|
| 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 |
7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 |
14 | 15 | 16 | 17 | 18 | 19 | 20 |
21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 |
28 | 29 | 30 | 31 | |
|
|
|
|
|
|
|
บัลลังค์เมฆ..ในทัศนะ(ชาวบ้านๆ) ของข้าพเจ้า

ตอนซื้อตั๋วบัลลังค์เมฆ เดอะมิวสิเคิ่น ..ก็ออกจะหวั่นๆ อยู่ไม่น้อยว่าพระมารดาจะปลื้มกับละครเวทีเรื่องนี้หรือไม่ เพราะจะเป็นหนแรกที่ได้พาไปชม ยิ่งได้อ่านรีวิวในห้องเฉลิมกรุงไปบ้างก็พอนึกออกว่าบรรยากาศจะเป็นเช่นไร แต่เอาเถิด..อย่างน้อยก็เชื่อว่าอลังการงานสร้างของคุณบอยคงทำให้ตื่นตาอยู่ได้ตามสมควร
ด้วยความที่ไม่ได้สร้างความคาดหวังกับตัวแสดงและคุณภาพการร้องเพลงมาสักเท่าไร และไม่ได้ลงทุนกับตั๋วราคาแพงเกินไปนัก ยอมเสด็จขึ้นไปลอยฟ้าอยู่บนชั้นสอง ก็ทำให้การดูบรอดเวย์สไตล์ไทยๆ ครั้งนี้ไม่ชวนหงุดหงิดเกินไปนัก
แต่ที่น่าเสียดายอยู่คือระบบเสียงดนตรีไม่กระหึ่มเหมือนนั่งดูชั้นล่าง หากเสียงร้องเสียงพูดยังคงแผดได้กระหน่ำเช่นเคย (จนท่านแม่ออกจะบ่นว่ามันทะเลาะดังอะไรกันขนาดนั้น จนจับความอะไรไม่รู้เรื่อง แถมทั้งเรื่องยังทุ่มเถียงกันกระหน่ำ) คงต้องฝากท่านซาวด์เอ็นจิเนียร์กรุณาช่วยทำให้น้ำเสียงของบรรดา(ว่าที่)นักร้องเหล่านั้นฟังนุ่มนวลขึ้นก็จะเข้าทีเป็นอันมาก
สำหรับเรื่องราวของก๊อดมาเธอร์ ปานรุ้ง ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาในช่วง 3 ชั่วโมงละครนั้น ขอกราบเรียนพ่อแม่พี่น้องกรุณาไปตามอ่านในกระทู้ห้องเฉลิมกรุงกันเถิด เพราะมันยืดยาวและพันลึกด้วยตัวละครมากมายหลายลูกหลายสามี... อีรุงตุงนังจนจำมิหวาดไหว

ได้ฤกษ์เบิกม่านเวทีบัลลังค์เมฆถึงมิค่อยตระการตานัก กระนั้นก็ทำได้เกร๋ตามสมควร หากความรู้สึกคลาสสิคในยุคสมัยนั้นกลับสัมผัสได้ผิวเผินจากบรรยากาศของเพลงและฉาก เพราะสไตล์การออกแบบดูจะออกแนวกราฟฟิกซ้า.... เพลงก็หลากแนวตั้งแต่บรอดเวย์ สแตนดาร์ด บลูส์ ร็อคแอนด์โรล ดิสโก้ ฟังกี้??(มันแปลกดีนะๆ ..เพลงของเต๋อเรวัต ยังอดแซมมาไม่ได้)
ก็คงตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไปกระมัง หากแต่ความต่อเนื่องของอารมณ์แต่ละฉากมันฟาดฟันกันเหลือกำลัง กำลังซึ้งๆ ทีไร ก็ต้องสะดุ้งเฮือกกับเพลงแนวโจ๊ะพรึมๆ ของฉากต่อไปทุกทีสิน่า
แต่ที่น่าชมคือ ทำนองเพลงหลักของเรื่อง หรือที่ฝาหรั่งเขาเรียกว่า Theme Song นั้น ฟังเสนาะโสตและได้อารมณ์ซึ้งเป็นที่ยิ่ง เกือบๆ จะจำและฮัมตามได้อยู่รอมร่อ (เกือบๆ อะนะ) และน่าเสียดายที่นักแสดง 80% ของเรื่องนั้นแค่ร้องเพลงได้ (แต่คงไม่อาจเรียกได้ว่าร้องเพลงเป็น) แถมเจ้าแม่ปานรุ้ง (สินจัย) ต้องมีบทออกมาร้องทำนองเพลงนี้อยู่ซ้ำซากหลายท่อน ซึ่งก็เข้าใจอยู่ว่าเธอพยายามเต็มที่ หากตัวเองมิใช่นักร้องโดยอาชีพ ก็เลยมิสามารถนำพลังของเพลงออกมากล่อมอารมณ์คนดูให้อยู่หมัดได้อย่างที่ควรจะเป็น

มีนักแสดงที่ร้องเพลงกู้หน้าบัลลังค์เมฆไว้ได้อยู่บ้างสองสามคน เช่น ปานวาด (กัลยา) ที่ร้องได้ดีเกินคาด วิรินทร์ (หนึ่งธิดา) และแน่นอน เกื้อ (กบ ทรงสิทธิ์) ที่ยังคงเส้นคงวากับคุณภาพการร้องการแสดง ส่วนป้าเม้า (สุดา ชื่นบาน) มีบทแม่เกื้ออยู่หน่อยเดียว เลยไม่ได้ฟังลีลาการร้องสักเท่าไร อ้อ..เด็กๆ ทั้งหลายก็ทำได้ดีเช่นกัน ยิ่งตอนแปลงร่างเป็นลูกๆ ตอนโตสร้างความประทับใจให้คนดูจนต้องปรบมือกันกระหน่ำ

ความที่เรื่องราวผ่านยุคสมัยมากมายภายใน 3 ชั่วโมง ทำให้การเล่าเรื่องแบบควิกคัทต้องนำมาใช้ (อีกแระ) เบื้องลึกของบุคลิกตัวละครเลยพาลจะหายเกลี้ยงไปกับเพลงที่ร้องกันถี่ยิบ น้ำหนักของการเล่าเรื่องกลับไปตกที่ฉากขัดแย้งทุ่มเถียงด้วยเพลง หรือฉากรักจีบกัน (หรือฉากถอดผ้าบนเตียงของบี้...555 แต่รอบที่ไปดูถอดเสื้อแค่แขนเดียวนิ ..ธ่อ) ส่วนใหญ่หมดไปกับการให้พล็อตเรื่องดำเนินไป มากกว่าจะลงลึกเรื่อง Character ตัวละคร
เลยได้แค่รู้สึกว่าเจ้าแม่ปานรุ้งเธอร้ายมาแต่กำเนิดจริงๆ กลับมาจากนอก..เดินฉับๆ ลงมาจากเรือเดินสมุทรสดๆ ร้อนๆ ก็อ่อยคนขับรถ (เกื้อ) ซะงั้น พอไปงานเลี้ยงก็แย่งแฟนเพื่อน (ทหารเรือวาสุเทพ) ไปเที่ยวไนท์คลับ..ดั๊นนนไปกระรอกเพลย์บอย (ชูนาม) เอามาเป็นสามี โดยข้าพเจ้านั้นไม่เข้าใจเลยว่าทำไมนักเรียนนอกอย่างหล่อนถึงได้ไร้สติปานนั้น

จากนั้นหล่อนก็ร้ายๆๆๆ มาตลอดแม้กระทั่งเวลาตกระกำลำบาก หล่อนก็ยังร้ายไม่เลิก โดยเฉพาะกับผัวที่แสนจะภักดีอย่างเกื้อ แถมยังจมไม่ลงแต่งตัวเก๋ไก๋ใส่ส้นสูง 5 นิ้วทะเลาะกะแม่ผัวในสลัม แล้ววิ่งไปขายดอกไม้ต่อในชุดเดิมนั้นในงานราตรีสโมสร โอย..ช่างเดิ้นไม่เลิกจริงๆ นะแม่ปานรุ้งเจ็ดสีมณีเด้ง...

แหม..พูดถึงงานราตรีสโมสรยุคนั้นออกจะคันปาก เนื่องจากเคยผ่านยุคสมัยมาพอแพลมๆ แถมเคยเรียนเต้นรำบอลรูมละตินมาพอเป็นแชมป์ได้หนนึง (หูยย.. คุยซ้า) ก็ให้รู้สึกประดักประเดิดยิ่งนักกับฉากเต้นละตินแบบสเน็กๆ ฟิชๆ ของคู่ปานรุ้งกับชูนาม (กลศ) ผัวคนแรกในไนท์คลับ แถมด้วยฉากบอลรูมที่ทะร่อทะแร่กลายพันธ์กันตามสมควรในงานราตรีสโมสรกับพ่อวาสุเทพ

ทำให้เห็นความไม่เข้มของการฝึกฝน และความไม่เข้าใจแดนซ์ในแต่ละแบบอย่างจริงจัง กลายเป็นขนมผสมน้ำยาให้รสชาติที่พิลึกพิลั่นไม่น้อย บ่งบอกถึงความประณีตในยุคสมัยที่ยังขาดอยู่ ที่น่าเห็นใจคือบรรดาคอรัสที่ยังขาดประสบการณ์ความเป็นมืออาชีพในการเต้นและการร้อง (เช่นเคย)
ฉากในสไตล์กราฟฟิกนั้นก็ให้ความตื่นตาได้ในระดับหนึ่ง แต่มันขาดอารมณ์ร่วมของยุคสมัยอยู่ไม่น้อย เอาเถอะ.. เมื่อนำมาเล่าเรื่องแล้วก็ทำได้ลื่นไหลตามสมควร ประกอบกับเทคนิคของไลท์ติ้ง และเอ็ฟเฟ็คฝนตกฟ้าร้อง
ดูๆ ฉากในสลัมจะออกแบบเข้าตากว่าเพื่อน จะหงุดหงิดก็ฉากภายในบ้านปานรุ่งที่จะหลุยส์ก็ไม่ใช่ โรมันก็ไม่เชิง ภายนอกก็ว่ากันไปอีกสไตล์.. ออกจะไม่เข้ากัน ซึ่งในยุคนั้นน่าจะออกแบบในแนว Colonial ดูจะเข้าท่ากว่า แถมความเป็นกราฟฟิกของมันทำให้ทุกอย่างแข็งและดูหลอกๆ ตาเป็นอันมั่ก

แล้วฉากนี้ก็ใช้ซ้ำกลับไปกลับมานับสิบครั้งได้กระมัง แปลกใจว่าทำไมไม่ลงทุนกับฉากบ้านปานรุ้งให้หลากหลายกว่านี้ ทั้งๆ ที่ใช้บ่อยครั้งมาก ส่วนฉากแสงสีในคลับอะไรนั่นก็โหรงเหรงไม่ตระการตาเท่าที่ควร หรือมุมที่เราดูจากชั้นบนมันสูงไป ทำให้ Composition ของฉากมันไม่ลงตัวเหมือนดูชั้นล่างก็ไม่ทราบ
ฉากลงทุนกลับไปอยู่ที่งานศพของปกรณ์ ซึ่งก็จะได้เห็นเมรุศพในแนวกราฟฟิกพร้อมบันไดยาวราวกับขึ้นดอยสุเทพเป็นครั้งแรก เหอๆๆ ก็เข้าใจอะนะว่าเป็นฉากปิดท้าย ต้องหาอะไรอลังการงานสร้างมาตบท้ายสักเล็กน้อย
แนวประพันธ์เพลงนั้นหลากหลายสไตล์ตามยุคสมัยอย่างที่ว่า หากความกลมกลืนในความต่อเนื่องของแต่ละยุคยังแปลกๆ อยู่ไม่น้อย ยังดีที่มีเพลงพ็อพๆ อยู่สองสามเพลงที่เรียกความคุ้นเคยของทำนองในหัวกลับมา อย่าง ฉันทำผิดเอง หรือ คนไม่สำคัญ (แต่ก็ดูไม่เข้ากับเพลงในเรื่องไงไม่ทราบ หุๆๆ)

จริงๆ แล้วเพลงธีมของเรื่องทำนองมีพลังอยู่แล้วอย่างที่บอก หากขาดพลังการร้องจากทุกคน ที่จะดึงอารมณ์คนดูให้ถึงจุดสุดยอดของมัน ที่สำคัญ คำร้องที่คมคายประณีตให้เข้ากับยุคสมัยก็จำเป็น ซึ่งละครเพลงวิกนี้ดูยังจะขาดอยู่
ส่วนแนวทำนองนั้น มีหลายเพลงที่ร้องยากๆ แถมต้องมาทุ่มเถียงกันอยู่มากมาย ต้องนับถือจริงๆ กับนักแสดงที่ไม่ใช่นักร้อง แต่สามารถมาร้องทำนองยากๆ และซับซ้อนเหล่านี้ พร้อมกับแสดงอารมณ์ในเวลาเดียวกันได้ (อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการเพี้ยนอยู่เนืองๆ) ที่น่าเห็นใจคือโทนต่ำๆ ของเมโลดี้ในช่วงการทะเลาะกัน มันยากที่จะดันอารมณ์ให้ถึงพีคได้ ลองไปชม Dreamgirls ดู จะเห็นว่าฉากการทุ่มเถียงด้วยเพลงนั้น ลีลาเด็ดๆ เป็นยังไง

แล้วพอถึงฉากผู้เล่าเรื่องทั้ง 4 ที่โผล่มาทีไร...ก็ให้เข้าใจผิดอยู่เนืองๆ ว่า ใครหว่า ..นึกว่าเป็นลูกปานวาดทั้งสี่ 5555... เราก็ไม่ได้นั่งใกล้มากจนจำหน้าจำความแตกต่างของแต่ละบุคคลได้
มีบางคนบอกว่าบทของปานรุ้งถูกทอนลดความสำคัญน้อยลงกว่าเดิม แต่เท่าที่ดู..หล่อนก็ยังคงเป็นแกนสำคัญของเรื่อง ที่ทรงพลังในการเล่าเรื่องอยู่ตลอดเวลา ก็เห็นใจคุณสินจัยอยู่ที่เธอต้องแบกภาระการร้องเพลงที่ไม่ถนัด ทำให้พลังในการแสดงอารมณ์พลอยถูกบั่นทอนไปด้วย
และด้วยบทที่รีบเล่าเรื่อง เบื้องลึกของตัวละครก็พลอยหายไป หากเธอยังคงความเป็นมืออาชีพในการพัฒนาบุคลิกตัวละครมาจนถึงจุดจบได้ (ด้วยชุดที่เริ่ดราวกับนอร์มา เดสมอนด์ใน Sunset Boulevard
555) ในส่วนการแสดงของคนอื่นๆ รวมๆ แล้วก็ถือว่าเข้าขากันได้ดีทีเดียว สำหรับในแง่มุมของรายละเอียด... สมาชิกหลายคนได้เขียนไว้มากแล้วในกระทู้อื่นๆ

ท้ายสุด ก็นับว่าประสบความสำเร็จทีเดียวกับคนดูที่เต็มทุกที่นั่ง และพระมารดาก็ชื่นชมตามสมควรกับความตั้งใจของมิวสิเคิ่นแบบไทยๆ และที่น่าชมเชยคือพนักงานโรงละครดูจะได้รับการอบรมบ่มนิสัยมาดี ให้การบริการที่สุภาพและมีน้ำใจ แม้โรงละครจะดีไซน์มาให้ห้อยโหนโจนทยาน ไม่ค่อยนึกถึงผู้อาวุโสทั้งหลายที่ต้องปีนกะไดขึ้นปีนกะไดลงกับห้องน้ำที่แสนจะแออัดช่วงพักครึ่ง
เอาเถิด..เรายังคอยเอาใจช่วยกับละครเรื่องต่อๆ ไปของวิกนี้อยู่ ขอเพียงเสริมสร้างทัศนคติอันล้ำเลิศในการรังสรรค์บุคลากรที่มีคุณภาพในการร้องเพลงยิ่งๆ ขึ้นไป สังเกตได้ง่ายๆ จากเสียงปรบมือของเพลงที่ร้องด้วยพลังของนักร้องมืออาชีพ จะอื้ออึงด้วยความชื่นชม แม้ว่านักแสดงคนนั้นจะไม่ได้โด่งดังมากมาย
ถึงเวลาหรือยังกับมาตรฐานบรอดเวย์มิวสิคัลระดับสากล...
Create Date : 06 ตุลาคม 2550 |
Last Update : 6 ตุลาคม 2550 18:07:14 น. |
|
8 comments
|
Counter : 1395 Pageviews. |
 |
|
|
โดย: หวิว IP: 58.10.146.163 วันที่: 6 ตุลาคม 2550 เวลา:11:40:03 น. |
|
|
|
โดย: Xiao Maomi วันที่: 6 ตุลาคม 2550 เวลา:18:35:08 น. |
|
|
|
โดย: Nagano วันที่: 7 ตุลาคม 2550 เวลา:0:03:26 น. |
|
|
|
โดย: หมีบางกอก IP: 124.120.202.163 วันที่: 7 ตุลาคม 2550 เวลา:7:14:42 น. |
|
|
|
โดย: ttaaee IP: 202.28.179.3 วันที่: 9 ตุลาคม 2550 เวลา:19:03:14 น. |
|
|
|
โดย: yyswim วันที่: 30 เมษายน 2551 เวลา:12:23:40 น. |
|
|
|
|
|
|
|
Location :
กรุงเทพ Thailand
[ดู Profile ทั้งหมด]
|
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]

|
งานเขียนบทความ บทหนัง เรื่องสั้น และนวนิยายในบล็อกนี้สงวนลิขสิทธิ์โดย Bkkbear (หมีบางกอก) ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2539 ห้ามมิให้ดัดแปลง ลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
|
|
|
|
|
|
|