งมหิศรปราสาท ตั้งอยู่บนกำแพงแก้วกั้นเขตระหว่างพระราชฐานชั้นในและ สวนศิวาลัย เป็นพระที่นั่งขนาดเล็กชั้นเดียวยกพื้นสูง มีมุข 4 ด้าน มุขด้านเหนือด้านใต้เป็น มุขยาว ส่วนด้านตะวันออกและตะวันตกเป็นมุขสั้น ยอดปราสาทเป็นทรงมณฑปซ้อน 7 ชั้น ที่มุมยอดปราสาทมีรูปจำหลักครุฑยุดนาครองรับ หลังคาเป็นชั้นลดสองชั้นมุงกระเบื้อง เคลือบสี มีช่อฟ้า ใบระกาและหางหงส์ซึ่งเป็นแบบนาคเบือน หน้าบันตอนบนจำหลักเป็นรูป ครุฑยุคนาค ตอนล่างเป็นรูปคชสารยืนแท่นอยู่ในพลับพลาตรีมุข มีลายกนกก้านขดล้อมซุ่ม พระทวารและพระบัญชรเป็นซุ้มยอด มีอัฒจันทร์ทางด้านตะวันตกเพียงด้านเดียว

พระที่นั่งมหิศรปราสาทนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง ขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบรมชนกนาถ และ อัญเชิญพระบรมอัฐิพระบรมชนกนาถมาประดิษฐานไว้ด้วย แต่ปัจจุบันพระบรมอัฐินั้น ประดิษฐานอยู่ ณ หอพระธาตุมณเฑียรตามเดิม ส่วนพระที่นั่งมหิศรปราสาท เป็นที่ ประดิษฐานพระพุทธรูปต่าง ๆ



     พระที่นั่งศิลาลัยมหาปราสาท ตั้งอยู่ตรงมุมสวนศิวาลัยด้านตะวันออกเฉียงใต้ในเขต พระราชฐานชั้นใน เป็นปราสาท 5 ยอด ยอดตรงกลางเป็นองค์ประธานสร้างอย่างยอดปราสาท ทั่วไป มียอดเล็กตั้งอยู่บนสันหลังคารายล้อมทั้ง 4 ด้าน ยอดปราสาทเหล่านี้เป็นยอดทรง มณฑปซ้อน 7 ชั้น ตรงมุมยอดทั้งสี่มีรูปครุฑจำหลักรองรับ หลังคามุงกระเบื้องเคลือบสี หลังคามุขหน้าและมุขหลังซึ่งเป็นมุขยาวและมีชานโดยรอบนั้น เป็นหลังคาชั้นลด 4 ชั้น ส่วน หลังคามุขข้างซึ่งเป็นมุขสั้นและมีชานด้านเดียวทางทิศเหนือนั้นเป็นหลังคาลด 2 ชั้น หน้าบัน จำหลักรูปนารายณ์ทรงครุฑ มีลายกนกเทพพนมล้อมปิดทองประดับกระจก องค์พระที่นั่งเป็น อาคารสองชั้น มีอัฒจันทร์ขึ้นลงทางด้านหน้าและด้านหลัง ซุ้มพระทวารและพระบัญชรเป็น ซุ้มบันแถลง



     พระที่นั่งศิลาลัยมหาปราสาทนี้สร้างขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว โดยโปรดเกล้าฯ ให้รื้อพระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ ในหมู่พระอภิเนาวนิเวศน์ ซึ่งใน สมัยรัชกาลที่ 4 ใช้เป็นที่จัดแสดงศิลปโบราณวัตถุ และสรรพสิ่งที่นานาประเทศทูลเกล้าฯ ถวายเป็นทางพระราชไมตรี แล้วสร้างพระที่นั่งศิลาลัยมหาปราสาทขึ้นแทนที่เพื่อประดิษฐาน พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 4 รัชกาล ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้หล่อขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2414 แต่ยังไม่มีสถานที่ประดิษฐานให้สมพระเกียรติยศ

ส่วนวัตถุที่จัดแสดงอยู่ในพระที่นั่ง องค์เดิม โปรดเกล้าฯ ให้จัดไว้ ณ ศาลาสหทัยสมาคม

     ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญ พระบรมรูปดังกล่าวไปประดิษฐาน ณ ปราสาทพระเทพบิดร ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมทั้งโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีถวายบังคมพระบรมรูปในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2461 ซึ่งได้ถือเป็นประเพณีปฏิบัติสืบต่อมา พระที่นั่งศิลาลัยมหาปราสาทจึงว่างลงจนถึง ปัจจุบัน

พระที่นั่งสีตลาภิรมย์
ตั้งอยู่ริมสนามด้านเหนือพระพุทธรัตนสถาน เบื้องหลังพระที่นั่งบรมพิมาน เป็น พระที่นั่งโถงขนาดเล็ก สร้างด้วยไม้ หลังคามุงกระเบื้องเคลือบสี มีช่อฟ้าใบระกา หางหงส์ ลงรักปิดทอง หน้าบันจำหลักลายเป็นพระบรมราชสัญญลักษณ์รัชกาลที่ 6 ล้อมด้วยกนกเปลว เสาที่มุมทั้งสี่เป็นเสากลมมุมละ 3 เสา ตั้งเอียงสอบเข้าข้างใน ระหว่างเสาทั้งสามในแต่ละมุม มีลูกกรงเตี้ย ๆ พื้นพระที่นั่งเป็นไม้ยกสูงจากพื้นดินเล็กน้อย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า เจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นที่ประทับพักผ่อนพระอิริยบถ และเป็นที่ประทับในโอกาส ต่าง ๆ เช่น ประทับเสวยในโอกาสที่พระราชทานเลี้ยงกลางแจ้ง ปัจจุบันจัดเป็นที่ประทับใน งานพระราชอุทยานสโมสรเนื่องในการเฉลิมพระชนมพรรษา

พระพุทธรัตนสถาน
ตั้งอยู่ในสวนศิวาลัยตอนกลาง เป็นพระอุโบสถสร้างด้วยศิลาสีเทา หลังคาลด 2 ชั้น มุงกระเบื้องสีเขียว มีช่อฟ้าใบระกา หางหงส์ ด้านหน้ามีมุขกระสันชั้นลด รอบอาคารเป็น ระเบียงรายล้อมด้วยเสารายซุ้มพระทวารและพระบัญชร เป็นซุ้มยอดทรงมงกุฏ

     พระพุทธรัตนสถาน สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 4 เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบุษยรัตน์ ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาจากนครจำปาศักดิ์ และ ใช้เป็นที่ประกอบพระราชกิจในพระศาสนาในบางโอกาส รวมทั้งพระราชพิธีทรงผนวช


ขอขอบคุณ
ที่มา :
wikipedia
The Tropics

H O M E
Create Date :30 มิถุนายน 2551 Last Update :22 กรกฎาคม 2551 21:06:09 น. Counter : Pageviews. Comments :2