bloggang.com mainmenu search
มีความสุขกับวันทำงานทุกคนนะคะ
สำหรับคนมีลูกวันนี้เปิดเทอมก็คงอีรุงตุงนังกันหน่อยนะคะ
วันนี้มีเรื่องดีดีเกี่ยวกับสังคมคนทำงานมาฝากกันค่ะ
เช่นเคยละจ้า ไปเอาของเขามาอีกแหละ อิอิ



เรื่องราวนี้มีที่มาจาก : หนังสือ "ขายให้รวยด้วยเทคนิคง่ายๆ"
โดยเกรียงศักดิ์ นิรัติพัฒนะศัย ที่มาของข้อมูลก็ต้องยกเครดิตให้
www.thaiengineering.com
เราลองมาดูกันซิคะว่าเทคนิคทั้ง 6 ประการมีอะไรกันบ้าง


1. เมื่อไม่เห็นด้วยขอให้พูดออกมา
(Assertive when disagreement)

คือ ความกล้าที่จะพูดหรือแสดงความคิดความเห็นของเรา
ออกมาเป็นคำพูด เมื่อเรามีความเห็นที่ไม่ตรงกับหัวหน้าเรา
เช่น กรณีเขามอบหมายงานแล้วเรารู้สึกว่ามันยากที่จะปฏิบัติ
ให้สำเร็จตามแผนงานได้ โดยเฉพาะกรณีที่เกี่ยวกับเส้นตาย
รายละเอียดของการนำไปปฏิบัติ หรือกิจกรรมสำคัญ
ที่อาจจะเป็นจุดวิกฤตต่อแผนงาน ขอให้เราแสดงความคิดเห็น
ของเราออกมาอย่างสุภาพและตรงไปตรงมา

อย่าเกรงใจเขาโดยการพยักหน้าและบอกว่า Yes
โดยปกติพวกเรา พยักหน้าและบอกว่า Yes นั้นแสดงว่า
"เรากำลังรับฟัง" อยู่ แต่สำหรับชาวต่างชาติแล้ว
เขาตีความหมายว่า "เราเห็นด้วยและตกลง" ตามนั้น
ซึ่งเขาตีความว่าเรา "รับปาก (Promise)" ไปแล้ว
สำหรับชาวต่างชาติเมื่อเรารับปาก (Promise)
อะไรก็ตาม แล้วเราไม่สามารถทำได้ คุณได้ทำลายความเชื่อถือ
(Trust) ในตัวคุณลงโดยไม่รู้ตัว
เพราะสำหรับเขาแล้ว เขาไม่คิดว่า "ไม่เป็นไร"
เช่น เราคนไทย หากว่าเราทำให้เขา Trust ในตัวเรา
น้อยลงแล้ว คราวต่อไปเราคงต้องใช้ความพยายามมากขึ้น
อย่างมหาศาลเพื่อเรียกความเชื่อถือกลับมา
เพราะขาดความไว้วางใจกันเสียแล้ว
ดังนั้นหากจะรับปากอะไรก็ตามขอให้แน่ใจว่า
เราสามารถทำได้ตามที่รับปากเช่นนั้นจริงๆ

2. เมื่อไม่รู้หรือไม่แน่ใจขอให้กล้าที่จะถาม
หัวหน้างานสมัยใหม่และชาวต่างชาติส่วนใหญ่จะรู้สึกยินดี
เมื่อมอบหมายงานแล้วลูกน้องมีคำถาม เพราะแสดงว่า
เราให้ความสนใจกับรายละเอียดของงาน
และเรายังแสดงออกถึงความต้องการที่จะเข้าใจ
เพื่อจะได้ทำงานให้สำเร็จลุล่วง พวกเราไม่ชอบถาม
อาจจะกลัวเสียหน้าหรืออายที่จะถาม แต่สำหรับผมแล้ว
ระลึกอยู่เสมอว่าเราอาจจะเสียหน้าบ้าง แต่ว่า
ดีกว่าสูญเสียความน่าเชื่อถือจากหัวหน้างาน
หรืออาจจะตกงานได้ง่ายๆ หากเราเข้าใจผิด เพราะ
เราอาจจะไปทำในคนละเรื่องกับสิ่งที่เขาต้องการเลยก็ได้

3. ยอมรับความผิดพลาดในงานแต่เนิ่นๆ
เมื่อเกิดผิดพลาดในงานเรามีแนวโน้มที่จะปกปิดมัน
โดยเฉพาะกับหัวหน้าเรา แต่ว่าความจริงแล้ว
หากเราบอกหัวหน้าเราแต่เนิ่นๆ ตั้งแต่เราทราบ
แนวโน้มของความเสียหายจะน้อยกว่า
และโอกาสของการแก้ไขปัญหาก็ง่ายขึ้น
กว่าการปล่อยให้เนิ่นนานออกไป
หัวหน้างานของคุณอาจจะโกรธบ้าง แต่แน่ใจได้เลยว่า
เขาจะยิ่งโกรธมากขึ้นแน่ๆ หากปล่อยให้เนิ่นนานออกไป
หรือละเลยให้ความเสียหายยิ่งบานปลาย
ดังนั้นสู้เผชิญกับปัญหาแต่เนิ่นๆ แล้วโดนเอ็ดบ้าง
นิดหน่อยดีกว่าปล่อยให้กลายเป็นเรื่องใหญ่
หากคุณบอกเขาแล้วเขาแสดงอาการหงุดหงิดออกมา
อาจจะบอกกับเขาว่านายพลคอลลิน พาวเวลล์
ผู้นำทางทหารของอเมริกาในยุทธการพายุทะเลทราย
ตอนถล่มอิรัคเคยกล่าวไว้ว่า "วันใดที่ทหารของคุณ
เลิกนำปัญหามาปรึกษากับคุณ แสดงว่า
คุณไม่ได้เป็นผู้นำของเขาแล้ว เพราะเขาคงคิดว่า
คุณไม่สามารถช่วยเขาได้หรือคุณไม่แคร์ ไม่ว่าจะเป็น
เหตุผลใดก็ตามถือว่าคุณล้มเหลวในความเป็นผู้นำ"



4. พูดให้ชี้ชัดเฉพาะเจาะจงขึ้น (Be Specific)
เราชาวไทย เพราะเราถูกอบรมมาให้ระมัดระวังคำพูด
มิให้คำกระทบกระทั่งความรู้สึกของคนอื่น
บ่อยครั้งทำให้เราพูดอ้อมค้อมเกินไปและไม่ตรงประเด็น
เราควรจะต้องสื่อสารกันให้ชัดเจนขึ้นทั้งในเรื่องพูดและเขียน
สัญญาณที่จะบอกกับเราว่าเราเริ่มพูดจาไม่ค่อยชัดเจน
เมื่อเราถูกผู้ฟังถามบ่อยๆว่า "คุณหมายความว่าอย่างไร
ที่บอกว่า...(What do you mean by that...?)"
ทางแก้เพื่อให้พูดจาชัดเจนก็คือต้องทำให้ความคิดชัดเจน
และมีลำดับขั้นตอนที่ดีเสียก่อน ก่อนจะเข้าประชุม
หรือหารือกับหัวหน้างาน เราควรจะนั่งลงพร้อมกระดาษ
แล้วเขียนความคิดของคุณออกมาก่อน
หลังจากนั้นจึงลำดับความคิดของคุณออกมาว่า
ต้องการคุยเรื่องอะไร มีที่มาหรือภูมิหลังว่าอย่างไร
เกิดปัญหาอะไรขึ้น อะไรเป็นสาเหตุ มีข้อมูลอะไรสนับสนุน
สุดท้ายมีข้อเสนอแนะอะไรสำหรับปัญหานั้นบ้าง
และควรจะเสนอแนะหลายๆ ทางเลือกรวมทั้งเสนอทางเลือก
ในความเห็นของคุณ หากจะให้ดีก็ควรวิเคราะห์ต่อเนื่อง
ถึงผลลัพธ์หากตัดสินใจเลือกทางเลือกนั้น
จะเกิดผลกระทบหรือความเสี่ยงอะไรตามมาได้บ้าง

5. บอกความคืบหน้าเป็นระยะ
หัวหน้างานส่วนใหญ่ต้องการทราบผลความคืบหน้า
ของงานเป็นระยะๆ เราควรจะรายงานเขาอย่างต่อเนื่อง
และสม่ำเสมอ ในเรื่องของความถี่และรายละเอียดนั้น
อาจจะต้องศึกษาเป็นรายบุคคล ดังคำกล่าวที่ว่า
ลางเนื้อชอบลางยา คนแต่ละคนมีความชอบไม่เหมือนกัน
เราอาจจะถามเขาโดยตรงก็ได้ หรือถามเลขาฯ ของเขา
หรืออดีตลูกน้องของเขาก็ได้ รูปแบบการสื่อสาร
ก็อาจจะต้องศึกษาด้วย คนบางคนชอบให้รายงาน
ทางโทรศัพท์ คนบางคนต้องรายงานเป็นลายลักษณ์อักษร
คนบางคนต้องรายงานด้วยวาจาทุกวัน หรือทุกสัปดาห์
เช่นกันดูตามสไตล์ของแต่ละคนแล้วปรับประยุกต์ใช้

6. บันทึกสิ่งที่คุณทำเป็นลายลักษณ์อักษร
การบันทึกสิ่งที่คุณทำ บันทึกความเข้าใจ (MEMO)
บันทึกการประชุม หรือรายละเอียดของงานจะช่วยคุณได้
หลายกรณีเช่น ช่วยให้ทุกคนมีความเข้าใจตรงกัน
นอกจากนี้ยังเป็นสิ่งที่บันทึกผลงานและความสำเร็จต่างๆ
ของเรา เราสามารถนำไปใช้อ้างอิงในอนาคต
หรือนำไปใช้เมื่อต้องพิจารณาผลงานของเรา
และยังเป็นหลักฐานยืนยันกับหัวหน้างานคนใหม่
ของเราในอนาคต หากมีการเปลี่ยนแปลงหัวหน้างาน



มาถึงตรงนี้ จขบ. ว่านอกจากจะใช้กับนายฝรั่งแล้ว
ก็น่าจะใช้กับเจ้านายแบบไทยๆ ที่ต้องการประสิทธิภาพของงานสูง
ได้เหมือนกันนะจ๊ะ หรือใครว่าไงจ๊ะ มา share ข้อมูลกันหน่อยจ้า
Create Date :29 ตุลาคม 2550 Last Update :29 ตุลาคม 2550 7:56:03 น. Counter : Pageviews. Comments :35