ผ่ากลยุทธ์'เฮดจ์ฟันด์'ชั้นครู ลงทุนให้'ชนะ'
ด้วยการกระจายเงินลงทุนไปยังสินทรัพย์ทุกชนิดที่ให้ผลตอบแทน ภายใต้ปรัชญาการลงทุน ไม่ผูกติดกับสินทรัพย์ใดๆ ไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือแย่ ก็ต้องทำกำไรให้ได้...เซียนเฮดจ์ฟันด์ ระดับโลกข้ามน้ำข้ามทะเลมาเผยความลับถึงประเทศไทย

พอล แกรมเบิลส์ ผู้จัดการและหุ้นส่วนของ เอ็มบีเอ็มจี กรุ๊ป บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านวางแผนและให้คำแนะนำทางด้านการเงิน การลงทุน และกฎหมายแก่ธุรกิจในทวีปเอเชีย วิเคราะห์ว่า วิกฤติการเงินที่มีต้นเหตุมาจากปัญหาซับไพร์มในสหรัฐอเมริกา ทำให้บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกหลังจากนี้จะอยู่ใน "สภาวะหมี" (Bear Market) อีกพักใหญ่ๆ

หากมองโลกในแง่ดี ตลาดหุ้นทั่วโลกอาจจะสามารถฟื้นตัวได้ในปี 2552 แต่ถ้าสถานการณ์เลวร้ายที่สุด เศรษฐกิจจะตกต่ำไปทั่วโลก อาจต้องใช้เวลา "มากกว่า 3 ปี" ถึงจะฟื้นตัวได้

เขา ยังบอกด้วยว่า คนอเมริกันส่วนใหญ่ “ฝากชีวิต” ไว้กับการลงทุนในตลาดหุ้นถึง 70% ของเงินลงทุนทั้งหมดซึ่งหลังจากเกิดวิกฤติตลาดทุนและตลาดเงิน ทำให้มูลค่าการลงทุนเฉลี่ยหดหายไปถึง 40-45%

กองทุนประเภทบริหารความเสี่ยง หรือ “เฮดจ์ฟันด์” จึงเริ่มมีบทบาทในตลาดทุนและตลาดเงินมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา และปัจจุบันคาดว่าน่าจะมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารรวมกันกว่า 1.8 ล้านล้านเหรียญ (กว่า 61 ล้านล้านบาท)

ในฐานะที่เป็นผู้ให้คำปรึกษาด้านการลงทุน พอล แกรมเบิลส์ แนะนำให้นักลงทุน (ทั่วโลกรวมทั้งไทย) จัดพอร์ตโดยให้น้ำหนักกับการลงทุนในเฮดจ์ฟันด์ 10-20% ลงทุนในหุ้น 50-60% พันธบัตรรัฐบาล 30% น่าจะเป็นสูตรที่ลงตัวในสถานการณ์ตลาดหุ้นทั่วโลกตกต่ำเช่นนี้

เจเรมี โอไฟรเอล ผู้อำนวยการกองทุนแอปเปิลตัน โกลบอล ออพพอร์ทูนิตี้ โปรแกรม แห่งนิวยอร์ก ซึ่งเป็น เฮดจ์ฟันด์ ที่จดทะเบียนในประเทศไอร์แลนด์ ตั้งแต่ปี 2535 หนึ่งในพันธมิตรของเอ็มบีเอ็มจี กล่าวว่า แอปเปิลตันมีนโยบายการลงทุนแบบ Alternative Investment เช่นเดียวกับกองทุนเฮดจ์ฟันด์ทั่วไปของโลกขณะนี้ ที่เล่นกับ "ความเสี่ยง" ทุกรูปแบบ

สำหรับการลงทุนในรูปแบบเดิม หรือ Tradition Investment คือการลงทุนในหุ้น พันธบัตร ฝากเงินสดไว้ในธนาคาร และ การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เจเรมี บอกว่า มีความเสี่ยง “มากกว่า” เสียอีก เพราะตัวชี้วัดเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันมีความซับซ้อนและผันแปรรวดเร็ว จึงไม่ควร “ฝากชีวิต” ด้วยการลงทุนกับสินทรัพย์ใดๆ ในระยะยาว

“เราได้นำทฤษฎีการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนจาก มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มาใช้ เพราะการยึดติดกับสินทรัพย์ใดเป็นเวลานานเกินไป ความเสี่ยงก็จะมากขึ้น”

เขา อธิบายให้เห็นภาพว่า นักลงทุนทั่วไปอาจจะตกใจ และตื่นกลัว (Panic) กับวิกฤติการเงินในสหรัฐจนถึงกับเทขายหุ้น แต่สำหรับผู้บริหารกองทุนเฮดจ์ฟันด์ จะไม่มีอารมณ์นี้ เพราะไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือแย่ พวกเขาก็ต้องทำ “กำไร” ให้ได้ (เพราะเป็นหน้าที่)

สำหรับการจัดพอร์ตของแอปเปิลตัน จะเน้นลงทุนในสินทรัพย์ 4 อย่าง คือ สินค้าโภคภัณฑ์ประเภท Soft Commodity หรือ สินค้าเกษตร, พันธบัตรรัฐบาลที่ให้อัตราดอกเบี้ยสูง, หุ้นมาร์เก็ตแคปขนาดใหญ่ และอัตราแลกเปลี่ยน

โดยเน้นบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินสกุลหลักของโลกในสัดส่วนสูงสุดของพอร์ต

เจเรมี ไขความลับปรัชญาการลงทุนของเฮดจ์ฟันด์ มีอยู่ 4 ข้อ คือ หนึ่ง ผลกำไรในปัจจุบันไม่สามารถชี้วัดได้ว่าจะทำกำไรได้อีกในอนาคต

สอง มีตัวชี้วัดมากมายที่มีผลต่อมูลค่าสินทรัพย์จะเพิ่มขึ้นหรือลดลง

สาม การเคลื่อนไหวตัวเองตลอดเวลาถึงจะให้ผลตอบแทนที่มั่นคง

และ สี่ ทุกสถานการณ์มีทั้งโอกาสและวิกฤติในตัวเอง

ส่วนเคล็ดลับในการทำกำไร ถ้าเป็นอัตราแลกเปลี่ยนจะจับตากระแส Fund Flow ที่เข้าไปในตลาดหุ้นและอัตราดอกเบี้ยนโยบายของแต่ละชาติ โดยเน้นค่าเงินที่มีมีอิทธิพลในตลาดออฟชอร์ เช่น เยน ยูโร ปอนด์ ฟรังก์สวิส

ถ้าเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ จะเข้าไปเก็งกำไรในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า เช่น น้ำมันดิบ น้ำตาล ข้าวโพด ฝ้าย ถั่วเหลือง กาแฟ รวมถึงราคาทองคำ

เขาเปรียบเทียบผลตอบแทนของกองทุนตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนกันยายน สามารถทำได้ 12.03% แต่ถ้าลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกจะได้ผลตอบแทนที่ติดลบ

ด้าน จอร์แดน เธอร์โลว์ ผู้จัดการฝ่ายแห่ง แมน อินเวสเม้นท์ (MAN Investment) ซึ่งเป็นเฮดจ์ฟันด์สำหรับนักลงทุนรายย่อยใหญ่ที่สุดในโลกจากอังกฤษ ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1783 ปัจจุบันมีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารทั้งสิ้น 8 หมื่นล้านเหรียญ

นโยบายการลงทุนของ แมน อินเวสเม้นท์ ยังเน้นเก็งกำไรค่าเงินสกุลหลักของโลกในสัดส่วน 23% ของพอร์ต พันธบัตรรัฐบาล 20% ตลาดหุ้น 17% ธุรกิจพลังงาน 16.5% ที่เหลือเป็นอัตราดอกเบี้ย สินค้าโภคภัณฑ์ และสินค้าเกษตร โดยสามารถสร้างผลตอบแทนเฉลี่ย 18.5% ทุกปี

จอร์แดน บอกว่า พอร์ตของกองทุนจะเน้นกระจายความเสี่ยง ไม่ลงทุนในหุ้นเพียงอย่างเดียว ทำให้ผลตอบแทนเฉพาะช่วงสามเดือนที่เกิดวิกฤติสถาบันการเงินทำได้ 7.7% ซึ่งสูงกว่าดัชนีตลาดหุ้นเอเชีย หรือ MSCI

ส่วนปรัชญาการลงทุนกองทุนแห่งนี้ จะเน้น Short Sale อยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ไม่ว่าสภาพตลาดจะอยู่ในช่วงขาขึ้นหรือขาลง ก็จะสามารถทำกำไรได้

ถามว่า...ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะซบเซาและตลาดหุ้นยังมีความเสี่ยงจากการถูกเทขาย เฮดจ์ฟันด์จะเตรียมแผนรับมืออย่างไร จอร์แดน ตอบว่า "ไม่มี"

เพราะทัศนคติของผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์ทั่วโลก จะมองว่าทุกสถานการณ์มีทั้งโอกาสและวิกฤติ ตลอดเวลาอยู่แล้ว

ทีมา : กรุงเทพธุรกิจ



Create Date : 07 พฤศจิกายน 2551
Last Update : 7 พฤศจิกายน 2551 15:50:31 น.
Counter : 762 Pageviews.

1 comments
  
โดย: sysee วันที่: 11 พฤศจิกายน 2551 เวลา:22:15:38 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Longkiddoo.BlogGang.com

ขอบฟ้าบูรพา
Location :
สมุทรปราการ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 19 คน [?]

บทความทั้งหมด