ประวัติวันขึ้นปีใหม่ “กาลเวลาย่อมกลืนกินสรรพสัตว์ พร้อมทั้งตัวมันเอง”
 

ประวัติวันขึ้นปีใหม่
“กาลเวลาย่อมกลืนกินสรรพสัตว์ พร้อมทั้งตัวมันเอง”
 


คำว่า ปีใหม่ หมายถึง เวลาที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ครั้งหนึ่งราว ๓๖๕ วัน หรือ เวลา ๑๒ เดือน ตามสุริยคติ จากหลักฐานทางโบราณคดีที่ค้นพบในปัจจุบัน เชื่อกันว่าชนชาติแรกที่คิดค้น ระบบการนับวันแบบปฏิทินมีมาแล้วกว่า ๔,๐๐๐ ปี คือ ชาวบาบิโลเนียน ปัจจุบันอาณาจักรบาบิโลนเนียนเป็นที่ตั้งของประเทศอิรัก ชาวบาบิโลเนียน เขากำหนดนับวัน เดือน ปี โดยสังเกตจากระยะต่างๆ ของดวงจันทร์ ซึ่งก็คือการสังเกตจากข้างขึ้นข้างแรมนั่นเอง โดยเมื่อเกิดข้างขึ้นและข้างแรมครบ ๑ รอบก็จะถือเป็น ๑ เดือน ปฏิทินแบบนี้เรียกว่าปฏิทินจันทรคติ และพวกเขายังกำหนดให้ ๑ ปีนั้นมี ๑๒ เดือน อีกด้วย สาเหตุที่ชาวบาบิโลเนียนกำหนดให้ ๑ ปี มี ๑๒ เดือน ก็เพราะว่า เมื่อใดที่เกิดข้างขึ้นและข้างแรมครบ ๑๒ รอบ ฤดูกาลก็จะเวียนกลับมาอีกครั้ง

ต่อมาอาณาจักรข้างเคียง ก็ได้ยอมรับเอาปฏิทินของชาวบาบิโลเนียน มาใช้ในอาณาจักรตนเอง เช่น ชาวอียิปต์โบราณ ชาวกรีก และชาวเซเมติก เป็นต้น เมื่อพัฒนาการทางเทคโนโลยีมีมากขึ้น ชนชาติที่นำเอาปฏิทินแบบบาบิโลเนียนไปใช้นั้น ก็ได้ทำการปรับปรุงและพัฒนาให้มีความเที่ยงตรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวอียิปต์โบราณ ที่พัฒนาแนวคิดเรื่องปฏิทินได้อย่างรุดหน้ามากที่สุด แต่เดิมชาวโรมันกำหนดให้ 1 ปี มี 355 วัน (ตามระบบจันทรคติ) และทุก ๆ 4 ปี (ปีอธิกวาร) ต้องเพิ่มวันเข้าไปอีก 22 วัน เพื่อให้ตรงกับฤดูกาล หรือการคำนวณแบบสุริยคติ) มาปรับปรุงให้หนึ่งปีมี 365 วัน ปฏิทินแบบนี้เรียกว่าปฏิทินจูเลียน

ในอดีตประเทศไทยใช้ปฏิทินจันทรคติตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยนับเอาวันแรม ๑ ค่ำเดือนอ้าย ซึ่งตรงกับเดือนมกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับคติแห่งพระพุทธศาสนา ที่ถือช่วงเหมันต์ฤดู หรือหน้าหนาวเป็นการเริ่มต้นปี ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงไปตามคติพราหมณ์ คือถือเอาวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ เป็นวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งตรงกับวันสงกรานต์ ดังนั้นในสมัยโบราณเราจึงถือเอาวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ เปลี่ยนจากปฏิทินจันทรคติมาใช้ปฏิทินสุริยคติ ในปี พ.ศ. ๒๔๓๑ โดยกำหนดให้เมษายนเป็นเดือนแรกของปี และเดือนสุดท้ายคือมีนาคม ปรับมาใช้รัตนโกสินทรศก และพุทธศักราชตามลำดับ

จนกระทั่งในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีการปรับเปลี่ยนปฏิทินอีกครั้ง โดยปรับให้วันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ และเป็นวันเริ่มต้นของปีแทนที่รูปแบบเดิม โดยวันขึ้นปีใหม่ในรูปแบบนี้เริ่มใช้ในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ เพื่อทำให้เข้าสู่ระดับสากล ที่ใช้อยู่ในประเทศทั่วโลก

การขึ้นปีใหม่นั้นได้เวียนไปเวียนมาเหมือนวงกลม โดยเริ่มต้นตั้งแต่เดือนมกราคม ไปสิ้นสุดที่เดือนธันวาคม เวียนไปเวียนมาตั้งแต่เราเป็นเด็กเล็กๆ จนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ดังมีพุทธภาษิตที่ได้ขึ้นเป็นนิเขปบทเบื้องต้นว่า กาโล ฆสติ ภูตานิ สัพพาเนวะ สะหัตตะนา เป็นอาทิ แปลความว่า กาลเวลาย่อมกลืนกินสรรพสัตว์ พร้อมทั้งตัวมันเอง บุคคลใดเป็นผู้กลืนกินกาลเวลา บุคคลนั้นได้เผาตัณหาที่เบียดเบียนเหล่าสรรพสัตว์ได้แล้ว

พระพุทธภาษิตนี้มีในพระสุตตันตปิฎก หมวดมูลปริยายชาดก มีเนื้อความว่า ในอดีตกาลครั้งพระพุทธเจ้า สร้างบารมีเป็นพระโพธิสัตว์ บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ ครั้นเจริญวัยศึกษาศิลปวิทยาสำเร็จไตรเพท เป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์ สอนมนต์แก่มาณพ ๕๐๐ มาณพทั้ง ๕๐๐ นั้น ครั้นเรียนจบศิลปวิทยา ผ่านการซักซ้อมสอบทานในศิลปะทั้งหมดแล้ว เกิดความกระด้างด้วยความทะนงตนว่า พวกเรารู้เท่าใด แม้อาจารย์ก็รู้เท่านั้นเหมือนกัน ไม่มีความพิเศษกว่ากัน เลยไม่ไปสำนักอาจารย์ ไม่กระทำวัตรปฏิบัติแก่อาจารย์

ครั้นวันหนึ่งเมื่ออาจารย์นั่งอยู่โคนต้นพุทรา พวกมาณพเหล่านั้นประสงค์จะดูหมิ่นอาจารย์ จึงเอาเล็บมือเคาะต้นพุทราพูดว่า ต้นไม้นี้ไม่มีแก่น พระโพธิสัตว์ก็รู้ว่าศิษย์ดูหมิ่นตน จึงกล่าวกะบรรดามาณพว่า เราจักถามปัญหาพวกท่านข้อหนึ่ง มาณพเหล่านั้นต่างดีอกดีใจแล้วกล่าวว่า จงถามมาเถิด พวกผมจักแก้ปัญหานั้น แล้วอาจารย์จึงถามปัญหาว่า “กาลย่อมกินสัตว์ทั้งปวงกับทั้งตัวเองด้วย ก็ผู้ใดกินกาล ผู้นั้นเผาตัณหาที่เผาสัตว์ได้แล้ว สัตว์ผู้กินกาลนั้น หมายถึงพระขีณาสพ เพราะยังกาลปฏิสนธิต่อไปให้สิ้นด้วยอริยมรรค”

พวกมาณพเหล่านั้นได้ฟังปัญหานี้แล้ว ไม่มีผู้สามารถจะรู้ได้แม้สักคนเดียว ลำดับนั้นพระโพธิสัตว์จึงกล่าวกะมาณพเหล่านั้นว่า พวกท่านอย่าได้เข้าใจว่าปัญหานี้มีอยู่ในไตรเพท พวกท่านสำคัญว่าอาจารย์รู้สิ่งใด เราก็รู้สิ่งนั้นทั้งหมด จึงได้เปรียบเราเช่นกับด้วยต้นพุทรา พวกท่านมิได้รู้ว่า เรารู้สิ่งที่พวกท่านยังไม่รู้อีกมาก จงไปเถิด เราให้เวลา ๗ วัน จงช่วยกันคิดปัญหานี้ตามกาลกำหนด มาณพเหล่านั้นไหว้พระโพธิสัตว์แล้วกลับไปยังที่อยู่ของตน คิดกันตลอด ๗ วัน จึงพากันมาหาอาจารย์ไหว้แล้วนั่งลง เมื่ออาจารย์ถามว่า พวกท่านมีหน้าตาเบิกบาน รู้ปัญหานี้หรือ มาณพเหล่านั้นกล่าวว่า ยังไม่รู้ แล้วพระโพธิสัตว์จึงแก้ปัญหาว่า

กาลเวลากินสรรพสัตว์ พร้อมทั้งตัวมันเองนั้น หมายถึงระยะเวลาที่หดหายไปใน แต่ละวัน แต่ละเดือน และแต่ละปี ของชีวิตบุคคลที่มัวเมาประมาทว่ายังไม่แก่ ยังไม่เจ็บไข้ได้ป่วย แล้วไม่ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ไม่ตั้งใจประกอบอาชีพ มัวเมาในอบายมุขทั้ง ๖ กระทำในสิ่งที่อกตัญญูผิดศีลธรรมต่างๆ ไม่ดูแลร่างกายและจิตใจให้อยู่ในกุศลธรรมเป็นต้น

กาลเวลานั้นเปรียบได้เหมือนสายน้ำ ดังคำว่า “สายน้ำไม่คอยท่า กาลเวลาไม่คอยใคร” กาลเวลาที่ล่วงผ่านไปไม่สามารถเรียกกลับให้หวนคืนมาได้ นอกจากเวลาจะผ่านเลยไปแล้ว ยังนำความทรุดโทรมมาให้แก่สรรพสัตว์และสรรพสิ่งทั้งหลาย แต่มนุษย์ก็ได้อาศัยเวลาที่มี ทำสิ่งต่าง ๆ ให้แก่ตัวเองและผู้อื่น ผู้มีปัญญาจึงจำเป็นต้องทำตนให้เกิดคุณค่ากับเวลาที่สูญเสียไป ถ้ามัวประมาทเลินเล่อไม่เห็นความจริงของเวลา ปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ หรือนำเวลาที่มีไปใช้ทำสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์ อันเป็นเหตุให้เกิดโทษแก่ตัวเองทั้งในชาตินี้และชาติหน้า

บุคคลใดเป็นผู้กลืนกินกาลเวลานั้นหมายถึง การไม่ประมาทในกาลเวลา ได้กระทำซึ่งคุณงามความดีต่างๆ ได้แก่การให้ทาน การรักษาศีล การเจริญภาวนา จนเผาซึ่งกิเลสตัณหาจนหมดสิ้นไปได้ มาณพเหล่านั้นฟังแล้วกล่าวว่า อาจารย์เป็นผู้ยิ่งใหญ่อย่างน่าอัศจรรย์ ขอขมาอาจารย์แล้วต่างก็หมดความทะนงตน ปรนนิบัติพระโพธิสัตว์ตามเดิม

ยังมีปริศนาธรรมที่คนโบราณทายกันว่า ยักษ์ตนหนึ่งมีหน้า ๓ หน้า มีดวงตา ๒ ข้าง ข้างหนึ่งสว่างข้างหนึ่งริบหรี่ มีปาก ๑๒ ปาก มีฟันไม่มากปากละ ๓๐ ซี่ กินสัตว์ทั่วปฐพี ยักษ์ตนนี้คืออะไร

มีคำตอบว่า ยักษ์ตนนี้ได้แก่กาลเวลา มีหน้า ๓ หน้า ก็คือ ปีหนึ่งมี ๓ ฤดู หรือ ๓ หน้า ได้แก่หน้าร้อน หน้าฝน หน้าหนาว มีดวงตา ๒ ข้าง ข้างหนึ่งสว่างข้างหนึ่งริบหรี่ ก็คือมีกลางวันกับกลางคืน กลางวันก็สว่างด้วยแสงพระอาทิตย์ กลางคืนก็ริบหรี่ด้วยแสงดาว มีปาก ๑๒ ปาก หมายถึงปีหนึ่งมี ๑๒ เดือน มีฟันไม่มากปากละ ๓๐ ซี่ หมายถึงเดือนหนึ่งมี ๓๐ วัน ยักษ์คือกาลเวลานี้กินสัตว์ทั่วปฐพี ไม่มีใครรอดจากปากยักษ์ตนนี้ได้สักคนเลย
การที่คนโบราณเปรียบเทียบเวลาเหมือนยักษ์ เพราะยักษ์ตามความเข้าใจของคนเราจะคิดว่า ยักษ์ชอบกินคน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดเป็นสิ่งที่น่ากลัว จะได้ให้ความสำคัญและนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะฉะนั้น ทุกคนล้วนตกอยู่ในสภาวะเดียวกัน ถูกยักษ์คือเวลากลืนกินทุกวินาที จึงควรใช้เวลาที่มีทำสิ่งที่ดีมีคุณต่อตัวเองและสังคม ให้ทำความดีแข่งกับเวลา อย่าหลงงมงายไปกับกิเลสตัณหา

ในโอกาสที่ปีใหม่เข้ามา คนไทยเรา ก็มักจะทักทายกันด้วยคำว่า สวัสดีปีใหม่ คำว่า สวัสดี เป็นภาษาสันสกฤต ที่แปลว่า ขอให้มีความดีงามในชีวิต มีโชคดี มีความสำเร็จ การที่เราจะมีความดีความงามในชีวิตนั้นต้องมีศีล ศีลนั้นคือการรักษากายและวาจาให้เรียบร้อย การที่จะทำให้ชีวิตโชคดีนั้นต้องทำบุญให้ทาน และการที่เราจะประสบความสำเร็จนั้นต้องขยันและอดทน คุณธรรมทั้งหมดนี้จะทำให้เราได้รับพรจาก คำว่าสวัสดีปีใหม่

Cr พระอาจารย์มหาปลอด
ติสสเทโว

 
 
Education Blog/Klaibann Blog
 
newyorknurse



Create Date : 03 มกราคม 2567
Last Update : 8 มกราคม 2567 13:44:45 น.
Counter : 157 Pageviews.

1 comments
(โหวต blog นี้) 
หลักปฏิบัติ ปัญญา Dh
(18 เม.ย. 2567 19:08:42 น.)
: รูปแบบของชีวิต : กะว่าก๋า
(17 เม.ย. 2567 04:37:20 น.)
การหา เติมความมี ปัญญา Dh
(16 เม.ย. 2567 18:08:16 น.)
: รูปแบบของการค้นพบตนเอง : กะว่าก๋า
(16 เม.ย. 2567 06:05:58 น.)

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณปัญญา Dh

  
สวัสดีครับ
โดย: ปัญญา Dh วันที่: 8 มกราคม 2567 เวลา:13:55:52 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Newyorknurse.BlogGang.com

newyorknurse
Location :
ราชบุรี .. New York ...   United States

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 164 คน [?]

บทความทั้งหมด