Group Blog All Blog
|
ห้องเรียนนิยาย: การเขียน คือ การเลือก ห่างไกลจากการเขียนห้องเรียนนิยายไปนานมาก จนคิดว่าคงไม่มีอะไรจะให้เขียนอีก ที่ผ่านมาจึงได้แต่ร่อนเร่ให้คำแนะนำจากคนเขียนใหม่ๆ เสียมากกว่า แต่พอนานเข้าก็เริ่มเจอปัญหาซ้ำๆ จนคิดว่าคงต้องเขียนขึ้นมาอีกรอบหนึ่ง แต่ก่อนอื่น ใครก็ตามที่เคยโดนหนิงบอกให้ไปอ่านให้มากขึ้นกว่าเดิม ที่จริงไม่ได้ขี้เกียจคอมเม้นต์ หรือปัดสวะแต่อย่างใด เชื่อว่าบางคนคงไม่ค่อยพอใจนักเพราะคำแนะนำแบบนี้ แนะนำก็เหมือนไม่แนะนำ แต่อยากจะบอกว่าตั้งแต่คอมเม้นต์มา การบอกให้ไปอ่านหนังสือให้เยอะๆ เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่คนเขียนคนหนึ่งพึงจะต้องกระทำเลยทีเดียว หนิงเคยเปรียบเทียบไว้ว่า เหมือนคนกำลังหัดเขียนเรียงความภาษาอังกฤษ ก่อนที่จะให้คำแนะนำในเรื่องการรูปแบบเรียงความ ใจความสำคัญที่เป็นตัวช่วยในการเขียน สุดท้ายก็คือการไล่ให้ไปเรียนภาษาอังกฤษให้มันดีกว่านี้ เพราะถ้าไวยกรณ์กับคำศัพท์ยังไม่ดี จะไปแนะนำที่มัน advance กว่านี้ก็ไม่มีประโยชน์ ก็เข้าทำนองเดียวกัน การสื่อสารด้วยภาษายังไม่ค่อยดี ยังไม่เข้าใจว่าเรื่องสั้น และนิยายมีลักษณะเป็นอย่างไร (โดยมากมักมาเป็นพล็อต บทละคร (ซึ่งก็ไม่ใช่อีก เรียกว่ามาเป็นอะไรก็ไม่รู้ที่ให้คำจำกัดความมันไม่ได้)) แบบนี้แล้ว ไม่รู้จะแนะนำอะไรเลยนอกจากไล่ให้ไปอ่านหนังสือเพราะถ้าพื้นฐานที่สุดยังไม่มี ก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะพูดถึงในสิ่งที่ไกลกว่านั้น ชี้แจงไปเรียบร้อย ก็ขอกลับเข้าเรื่องที่จะพูดถึงต่อไป ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าจะเคยบอกตรงเหตุผลการกระทำของตัวละคร แต่ดูเหมือนว่าปัญหานี้คงจะเกิดขึ้นเรื่อยๆ แม้แต่คนเขียนที่มีประสบการณ์พอสมควรก็ตาม (ก็เข้าใจได้อยู่หรอก บางทีหนิงก็เป็น แต่ตอนนี้สวมหมวกคนอ่านอยู่ ก็มาบอกเล่าแทนในฐานะคนอ่านคนหนึ่งค่ะ) การเขียนคือการเลือก คนเขียนมีข้อมูล 100% แต่บางครั้ง สิ่งที่ใส่ลงไปอาจเป็นแค่ 10% เท่านั้น เพราะ 10% นั้นเป็นสิ่งที่เกี่ยวกับเนื้อเรื่อง และอยู่ในปริมาณที่เหมาะสม หนิงเคยเป็นคนหนึ่งซึ่งใส่ข้อมูลอลังการในงานเขียนตัวเอง แต่สุดท้ายแล้วก็ทำให้เรียนรู้ว่านั่นไม่ใช่สิ่งที่คนอ่านต้องการ และมันทำให้สิ่งที่เราต้องการสื่อกลายเป็นถูกกลบไปหมดเลย ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ดีสักเท่าไร ทีนี้พอมาเห็นเองแล้ว ก็เลยอดไม่ได้ที่จะมาบอกเล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ของตัวเองค่ะ ทีนี้นอกจากเรื่องข้อมูลแล้ว ส่วนประกอบของเนื้อเรื่องก็เป็นสิ่งที่คนเขียนต้องเลือกด้วยเช่นเดียวกันค่ะ เพื่อความเป็นเอกภาพของเนื้อเรื่อง บางเรื่อง เลือกตัวละครขึ้นมาด้วยเหตุผลเพียงอย่างเดียวคือ คนเขียนชอบ โดยไม่ดูว่าไม่ช่วยให้เนื้อเรื่องมันตรงไหน (เช่น เป็นคนญี่ปุ่นแต่เนื้อเรื่องอยู่เมืองไทย เอิ่ม คนไทยก็ไม่ต่างป่ะ ทำไมต้องญี่ปุ่นอ่ะ ไม่เห็นช่วยไรเลย) บางคนเลือก Setting เพียงเพราะคนเขียนอยากเขียนถึง (เช่น เอาตัวละครไปวางที่อียิปต์อยู่ดีๆ แต่คนเขียนอยากเขียนถึงอิตาลีด้วย ก็พาตัวละครตัวเองไปไว้ตรงนั้นซะงั้นซึ่งที่จริง ไม่ต้องเปลี่ยนประเทศ หรือจะกลับมาเมืองไทยก็ไม่เห็นต่าง) สิ่งละอันพันละน้อยเหล่านี้ ขอให้แน่ใจว่าการกระทำของตัวละคร ปัจจัยหลักไม่ได้เกิดขึ้นเพราะคนเขียนอยากสนองตัวเอง หรืออยากสนองก็ได้ แต่ขอให้มีเหตุผลที่รองรับเพียงพอ ทำไมหนิงถึงต้องเน้นเหตุผลรองรับนักหนา นั่นเป็นเพราะจะช่วยให้เรื่องมีน้ำหนัก ไม่ลอยล่องอยู่ในอากาศ มันไม่ชวนให้คนอ่านเชื่อ พอคนอ่านไม่เชื่อก็ไม่อิน พอไม่อินก็ขัดอรรถรสในการอ่านเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งคงไม่มีคนเขียนคนไหนอยากให้คนอ่านรู้สึกอย่างนั้น และคนอ่านเองก็ไม่คงไม่อยากอ่านงานแบบนี้เช่นกัน ขอยกตัวอย่างการเลือกในเรื่อง "คู่กรรม" ก็แล้วกันค่ะ (ตัวอย่างสิ้นคิดที่ไม่รู้จะไปหยิบเรื่องไหนมา) เรื่องนี้เป็นความรักท่ามกลางความขัดแย้ง เพราะงั้นสิ่งที่ถูกนำมาใส่ในเรื่องนี้ จึงถูกเลือกมาดังนี้ 1. ตัวละคร --- โกโบริ และอังศุมาลิน คนหนึ่งคือ คนญี่ปุ่น อีกคนหนึ่ง คือ คนไทย (ขัดแย้งที่เชื้อชาติ) คนหนึ่งอยู่ในฝ่ายอักษะ อีกคนหนึ่งช่วยเหลือฝ่ายสัมพันธมิตร (ขัดแย้งด้านหน้าที่ และความคิด) 2. Setting --- เกิดที่ประเทศไทย สถานที่ที่คนไทยรู้สึกว่าตนเองถูกคนญี่ปุ่นเข้ามารุกราน (สถานที่ก็เต็มไปด้วยความขัดแย้งแล้ว) 3. Conflict --- เห็นชัดสุดๆ ก็คือตัวนางเอกอังศุมาลินจะเอาขัดแย้งอะไรล่ะ เต็มไปหมดทุกอณูขนาดนี้ ขัดแย้งกับสถานการณ์ (คงไม่ต้องพูดถึง สงครามหวอดังวิ่งฝุ่นฟุ้งขนาดนี้) ขัดแย้งกับตัวบุคคล (ก็พ่อดอกมะลินั่นน่ะแหละ รวมทั้งคนญี่ปุ่นอื่นๆ อีก) ขัดแย้งในตนเอง (ก็มีสัญญากับวนัสหนิ จะปันใจก็กระไร) ขี้เกียจแระ แต่พอจะเห็นภาพใช่ไหมคะว่า เวลาจะเลือกอะไรก็ควรให้มันเป็นเอกภาพ และสิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นเครื่องมืออันทรงพลัง ติดปีกให้คนเขียนที่จะเขียนเรื่อง ร้อยเรียง ลำดับการเล่าต่างๆ ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น (แน่นอนว่า การเล่าเรื่องย่อมมาจากการเลือกด้วยเหมือนกัน ว่าจะใช้วิธีไหนในการเล่า) เพราะฉะนั้น การเลือกเป็นสิ่งสำคัญมาก และแน่นอนว่าหนังสือจะดีหรือไม่ สนุกหรือไม่สนุกอย่างไร ขึ้นอยู่กับการเลือกของคนเขียนทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นขอให้ใส่ใจ และพิถีพิถันในสิ่งที่ตนเองจะพิมพ์หรือจรดปากกาลงไปเพราะจะช่วยให้รสชาติของเรื่องเป็นไปในแนวที่ต้องการ ถ้าต้องการหวานก็เลือกน้ำตาลเข้าไปมากหน่อย ถ้าเรื่องเผ็ด ก็ใส่พริกให้มากกว่าปกติ แต่อย่าให้มันกระโดด เพราะสุดท้ายแล้วจะกลายเป็นไม่อร่อยไปเสียเปล่าๆ แน่นอนว่าต้องอาศัยประสบการณ์ค่อยๆ สะสมกันไป (หรือแม้แต่คนเขียนที่มีประสบการณ์มากแล้ว ก็ใช่ว่าจะเลือกได้ดีเสมอไป นั่นเป็นเหตุให้บางครั้งคนอ่านรู้สึกว่า คนเขียนชื่อดังคนนี้ ทำไมเขียนเรื่องนี้ออกมาไม่ค่อยสนุก นั่นเป็นผลมาจากการเลือกนั่นเอง) คนใหม่ๆ เองก็อย่าเพิ่งท้อถอยนะคะ ฟังดูเป็นเรื่องนามธรรมเนอะ ไม่มีสูตรสำเร็จว่าจะต้องทำอย่างไร ไม่สามารถบอกได้ว่า วิธีทำ ข้อ 1 บลา บลา บลา ข้อ 2 บลา บลา บลา พอเสร็จปุ๊บออกมาดีเยี่ยมปั๊บ บางคนดูตำราทำอาหารเล่มเดียวกัน ยังปรุงออกมารสชาติไม่เหมือนกัน บางคนทำอร่อย บางคนก็ไม่อร่อย นี่ขนาดเครื่องปรุงสามารถชั่ง ตวง วัด ได้นะคะ แต่การเขียนหนังสือ เครื่องปรุงทั้งหลายไม่อาจหยิบออกมาชั่งน้ำหนักได้เลยว่าต้องใช้ปริมาณกี่กรัม กี่ขีด ทุกอย่างชั่งจากประสบการณ์ล้วนๆ (ไม่ใช่แค่ประสบการณ์จากการเขียน สิ่งสำคัญคือ ประสบการณ์จากการอ่านต่างหาก) ไม่รู้ว่าสิ่งที่เขียนจะช่วยได้มากน้อยแค่ไหน แต่ก็เป็นสิ่งที่หนิงสัมผัสจากนักเขียนหน้าใหม่หลายคนจนอดไม่ได้ที่จะออกมาบอกเรื่องที่ดูเหมือนไม่ใช่เรื่องนี้ให้ทราบสักนิดค่ะ K.lovereason -- ยินดีค่ะ เป็นแค่ข้อสังเกตน่ะค่ะ ถ้าเป็นประโยชน์ก็ดีใจนะคะ
โดย: peiNing วันที่: 7 มิถุนายน 2556 เวลา:10:12:52 น.
|
peiNing
Rss Feed Smember ผู้ติดตามบล็อก : 45 คน [?] เป็นเด็กกรุงเทพแท้ๆ แต่อยู่บ้านนอกของกรุงเทพน่ะนะ ไม่ได้ชอบอะไรเป็นพิเศษนอกจากแกล้งสัตว์เลี้ยงที่บ้าน นั่นคือนกฮู้ผู้มีอายุ 10 ปีได้ (นกแก่มีหนวด) (แต่ตอนนี้ในที่สุดนกฮู้ก็จากไปอย่างสงบ ไม่รู้อายุรวมเท่าไรแต่มาอยู่ที่บ้านได้ 11 ปี ขอไว้อาลัยปู่ฮู้ ขอให้ไปสู่สุขคตินะ T^T) ขอชี้แจงอีกอย่าง ชื่อ peiNing นี้ เป็นชื่อที่พี่กะน้องใช้ร่วมกันสองคน ดังนั้นอย่างงว่าเดี๋ยวก็แทนตัวว่ารุ้งบ้างหนิงบ้าง ก็มันคนละคนนิ (รุ้งน่ะคนพี่ หนิงน่ะคนน้อง)
FB สำหรับคนชอบงานเขียน peiNing ค่ะ
FB สำหรับคนชอบบทความสอนห้องเรียนนิยายค่ะ
|
ขอเซฟเก็บไว้อ่านด้วยนะคะ
นุ่นเพิ่งหัดเขียนได้ไม่นาน
กำลังพยายามอยู่ค่ะ