bloggang.com mainmenu search




พินัยกรรมชีวิต
(ชวนชมโดย_Theenuch_Team Money Talk 4)



.......................
https://www.youtube.com/watch?v=6c4U1hFfAXU
ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์
กับหัวข้อที่น่าสนใจ และออกจะแปลกใหม่มาก
แต่อันที่จริง เป็นเรื่องที่สำคัญมากค่ะ ^^










ศ.พิเศษกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ได้เล่าประสบการณ์จริงให้ฟังถึงเรื่องการทำพินัยกรรมชีวิตซึ่งประเทศไทยมีพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 10 ได้บัญญัติว่า “บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาล่วงหน้าไม่ประสงค์ขอรับบริการทางสาธารณสุข “เพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตนหรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้” การทำหนังสือแสดงความประสงค์ล่วงหน้าได้นี้ลักษณะคล้ายกับการทำพินัยกรรมชีวิต (living will) ของต่างประเทศและมีผลเป็นการคุ้มครองทางกฎหมายแก่บุคคลทางวิชาชีพด้านสาธารณสุขที่ไม่ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลผู้ทำหนังสือแสดงความประสงค์ที่ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา ทางปกครอง ฯลฯ ทั้งปวง ดังนี้...
บทความนี้อาจไม่เกี่ยวกับเรื่องกฎหมายธุรกิจ แต่ผมตั้งใจจะเขียนก่อนจะได้เขียนบทความเรื่อง "การทำพินัยกรรมเพื่อรับมือภาษีมรดก" ในฉบับหน้า โดยขอนำบทความนี้มาเผยแพร่ก่อน​

บทความเรื่องพินัยกรรมชีวิตหรือ Living Will นี้ เขียนขึ้นจากประสบการณ์ของผมเองที่สูญเสียภรรยาไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมา จุดประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจ ให้แก่ผู้ที่เจ็บป่วย และ/หรือญาติมิตรของผู้เจ็บป่วย บุคคลากรที่ทำงานกับผู้เจ็บป่วย รวมตลอดถึงการวางแผนชีวิตกับความตายที่จะเกิดขึ้น ให้ตายอย่างมีสติทั้งตัวผู้ป่วยและญาติของผู้ป่วย

พินัยกรรมชีวิต (Living Will) คืออะไร

พินัยกรรมชีวิต (Living Will) หมายถึงหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยื้อการตายในวาระสุดท้ายของตนหรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้ (มาตรา 12 ของ พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550) ดังนั้น พินัยกรรมชีวิตคือเอกสารหรือหนังสือที่เขียนแสดงความปรารถนาหรือเป็นการสื่อสารกับบุคคลในครอบครัวหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องให้เข้าใจถึงความต้องการในระยะสุดท้ายของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเลือกวิธีการรักษาในระยะสุดท้าย การจัดการงานศพ

การเลือกวิธีการรักษาในระยะสุดท้าย หรืออาจกำหนดเป็นคำสั่งเสียหรือคำขอสุดท้ายของผู้ป่วยที่ใกล้จะเสียชีวิต เพื่อให้ลูกหลานรักและสามัคคีกัน รวมทั้งการบอกเล่าประสบการณ์ให้ลูกหลานฟัง ​หากไม่ได้ทำเป็นหนังสือหรือเอกสารก็ควรจะมีกระบวนการพูดคุยถึงเจตนาที่เปิดเผยให้บรรดาญาติมิตรของผู้ป่วยได้รับรู้ มีการสื่อสารระหว่างกันระหว่างผู้ป่วยกับญาติผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยหมดความกังวลและยอมรับความตายและจากไปอย่างสงบก็ได้ รวมทั้งให้ญาติหรือบุคลากรทางการแพทย์ได้ปฏิบัติตามความประสงค์ของผู้ป่วยเองได้

พินัยกรรมชีวิตจึงไม่ใช่การทำหนังสือเพื่อให้บุคคลที่เจ็บป่วยและไม่สามารถรักษาให้หายได้ จบชีวิตลงเพื่อให้พ้นทุกข์ทรมานที่เรียกว่า (Euthanasia) หรือการุณยฆาต (Mercy killing) ซึ่งทั้งสองเรื่องข้างต้นเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ตามกฎหมายไทย

การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง: ประสบการณ์ของผม

​ผมมีประสบการณ์จากการป่วยของภรรยาที่เป็นโรคมะเร็งรังไข่และมีการแพร่กระจายไปจนกระทั่งเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองและมะเร็งที่ปอดภายในเวลากว่า 11 ปี การแพร่ของมะเร็งในระยะท้ายไปต่อมน้ำเหลืองและปอดนั้นรวดเร็วมาก ใช้เวลาเพียง 1 ปี ตั้งแต่ทราบว่ามะเร็งมาเยี่ยมเยือน เราทั้งสองได้เอาใจใส่ในการดูแลรักษาสุขภาพกายใจและปฏิบัติตัวอย่างเต็มที่ และหาวิธีการรักษาด้วยทุกวิถีทางทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์ทางเลือก

ต่อมาแพทย์วินิฉัยว่าโรคได้ลุกลามเข้าสู่ระยะท้าย ซึ่งไม่สามารถรักษาให้หายได้ แต่ผมและครอบครัวก็ยังไม่สิ้นความหวัง จนกระทั่งเดือนสุดท้าย จึงตกลงรักษาดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) ผมมาตระหนักว่า การดูแลแบบ Palliative Care ของผมยังไม่ครบถ้วนนัก เนื่องจากขาดความรู้และประสบการณ์ แม้ตัวผมและภรรยาต่างได้เคยเข้าร่วมรับการอมรมปฏิบัติมรณานุสติกับท่านพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ด้วยความกรุณาของคุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ เมื่อภรรยาป่วยเป็นมะเร็งรอบ 2 เมื่อ 5 ปีที่แล้ว อีกทั้งภรรยาผมได้ทำ Living Will ตามแบบเพื่อปฏิเสธการรักษาเพียงเพื่อยื้อชีวิต

แต่สิ่งที่ผมค้างคาใจว่าเราไม่ได้ทำคือ การพูดคุยกันอย่างเปิดอก การกล่าวลากันอย่างจริงจัง ยังมีอะไรไหมที่เป็นความปรารถนาของเธอแต่เธอไม่ได้บอกผม เพราะตลอดเวลาหลายปีดังกล่าว เรามีความหวังลึกๆว่าเราจะมีชีวิตอยู่ด้วยกันนานกว่านี้ หรือรอให้ลูกทั้งสองเติบใหญ่เป็นฝั่งฝาก่อน แต่ทุกอย่างเกิดขึ้นรวดเร็วเหลือเกินแม้กระทั่งวาระสุดท้ายก็ไม่ได้เตรียมการอะไรให้สมบูรณ์

ผมไม่อยากให้ผู้อ่านมีสภาพเดียวกับผม จึงอยากแนะนำให้ท่านอ่านหนังสือที่ชื่อว่า "ญาติจะช่วยดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร ให้ชีวิตมี คุณค่าในเวลาที่เหลืออยู่" ที่เขียนโดยท่านศาสตราจารย์แสวง บุญเฉลิมวิภาส (สำนักพิมพ์สายธาร 2558) ท่านเขียนจากประสบการณ์จริงในการดูแลน้องสาวของท่าน เธอเป็นมะเร็งรังไข่เช่นเดียวกับภรรยาผม มีชีวิตอยู่กับความเจ็บป่วยใกล้เคียงกันคือประมาณ 10 ปี น้องสาวอาจารย์เสียชีวิตประมาณวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2558 ส่วนภรรยายผมเสียชีวิตวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2558 หนังสือเล่มนี้จะทำให้ท่านผู้อ่านเข้าใจถึงกระบวนการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งได้อย่างลึกซึ้ง พร้อมตัวอย่างพินัยกรรมชีวิต

ผมยังเสียดายว่าในตอนที่ภรรยาผมป่วยหนัก ผมไม่ได้มีโอกาสได้พูดคุยกับอาจารย์แสวงและอ่านหนังสือเล่มนี้ ความจริงคือ ผมไม่ได้เข้าใจลักษณะอาการเจ็บป่วยและวิธีการดูแลรักษาตลอดจนการสื่อสารในการบอกความจริงเลย และหนังสือเล่มนี้ได้ระบุทุกสิ่งไว้ตรงกับที่เกิดขึ้นกับภรรยาและผม เกือบทั้งหมด

ผมเชื่อว่าหากท่านผู้อ่านได้อ่านหนังสือเล่มนี้โดยเฉพาะผู้ที่มีญาติป่วยเป็นมะเร็งหรือเป็นผู้ป่วยโรคมะเร็งเอง จะได้เตรียมตัวรับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นและสามารถพบกับความตายหรือวาระสุดท้ายได้อย่างมีสติ โดยบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งสองหรือสามฝ่ายจะได้พยายามหาโอกาสพูดคุย สื่อสารและสะสาง ข้อข้องใจต่างๆ พร้อมทั้งการแสดงเจตนาให้จัดการเรื่องต่างๆ ให้เสร็จสมบูรณ์ ไม่ต้องพะว้าพะวงอีกต่อไป หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่บอกเล่าความจริง ให้ความรู้ความเข้าใจ และแนวทางปฏิบัติที่ทำได้ เพื่อผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยหนักจัดทำพินัยกรรมชีวิตได้ถูกต้องครบถ้วน แม้เรื่องนี้จะเป็นเรื่องที่ยากลำบากก็ตาม

ถ้าเราเลือกได้เราควรเลือกที่จะตายดี : ตายแบบไหนที่จะเรียกว่าตายดี

ในหนังสือปทานุกรมแห่งความตาย (ดูปทานุกรมความตาย: รวมคำและความหมายเพื่อชีวิตที่ดีและความตายอย่างสงบ เครือข่ายพุทธิกา 2558) ระบุการตายดีไว้ 12 ข้อ ได้แก่

1. การตายที่ผู้ตายยอมรับได้พร้อมที่จะจากไป

2. เป็นการตายอย่างมีสติ

3. ทราบว่าความตายจะมาถึงและเข้าใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป

4. ได้รับการปฏิบัติอย่างสมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์และมีความเป็นส่วนตัว

5. ได้รับข้อมูลและการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ตามความจำเป็น

6. ได้รับการดูแลบรรเทาอาการปวดและอาการทางกายอื่นๆ เป็นต้น

7. สามารถเลือกได้ว่าจะตายที่ไหน (ที่บ้านหรือโรงพยาบาล)

8. ได้รับการดูแลทางอารมณ์และจิตวิญญาณตามต้องการ

9. สามารถเลือกได้ว่าควรมีใครอยู่ด้วยในวาระสุดท้ายของชีวิต

10. สามารถแสดงเจตนาล่วงหน้าได้ว่าต้องการได้รับการปฏิบัติอย่างไรในวาระสุดท้าย (Advance Direction)

11. มีเวลากล่าวลาบุคคลที่ตนเองรัก สะสางสิ่งที่คั่งค้างในใจ

12. สามารถจากไปอย่างสงบเมื่อถึงเวลาไม่ถูกเหนี่ยวรั้งหรือยืดชีวิตโดยไร้ประโยชน์

​ดังนั้น การแสดงเจตนาล่วงหน้าว่าควรได้รับการปฏิบัติอย่างไรในวาระสุดท้าย การกล่าวลาบุคคลที่ตนเองรัก และสะสางสิ่งที่ค้างคาในใจ จึงเป็นเรื่องที่ควรกระทำ และเป็นสิทธิของผู้ป่วยที่จะเลือกว่าจะเตรียมตัวรับกับความตายอย่างไร เป็นการให้โอกาสผู้ป่วยได้ตายดี และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้ป่วย เรื่องดังกล่าวทั้งหมดทำได้ในหนังสือแสดงเจตนาไม่รับการรักษา เรื่องนี้จึงแสดงเจตนาไม่รับการรักษา เพื่อรับความตายได้อย่างมีสติ เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะสำหรับผู้ป่วย ญาติผู้ป่วยระยะสุดท้าย หรือผู้ที่เป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้

ความตายเป็นเรื่องที่ทุกคนหนีไม่พ้น เรามาเตรียมตัวตายอย่างมีสติกันเถอะครับและเพราะมันเป็นเรื่องยาก จึงควรเตรียมแต่เนิ่น ๆ เพื่อความไม่ประมาท

ทำไมเราถึงต้องทำหนังสือปฏิเสธรับการรักษา

นอกเหนือจากเหตุผลเรื่องการตายดีหรือการตายอย่างมีสติข้างต้น ยังมีเหตุผลทางเศรษฐกิจที่ผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยควรจะทราบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเอกชน เนื่องจากในปัจจุบันค่าใช้จ่ายในการรักษาตัวในโรงพยาบาลเอกชนจะมีราคาแพงมาก เพราะโรงพยาบาลก็มุ่งที่จะมีรายได้จากการดูแลรักษา ทั้งที่ทราบว่าอาจจะไม่สามารถรักษาผู้ป่วยให้หายได้ หรือในบางกรณีที่ผู้ป่วยไม่อยู่ในสภาพที่จะฟื้นคืนสู่สถานะเดิมได้ การให้อาหารทางสายยางก็ดี การต่อท่อช่วยชีวิตต่าง ๆ ก็ดี การอยู่ในห้องไอซียูก็ดี การลงทุนผ่าตัดหรือให้ยาราคาแพง ล้วนมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก

ในหนังสือโรงพยาบาลเอกชนค่ารักษาแพง: ปัญหาและทางออกที่เขียนโดย น.พ. วิชัย โชควิวัฒน์ (สำนักงานประสานการพัฒนาสังคมสุขภาพ (สปพส) 2558) ได้กล่าวถึงว่ามีผู้ป่วยบางรายที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเกือบ 20 ล้านบาท เพราะโรงพยาบาลเอกชนไม่ยอมให้กลับบ้าน หรือกรณีเมื่อ 20 ปีที่แล้วที่มีผู้ป่วยด้านสมอง ซึ่งมีโอกาสหายเพียง 3% แต่โรงพยาบาลเอกชนได้เก็บตัวไว้ และในที่สุดผู้ป่วยก็เสียชีวิตไปโดยมีค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลเกือบ 400,000 บาท เมื่อ 20 ปีที่แล้ว เงินจำนวนดังกล่าวครอบครัวน่าจะได้นำมาใช้เพื่อประโยชน์สูงสุด

กรณีดังกล่าวข้างต้นมักไม่เกิดกับโรงพยาบาลของรัฐบาลเพราะว่าแพทย์มักจะพูดความจริง และบอกความจริงกับญาติและอาจให้ผู้ป่วยกลับบ้านก็ได้ ปัจจุบันการดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้ายยังไม่เป็นที่แพร่หลายในโรงพยาบาลมากนัก จึงมีความจำเป็นที่จะต้องให้ความรู้แก่ทั้งผู้ป่วย ญาติมิตร ผู้เกี่ยวข้องในการรักษาพยาบาล และบุคคลากรทางการแพทย์เพื่อให้ตระหนักถึงความประสงค์ของผู้ป่วยหรือญาติและเหตุผลทางสถานะทางการเงินของครอบครัวด้วย

การทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์รับการรักษาทำแบบไหนอย่างไร: ประโยชน์และตัวอย่าง

เอกสารที่จัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเรื่องความต้องการครั้งสุดท้ายของชีวิต (Living Will) ได้อธิบายประโยชน์ของการทำหนังสือดังกล่าวไว้โดยสรุปว่า

1.​จะทำให้แพทย์ และญาติทราบ เป็นการช่วยลดความขัดแย้งระหว่างแพทย์กับญาติในการวางแผนการรักษา เมื่อผู้ป่วยไม่อยู่ในสภาพที่แสดงเจตนาได้

2.​ทำให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายไม่ต้องทนทุกข์ทรมานจากการใช้เครื่องมือต่าง ๆ เช่นการเจาะคอ การใส่ท่อช่วยหายใจ การปั๊มที่ช่วยยืดการตายออกไปซึ่งที่ไม่ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

3.​ทำให้ผู้ป่วยและญาติไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงหรือค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นในการรักษา จนกระทั่งถึงต้องขายทรัพย์สินจนสิ้นเนื้อประดาตัวมาเป็นค่ารักษา

4.​เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยมีการสื่อสารและร่ำลาคนในครอบครัวในขณะที่มีสติสัมปชัญญะอยู่

นอกจากนี้ การทำหนังสือแสดงเจตนาแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบคือ

1.​ผู้ป่วยทำหนังสือแสดงเจตนาด้วยตนเองไม่ว่าจะเขียนหรือพิมพ์ หรือ ใช้แบบตามตัวอย่างที่กำหนด

2.​การแสดงเจตนาด้วยวาจาต่อแพทย์ พยาบาล หรือญาติผู้ใกล้ชิดโดยไม่จำเป็นต้องทำเป็นหนังสือ หรืออาจจะให้ผู้อื่นช่วยเขียนหรือพิมพ์แทน

หนังสือแสดงเจตนานี้ผู้ที่ทำควรมีอายุเกิน 18 ปีที่สามารถตัดสินใจด้วยตัวเองได้ และสามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไข หรือระงับยกเลิกได้ตลอดเวลา โดยต้องแจ้งการแก้ไขกับแพทย์ที่เคยได้รับการแจ้งไว้ก่อนแล้ว

ปัจจุบันทางราชการได้เผยแพร่ตัวอย่างการทำหนังสือแสดงเจตนาไม่รับการรักษาหรือรับบริการสาธารณสุขตามกฏหมายไว้หลายที่ซึ่งผู้สนใจอาจจะเข้าตรวจสอบจาก เว็บไซต์ https://www.thailiving.in.th ก็ได้

ผมขออนุญาตนำตัวอย่างแบบที่ 2 ร่างหนังสือแสดงเจตนาที่ปรับปรุงแก้ไขจากหนังสือของท่านอาจารย์แสวง บุญเฉลิมวิภาส ฉบับภาษาไทยเพื่อเป็นแนวทางให้ท่านผู้อ่านได้จัดทำขึ้นท้ายบทความนี้ (พร้อมข้อสังเกตส่วนตัวฝากอยู่ด้วยในแต่ละข้อ)



ผมหวังว่าท่านจะได้รับประโยชน์จากบทความนี้ไม่มากก็น้อย เพื่อจัดทำพินัยกรรมชีวิตของท่าน ผมมีเจตจำนงที่จะเผยแพร่ความรู้ในเรื่องนี้ให้กว้างขวางออกไปจึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง "กองทุนกิติพงศ์-วิภา อุรพีพัฒนพงศ์" โดยนำเงินที่เหลือจากการงานบำเพ็ญกุศลศพของภรรยาและเงินบริจาคจากบรรดาญาติสนิทมิตรสหายเมื่อวันที่ผมมีอายุครบ 6 รอบ (เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2558)รวมค่าลิขสิทธิ์จากการเขียนหนังสือของผม รวมประมาณ 3 ล้านบาท โดยมอบให้แก่ศูนย์ชีวาภิบาลของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

นอกจากนี้ ครอบครัวผมยังได้ร่วมบริจาคเงินจำนวน 300,000 บาท เพื่อสร้างวีดีทัศน์ให้แก่โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดลอีกด้วย

ขอขอบคุณ ข้อมูลจาก
https://thaitribune.org/contents/detail/307?content_id=16670



newyorknurse
Create Date :05 ตุลาคม 2560 Last Update :25 ตุลาคม 2560 5:30:10 น. Counter : 1326 Pageviews. Comments :0