bloggang.com mainmenu search







ก่อนเกษียณต้องรู้จักกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
by TAXBugnoms,Mar 20, 2018 5:30 AM
writer of Taxbugnoms



กองทุนสำรองเลี้ยงชีพคืออะไร?
อัตราการสะสมเงินเป็นแบบไหน
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพกับการลดหย่อนภาษี
การเพิ่มผลตอบแทนให้กับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
สวัสดีครับวันนี้พรี่หนอมขอเปลี่ยนประเด็นเพิ่มเติมเสริมยอดไปยังเรื่องที่เกี่ยวข้องกับภาษีและชีวิตหลังเกษียณกันบ้างครับ นั่นคือเรื่องของ “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” ที่ให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีแก่มนุษย์เงินเดือนกับเรา และเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยให้เรามีกินมีใช้หลังเกษียณแบบสบายๆ เลยล่ะครับ เอาล่ะ เพื่อไม่ให้เสียเวลา เรามาทำความรู้จักกับ “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” เลยดีกว่าครับ





กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คือ กองทุนที่นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้น โดยเงินของกองทุนจะมาจากเงินที่ทั้งสองฝ่ายร่วมกันสะสมเข้ากองทุน ซึ่งเงินที่จ่ายจากทางฝั่งลูกจ้างจ่ายจะเรียกว่า "เงินสะสม“ ส่วนเงินที่นายจ้างจ่ายจะเรียกว่า "เงินสมทบ” นั่นเองครับ ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวจะถูกนำไปบริหารให้เกิดดอกผลงอกเงยโดยผู้บริหารมืออาชีพครับ







กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นลักษณะของสวัสดิการอีกประเภทหนึ่งที่นายจ้างมีให้กับลูกจ้างครับ เรียกได้ว่าเป็นเครือ่งมือที่ช่วยให้ลูกจ้างนั้นสามารถสร้างวินัยในการออมอย่างต่อเนื่อง แถมด้วยเงินจากนายจ้างที่ช่วยออมอีกต่อหนึ่งครับ โดยมีอัตราการสะสมเงินดังนี้ครับ






นอกจากสิทธิประโยชน์เรื่องการออมเงินและการสร้างวินัยแล้ว กองทุนสำรองเลี้ยงชีพยังได้รับสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย โดยมีเงื่อนไขดังนี้ครับ

• เงินสะสมที่สมาชิกจ่ายเข้ากองทุน สามารถนำมาหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้ โดยหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินปีละ 10,000 บาท สำหรับส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 15% ของค่าจ้าง และไม่เกิน 490,000 บาท ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมกับเงินได้ที่เสียภาษี

ยกตัวอย่างเช่น นายบักหนอมมีเงินเดือนตลอดทั้งปี คือ 500,000 บาท แต่จ่ายเข้ากองทุน 5% แบบนี้นายบักหนอมจะได้รับสิทธิลดหย่อนทั้งสิ้น 25,000 บาท ซึ่งเงินค่าลดหย่อนจำนวน 10,000 บาทจะถูกนำไปคิดเป็นค่าลดหย่อน ส่วนอีก 15,000 บาทที่เหลือจะถูกนำไปหักออกจากเงินได้ครับ

• สำหรับเงินที่สมาชิกได้รับจากกองทุนเมื่อสิ้นสุดสมาชิกภาพ ส่วนที่เป็นเงินสะสมได้รับยกเว้นภาษี สำหรับเงินสมทบ ผลประโยชน์เงินสะสม และผลประโยชน์เงินสมทบ ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีไม่ต้องเสียภาษีเงินได้เมื่อทำงานจนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ หรือ ตาย ทุพพลภาพ




สำหรับคนที่เป็นมนุษย์เงินเดือนทุกคน ผมอยากแนะนำครับว่า ถ้าหากกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพของบริษัทเรานั้นได้รับผลตอบแทนดี ไม่มีปัญหา และเราเองก็วางแผนที่จะทำงานบริษัทนี้ไปอีกนาน สิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะให้ทำเป็นอันดับแรก คือ “การตัดเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพด้วย % ที่สูงสุด” ครับ

ที่แนะนำอย่างนี้เพราะว่าอยากให้เริ่มต้นสร้างวินัยในการออมเงินกันก่อนครับ และถ้าหากสามารถทำได้แล้ว เรายังสามารถเพิ่มผลตอบแทนโดยการเลือกประเภทของกองทุนให้ตรงกับความต้องการและความเสี่ยงของเราอีกด้วยครับ

หลังจากนั้นสิทธิในการสะสมของเราทุกๆเดือนนั้น ยังสามารถนำไปลดห่ย่อนภาษีได้อีกด้วย ซึ่งถือว่าครบถ้วนจบทั้งกระบวนความกันเลยทีเดียวครับผม

เห็นไหมครับว่า กองทุนสำรองเลี่ยงชีพนั้นให้อะไรกับเราหลายอย่างจริงๆ ทั้งเรื่องของวินัย การออม ผลตอบแทนจากการลงทุน และไปจบที่เรื่องของการลดหย่อนภาษี อีกด้วยครับ

หลายคนคงเคยได้ยินกันว่า “อย่าหมิ่นเงินน้อย อย่าคอยวาสนา” ใช่ไหมครับ ผมคิดว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพนี่ถือเป็นอีกตัวอย่างที่ดีในการจัดการ “เงินเก็บน้อยๆ” ของเรา เพื่อสะสมไปสู่อนาคตที่ยิ่งใหญ่หลังวัยเกษียณยังไงอย่างนั้นเลยล่ะครับ

แนะนำเพิ่มเติมเรื่องการสร้างสิทธิประโยชน์ส่วนเพิ่มในการลงทุนกองทุนสำรองเลี้่ยงชีพ สำหรับท่านที่ลงทุนทุกเดือนอยู่แล้ว หรือยังไม่รู้เทคนิคเพิ่มเติมในการสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนี้เพิ่มขึ้นครับ โดยมีเทคนิค 2 ข้อที่อยากจะแนะนำ นั่นคือ การเพิ่มผลตอบแทน และการประหยัดภาษี เมื่อออกจากงานครับผม





วิธีที่ง่ายที่สุดในการเพิ่มผลตอบแทนให้กับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น มี 2 ทาง คือ เพิ่มเงินออมของเรา และ เปลี่ยนแปลงแผนการลงทุน ครับ ซึ่งการเพิ่มเงินออมของเรานั้น ทราบดีอยู่แล้วว่าจะทำให้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นแน่ๆ เนื่องจากเงินต้นเพิ่มขึ้น ผลตอบแทนก็ย่อมต้องเพิ่มตามใช่ไหมคร้าบ

แต่วิธีการเปลี่ยนแปลงแผนการลงทุนนั้น คือ การเลือกวิธีลงทุนให้เหมาะสมกับเราครับ อาจจะเคยได้ยินคำว่า Employee Choice หรือการที่สมาชิกสามารถเลือกนโยบายการลงทุนที่เหมาะกับตัวเอง ผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีหลายนโยบาย โดนสมาชิกกองทุนอย่างเราๆ สามารถเลือกที่จะแบ่งสัดส่วนกองทุนของตัวเอง ไปลงทุนเพียงนโยบายเดียว หรือหลายนโยบายก็ได้ ตามทีต้องการครับ






ถ้าหากนำเงินออกมาจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก่อนอายุ 55 ปี เราทุกคนมีหน้าที่ต้องเสียภาษีด้วยครับ โดยประเด็นที่ต้องดูคือ ระยะเวลาการทำงาน ดังนี้ครับ

• ถ้าหากมีระยะเวลาทำงานน้อยกว่า 5 ปี ต้องนำเงินที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปคำนวณภาษี รวมกับเงินเดือนของเราครับ ซึ่งจะถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 1 นั่นเองครับ

• ถ้าหากมีระยะเวลาทำงานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป ตรงนี้จะมีข้อดีตรงที่ สามารถเลือกเสียภาษีโดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีกับเงินเดือนครับ ซึ่งจะเรียกว่าแยกคำนวณต่างหาก กรณีเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเนืองจากออกจากงานครับ ซึ่งจะมีสิทธิหักค่าใช้จ่ายแยกต่างหากเป็นจำนวนเท่ากับ 7,000 บาทคูณด้วยจำนวนปีที่ทำงาน และนำส่วนที่เหลือมาหักค่าใช้จ่ายอีก 50% ของเงินที่เหลือนั้น แล้วจึงค่อยคำนวณภาษีตามอัตราภาษีเงินได้ครับ






จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นว่าถ้าหากทำงานเกินกว่า 5 ปี จะมีสิทธิในการแยกคำนวณภาษีเพื่อให้ประหยัดมากขึ้นกว่าคนที่มีระยะเวลาทำงานน้อยกว่า 5 ปี ใช่ไหมครับ แต่เท่านั้นยังไม่พอครับ เพราะว่าเราสามารถประหยัดได้มากกว่านั้นอีก แม้ว่าจะเปลี่ยนงานก่อนครบ 5 ปีก็ตาม โดยเลือกจากวิธี 2 วิธีนี้ คือ

1. คงเงินหรือผลประโยชน์นั้นไว้ทั้งจำนวนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และรอให้ได้รับผลประโยชน์อีกครั้งหลังจากอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ครับ โดยจะใช้วิธีขอพักไว้ก่อนแล้วโอนไปยังที่ทำงานใหม่ โดยไม่ถอนเงินจำนวนนี้ออกมาจากกองทุน ก็จะถือว่าไม่ได้ออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพครับ เลยไม่ต้องเสียภาษี

2. โอนไปกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF แทนครับ ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 ให้สามารถนำเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปลงทุนต่อเนื่องใน RMF ได้ (โปรแกรมนี้ชื่อว่า RMF for PVD ครับ)

โดยทั้ง 2 ขั้นตอนนี้ สามารถดำเนินการได้ง่ายๆ โดยแจ้งความประสงค์ไปยังนายจ้างหรือฝ่ายบุคคลครับ อย่างน้อยน่าจะประมาณ 30 วันก่อนจะพ้นสภาพลูกจ้างครับ โดยระบุกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF ที่ต้องการจะให้ย้ายเงินไป

เป็นเพื่อนกันได้ทุกที่ แต่ถ้าจะมาเป็นเพื่อนที่ไลน์ ก็พิมพ์หา @TAXBugnoms หรือคลิก https://line.me/ti/p/@taxbugnoms ได้เลยจ้า


ขอขอบคุณ ข้อมูลจาก
https://goo.gl/1uX3EG


สาขาการบริหารและจัดการ
Business Blog /สาขา Education BLog



newyorknurse
Create Date :26 มิถุนายน 2561 Last Update :11 กรกฎาคม 2561 1:37:38 น. Counter : 1382 Pageviews. Comments :0