นักการเมือง(อีกคนหนึ่ง)ที่ชอบเขียนหนังสือ
ย้อนอดีต

นักการเมือง(อีกคนหนึ่ง)ที่ชอบเขียนหนังสือ

พ.สมานคุรุกรรม

ในนิตยสาร ต่วยตูน พ็อกเก็ตแมกาซีน สาระบวกหรรษา ฉบับปีที่ ๓๘ เล่มที่๑๙ ปักษ์แรก มิถุนายน ๒๕๕๒ มีข้อเขียน เรื่อง นึกถึงความหลัง เมื่อครั้งข้าวสารถังละ ๑๘ บาท โดย นักการเมืองที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ ๒๕ ของเมืองไทย คือ ท่าน สมัคร สุนทรเวช

ในโอกาสที่ท่านจากไปเมื่อ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ ขอคัดลอกเอาไว้ เป็นที่ระลึกถึง ความจำที่แม่นยำ และละเอียดลออของท่าน อันเป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่ง ที่นักการเมืองคนอื่น ๆ ไม่ค่อยจะมีกัน ท่านเล่าว่า

เมืองไทยเราก่อนหน้านี้มีมาตราชั่งตวงวัด ที่ยังไม่ค่อยเป็นสากล คือข้าวสารก่อนจะเอามาสีก็เป็นข้าวเปลือก ชาวนานับผลิตผลข้าวที่ปลูกได้เป็นเกวียน (ที่เดี๋ยวนี้คำนวณว่า เท่ากับพันกิโลกรัม หรือเท่ากับ ๑ ตัน ในภาษาค้าขายทันสมัย)

ก่อนนี้พอสีออกมาเป็นข้าวสาร ที่ได้เป็นตัวข้าวสารจริง ๆ มีเพียง ๖๖% จากข้าวเปลือก ๑๐๐ % นอกนั้นเป็นพวกข้าวหักเป็นท่อน ที่เรียกว่า “ซาห่อ” เป็นปลายข้าวและเป็นรำ

การขายข้าวสารก็เอามาตวงกันเป็น”ถัง”

ยังดีที่ตอนหลังมีเครื่องตวงที่เป็นลิตร (๑๐๐๐ ซีซี) เข้ามาใช้กันแล้ว ข้าวหนึ่งถังจึงกำหนดว่ามี ๒๐ ลิตร

แต่ถ้าเอาไปตวงใส่กระสอบ คราวนี้นับเป็นกิโลกรัม คือ ๑ กระสอบมี ๑๐๐ กิโลกรัม (ในขณะที่ตวงอย่างอื่น เช่น ตวงแร่ กลับขายกันเป็น”หาบ” ที่มีน้ำหนักเท่ากับ ๖๐ กิโลกรัม)

เรื่องหาบที่มี ๖๐ กิโลกรัมนี้ เป็นเรื่องน่าสังเกต เพราะถ้าหากไปสิงคโปร์ มาเลเซีย เมื่อหลายสิบปีก่อน เขาขายกันทีละ ๖ ขีด เรียกว่า”กะตี๊” คืออย่างซื้อหมูก็ถามว่า กะตี๊ละเท่าไหร่ หรือติดป้ายว่าราคากะตี๊ละเท่าไหร่

กลับมาถึงราคาข้าวสารที่ซื้อขายกันเมื่อ ๕๐-๖๐ ปีก่อน ตอนนั้นข้าวสารถังละ ๑๘ บาท (มี ๒๐ ลิตร) แต่ถ้าซื้อทีละลิตรเขาขายลิตรละ ๑ บาท ข้าว ๑ ลิตร หุงแล้วกินกันได้ ๕-๖ คน ทั้งครอบครัว

ตอนนั้นราคาทองคำ บาทละ ๔๕๐ บาท ข้าราชการชั้นตรี (ไม่มีปริญญา) เงินเดือน ๗๕๐ บาท ถ้าเป็นชั้นตรีมีปริญญา ได้ ๘๐๐ บาท

ในยามนั้นบ้านคนที่ไม่ค่อยจะมีเงิน แม้แต่ค่าอาหารสำหรับทุกคนในบ้าน ในตอนเย็นวันหนึ่ง ด้วยเงินเพียง ๕ บาท ก็สามารถจัดการให้ทุกคนในบ้านที่มีอยู่ด้วยกันเจ็ดชีวิต ได้พอมีอะไรกินกันได้ โดย
ซื้อข้าว ๒ ลิตร ๒ บาท
ซื้อเครื่องในวัวต้ม ๒ ชิ้น ชิ้นโต (ชิ้นละ ๑ บาท)
ที่เหลืออีก ๑ บาท ซื้อไข่เป็ด ๕ ฟอง กัยน้ำมันหมู

เย็นหุงข้าว ๑ลิตร พ่อแม่ลูก ๗ คน ล้อมวงกินเครื่องในวัวต้ม ๒ ชิ้นโต
เช้าหุงข้าว ๑ ลิตร กินกับไข่เจียว

วันต่อมาต้องหากันใหม่

นึกถึงข้าวสารลิตรละบาท หรือถังละ ๑๘ บาท การคำนวณใช้ประมาณ ๖ ถังครึ่งเท่ากับ ๑ กระสอบ คิดเป็นเงินค่าข้าวสาร ๑ กระสอบ ราคา ๑๒๐ บาท เทียบกับในปัจจุบันนี้ กระสอบละ ๒,๔๐๐ บาท เท่ากับแพงขึ้นมา ๒๐ เท่า

นายห้างคนดังของเมืองไทย คิดเลขให้คนไทยฟังว่า คนที่ทำงานกับท่านเมื่อ ๔๐ ปีก่อน คือทำหน้าที่ขับรถ ท่านให้เงินเดือน ๆ ละ ๙๐๐ บาท ซื้อทองได้ ๒ บาท

ตอนนี้คนรถท่านให้เงินเดือน (ยังขับรถอยู่) เดือนละ ๓๐,๐๐๐ บาท ซื้อทองได้ ๒ บาท อย่างนี้จึงจะถูกต้อง

แต่ที่เป็นจริงคือ ปริญญาตรีเริ่มต้นเกือบหมื่น คนเก็บขยะได้ ๖ พัน คนขับรถได้ ๘ พัน เพิ่มขึ้นราว ๑๐ เท่า

แต่ข้าวสารจากถังละ ๑๘ บาท เป็นถังละ ๔๐๐ บาท เพิ่มขึ้น ๒๒ เท่า

คิดดูก็แล้วกันครับ

ข้อเขียนของอดีตนายกรัฐมนตรีท่านนี้ ยังมีอีกเรื่องหนึ่ง ในนิตยสาร ต่วยตูน ปีที่ ๓๙ เล่มที่ ๕ ปักษ์แรก พฤศจิกายน ๒๕๕๒ ชื่อ เรื่องมันยาวยังกะรามเกียรติ์ ท่านขึ้นต้นไว้ว่า

ข้างบนนี้เป็นสำนวนที่คนไทยเรา เอามาใช้เป็นการบอกกล่าวคู่สนทนา เมื่อถูกถามถึง เรื่องที่มันเกิดขึ้น ว่าเป็นเรื่องราวที่ใหญ่โต จนต้องเอามาบอกเล่า หรือปรับทุกข์กัน

สำนวนนี้แปลความได้ว่า คู่สนทนาเป็นคนที่รู้ดีว่า รามเกียรติ์นั้น เป็นเรื่องที่มีความยืดยาว ติดพันกันตั้งแต่ต้นจนจบ ยาวมากแค่ไหน

แล้วท่านก็เล่าเรื่องรามเกียรติ์ ตั้งแต่ต้นที่ นนทุก พนักงานล้างเท้าเทวดา ที่ถูกเขกหัวเสียจนหัวล้าน ท่านได้เล่าถึงตัวละครที่สำคัญหลายตัว และสรุปว่า

เรื่องราวของรามเกียรติ์นั้น เป็นเรื่องยืดยาว ชนิดที่ว่าถ้ามีคนมานั่งเล่า ก็จับต้นชนปลายไม่ถูก จะเอาหนังสือมาอ่าน ก็ไม่น่าสนใจเท่ากับการอุทิศเวลา สักครึ่งค่อนวัน ไปเดินดูภาพที่แสดงเรื่องรามเกียรติ์ ตั้งแต่ห้องแรก (คือช่วงแรก) ที่ฤๅษีไถนาไปเจอผอบพบนางสีดา เรื่อยมา ๑๗๘ ช่อง จึงถึงบรรดาตัวสำคัญทั้งหลาย ได้นั่งเมืองครองเมือง

ภาพเขียนแต่ละช่อง เป็นการเล่าเรื่องด้วยภาพ ที่เขียนโดยช่างเขียนหลายสิบคน ที่แต่ละคนเขียนกันคนละช่องหรือหลายช่อง โดยภาพที่แสดงนั้นจะเป็นการเขียนเล่าเรื่องตอนนั้น ๆ ไว้ในช่องเดียว ไม่ว่าจะเป็นตอน “หนุมานจองถนน” ตอน “สุครีพหักฉัตร” ตอน “กุมภกรรณทดน้ำ” ตอน “หนุมานอมพลับพลา” ที่ติดต่อกับตอน “ไมยราพณ์สะกดทัพ” ตอน “สุครีพถอนต้นรัง” ตอน “พระลักษณ์ต้องหอกโมกขศักดิ์”ตอน “หุงน้ำทิพย์” ตอน “หนุมานลักกล่องดวงใจ” หรือตอน “ขาดเศียรขาดกร” ที่เป็นตอนที่ทศกัณฐ์จะต้องตาย

เรื่องนี้มีคนที่อยู่ในแวดวงโขนเล่าให้ฟังว่า การแสดงตอนขาดเศียรขาดกร นี้ พวกที่แสดงโขนเขาถือกันว่าจะไม่แสดงตอนทศกัณฐ์ ล้มลงถึงแก่ความตาย เขาจะถือเอาตอนที่ทศกัณฐ์โอนเอนเท่านั้น ก็จะปิดฉาก โดยเขาบอกว่าที่ไม่แสดงให้เห็นว่า ทศกัณฐ์ล้มลงตายนั้น เพราะโขนยังต้องแสดงกันต่อไปอีก ตัวสำคัญอย่างทศกัณฐ์นั้น ยังจะต้องมีชีวิตอยู่ เพื่อให้มีการแสดงโขนอยู่ต่อไป

แต่ท่านนักการเมืองผู้เขียนเรื่องนี้ ก็ได้ถึงแก่อนิจกรรมลงด้วยโรคที่ปรากฏขึ้นภายในระยะเพียงหนึ่งปีที่ผ่านมา โดยไม่มีใครคาดคิด เมื่ออยู่ในช่วงเวลา ปักษ์หลัง ของเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๒ นั้นเอง

ข้อเขียนชิ้นนี้ จึงถือได้ว่าเป็นชิ้นสุดท้าย ในชีวิตของท่าน หรืออย่างน้อยก็เป็นชิ้นสุดท้าย สำหรับนิตยสารที่มีอายุยืนยาวมาถึงปีที่ สามสิบเก้า ฉบับนี้ก็ว่าได้.

#######

นิตยสารต่วยตูน
กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ปักษ์แรก

Create Date : 01 ธันวาคม 2553
Last Update : 16 กุมภาพันธ์ 2554 16:56:46 น. 5 comments
Counter : 25 Pageviews. Add to




ท่านเขียน อ่านแล้วสนุกดีค่ะ

อารมณ์เหมือนได้ยินท่านเล่าให้ฟังเลย เล่าไปบ่นไป

โดย: tuk-tuk@korat วันที่: 1 ธันวาคม 2553 เวลา:16:07:00 น.




ประวัติศาสตร์เหล่านี้ มีคุณค่าทั้งสิ้น



โดย: ธารน้อย วันที่: 1 ธันวาคม 2553 เวลา:16:37:54 น.




ผมชอบหนังสือที่ท่านเขียน เพราะคิดได้ถูกใจผมครับคุณ tuk-tuk@korat


ผมก็บันทึกไว้เฉพาะเรื่องที่ค่อนข้างจะขำขันครับคุณธารน้อย
เรื่องเครียดผมก็ไม่บันทึกครับ.


โดย: เจียวต้าย วันที่: 1 ธันวาคม 2553 เวลา:20:15:08 น.











Create Date : 16 กุมภาพันธ์ 2554
Last Update : 19 กุมภาพันธ์ 2554 5:33:34 น.
Counter : 778 Pageviews.

0 comments
🟠คุณค่าของการคงอยู่ ⭐️💝💞 โอน่าจอมซ่าส์
(9 มี.ค. 2566 18:55:48 น.)
Cập nhật giá bán đất Hương Lộ Ngọc Hiệp Nha Trang mới nhất สมาชิกหมายเลข 7275050
(2 มี.ค. 2566 15:38:54 น.)
爱屋及乌 รักบ้านก็ต้องรักอีกาบนหลังคาด้วย (สำนวนจีน) comicclubs
(18 ก.พ. 2566 14:32:27 น.)
ชี้ข้อดีของการสมัคร บัตรเดบิต พ่วงประกันคุ้มครองวงเงินสูง สมาชิกหมายเลข 4927735
(15 ก.พ. 2566 01:14:18 น.)
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Pn2474.BlogGang.com

เจียวต้าย
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 44 คน [?]

บทความทั้งหมด