เรื่องเล่าจากอดีต (๒๖) ประวัติศาสตร์ของทหารสื่อสาร
เรื่องเล่าจากอดีต (๒๖)

ประวัติศาสตร์ของทหารสื่อสาร

พ.อ.ไพฑูรย์ นิมิปาล

ประวัติศาสตร์นั้นมีมาตั้งแต่เมื่อไรก็ไม่ทราบ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นและล่วงมาแล้ว ย่อมเป็นประวัติศาสตร์ทั้งสิ้น เรามีการบันทึกประวัติศาสตร์กันมานาน นับเป็นพัน ๆ ปีมาแล้ว และยังมีการบันทึกถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น เรียกว่าก่อนประวัติศาสตร์อีกด้วย

ประวัติศาสตร์นั้นมีตั้งแต่ประวัติของจักรวาล ประวัติของโลก ประวัติของ มนุษยชาติ ประวัติศาสตร์สากล ในประเทศไทยเราก็มีการบันทึกประวัติศาสตร์ชาติไทย นับย้อนถอยหลังไปได้ร่วมพันปี แต่ในที่นี้จะขอเล่าเพียงประวัติศาสตร์ของทหารสื่อสาร ซึ่งถือกำเนิดมาแล้วกว่า ๗๐ ปี แต่เพิ่งจะมีการบันทึกกันเมื่อประมาณ ๓๘ ปีที่แล้วเท่านั้น

ในกองทัพบกไทยนั้น ผู้ที่มีภารกิจในการบันทึกประวัติศาสตร์ของหน่วย ตั้งแต่ระดับกองพลขึ้นไป จะอยู่ในกองอำนวยการ หรือเสนาธิการฝ่ายยุทธการ ในอัตราการจัดของกรมการทหารสื่อสารฉบับก่อน ๆ จึงระบุให้ตำแหน่งประจำแผนก ในกองยุทธการและการฝึก ทำหน้าที่นายทหารประวัติศาสตร์ของหน่วยตลอดมา

ผมเริ่มเป็นทหารสื่อสารเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๗ และอยู่มาจนถึง พ.ศ.๒๕๒๙ จึงได้รับตำแหน่ง หัวหน้าแผนกห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์ กองวิทยาการ กรมการทหารสื่อสาร ซึ่งมีหมายเหตุไว้ในอัตราการจัดว่า ทำหน้าที่นายทหารประวัติศาสตร์ของหน่วยด้วย ไม่ทราบว่าท่านเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่เมื่อใด เมื่อผมเข้ามารับหน้าที่ ผมก็ระลึกถึงท่านอาจารย์ พ.อ.วัฒน์ กัจฉปานันทน์ ที่สอนเอาไว้ว่า เมื่อได้รับตำแหน่งใดสิ่งแรกที่จะต้องทำก็คือ ศึกษาภารกิจและหน้าที่ของตำแหน่งนั้นให้เข้าใจ ว่ามีอะไรบ้าง แล้วก็ปฏิบัติราชการไปตามกรอบนั้น ให้สำเร็จครบถ้วนทุกประการ

ภารกิจของแผนกห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์ ก็เป็นไปตามชื่อแผนก คือการจัดและบริหารห้องสมุด กับการจัดและบริหารพิพิธภัณฑ์สื่อสาร แถมมีภารกิจแฝงคือการจัดทำนิตยสารทหารสื่อสารอีกด้วย ส่วนภารกิจในการบันทึกประวัติศาสตร์ของหน่วยนั้น เป็นหน้าที่ของหัวหน้าแผนก โดยเฉพาะเจาะจง

ผมจึงได้เริ่มบันทึกเรื่องราวที่สำคัญเป็น จดหมายเหตุสื่อสาร ในนิตยสารทหารสื่อสารเป็นครั้งแรก ในฉบับที่ ๒ ปีที่ ๔๐ ประจำเดือน พฤษภาคม ๒๕๓๐ โดยหวังว่าเรื่องราวนั้นจะได้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และแม้เมื่อผมได้พ้นหน้าที่ไปแล้ว ก็คงจะมีผู้บันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นแก่หน่วยทหารสื่อสารในกองทัพบก ไว้ในจดหมายเหตุสื่อสาร เพื่อรวบรวมเป็นประวัติศาสตร์ของทหารสื่อสารต่อไป ในอนาคต

แต่ความจริงผมได้สนใจในประวัติศาสตร์ ของเหล่าทหารสื่อสาร มาก่อนหน้านี้ตั้งนานแล้ว ตั้งแต่ผมเข้ามาเกี่ยวข้องกับนิตยสารทหารสื่อสาร เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๘ ผมก็ได้พบว่ามีผู้บันทึก ประวัติทหารสื่อสาร ไว้เป็นลำดับมา

ครั้งแรกหลังจากที่ได้ประกาศว่า วันที่ ๒๗ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๖๗ เป็นวันเริ่มก่อกำเนิดเหล่าทหารสื่อสาร ตามประกาศกรมการทหารสื่อสาร เรื่อง วันที่ ๒๗ พฤษภาคม เป็นวันกำเนิดทหารสื่อสาร ลงวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๐๗ แล้ว ก็ได้มีการบันทึกประวัติทหารสื่อสาร เป็นครั้งแรก ลงพิมพ์ในนิตยสารทหารสื่อสาร เล่มที่ ๓ ปีที่ ๑๕ ประจำเดือนพฤษภาคม ๒๕๐๗ เริ่มตั้งแต่ ร.ศ.๑๒๖ หรือ พ.ศ.๒๔๕๐ จนถึง ๒๕๐๖ และท้ายประวัติ มีรายนามผู้บังคับบัญชา ของทหารสื่อสาร ดังนี้

ร.อ.ชิต ธรรมทัต ผู้บังคับกองโรงเรียนทหารสื่อสาร ๒๔๖๗ - ๒๔๖๘

ร.อ.หลวงสุรวุฒิเรืองโรจน์ ผู้บังคับกองทหารสื่อสาร รั้งตำแหน่งผู้บังคับกอง

โรงเรียนทหารสื่อสาร ๒๔๖๘ - ๒๔๖๙

ร.อ.หลวงโยธาณัติการ ผู้บังคับกองพันทหารสื่อสารที่ ๑ ๒๔๗๐ - ๒๔๗๒

พ.ต.หลวงอินทรเรืองเดช ผู้บังคับกองพันทหารสื่อสารที่ ๑ ๒๔๗๒ - ๒๔๗๕

พ.ท.หลวงเสรีเริงฤทธิ์ หัวหน้าแผนกที่ ๕ กรมจเรทหารบก และรักษาราชการแทน ผู้บังคับกองพันทหารสื่อสารที่ ๑ ๒๔๗๖-๒๔๗๗

พ.ท.หลวงเสรีเริงฤทธิ์ หัวหน้าแผนกที่ ๕ กรมจเรทหารบก และรักษาราชการแทน ผู้อำนวยการโรงเรียนทหารสื่อสาร ๒๔๗๗-๒๔๘๔

พ.อ.หลวงโยธาณัติการ หัวหน้าแผนกทหารสื่อสาร กรมเสนาธิการทหารบก ๒๔๘๔ - ๒๔๘๕

พล.ต.หลวงเสรีเริงฤทธิ์ รักษาราชการ หัวหน้าแผนกทหารสื่อสาร กรมเสนาธิการ ทหารบก ๒๔๘๕ - ๒๔๘๖

พ.อ.หลวงรณสารปรีชา หัวหน้าแผนกทหารสื่อสาร กรมเสนาธิการทหารบก ๒๔๘๖ - ๒๔๘๗

พ.อ.หลวงวรวุฒิวิชัย หัวหน้าแผนกทหารสื่อสาร กรมเสนาธิการทหารบก ๒๔๘๗ - ๒๔๘๙

พ.อ.หลวงวรวุฒิวิชัย จเรทหารสื่อสาร ๒๔๘๙ - ๒๔๙๐

พล.ต.ไสว อุ่นคำ ไสวแสนยากร จเรทหารสื่อสาร ๒๔๙๐ - ๒๔๙๔

พ.อ.หลวงกำจัดปัจจามิตร จเรทหารสื่อสาร๒๔๙๔ - ๒๔๙๕

พล.ต.หลวงกำจัดปัจจามิตร เจ้ากรมการทหารสื่อสาร ๒๔๙๕ - ๒๔๙๘

พล.ต.เผชิญ นิมิบุตร เจ้ากรมการทหารสื่อสาร ๒๔๘๙ - ๒๕๐๓

พล.ท.เผชิญ นิมิบุตร รักษาราชการเจ้ากรมการทหารสื่อสาร ๒๕๐๓-๒๕๐๔

พล.ต.สุภชัย สุรวรรธนะ เจ้ากรมการทหารสื่อสาร ๒๕๐๔ - ปัจจุบัน

ประวัติทหารสื่อสารครั้งเริ่มแรกนี้ ยังมีต้นฉบับลายมือเขียนบนกระดาษฟุลแก๊ป เก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑ์ทหารสื่อสาร จนถึงปัจจุบัน แต่ไม่ปรากฎชื่อผู้เรียบเรียง ต่อมาอีกสามปี ก็มีประวัติทหารสื่อสาร โดยผู้ใช้นามปากกา ม.ร.ถ. ลงพิมพ์ในนิตยสารทหารสื่อสาร ฉบับที่ ๒ ปีที่ ๑๘ ประจำเดือนพฤษภาคม ๒๕๑๐ เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๕๖ ถึง ๒๕๐๙ และเพิ่มชื่อผู้บังคับบัญชาอีกหนึ่งท่าน คือ

พล.ต.เฉลิม สุทธิรักษ์ เจ้ากรมการทหารสื่อสาร ๒๕๐๙ - ปัจจุบัน

แต่ทั้งสองครั้งนั้น ไม่มีรูปภาพของผู้บังคับบัญชาแต่ละท่าน ว่าหน้าตาเป็นอย่างไร หลังจากนั้น นิตยสารทหารสื่อสาร เล่มที่ ๓ ปีที่ ๑๙ ฉบับพิเศษวันทหารสื่อสาร ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๑๑ และเล่มที่ ๓ ปีที่ ๒๑ ฉบับพิเศษวันทหารสื่อสาร ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๑๓ ก็ได้ลงพิมพ์รายชื่อผู้บังคับบัญชาของกรมการทหารสื่อสารอีกครั้งหนึ่ง โดยมีรายชื่อเช่นเดียวกับฉบับก่อน

เมื่อผมได้อ่านและศึกษาประวัติทหารสื่อสาร ทั้งหมดที่กล่าวมาแล้ว พอถึงวาระที่ทหารสื่อสาร ครบรอบ ๕๕ ปี ผมจึงเรียบเรียงประวัติทหารสื่อสารขึ้นใหม่ โดยยึดถือข้อมูลที่มีผู้เขียนไว้แล้วเป็นหลัก และได้เขียนต่อเติมจนถึง พ.ศ.๒๕๒๑ ลงพิมพ์ในนิตยสารทหารสื่อสาร ฉบับพิเศษ วันทหารสื่อสาร ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๒๒ พร้อมด้วยภาพถ่ายของผู้บังคับบัญชาจำนวน ๑๒ ท่าน เป็นครั้งแรก คือ ของเดิม ๙ ท่าน

พ.อ.หลวงโยธาณัติการ (เทศ กิตติ
รัต)

พล.อ.หลวงเสรีเริงฤทธิ์ (จรูญ รัตนกุล)

พ.อ.หลวงปรีชารณสาร (ชิต ธรรมทัต)

พล.ต.อ.หลวงวรยุทธวิชัย (พราย จารุมาศ)

พล.อ.ไสว ไสวแสนยากร (ขุนไสวแสนยากร)

พล.ต.หลวงกำจัดปัจจามิตร (

พล.ท.เผชิญ นิมิบุตร

พล.ต.สุภชัย สุรวรรธนะ

พล.ท.เฉลิม สุทธิรักษ์
และเพิ่มอีก ๓ท่าน คือ

พล.ต.ประสิทธิ์ ชื่นบุญ เจ้ากรมการทหารสื่อสาร๒๕๑๗ - ๒๕๑๙

พล.ต.พงศ์ เภกะนันทน์ เจ้ากรมการทหารสื่อสาร๒๕๑๙ - ๒๕๒๐

พล.ต.ทวี จันทราทิพย์ เจ้ากรมการทหารสื่อสาร๒๕๒๐ - ปัจจุบัน

หลังจากนั้นก็ได้เขียนต่อจาก พ.ศ.๒๕๒๒ ถึง พ.ศ. ๒๕๒๖ ลงพิมพ์ในนิตยสารทหารสื่อสาร ฉบับพิเศษ วันทหารสื่อสารครบรอบ ๖๐ ปี และมีภาพผู้บังคับบัญชารวม ๑๔ ท่านต่อจากครั้งที่แล้ว คือ

พล.ต.เฉลิม กรัณยวัฒน์ เจ้ากรมการทหารสื่อสาร๒๕๒๒ - ๒๕๒๖

พล.ต.ประทีป ชัยปาณี เจ้ากรมการทหารสื่อสาร๒๕๒๖ - ปัจจุบัน

ยังขาดอยู่อีก ๒ ท่าน คือ ร.อ.หลวงสุรวุฒิเรืองโรจน์ (ทองสุข ลีลานุช) กับ พ.ต.หลวงอินทร์เรืองเดช (เจริญ เหล็กกล้า) และเพิ่มนามเดิมของท่านที่มีบรรดาศักดิ์ จนครบทุกท่าน

เมื่อผมได้รับตำแหน่งผู้ช่วยบรรณาธิการ นิตยสารทหารสื่อสาร แล้ว ผมก็ได้นำประวัติทหารสื่อสาร มาขยายความเพิ่มเติม ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๘๙ ถึง พ.ศ.๒๕๒๙ รวม ๔๐ ปี ชื่อ ทหารสื่อสารในรัชกาลปัจจุบัน และได้พิมพ์ภาพหัวหน้าเหล่าทหารสื่อสารครบ ๑๗ ท่าน เพิ่มจากคราวก่อน เพียงท่านเดียว คือ

พล.ต.ประจวบ อ่ำพันธุ์ เจ้ากรมการทหารสื่อสาร๒๕๒๙ - ปัจจุบัน

จากนั้นก็ไม่มีการพิมพ์ประวัติทหารสื่อสารอีกเลย จนถึง พ.ศ.๒๕๓๙ ผมเกษียณอายุราชการไป ๔ ปีแล้ว ก็ได้รับเชิญให้ไปร่วมจัดทำหนังสือที่ระลึกทหารสื่อสาร ครบรอบ ๗๒ ปี ผมจึงนำประวัติทหารสื่อสาร ที่ลงพิมพ์เมื่อทหารสื่อสารครบรอบ ๖๐ ปี มาปรับปรุงและเขียนต่อถึง พ.ศ.๒๕๓๘ กับมีภาพของหัวหน้าเหล่าครบทั้ง ๒๐ ท่าน เพิ่มจากครั้งที่แล้ว ๓ ท่าน คือ

พล.ต.จารุพันธุ์ บูรณสงคราม เจ้ากรมการทหารสื่อสาร ๒๕๓๑ - ๒๕๓๓

พล.ท.วิจิตร จุณภาต เจ้ากรมการทหารสื่อสาร๒๕๓๓ - ๒๕๓๖

พล.ท.ยงยุทธ ยุทธการบัญชา เจ้ากรมการทหารสื่อสาร ๒๕๓๖ - ๒๕๓๘

นับเป็นครั้งสุดท้าย ที่มีการบันทึกประวัติทหารสื่อสาร โดยยุติลงเพียงแค่ พ.ศ.๒๕๓๘ เท่านั้น จากบัดนั้นจนถึงบัดนี้ เหล่าทหารสื่อสารได้มีวิวัฒนาการอย่างไร น่าจะมีผู้บันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ ให้ลูกหลานทหารสื่อสารได้ทราบ เพราะถ้าจะรอให้ถึงร้อยปีแล้ว จึงค่อยย้อนมาค้นหา ก็คงจะยากลำบากมิใช่น้อย

ปัจจุบันมีหัวหน้าเหล่าทหารสื่อสารเพิ่มขึ้น ต่อจากนั้นอีก ๕ ท่านคือ

พล.ต.บุลฤทธิ์ เจริญราช เจ้ากรมการทหารสื่อสาร ๒๕๓๘ - ๒๕๔๐

พล.ต.เจริญ เบญจาทิกูล เจ้ากรมการทหารสื่อสาร ๒๕๔๐ - ๒๕๔๒

พล.ต.เอนก สาตราวุธ เจ้ากรมการทหารสื่อสาร๒๕๔๒ - ๒๕๔๔

พล.ต.วิทยา งามกาละ เจ้ากรมการทหารสื่อสาร๒๕๔๔ - ๒๕๔๕

พล.ต.ชรินทร์ มังกรดิน เจ้ากรมการทหารสื่อสาร๒๕๔๕

หัวหน้าเหล่าทหารสื่อสารทั้งหมดนี้ ที่มียศสุดท้ายเป็น พลเอก ๒ ท่านคือ พล.ต.วิจิตร จุณภาต และ พล.ต.ยงยุทธ ยุทธการบัญชา เป็น พลโท ๕ ท่านคือ พล.ต.เผชิญ นิมิบุตร, พล.ต.เฉลิม สุทธิรักษ์, พล.ต.จารุพันธุ์ บูรณสงคราม, พล.ต.เจริญ เบญจาทิกูล และ พล.ต.เอนก สาตราวุธ

ต่อไป ตำแหน่งหัวหน้าเหล่าทหารสื่อสาร จะเป็นอัตรา พลโท และคงจะมีภารกิจกว้างขวางออกไปอีกมาก ก็ได้แต่หวังว่าคงจะมีทหารสื่อสารที่รับผิดชอบ ในการบันทึกประวัติของเหล่าทหารสื่อสาร ดำเนินการต่อเนื่องกันไป จนถึงวันครบรอบ ๑๐๐ ปีทหารสื่อสาร โดยไม่ต้องจุดธูปเชิญผมมาปรึกษาอีกครั้ง

ในระหว่างนี้หากจะมีท่านผู้ใดตั้งปัญหาถามว่า ใครเป็นผู้เขียน ประวัติทหาร สื่อสาร ก็น่าจะแนะนำให้ท่านอ่านเรื่องนี้ ก็จะได้ทราบความเป็นมาโดยตลอด ไม่ต้องเกี่ยงให้มาถามผมเหมือนอย่างที่เคยทำ

ส่วนที่มีผู้ถามว่า หัวหน้าเหล่าทหารสื่อสารนั้น ใครเป็นผู้บันทึก และที่เรียงมานั้นถูกต้องหรือไม่ โดยเฉพาะก่อนที่จะเป็นตำแหน่ง เจ้ากรมการทหารสื่อสาร ก็ควรจะแนะนำให้ไปอ่าน นิตยสารทหารสื่อสาร ฉบับแรกที่ผมอ้างถึง และฉบับที่ ๑ ปีที่ ๔๗ ประจำเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๗ หรือ วันทหารสื่อสาร ครบรอบ ๗๐ ปี ในคอลัมน์ มุมพิพิธภัณฑ์ เรื่อง หัวหน้าเหล่ากับพิพิธภัณฑ์ โดย “ เทพารักษ์ “ หน้า ๔๓-๔๖ เอาเองก็แล้วกัน เพราะได้ขยายความไว้ชัดเจนแล้ว.


############


นิตยสารทหารสื่อสาร
พฤษภาคม ๒๕๔๖



Create Date : 24 เมษายน 2553
Last Update : 24 เมษายน 2553 9:38:03 น.
Counter : 2597 Pageviews.

4 comments
⭐️💝💞ดีที่มีเป้าหมาย⭐️💝💞 โอน่าจอมซ่าส์
(22 มี.ค. 2566 02:18:23 น.)
การฝึกอบรมออนไลน์ที่โรงเรียนไอทสตาร์ สมาชิกหมายเลข 7432877
(17 มี.ค. 2566 00:30:07 น.)
Halogen: สตาร์ทอัพสายSpace Tech peaceplay
(17 มี.ค. 2566 03:40:49 น.)
ประกันเดินทาง ช่วยเรื่องอะไรบ้าง ทำไมถึงควรทำ สมาชิกหมายเลข 7203682
(22 ก.พ. 2566 01:04:06 น.)
  

มาเยี่ยมชม มาทักทายครับ

การบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ไว้ในรูปของจดหมายเหตุ ผมก็ว่ามันเป็นการบันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ได้เหมือนกันนะครับ

อิอิ
โดย: อาคุงกล่อง วันที่: 26 เมษายน 2553 เวลา:23:09:12 น.
  
ถูกต้องแล้วครับคุณ อาคุงกล่อง
เมื่อรับราชการผมมีเวลาทำหน้าที่นี้เพียง ๔-๕ ปีเท่านั้นครับ
แต่ก็พยายามบันทึกเท่าที่จะทำได้ครับ.
โดย: เจียวต้าย วันที่: 27 เมษายน 2553 เวลา:11:29:08 น.
  
รายงานแจ๋วมั่กๆ ค่ะ ชอบเรื่องประวัติศาสตร์
ใครตอบได้มั่งค่ะ ว่า พลตรี ถวิล อยู่เย็น
เป็นใคร อยากรู้จังค่ะ ช่วยหาคำตอบมาให้หน่อย นะค่ะ
โดย: วิว IP: 115.87.132.106 วันที่: 28 สิงหาคม 2553 เวลา:19:07:13 น.
  
ขอบคุณที่เข้ามาศึกษาประวัติศาสตร์ของทหารสื่อสาร

พลตรี ถวิล อยู่เย็น รับราชการในกรมยุทธการทหารบก
ท่านเป็นผู้รวบรวมประวัติศาสตร์ของทหาร เช่น สงครามอินโดจีน สงครามมหาเอเซียบูรพา หรือสงครามโลกครั้งที่ ๒

ท่านรวบรวม บันทึก และบรรยายเกี่ยวกับการเสียดินแดนของประเทศไทย ตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบันครับ

โดย: เจียวต้าย วันที่: 30 สิงหาคม 2553 เวลา:5:30:25 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Pn2474.BlogGang.com

เจียวต้าย
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 44 คน [?]

บทความทั้งหมด