bloggang.com mainmenu search


ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก DramaWiki
Title : Voice
Genre: Medical, mystery Episodes: 11
Viewership rating: 14.5 (Kanto)
Broadcast : Fuji TV 2009-Jan-12 to 2009-Mar-23 Monday 21:00
Screenwriter: Kaneko Shigeki
Directors: Narita Takeshi, Matsuyama Hiroaki, Ishii Yusuke
Theme song: Setsuna by GReeeeN



ถ้ารู้ว่า อิชิฮาระ ซาโตมิ จะมีชีวิตชีวาน่ารักอย่างนี้ ดู Voice ไปนานแล้ว คงไม่ปล่อยให้ค้างคามาถึง 4 ปี เพราะนี่เป็นหนึ่งในผลงานของหนุ่มในสังกัดคนโปรด "เอย์ตะ" แล้วยังมีหนุ่มหล่อหน้าดีอย่าง "อิคุตะ โทมะ" ร่วมวงด้วยอีกตั้งคน

Voice เป็นเรื่องราวของนักศึกษาแพทย์ปี 4 มหาวิทยาลัยโทซากะ 5 คน ที่ได้เข้าร่วมงานด้านนิติเวชศาสตร์ จากศพชันสูตร พวกเขาได้ทำการสืบสาวเรื่องราวไปยังปูมหลัง ครอบครัว คนรู้จัก วิเคราะห์ร่วมกับพยาน สถานที่เกิดเหตุ เพื่อไข "ปริศนาการตาย" ที่ผลการชันสูตรจากศพยังไม่เพียงพอต่อการครอบครัวผู้สูญเสียที่จะยอมรับความจริงและดำเนินชีวิตต่อไปได้

เนื่องจากไม่เข้าใจระบบการเรียนแพทย์นัก เท่าที่ดูในเรื่องเข้าใจว่า นักศึกษาแพทย์ปี 4 จะต้องเข้าร่วมสัมนาวิชาการเป็นเวลา 5 เดือน ซึ่งก็คงคล้ายๆ กับการให้เลือกไปทดลองงานในสาขาที่มีความสนใจ เพื่อจะเป็นส่วนประกอบในการตัดสินใจเลือกสาขาของแพทย์เฉพาะทาง ประเทศญี่ปุ่นยังขาดแคลนแพทย์นิติเวช งานด้านนิติเวชศาสตร์ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก และที่มีก็เป็นสาขาที่ไม่ฮิต จึงมีนักศึกษาเข้าร่วมสัมมนา เท่าที่จะมีได้ คือ 5 คนเท่านั้น



คาจิ ไดกิ ผู้มั่นใจว่าชื่อของเขาจะปรากฏอยู่บนบอร์ดประกาศรายชื่อนักศึกษาแพทย์ผู้เข้าร่วมสัมมนาภาควิชาศัลยกรรมหัวใจ เพราะมันน่าจะเท่ที่สุดแล้ว สำหรับนักศึกษาแพทย์ ไดกิเป็นหนึ่งนักศึกษาหัวดีที่คาดหวังได้ว่างานยากๆ อย่าง "หัวใจ" อันเป็นปราการด่านสุดท้ายของชีวิต จะทำให้เขาได้รับการยอมรับจากทางภาควิชา

แต่ว่าชื่อของไดกิ กลับไปปรากฏอยู่บนบอร์ดรายชื่อของภาควิชานิติเวชศาสตร์ เมื่อคนทั่วไปไม่อยากร่วม ไดกิจะต่างอะไร มันต้องมีอะไรผิดพลาด ที่เขาจะต้องรีบแก้ไข ด้วยการตรงดิ่งไปที่แลปนิติเวชเพื่อพบกับ ศาสตราจารย์ซากาว่า ฟูมิฮิโกะ เพือหาคำตอบ "ทำไม"

"สำหรับนักศึกษาโดยทั่วไป ไม่ว่าเขาจะทำเกรดได้ดีหรือไม่ เขาก็จะสนใจเพียงแค่ผลของมันเท่านั้น
แต่สำหรับเธอ เธอเริ่มต้นครั้งแรกจากคำถามที่ว่า 'ทำไม' เธอน่ะเหมาะกับทางนิติเวชแล้ว"

และคำตอบนั้น ทำให้ไดกิ ตัดสินใจยอมรับการเข้าร่วมงานนิติเวชศาสตร์ตามที่ศาสตราจารย์ซากาว่า ได้ดึงตัวเขาเข้ามาในภาควิชานี้



อิชิมัตสึ เรียวสุเกะ เพื่อนสนิทร่วมคณะแพทย์ของไดกิ เขาเป็นลูกชายเจ้าของโรงพยาบาลผู้ถูกคาดหวังจะเป็นนายแพทย์ฝีมือดีและรับช่วงบริหารกิจการโรงพยาบาลต่อจากพ่อในอนาคต เมื่อคนๆ นึงถูกคาดหวังมันก็เหมือนมีเส้นทางขีดให้เดินรออยู่ และเรียวสุเกะก็เดินตามมาครึ่งทางแล้วด้วย แม้ยังตอบตัวเองไม่ได้ว่าอยากจะเดินไปบนเส้นทางนั้นหรือไม่ แต่ใจลึกๆ ก็รู้สึกต่อต้าน กลัวที่จะถูกคาดหวัง กลัวที่จะเป็นหมอของคนเป็นที่เห็นปัญหาอยู่ตลอดกับการไปช่วยงานที่โรงพยาบาลของพ่อ ทำให้เรียวสุเกะอยากหันมาทางนิติเวช บางทีการเป็นหมอของคนตายอาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า



คุโบอากิ คานาโกะ นักเรียนคนเก่ง ผลการเรียนเป็นอันดับหนึ่งในชั้นปี เมื่อนักศึกษาแพทย์ที่เก่งที่สุดเลือกนิติเวชศาสตร์ ที่นักศึกษาแพทย์ปกติทั่วไปจะไม่เลือกกัน เธอจึงถูกศาสตราจารย์หัวหน้าคณะ ขอให้ทบทวนดูใหม่อีกครั้ง แต่คุโบอากิ ไม่ได้ตั้งใจแค่ร่วมสัมนา 5 เดือนเท่านั้น เธอตั้งใจมานานแล้วที่จะเป็นแพทย์นิติเวช

15 ปี อันยาวนาน กับการตายของแม่ที่ยังยอมรับในสาเหตุไม่ได้ คำตอบของการตายที่คลุมเครือ ทำให้เธอไม่ยอมปล่อยวางเรื่องแม่ที่ตายจากไป

คุโบอากิซัง เป็นนามสกุลที่เรียกยาก เพื่อนๆ จึงเริ่มเรียกเธอว่า "อากิซัง" แล้วจากนั้นทุกคนก็เรียกตามไดกิด้วยการตีซี้ตัดซังเหลือแค่ "อากิ"ให้เป็นชื่อเล่นไปซะเฉยๆ



คิริฮาตะ เทปเป้ ลูกชายครอบครัวทันตแพทย์ ที่มีแรงบันดาลใจง่ายๆ แค่อยากเท่เหมือน CSI ซีรีย์สืบสวนสุดรักที่ทำให้เขาอยากเป็นแพทย์นิติเวช และเลือกมาในภาควิชานิติเวชศาสตร์



ฮาเนอิ อากิระ อดีตแยงกี้ที่กลับใจหันมาเอาดีด้านการแพทย์ หน้าไม่ให้ แต่ใจศรัทธาต่อนิติเวชศาสตร์ เพราะครั้งหนึ่งเขาเคยรอดจากการติดคุกในข้อหาซ้อมคนตาย เพราะผลพิสูจน์ด้านนิติเวช ชีวิตที่เกือบจะไปจมลงในคุกจึงพ้นมาได้ จึงเป็นจุดเปลี่ยนให้ฮาเนอิกลายเป็นเด็กเสียที่ดีแล้ว แม้ว่าจะจะสลัดบุคลิกแยงกี้ไม่ออกก็เหอะ แต่อดีตนักเลงที่เปลี่ยนตัวเองมาเป็นนักเรียน ถือว่าต้องฝ่าฟันมาไม่น้อย เรียนหนักเพื่อเข้ามหาวิทยาลัยแพทย์ ทำงานหนักช่วยแม่หาเงินส่งเสียตัวเอง เห็นหน้าตาอย่างนี้เขาทำอาหารเก่ง เพราะเขาช่วยแม่ทำอาหารที่ร้าน ฮาเนอิจึงมีหน้าที่ประจำคือทำอาหารให้เพื่อนๆ กิน เมื่อเพื่อนมาสุมหัวรวมตัวกันที่ร้านของแม่ หรือที่ห้องพักของเทปเป้ แม้แม่ไม่เข้าใจว่านิติเวชศาสตร์นี่มันอะไรยังไง แต่ความตั้งใจของลูกที่แม่เห็น แม่เพี้ยนๆ ของเขา อย่างภูมิใจในตัวลูกชายเลยนะ ขอบอก (ชอบตัวละครนี้มาก)



ศาสตราจารย์ซากาว่า ฟูมิฮิโกะ อาจารย์แพทย์นิติเวช และหัวหน้าแล็ปที่ต้องทำการชันสูตรศพหากมีคำสั่งทางราชการหรือคำขอโดยทั่วไป ที่ทางตำรวจทำการส่งศพมายังแลปนิติเวชของทางมหาวิทยาลัยให้ช่วยทำการชันสูตร

หน้าตาเหมาะ คาแร็คเตอร์สงบเย็นดูใจดีเหมาะกับการเป็นอาจารย์ด้วย



นัตสึอิกาว่า เรย์โกะ แพทย์นิติเวชผู้ช่วยศาสตราจารย์ซากาว่า เธอสวย เธอเฉียบ เธอเข้มงวดในหลักการ พูดจาตรงไปตรงมา ไม่ว่ามันจะทำลายขวัญกำลังใจของนักศึกษาหรือไม่ (เจ๊คงถือคติ นักนิติเวชต้องยึดมั่นในความจริง)



คาบุรากิ มาโกโตะ นักนิติเวชผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์เลือด วิเคราะห์สารต่างๆ เป็นผู้ช่วยของศาสตราจารย์ซากาว่า ที่หมกตัวอยู่ในห้องแลป ติดหูฟัง ฟังเพลงเทคโนทันสมัยของพวกเด็กแนว ภายนอกเหมือนไม่สนใจใคร แต่ก็คอยสอนนักศึกษาด้วย แม้จะเป็นสไตล์การสอนแบบเหินห่าง ทุกอย่างต้องมีข้อแลกเปลี่ยน



โอวาดะ ซาโตชิ ตำรวจนักสืบที่ทำงานร่วมกับศาตราจารย์ซากาว่า ส่งศพมาชันสูตรที่แลป รายงานการตรวจสอบสภาพแวดล้อม สถานที่เกิดเหตุ และการสืบสวนเบื้องต้น เพื่อเป็นข้อมูลวิเคราะห์สถานการณ์ประกอบการชันสูตร




อิชิมัตสึ ทากายูกิ เจ้าของโรงพยาบาลอิชิมัตสึ พ่อของเรียวสุเกะ (โทมะ) เป็นคนเคร่งขรึมที่ยากจะเดาออกว่าคิดอะไรอยู่ ไม่ได้สนับสนุนลูกชายที่เลือกไปสัมนาด้านนิติเวชศาสตร์ แต่ก็ไม่ได้ต่อต้านออกมาตรงๆ



ฮาเนอิ โฮโกะ คุณแม่ของ ฮาเนอิ อากิระ เจ้าของร้านอาหารเล็กๆ ที่เป็นแหล่งสุมหัวประจำของนักศึกษาแพทย์ทั้งห้า เธอเป็นแม่เฮฮา ช่างเมาท์ และโอเวอร์แบบน่ารักๆ เหมือนจะเป็นเพื่อนคู่หูกับลูกชายมากกว่าเป็นแม่ลูกกัน ลูกชายเรียกแม่ก็เรียกห้วน ๆ "โอก้า!" คำว่าซังไม่มีด้วยซ้ำไป เวลาแม่เริ่มเว่อร์ลูกก็จะขัดคอห้วนๆ ดูสนิทกันมาก เป็นคู่แม่ลูกที่น่ารัก



โฮริอิ นัตสึมิ นางพยาบาลที่โรงพยาบาลอิชิมัตสึ



ไดกิน้อย คาโต้ เซย์ชิโร่ เด็กน้อยน่ารักที่มักได้รับบทเด่นๆ เสมอ เรื่องนี้มารับบทเป็นไดกิตอนเด็ก ผู้ที่ทำให้นายแพทย์ซากาว่าในอดีตเกิดแรงบันดาลใจที่จะผันตัวเองมาเป็นแพทย์นิติเวช แต่ไดกิตอนนั้นยังเด็กมาก เขาจึงจำไม่ได้ว่าเคยพบศาสตราจารย์ผู้เป็นอาจารย์ของเขามาก่อน




แพทย์นิติเวชจะทำหน้าที่ชันสูตรศพ ตายเพราะอะไร เป็นการหาสาเหตุการตายแท้จริงที่ตำรวจจะเอาไปยืนยันการสืบสวน การสืบคดีเป็นหน้าที่ของตำรวจไม่เกี่ยวกับแพทย์นิติเวช การที่นักศึกษาทั้งห้าพากันออกไปดูสถานที่เกิดเหตุ ไปสอบถามพยาน ครอบครัว คนรู้จัก ถือเป็นการกระทำนอกเหนือหน้าที่ ผู้ช่วยศาตราจารย์เรย์โกะไม่เห็นเป็นเรื่องเหมาะสม เธอจึงท้วงติงให้ศาสตราจารย์ซากาว่าห้ามปรามนักศึกษา แต่ศาสตราจารย์ก็เย็นใจ ไม่ติว่าอะไรที่นักศึกษาออกไปทำเช่นนั้น ซึ่งตามจริงแล้ว มันไม่ใช่หน้าที่ แต่เป็นเรื่องของการสอดรู้สอดเห็นโดยแท้



สิ่งที่พวกเขาค้นหา ไม่ใช่คำตอบเพื่อช่วยตำรวจเกี่ยวกับรูปคดี ตำรวจสามารถปิดคดีได้อยู่แล้วโดยมูลเหตุหลักฐานพยานแวดล้อมและผลการชันสูตรยืนยันทางนิติเวช แต่มันคือรายละเอียดถึงเหตุผลการกระทำที่ลึกไปกว่า เช่น ตายเพราะหัวใจล้มเหลว พวกเขาอยากรู้ว่า แล้วทำไมต้องไปหัวใจล้มเหลวอยู่ตรงนั้น ตายเพราะฆ่าตัวตายเพราะมูลเหตุแรงจูงใจและจากสภาพศพที่ปราศจากการดิ้นรน แต่คำตอบที่มากกว่าคือ มันมีเหตุผลอะไรที่เขาต้องเลือกไปฆ่าตัวตายตรงนั้น ทั้งที่ควรจะตายตรงโน้น ฯลฯ เป็นการสืบที่ไม่ไปเกี่ยวข้องอะไรกับคดีของตำรวจที่จะได้รับเพียงการยืนยันผลชันสูตรลงนามรับรองโดยศาสตราจารย์ซากาว่าตามปกติการทำงานของแพทย์นิติเวช



มันเป็นคำตอบสำหรับครอบครัวผู้อยู่เบื้องหลัง โดยมีสาเหตุมาจากความคาใจสงสัยที่ก่อหวอดโดย คาจิ ไดกิ คือความเห็นอกเห็นใจต่อผู้ตาย ที่ไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้านี้ เขายังเป็นคนเป็นๆ อยู่ คนที่ไดกิ สงสัยว่า เขาทำอะไร เขากินอะไร เขาคุยกับใคร ในเวลาที่เขาตายเขาอยากพูดอะไรกับใครแต่ไม่มีโอกาสได้พูดหรือเปล่า เสียงสุดท้ายก่อนที่จะหมดลมหายใจ เสียงที่ไม่มีใครได้ยิน แพทย์นิติเวชจะรับฟังและส่งผ่านเสียงนั้นไปยังครอบครัว



เพราะคาจิไดจิ เหมาะจะเป็นแพทย์นิติเวช ดังที่ศาสตราจารย์ซากาว่าบอกไว้ เขาเป็นนักศึกษาผู้ได้ชื่อว่าเป็นคนฉลาดมีไหวพริบ มีสัญชาตญาณแม่นยำ และที่มากกว่าศาสตราจารย์เคยคิด คือเขาเป็นคนมีจินตนาการอันเป็นคุณสมบัติที่ดีของนักนิติเวช

นั่นยังไม่นับเรื่องขี้สงสัยและอยากรู้อยากเห็นเป็นที่สุด ไดกิจะไม่มีทางหยุดตั้งคำถาม หากว่าเขายังไม่ได้รับคำตอบที่พอใจหรือไม่ก็จนกว่าคนถูกถามจะคลั่งไปซะก่อนเพราะความหงุดหงิด



ตัวอย่างบทสนทนาระหว่างไดกิกับเรียวสุเกะ

"ทำไมนะ"

"ห๋า?"

"ทำไมนายต้องใส่ไข่ลงไปในข้าวหน้าเนื้อด้วย"

"มันทำให้อร่อยขึ้นไงล่ะ"

นายกินข้าวหน้าเนื้อเฉยๆ ไม่ได้เหรอ"

"มันไม่ใช่ว่าฉันกินไม่ได้"

"ไม่คิดเหรอว่าไข่เนี่ยมันจะตีกันกับรสของข้าวหน้าเนื้อ"

"ตีกันเหรอ"

"ฉันกำลังกินข้าวหน้าเนื้อหรือกินข้าวกับไข่ไม่สุกกันแน่ ฉันบอกเรื่องนี้ไม่ได้หรอกนะ"

"มันก็เหมือนกับตอนนายกินสุกี้ยากี้แล้วก็ใส่ไข่ไปนั่นแหละ!"

"สุกี้น่ะเหรอ นั่นน่ะ ฉันก็ไม่เข้าใจมันเหมือนกัน" (ทำไมต้องใส่ไข่ด้วย)

"ไม่เห็นจำเป็นต้องเข้าใจเลย"

"ทำไมคนเราต้องทำแบบนั้นด้วย"

"ก็เพราะมันทำให้รสชาดดีขึ้นไง!" (เริ่มหงุดหงิด)

"คิดไหมว่าเนื้อในสุกี้จะรสชาดดีกว่าเมื่อย่างเป็นชิ้นๆ น่ะ ไข่ก็ควรกินแบบนั้นเหมือนกัน"

"เข้าใจแล้วๆ นายไม่ชอบกินอะไรที่มันผสมเข้าด้วยกันใช่ไหม"

"ฉันก็ว่างั้น"

"คาจิ ไดกิ ชอบอาหารแบบธรรมดา คนอื่นๆ ไม่ชอบนี่นา สุดท้ายหัวข้อนี้จบนะ"(พยายามใจเย็น)

แต่เมื่ออาหารของไดกิมาเสิร์ฟ เรียวสุเกะมองอาหารสองอย่างที่เสิร์ฟมาในจานเดียวกัน มองหน้าไดกิ แล้วพูดออกมาอย่างอดทนอดกลั้นมาก

"นี่นาย .. "

"หือ?"

"เอาเวลาเมื่อกี๊ฉันมาเลยนะ" (แล้วนายจะสงสัยเพื่อ? )

"นี่มันแบ่งตรงกันเป๊ะเลย แกงกะหรี่กะข้าวหน้าเนื้อ" (มันไม่ได้เป็นการตีกันของรสชาด อย่างที่เราเพิ่งคุยกันนะ)

"ฉันเข้าใจแล้วล่ะ ว่าทำไมนายถึงไม่ป๊อบเหมือนหน้าตาของนายเลย ไดกิ" (ละเหี่ยใจ)



"นี่ ทำไม นายต้องเหลาดินสอทั้งสองข้างด้วย"

"ก็มันสะดวกดีนี่นา"

"เป็นไปไม่ได้หรอก"

"ก็ถ้าด้านหนึ่งมั่นทู่ นายก็แค่พลิกกลับด้าน แล้วเขียนต่อได้เลย"

"นายก็แค่ใช้กบเหล่าดินสอสิ"

"เราไม่ได้พกมันตลอดเวลานี่!"(เริ่มมีอารมณ์)

"ก็ถ้านายกังวลขนาดนั้น นายก็พกไปเลยสองแท่ง"
"
นั่นคือสิ่งที่ฉันจะพูดไง! (โมโห) มันเหมือนมีดินสอสองแท่งอยู่ในแท่งเดียวนายไม่เห็นเหรอ"

จะเป็นใครอื่นไปไม่ได้ ที่ต้องคอยตอบข้อสงสัยของไดกิ นั่นก็คือเพื่อนรักเรียวสุเกะ ผู้ที่จะตอบด้วยความตั้งใจในตอนแรก เพราะไดกิจะไม่หยุดถามถ้าไม่ได้รับคำตอบที่ทำให้เขาพอใจ แต่เพราะเขาไม่เข้าใจอะไรง่ายๆ เหมือนคนทั่วไป เรียวสุเกะจะเริ่มเหนื่อยใจ หลังจากสามสี่คำถามแรกและกลายเป็นความโมโห

"อีกแล้วสินะ กับไอ้คำ ทำไมอย่างโน้น ทำไมอย่างนี้"

คำถามมากมายที่แม้จะได้คำตอบจากคนที่ถามแล้ว ก็ยังไม่วายสงสัยว่าคนทั่วไปเขาทำกันแบบนั้นด้วยเหรอ

"นี่..อากิ"

"หือ?"

"เธอทำแบบนั้นด้วยหรือเปล่า"

"ไม่ ฉันไม่ใช่คนที่จะทำอะไรแบบนั้น"

"แล้วเธอไม่ว่ามันแปลกเหรอ"

"ไม่นี่ ใครๆ เค้าก็ทำกัน"

บางเรื่องก็คิดไม่เหมือนกัน แต่ก็มีบางเรื่องที่คิดตรงกันว่าทำไมคนเราต้องทำอย่างนั้น แล้วเรียวสุเกะก็มองเพื่อนสองคนด้วยสายตาแค่นๆ ที่น่ารัก

"เพราะไดกิ กับอากิ เป็นพวกไม่ปกติน่ะสิ"



การสืบเรื่องราวการตายของแต่ละศพที่มีมาแต่ละเคส 11 ตอนก็ 11 ศพ แต่ละเรื่องของแต่ละศพมันซึ้งดีนะ บางตอนก็ทำน้ำตารื้นเลยทีเดียวแม้ว่าจะจำกัดการเล่าแค่ช่วงสั้นๆ ในตอนเดียว ก็สามารถถ่ายทอดภาวะอารมณ์ก่อนเสียชีวิต ภาวะสูญเสียของคนเป็นที่เศร้าโศกได้ดี แต่ด้วยเดิมทีก็ไม่ใช่คนที่หลงใหลแนวสืบมากนัก (เว้นแต่พระเอกจะเท่ ก็โอเคเลย) จึงรู้สึกเฉยๆ ในแง่การเฉลย เปิดเผยเรื่องราวของคนตายและสาเหตุของการเสียชีวิตที่ละเอียดลงไปหน่อยจากที่รู้จากการชันสูตรอยู่แล้วว่าตายเพราะอะไร เช่นไฟฟ้าช็อต แต่มันช็อตที่ไหนถึงมาตายอยู่กลางถนน แล้วทำอะไรถึงเกิดไฟฟ้าช็อตได้ พวกเขาจะสืบให้รู้และบอกกับครอบครัวว่า มันเกิดอะไรขึ้น



อย่าชาชินกับความตาย

เป็นสิ่งหนึ่งที่นักนิติเวชพึงระวัง การเรียนรู้คุณค่าของชีวิตและการรู้สึกถึงความเศร้าโศกในความตาย จะช่วยให้แพทย์นิติเวชตระหนักอยู่เสมอว่า ต้องให้คำตอบที่เป็นความจริง ต้องนำเสียงสุดท้ายของผู้ตายออกมาสู่ครอบครัวให้ได้ ความจริงที่อยู่ในร่าง การวิเคราะห์เหตุและผลตามข้อมูลที่ได้จากการสืบคดี ผลการชันสูตรที่จะบอกได้ว่าเป็นไปตามนั้น หรือขัดแย้ง ตำรวจมุ่งการสืบสวนไปถูกทางหรือต้องเปลี่ยนไปมุ่งในประเด็นอื่น ที่สุดท้ายแล้วจะมีคำตอบที่ถูกต้องแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต



การออกไปสืบเองในรายละเอียด เป็นเรื่องนอกเหนือหน้าที่อย่างที่บอก ศาสตราจารย์ซากาว่าไม่ได้ส่งเสริมแต่ก็มีเหตุผลที่ไม่ได้ห้ามปราม เพราะนั่นเป็นเพียงความอยากรู้ ที่ไม่ได้ไปก้าวก้ายงานของตำรวจ นักศึกษาเองย่อมรู้ขอบเขตการทำงานของแพทย์นิติเวชดีอยู่แล้ว

การรับรู้ชีวิตและความตายเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ความจริง หลังจากการสัมมนา 5 เดือน หากนักศึกษายังสนใจที่จะเลือกศึกษาต่อในด้านนิติเวช ประสบการณ์ทางความรู้สึกเหล่านั้นจะช่วยให้พวกเขากลายเป็นแพทย์นิติเวชที่ดีในอนาคต

ซีรีย์ย่อมไม่ลืมที่จะแสดงจรรยาบรรณทางวิชาชีพโดยเฉพาะหลายคดีที่ท้าทายจรรยาบรรณของแพทย์นิติเวช การเปิดเผยความจริงที่แม้จะขัดแย้งในความรู้สึก แต่แพทย์นิติเวชจะไม่สามารถหลีกเลียงหรือบิดเบือนความจริงได้ ไม่ว่ามันจะเป็นความจริงที่โหดร้าย ไม่ว่าผลของมันจะทำให้ใครต้องครอบครัวแตกแยก ทำให้ใครหมดอนาคต ทำให้ครอบครัวของผู้ตายต้องประสบกับความยากลำบากสาหัสกว่าเดิม แต่ความจริงก็คือความจริง

"ฉันคิดว่า การไม่เผชิญความจริง เป็นสิ่งไม่ถูกต้อง"



เสียงจากศพแต่ละเคส อาจไม่ใช่คดีที่ต้องลุ้นกันตื่นเต้น แต่ก็อยากจะดูต่อไปเรื่อยๆ ไม่อยากจะวางตามาทำงานที่หอบเอากลับมาทำเลย (แต่จำต้องทำอย่างสุดฝืน) เพราะมีเรื่องที่ชอบเป็นส่วนตัวและคิดว่ามันน่าดูกว่าเรื่องคดีเยอะ นั่นก็คือความสัมพันธ์ของเพื่อนทั้งห้า ยิ่งถ้าเป็นต้นตอนกับท้ายตอนที่จะต้องมีประเด็นถกกันในหมู่เพื่อน เป็นอะไรที่รอคอยมาก อยากให้แต่ละคดีจบเร็วๆ จะได้ดูฉากถกเถียงน่ารักๆ เหล่านั้นไวๆ

นอกจากไดกิ กับเรียวสุเกะที่เป็นเพื่อนสนิทกัน แต่ละคนก็เพิ่งมารู้จักในการสัมนานี้ กลายเป็นเพื่อนที่เวลาอยู่ด้วยกันแล้วมันรู้สึกสนุก เวลาที่อยู่แยกเป็นคู่ๆ แต่ละคู่ก็น่ารักมาก




ไดกิ-เรียวสุเกะ คู่ปุจฉาวิสัชนา ทำให้นึกถึงคู่ตำรวจ Tokyo Dogs อาจไม่ฮาเหมือนคู่นั้น แต่การที่คนหนึ่งเอาแต่ตั้งคำถาม แล้วคนหนึ่งก็พยายามนะ ที่จะตอบ แต่คนถามก็ยังไม่พอใจในคำตอบซะที ถามอยู่นั่น มันก็เลยตลกใช้ได้เลยล่ะ เป็นฉากที่จะต้อง replay ดูไปยิ้มไปอยู่ทุกครั้งเมื่อสองคนนี้เค้าถามตอบกัน ขนาดคู่พระเอกนางเอกว่าน่ารักแล้ว ยังไม่ replay เหมือนคู่นี้เลย




ไดกิ-อากิ คู่ต่อล้อต่อเถียง ลักษณะพอๆ กันกับการต่อปากต่อคำ "ถามตอบ" ของไดกิกับเรียวสุเกะ แต่จะไม่หนักเท่า เพราะอากิจะไม่ค่อยทนกับความสงสัยที่เธอมองว่ามันไร้สาระ

อากิถูกต้องแล้ว พราะเรื่องบางเรื่องไม่ต้องรู้ก็ได้ เช่นว่าทำไมคนเราถึงไม่ยอมตื่นตั้งแต่แรกเมื่อได้ยินเสียงนาฬิปลุก การตั้ง Snooze อีกห้านาที สิบนาทีมันก็ต้องตื่นอยู่ดี แล้วตื่นเสียแต่ทีแรก มันจะไม่ดีกว่าเหรอ (หนึ่งในข้อสงสัยของไดกิ ที่เรียวสุเกะตอบอย่างโมโหว่ามันเป็นความสุขที่ได้นอนต่ออีกนิดไงเล่า!)

แล้วยังมี



ฮาเนอิ - เทปเป้ คู่ใช้กำลัง ฮานาอิอดีตแยงกี้ที่ของขึ้นง่าย และเทปเป้ผู้ปากเปราะง่ายแบบไม่ตั้งใจ พูดจาอะไรมักไม่เข้าหูและยั่วยุอารมณ์ของฮาเนอิ ที่จะต้องคว้ากันมารัดคอทุกครั้ง แต่กลับเป็นคู่ที่ดูเข้ากันได้ดีกว่าใคร (รัดไปรักไป)



อิชิฮาระ ซาโตมิ เป็นนักแสดงที่ถูกแอนตี้มานาน พอเกิดไม่ชอบหน้าตาบึ้งๆ ของเธอจากเรื่อง มินาโมโตะ โยชิสึเนะ ที่เป็นนางเอกของทักกี้ แต่ดันไปชอบ อายะ อุเอโตะ ตัวรองที่ได้รู้จักชื่อและผลงานของเธอเป็นเรื่องแรกเช่นกัน จากนั้นก็ไม่เคยคิดจะเลือกซาโตมิ เว้นแต่ Water boys ที่จำเป็นต้องเลือกเพราะพระเอกดันเป็นลูกรัก อิชิฮาระ ฮายาโตะ แต่ก็ยิ่งไม่ชอบซาโตมิมากกว่าเดิมอีก เพราะบทบาทหน้าบึ้งของเธอ แถมไม่ค่อยชอบนิสัยในเรื่องอีกต่างหาก เรื่องนี้ก็จำเป็นต้องดูเพราะคิดถึงเอย์ตะ ที่ก็ว่างเว้นการเห็นหน้ามาสักพักใหญ่



เรื่องนี้ซาโตมิที่เคยบึ้งสนิท มาอยู่ในบทบาทที่มีชีวิตชีวาพูดจาเจื้อยแจ้วถกเถียงกับเอย์ตะและที่สำคัญคือ เธอมีรอยยิ้ม ทำให้เธอดูน่ารักมาก เอย์ตะเองก็เล่นบทนี้ได้น่ารักด้วย ช่างกระเซ้าเย้าแหย่ให้นางเอกเค้าเคือง หรือไม่ก็ถึงขั้นมีน้ำโห และกลายเป็นคู่ที่น่ารัก ชอบหน้าตายุ่งๆ กับอารมณ์ละเหี่ยใจของอากิเวลาที่ได้ฟังไดกิพล่ามถึงข้อสมมติฐานต่างๆ ทำไมมันเป็นอย่างนี้อย่างโน้น ทำไมมันไม่เป็นอย่างโน้นอย่างนี้ "ทำไมนะ" ส่วนตัวจึงถือว่าเอย์ตะเป็นป๋าดันซาโตมิที่ประสบความสำเร็จ เพราะแม้แต่ลูกรักฮายาโตะใน Water boys ก็ไม่อาจช่วยให้เกิดความรู้สึกชอบซาโตมิขึ้นมาได้เลย แต่เรื่องนี้ชอบมาก ทำให้อยากดูเรื่อง นางพยาบาลอาโออิขึ้นมาแล้วล่ะสิ



เคยเห็นเอย์ตะมาแล้วในหลายบทบาท ทั้งตลก เฮฮา อย่าง Nodame caltabilie ทั้งจริงจัง ทั้งขี้เล่น ใน Tokyo friend หรือบทกดดันทางความรู้สึกอย่าง Last firend หรือ บทจมความเศร้าโศกอย่างเรื่อง Soredemo, Ikite Yuku ที่ส่งให้เอย์ตะคว้ารางวัล Best Actor จาก TDAA ครั้งที่ 70 มาประดับเป็นรางวัลแรกของชีวิตนักแสดง ซึ่งก็สมควรได้เพราะเอย์ตะฮีเล่นได้หมองหม่นมาก และเพิ่งไม่นานมานี้ก็ได้รับ Best supporting actor จาก TDAA ครั้งที่ 72 อีกหนึ่งรางวัล กับผลงานเรื่อง Lucky Seven ที่ยังไม่ได้ดู แต่พอเว้นไปสักพักคิดถึงเอย์ตะเมื่อไหร่ เขามาแน่



บทของคาจิ ไดกิ ดูจะหมูๆ สำหรับเอย์ตะ เพราะแสดงได้เนียนมาก ดูเป็นธรรมชาติ ขี้เล่น เป็นกันเอง มีมุมที่จริงจัง และมีอารมณ์ร่วมเศร้าไปกับครอบครัวผู้เสียชีวิต (ที่ก็ไม่ได้หนักหนานักสำหรับคนนอก)

เมื่อปัญหาต่างๆ เกิดขึ้น ความเป็นคนที่ถามหาเหตุผลอยู่เสมอ ทำให้ไดกิเป็นคนมีเหตุผลด้วย นั่นส่งผลให้มีความเยือกเย็นกว่าเพื่อนคนอื่น ไม่ปล่อยให้ตัวเองจมอยู่กับความวิตกกังวล เขาจึงเป็นคนที่ให้กำลังใจ คอยเตือนสติ ฉุดดึงเพื่อนๆ ให้เงยหน้าขึ้นมาจากปัญหา (ฉุกลากไปยังที่เกิดเหตุไกลๆ ก็ด้วย)



จากการตั้งคำถาม เหมือนไดกิจะเป็นเคนเจ้าปัญหามากที่สุด แต่ที่จริงไดกิกลับเป็นคนที่ไม่มีปัญหาอะไรเลย เขาจึงเป็นคนสบายๆ ผ่อนคลายมากกว่าใครเพื่อน

อากิมีปมการตายของแม่ ฮาเนอิ มีคุณสมบัติที่ถูกมองว่าไม่เหมาะสม กลัวศพ และหากเทียบคุณสมบัติรายคน เขาเป็นคนที่ต้องพยายามมากกว่าคนอื่น อากิเรียนเก่งอยู่แล้ว เทปเป้ก็เป็นลูกของทันตแพทย์ จะชอบหรือไม่ชอบนิติเวชยังไง ก็มีหนทางรองรับ แต่ว่าฮาเนอิ แยงกี้กลับใจไม่ได้มาจากครอบครัวพื้นฐานดี การเข้ามหาวิทยาลัยแพทย์และการเรียนนิติเวชเป็นจุดหมายที่เข้าต้องทุ่มเข้ามาสุดตัว

ส่วนคนที่รับบทหนักคือ อิคุตะ โทมะ ผู้รับบทเรียวสุเกะ มีทั้งความกดดันเรื่องพ่อกับโรงพยาบาลที่ต้องรับช่วงต่อ และก็มีถึงสองคดีของคนตายที่เกี่ยวข้องกับเรียวสุเกะโดยตรง ถือเป็นเรื่องใหญ่ทั้งในทางความรู้สึกและสิ่งที่เรียวสุเกะจะต้องตัดสินใจ



ส่วนไดกิ ไม่มีปัญหาอะไรกับใครเค้าเลย เขาก็แค่ไม่แน่ใจว่าหลังจบการสัมมนาด้านนิติเวชศาสตร์ เขาอยากจะเลือกเรียนทางด้านนิติเวชต่อหรือไม่ ถึงแม้ใครต่อใครจะบอกว่าเขาเหมาะสมที่สุด เขาก็แค่สงสัย ว่านิติเวชศาสตร์มันมีความหมายอะไรกับชีวิตเขา (เจ้าแห่งความสงสัย)

แต่มีอยู่เรื่องหนึ่ง ที่เขาไม่เคยแสดงความสงสัย อย่างที่เรียวสุเกะตั้งคำถามเกี่ยวกับอากิ หญิงเดียวในกลุ่ม ที่หากไม่อยู่กันครบทั้งกลุ่มไดกิมักจะอยู่กับเธอเสมอ และเป็นคนเดียวที่รับหน้าที่เดินไปส่งอากิตอนกลับบ้านยามค่ำคืน

"นายเข้าใจหรือเปล่า ถึงเหตุผลที่พวกเราปล่อยให้นายสองคนอยู่กันเอง"

ไดกิไม่สงสัย ไม่รู้ไม่ชี้ ยิ้มอย่างเดียว




ชอบ Voice เพราะบรรยากาศอบอุ่นเป็นกันเอง ของเพื่อนที่ร่วมรับรู้สุขทุกข์ของคนตาย สุขทุกข์ของกันและกัน ดูเป็นเพื่อนจริงๆ ที่จะไปไหนมาไหน นั่งพูดคุยปรึกษา ล้อมวงกินข้าวเฮฮา ซึ่งภาพเหล่านี้จะไม่ค่อยเห็นในละครเกาหลีมากนัก และยากที่จะหาในละครบ้านเรา แล้วตัวละครจะก็มีฉากด้วยกันอย่างไม่น่าเบื่อ อย่างฮาเนอิที่สนิทกับเทปเป้ แต่ก็มีช่วงเวลาที่ฮาเนอิจะกับเรียวสุเกะได้มีเวลาดีๆ ร่วมกัน มีบางเวลาที่เรียวสุเกะจะเดินด้วยกันลำพังและระบายความกดดันให้อากิฟัง มีบางเวลาของเรียวสุเกะกับเทปเป้



ตัวละครมีเปลี่ยนอารมณ์อยู่ตลอดระหว่างความผ่อนคลาย เมื่ออยู่เมื่อกินเมื่อเรียนด้วยกัน ความเศร้าที่รับรู้ไปกับเรื่องของคนตาย ความเครียดที่มีต่อปัญหาที่เกิดขึ้น แต่เพราะการมีเพื่อนอยู่รุมร้อมนี่แหละ ที่ทำให้บรรยากาศสบายๆ มีค่อนข้างมาก หากใครจะเครียดก็ไม่ได้เครียดอยู่คนเดียว อย่างตอนเครียดๆ ของเรียวสุเกะ ที่ร้านอาหารเพื่อนก็พยายามรื่นเริง แต่เพราะเป็นการจงใจเกินไปก็เลยแป๊ก เรียวสุเกะจึงรู้ตัวว่าเพื่อนกำลังเป็นห่วง ก็เริ่มพูดคุยจนเผลอผ่อนคลายไปกับเพื่อนๆ ลืมเรื่องที่เป็นทุกข์อยู่ มีใครไม่สบายใจ เดี๋ยวก็ล้อมวงกินข้าวแล้วบรรยากาศก็ดีขึ้น ชอบซีรีย์ญี่ปุ่นเพราะแบบนี้ด้วยแหละ มันดูเป็นชีวิตคนธรรมดาทั่วไป ที่ก็มีหน้าที่การงาน เพื่อน ครอบครัว และกินข้าว



เอย์ตะ โทมะ ขอใช้คำอย่างที่เขานิยมใช้กัน " เคมีเข้ากันมาก" ฉากปุฉาวิสัชนาของสองคนนี้จึงน่ารักสุดๆ ชอบฉากที่เพื่อนๆ เดินมาหาไดกิกับอากิที่อยู่ด้วยกันในโรงอาหาร ไดกิกับเรียวสุเกะเขาคุยกันทางสายตาที่แสดงถึงความสนิทสนมแบบมองตาก็เข้าใจกันด้วยนะ น่ารักดี มันผิดคาดจริงๆ ที่เคยคิดว่าซีรีย์เรื่องนี้ท่าทางจะเครียด



ดังนั้น ถ้าหากมีคนให้แนะนำซีรีย์แนวสืบสวน ก็มีความเป็นไปได้ที่จะลืมนึกถึง Voice แต่ถ้ามีคนถามหาซีรีย์ที่แสดงถึงมิตรภาพระหว่างเพื่อน Voice อยู่ในสารบบที่ดูจบแล้วจำแน่นอน

ไม่ต้องมีเรื่องราวหนักหนาช่วยกันต่อสู้ฟันฝ่าพิสูจน์ความเป็นเพื่อนมากมาย
มันอบอุ่นน่ารักได้ง่ายๆ เพราะแค่ฉากล้อมวงกินข้าวง่ายๆ นั่นเอง
(กินกันทุกตอน ตอนละสองมื้อเป็นอย่างต่ำเลยนะนั่น)






































































Create Date :05 สิงหาคม 2555 Last Update :6 สิงหาคม 2555 11:50:36 น. Counter : 8124 Pageviews. Comments :6