เพลงชาติไทย
บันทึกจากอดีต

เพลงชาติไทย

พ.สมานคุรุกรรม

เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๒ เป็นยุคที่วัฒนธรรมกำลังเฟื่องฟู หรือยุคมาลานำไทยเป็น มหาอำนาจ นั้น ได้มีประกาศเป็นรัฐนิยมให้ประชาชน ยืนตรงเคารพธงชาติในเวลาชักธงชาติขึ้นสู่ยอดเสา เมื่อบรรเลงเพลงชาติทางวิทยุกระจายเสียงกรมโฆษณาการ ตามเวลาแปดนาฬิกาตรง ทุกวัน แม้แต่พระสงฆ์องคเจ้าซึ่งกำลังฉันจังหันเช้า ก็ต้องวางช้อนส้อมนั่งสงบรำลึกถึงประเทศชาติ โดยพร้อมเพรียงกัน ซึ่งประชาชนก็ได้ประพฤติปฏิบัติติดต่อกันมาเป็นเวลานาน

ในสมัยแรกนั้น แม้แต่จระเข้ในบ่อเขาดินวนาก็ยังมีข่าวว่าผงกหัวชูคอขึ้นเคารพธงชาติ และต่อมาแม้เมื่อเวลาได้ผ่านจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ สงครามเกาหลี และสงครามเวียตนามมาแล้ว ประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังรักษาวัฒนธรรม การเคารพธงชาตินี้อยู่ โดยตำรวจจราจรจะเป่านกหวีด ห้ามการ
จราจรทุกชนิด ทุกสี่แยก เมื่อได้ยินเพลงชาติ จากสถานีวิทยุกระจายเสียงกรมประชาสัมพันธ์

ต่อมาจึงค่อยเลือนหายไป โดยจะทำความเคารพเฉพาะเมื่อผ่านหน่วยทหารหรือตำรวจ ที่กำลังชักธงขึ้นสู่ยอดเสา เท่านั้น และในที่สุดเมื่อการจราจรติดขัดมาก จึงไม่มีใครหยุดเคารพธงชาติกันให้เห็นในท้องถนนอีกเลย

มีบางเสียงกระแหนะกระแหนว่า ความรักชาตินั้นมิได้อยู่ที่การยืนตรงเคารพธงชาติเท่านั้น ก็ดูเหมือนจะเป็นความจริง ดังนั้นเวลานี้จึงมีผู้ยืนเคารพธงชาติกันเฉพาะในโรงพยาบาลของทหาร ที่จำเป็นต้องเข้าไปพึ่งบริการของเขาเท่านั้น

เพลงชาติสำหรับประเทศไทยนั้น จะมีกำเนิดขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไรก็ไม่มีใครยืนยัน ดูเหมือนจะมีแต่เพลงสรรเสริญพระบารมีเท่านั้น ที่ใช้แทนเพลงชาติด้วย แต่ที่เป็นทำนองสากลมีโน้ตเป็นหลักฐานนั้นได้กำเนิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๕ หลังจากคณะราษฎร์ได้ยึดอำนาจ และเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช เป็นระบอบประชาธิปไตยได้เพียง ๕ วัน เท่านั้น

ตามสูจิบัตรการแสดงคอนเสิร์ตเสียงดนตรีสี่แผ่นดินครั้งที่ ๑ เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๗ กล่าวว่า นาวาเอก หลวงนิเทศกลกิจ นายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพเรือได้ขอร้อง ให้ศาตราจารย์ พระเจนดุริยางค์ แต่งทำนองเพลงที่คึกคักเข้มแข็งแบบทหารให้คล้ายคลึง กับเพลงชาติฝรั่งเศสและมอบหมายให้ ขุนวิจิตรมาตรา ประพันธ์เนื้อร้องนำออกบรรเลง ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม โดยวงดุริยางค์ทหารเรือ จนได้รับการประกาศรับรองว่าเป็นเพลงชาติ เมื่อ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๗๗

เมื่อสมัยผมเป็นเด็กเคยได้ยิน และร้องเพลงนี้ด้วย แต่จำได้เพียงสอง สามวรรค คือ

ประเทศสยามนามประเทืองว่าเมืองทอง
ไทยเข้าครองตั้งประเทศเขตแดนสง่า
สืบเผ่าไทยดึกดำบรรพ์โบราณลงมา
ด้วยรักษาสามัคคีทวีชัย.....

ต่อมาถึง พ.ศ.๒๔๘๒ ได้มีการเปลี่ยนชื่อประเทศสยามเป็นประเทศไทย จึงต้องเปลี่ยนแปลงเนื้อเพลงเสียใหม่ โดยใช้ทำนองเดิม และมีการประกวดแต่งเนื้อร้องเพลงชาตินี้ด้วย

พันเอก หลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์) ได้เขียนบันทึกความเป็นมาของเนื้อร้องเพลงชาติปัจจุบัน ไว้ว่า

........วันหนึ่งในราวต้นเดือนกันยายน ๒๔๘๒ ขณะฉันออกจากห้องทำงานกรมเสมียนตรา ในกระทรวงกลาโหม เดินตามระเบียงจะไปรับประทานอาหารที่สโมสรกลาโหม บังเอิญพบกับท่าน พลโท มังกร พรหมโยธี (ขณะนั้นยศเป็นพันเอก) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และรองผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งกำลังจะเดินไปรับประทานอาหาร ณ ที่เดียวกัน หลังจากฉันทำความเคารพท่านตามวินัยแล้ว ท่านก็เรียกฉันไปเดินร่วมสนทนากับท่านด้วย

ท่านปราศรัยขึ้นก่อนว่า

"คุณหลวงเห็นประกาศ ประกวดเพลงชาติของ สำนักงานโฆษณาการแล้วหรือยัง ?"

ฉันตอบสนองว่า

"เห็นแล้วครับ"

ท่าน

"แล้วคุณหลวงจะแต่งส่งเข้าประกวดกับเขาบ้างไหม ?"

ฉันนิ่งอยู่ครู่หนึ่ง แล้วตอบว่า

"เห็นจะไม่ส่ง เพราะหาเวลาไม่ใคร่ได้ ทั้งเกรงความสามารถจะไม่พอ ด้วยไม่คุ้นกับทำนองเพลงสากลนัก"

ท่านยิ้มแล้วว่า

"เชื่อผมเถอะ ผมแนะนำให้เข้าประกวด ผมอยากขอให้คุณหลวงช่วยทหารบก ซึ่งเป็นเหล่าของคุณหลวง คือแต่งเพลงชาติประกวดเอารางวัล ๑,๐๐๐ บาท และชื่อเสียงให้แก่กองทัพบกของเรา ผมจะให้เครื่องมือ คืออนุญาตให้ทดลองร้องเข้ากับแตรวงของ ร.พัน.๓ ได้ ทั้งจะให้พวกนายทหารที่เป็นเพลงสากล กับทำนองดนตรีสากลมาช่วยด้วย จะขัดข้องไหม ?"

ฉันนิ่งอยู่ครู่หนึ่ง แต่ทันใดนั้น เลือดแห่งความรู้สึกรักหมู่คณะซึ่งเป็นนิสัยเดิมของฉันก็ฉีดแรงขึ้น ฉันจึงตอบไปทันทีว่า

"ตกลงครับท่าน ร.ม.ต. ผมตั้งใจว่าจะไม่แต่งแล้ว แต่เมื่อท่าน ร.ม.ต.ขอร้องให้ช่วยหมู่คณะผมก็ไม่รังเกียจ เพราะผมพร้อมที่จะเสียสละให้แก่ส่วนรวมอยู่ทุกเมื่อ"

เป็นอันตกลง หลังจากนั้น ท่าน ร.ม.ต.ก็ส่งกองแตรวงของ ร.พัน.๓ ให้รับรองฉัน ในการไปทดลองเนื้อเพลง ตลอดมาโดยลำดับวาระและกรณี

หลังจากคิดอยู่ ๓ วัน ฉันก็ตกลงใจว่า เนื้อร้องนี้จะให้มีข้อความเหล่านี้บรรจุลงให้หมด หรือมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ คือ

ความเป็นชาติไทย การรวมไทย การรักษาเอกราชของชาติ การรวมรักษาความสามัคคีของประชาชนอย่างพี่น้องเป็นภราดรภาพ ศีลธรรมของพลเมือง ความรักสงบของไทย แต่พร้อมที่จะรบทุกเมื่อ ในเมื่อถูกข่มเหง การสร้างชาติ การปลุกใจให้รักชาติ

ท่านผู้อ่านที่รัก ท่านเห็นไหมว่า ข้อความทั้งหมดนั้นจะต้องบรรจุลงให้ได้เต็ม ในคำร้อยกรองเพียง ๘ วรรค หรือ ๔ คำกลอนเท่านั้น !

ในที่สุด ก็มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีมว่าด้วยรัฐนิยม ฉบับที่ ๖ ดังนี้

รัฐนิยมฉบับที่ ๖

เรื่อง ทำนองและเนื้อร้องเพลงชาติ

ด้วยรัฐบาลพิจารณาเห็นว่า ทำนองและเนื้อร้องเพลงชาติ ซึ่งได้ประกาศไว้ ณ วันที่ ๒๐ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗ นั้น ทำนองเพลงเป็นที่นิยมแพร่หลายแล้ว แต่เนื้อร้องจะต้องมีใหม่ เพราะว่าชื่อประเทศได้เรียกว่าประเทศไทยแล้ว จึงได้ประกาศให้ประชาชน เข้าประกวดแต่งมาใหม่ บัดนี้คณะกรรมการได้พิจารณาคัดเลือก บทเนื้อร้องเสนอ ให้คณะ ร.ม.ต.วินิจฉัย คณะ ร.ม.ต.ได้ประชุมปรึกษา พิจารณาแล้ว ลงมติพร้อมกันตกลงตามแบบเพลงของกองทัพบก โดยได้แก้ไขเล็กน้อย

จึงประกาศเป็นรัฐนิยมไว้ดังต่อไปนี้

๑. ทำนองเพลงชาติ ให้ใช้ทำนองของ พระเจนดุริยางค์ ตามแบบที่มีอยู่ในกรมศิลปากร

๒. เนื้อร้องเพลงชาติ ให้ใช้บทเพลงของกองทัพบก ดังต่อไปนี้


ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย
เป็นประชารัฐผไทของไทยทุกส่วน
อยู่ดำรงคงไว้ได้ทั้งมวล
ด้วยไทยล้วนหมายรักสามัคคี
ไทยนี้รักสงบ แต่ถึงรบไม่ขลาด
เอกราชจะไม่ให้ใครข่มขี่
สละเลือดทุกอยาดเป็นชาติพลี
เถลิงประเทศชาติไทยทวี มีชัย ไชโย.

ประกาศ ณ วันที่ ๑๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๒
พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี

คุณหลวงสารานุประพันธ์ ยังได้บันทึกไว้ในท้ายเรื่องของท่านว่า

......ฉันรู้สึกปลาบปลื้ม และภาคภูมิใจอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ฐานที่อย่างน้อยที่สุด ก็นับว่าได้ทำประโยชน์ แก่ประเทศชาติที่รักของฉัน ไว้พอเป็นอนุสาวรีย์สืบไปชั่วนิรันดรกาล ฉันสำนึกในบุญคุณของราชการทหารอยู่มิรู้วาย ในการที่ได้กรุณาจารึกข้อความ ลงในสมุดประวัติประจำตัวของฉัน ซึ่งยังปรากฎอยู่จนบัดนี้คือ ในช่อง "ความชอบ.นราชการ" บันทึกว่า "แต่งเนื้อและทำนองเพลงชาติไทยใหม่ ให้แก่กองทัพบกโดยมิขอรับตอบแทนอย่างใด"
และในช่อง "รับผลอย่างใด" บันทึกว่า "ประกาศเป็นรัฐนิยมฉบับที่ ๖"

พันเอก หลวงสารานุประพันธ์ ได้ถึงแก่กรรมเมื่อ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๙๗ รวมอายุได้ ๕๗ ปี

เพลงชาติไทย ซึ่งใช้เป็นทางราชการมาได้กว่า ๕๐ ปีแล้ว บัดนี้จะฟังได้จากสถานีวิทยุ และสถานีวิทยุโทรทัศน์ทุกแห่ง ในเวลา ๐๘.๐๐ และ ๑๘.๐๐ น.ทุกวัน แม้ว่าขณะนั้นโทรทัศน์กำลังถ่ายทอด รายการสำคัญขนาดไหนก็ตาม ทำให้มีผู้ชมบ่นออกมาหลายราย เพราะทำให้เขาอดดูรายการติดต่อกันไปตั้งหลายวินาที

และในอีกกรณีพิเศษหนึ่งนั้น เราก็จะได้ฟังในรายการชกมวยชิงแชมเปี้ยนโลก ซึ่งจัดขึ้นทั้งในประเทศและนอกประเทศ โดยผู้ชมซึ่งเป็นคนไทยที่อยู่ในสนามมวยจะร้องตาม เมื่อทางสนามเปิดเพลงชาติของนักมวยนั้น แม้นักมวยชาวไทย จะจำเนื้อเพลงนี้ได้ไม่ค่อยจะแม่นยำนักก็ตาม แต่ก็สามารถจะจูงใจให้นักมวยต่างประเทศคู่ชก ต้องพยายามที่จะร้องเพลงชาติของตนด้วยเกือบทุกครั้ง.

##########





Create Date : 17 มกราคม 2555
Last Update : 12 กันยายน 2555 18:02:06 น.
Counter : 797 Pageviews.

3 comments
หาก...... 如果...... และความคิดอันแหลมคมของหลู่ซวิ่น toor36
(11 มี.ค. 2566 00:05:02 น.)
Cập nhật giá bán đất Hương Lộ Ngọc Hiệp Nha Trang mới nhất สมาชิกหมายเลข 7275050
(2 มี.ค. 2566 15:38:54 น.)
คำศัพท์ภาษาจีน ห้องนอน bedroom 卧室 wòshì ว่อซื่อ นายแว่นขยันเที่ยว
(1 มี.ค. 2566 00:09:42 น.)
ชี้ข้อดีของการสมัคร บัตรเดบิต พ่วงประกันคุ้มครองวงเงินสูง สมาชิกหมายเลข 4927735
(15 ก.พ. 2566 01:14:18 น.)
  
สายัณหสมัยภุมวารสวัสดิ์ค่ะ


นาถขอใช้เครื่องของเพื่อนค่ะ
ดีใจ ที่มาเยี่ยมได้ค่ะ


สิริสวัสดิ์ภุมวาร เปรมปรีดิ์มานรมณีย์นะคะ
โดย: nart (sirivinit ) วันที่: 17 มกราคม 2555 เวลา:18:54:35 น.
  
ดีใจที่ได้เจอกันในบล็อกของผมครับ.
โดย: เจียวต้าย วันที่: 18 มกราคม 2555 เวลา:4:54:20 น.
  
ขอบคุณครับผม
เพลงชาติไทย
โดย: สมาชิกหมายเลข 1404403 วันที่: 4 มีนาคม 2559 เวลา:1:44:18 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Pn2474.BlogGang.com

เจียวต้าย
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 44 คน [?]

บทความทั้งหมด