นายพลตาดุ
บันทึกจากอดีต

นายพลตาดุหัวหน้าเสรีไทยสายตำรวจ

พ.สมานคุรุกรรม

บรรดาบุคคลในคณะราษฎร ซึ่งได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศไทย เป็นระบอบประชาธิปไตยนั้น มีบุคคลสำคัญคนหนึ่งในคณะนั้น ได้สมญานามว่า นายพลตาดุ ซึ่งในหนังสือรวมเรื่องสั้น โปลิศ โปลิศ โปลิศ พิมพ์เมื่อ มิถุนายน ๒๕๑๔ เรื่อง นักอพยพ ของ พลตำรวจตรี ชอบ สุนทรพิพิธ ได้กล่าวขวัญไว้ว่า

พุทธศักราช ๒๔๘๘ ขณะนั้นประเทศไทยกำลังตกอยู่ในวิกฤตการณ์ เพราะอยู่ในระหว่างระยะเวลาที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ หรือการรบราฆ่าฟันกัน ที่ขนานนามเสียโก้หรูว่า สงครามมหาเอเซียบูรพา ท่านผู้นี้ไม่เพียงแต่จะเป็นบุคคลท่านแรก ที่ได้เริ่มปรับปรุงกิจการของกรมตำรวจ ให้ก้าวหน้าไปสู่ความรุ่งเรือง เที่ยงธรรม เป็นที่เชื่อถือได้เท่านั้น ท่านยังมีบุญคุณต่อชาติไทยอย่างประมาณค่ามิได้อีกด้วย ในฐานะที่ท่านได้เป็นกำลังสำคัญของรัฐบาล ในการควบคุมสถานการณ์ภายในประเทศไว้ได้อย่างดีเยี่ยม และในขณะเดียวกันท่านก็ได้พยายามดำเนินการทุกวิถีทาง ที่จะดำรงรักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติไทยไว้ ท่านได้จัดตั้งหน่วยเสรีไทยฝ่ายตำรวจขึ้น ภายในประเทศสายหนึ่ง โดยท่านดำรงตำแหน่งหัวหน้าสาย และดำเนินการแบบใต้ดิน เหยียบจมูกทหารญี่ปุ่นมาตลอดเวลา ในขณะที่เมืองไทยกำลังตกอยู่ในฐานะที่เกือบจะเรียกว่า บ้านแตกสาแหรกขาด ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ท่านผู้นั้นก็คือ พลเอก พลเรือเอก พลอากาศเอก พลตำรวจเอก อดุล อดุลเดชจรัส หรือ ฯพณฯ พลตำรวจเอก หลวงอดุลเดชจรัส ซึ่งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และอธิบดีกรมตำรวจ ในยุคนั้นนั่นเอง

พลตำรวจเอก หลวงอดุลเดชจรัส ได้รับสมญานามจากหนังสือพิมพ์สมัยนั้น ตลอดจนบุคคลทั่วไปว่า นายพลตาดุ เป็นการเรียกขานแบบล้อเลียนทีเล่นทีจริง แต่เป็นการล้อเพราะรักนับถือ ไม่ใช่ล้อเลียนแบบดูหมิ่นเหยียดหยามแต่อย่างใด ที่เรียกเช่นนั้นก็เพราะท่านมีบุคลิกภาพอย่างนั้นจริง ๆ และท่านก็ไม่โกรธ ไม่สนใจที่ใครจะขนานสมญาให้ท่านอย่างใด

พลตำรวจเอก หลวงอดุลเดชจรัส มีนามเดิมว่า บัตร พึ่งพระคุณ เกิดเมื่อ ๒๘ มิถุนายน ๒๔๓๗ ท่านสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก เมื่อเดือน พฤษภาคม ๒๔๕๘ ตามคำสั่งกระทรวงกลาโหม ที่ ๓/๔๒๐ ลงวันที่ ๖ เมษายน ๒๔๕๘ เป็นนักเรียนทำการนายร้อย สังกัด กรมทหารปืนใหญ่ที่ ๓ พร้อมกับเพื่อนร่วมรุ่นอีกหลายคน เช่น

นายจี๊ด ๒๑๕๔ ปืนใหญ่ที่ ๒ (พลเอก จิระ วิชิตสงคราม)
นายบัตร์ ๒๑๔๘ ปืนใหญ่ที่ ๓ (พลตำรวจเอก อดุล อดุลเดชจรัส)
นายแปลก ๒๑๗๕ ปืนใหญ่ที่ ๗ (จอมพล แปลก พิบูลสงคราม)
นายผิน ๒๑๙๘ ราบที่ ๔ (จอมพล ผิน ชุณหะวัณ)
นายมังกร ๒๕๗๕ ราบที่ ๓ (พลเอก มังกร พรหมโยธี)

ถึง พ.ศ.๒๔๗๓ ท่านได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงอดุลเดชจรัส พ.ศ.๒๔๗๕ ขณะมียศ ร้อยเอก ได้ร่วมอยู่ในกลุ่มผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ถึง พ.ศ.๒๕๗๘ ได้รับพระราชทานยศเป็นนายพันตำรวจเอก และปีถัดมาก็ได้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจ พ.ศ.๒๔๘๐ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พ.ศ.๒๔๘๓ เป็นผู้บังคับการตำรวจสนาม ในสงครามอินโดจีน พ.ศ.๒๕๘๖ ได้รับพระราชทานยศ พลตำรวจเอก และพลเอก พลเรือเอก พลอากาศเอก และดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลของ จอมพล.ป.พิบูลสงคราม พ.ศ.๒๔๘๘ หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ พ.ศ.๒๔๘๙ ได้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ลำดับที่ ๑๔

จากหนังสือเรื่อง นายพลผู้ซื่อสัตย์ เขียนโดย ๔๘๕ ได้เล่าถึงการปฏิบัติงานในยามสงครามของ พลตำรวจเอก หลวงอดุลเดชจรัส ไว้ว่า

สำหรับคุณหลวงอดุลฯ นั้น มีความรู้สึกนึกคิดว่าไม่ควรยอมให้กองทัพญี่ปุ่น เดินผ่านประเทศไทย แต่ส่วนมากยินยอม ดังนั้นท่านจึงทำอะไรไม่ได้ ตั้งแต่นั้นมาคุณหลวงอดุลฯ จึงดำเนินงานต่อต้านญี่ปุ่นแบบใต้ดิน โดยตั้งหน่วยเสรีไทยขึ้น ได้ใช้กำลังตำรวจทั้งหมดทำงานใต้ดินเป็นหลัก ท่านได้คัดเลือกนายตำรวจบางคน เดินทางออกไปนอกประเทศ ร่วมกับนายทหารอากาศ ทหารบก ไปติดต่อกับอเมริกาและอังกฤษ โดยไปทางเครื่องบินบ้างทางเรือดำน้ำบ้าง หลังจากได้ติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรแล้ว อเมริกาได้ส่งนักเรียนไทยซึ่งเรียนอยู่ที่อเมริกา มาโดดร่มลงในประเทศไทยก่อน ต่อมาอังกฤษจึงส่งนักเรียนไทยที่เรียนในอังกฤษ มาโดดร่มลงในประเทศไทยบ้าง และเดินทางเข้ามาโดยทางเท้าบ้าง

ในเรื่องงานเสรีไทยของคุณหลวงอดุลฯ นี้ พลโท ประยูร ภมรมนตรี ได้เล่าไว้ใน ชีวิต ๕ แผ่นดินของข้าพเจ้า ว่า

เรื่องขบวนการเสรีไทย ที่กำลังดำเนินการต่อต้านญี่ปุ่น ทั้งในประเทศและนอกประเทศ ที่บินโดดร่มลงมาหรือมาทางเรือใต้น้ำ มาทำงานใต้ดินนั้น อยู่ในสายตาของญี่ปุ่น และติดตามอยู่ใกล้ชิด และเตรียมการที่จะทำการกวาดล้างอยู่หลายครั้งหลายคราว แต่ท่าน จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้สั่งการให้ตำรวจจัดการจับกุมเสียเอง และช่วยคุ้มครองความปลอดภัย

เรื่องเสรีไทยนี้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ให้ พลตำรวจเอก หลวงอดุล ฯ เป็นเจ้าหน้าที่โดยเฉพาะ ที่เป็นพลร่ม ก็ให้จัดการควบคุมเด็ดขาดห้ามการติดต่อ และให้ความคุ้มกันพาหลบซ่อนไป เกรงทหารญี่ปุ่นจะเข้ามาพัวพัน จึงรอดพ้นอันตรายกันมาได้

จากเรื่องนายพลผู้ซื่อสัตย์ ได้ดำเนินความต่อไปว่า

พวกนักเรียนไทยที่มาโดดร่มลงในประเทศไทยนี้ ได้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงดำเนินงานใต้ดิน บางคนก็ทำหน้าที่ส่งข่าววิทยุที่นำติดตัวมา บางคนก็ทำหน้าที่ประสานงาน โดยเดินทาง ไป ๆ มา ๆ ระหว่างประเทศไทยกับอเมริกาและอังกฤษ บางครั้งก็ไปเพียงแค่อินเดีย ทางประเทศอเมริกาก็มี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้าเสรีไทยอยู่ ทางอังกฤษคุณหลวงอดุลฯ ก็มอบให้ คุณยิ้ม พึ่งพระคุณ ซึ่งเป็นน้องชายเป็นผู้ติดต่อกับอังกฤษ และคุณหลวงอดุลฯ ได้ส่งคุณบูรณศิลป์ อดุลเดชจรัส บุตรชายของท่านไปอยู่ประจำที่ประเทศอินเดีย ทำหน้าที่ติดต่อกับลอร์ดหลุยซ์เม้าท์แบตเท็น แม่ทัพของฝ่ายสัมพันธมิตรโดยใกล้ชิด

ท่านได้ดำเนินการต่อต้านญี่ปุ่นอยู่ตลอดเวลา ในระหว่างที่ท่านได้ดำเนินการอยู่นี้ นายปรีดี พนมยงค์ ก็ได้ดำเนินการต่อต้านญี่ปุ่น แบบใต้ดินอยู่เช่นเดียวกัน โดยต่างคนต่างทำ ส่วน จอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็ได้ทำการต่อต้านญี่ปุ่น แบบใต้ดินอีกเหมือนกัน ทั้งสามท่านนี้ต่างคนต่างดำเนินงานของตนไป แต่คงมีจุดหมายปลายทางเช่นเดียวกัน คือต่อต้านญี่ปุ่น

และ นาวาอากาศเอก วิมล วิริยะวิทย์ เสรีไทยสายอเมริกาได้เล่ารายระเอียดเพิ่มเติมว่า ท่านกับ บุญมาก เทศะบุตร์ ได้โดดร่มจากเครื่องบิน บี ๒๔ ลงที่ในป่าจังหวัดแพร่ เมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๔๘๗ แต่พลัดกันไปคนละทาง ท่านถูกนำตัวไปพบกับหลวงอดุลฯ ในกรุงเทพ เมื่อ ๒๒ กันยายน ๒๔๘๗ และได้แจ้งให้ทราบภารกิจที่ได้รับมอบหมาย จากทางสหรัฐอเมริกา ว่าให้มาติดต่อกับทางหลวงอดุลและหลวงประดิษฐ์โดยตรงโดยขอให้ร่วมมือกันทำงาน สหรัฐอเมริกาจะให้การสนับสนุนแก่เสรีไทยในประเทศ ทุกวิถีทาง ไม่ว่าอาวุธ การฝึกฝน การเมืองหลังสงคราม ฯลฯ แต่ถ้าหากไม่ร่วมมือกัน ก็ยากที่ทางสหรัฐอเมริกาจะช่วยเหลือ เพราะงานจะมีอุปสรรคอย่างแน่นอน คุณหลวงอดุล ฯ จึงตัดสินใจพาวิมลเข้าพบหลวงประดิษฐ์ ที่บ้านของ นายดิเรก ชัยนาม รองเมือง ซอย ๒ จึงเป็นอันว่าหลวงอดุลกับหลวงประดิษฐ์ ได้ตกลงที่จะร่วมมือกันทำงานตั้งแต่วันนั้น จึงนับได้ว่าเป็นวันเริ่มปรากฏผลงานในประเทศของเสรีไทยสายอเมริกา และเป็นวันที่ได้กำลังตำรวจทั้งประเทศมาร่วมด้วย

กลับมาที่เรื่อง นายพลผู้ซื่อสัตย์ อีกครั้งหนึ่ง

การดำเนินงานของคุณหลวงอดุลฯ นั้น ท่านได้กระทำโดยแบ่งการปฏิบัติออกไปเป็นเรื่องเป็นรายไป คนหนึ่งรับมอบงานไปปฏิบัติอย่างหนึ่ง โดยคนอื่น ๆ ไม่รู้ว่าผู้นั้นมีหน้าที่อย่างไร ท่านเล่าให้ฟังว่าการที่ต้องแบ่งงานกันเช่นนี้ เพราะถ้าเกิดความลับรั่วขึ้นก็จะเกิดเสียหายเพียงเรื่องนั้นเรื่องเดียว งานของคนอื่น ๆ ไม่เสียไปด้วย เพราะการทำงานเช่นนี้เป็นเรื่องที่เสี่ยงอันตรายมาก ถ้าใช้คน ๆ เดียวทำแล้วถ้าความลับแตกออก และถูกญี่ปุ่นจับตัวไปหรือถูกฆ่าตาย งานก็เสียหมด จึงจำเป็นต้องแยกงานกันทำ แต่ก็เป็นโชคของประเทศไทยอย่างมาก ที่ความลับต่าง ๆ ซึ่งท่านได้ทำไปแล้ว ญี่ปุ่นจับไม่ได้เลย บางครั้งฝ่ายญี่ปุ่นสงสัยท่าน ว่าทำการต่อต้านแบบใต้ดิน เคยส่งคนออกทำการสืบสวนแต่ก็ไม่ได้เรื่องอะไร ญี่ปุ่นได้ส่งคนเข้ามาดูว่าคุณหลวงอดุลฯ ทำงานอยู่ที่วังปารุสกวันหรือเปล่า โดยทำทีว่ามาเยี่ยมคำนับ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ที่ในวังปารุสกวันบ้าง และด้วยวิธีอื่น ๆ อีก ทุกครั้งที่ญี่ปุ่นมาดูก็คงเห็นคุณหลวงอดุลฯ นั่งทำงานอยู่ที่วังปารุสกวันมิได้หายไปไหน ในการดำเนินงานของท่านนั้น ท่านได้ออกปฏิบัติงานในเวลากลางคืนจนตลอดสว่างทุกคืน แม้ท่านจะต้องออกเดินทางไปต่างจังหวัด ท่านก็ไปตอนกลางคืน สำหรับฝ่ายญี่ปุ่นนั้นสงสัยท่านอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่มีหลักฐานที่จะทำอะไรได้

ท่านเป็นคนรอบคอบการที่จะเดินทางไปไหน ๆ ท่านไม่ใช้เส้นทางซ้ำกันเลย ท่านเปลี่ยนเส้นทางอยู่ตลอดเวลา และท่านไม่เคยยอมบอกใครว่าท่านจะไปไหน แม้คนที่นั่งรถไปกับท่านด้วยกัน ก็ไม่รู้ว่าจะไปไหน เมื่อไปถึงที่แล้วนั่นแหละจึงจะรู้ว่าไปไหน ด้วยความรอบคอบนี้ท่านจึงปลอดภัย และทำการกู้ประเทศไทยจนสำเร็จ ท่านได้เล่นเอาเถิดเจ้าล่อกับพวกญี่ปุ่นตลอดเวลาสงคราม นักเรียนไทยที่มาจากอเมริกาและอังกฤษ โดยโดดร่มลงมาก็ดี โดยทางน้ำทางบกก็ดี ท่านได้เอาตัวมาเก็บไว้ที่กองตำรวจสันติบาล ปทุมวัน ทำประหนึ่งว่าเอาตัวควบคุมไว้ทำการสอบสวน ฐานโดดร่มลงมาในประเทศไทย แต่ในเวลากลางคืนท่านได้พาพวกนี้ไปทำการส่งวิทยุ ติดต่อไปยังฝ่ายสัมพันธมิตร โดยจัดสถานที่ส่งวิทยุไว้หลายแห่งด้วยกัน เสร็จแล้วก็นำตัวกลับมาคุมไว้ที่ สันติบาลตามเดิม ฝ่ายญี่ปุ่นได้ส่งคนมาด้อม ๆ มอง ๆ อยู่เสมอ แต่ก็จับอะไรไม่ได้

พวกนักเรียนไทยเหล่านั้นเท่าที่ข้าพเจ้าจำได้ คือ คุณป๋วย อึ๊งภากรณ์ คุณยอด บุรี คุณประทาน เปรมกมล คุณธนา โปษะยานนท์ คุณการุณ เก่งระดมยิง เป็นต้น ที่ข้าพเจ้าจำได้ดีเพราะเคยทำหน้าที่ควบคุมดูแลคนเหล่านี้ด้วยคนหนึ่ง พวกเสรีไทยเหล่านี้ไหมุนเวียนกันออกไปปฏิบัติหน้าที่เป็นประจำ ส่งวิทยุแจ้งที่พักของกองทหารญี่ปุ่น ให้ฝ่ายสัมพันธมิตรส่งเครื่องบินหรือเรือดำน้ำ เข้ามารับทหารที่บาดเจ็บเพราะเครื่องบินตก เป็นต้น และบางคราวมีราชการลับที่จะต้องหารือ ในการวางแผนยุทธศาสตร์ ท่านก็ได้ส่งเสรีไทยเหล่านี้บางคน ออกไปทำการติดต่อกับรัฐบาลอังกฤษบ้าง อเมริกาบ้าง ฝ่ายอังกฤษส่วนมากท่านได้จัดส่ง คุณป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งเป็นหัวหน้าของเสรีไทยฝ่ายอังกฤษออกไปเจรจา ฝ่ายอเมริกาท่านก็จัดส่ง คุณการุณ เก่งระดมยิง ออกไปเจรจา การเดินทางนั้นส่วนมากเดินทางโดยเครื่องบิน ซึ่งนัดให้เครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตรมารับ โดยมาลงที่สนามบินลับที่สร้างขึ้นในเวลากลางคืน

คุณหลวงอดุลฯ เป็นคนที่รอบคอบในการทำงานใต้ดินนี้ ท่านได้ทำบัญชีรายชื่อไว้ว่าผู้ใดบ้างที่ได้ร่วมมือทำงานอยู่ด้วย ทั้งผู้ที่โดดร่มเข้ามาในประเทศไทย และผู้ที่อยู่ ณ ต่างประเทศ เพราะท่านมองเห็นการไกลว่า ต่อไปอาจมีผู้แอบอ้างว่าได้ร่วมมือทำงานใต้ดินกับท่าน ซึ่งถ้าเป็นจริงแล้วย่อมต้องมีชื่ออยู่ในบัญชีนั้น จนบัดนี้ (พ.ศ.๒๕๑๒) บัญชีนี้ก็ยังอยู่ในมือท่าน ตลอดจนหลักฐานในการทำงานใต้ดินที่สำคัญ ๆ คงเก็บอยู่ที่ท่าน ด้วยผลงานอันดีเด่นที่ได้กระทำเพื่อประเทศชาติแล้วนี้ หลังจากสงครามสงบแล้ว อเมริกาได้ช่วยจนกระทั่งประเทศไทยพ้นจากการตกเป็นฝ่ายแพ้สงคราม อันคุณงามความดีของท่านนี้สุดที่คนไทยจะลืมเสียได้ และบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยสืบไปชั่วกาลนาน คุณหลวงอดุลฯ เป็นคนหนึ่งที่ได้ช่วยกู้ประเทศไทยไว้ในยามที่บ้านเมืองคับขันเต็มไปด้วยศัตรู หากการทำงานของท่านพลาดไปเพียงนิดเดียว บ้านเมืองก็จะพินาศ แม้แต่ชีวิตของท่านเองก็คงไม่รอดไปได้

การกระทำทั้งสิ้นในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้น ทางฝ่ายสัมพันธมิตรรู้เรื่องดี ที่ท่านกล้าเสี่ยงอันตรายโดยไม่ย่นย่อ เมื่อหลังจากสงครามยุติลงแล้ว รัฐบาลอเมริกาได้มอบเหรียญตราชั้นสูง เมดอลออฟฟรีดอม ชั้นสูงสุดให้ โดย ฯพณฯ เอกอัครราชทูตอเมริกาประจำประเทศไทย ได้นำไปมอบให้ถึงที่บ้านพักของท่าน ในประเทศไทยดูเหมือนจะมีท่านแต่ผู้เดียว ที่ รัฐบาลอเมริกันนำเหรียญตราไปมอบให้ถึงบ้านพัก

และก่อนที่จะเกิดรัฐประหารเมื่อ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ขณะนั้นคุณหลวงอดุลฯ ได้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ปรากฏว่าเหตุการณ์ของบ้านเมืองในขณะนั้น เต็มไปด้วยการคอร์รัปชั่น คุณหลวงอดุลฯ เห็นว่ารัฐบาลในสมัยนั้นไม่ดำเนินการปราบปรามกันอย่างจริงจัง พวกราษฎรได้รับความเดือดร้อน ตลอดจนได้ข่าวมาว่าจะมีผู้ทำการรัฐประหาร ดังนั้นคุณหลวงอดุลฯ จึงได้ขอให้รัฐบาลเรียกผู้บัญชาการทหารบก เรือ อากาศ อธิบดีกรมตำรวจ และผู้ก่อการอาวุโส ไปร่วมกันทำการประชุม เมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๔๙๐

ใจความของการประชุมนั้นมีสาระสำคัญคือ คุณหลวงอดุลฯ ได้เล่าถึงความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งถูกผู้มีอำนาจคอร์รัปชั่น จนเป็นเหตุให้เกิดข้าวของต่าง ๆ มีราคาแพงขึ้น และทางการเฉยเมยไม่ทำการปราบปราม และคุณหลวงอดุล ฯ บอกว่า ได้ข่าวว่าจะมีผู้คิดรัฐประหาร และถ้ามีผู้ทำการรัฐประหารขึ้นจริง คุณหลวงอดุลฯ จะไม่ทำการปราบปราม โดยไม่ต้องการให้ทหารไทยฆ่าทหารไทยด้วยกันเอง ไม่ต้องการให้คนไทยฆ่าคนไทยด้วยกันเอง

ต่อมาในวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ก็เกิดรัฐประหารขึ้น ซึ่งมี พลโท ผิน ชุณหวัน (ยศในขณะนั้น) นายทหารนอกประจำการเป็นหัวหน้า ในการเกิดรัฐประหารครั้งนี้ ทางคณะรัฐบาลอันมี พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ร.น. เป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้สั่งการต่อสู้ หรือทำการปราบปรามแต่ประการใด และในขณะที่กำลังเกิดเหตุการณ์อยู่นั้น คุณหลวงอดุลฯ ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก ไม่ได้รับคำสั่งจากรัฐบาลแต่ประการใด ท่านจึงได้ออกคำสั่งให้ทหารบกทุกเหล่าและทุกกรมกองให้ตั้งอยู่ในความสงบ และห้ามเคลื่อนกำลังออกนอกที่ตั้งเป็นอันขาด และให้ฟังคำสั่งของท่านแต่ผู้เดียว ท่านไม่ได้สั่งให้ทำการต่อสู้แต่ประการใด

ส่วนตัวท่านได้ออกตรวจตราตามที่ต่าง ๆ จนมาถึงสนามหลวง ท่านได้พบรถถังแล่นออกจากที่ตั้งมาถึงสนามหลวง ๓-๔ คัน ท่านจึงตรงไปยังรถถังนั้น และได้ออกคำสั่งให้ผู้ควบคุมรถถัง นำรถถังกลับไปยังที่ตั้งเดิมทันที ผู้ควบคุมรถถังก็ได้นำรถถังเคลื่อนที่กลับไปท่านจึงออกตรวจต่อไปไม่ได้ติดตามไปดูว่า รถถังเหล่านั้นจะกลับไปจริงหรือไม่ เมื่อท่านตรวจไปถึงหน้าทำเนียบท่าช้าง ท่านได้พบรถถังอีก ๒-๓ คันได้มาจอดอยู่หน้าทำเนียบ และคันหนึ่งได้ใช้ปืนยิงไปที่หน้าประตูทำเนียบ ท่านจึงตรงเข้าไปที่รถถังนั้น และได้เรียกผู้ควบคุมรถถังนั้นลงมาจากรถ และท่านใช้มือตบหน้านายทหารผู้นั้น ฐานขัดขืนคำสั่ง แล้วท่านจึงสั่งให้นำรถถังกับไปยังที่ตั้ง ผู้ควบคุมรถถังจึงนำรถถังกลับไป ท่านจึงตระเวนไปตรวจตราที่อื่น ๆ ต่อไป

ท่านเล่าให้ฟังว่า เพราะท่านไม่ได้รับคำสั่งจากรัฐบาลแต่ประการใด ท่านจึงไม่ทำการปราบปราม เพียงแต่สั่งให้กำลังทหารตั้งอยู่ในความสงบ ณ ที่ตั้งเท่านั้น ดังนั้นการทำ รัฐประหารจึงสำเร็จเรียบร้อยในวันรุ่งขึ้น โดยไม่มีการเสียเลือดเนื้อแต่อย่างใด เมื่อได้ตั้งคณะ รัฐบาลใหม่ขึ้นเรียบร้อยแล้ว ทางคณะรัฐบาลใหม่ยังคงให้ท่านดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกต่อไป และก็ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ท่านดำรงตำแหน่งอภิรัฐมนตรี ดังนั้นท่านจึงได้ยื่นความจำนงต่อรัฐบาล ขอลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก และใน พ.ศ.๒๔๙๒ ท่านก็ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี



แม้ท่านจะมีอำนาจวาสนา ได้ดำรงตำแหน่งอันสูงส่งเพียงใดก็ตาม นายพลตงฉินผู้นี้ก็คงปฏิบัติตนเป็นผู้ถือสันโดษอย่างจริงจัง ท่านเป็นผู้ที่ไม่ทะเยอทะยาน ไม่แสวงหาลาภยศ ใด ๆ อีก คงดำรงชีวิตอยู่ในแบบสมถะ โดยอาศัยอยู่ที่บ้านพักหลังเล็ก ๆ ในบริเวณวังปารุสกวันแต่เพียงคนเดียว กับสุนัขตัวโปรด ๑ ตัว และผู้รับใช้ใกล้ชิดคู่ใจอีก ๑ คนเท่านั้น ท่านไม่รับแขกทั่ว ๆ ไป แต่ท่านก็ยินดีที่จะพบปะสนทนาเป็นครั้งคราว กับมิตรสนิทบางท่าน และนายตำรวจบางนายที่ท่านรู้จักคุ้นเคย เพราะเคยอยู่ใต้บังคับบัญชาของท่านมาก่อน ในสมัยที่ท่านยังดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจอยู่ ท่านดำรงชีวิตแบบโดดเดี่ยวเช่นนี้ตลอดมา

ตามปกติถ้าผู้ใดมองเห็นนัยตาของท่านแล้ว ย่อมต้องนึกว่าท่านเป็นคนดุ แต่ธาตุแท้ของท่านนั้นเป็นคนมีเมตตาจิตอย่างสูง ท่านไม่เคยพยาบาทมาตรร้ายใครเป็นเรื่องส่วนตัวเลย ผู้ที่ทำผิดกฎหมายท่านก็ว่าไปตามกฎหมาย ไม่เคยเอาเรื่องส่วนตัวเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยเลย ท่านเป็นคนที่ชอบความซื่อสัตย์ ไม่ยอมกินไม่ยอมโกง แม้แต่จะมีโอกาสอำนวยให้ หรือมีอำนาจที่จะทำได้ ท่านก็ไม่ยอมทำ ท่านได้ปฏิบัติตัวของท่านคงเส้นคงวามาตลอด ท่านถืออุดมคติว่า Honesty is best Policy

ท่านได้ถึงแก่อสัญกรรม ด้วยโรคชรา ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๒ เวลา ๑๘.๐๐ น.เศษ

##########




Create Date : 02 กุมภาพันธ์ 2555
Last Update : 2 กุมภาพันธ์ 2555 5:55:33 น.
Counter : 1126 Pageviews.

2 comments
⭐️💝💞ดีที่มีเป้าหมาย⭐️💝💞 โอน่าจอมซ่าส์
(22 มี.ค. 2566 02:18:23 น.)
Halogen: สตาร์ทอัพสายSpace Tech peaceplay
(17 มี.ค. 2566 03:40:49 น.)
หาก...... 如果...... และความคิดอันแหลมคมของหลู่ซวิ่น toor36
(11 มี.ค. 2566 00:05:02 น.)
คำศัพท์ภาษาจีน ห้องนอน bedroom 卧室 wòshì ว่อซื่อ นายแว่นขยันเที่ยว
(1 มี.ค. 2566 00:09:42 น.)
  


*~*~*~*..แวะมาทักทายจ๊ะ..ขอให้มีความสุข สดใส..หัวใจเบิกบาน..*~*~*~*

..HappY BrightDaY..
โดย: *~ต้นกล้า...ของหัวใจ~* วันที่: 2 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา:16:32:48 น.
  
ขอบคุณที่กรุณาอวยพรวันเกิดล่วงหน้าตั้งเดือนแน่ะครับ.
โดย: เจียวต้าย วันที่: 3 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา:7:25:16 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Pn2474.BlogGang.com

เจียวต้าย
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 44 คน [?]

บทความทั้งหมด