เรื่องเล่าจากอดีต (๒๔) ทหารสื่อสารที่เป็นอธิบดีของกรมประชาสัมพันธ์ เรื่องเล่าจากอดีต (๒๔) ทหารสื่อสารที่เป็นอธิบดีคนแรกของกรมประชาสัมพันธ์ พ.สมานคุรุกรรม กรมประชาสัมพันธ์ เป็นหน่วยงานที่สำคัญยิ่ง สำหรับรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย เพราะเป็นแหล่งกลางที่จะเผยแพร่นโยบายและผลงานของรัฐบาล รวมทั้งเผยแพร่ข่าวสารการเมือง ศีลธรรมวัฒนธรรม ความรู้และความบันเทิง ตลอดจนเป็นสื่อกลาง สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างรัฐบาลกับ ประชาชนด้วย หน่วยงานนี้เพิ่งใช้ชื่อนี้เมื่อ เดือนมีนาคม ๒๕๙๕ นับถึงบัดนี้ก็มีอายุกว่า ๕๒ ปีแล้ว แต่ที่จริงแล้วยังมีอดีตที่ไกลกว่านั้น คือ ได้เริ่มจัดตั้งเป็นกองการโฆษณา มีฐานะเป็นกรมอิสระ ขึ้นตรงต่อคณะรัฐมนตรี ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๔๗๖ และได้เปลี่ยนชื่อเป็น สำนักงานโฆษณาการ เมื่อเดือนธันวาคม ปีเดียวกัน และปฏิบัติราชการต่อมาอีก ๗ ปี จึงเปลี่ยนชื่อเป็นกรมโฆษณาการ เมื่อ เดือนกรกฎาคม ๒๔๘๓ และได้ปฏิบัติงานจนมีชื่อเสียงโด่งดัง ตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งถ้านับจากจุดนี้ ก็จะมีอายุได้ ๖๔ ปี ผู้บริหารสูงสุดของหน่วยนี้ มีตำแหน่งเป็นอธิบดี และอธิบดีท่านแรกเมื่อเริ่มก่อตั้งมีชื่อว่า พันตรี วิลาศ โอสถานนท์ นายทหารพิเศษ เหล่าทหารสื่อสาร ที่มีชื่อเสียงคู่เคียงกันมากับ พันตรี ควง อภัยวงศ์ นั่นเอง ท่านเป็นบุตรคนโตของ พระยาประชากิจกรจักร (ชุบ โอสถานนท์) และคุณหญิงนิล เกิดเมื่อ ๗ พฤศจิกายน ๒๔๔๓ ที่บ้านริมคลองโอ่งอ่าง อำเภอสำราญราษฎร์ จังหวัดพระนคร สำเร็จการศึกษา จบชั้นมัธยมปีที่ ๘ จากโรงเรียนมหาดเล็กหลวง เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๓ และสำเร็จปริญญาตรี ทางด้านวิศวกรรมและเกษตรกรรม จากประเทศอังกฤษ เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๒ กลับมารับราชการครั้งแรก เป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานนา กรมเกษตร ในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ นั้น ท่านเล่าไว้ว่า ตอนร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครองนี่ ไม่ใช่ไม่กลัวตาย กลัว แต่ถึงได้บอกว่าก่อนที่เขาจะเอาไปเป็นพวกนี่ เขาถามว่านอนกรนหรือเปล่า เขาถามว่าละเมอหรือเปล่า คือว่าถ้าละเมอแล้วมันอาจจะไปเปิดเผย ผมนี่นะครับเขาให้เป็นช่าง เขารู้ว่าผมชอบทำเครื่องอะไรต่ออะไร เขาเอาปืนมาให้ผมคนละกระบอกให้ถูเลขออก คือปืนทุกกระบอกจะมีเลข ให้เอาตะไบถู ทีนี้ผมมีเครื่องมือ เมื่อก่อนผมซ่อมรถเอง ก็เอาเครื่องมือถู แหมมันมา ๓ กระบอก ๕ กระบอก พ่อตาผม (นายเซียวฮุดเส็ง สีบุญเรือง) เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์จีนโนสยามวารศัพท์ เขาเดินไปเดินมา เขาได้ยินเสียงใครตะไบไอ้นี่ทุกวัน ๆ ก็ขึ้นมาดู ถามว่าวิลาศตะไบปืนทำไมล่ะ แหมเวลานั้นหัวดี ผมบอกเดี๋ยวนี้รัฐบาลเขาจะออกตัวเลขปืนใหม่ เขาจะเปลี่ยนใหม่หมดแล้ว แกบอกว่าไม่ต้องไปถูเอง ไปเรียกคนที่โรงพิมพ์มาถูให้ ผมนึกแหมเรายิ่งปิดอยู่ ไม่อยากให้ใครรู้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ท่านได้ถูกกำหนดให้ไปปฏิบัติการร่วมกับ คุณควง อภัยวงศ์ ในการทำลายสายโทรเลขที่กรมไปรษณีย์โทรเลข เชิงสะพานพุทธฯ และต่อมาเมื่อประเทศไทยได้เข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย คุณควง อภัยวงศ์ได้เป็นหนึ่งในคณะผู้ก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ และได้สมัครผู้แทนราษฎรในเขตอำเภอยานนาวา กรุงเทพฯ แข่งขันกับท่านซึ่งอยู่คนละพรรค เมื่อวันที่ ๖ มกราคม ๒๔๘๙ และเกิดการโฆษณาหาเสียงเป็นที่ฮือฮากันในสมัยนั้น โดยทางฝ่ายคุณควงได้ใช้คือ เหล็กวิลาศหรือจะสู้ตะปูควง แม้ท่านจะมิได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนั้น ท่านก็ยอมรับผลด้วยน้ำใจนักกีฬา และได้อธิบายให้ลูกชายซึ่งขณะนั้นยังอยู่ในวัยเด็ก และเป็นนักเรียนร่วมชั้นกับลูกของคุณควง อภัยวงศ์ ว่าการเลือกตั้งย่อมมีฝ่ายแพ้และฝ่ายชนะ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของวิถีทางประชาธิปไตย ถึง พ.ศ.๒๔๗๘ ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นข้าหลวงพาณิชย์ต่างประเทศ ของกระทรวงเศรษฐการ ประจำประเทศจีน เป็นคนแรกเมื่อ ๑ มิถุนายน ๒๔๗๘ ท่านเล่าให้ฟังว่า หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๓ ปี เขาให้ผมไปเป็นข้าหลวงพาณิชย์ที่ฮ่องกง ผมยังหนุ่มอยู่ ผมนุ่งกางเกงขาสั้นจะไปตีเทนนิสที่สโมสร มีฝรั่งพ่อค้าคนหนึ่งเขามานั่งรออยู่ที่ห้องรับแขกตอนเช้า อยากจะพบผม เขามีการ์ดมาด้วย เขาอยากจะติดต่อค้าขาย แหมฝรั่งมันลุกขึ้นยืนบอกว่าบอกคุณพ่อคุณนะ มันคิดว่าผมเป็นลูกข้าหลวงพาณิชย์ ผมบอกมันว่า มาย ฟาเธอร์ อิส อิน ไทยแลนด์ มัน ตกใจเลย ที่ฮ่องกงมีสโมสร ผมไปหมดทุกสโมสรเลย รู้จักคนทั่วหมด เพราะเราต้องการจะให้เขารู้ว่าเราเป็นข้าหลวงพาณิชย์มาศึกษาในเรื่องการค้า เวลานั้นผมยังหนุ่มมาก ไม่สมควรจะไปเป็นข้าหลวงพาณิชย์หรอก คือคณะรัฐมนตรีเขาเอาผมเป็นเพราะเขาเห็นว่าผมเหมาะสมที่สุด เนื่องจากเป็นลูกเขยของนายเซียวฮุดเส็ง ซึ่งเป็นรัฐมนตรีจีนของมณฑลกวางตุ้ง สมัยดอกเตอร์ซุนยัดเซ็น ผมไปเล่าเรื่องให้ฝรั่งสมาชิกที่สปอร์ตคลับที่ฮ่องกงฟัง มันบอกว่า ไอ้แกมันรูปร่างเด็กนี่หว่า ผมมาเล่าเรื่องนี้ให้เจ้าคุณพหลฯ ฟัง ผมบอกว่าแหมมันน่าขันเหลือเกิน ท่านเจ้าคุณพหลฯ บอกนี่จะเตือนให้นะ ไว้หนวดเสียซิ เหมือนอย่างคุณพ่อ ในเช้าตรู่วันที่ ๘ ธันวาคา ๒๔๘๔ กองทัพญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกหลายแห่งในภาคใต้ของประเทศไทยเป็นการเปิดฉากการเริ่มต้นสงครามมหาเอเซียบูรพา ในขณะนั้นท่านดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมโฆษณาการคนแรก และเป็นผู้ก่อตั้งกรมนี้ และยังได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม โดยคุณควงอภัยวงศ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม อีกด้วย รัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ทราบข่าวแล้วว่าญี่ปุ่นจะบุกเข้ามายังประเทศไทย แต่ยังไม่ชัดเจนในเรื่องของวันที่จะบุก เมื่อถึงวันนั้นคณะรัฐมนตรีจึงได้มีการเรียกประชุมด่วน แต่ปรากฏว่าไม่มีผู้ใดสามารถติดต่อนายกรัฐมนตรีได้ ว่าท่านอยู่ที่ใด ทูตญี่ปุ่นก็มานั่งคอยอยู่เพื่อจะได้รับทราบจากฝ่ายรัฐบาลไทยว่าจะตัดสินใจประการใด เป็นเวลาหลายชั่วโมง ท่านจอมพล ป. จึงได้เดินทางมาถึงและแจ้งให้ทราบว่า ตลอดเวลาที่ท่านหายไปนั้น ท่านได้ประเมินสถานการณ์กำลังทัพทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายญี่ปุ่น และได้ติดต่อกับกองทัพญี่ปุ่น เพื่อหลีกเลี่ยงความพินาศที่อาจเกิดขึ้น กับประเทศชาติและประชาชน โดยยินยอมให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไทยไปสู่สิงคโปร์ มลายู และพม่า แต่ทั้งนี้มีเงื่อนไขว่า ญี่ปุ่นจะไม่ทำร้ายคนไทย เพราะหากฆ่าฟันคนไทยแล้ว ไม่เพียงแต่ญี่ปุ่นจะรบกับทหารไทยเท่านั้น แต่จะต้องรบกับคนไทยทั้งประเทศ ซึ่งญี่ปุ่นก็ยินยอมตกลงตามเงื่อนไข ในเรื่องการเข้าร่วมในขบวนการเสรีไทยในประเทศนั้น ท่านสมัครใจที่จะอยู่เป็นลูกสายของ คุณหลวงนฤเบศร์มานิต (สงวน จูฑะเตมีย์) หน้าที่หลักของท่านก็คือการรับอาวุธยุทโธปกรณ์ ซึ่งฝ่ายเสรีไทยในต่างประเทศ จะเป็นผู้ทิ้งลงมากับร่มชูชีพ รวมทั้งคอยรับทหารต่างชาติที่จะเข้ามาร่วมฝึก การใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ดังกล่าว ท่านได้เล่าถึงการปฏิบัติงานครั้งหนึ่ง เมื่อไปขนอาวุธจากภาคใต้ ลำเลียงเข้ากรุงเทพฯ ว่า รถกระบะคันนั้นมีผู้โดยสาร ๓ คน คือ นายถนอมคนรถ คุณหลวงนฤเบศร์มานิต และตัวท่าน กำลังมุ่งหน้าสู่กรุงเทพฯ โดยมีอาวุธเต็มค่อนรถ และลูกมะพร้าวแห้งทับปิดไว้ เมื่อรถถึงปราณบุรีมีทหารญี่ปุ่น ๔ นาย ยืนโบกมือให้รถหยุด ท่านและคุณหลวงนฤเบศร์ฯ ตัดสินใจทำใจดีสู้เสือจอดรถตามคำสั่ง ทหารญี่ปุ่นส่งภาษาใบ้พอเข้าใจได้ว่าจะขออาศัยโดยสารไปด้วย ทั้งสองท่านจึงไม่มีทางเลี่ยง โดยให้ทหารญี่ปุ่นขึ้นนั่งบนกองมะพร้าวนั่นเอง และกระซิบบอกกันระหว่างรถวิ่งต่อไปว่าเราสามคน ต้องเก็บเจ้าญี่ปุ่นสี่คนให้ได้ ก่อนที่มันจะฆ่าเรา รถวิ่งไปได้ชั่วครู่เมื่อใกล้ถึงเพชรบุรี มีเสียงกระทุ้งส่งสัญญาณจากญี่ปุ่น นายถนอมจึงหยุดรถ พร้อมที่จะปฏิบัติการ แต่ทหารญี่ปุ่นไม่ทราบถึงสิ่งผิดปกติ โบกมืออำลาและขอบอกขอบใจที่ให้อาศัยรถมา ท่ามกลางความโล่งอกของคนไทยทั้งสาม ท่านเล่าเรื่องนี้พร้อมกับกล่าวว่า ไม่รู้รอดมาได้อย่างไร พันตรี วิลาศ โอสถานนท์ ได้เป็นหัวหน้าสำนักงานโฆษณาการ เมื่อ ๑ มกราคม ๒๔๘๒ และเป็นอธิบดีกรมโฆษณาการคนแรก เมื่อ ๔ พฤษภาคม ๒๔๘๒ ต่อมาได้แปรสภาพเป็น อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เมื่อ ๒๐ สิงหาคม ๒๔๘๔ ท่านได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกพฤฒิสภาเมื่อ ๒๔ พฤษภาคม ๒๔๘๙ และได้เป็นประธานพฤฒิสภาและประธานรัฐสภา เมื่อ ๔ มิถุนายน ๒๔๘๙ เมื่อถึง ๒๓ สิงหาคม ๒๔๘๙ เป็นปีที่ ๑ ในรัชกาลปัจจุบัน ท่านเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี และท่านเองก็ได้รับพระบรมราชโองการ แต่งตั้งให้เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวง พาณิชย์ เมื่อ ๒๔ สิงหาคม ๒๔๘๙ หลังจากเกิดการรัฐประหารเมื่อ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ มีผลให้ พันตรี วิลาศ โอสถานนท์ ได้ออกเดินทางไปฮ่องกง ตั้งแต่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ แต่ต่อมาก็ได้กลับมาดำเนินการจัดตั้งธนาคารเกษตร จำกัด และเป็นกรรมการผู้จัดการ เมื่อ ๑๘ พฤษภาคม ๒๔๙๓ ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นธนาคารกรุงไทย จนถึงปัจจุบัน และท่านยังได้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ อีกมาก หลังจากที่ท่านได้พ้นหน้าที่ราชการแล้ว สุขภาพของท่านอยู่ในขั้นดีตลอดมา เพราะท่านเป็นนักกีฬา และดำเนินชีวิตอย่างสมถะ กีฬาที่ท่านเล่นเป็นประจำคือ กอล์ฟ ซึ่งท่านได้เล่นมาจนอายุพ้น ๙๐ ปีไปแล้ว ซึ่งน้อยคนนักที่จะปฏิบัติเช่นนั้นได้ ลูกหลานของท่านได้เล่าเพิ่มเติมว่า ท่านสามารถขำขันกับตนเองได้ในทุกเรื่อง พฤติกรรมของคนในวัยท่านที่เริ่มเชื่องช้า อาทิการชอบขับรถซิ่ง ของท่าน แม้ว่าจะมีปัญหาเรื่องตา (ขณะนั้นท่านอายุประมาณ ๘๐ ปี ) จึงไปขับเฉี่ยวกับรถอีกคันหนึ่ง ซึ่งเมื่อท่านลงจากรถพร้อมที่จะต่อว่าต่อขานกับอีกฝ่ายหนึ่ง ตามประสาคนที่เคยอารมณ์ร้อนในวัยหนุ่ม ก็ได้พบว่าผู้ขับขี่เป็นผู้สูงอายุ และตามองไม่เห็นชัดเช่นเดียวกับท่าน เรื่องก็เลยจบลงด้วยความขำขัน ในความชราภาพ และจากกันด้วยไมตรีของทั้งสองฝ่าย ท่านได้ถึงแก่กรรมด้วยระบบหัวใจล้มเหลว ที่โรงพยาบาลสมิติเวช เมื่อ ๑๓ มกราคม ๒๕๔๐ สิริอายุได้ ๙๖ ปี ๒ เดือน ๕ วัน ชีวิตของทหารสื่อสารท่านหนึ่ง ที่ได้เป็นอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ท่านแรก จึงสิ้นสุดลงแต่เพียงนี้ เราทหารสื่อสารรุ่นปัจจุบัน จึงน่าจะจดจำท่านไว้ด้วยความภาคภูมิใจ ที่ท่านได้เป็นนายทหารพิเศษ เหล่าทหารสื่อสาร อันควรแก่การจารึกชื่อไว้ ในฐานะเดียวกับท่าน พันตรี ควง อภัยวงศ์ เช่นกัน. ############ ผมว่าท่านมีอัธยาศัยดีพอ ๆ กับท่านควง อภัยวงศ์ นะครับ.
โดย: เจียวต้าย
![]() |
บทความทั้งหมด
|
นี่สุดยอดเลยครับ
สำหรับแนวคิดและการใช้ชีวิต