วิทยุและโทรทัศน์ของทหารสื่อสาร
ความหลังริมคลองเปรม

วิทยุและโทรทัศน์ของทหารสื่อสาร

“ วชิรพักตร์ “

ในช่วงเวลาก่อนที่ทหารสื่อสารจะครบรอบ ๘๑ ปี ได้มีข่าวการถึงแก่กรรมของนายทหารสื่อสาร สองท่าน ซึ่งในอดีตบุคคลทั้งสองนี้เป็นผู้ที่มีความสำคัญยิ่ง ของเหล่าทหารสื่อสาร และกรมการทหารสื่อสาร แม้ว่าท่านจะได้พ้นจากกรมการทหารสื่อสาร ไปหลายสิบปีแล้วก็ตาม ผลงานที่ท่านทิ้งไว้ให้เหล่าทหารสื่อสารนั้น ก็ยังคงเจริญงอกงามอยู่จนถึงปัจจุบัน ท่านคือ พันเอก การุณ เก่งระดมยิง และ พลตรี ถาวร ช่วยประสิทธิ์

เมื่อ พันเอก การุณ เก่งระดมยิง เริ่มเข้ารับราชการในกรมจเรทหารสื่อสาร ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๑ นั้น ผมยังไม่ได้เข้ามาอยู่ในรั้วสีม่วง มุมสะพานแดงแห่งนี้ ท่านเป็นผู้เริ่มกิจการวิทยุกระจายเสียงของกรมจเรทหารสื่อสาร ซึ่งเป็นสถานีที่สามของประเทศไทย รองจากกรมไปรษณีย์โทรเลข และกรมประชาสัมพันธ์

สถานีวิทยุ จส.๑ ที่มีท่านเป็นผู้ดำเนินการแต่ผู้เดียว ทั้งการปรับปรุงเครื่องส่ง ทั้งการจัดรายการออกอากาศ และเป็นโฆษกด้วยทุกวัน เสียงของท่านจึงดังไปทั่วบ้านทั่วเมืองไม่ขาดสาย จนได้รับสมญาว่า โฆษกเสียงเสน่ห์

ผมเคยเข้าชมรายการสดของท่านซึ่งจัดขึ้นที่ชั้นบน ของอาคารพิพิธภัณฑ์ทหารสื่อสารในปัจจุบัน ชื่อรายการอะไรก็จำไม่ได้ โดยมี คุณบุญส่ง หักฤทธิ์ศึก และ คุณ.บุญเลิศ เสมาชัย ขณะนั้นยังเป็นนายทหารประทวนทั้งคู่เป็นผู้ช่วย กับมี พลทหาร สุกิตต์ มหาชานันท์ เป็นผู้ตีฆ้องโหม่งเปิดรายการ ซึ่งรายการที่ว่านี้ได้ออกอากาศทางสถานีวิทยุ จส.๑ และได้มีผู้สนใจติดตามชมและฟังเป็นอันมาก จนต้องขยับขยายไปจัดรายการสดที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง และที่อื่น ๆ นอกสถานที่หลายครั้ง

รายการที่เด่นดังมากก็คือรายการต้อนรับวีรบุรุษ ยศร้อยตรี จากกองทหารไทยในสงครามเกาหลี ซึ่งผมจำชื่อไม่ได้และภายหลังท่านก็ได้เป็นนายพล

สถานีวิทยุกระจายเสียง จส.๑ ได้ดำเนินกิจการมาจนถึง พ.ศ.๒๔๙๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรกิจการของสถานี ซึ่งมีภาพอยู่ใน นิตยสารทหารสื่อสารฉบับที่ ๕ ปีที่ ๕ ซึ่งได้เก็บไว้เป็นวัตถุพิพิธภัณฑ์ ในพิพิธภัณฑ์ทหารสื่อสาร แล้ว

พอถึง พ.ศ.๒๕๐๐ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวี หรือ ททท.ช่อง ๔ ได้เปิดมาแล้ว ๒ ปี จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบก ได้ตั้งสถานีโทรทัศน์กองทัพบก หรือ ททบ.ช่อง ๗ ขึ้น พันเอก การุณ เก่งระดมยิง ก็ต้องเป็นผู้ดำเนินการติดตั้งเครื่องส่ง จนเปิดสถานีได้ในวันกองทัพบก ๒๕ มกราคม ๒๕๐๑ และรับหน้าที่ดำเนินรายการแต่เพียงผู้เดียวอีกตามเคย

ถึง พ.ศ.๒๕๐๒ พลจัตวา สุภชัย สุรวรรธนะ รองเจ้ากรมการทหารสื่อสารในขณะนั้น ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการ สถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง ๗ และมีการจัดแบ่งการทำงานออกเป็นฝ่ายต่าง ๆ พันเอก การุณ เก่งระดมยิง จึงเป็นหัวหน้าฝ่ายเทคนิคเพียงตำแหน่งเดียว และให้ พันเอก ถาวร ช่วยประสิทธิ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการ โรงเรียนทหารสื่อสาร ศูนย์การทหารสื่อสาร เป็น หัวหน้าฝ่ายจัดรายการ

ท่านผู้นี้ได้เริ่มปรับปรุงห้องส่ง แสง เสียง ฉาก และเชิญผู้ที่มีความรู้ความชำนาญในด้านภาพยนตร์ และละคร รวมทั้งศิลปินที่มีชื่อเสียง มาร่วมมือกันจัดรายการสาระและบันเทิง ในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่ง จนทำให้สถานีมีชื่อเสียงและได้รับความนิยมจากผู้ชม ทัดเทียมกับสถานีไทยโทรทัศน์ ช่อง ๔ ซึ่งได้ดำเนิน กิจการมาก่อนถึง ๓ ปี

บุคคลที่ได้ช่วยงานด้านจัดรายการเป็นอย่างมากคือ พันตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ ประจำกองการภาพ กรมการทหารสื่อสาร ได้ทรงร่วมงานกับหัวหน้าฝ่ายจัดรายการ ในการปรับปรุงครั้งนี้ อย่างเต็มที่ โดยที่ทรงเป็นผู้ชำนาญการนิพนธ์ บทละครและภาพยนตร์ ซึ่งได้สร้างผลงานอันมีชื่อเสียงไว้มากมาย

ถึงเดือน สิงหาคม ๒๕๐๕ สายอากาศของสถานีขัดข้อง ต้องหยุดออกอากาศเป็นเวลา ๗ วัน ฝ่ายเทคนิคได้ตรวจพบข้อบกพร่องแล้ว หัวหน้าฝ่ายเทคนิคจึงต้องเดินทางไปซื้ออุปกรณ์ที่ เสียหายจากต่างประเทศ ไปกลับในสองวัน และปีนเสาอากาศสูง ๓๐๐ ฟุตขึ้นไปแก้ไขด้วยตนเอง จนสำเร็จเรียบร้อย ออกอากาศได้เป็นปกติ

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรณมงคลการได้ทรงเล่าเรื่องจากความทรงจำไว้ในหนังสือที่ระลึก ททบ.ครบรอบ ๓๔ ปี ว่า

วันหนึ่ง พ.อ.ม.จ.มุรธาภิเศก รองเจ้ากรมการทหารสื่อสาร ทรงเรียกข้าพเจ้าไปพบ ขณะที่ข้าพเจ้ารับราชการกองการภาพ กรมการทหารสื่อสาร มีรับสั่งว่า ขณะนี้ได้มีการเปลี่ยนตัวผู้จัดรายการสถานี โทรทัศน์ ช่อง ๗ (ขาวดำ) จาก พ.อ.การุณ เก่งระดมยิง เป็น พ.อ.ถาวร ช่วยประสิทธิ์ เนื่องจาก พ.อ.ถาวร เป็นนายทหารมาตรฐานของกรมการทหารสื่อสาร คงจะไม่มีประสบการณ์ในด้านการบันเทิง จึงอยากให้ข้าพเจ้าไปช่วยรายการที่สถานีโทรทัศน์ ช่อง ๗ (ขาวดำ)

ข้าพเจ้าได้ไปพบ พ.อ.ถาวร ตามคำสั่ง คุณถาวรมองหน้าข้าพเจ้าแล้วบอกกล่าวว่า ขณะนี้ทางสถานีฯกำลังต้องการปรับปรุงรายการ ที่ดูยังล้าหลังอยู่ให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ สถานีโทรทัศน์ที่มีอยู่ในครั้งนั้น มีอยู่สองสถานีคือ สถานีโทรทัศน์ของกรมประชาสัมพันธ์ ช่อง ๔ และของเรา สถานีทดลองของทหารบกช่อง ๗ (ขาวดำ) ว่าข้าพเจ้ามีความเห็นอย่างไร ที่จะปรับปรุงให้ดีทัดเทียมเขา

มองตามสถานการณ์ สถานีของเรายังด้อยกว่าเขามาก ประการแรกสถานีกองทัพบกยังอยู่ในฐานะทดลอง ได้รับงบประมาณที่เรียกว่าปัดเศษ ส่วนสถานีของกรมประชาสัมพันธ์ เป็นสถานีมาตรฐานมีงบประมาณเป็นที่แน่นอน จึงสามารถใช้เงินจ้างเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะฝ่ายจัดรายการ ได้อย่างไม่จำกัด ฝ่ายของกองทัพบกใช้ เจ้าพนักงานที่เป็นทหาร ส่วนใหญ่เป็นนายทหารชั้นประทวน ผิดกันไกลกับชองเขาที่มีสาว ๆ หน้าแฉล้มอย่าง อารีย์ นักดนตรี ซึ่งมีความงามลือเลื่องเป็นโฆษก ในขณะของเรามีแต่โฆษกชาย ที่จัดว่าเป็นเอกคือ พ.ต.บัลลังก์ ขมะสุนทร ซึ่งยืมตัวมาจากกรมแผนที่ทหารบก

คณะบริหารของ พ.อ.ถาวร มีอยู่สามคนด้วยกัน คือคุณถาวรหนึ่ง คุณบัลลังก์เป็นสอง และข้าพเจ้าเป็นสาม เราแบ่งหน้าที่กันทำ คือคุณถาวรเป็นหัวหน้าบริหารงาน ควบคุมรายการมโนสาเร่ เช่นรายการสัมมนานักสืบ ฯลฯ ส่วนคุณบัลลังก์ควบคุมรายการข่าว และเป็นโฆษกประจำสถานี ส่วนข้าพเจ้านั้นได้รับหน้าที่ควบคุมรายการบันเทิง อันเป็นเรื่องใหญ่น่าหนักใจ เพราะรายการบันเทิงเป็นรายการใหญ่ ที่จะต้องสร้างความนิยมให้กับสถานี

ตามปกติในสมัยนั้น แต่ละสถานีจะออกอากาศตั้งแต่เวลา หนึ่งหรือสองทุ่ม โดยมีรายการข่าว รายการสารคดี ฯลฯ ปิดท้ายด้วยรายการใหญ่ คือรายการละครซึ่งแสดงสด ๆ บนเวทีในห้องถ่าย สมัยนั้นยังไม่มีการอัดเทปล่วงหน้า หากไม่มีละครก็ใช้ภาพยนตร์แทน

การจัดรายการละครต้องลงทุนลงแรงสูงเพื่อล่อตาคนดู โดยเฉพาะบริษัทการค้าที่อุปถัมภ์รายการ พูดสั้น ๆ ก็คือการให้เงินเพื่อสถานีจะทรงชีวิตอยู่ได้ สถานีโทรทัศน์ช่อง ๔ รุดหน้าสถานีกองทัพบก แทบมองไม่เห็นหลัง ประการแรกเขามีโฆษกหน้าแฉล้มหลายคน แวดล้อมผู้จัดรายการ (คุณจำนง รังสิกุล) ส่วนของเรานอกจาก โฆษกเอกคุณบัลลังก์ เราก็มีแต่นายสิบสาวเช่น คุณรำไพ ปรีเปรม และคนอื่นอีก

วันหนึ่งคุณถาวรหัวหน้าฝ่ายจัดรายการก็ประกาศลั่น...จะลั่นกลองรบ โดยจัดรายการสุดท้าย(ละคร)ให้ดัง โดยมอบหน้าที่ให้ข้าพเจ้าจัดละครใหญ่ ที่ไม่ต้องใช้เงินมากนักสักเรื่อง เอาให้ดังทีเดียว เป็นเรื่องหนักใจข้าพเจ้าไม่ใช่น้อย เพราะการจัดละครใหญ่ จำเป็นต้องมีเงินใหญ่ด้วย ข้าพเจ้าคิดไปคิดมา เพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาก็ลงมือเขียนละคร(ใหญ่) ขึ้นเรื่องหนึ่งโดยอาศัยเรื่องของ ยาขอบ ชื่อ เป็นไทยต้องสู้ ชื่อเหมาะดี แต่ฐานะของเราไม่ดี อย่างไรก็ตามเมื่อคุณถาวรประกาศลั่นกลองรบ ข้าพเจ้าก็จะต้องเป็นคนตีกลองให้ดัง

เรื่องนี้ต้องใช้คนแสดงมากนับเป็นสิบ ได้มอบบทนางเอกสาวจีนให้ สุพรรณ บูรณพิมพ์ ที่ล่วงลับไปแล้วเป็นนางเอกในเรื่อง และไปชวน ประกอบ ไชยพิพัฒน์ ตัวพระรามชื่อดัง(สมัยนั้น) มาเป็นพระเอก ส่วนตัวประกอบอื่น ๆ เลือกคัดมาจากพวกเราในสถานีเช่น ศรีนวล แก้วบัวสาย นักพากย์ประจำสถานี รำไพ ปรีเปรม คนสวย(ที่สุดของเรา) เป็นน้องสาวนางเอก ส่วนตัวละครอื่น ๆ เก็บตกเอาจากนายทหารนายสิบในสถานี (เพราะไม่มีเงินจะจ้างตัวประกอบอาชีพ)

เรื่องเครื่องแต่งกายก็เป็นปัญหา เพราะละครเรื่องนี้เป็นเรื่องในยุคที่คนไทยยังอยู่น่านเจ้าติดกับเมืองจีน การแต่งกายเต็มไปด้วนสีสรรค์ เคราะห์ดีอีกที่เจ้าของงิ้วคณะหนึ่ง ที่เป็นเพื่อนรักใคร่ของข้าพเจ้า รับอุปถัมภ์เครื่องแต่งกาย(งิ้ว)ทั้งหมด และยังให้คนมาช่วยแต่งกาย แต่งหน้า ตัวละครให้เป็นงิ้วอีกด้วย

การฝึกซ้อมทำกันอย่างเคร่งเครียด เพราะทุกสิ่งทุกอย่างหน้าใหม่หมด ละครในคืนนั้นต้องระดมสรรพกำลัง ไม่ว่าจะเป็นนายทหาร นายสิบ แม้แต่ภารโรง ก็ต้องเข้าฉากเป็นตัวประกอบ ผู้ที่เข้ามาติดต่อสถานีในคืนนั้นต้องแปลกใจเป็นอันมาก เพราะอยู่ ๆ ก็พบนายทหารเวร นายสิบเวร กลายสภาพเป็นตัวงิ้วแทนเครื่องแบบ นับว่าสนุกดี

หลังจากความสำเร็จในละครเรื่อง เป็นไทยต้องสู้ แล้ว ข้าพเจ้าก็ต้องรับภาระอันหนักโดยมีหน้าที่ต้องเขียนเรื่อง และจัดละครรายการสุดท้าย เดือนละเรื่องสองเรื่องเป็นประจำ สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง ๗ (ขาวดำ) ก็ลืมหน้าอ้าปาก ต่อสู้กับสถานีโทรทัศน์ของกรมประชาสัมพันธ์ ช่อง ๔ ได้

ท่านได้เล่าว่ามีละครอยู่เรื่องหนึ่งซึ่งได้เชิญ พ.อ.ถาวร ช่วยประสิทธิ์ กับ พ.ต.บัลลังก์ ขมะสุนทร เป็นผู้แสดงเอก ท่านทั้งสองเกี่ยงว่า

เมื่อข้าพเจ้าเกณฑ์พวกท่านแสดง ทำไมข้าพเจ้าจึงไม่แสดงเสียเอง ? ข้าพเจ้าจึงต้องเข้าร่วมแสดง แต่ไม่ได้เป็นนายพล หากเป็นพลทหารให้ชื่อว่า พลทหารขาว ทหารคนใช้ของท่านนายพล นับแต่วันนั้นเป็นต้นมา คณะละคร อ.ถ.บ. (อนุสร, ถาวร, บัลลังก์) ก็เกิดขึ้นและเป็นเจ้าของรายการละครที่ข้าพเจ้าจัดขึ้น

ท่านยังจำได้ว่าบทละครที่ท่านเขียนให้แสดงในสถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง ๗ (ขาวดำ) รวมทั้งสิ้นถึง ๒๔ เรื่อง

ถึง ๓๑ สิงหาคม ๒๕๐๘ เวลา ๑๕.๓๐ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ และพระเจ้าลูกเธอทุกพระองค์ ได้มีพระมหากรุณาธิคุณ เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรกิจการของสถานี โดยมี พลตรี ประสิทธิ์ ชื่นบุญ ผู้อำนวยการในขณะนั้น และ พันเอก การุณ เก่งระดมยิง หัวหน้าฝ่ายเทคนิค กราบบังคมทูลถวายรายงานต่าง ๆ ให้ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท

ในปีต่อมา พันเอก การุณก็ได้เริ่มจัดรายการ ป็อปท็อป บันไดดารา และ๒๐ คำถาม ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ ททบ.ช่อง ๗ ติดต่อกันไปเป็นเวลานับสิบปี และมีลูกศิษย์ในด้านการดำเนินรายการโทรทัศน์หลายคน ซึ่งในปัจจุบันได้เป็นนายพลหญิง และ สมาชิกวุฒิสภา เป็นนักแสดง เป็นพิธีกร ก็มี

แต่ พันเอก การุณ เก่งระดมยิง ผู้เริ่มเปิดสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก เป็นคนแรกนั้น ได้ย้ายไปรับราชการทาง กองบัญชาการทหารสูงสุด ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๕ สุดท้ายเป็นผู้อำนวยการ กองวิทยุกระจายเสียง กองอำนวยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (กรป.กลาง) ในอัตราพันเอกพิเศษ

และได้ลาออกจากราชการ ก่อนที่จะเกษียณอายุราชการ ประมาณ ๑ ปี หลังจากที่ได้พ้นราชการทหารแล้ว ก็ป่วยเป็นโรคเส้นโลหิตในสมองแตก และรักษาตัวอยู่นานจนอาการดีขึ้นบรรดาคณะศิษย์สามารถจัดงานวันเกิดครบ ๗๒ ปี เมื่อ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๓๒ และครบ ๘๔ ปี เมื่อ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๔๖ สุดท้ายได้ถึงแก่กรรมเมื่อ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๔๗ อายุ ๘๕ ปีเศษ

ส่วนคณะ อ.ถ.บ.นั้น เมื่อองค์ผู้ทรงก่อตั้งได้ย้ายไปรับราชการ นอกกรมการทหาร สื่อสารแล้ว ก็เลิกรากันไป ผู้ร่วมงานนั้น พลโท บัลลังก์ ขมะสุนทร ต่อมาได้เป็น เจ้ากรมแผนที่ทหาร เกษียณอายุราชการ พ.ศ.๒๕๒๗ ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๐

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรณมงคลการ ทรงเกษียณอายุราชการ เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๘ ทรงได้รับพระราชทานยศ พลโท เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๐ และสิ้นพระชนม์เมื่อ ๒ มกราคม ๒๕๔๑ พระชนมายุประมาณ ๘๓ พรรษา

พลตรี ถาวร ช่วยประสิทธิ์ เข้ารับราชการครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๓ ในตำแหน่ง สำรองราชการ กองบังคับการทหารสื่อสาร มณฑลทหารบกที่ ๒ และได้เข้าร่วมในการปฏิบัติราชการสงครามอินโดจีน จนถึงสงครามมหาเอเซียบูรพา หรือสงครามโลกครั้งที่ ๒ ตลอดระยะเวลา ๕ ปี

หลังสงครามได้เข้ารับราชการในกรมการทหารสื่อสาร เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๒ ตำแหน่งสุดท้าย รองผู้บัญชาการโรงเรียนทหารสื่อสาร กรมการทหารสื่อสาร พ.ศ.๒๕๑๙ ถึง พ.ศ.๒๕๒๐

เป็นหัวหน้าฝ่ายจัดรายการ สถานีวิทยุโทรทัศน์ กองทัพบก เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๒ ปฏิบัติหน้าที่นี้จนถึง พ.ศ.๒๕๑๙ ตำแหน่งสุดท้ายเป็น รองผู้อำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก พ.ศ.๒๕๒๐ แล้วไปเป็นผู้ชำนาญการกองทัพบก

เกษียณอายุราชการ พ.ศ.๒๕๒๔ และได้เขียนเรื่องราวที่เกี่ยวกับเบื้องหลังของโทรทัศน์ไว้มากมาย จนอายุประมาณ ๘๒ ปีเศษ ก็ได้รับรางวัล นราธิป เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๕ ถึงแก่กรรมเมื่อ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ อายุ ๘๔ ปีเศษ

ภารกิจหลักของทหารสื่อสารนั้น เดิมก็มีเพียงการนำสาร ทัศนสัญญาณ โทรศัพท์ โทรเลข และวิทยุในทางยุทธวิธีเท่านั้น ต่อมากองทัพบกจึงได้เพิ่มภารกิจด้านวิทยุกระจายเสียง และ วิทยุโทรทัศน์ ขึ้นในกรมการทหารสื่อสาร

ดังนั้น พันเอก การุณ เก่งระดมยิง ผู้ปฏิบัติภารกิจทั้งสองนี้เป็นคนแรก ในเหล่าทหารสื่อสาร

และ พลตรี ถาวร ช่วยประสิทธิ์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าฝ่ายจัดรายการ คนแรกของสถานีวิทยุโทรทัศน์ กองทัพบก และได้ปฏิบัติงานอยู่ยาวนานเกือบ ๒๐ ปี

จึงสมควรที่จะได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้บุกเบิกกิจการวิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์ ของทหารสื่อสาร อย่างแท้จริง.

#############


นิตยสารทหารสื่อสาร
พฤษภาคม ๒๕๔๘

Create Date : 11 มกราคม 2552
Last Update : 11 มกราคม 2552 20:34:55 น.





Create Date : 02 มิถุนายน 2553
Last Update : 2 มิถุนายน 2553 20:39:05 น.
Counter : 1015 Pageviews.

12 comments
กาแฟคั่วเข้ม เหมาะกับเมนูไหนดี สมาชิกหมายเลข 7983004
(29 มี.ค. 2567 02:14:10 น.)
สรุปวิชาคณิตศาสตร์ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.5) เรื่องเอกซ์โพเนนเชียล & ลอการิทึม นายแว่นขยันเที่ยว
(27 มี.ค. 2567 00:52:25 น.)
พระประธานสมัยสุโขทัย : วัดไร่ขิง ผู้ชายในสายลมหนาว
(15 มี.ค. 2567 16:51:33 น.)
แนวข้อสอบเข้า มัธยมศึกษาปีที่1 วิชาภาษาไทย เรื่องเสียงของภาษา นายแว่นขยันเที่ยว
(13 มี.ค. 2567 23:29:54 น.)
  


แวะมาทักทายในวันทำงาน ..

โดย: หน่อยอิง วันที่: 7 มิถุนายน 2553 เวลา:10:05:52 น.
  
ขอบคุณครับ.
โดย: เจียวต้าย วันที่: 8 มิถุนายน 2553 เวลา:6:35:25 น.
  
สวัสดีครับคุณลุง
เข้าเยี่ยมบล็อคครับ
โดย: วิรุฬห์ IP: 124.120.108.164 วันที่: 20 มิถุนายน 2553 เวลา:14:41:55 น.
  
ขอบคุณครับ.
โดย: เจียวต้าย วันที่: 21 มิถุนายน 2553 เวลา:6:44:09 น.
  
สวัสดีนะครับคุณลุง

ขออนุญาตเรียกคุณลุงนะครับ ยินดีอย่างยิ่งครับ ที่แวะเวียนมาทำความรู้จักกับผม คุณลุงเป็น สว.แล้วยังใฝ่รู้เรื่องคอมพิวเตอร์เลย ยิ่งมาเล่นบล็อก มันคลายเหงาได้นะครับ ผมเองก็ศึกษาอยู่นานก่อนกระโจนลงมาเล่น ให้ลูกชายวัย 13 สมัครให้ ตัวผมเองเรียกว่าแทบไม่รู้อะไรเลย เพราะเพิ่งจับ "คอม" ได้เพียง 2 ปี มั้ง เริ่มแรกก็หัดเขียนเรื่องสั้นก่อน มั่วๆ ผิดๆถูกๆ ไม่รู้อะไรสักอย่าง ดีที่ใช้พิมพ์ดีดตั้งโต๊ะได้คล่อง จึงไม่ค่อยมีปัญหากับระบบสัมผัส

ต่อมาก็เริ่มเซฟงานเป็น แต่บางครั้งก็มั่วอีกนั่นแหละ จนเมื่อประมาณเดือนที่แล้วคอมที่บ้านติดๆดับๆ ไปเล่นเน็ตชุมชน เอาไดร์ทงานไปเสียบกับเครื่องชุมชน เสร็จเลยคราวนี้ ไวรัสกินงานชุดสึนามิไปทั้งชุด 30 กว่าตอน ยังดีที่ผมมีต้นฉบับเก่าปริ้นท์ไว้หมดทุกๆเรื่อง เลยไม่ค่อยไว้ใจกับมันอีกแล้ว

เรื่องทำบล็อก เริ่มจาก 0 จริงๆ ก็ขอความรู้จากเพื่อนบล็อกนั่นแหละแนะนำมา ซึ่งบางเรื่องลึกซึ้งเกินจะทำได้ ก็ปล่อยมันผ่านไป เอาเรื่องง่ายๆ บางครั้งเขาก็ให้โค้ดมาเลย คงจะอีกหลายปีครับกว่าจะคล่อง เพราะว่าหัวผมนะ มันไม่ค่อยจะดีเท่าไหร่ เป็นจำพวกขี้ลืมครับ

ลุงมีอะไรก็คุยมาได้ ยินดีในทุกเรื่องครับ
โดย: ปลายแป้นพิมพ์ วันที่: 19 กรกฎาคม 2553 เวลา:9:57:02 น.
  
ผมพิมพ์ดีดสองนิ้วมาตั้งแต่เป็นเสมียน
พอใช้เครื่องคอมพิวเตอร์แทนพิมพ์ดีด ก็ใช้สองนิ้วอย่างเคย

ความรู้เรื่องคอมพ์ เรียนมานิดหน่อยก่อนเกษียณอายุ

ส่วนอินเตอร์เนต เพิ่งรู้จักมาได้ห้าปีครับ.
โดย: เจียวต้าย วันที่: 19 กรกฎาคม 2553 เวลา:15:53:59 น.
  
หนี่ฯ ยินดีต้อนรับค่ะ
แวะมาบ่อยๆนะคะ ^^
โดย: แพรวขวัญ วันที่: 1 สิงหาคม 2553 เวลา:1:34:31 น.
  
อ่านแว๊บๆ
เป็นเนื้อหาที่ดีอย่างยิ่งค่ะ
เยาวชนรุ่นหลังควรที่จะได้รับทราบข้อมูลเหล่านี้ค่ะ
โดย: แพรวขวัญ วันที่: 1 สิงหาคม 2553 เวลา:1:37:14 น.
  
ขอบคุณครับ
ขอให้สมหวังในการประกวดบล็อก
ถ้าเป็นผมจะให้รางวัลบล็อกที่อ่านง่ายที่สุดในพันทิปครับ.
โดย: เจียวต้าย วันที่: 1 สิงหาคม 2553 เวลา:9:17:13 น.
  
ขอบคุณสำหรับคอมเมนท์นะครับ ^^
โดย: oneshot วันที่: 5 สิงหาคม 2553 เวลา:10:42:36 น.
  
โดย: นนนี่มาแล้ว วันที่: 6 สิงหาคม 2553 เวลา:2:50:41 น.
  
ขอให้ฝันดีนะครับ.
โดย: เจียวต้าย วันที่: 6 สิงหาคม 2553 เวลา:7:19:52 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Pn2474.BlogGang.com

เจียวต้าย
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 45 คน [?]

บทความทั้งหมด