ทหารสื่อสารที่ควรจดจำ
ความหลังริมคลองเปรม

ทหารสื่อสารที่ควรจดจำ

วชิรพักตร์

เมื่อวันที่เหล่าทหารสื่อสารครบรอบ ๖๐ ปี พฤษภาคม ๒๕๒๗ นั้นในหนังสือที่ระลึก ได้บันทึกประวัติของทหารสื่อสารท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งสำคัญของทางราชการในอดีต ท่านผู้นั้นคือ พลโท ชาญ อังศุโชติ

ท่านเกิดเมื่อ ๒๑ มิถุนายน ๒๔๕๗ ในขณะนั้นจึงมีอายุ ๗๐ ปี ได้เป็นผู้แทนราษฎร จังหวัดกาญจนบุรี พร้อมกับคุณจินดา อังศุโชติ ภรรยาของท่าน และได้รับเลือกให้เป็นรองประธาน กรรมาธิการต่างประเทศ ด้วย

ในหนังสือที่ระลึก ๖๐ ปีทหารสื่อสารฉบับนั้นท่านได้เขียนประประวัติชีวิตของท่าน ที่ได้อยู่ในเหล่าทหารสื่อสาร คือเรื่อง ผมเป็นนายทหารสื่อสารมา ๕๐ ปีแล้ว และต่อมาท่านได้เขียนบทความจากประสบการณ์ในการปฏิบัติราชการของท่าน ให้นิตยสารทหารสื่อสารอีกสองครั้งคือเรื่อง ไปสงครามเกาหลี ในฉบับ พฤษภาคม ๒๕๓๓ และเรื่อง การปฏิบัติภารกิจของกองพลรักษาพระนคร ในฉบับ มกราคม ๒๕๓๕

ท่านสำเร็จจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๗ เป็นร้อยตรี ตำแหน่ง ผู้บังคับหมวด กองพันทหารสื่อสารที่ ๒ ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่ กรมช่างอากาศ สะพานแดงบางซื่อ ในปัจจุบัน แล้วจึงย้ายมาเป็น ผู้บังคับหมวด กองทหารสื่อสาร กรมป้องกันต่อสู้อากาศยาน เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๒ ในยศร้อยโท เมื่อถึง พ.ศ.๒๔๘๓ ได้เลื่อนยศเป็นร้อยเอก ตำแหน่งนายทหารคนสนิท ผู้บังคับกองโรงเรียนทหารสื่อสาร คือ พันเอก หลวงเสรีเริงฤทธิ์ (จรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์) และเมื่อผู้บังคับบัญชาได้ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกฝ่ายเทคนิค และรัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงกลาโหม ท่านก็ยังคงอยู่ในตำแหน่งนายทหารคนสนิทด้วย

ในระหว่างสงครามอินโดจีน พันเอกหลวงเสรีเริงฤทธิ์ เป็นรองแม่ทัพบูรพา ท่านก็ได้ติดตามผู้บังคับบัญชาไปอำนวยการรบในแนวหน้าหลายครั้ง รวมทั้งครั้งสำคัญเมื่อ ๑๖ มกราคม ๒๔๘๔ ในการรบที่บ้านยาง ซึ่งกองทัพบูรพาได้ชัยชนะอย่างงดงาม

ในระหว่างสงครามมหาเอเซียบูรพา หรือสงครามโลกครั้งที่ ๒ พลตรี หลวงเสรีเริงฤทธิ์ ดำรงตำแหน่งแม่ทัพพายัพ ท่านก็ได้ติดตามผู้บังคับบัญชา ไปในสนามจนกองทัพพายัพ ได้เข้าตีและยึดนครเชียงตุง ของรัฐฉานได้สำเร็จ

ต่อมากองบัญชาการทหารสูงสุด ได้ออกคำสั่งให้ พลโท จิระ วิชิตสงคราม เป็นแม่ทัพพายัพ คนใหม่ ใน พ.ศ.๒๔๘๕ ท่านก็ยังคงปฏิบัติหน้าที่นายทหารคนสนิทต่อไป

ถึง พ.ศ.๒๔๘๖ ท่านจึงเข้าศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการทหารบก และเมื่อสำเร็จการศึกษาได้รับยศพันตรี แล้ว ท่านก็ได้ทำหน้าที่นายทหารฝ่ายเสนาธิการ กองพลที่ ๗ จังหวัดลพบุรี และ กองทัพที่ ๒ จังหวัดสระบุรี ถึง พ.ศ.๒๔๘๘ ท่านจึงเป็นเสนาธิการ กองพลที่ ๑ (รักษาพระนคร )

กองบัญชาการกองพล ตั้งอยู่ที่สวนพุดตาล ใกล้รัฐสภาในปัจจุบัน มีภารกิจในการรักษาความปลอดภัยให้แก่รัฐบาล และร่วมมือกับขบวนการเสรีไทยในประเทศ เพื่อเตรียมขับไล่กองทัพญี่ปุ่นออกจากประเทศไทย โดยได้ดำเนินการสร้างสนามบินลับที่ตำบลบางพูน จังหวัดปทุมธานี กับจัดตั้งหน่วยพิเศษที่ใช้อาวุธของสัมพันธมิตรส่งมาให้ และจัดการสร้างป้อมในพระนคร เพื่อเตรียมรบกับทหารญี่ปุ่นเมื่อได้รับคำสั่งอีกด้วย

หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลง ท่านได้สอบคัดเลือกไปเข้าศึกษาในโรงเรียน เสนาธิการทหารบก สหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๑ เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว ได้เลื่อนยศเป็นพันโท พ.ศ.๒๔๙๓ เป็นนายทหารฝ่ายเสนาธิการ กองบัญชาการทหารไทย ทำการร่วมรบกับสหประชาชาติ ในสงครามเกาหลี พ.ศ.๒๔๙๔ เลื่อนยศเป็นพันเอก เมื่อสงครามเกาหลีได้ยุติลงใน พ.ศ.๒๔๙๕ เป็นผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารบก ประจำประเทศญี่ปุ่น จนถึง พ.ศ.๒๔๙๘ จึงกลับมาเป็นรองเจ้ากรมยุทธการทหารบก

เมื่อ ๑๖ กันยายน ๒๕๐๐ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ทำการปฏิวัติรัฐบาลของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม แล้วแต่งตั้งให้ พลเอก ไสว ไสวแสนยากร อดีตเจ้ากรมการทหารสื่อสาร เป็นอธิบดีกรมตำรวจ ท่านจึงได้รับตำแหน่งเป็น รองผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจภูธร เลื่อนยศเป็น พลจัตวา และพลตำรวจจัตวา ตามลำดับ ท่านได้ปฏิบัติราชการในกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย จนได้เลื่อนยศเป็นพลตำรวจตรี เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๒

พ.ศ.๒๕๐๔ ได้รับพระบรมราชโองการ โปรดเกล้า ฯ ให้ไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี เป็นคนแรก และได้รับพระราชทานยศเป็นพลตรี ท่านได้รับตำแหน่งหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ในคณะกรรมาธิการสหประชาชาติ เพื่อการรวมและฟื้นฟูเกาหลี อีกตำแหน่งหนึ่ง

พ.ศ.๒๕๐๘ รับตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร่า ประเทศออสเตรเลีย และ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเวลลิงตัน ประเทศนิวซีแลนด์ ด้วย

พ.ศ.๒๕๐๙ กลับมารับราชการเป็น รองปลัดกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ

พ.ศ.๒๕๑๓ ประจำกองบัญชาการทหารสูงสุด

พ.ศ.๒๕๑๔ เลื่อนยศเป็นพลโท

พ.ศ.๒๔๑๗ เกษียณอายุราชการ

พ.ศ.๒๕๑๕ เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

พ.ศ.๒๕๑๘ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาวิทยาลัยของรัฐ

พ.ศ.๒๕๒๔ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

พลโท ชาญ อังศุโชติ ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๘ และได้รับการเลือกตั้ง ฯ อีกใน พ.ศ.๒๕๒๒ พ.ศ.๒๕๒๖

หลังจากที่ได้พ้นสภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๙ แล้วท่านยังได้ร่วมเป็นกรรมการเรียบเรียงประวัติการสงครามของไทย ในสงครามมหาเอเซียบูรพา และสงครามเกาหลี ของกรมยุทธศึกษาทหาร กองบัญชาการทหารสูงสุด ในการเรียบเรียงหนังสือประวัติศาสตร์ทั้งสองเรื่องนี้ ต้องใช้เวลาในการเรียบเรียงนานพอสมควร ซึ่งจะต้องเดินทางไปหาข้อมูลจากสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี นอกจากการศึกษาค้นคว้าเอกสารตามหน่วยราชการ และในสถาบันต่าง ๆ ในประเทศไทยแล้ว ยังต้องศึกษาเอกสารทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งทำให้หนังสือนี้มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ที่จะทำให้ได้ทราบความเป็นมาของประวัติศาสตร์การทหารของไทย มิใช่ตำนาน หรือจดหมายเหตุการรบอีกต่อไป

และด้วยความรักเหล่าทหารสื่อสาร อันเป็นต้นกำเนิดในชีวิตราชการของท่าน แม้จะได้จากไปเป็นเวลานานกว่าสี่สิบปี ท่านก็ยังได้กรุณาเขียนจดหมาย ถึงบรรณาธิการนิตยสารทหารสื่อสาร ในฉบับ มกราคม ๒๕๓๓ ซึ่งแสดงถึงความผูกพันของท่าน ที่มีต่อเหล่าทหารสื่อสารอย่างแนบแน่น มีความว่า

ผมได้อ่านหนังสือทหารสื่อสาร ฉบับกันยายน-ธันวาคม ๒๕๓๒ ที่ท่านได้กรุณาส่งให้ผมแล้ว ทำให้มีความสุขใจมาก สมกับที่นักปราชญ์ผู้หนึ่งท่านกล่าวว่า เมื่ออายุเข้าสู่วัยชรา ความสุขจะอยู่กับอดีต อันแตกต่างกับผู้ที่เยาว์วัย ซึ่งฝากความสุขไว้กับอนาคต (ถ้าคุณอ่านหนังสือ ๖๐ ปี เหล่าทหารสื่อสาร ๒๗ พ.ค.๒๗ หน้า ๔๐๓ จะทราบว่าผมสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก ออกเป็นนายทหารสัญญาบัตร เหล่าทหารสื่อสาร เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๗๗ คือเมื่อ ๕๕ ปีเศษมาแล้ว) ขณะนี้ผมมีอายุ ๗๕ ปีเศษ ๆ แต่ผมยังจำเรื่องราวของทหารสื่อสารได้เป็นส่วนมาก และดีใจเป็นพิเศษที่ได้อ่านหนังสือทหารสื่อสารฉบับนี้ เหตุผลที่ผมพูดว่าดีใจเป็นพิเศษก็คือ

๑. เท่าที่ผมจำได้ นายทหารสื่อสารที่ครองตำแหน่งการบังคับบัญชาชั้นสูงสุดของกองทัพบก ได้เป็นรองผู้บัญชาการทหารบก ๒ ท่าน (พลเอก โชติ หิรัญยัษฐิติ กับ พลเอก สัณห์ จิตรปฏิมา) และได้เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ๒ ท่าน (พลเอก จรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ กับ พลเอก ไสว ไสวแสนยากร) บัดนี้เรามีผู้บัญชาการทหารบก และรักษาราชการผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งเป็นนายทหารสื่อสารโดยกำเนิด ทำให้ผมหวังว่าเหล่าของเราจะรุ่งโรจน์ต่อไป ไม่น้อยหน้าเหล่าอื่น

๒. ผมได้อ่านเรื่องของ พันเอก แสง จุละจาริตต์ ซึ่งเคยรับราชการเป็นผู้บังคับหมวด ในกองร้อยเดียวกับผม ที่กองโรงเรียนทหารสื่อสาร พ.ศ.๒๔๗๗ ทุกวันนี้เราก็เป็นเจ้าหน้าที่ช่วยเรียบเรียงประวัติศาสตร์ทหาร ตามคำขอร้องของกรมการศึกษาวิจัย กองบัญชาการทหารสูงสุดอยู่ด้วยกัน

๓. ผมได้อ่านเรื่องของ พันโท สถิตย์ พจนานนท์ เกี่ยวกับเพลงมาร์ชของทหารสื่อสาร คุณสถิตย์เป็นนักร้องคนสำคัญของทหารสื่อสาร แม้ว่าผมจะย้ายไปรับราชการที่อื่นตั้งแต่เป็นร้อยเอก แล้วไม่ได้กลับมาเป็นนายทหารสื่อสาร จนครบเกษียณอายุออกจากราชการ เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๗ ก็ตาม เราก็ยังพบกันบ่อย ๆ เฉพาะอย่างยิ่งในงานวันทหารสื่อสารประจำปี

จดหมายฉบับนี้ได้แสดงถึงน้ำจิตน้ำใจของท่าน ที่มีอยู่กับเหล่าทหารสื่อสาร อย่างแน่นสนิทเพียงใด เราท่านที่เป็นทหารสื่อสารในปัจจุบัน น่าจะได้รำลึกและจดจำไว้เป็นแบบอย่างต่อไป

พลโท ชาญ อังศุโชติ ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ ๑๗ กันยายน ๒๕๔๔ อายุ ประมาณ ๘๗ ปีและพระราชทานเพลิงศพ ณ วัดธาตุทอง เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร เมื่อ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๔

##########



Create Date : 29 กันยายน 2553
Last Update : 29 กันยายน 2553 8:10:27 น.
Counter : 1050 Pageviews.

0 comments
เจาะลึกการเดินทาง ‘Apollo 11’: รายการ KornKT peaceplay
(8 ก.ค. 2567 23:06:59 น.)
The golden boy : รูปพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 (agian) ผู้ชายในสายลมหนาว
(5 ก.ค. 2567 16:20:15 น.)
Singular or Plural nouns Stricky-rice
(20 มิ.ย. 2567 11:50:42 น.)
ภาพยนตร์สารคดี "Breaking the Cycle" toor36
(14 มิ.ย. 2567 00:11:23 น.)
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Pn2474.BlogGang.com

เจียวต้าย
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 45 คน [?]

บทความทั้งหมด