ผม เงิน ชีวิต
เรามาทำความรู้จักกันก่อนดีกว่าครับ ตอนนี้ผมอายุ 25 ปี ทำงานในบริษัทเอกชนย่านสาธร แหล่งที่ขึ้นชื่อว่าค่าครองชีพแพงมากแห่งหนึ่งของประเทศไทย และเนื่องจากบ้านผมอยู่ไกลจากออฟฟิศมากผมจึงเช่าหออยู่ใกล้ๆกับที่ทำงาน ผมทำงานที่นี่มาเกือบจะครบขวบปีแล้วครับ โดยมีฐานเงินเดือนอยู่ที่ 20,000 บาทและหากเดือนใดที่ทำยอดขายได้สูงก็จะมีรายได้จากค่าคอมมิชชันในเดือนนั้นๆด้วยครับ

หลังจากที่ผมได้รับเงินเดือนแล้วสิ่งแรกที่ผมทำก็คือ หักเงินจำนวน 5,000 บาทเป็นอย่างน้อย และหากเดือนไหนมีค่าคอมมิชชันผมก็จะนำเงินค่าคอมมิชชันทั้งหมดมาเพิ่มในส่วนนี้ด้วย ส่วนนี้ผมสะสมเพื่อความมั่นคงและความมั่งคั่งครับ ในเรื่องของความั่นคงเนื่องจากผมมีการตรวจสอบรายรับรายจ่ายของตัวเองเสมอ ทำให้ผมรู้ว่าหากผมไม่ออมเงินรายเดือน และใช้เงินน้อยที่สุดเท่าที่ผมจะอยู่ได้โดยไม่ลำบากในแต่ละเดือนนั้น ผมจะต้องมีเงินประมาณ 10,000 บาท ทำให้ผมคิดว่าเพื่อความปลอดภัยผมควรจะมีเงินอย่างน้อย 60,000 บาท ในบัญชีที่สามารถเบิกถอนได้สะดวก(ซึ่งผมนำไปไว้ในกองทุนรวม) หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมผมต้องเก็บเงินจำนวนนี้ไว้ด้วย เพราะว่าทุกวันนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วมาก ผมได้ฟังเรื่องของคนใกล้ตัวหลายคนที่มาทำงานในตอนเช้าและต้องเก็บของกลับบ้านในตอนเย็น ผมได้ยินเรื่องราวของคนที่ต้องการออกไปทำธุรกิจเป็นของตัวเองแต่ไม่มีความกล้าพอ เพราะถ้าออกไปก็ไม่มีเงินสำรองใช้จ่ายในตอนเริ่มตั้งธุรกิจ ดังนั้นผมคิดว่าผมควรที่จะต้องสำรองเงินส่วนนี้ไว้ เพื่อที่ว่าหากวันนึงผมจะต้องออกจากงานผมจะได้ลดความกังวลลงได้ และให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาแทนที่จะมาวิตกกังวลกับปัญหาปากท้องวันต่อวัน

ในตอนเริ่มทำงานผมมีเงินเก็บในส่วนนี้ประมาณสองหมื่นกว่าบาท และหลังจากที่ทำงานได้ประมาณห้าเดือนผมก็เก็บเงินในส่วนนี้จนครบ ตรงนี้ผมเก็บเงินทั้งหมดไว้ในกองทุนรวมตลาดเงินของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมแห่งหนึ่ง เพราะว่าธรรมชาติของกองทุนประเภทนี้จะมีความเสี่ยงที่ต่ำจากการที่กองทุนมักจะถือตราสารที่มีความมั่นคงเป็นหลัก และอายุเฉลี่ยของตราสารก็ไม่เกินสามเดือน ทำให้ความเสี่ยงที่ผู้ออกตราสารจะเบี้ยวหนี้ หรือการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยนั้นมีผลกระทบต่อกองทุนไม่มาก โดยฌพาะอย่างยิ่งในช่วงนี้ที่เงินเฟ้อสูงอันจะนำมาซึ่งการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในที่สุด

สำหรับการสะสมความมั่งคั่ง เมื่อผมเก็บเงินสำหรับความมั่นคงจนครบตามที่ตั้งใจไว้แล้ว ผมก็นำเงินจำนวนนั้นมาลงทุนในกองทุนตราสารทุนหรือกองทุนที่ลงทุนในหุ้นนั่นเองครับ ผมเลือกในกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ เมื่อมีคนมาขอคำแนะนำจากผมหากผมพิจารณาแล้วว่าสามารถรับความเสี่ยงจากความผันผวนได้ ผมก็มักจะแนะนำให้ลงทุนในกองทุนประเภทนี้เช่นกัน เพราะผลตอบแทนของกองทุนประเภทนี้มักจะล้อไปกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ดังนั้นหากในช่วงใดที่ตลาดหลักทรัพย์ขึ้นหรือลง เราก็พอจะคำนวณคร่าวๆได้ว่าผลตอบแทนในการลงทุนของเราเป็นอย่างไร เทียบกับกองทุนที่มีบริหารจัดการโดยผู้จัดการกองทุนที่ผลตอบแทนอาจไม่ได้ล้อไปกับดัชนีหรืออาจจะไปในทิศทางตรงกันข้ามในบางครั้ง

ทำไมผมถึงเลือกลงทุนในกองทุนหุ้นเป็นหลักทั้งๆที่หลายคนบอกว่ามีความเสี่ยงจากความผันผวน เพราะว่าผมศึกษาแล้วว่าการลงทุนในระยะยาวนั้นหุ้นให้ผลตอบแทนดีที่สุด ดีกว่าตราสารหนี้และทองคำ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาตลาดที่มีอายุยาวนานอย่างตลาดหุ้นอเมริกา หรือตลาดวัยหนุ่มใหญ่อย่างตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็ตาม ผลตอบแทนเฉลี่ย 10-11%ต่อปีนั้นแม้ว่าจะดูมากกว่าผลตอบแทน 4-5% ไม่มากแต่เมื่อคำนวณแบบทบต้นเป็นระยะเวลาหลายสิบปีผลตอบแทนไม่ได้ต่างกันเพียงเท่าเดียวนะครับ มหาศาลเลยแหละ ดังนั้นแม้ว่าจะมีความผันผวนตามรายทางบ้างเราก็ต้องเกาะรถไฟเหาะลำนี้ให้แน่นครับ(ฮา)

ที่ผมรับรู้แต่ไม่ได้กังวลถึงคความผันผวนของการลงทุนในหุ้นมากนักเพราะผมมีข้อได้เปรียบดังนี้
1) ผมลงทุนแบบถัวเฉลี่ยทุกเดือน ดังนั้นในระยะยาวแล้วต้นทุนของผมจะต่ำกว่าราคาตลาดครับ หมายความว่าในระยะยาวแล้วผมมีโอกาสชนะมากกว่าแพ้
2) ในส่วนนี้ผมเน้นที่การสะสมความมั่งคั่ง ดังนั้นการจะถอนเงินออกก็เพื่อการซื้อบ้านหรือว่าใช้ในวัยเกษียณแล้วเท่านั้น หมายความว่าผมมีเวลาให้เงินก้อนนี้ทำงานกว่า 30 ปี และจากการศึกษาตามตำราต่างๆ ตลาดหุ้นจะมีวัฏจักรหรือวงรอบของการขึ้นลงในช่วงประมาณ 3-5 ปี และการที่ผมจะวางแผนเพื่อซื้อบ้านหรือเกษียณอายุ ผมต้องวางแผนก่อนอยู่แล้ว ดังนั้นผมสามารถรอวัฏจักรขาขึ้นเพื่อที่จะขายการลงทุนของผมได้อย่างไม่เดือดร้อนครับ

ผมมีแฟนอยู่หนึ่งคน(และก็แนะนำทุกท่านว่าไม่ควรมีมากกว่านี้ เพราะจะเสี่ยงกับการเจ็บตัวโดยใช่เหตุครับ ฮา) เราสองคนตกลงที่จะสร้างอนาคตร่วมกัน โดยในแต่ละเดือนเราจะลงทุนร่วมกันคนละหนึ่งพันบาทรวมเป็นสองพันบาท เพื่อไปลงทุนในกองทุนหุ้นและกองทุนทองคำอย่างละครึ่ง หรืออย่างละหนึ่งพันบาทต่อเดือน และทุกๆห้าปีเราจะเพิ่มเงินลงทุนต่อเดือนครั้งละพันบาท เป็นสี่พันบาท หกพันบาทไปเรื่อยๆจนกว่าจะเกษียณ ฟังแล้วอาจจะดูน้อยนะครับแต่พอคิดออกมาแล้วเบ็ดเสร็จปีที่ผมอายุ 60 เราสองคนจะมีเงินรวมกันประมาณแปดล้านบาท ใช่ครับเงินจำนวนที่หลายคน(ผมแน่ใจว่าเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศเลย) คิดว่าไม่มีโอกาสสัมผัสสักครั้งในชีวิต แต่จริงๆแล้วเราสามารถทำได้หากมีวินัยมาก และเครื่องมือในการลงทุนที่ดีพอ จริงๆเงินจำนวนแปดล้านบาทก็คงไม่ได้มากมายอะไรเมื่อเทียบกับเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นใน 35 ปี แต่ผมก็คาดว่าน่าจะทำให้เราสองคนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างไม่ลำบากจนเกินไปนักในยามเกษียณ และหากย้อนขึ้นไปข้างบนผมยังมีเงินลงทุนส่วนตัวอยู่อีกนะครับ และยังไม่รวมกับเงินที่แฟนผมลงทุนของเธออีก ดังนั้นคงไม่ออกตัวเกินไปหากผมจะบอกว่าเราน่าจะสามารถสะกดคำว่า “มั่งคั่ง” ได้สบายๆเลยครับ

และนี่ก็เป็นอีกเหตุผลที่ทำไมเราถึงใช้หุ้นเป็นพาหนะหลักในการลงทุน เพราะการลงทุนในตราสารหนี้ไม่สามารถนำพาเรามาที่หลักชัยได้แน่นอน เพราะผมคาดการณ์ผลตอบแทนต่อปีไว้ที่ 7% ครับ ส่วนทองคำนั้นผมใส่ไว้เป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนเพราะว่าทองคำนั้นสามารถต่อสู้กับเงินเฟ้อได้ดี อย่างไรก็ตามผมต้องติดตามความเคลื่อนไหวของทองคำตลอดเวลา เพราะแม้หลายคนจะบอกว่าการลงทุนในทองคำนั้น “ปลอดภัย” แต่ถ้าหากเขาเหล่านั้นได้เห็นกราฟราคาทองคำที่ลดลง 200 ดอลลาร์ภายในวันเดียว เค้าจะยังคิดว่าการลงทุนในทองคำนั้น “ปลอดภัย100%”อยู่หรือเปล่านะ

เล่าเรื่องการลงทุนกันแล้ว เรามาต่อกันที่การใช้ชีวิตของผมในด้านของเงินๆทองๆบ้างดีกว่าครับ ดูซิว่าผมใช้เงินยังไงบ้าง ถ้าถูกใจก็อย่าลืมเอาไปปรับใช้กันบ้างนะครับ

อย่างที่เล่าไว้ในตอนต้นว่าผมเช่าหออยู่ใกล้ๆกับออฟฟิศเนื่องจากว่าบ้านผมอยู่ไกลมาก ผมไม่อยากจะคิดเลยว่าผมจะเสียเวลาไปเท่าไหร่ต่อปี ถ้าผมต้องใช้เวลาในการเดินทางสี่ชั่วโมงต่อวัน ดังนั้นผมยอม “จ่ายมากกว่า” เพื่อที่จะใช้เวลาในส่วนนี้ในด้านอื่นแทนที่จะอยู่บนรถเมล์เศษหนึ่งส่วนหกของชีวิต(ฟังดูโหดร้ายจัง) เพราะผมคิดว่า “สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเวลาใช่เงินตรา”

การอยู่หอของผมนั้นทำให้ผมใช้เวลาที่ได้มาในการพักผ่อน ออกกำลังกาย หรือหาความรู้เพิ่มเติม(เดี๋ยวนี้ความรู้ใหม่ๆเกิดขึ้นทุกนาทีครับ เพียงเราหยุดทุกอย่างก็จะก้าวนำไปข้างหน้าเราแล้ว) และเมื่ออยู่ใกล้ออฟฟิศ เพื่อความประหยัดและสุขภาพที่ดีผมก็เลือกที่จะขี่จักรยานไปทำงานเป็นการบังคับให้ตัวเองออกกำลังกายไปในตัว ตกเย็นผมก็ไปวิ่งออกกำลังที่สวนลุม ค่ำหน่อยก็ไปหาอาหารอร่อยๆหลังออกกำลังกาย(ฮา)

ถึงแม้ว่าผมจะอยู่ใตกลางเมืองหอของผมก็ไม่ได้วิลิศมาหราอะไร หากแต่มีอุปกรณ์พอเพียงสำหรับการใช้ชีวิตของปุถุชนคนหนึ่งเท่านั้น เพราะผมถือว่า “เราเช่าหอเพื่ออยู่ ไม่ใช่เพื่อสร้างภาพ” หอของผมไม่มีเครื่องปรับอากาศเพราะผมเคยชินกับการใช้พัดลมด้วยส่วนหนึ่ง และราคาย่อมเยาด้วยส่วนหนึ่ง (สำหรับท่านที่ไม่เคยอยู่หอ ถ้าห้องที่มีเครื่องปรับอากาศราคาจะสูงกว่าครับ ไม่รวมถึงค่าไฟที่จะวิ่งเร็ววกว่าด้วย) ผมเห็นหลายคนที่อยู่หอต้องดีๆหรูหรา ต้องขับรถยนต์ไปทำงาน ผมเคยคิดที่จะซื้อรถเหมือนกันแบบที่ราคาไม่แพง ผ่อนยาวหน่อย แต่พอรวมค่าบำรุงรักษา ค่าประกัน และค่าน้ำมันเชื้อเพลิงแล้ว “เหยียบหมื่น” เลยต้องถอยกรูดๆ ถึงทุกวันนี้ผมยังสงสัยว่าบางคนมีรายได้ต่อเดือนน้อยกว่าผม เค้าสามารถจ่ายได้ยังไงหนอใครรู้ช่วยเฉลยที

บัตรเครดิต หลายคนกลัวการมีบัตรเครดิตมากผมเห็นในเว็บบอร์ดที่พูดคุยด้านการเงินการลงทุนมักจะมีคำแนะนำว่า “การไม่มีบัตรเป็นลาภอันประเสริฐ” “ตัดบัตรทิ้งแล้วเลิกใช้” “อย่าไปเชื่อคำลวงโลกของพวกคนขายบัตรเครดิต” ตรงนี้ผมคิดว่าบัตรเครดิตก็เหมือนมีด ที่สามารถใช้ทำครัวได้ ใช้อำนวยความสะดวกก็ได้ ในขณะเดียวกันก็ใช้ทำเรื่องร้ายๆได้ด้วย บัตรเครดิตก็เช่นกันสำหรับบางคนการใช้บัตรเครดิตอาจจะเป็นการดื่มยาพิษดับกระหาย แต่กับอีกหลายๆคนบัตรเครดิตคืออุปกรณ์วิเศษเช่นกัน จะมีบัตรอะไรที่ทำให้เราเลื่อนการจ่ายเงินของตัวเองออกไปได้ 45-51วัน จะมีบัตรไหนให้ส่วนลดทั้งร้านค้า ร้านอาหาร ปั๊มน้ำมัน จะมีบัตรไหนให้เงินเราใช้ในตอนที่เราฉุกเฉินแบบเร่งด่วน มีบัตรเดียวครับ บัตรเครดิต อยากให้อัศเจรีย์สักหลายๆอันจัง

ผมมีเรื่องเล่าให้ฟังครับ ครั้งหนึ่งคุณย่าของผมป่วยหนักถูกส่งเข้าโรงพยาบาล และโรงพยาบาลส่งคุณย่าผมไปที่ศูนย์โรคเฉพาะทางเพื่อวินิจฉัย หลังจากที่คุณย่าของผมเข้าห้องตรวจไปแล้วทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินก็เข้ามาพูดคุยเรื่องค่าวินิจฉัยเป็นเงินตกสามหมื่นกว่าบาทซึ่งผมมีเงินสดเพียงไม่กี่พันบาท ตอนนั้นเหมือนโลกหมุนเลยครับ ผมคิดอะไรไม่ออกเลยได้แต่นึกว่า ถ้าเราไม่มีเงินจ่ายเค้าจะยังตรวจโรคให้คุณย่าหรือเปล่า ถ้าต้องเลื่อนการตรวจต้องเลื่อนการรักษาไหม สับสนมากครับจนมานึกได้ว่าเค้าน่าจะรับบัตรเครดิตบ้างนะ ซึ่งรับครับ จากนั้นมาหากใครถามผมเรื่องนี้ผมแนะนำเลยว่าควรจะมีไว้หนึ่งใบ เพราะ“มีแต่ไม่ใช้ ดีกว่าจะใช้แต่ไม่มี” สมัยนี้บัตรเครดิตฟรีค่าแรกเข้าและค่ะรรมเนียมรายปีมีถมเถไปครับ

แต่ใช้แล้วต้องชำระคืนให้หมดนะครับ นี่แหละครับที่เราเรียกว่าการใช้เงินในอนาคต ผมเองวันไหนถ้าใช้บัตรเครดิตไปแล้วพอกลับบ้านจะโอนเงินผ่านทางอินเตอร์เน็ทเข้าไปเก็บสะสมไว้เพื่อรอวันชำระเลย ผมจะผ่อนชำระในกรณีเดียวครับ คือให้ผ่อน 0% แต่ต้องเช็คให้แน่ใจว่าผมไม่ได้จ่ายเกินราคาสินค้านั้นจริงๆ และไม่มีค่าธรรมเนียมซ่อนอยู่เบื้องหลัง มีที่ไหนครับใช้เงินไปแล้วแต่ให้เราเอาเงินมาลงทุนรับดอกเบี้ยได้อีกเดือน ของเค้าดีจริงๆ แนะนำเลยครับ

เล่าไปเล่ามาเกือบจะลืมเรื่องเงินที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ผมเริ่มการวางแผนการเงินจากเงินเดือน 20,000 บาท(ถ้ามีค่าคอมมิชชันก็ลงทุนเพิ่มไป) หักเงินลงทุนอีก 5,000 บาท เงินที่กันไว้กับแฟน 1,000 บาท หักค่าหอ 3,500 บาท(เห็นไหมครับพอหักค่าวิลิศมาหราออกค่าหอกลางเมืองรวมน้ำไฟยังถูกขนาดนี้) ให้ทางบ้านส่วนหนึ่งขอเล่าตรงนี้ก่อนดีกว่า
เนื่องจากผมคิดว่าคุณย่ามีเงินรายเดือนจากลูกหลานพอสมควรแล้ว คุณแม่ของผมเองก็ยังไม่เกษียณ เงินจำนวนไม่กี่พันของเราคงไม่ได้ทำให้คุณภาพชีวิตของท่านเปลี่ยนแปลงไปเท่าไหร่ แต่ผมสังเกตว่าท่านเหล่านี้มักจะเกรงใจลูกหลานครับ นิดๆหน่อยๆบางทีท่านไม่พูดท่านกลัวลูกหลานจะเสียเงิน(ผมเชื่อว่าที่บ้านท่านก็เป็นเช่นกัน) ดังนั้นแทนที่ผมจะให้เงินท่านไปเก็บ ผมเลือกที่จะซื้อสิ่งของต่างๆที่ท่านต้องการ หรือของที่ท่านได้ใช้ประโยชน์ไปให้ท่าน เช่น ขนมและผลไม้ บัตรตรวจสุขภาพ หนังสือธรรมะ หรือสิ่งของต่างๆที่ช่วยให้ท่านคลายเหงาได้ เรียกว่าเป็นการบังคับใช้ไปในตัวครับ ผมคิดว่าแบบนี้ดีกว่าการให้ท่านเอาไปเก็บไว้เฉยๆครับ

กลับมาที่การใช้เงินของผม ผมนำเงินส่วนที่เหลือจากค่าใช่จ่ายประจำต่างๆมาเก็บไว้ในกองทุนรวมตลาดเงินครับ ผมมีกองทุนรวมตลาดเงินอยู่สองกองทุน หนึ่งไว้สำหรับเก็บเงินค่าบัตรเครดิต และเงินที่จะตัดไปลงทุนตามเวลาที่กำหนด สองเป็นกองทุนสำหรับผมใช้เบิกถอน เพราะกองทุนนี้จะมีบัตรคู่กับกองทุนให้ เบิกถอนหน่วยลงทุนได้ทันทีที่ตู้ ATM ทั่วประเทศ ฟรีค่าธรรมเนียมไม่จำกัดจำนวนครั้ง เยี่ยมไหมล่ะ บางคนบอกว่าจะเอาไปไว้ในกองทุนทำไมได้ผลตอบแทน 0.8-0.9%เอง ผมคิดแล้วก็ขำเพราะคนที่พูดน่ะฝากออมทรัพย์ได้ดอกเบี้ย 0.75%เองครับ

ผมคงเล่าเรื่องของการบริหารเงินไม่หมดทุกส่วนนะครับ เพราะผมกำลังเล่าในสิ่งที่ผมกำลังทำ ไม่ใช่ทฤษฏีการบริหารการเงินส่วนบุคคล ดังนั้นหากผมไม่ได้พูดถึงเรื่องไหนก็ขออภัยครับ(ฮา)

เรื่องของการทำประกัน เนื่องจากที่ทำงานผมได้ทำประกันสุขภาพให้กับพนักงานผมจึงไม่มีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ แต่ผมแนะนำว่าถึงแม้ท่านจะไม่มีสวัสดิการในส่วนนี้ก็ควรจะทำประกันสุขภาพไว้ครับ เพราะว่าค่าใช้จ่ายเนื่องมาจากการเจ็บป่วยสมัยนี้นี่ไม่เบาเลยทีเดียว อย่างกรณีของคุณย่าผม ดีที่ว่ายังมีลูกหลานช่วยกันแบ่งเบา แล้วลองคิดว่าถ้าเป็นเราๆท่านๆล่ะครับ เจ็บป่วยหนักขึ้นมาจะทำยังไง มีเงินสำรองตรงนี้พอหรือเปล่า ครอบครัวจะเป็นห่วงท่านแค่ไหน
จริงอยู่ว่าเราไม่ควรมองโลกในแง่ร้าย แต่การเตรียมพร้อมสำหรับความเสี่ยงดีกว่าเกิดอุปัทวะเหตุโดยไม่มีการป้องกันไม่ใช่หรือครับ เราพูดกันเสมอๆว่า “ชีวิตนั้นประเมินค่ามิได้” ในขณะที่เราทำประกันให้กับบ้านราคาไม่กี่ล้านได้ แล้วมีเหตุผลไหนที่เราจะไม่ “ประกันร่างกายที่สูงค่า” ของเราล่ะครับ
ในทางการเงินการทำประกันสุขภาพทำให้เรารู้รายจ่ายที่ค่อนข้างแน่นอนว่าเราจะมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่สำหรับเรื่องสุขภาพในปีนั้นๆ แต่หากท่านเสียดายเงินจำนวนนี้ เมื่อเกิดอุปัทวะเหตุขึ้นจริงๆ จะทำให้แผนที่เราวางไว้เสียหายอย่างร้ายแรงเข้าทำนอง “เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย” ดีไม่ดีปัญหาสุขภาพทางการเงินอาจจะไปซ้ำเติมปัญหาสุขภาพกาย และไปเพิ่มปัญหาสุขภาพจิตเข้าให้อีกนะครับ
บางท่านอ่านมาถึงตรงนี้อาจจะสงสัยว่าทำไมผมเน้นไปที่การทำประกันสุขภาพไม่พูดถึงการประกันชีวิต เพราะผมเพิ่งเริ่มวางแผนทำประกันชีวิตเองครับ ตัวแทนท่านใดที่มีกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบไม่พ่วงออมทรัพย์ที่น่าสนใจติดต่อผมด่วนเลยครับ(ฮา)

แล้วก็คงต้องเอวังกันตรงนี้แล้วครับเพราะคนเล่าก็เริ่มหมดมุกแล้วด้วย(ฮา) ผมเองจะดีใจหากว่ามีคนอ่านบทความชิ้นนี้(แปลว่าไม่โดนทิ้งขว้าง ฮา) และจะดีใจมากหากว่าเรื่องราวของผมสามารถเป็นแรงบันดาลใจหรือเป็นแนวทางให้ใครสักคนสร้างสุขภาพทางการเงินของเขาให้ดีขึ้น ทั้งนี้สร้างความมั่งคั่งนั้นไม่ใช่เรื่องที่ตายตัวว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ เรื่องใดของผมที่ท่านคิดว่าตึงเกินไปท่านก็หย่อนมันลงมา เรื่องใดที่ท่านว่าหย่อนไปท่านก็ขันให้ตึงอีกนิด ที่สำคัญที่สุดคือท่านต้องรู้จักตัวเอง รู้ความฝัน ความหวัง และเป้าหมายของท่าน แล้วท่านจึงวางแผนการใช้เงินให้สอดคล้องกับแผนการดำเนินชีวิตของท่าน นี่แหละจึงจะเรียกว่า “ฉลาดออม ฉลาดใช้ ฉลาดลงทุน”อย่างแท้จริง

สุดท้ายผมขอจบด้วยคำตอบสำหรับคำถามที่ว่า “มีเงินแล้วไม่ใช้ ตายไปก็เอาไปไม่ได้”
ผมจะตอบเขาเหล่านั้นว่า “ตายก่อนใช้เงินไม่ใช่ปัญหา แต่อายุยืนแล้วหมดปัจจัยนั่นล่ะปัญหา”

(@_@)



Create Date : 01 กรกฎาคม 2554
Last Update : 1 กรกฎาคม 2554 15:22:54 น.
Counter : 1401 Pageviews.

4 comments
  
^^ ขอบคุณมากครับ

เป็นแนวคึดที่ยอดเยี่ยมมากครับ

ได้ตระหนักอะไรหลายอย่างเลย
โดย: star IP: 115.87.19.180 วันที่: 1 กันยายน 2554 เวลา:1:26:34 น.
  
ขอบคุณมากค่ะ สุดยอด
ดิฉัน ถูกเพื่อนร่วมงาน(คนที่มีหนี้สินแต่ไม่ยอมจ่าย)
พูดว่าจนถึงทุกวันนี้ ว่า
มีเงินแล้วไม่ใช้ ตายไปก็เอาไปไม่ได้

ขอบคุณในคำตอบ ... และขอบคุณแนวคิดดีๆ ....
ที่ดิฉันเคยทำเพียงออมเพิ่ม (แต่ลงทุนไม่เป็น)

จะนำไปให้ลูกอ่านค่ะ
โดย: แม่ลูกสอง IP: 180.180.145.111 วันที่: 7 มีนาคม 2555 เวลา:11:45:33 น.
  
ยินดีครับ
โดย: ขอบฟ้าบูรพา วันที่: 9 มีนาคม 2555 เวลา:12:06:06 น.
  
อ่านมาเจอตรงนี้แล้วชอบครับ

สุดท้ายผมขอจบด้วยคำตอบสำหรับคำถามที่ว่า “มีเงินแล้วไม่ใช้ ตายไปก็เอาไปไม่ได้”
ผมจะตอบเขาเหล่านั้นว่า “ตายก่อนใช้เงินไม่ใช่ปัญหา แต่อายุยืนแล้วหมดปัจจัยนั่นล่ะปัญหา”

คมบาดใจ และเป็นอมตะดีครับ

ส่วนตัวผมคิดว่าชีวิตเราคล้ายกันมากเลย ออกแนวสมถะ และเวลาเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุด
บทความนี้ดีมากเลยครับ ชอบจริงๆ ขอตามอ่านทุกบทความเลยแล้วกันครับ ^^
โดย: yamr IP: 124.122.51.2 วันที่: 5 พฤศจิกายน 2555 เวลา:15:31:59 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Longkiddoo.BlogGang.com

ขอบฟ้าบูรพา
Location :
สมุทรปราการ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 19 คน [?]

บทความทั้งหมด