bloggang.com mainmenu search
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือ วัดโพธิ์ เป็นวัดสำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย จัดเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร และเป็นวัดประจำรัชกาลในรัชกาลที่ 1 ทั้งยังเปรียบเสมือนเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศด้วย เนื่องจากเป็นที่รวมจารึกสรรพวิชาหลายแขนง

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหารถือได้ว่าเป็นวัดที่มีพระเจดีย์มากที่สุดในประเทศไทย โดยมีจำนวนประมาณ 99 องค์ [1] โดยมีพระเจดีย์ที่สำคัญ คือ พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล ซึ่งเป็นพระมหาเจดีย์ประจำพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว







วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 17 ฉบับที่ 6325 ข่าวสดรายวัน

วัดโพธิ์-มรดกโลก

คอลัมน์ที่ 13




พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือวัดโพธิ์ พระอารามหลวงประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อพ.ศ. 2373

และโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมเลือกสรรตำรับตำราต่างๆ ชึ่งสมควรจะเล่าเรียนเป็นชั้นสามัญศึกษามาตรวจตราแก้ไข

ใช้ของเดิมบ้าง หรือประชุมปราชญ์ผู้รู้หลักในวิชานั้นๆ ให้แต่งขึ้นใหม่บ้าง

แล้วโปรดเกล้าฯให้จารึกองค์ความรู้ลงบนแผ่นหินอ่อนจำนวน 1,360 แผ่น ประดับไว้บริเวณผนังพระอุโบสถ พระวิหาร ศาลาราย วิหารคดภายในวัดพระเชตุพนฯ

จารึกทั้งหมดประกอบด้วย 8 หมวดวิชา ได้แก่ หมวดประวัติการสร้างวัด หมวดพระพุทธศาสนา หมวดตำรายาที่จารึกจากสมุฏฐานโรคและยารักษาโรค หมวดอนามัยที่จารึกภาพฤาษีดัดตน หมวดวรรณคดี หมวดสุภาษิต หมวดทำเนียบหัวเมืองขึ้นของกรุงสยาม และหมวดประเพณีที่จารึกเกี่ยวกับรื้วขบวนแห่กฐินพยุหยาตราทางสถลมารค

รวมทั้งโปรดเกล้าฯ ให้เขียนรูปลงในศิลาจารึก และปั้นรูปฤาษีดัดตนในท่าต่างๆ จำนวน 80 ท่า สำหรับอธิบายประกอบตำรับตำรา

ศิลาจารึกทั้งหมดนี้จึงเป็นความรู้ด้านศาสนา วิชาการวรรณดี โบราณคดี และอีกหลายสาขา ซึ่งทรงมุ่งหวังให้ยั่งยืนและเผยแพร่ให้ประชาชนศึกษาได้อย่างเสรี เป็นแหล่งเล่าเรียนวิชาความรู้ของมหาชน ไม่เลือกชั้นบรรดาศักดิ์

เปรียบเสมือนมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย

เพิ่มเติมจากการเล่าเรียนวิชาสามัญศึกษาที่มีอยู่ตามวัดทั่วไป

เวลาผ่านไป 178 ปี วัดพระเชตุพนฯก็ยังคงเป็นแหล่งเรียนรู้สรรพวิทยา

เห็นได้จากความรู้เกี่ยวกับโยคะศาสตร์และตำราการนวดแผนโบราณวัดโพธิ์ เป็นที่รู้จักแพร่หลายออกไปทั่วโลกในปัจจุบัน

ด้วยเหตุนี้คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลก จึงเสนอคณะกรรมการองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization) หรือยูเนสโก (UNESCO) พิจารณาขึ้นทะเบียนจารึกวัดพระเชตุพนฯ เป็นมรดกความทรงจำของโลกในปีพ.ศ. 2552

เนื่องจากองค์ความรู้ของจารึกดังกล่าวมีความสำคัญระดับสากล และมีวิชาหลากหลายที่เป็นสากลด้วย โดยเฉพาะเรื่องการแพทย์แผนโบราณ การบริหารกายเพื่อบำบัดโรค เช่น ตำราแพทย์ วิชาฤาษีดัดตน เป็นต้น

ที่ประชุมใหญ่ยูเนสโก ที่ประเทศออสเตรเลียเมื่อเร็วๆ นี้มีมติรับรองศิลาจารึกจดหมายเหตุวัดพระเชตุพนฯ ขึ้นทะเบียนเป็นเอกสารมรดกความทรงจำของโลกในส่วนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ทั้งนี้คณะกรรมการว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลก จะนำเอกสารการที่ยูเนสโกประกาศยกย่องศิลาจารึกวัดโพธิ์เป็นมรดกความทรงจำของโลกในส่วนภูมิภาค ถวายแด่พระธรรมปัญญาบดี เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ในวันที่ 31 มี.ค.นี้

อันตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3

ดังนั้นวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร จะจัดงานบำเพ็ญพระราชกุศลเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระองค์ท่านที่โปรดเกล้าฯ ให้มีการรวบรวมองค์ความรู้จากปราชญ์ของไทยนำมาจารึกสรรพวิทยาการต่างๆ ในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร

เยาวชนและประชาชนชาวไทยจึงมีโอกาสจะภาคภูมิใจในภูมิปัญญาที่ตกทอดมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษว่า "สยามประเทศ" ก็เป็นแหล่งที่ก่อกำเนิดความเจริญด้านศิลปวิทยาการสาขาต่างๆ ไม่แพ้ชนชาติใดในโลก

จึงควรหวงแหนและร่วมกันอนุรักษ์ ให้เป็นความรู้และมรดกของโลกให้คงอยู่สืบต่อไป

หน้า 1



     วัดโพธิ์เองก็มีการจัดงานสงกรานต์ขึ้นในชื่อ "งานประเพณีนมัสการพระพุทธไสยาส (พระนอน)" ซึ่งจะมีการจัดงานในวันที่ 12-16 เมษายน โดยประชาชนสามารถมาสรงน้ำพระพุทธไสยาสจำลอง ปิดทองและสรงน้ำพระพุทธรูปประจำวันบริเวณหน้าพระวิหารพระนอน รดน้ำต้นโพธิ์ (ต้นอัสสัตถะพฤกษ์ หรือพระศรีมหาโพธิ์) ด้านทิศใต้พระวิหารพระนอน บำเพ็ญกุศลถวายสังฆทาน-บังสกุลรวมญาติ อุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษ ณ ศาลาพงศา ชำนาญกิจ ด้านทิศใต้พระอุโบสถ ก่อพระเจดีย์ทราย บริเวณพระมหาเจดีย์ 4 รัชกาล (ไหว้พระศรีสรรเพ็ชญ ในพระมหาเจดีย์ รัชกาลที่ 1 นมัสการพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ในพระอาราม และสรงน้ำพระสงฆ์ ณ พระวิหารพระพุทธไสยาส (วันที่ 13 และ 15 เม.ย. เวลา 17.00 น.)

และนอกจากจะได้กราบไหว้สิ่งมงคลทั้งหลายแล้ว ก็ยังมีร้านค้าต่างๆ มาออกร้านจำหน่ายสินค้าอย่างร้านอาหารไทย ขนมไทย และเครื่องดื่มสมุนไพร ศิลปหัตถกรรมไทย ชมการสาธิตแกะสลักผัก ผลไม้ เพ้นท์สี ทำบายศรี ออกร้านจำหน่ายสมุนไพร และของที่ระลึก บริเวณวิหารคดกรมหลวงชุมพร

     และยังมีจุดให้ความรู้อย่างนิทรรศการประวัติวัดพระเชตุพน ประวัติประเพณีสงกรานต์ (ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ) หน้าพระวิหารพระนอน ชมศิลปวัฒนธรรมไทย ประเพณีไทย และภูมิปัญญาไทย ชมสถาปัตยกรรมไทยในพระอาราม พระอุโบสถ พระวิหารพระพุทธไสยาสที่สวยงามที่สุดในประเทศไทย พระมหาเจดีย์ 4 รัชกาล พระมณฑป ฯลฯ และหากใครเดินจนเมื่อยก็อย่าลืมแวะนวดแผนโบราณ ณ ศาลาหมอนวดแพทย์แผนโบราณ และที่สำคัญ ไม่ควรพลาดชมจารึกวัดโพธิ์ ที่เพิ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกจากยูเนสโกเมื่อเร็วๆ นี้ด้วย

"ที่มาจาก ชุ่มฉ่ำรับลมร้อนกับไฮไลท์สงกรานต์ทั่วไทย โดย ผู้จัดการออนไลน์ 9 เมษายน 2551 "

H O M E
Create Date :24 กรกฎาคม 2550 Last Update :22 กรกฎาคม 2551 21:54:12 น. Counter : Pageviews. Comments :0