bloggang.com mainmenu search



เทคนิคการซื้อประกันรถยนต์ให้คุ้มค่าสุดๆ






สวัสดีครับ ใครที่ติดตามบทความของผมมา ก็จะพบว่า ผมจะเขียนให้ความรู้ในเรื่องของประกันชีวิตซะส่วนใหญ่ ดังนั้นในวันนี้ ผมจึงขอมาให้ความรู้ในเรื่องของการทำประกันอย่างอื่นบ้าง นอกเหนือจากประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และประกันอุบัติเหตุที่เคยเขียนไปแล้ว วันนี้จึงขอเลือกเป็นเรื่องของการทำ “ประกันรถยนต์” กันบ้างนะครับ

ประกันรถยนต์ ถือเป็นประกันที่มีจำนวนกรมธรรม์มากที่สุดเป็นอันดับ 3 (สถิติจากคปภ. ปี 2558) รองจากประกันชีวิต และประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล ด้วยจำนวน 8,436,789 กรมธรรม์ (2558) ซึ่งถือว่า ไม่ใช่ตัวเลขที่น้อยๆเลย ด้วยจำนวนกรมธรรม์ที่มากขนาดนี้ แต่จะมีสักกี่กรมธรรม์ ที่สามารถทำประกันรถยนต์ได้อย่างคุ้มค่า ตรงตามความเสี่ยงเฉพาะตัวของเรา เพื่อไม่ให้เราต้องจ่ายเบี้ยแพงเกินกว่าความจำเป็น?


ที่ตั้งคำถามขึ้นมาเช่นนี้ ก็เพราะผมสังเกตว่า คนส่วนใหญ่ มักจะคิดว่า ประกันรถยนต์ชั้น 1 นั้นดีที่สุดเพราะมีรายการคุ้มครองครอบคลุมมากที่สุด แม้เบี้ยประกันจะแพงที่สุดก็ตาม แต่ถ้าผมถามว่า ใครก็ตามที่ซื้อประกันรถยนต์ชั้น 1 ไปทุกปี แต่ไม่เคยต้องเคลมเลยตลอด 5 ปีที่ผ่านมา แบบนี้ยังจะคิดว่า ประกันชั้น 1 ดีที่สุดอยู่หรือไม่?

แต่ก่อนจะตอบคำถามนี้ได้นั้น ก่อนอื่น เรามาศึกษาทำความรู้จักกันก่อนดีกว่า ประกันรถยนต์มีกี่ประเภท และแต่ละประเภท ครอบคลุมความคุ้มครองอะไรบ้าง

ปกติแล้ว ประกันรถยนต์ภาคสมัครใจ (ซื้อเอง นอกเหนือจากที่บังคับทำพรบ.รถยนต์) มีอยู่ 4 ประเภท หรือ 4 “ชั้น” ได้แก่ ชั้นที่ 1, 2, 3 และ 4 แต่ส่วนใหญ่จะได้รับความนิยมกันแค่ถึงชั้นที่ 3 เพราะชั้นที่ 4 เป็นเพียงแบบที่คุ้มครองรถของคู่กรณี ไม่มีการคุ้มครองการบาดเจ็บของผู้ขับขี่ใดๆ ทั้งตัวผู้ขับและตัวคู่กรณี จึงไม่เป็นที่นิยม นอกจากนั้น ก็ยังมีชั้นย่อยที่ขยายความคุ้มครอง หรือมีการร่วมจ่ายด้วย ได้แก่ ชั้น 1 แบบมีส่วนร่วมจ่าย ชั้น 2+ และชั้น 3+ ซึ่งแต่ละชั้นก็จะมีความคุ้มครองทั้งส่วนของฝั่งผู้ขับเอง และฝั่งของบุคคลภายนอก หรือคู่กรณี ดังนี้



ชั้นที่ 1
สำหรับบุคคลภายนอก (หรือคู่กรณี)
ส่วนของตัวบุคคล จะคุ้มครองทั้งกรณีเสียชีวิตและการบาดเจ็บ
ส่วนของรถ จะคุ้มครองค่าซ่อมแซมของรถคู่กรณี
สำหรับผู้ขับ
ส่วนของตัวบุคคล จะคุ้มครองทั้งกรณีเสียชีวิตและบาดเจ็บ
ส่วนของรถ จะคุ้มครองค่าซ่อมแซมรถที่เสียหาย ทั้งกรณีชนแบบมีคู่กรณี (เราขับไปชนเอง) และไม่มีคู่กรณี คุ้มครองกรณีรถสูญหายหรือถูกโจรกรรม และคุ้มครองกรณีรถถูกไฟไหม้หรือน้ำท่วมด้วย

ชั้นที่ 1 แบบมีส่วนร่วมจ่าย
จะมีความคุ้มครองทุกอย่างเหมือนกับแบบชั้นที่ 1 เพียงแต่จะมีเงื่อนไขให้ผู้ทำประกัน ต้องจ่ายค่าเสียหายเมื่อเกินความเสียหายก่อนส่วนหนึ่ง ส่วนเกินที่เหลือจึงจะเบิกเคลมได้ ซึ่งแบบนี้จะมีค่าเบี้ยถูกกว่าแบบที่ 1 ประมาณ 3,000-5,000 บาท (เยอะกว่าค่าใช้จ่ายส่วนแรกที่ต้องรับผิดชอบ)


ชั้น 2
สำหรับบุคคลภายนอก
ส่วนของตัวบุคคล จะคุ้มครองทั้งกรณีเสียชีวิตและการบาดเจ็บ
ส่วนของรถ จะคุ้มครองค่าซ่อมแซมของรถคู่กรณี
สำหรับผู้ขับ
ส่วนของตัวบุคคล จะคุ้มครองทั้งกรณีเสียชีวิตและบาดเจ็บ
ส่วนของรถ จะคุ้มครองกรณีรถสูญหายหรือถูกโจรกรรม และคุ้มครองกรณีรถถูกไฟไหม้หรือน้ำท่วม เท่านั้น แต่จะไม่คุ้มครองกรณีที่เกิดความเสียหายจากการขับไปชนเอง ไม่ว่าจะมีคู่กรณีหรือไม่ ก็ตาม

ชั้นที่ 2+
มีความคุ้มครองทุกอย่างเหมือนกับแบบชั้นที่ 2 เพียงแต่เพิ่มกรณีคุ้มครองรถของตัวผู้ขับเอง กรณีขับไปชนแบบมีคู่กรณี เท่านั้น

ชั้นที่ 3
สำหรับบุคคลภายนอก
ส่วนของตัวบุคคล จะคุ้มครองทั้งกรณีเสียชีวิตและการบาดเจ็บ
ส่วนของรถ จะคุ้มครองค่าซ่อมแซมของรถคู่กรณี
สำหรับผู้ขับ
ส่วนของตัวบุคคล จะคุ้มครองทั้งกรณีเสียชีวิตและบาดเจ็บเท่านั้น แต่จะไม่มีการคุ้มครองตัวรถของผู้ขับไม่ว่าจะกรณีใดๆ

ชั้นที่ 3+
มีความคุ้มครองทุกอย่างเหมือนกับแบบชั้นที่ 3 เพียงแต่เพิ่มกรณีคุ้มครองรถของตัวผู้ขับเอง กรณีชนแบบมีคู่กรณี เท่านั้น

จะเห็นได้ว่า ถ้าดูในแง่ของความคุ้มครองอย่างเดียวนั้น ประกันรถยนต์ชั้น 1 ย่อมจะเป็นประเภทที่ดีที่สุด เพราะมีความคุ้มครองที่ครอบคลุมมากที่สุด แต่บางที ประกันที่ความคุ้มครองมากที่สุด ก็อาจจะไม่ใช่ประกันที่เหมาะสม หรือคุ้มค่าที่สุดก็ได้ เพราะถ้าหากเป็นคนที่มีทักษะการขับรถที่ดี สมาธิดี วินัยดี และมีการใช้งานที่ไม่เสี่ยงอันตราย (เช่น ไม่ขับเร็ว / ไม่ขับตอนดื่ม / ไม่ขับทางไกล) นั่นก็แสดงว่าเป็นคนที่มีความเสี่ยงต่ำ ดังนั้น ความคุ้มครองที่ครอบคลุมทุกอย่าง อาจจะมีมากเกินความเหมาะสมที่สอดคล้องกับความเสี่ยงของเขา ทำให้ถ้าไปทำในแบบที่ความคุ้มครองมาก ก็อาจจะเป็นการสูญเปล่า ในส่วนของค่าเบี้ยประกันที่จ่ายแพงกว่าความคุ้มครองที่ควรจะมี เพราะมีโอกาสน้อยมากที่จะได้ใช้ความคุ้มครองเพิ่มเติมเหล่านั้น

ดังนั้น วิธีที่เหมาะสมที่สุดในการบริหารความเสี่ยงในเรื่องของค่าซ่อมรถยนต์ จึงอาจจะไม่ใช่วิธี “ซื้อประกันรถยนต์แบบที่ความคุ้มครองมากที่สุด” หรือ “ไม่ต้องซื้อเลย” แต่ควรจะเป็น “ซื้อแบบที่มีความคุ้มครองที่สอดคล้องกับพฤติกรรมและความเสี่ยงของเรามากที่สุด” มากกว่า เพื่อให้เราไม่ต้องจ่ายเบี้ยประกันที่สูงเกินความจำเป็น โดยที่ยังมีความคุ้มครองที่เหมาะสมกับเราอยู่ นั่นเองครับ

เอาล่ะ เมื่อเข้าใจหลักการแล้ว ทีนี้มาดูกันดีกว่า เราจะประเมินความเสี่ยงในการขับขี่ของตัวเราเองยังไง เพื่อให้เราทราบว่า เรามีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน เหมาะกับการทำประกันรถยนต์ชั้นอะไร ซึ่งมีการพิจารณาอยู่ด้วยกัน 3 ด้าน โดยให้เราลองสอบถามหรือสำรวจตัวเองในแต่ละด้าน ดังนี้ครับ

1. ด้านประสบการณ์

มีประสบการณ์ขับรถมากี่ปีแล้ว? (ไม่ใช่ระยะเวลาที่ใช้งานรถคันที่ขับนะครับ แต่หมายถึงตัวคนขับเอง) ในระยะหลัง (เช่น 1-2 ปีที่ผ่านมา)
ยังมีการขับไปชนคนอื่นเองหรือไม่? บ่อยแค่ไหน?
ความเสียหายที่เกิดขึ้นเมื่อขับไปชน มากหรือน้อย?

2. ด้านพฤติกรรม

ใช้รถบ่อยแค่ไหน? (ใช้ทุกวัน / ใช้บางวัน)
ใช้เวลาในการขับขี่ต่อวัน นานแค่ไหน? กี่ชั่วโมง? หรือระยะทางที่ขับต่อวัน ไกลแค่ไหน? กี่กิโลเมตร?
สไตล์การใช้งานรถยนต์เป็นยังไง? (ขับเร็วหรือช้า? / ขับตอนเช้าหรือตอนดึกมากกว่า? / ใช้เพื่อการเดินทางส่วนตัว หรือใช้เพื่อทำงาน? งานอะไร?)

3. ด้านการยอมรับความเสี่ยง

รับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน?
ถ้าชนแล้วยินดีจ่าค่าเสียหายเองบางส่วนไหม? (เพื่อให้เบี้ยประกันถูกลง)
เมื่อเราทราบทั้งความคุ้มครองของประกันรถยนต์แต่ละประเภท และได้ประเมินความเสี่ยงของตัวเองอย่างคร่าวๆแล้ว ทีนี้เราก็พอจะสามารถ “จับคู่” ความเหมาะสมระหว่างประกันรถยนต์แต่ละชั้น ให้เข้ากับพฤติกรรมและความเสี่ยงแต่ละแบบได้แล้ว ซึ่งเมื่อจับคู่แล้วหน้าตาจะออกมาประมาณนี้



ซึ่งก็พอจะสรุปได้คร่าวๆ ดังนี้ครับ

คนที่มีความเสี่ยงสูง [เช่น ประสบการณ์ขับรถน้อย (เพิ่งขับมาไม่เกิน 5 ปี) / ทักษะการขับยังไม่ค่อยดี ยังมีขับไปชนเองอยู่ประปราย / ขับด้วยความเร็ว ชอบซิ่ง / มีการเดินทางไกลบ่อยๆ หรือต้องขับรถวันละหลายๆชั่วโมง (เกิน 4 ชั่วโมง) โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าต้องขับในเวลากลางคืนบ่อยๆ] แบบนี้ แนะนำเป็นชั้น 1 ไปเลย เพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายครับ

คนที่ขับไปชนเองไม่บ่อย แต่ชนแล้วชนหนัก (เช่น กระโปรงหน้ายุบไปครึ่งหนึ่ง) แบบนี้ เหมาะกับแบบ ชั้น 1 แบบมีส่วนร่วมจ่าย ครับ เพราะถึงแม้เราจะต้องจ่ายค่าเสียหายส่วนแรกไปก่อน แต่ก็ถือว่าไม่มาก เมื่อเทียบค่าซ่อมทั้งหมด (เพราะชนหนักค่าซ่อมจะแพง) โดยรวมจึงช่วยเราป้องกันความเสี่ยงได้ โดยที่ไม่ต้องจ่ายเบี้ยต่อปีแพงเท่าชั้น 1 ถึงต้องออกค่าซ่อมเองบางส่วน ถ้าเราชนไม่บ่อย ทำให้คุ้มกว่าไปซื้อชั้น 1 ครับ

คนที่มีความเสี่ยงน้อย [เช่น ขับรถมานานแล้ว (เกิน 10 ปี) / แทบจะไม่เคยขับไปชน (2 ปี อาจจะชนสัก 1-2 ครั้ง) ถ้าชนแล้วก็ไม่เสียหายมาก / ขับรถด้วยความเร็วปกติ / ใช้รถไม่หนัก (วันหนึ่งไม่เกิน 4 ชั่วโมง, ไม่ได้ขับรถไกลๆทุกวัน)] แบบนี้ ก็จะเหมาะกับชั้น 2, 3 หรือ 2+, 3+ มากกว่า ส่วนจะ เลือกแบบ + หรือไม่ ก็ดูว่าที่เราขับชน มักจะไปชนคนอื่น (มีคู่กรณี) หรือไม่ ถ้าส่วนใหญ่มีคู่กรณี ก็ควรเลือกแบบ 2+ หรือ 3+ (เพราะมีการคุ้มครองรถเรากรณีมีคู่กรณี) แต่ถ้าส่วนใหญ่ชนแบบไม่มีคู่กรณี (เช่น ครูดกับเสา, ชนฟุตบาท ฯลฯ) แบบนี้ก็เหมาะกับ 2 หรือ 3 มากกว่า และ ส่วนจะ 2 หรือ 3 ก็แค่ดูว่า เราอยากได้ความคุ้มครองกรณีรถสูญหาย ไฟไหม้ด้วยรึเปล่า ถ้าต้องการก็เลือก ชั้น 2 (หรือ 2+) แต่ถ้าไม่ ก็เลือกชั้น 3 (หรือ 3+) ครับ

ทั้งหมดนั่นก็คือแนวทางการพิจารณาเลือกซื้อประกันรถยนต์ให้เหมาะกับความเสี่ยงของเรา เพื่อให้เราได้ประกันที่เหมาะกับตัวเอง โดยไม่เป็นการจ่ายค่าเบี้ยแพงเกินความจำเป็น หรือทำน้อยเกินไป ทำให้เราได้ซื้อประกันรถยนต์ได้อย่างคุ้มค่า แต่เราจะเหมาะกับชั้นอะไรก็ตาม สุดท้ายแล้ว จะซื้อประกันรถยนต์ชั้นอะไร ขึ้นอยู่กับการรับความเสี่ยงของเราครับ ว่าเรารับได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าเรารับความเสี่ยงไม่ได้เลย ไม่แน่ใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเราบ้าง แม้เราจะมีความเสี่ยงต่ำก็ตาม สุดท้ายก็เลือกชั้น 1 ที่มีความคุ้มครองมากที่สุดได้ ตามความอุ่นใจของเราเป็นหลัก แต่ถึงอย่างไร การประเมินความเสี่ยงให้ใกล้เคียงกับโอกาสเกิดความเสียหายให้มากที่สุด ก็ยังถือเป็นหลักการสำคัญของการทำประกันเพื่อบริหารความเสี่ยง ที่เราควรจะเข้าใจ และยึดเป็นหลักในการวางแผนทำประกันอยู่ดีครับ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
https://goo.gl/J5hY1Phttps://goo.gl/J5hY1P



สาขาการบริหารและจัดการ
Business Blog



newyorknurse

Create Date :02 มิถุนายน 2560 Last Update :5 กรกฎาคม 2560 8:28:19 น. Counter : 1217 Pageviews. Comments :0