" เรื่องราวต่างๆเป็นดั่งทองคำในเทพนิยาย เมื่อคุณแจกจ่ายไปมากขึ้น คุณก็ได้รับกลับมามากขึ้น " พอลลี แมคไกวร์
Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2556
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
17 สิงหาคม 2556
 
All Blogs
 
039. ชุดโครงการการศึกษาเงินลงทุนทางตรงระหว่างประเทศขาออกของประเทศไทย

ชุดโครงการการศึกษาเงินลงทุนทางตรงระหว่างประเทศขาออกของประเทศไทย

(The Study of Thailand’s Outward FDI)

เงินทุนทางตรงระหว่างประเทศขาเข้า (Inward FDI) เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในหลายทศวรรษที่ผ่านมา การไหลเข้าของเงินทุนทางตรงระหว่างประเทศมายังประเทศไทยเริ่มจากการปรับเปลี่ยนกฎหมายการส่งเสริมการลงทุน (Investment promotion act) การลงนามในข้อตกลง Plaza Accord ในปีค.ศ 1985 ยังส่งผลให้บริษัทข้ามชาติจากประเทศญี่ปุ่นทำการย้ายฐานการผลิตซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ญี่ปุ่นเลือกเข้ามาตั้งฐานการผลิต โดยมีปัจจัยสนับสนุนการเข้ามาของเงินทุนในประเทศไทยคือ 1) ค่าจ้างที่ต่ำในช่วงเวลาดังกล่าว 2) ความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเมือง และ 3) การมีระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ การเข้ามาของ FDI เป็นแรงผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในหลายทศวรรษที่ผ่านมาโดยเฉพาะ FDI ที่ก่อให้เกิดการส่งออก (Jansen (1995), Chen และ De Lombaerde (2009) และ Nicolas (2009)) โดยลักษณะการเคลื่อนย้ายเงินทุนทางตรงระหว่างประเทศของบริษัทข้ามชาติในภูมิภาคเอเชียจะมีลักษณะของ “แบบจำลองห่านบิน (Flying geese)” ที่เสนอในงานศึกษาของ Kojima (1973) ซึ่งเงินทุนทางตรงระหว่างประเทศจากประเทศญี่ปุ่นเคลื่อนย้ายไปประเทศอุตสาหกรรมใหม่อันได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกง เกาหลีใต้ และไต้หวัน ในช่วง 1960s ซึ่งทำให้ประเทศเหล่านี้พัฒนาขึ้นมาเป็นประเทศอุตสาหกรรม หลังจากนั้นประเทศเหล่านี้ได้สูญเสียความได้เปรียบในการผลิตสินค้าในประเทศจากต้นทุนการผลิตที่เริ่มสูงขึ้น ทำให้เงินทุนทางตรงระหว่างประเทศทั้งจากญี่ปุ่นและประเทศเหล่านี้เคลื่อนย้ายออกไปหาฐานการผลิตใหม่ที่มีต้นทุนต่ำกว่า อันได้แก่ มาเลเซีย ไทย และอินโดนีเซีย Hiratsuka (2006) คาดการณ์ว่าปรากฏการณ์ห่านบินกำลังจะเกิดขึ้นกับประเทศในอาเซียนทั้ง 3 ประเทศเช่นกัน

เงินลงทุนทางตรงระหว่างประเทศขาออก (Outward FDI) ของประเทศไทยลดลงอย่างมากหลังเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในภูมิภาคเอเชียในช่วงปี ค.ศ. 1997 แต่มีระดับที่สูงขึ้นมากในช่วง ค.ศ. 2008 เป็นต้นมา (รูปที่ 1-1) อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังมีระดับ Outward FDI ที่ต่ำกว่าประเทศอุตสาหกรรมใหม่ในอาเซียนอื่น ๆ (ตารางที่ 1-1)


รูปที่ 1- 1: เงินลงทุนทางตรงระหว่างประเทศขาออกของประเทศไทย






ที่มา: UNCTAD STAT (2012)


ตารางที่ 1- 1: เงินลงทุนระหว่างประเทศขาออกสะสม






ที่มา: World Investment Report 2012


ประเทศไทยมีปัจจัยสนับสนุนและแรงกดดันให้ต้องผลักดันการเกิด outward FDI ดังนี้

•Ohno (2009) ชี้ให้เห็นว่า outward FDI เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NIEs) ดั้งเดิม เช่น ไต้หวัน เกาหลี สามารถพ้นจากกับดักรายได้ระดับกลาง (middle income trap) มาเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้

• ข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคเป็นช่องทางที่ประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากการส่งเสริม outward FDI

•การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย

• การปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นของค่าแรงและต้นทุนการผลิต

• การเปิดประเทศที่มากขึ้นของกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านกับประเทศไทย รวมถึงยังเป็นประเทศที่มีทรัพยากรเป็นจำนวนมากและมีค่าแรงต่ำ จึงสร้างโอกาสในการลงทุนให้กับนักลงทุนในประเทศไทย

• การขาดแคลนแรงงานระดับปฏิบัติการในหลายอุตสาหกรรม

•Outward FDI ยังเป็นการสร้างโอกาสในการขยายตลาดไปยังประเทศที่เข้าไปลงทุน

โดยมีการส่งเสริม Outward FDI จากภาครัฐบาลไทย ดังนี้

• สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment of Thailand: BOI) ได้เริ่มมีการส่งเสริม outward FDI โดยประเทศไทยได้มีการจัดทำข้อตกลงการลงทุนเพื่อปกป้องและส่งเสริมการลงทุนแบบทวิภาคีกับคู่สัญญา 39 ประเทศ และความตกลงเพื่อเว้นการเก็บภาษีซ้อน (Agreement for the avoidance of double taxation) กับ 56 ประเทศ

• EXIM Bank ที่ทำหน้าที่ให้การส่งเสริมการลงทุนผ่านการให้เงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำกับนักลงทุนที่จะทำการลงทุนในต่างประเทศ

• การผลักดัน outward FDI โดยรัฐบาลชุดปัจจุบัน โดยเริ่มต้นให้ธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังทำการปรับเปลี่ยนกฏระเบียบและการจัดเก็บภาษีเพื่อเป็นการส่งเสริม outward FDI

กลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเป็นกลุ่มประเทศที่มีความน่าสนใจสูงในการเข้าไปลงทุนสำหรับประเทศไทยเนื่องจากข้อได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์ซึ่งมีสถานที่ตั้งเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค มีชายแดนติดกับทุกประเทศเว้นแต่เวียดนาม มีข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงยังมีศักยภาพจากการมีทรัพยากรการผลิตอยู่เป็นจำนวนมากและมีค่าแรงในระดับที่ต่ำ

ประเทศไทยเป็นผู้ลงทุนที่สำคัญประเทศหนึ่งของกลุ่มประเทศ CLMV โดยเฉพาะประเทศลาวและพม่า โดยการลงทุนจากประเทศไทยคิดเป็นร้อยละ 4.2 ของมูลค่าเงินลงทุนทางตรงระหว่างประเทศในกลุ่มประเทศดังกล่าวทั้งหมด

โดยบริษัทในประเทศไทยที่ดำเนินการลงทุนในต่างประเทศส่วนมากจะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ซึ่งส่วนมากจะอยู่ในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปแลน้ำตาล อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ ยานยนต์และชิ้นส่วน

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า แนวโน้มของ outward FDI ของประเทศไทยไปยังประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงจะยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้น อย่างไรก็ตามงานศึกษาเกี่ยวกับ outward FDI ของประเทศไทยยังมีไม่มากนัก ดังนั้นในชุดโครงการการศึกษาเงินลงทุนทางตรงระหว่างประเทศขาออกของประเทศไทยจึงถือเป็นโอกาสหนึ่งในการเพิ่ม/ต่อยอดความรู้เกี่ยวกับ outward FDI ของประเทศไทย

วัตถุประสงค์ของชุดโครงการ

• ศึกษาอุตสาหกรรมที่มีความเป็นไปได้ที่จะออกไปลงทุนในต่างประเทศ

• ศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อภาคส่วนต่าง ๆ ของเศรษฐกิจโดยรวมจากการลงทุนทางตรงระหว่างประเทศขาออกของประเทศไทย เช่น การเติบโตทางเศรษฐกิจ ตลาดแรงงาน การส่งออก การเคลื่อนย้ายแรงงาน

•ศึกษาภาคอุตสาหกรรมและบริการที่มีศักยภาพสำหรับประเทศไทยในการเข้าไปลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV รวมถึงปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ปัจจัยสนับสนุนที่ต้องการ และความเป็นไปได้ในการสร้างฐานการผลิตร่วมระหว่างประเทศไทยและกลุ่มประเทศ CLMV ในอุตสาหกรรมดังกล่าว

• จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องถึงแนวทางในการส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนไทยในต่างประเทศที่จะก่อให้เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

•เพื่อทราบถึงประโยชน์หรือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการลงทุนทางตรงระหว่างประเทศของภาคเอกชนไทยในต่างประเทศ

•เพื่อทราบถึงปัจจัยที่ประเทศไทยจำเป็นต้องมีหรือต้องปรับปรุงเพื่อส่งเสริมการลงทุนทางตรงระหว่างประเทศของภาคเอกชนไทยในต่างประเทศ

•เพื่อทราบถึงภาคอุตสาหกรรมและบริการที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการที่ภาคเอกชนไทยจะทำการลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV รวมถึงแนวทางสนับสนุนที่จำเป็น

•เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่จำเป็นต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมการลงทุนทางตรงระหว่างประเทศของภาคเอกชนไทย

•เพื่อเพิ่มการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงทางด้านการลงทุนที่ประเทศไทยได้จัดทำขึ้นจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ในภูมิภาค โดยเฉพาะประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

โครงการในระยะที่ 1

•ปัจจัยที่กำหนดเงินทุนทางตรงระหว่างประเทศขาออก: กรณีศึกษาเปรียบเทียบประเทศไทยกับประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย

•การวิเคราะห์โครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ยุทธศาสตร์ของประเทศ CLMV เพื่อรองรับความต้องการนักลงทุนขาออกของไทย

• ปัจจัยกำหนดการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ: การวิเคราะห์ในระดับสถานประกอบการในภาคอุตสาหกรรมไทย

•Outward FDI of Thai MNEs in the Lao PDR: Trends, Motives, and Determinants

•การส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยผ่านทางการลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศขาออก:กรณีศึกษาอุตสาหกรรมสาขาชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า

โครงการในระยะที่ 2 (คาดการณ์)

•การลงทุนทางตรงระหว่างประเทศขาออกของไทยในอุตสาหกรรมเกษตรและเกษตรแปรรูป

• การลงทุนทางตรงระหว่างประเทศขาออกของไทยในภาคบริการด้านการก่อสร้าง

• การลงทุนทางตรงระหว่างประเทศขาออกของไทยในภาคบริการด้านการท่องเที่ยว

• ผลกระทบของการลงทุนทางตรงระหว่างประเทศขาออกของไทยที่มีต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย



โครงการวิจัย

ปัจจัยที่กำหนดเงินทุนทางตรงระหว่างประเทศขาออก

ปัจจัยกำหนดการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ การวิเคราะห์ในระดับสถานประกอบการ

การวิเคราะห์โครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ยุทธศาสตร์ของประเทศ CLMV เพื่อรองรับความต้องการนักลงทุนขาออกของไทย

การส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยผ่านทางการลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศขาออก ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า



การวิเคราะห์โครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ยุทธศาสตร์ของประเทศ CLMV เพื่อรองรับความต้องการนักลงทุนขาออกของไทย

(Analysis of Infrastructure in CLMV Strategic Locations for Thailand’s Outward Investors)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จิตติชัย รุจนกนกนาฏ

โครงสร้างพื้นฐานนับเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอันหนึ่งในการตัดสินใจเลือกที่ตั้งอุตสาหกรรม โดยเฉพาะสำหรับการขยายหรือย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน หลังจากการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community) ในปี พ.ศ. 2558 นักลงทุนไทยมีแนวโน้มที่จะเข้าไปลงทุนทางตรงในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) เพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและปริมาณแรงงานในพื้นที่ อย่างไรก็ดีกลุ่มประเทศ CLMV นั้นถือเป็นกลุ่มประเทศที่มีระดับการพัฒนาของโครงสร้างพื้นฐานทั้งด้านการคมนาคมขนส่ง (ถนน, รถไฟ, ท่าเรือ, สนามบิน) การติดต่อสื่อสาร (สัญญาณโทรศัพท์, อินเตอร์เน็ต) การสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน (ไฟฟ้า, น้ำประปา) ที่ต่ำกว่าไทย ผู้ประกอบการไทย (โดยเฉพาะขนาดกลางและขนาดเล็ก) อาจยังไม่มีข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานที่เพียงพอเพื่อใช้ในการตัดสินใจ และปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยที่ทำการศึกษาหาความต้องการของนักลงทุนไทยว่ามีความสนใจเข้าไปลงทุนในพื้นที่ใดเป็นพิเศษ รวมถึงยังไม่มีการวิเคราะห์ว่าพื้นที่เหล่านั้นมีความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการประกอบการมากน้อยเพียงใด

งานวิจัยนี้มีประเด็นศึกษาหลัก 2 ด้าน คือ 1) ในด้านอุปทาน (Supply Side) จะรวบรวมข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการลงทุนในธุรกิจ โดยเจาะลึกไปที่พื้นที่ยุทธศาสตร์ที่คาดว่านักลงทุนไทยจะเข้าไปลงทุน 12 แห่ง ในกลุ่มประเทศ CLMV ประเทศละ 3 แห่ง ได้แก่ กัมพูชา (เกาะกง/สีหนุวิลล์ ปอยเปต และพนมเปญ) สปป.ลาว (สะหวันนะเขต, เวียงจันทน์ และเชียงของ) พม่า (ย่างกุ้ง, เมียวดี และทวาย) และเวียดนาม (โฮจิมินท์, ฮานอย และดานัง) โดยจะทำการรวบรวมข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ยุทธศาสตร์เหล่านี้ ตลอดจนวิเคราะห์เปรียบเทียบ และ 2) ในด้านอุปสงค์ (Demand Side) จะมุ่งเน้นไปที่การสอบถามความต้องการของนักลงทุนในกลุ่มธุรกิจหลัก 2 กลุ่ม คือ อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป (เน้นไปที่อาหารทะเลกระป๋อง ผลไม้กระป๋อง และน้ำตาลทราย) และอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (เน้นไปที่อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ) ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่นักลงทุนไทยมีแนวโน้มจะไปลงทุนในพื้นที่เป้าหมายสูง โดยจะสำรวจความต้องการของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเหล่านี้ว่ามีความต้องการโครงสร้างพื้นฐานในลักษณะใด และมีแนวโน้มที่จะเข้าไปลงทุนในพื้นที่ยุทธศาสตร์ใด เมื่อได้ข้อมูลทั้งสองด้านนี้แล้ว จะวิเคราะห์เปรียบเทียบความต้องการของผู้ประกอบการกับอุปทานโครงสร้างพื้นฐานในแต่ละพื้นที่ข้างต้น

ผลที่ได้จากงานวิจัยนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อนักลงทุนไทยและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยจะเป็นฐานข้อมูลด้านโครงสร้างพื้นฐานสำหรับนักลงทุนไทยที่จะใช้ในการตัดสินใจคัดเลือกพื้นที่เป้าหมายในการประกอบธุรกิจ ตลอดจนทราบความต้องการของผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป และอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต้องการประกอบธุรกิจ เพื่อให้ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถให้คำแนะนำ สนับสนุนข้อมูลให้ผู้ประกอบการไทยสามารถลงทุนในประเทศ CLMV ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

1.รวบรวมข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ยุทธศาสตร์ของกลุ่มประเทศ CLMV ที่จะรองรับการลงทุนทางตรงของไทย

2.เข้าใจความต้องการโครงสร้างพื้นฐานที่จะรองรับการลงทุนทางตรงของไทยในกลุ่มประเทศ CLMVในมุมมองของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

3.เปรียบเทียบโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ยุทธศาสตร์กับความต้องการโครงสร้างพื้นฐานของผู้ประกอบการ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการเลือกพื้นที่และตัดสินใจในการเข้าไปลงทุน



การส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยผ่านทางการลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศขาออก: กรณีศึกษาอุตสาหกรรมสาขาชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า

(Industrial promotion of Thai industry via outward foreign direct investment: The case of Electrical and Electronics component industry)

ดร. นณริฏ พิศลยบุตร

อาจารย์ ดร. ภาณุทัต สัชฌะไชย

ในอดีตประเทศไทยอาศัยความได้เปรียบทางด้านต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าร่วมกับนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐแบบเสรีในการผลักดันการพัฒนาประเทศ อย่างไรก็ตามรูปแบบการพัฒนาดังกล่าวอาจจะไม่สามารถที่จะผลักดันให้ประเทศไทยก้าวต่อไปในอนาคตได้ดีอย่างเช่นที่ผ่านมา เหตุผลหลักประการหนึ่งมาจากการเข้าร่วมกลุ่มประชาคมอาเซียนของไทยที่กำลังจะมาถึง การร่วมกลุ่มทางเศรษฐกิจจะทำให้เกิดการแบ่งกระบวนการผลิตตามความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบมากขึ้นและจะทำให้ประเทศไทยซึ่งมีระดับการพัฒนาอยู่ในขั้นกลางจะถูกกดดันจากกลุ่มประเทศที่มีระดับการพัฒนาที่อยู่ต่ำกว่าไทยซึ่งมีความได้เปรียบในการผลิตโดยใช้ทรัพยากรและแรงงานเข้มข้นเป็นหลัก เนื่องจากมีต้นทุนที่ต่ำกว่า และถูกกดดันจากกลุ่มประเทศที่มีพัฒนาทางเศรษฐกิจที่อยู่สูงกว่าไทย เนื่องจากประเทศดังกล่าวมีประสบการณ์ ความชำนาญ และระดับเทคโนโลยีที่สูง ซึ่งผลิตสินค้าที่ใช้ทุนและเทคโนโลยีเข้มข้นเป็นหลัก

เพื่อรองรับแรงกดดันดังกล่าว รูปแบบการพัฒนาในอนาคตจึงต้องคำนึงถึงการแบ่งกระบวนการผลิตเป็นสำคัญ ทั้งนี้จากประสบการณ์ของกลุ่มประเทศสี่เสือแห่งเอเชีย (Four Asian Tigers) ซึ่งได้ผ่านประสบการณ์การรับแรงกดดันดังกล่าว และประสบความสำเร็จในการยกระดับประเทศไปสู่กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว พบว่าการกระจายกระบวนการผลิตในระดับสากล (International Production Network) ผ่านทางการลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศขาออก (Outward FDI) เป็นกระบวนการที่สำคัญและจำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงระยะเวลาดังกล่าว

เมื่อเปรียบเทียบการลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศขาออกจะพบว่า ประเทศไทยยังมีสัดส่วนการลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศขาออกที่ต่ำกว่าประเทศคู่แข่งโดยเปรียบเทียบ (ตารางที่ 1.1) และเป็นที่สังเกตว่า ประเทศมาเลเซียซึ่งอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับประเทศไทย (ในบริบทของการรับแรงกดดันข้างต้น) ได้มีการขยายการลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศขาออกในระดับที่สูงมาก ในขณะที่ประเทศจีนซึ่งอาจจะดูเหมือนว่ามีระดับการลงทุนโดยตรงขาออกที่ต่ำกว่าของไทย แต่ด้วยความที่ประเทศจีนมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ทำให้การจำแนกกระบวนการผลิตภายในประเทศสามารถทดแทนการลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศขาออกได้ ด้วยเหตุนี้เอง ประเทศไทยจึงมีความจำเป็นที่จะต้องผลักดันให้เกิดการขยายการลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศขาออกในระดับที่สูงขึ้น เพื่อปรับรูปแบบการพัฒนาประเทศให้เหมาะสมกับสภาวะทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน

ตารางที่ 1.1: สัดส่วนขนาดของ Outward FDI (Stock) ต่อ GDP ระหว่างปี 2549-2553 จำแนกตามประเทศ





ที่มา: UNCTAD

โครงการวิจัยชิ้นนี้จึงมุ่งศึกษาถึงศักยภาพและความเป็นไปได้ของประเทศไทยในการขยายการลงทุนโดยตรงขาออกในอุตสาหกรรมสาขาชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า และการประเมินผลดี/ผลเสียของการดำเนินกิจกรรมดังกล่าว รวมทั้งการหามาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ เพื่อแก้ไขปัญหาและอุปสรรคของการลงทุนขาออกของประเทศ ทั้งนี้มาตรการสนับสนุนจากภาครัฐที่ได้ไม่ควรที่จะทำให้เกิดการขยายตัวของการลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศในขาออกเพียงอย่างเดียว แต่ควรที่จะมุ่งเน้นในการลงทุนที่ทำให้เกิดผลประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศเป็นสำคัญ

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

1.ทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศขาออก และการกระจายกระบวนการผลิตในระดับสากล

2.วิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบันของธุรกิจไทยในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ทั้งทางด้านศักยภาพ และความเป็นไปได้ในการขยายการลงทุนขาออกระหว่างประเทศ รวมไปถึงการประเมินผลได้/เสียที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากกิจกรรมดังกล่าว

3.เสนอแนะมาตรการสนับสนุนภาครัฐ เพื่อแก้ไขปัญหาและอุปสรรคของการลงทุนขาออกระหว่างประเทศ


ปัจจัยกำหนดการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ: การวิเคราะห์ในระดับสถานประกอบการในภาคอุตสาหกรรมไทย

(The determinants of outward foreign direct investment: a firm-level analysis of manufacturing in Thailand)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กิริยา กุลกลการ

ปรากฏการณ์สำคัญหนึ่งที่เป็นผลพวงจากโลกาภิวัตน์คือ สถานประกอบการของไทยออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากปริมาณการสะสมทุนของการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ (Outward FDI stock) ของไทยเพิ่มขึ้นจากน้อยกว่า 500 ล้านเหรียญดอลลาร์ สรอ. ในปี 2533 เป็นสูงกว่า 25,000 ล้านเหรียญดอลลาร์ สรอ.ในปี 2553 (UNCTAD) จากทฤษฎีและงานศึกษาเชิงประจักษ์ที่มีอยู่ พบว่า มูลเหตุจูงใจของการออกไปลงทุนในต่างประเทศที่สำคัญ คือ สถานประกอบการมีทรัพย์สินที่ไม่มีตัวตน (Intangible asset) อันได้แก่ ความรู้ ความสามารถ และทักษะการผลิตเฉพาะทาง (Firm-specific advantage) ที่สามารถนำเอาไปแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจได้ในต่างประเทศ นอกจากนี้ยังรวมถึงปัจจัยที่เฉพาะเจาะจงกับประเทศ (Country-specific factors) ทั้งกับประเทศที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศและประเทศผู้รับการลงทุน เช่น ประเทศต้นทางกำลังประสบกับปัญหาค่าจ้างแรงงานและต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นจึงมีความจำเป็นต้องย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีค่าจ้างแรงงานถูกกว่า หรืออาจเกิดจากการสนับสนุนจากภาครัฐที่ไปส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในประเทศของตนขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ รวมถึงประเทศปลายทางมีนโยบายในการเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น เป็นต้น

คำถามที่น่าสนใจสำหรับประเทศไทย ได้แก่ ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมไทยที่ออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศมีจำนวนเท่าไร เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่หรือรายย่อย มีขนาดและสัดส่วนการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศเท่าไร ออกไปลงทุนที่ประเทศใด ในอุตสาหกรรมใด ทำไมถึงไปลงทุน มีปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งผลต่อการตัดสินใจออกไปลงทุน ทั้งในแง่คุณลักษณะของสถานประกอบการ ผลประกอบการในรูปตัวเงินและประสิทธิภาพการผลิต และการสนับสนุนจากภาครัฐทั้งในรูปเงินกู้ยืม และสิทธิประโยชน์ต่างๆ เป็นต้น ซึ่งเป็นประเด็นท้าทายที่ยังไม่มีการวิเคราะห์มากนักในประเทศไทย งานศึกษานี้จึงมุ่งตอบโจทย์ดังกล่าว โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อภาครัฐเพื่อให้การส่งเสริมการออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศเป็นไปอย่างเหมาะสม

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

1.เพื่อศึกษาถึงสถานการณ์การออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของสถานประกอบการในภาคอุตสาหกรรมไทย ทั้งในเรื่องจำนวน ขนาด และประเภทของสถานประกอบการ ขนาดของการลงทุน ประเทศที่ออกไปลงทุน และสาเหตุที่ออกไปลงทุน

2.เพื่อเปรียบเทียบคุณลักษณะ ผลประกอบการ และความช่วยเหลือที่ได้รับจากภาครัฐ ระหว่างสถานประกอบการในภาคอุตสาหกรรมไทยที่ออกไปและไม่ออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ

3.เพื่อศึกษาถึงสาเหตุหรือปัจจัย ทั้งในเชิงคุณลักษณะ ผลประกอบการ และการสนับสนุนที่ได้รับจากภาครัฐที่ส่งผลต่อการตัดสินใจออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของสถานประกอบการในภาคอุตสาหกรรมไทย

4.เพื่อเสนอแนะแนวทางการส่งเสริมการออกไปลงทุนในต่างประเทศ


ปัจจัยที่กำหนดเงินทุนทางตรงระหว่างประเทศขาออก: กรณีศึกษาเปรียบเทียบประเทศไทยกับประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย

(Factors Influencing Outward FDI: case study of Thailand in comparison with Singapore and Malaysia)

อาจารย์ ดร. จันทร์ทิพย์ บุญประกายแก้ว

อาจารย์ ดร. กรกรัณย์ ชีวะตระกุลพงษ์

เงินทุนทางตรงระหว่างประเทศ (Foreign direct investment: FDI) เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในหลายทศวรรษที่ผ่านมา กรกรัณย์ ชีวะตระกุลพงษ์และชโยดม สรรพศรี (2555) ได้ศึกษาถึงผลกระทบของ FDI ที่เข้ามาในประเทศไทยและพบว่า FDI ช่วยส่งเสริมการจ้างงาน ผลิตภาพการผลิต และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย อย่างไรก็ตามแรงผลักดันทั้งปัจจัยภายในและภายนอกก่อให้เกิดแนวโน้มที่การลงทุนจากต่างประเทศที่มาสู่ประเทศไทยอาจมีแนวโน้มลดลง หรือย้ายไปยังประเทศที่มีราคาปัจจัยการผลิตที่ต่ำกว่า และมีระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำกว่า ปัจจัยเหล่านั้นประกอบไปด้วย ปัจจัยภายในประเทศ เช่น ภาวะการณ์ขาดแคลนแรงงานในระดับปฏิบัติการของประเทศไทย รวมถึงระดับค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา และปัจจัยภายนอก เช่น นโยบายการเปิดประเทศและการส่งเสริมการลงทุนของประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศในภูมิภาค เช่น เวียดนาม กัมพูชา ลาว พม่า สถานการณ์ทางการเมืองที่มีเสถียรภาพมากขึ้นของประเทศในภูมิภาค เช่น อินโดนีเซีย พม่าและกัมพูชา รวมถึงการทำข้อตกลงการค้าเสรีและความร่วมมือด้านการลงทุนในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก

แม้ว่าจะยังไม่มีข้อสรุปที่เด่นชัดสำหรับประโยชน์ในระดับมหภาค การลงทุนในต่างประเทศอาจก่อให้เกิดประโยชน์ต่อบริษัทในหลายทาง โดยเฉพาะสำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีระดับเศรษฐกิจขนาดเล็ก ทำให้หากบริษัทใดที่ต้องการเติบโตเป็นบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่จะต้องพิจารณาการลงทุนในต่างประเทศซึ่งอาจช่วยให้บริษัทสามารถเพิ่ม economies of scales ไปพร้อมกันด้วย นอกจากนั้นยังช่วยให้บริษัทต่างๆ สามารถเข้าถึงปัจจัยการผลิตที่ขาดแคลนหรือมีราคาสูงในประเทศ หรือเข้าถึงตลาดได้ง่ายขึ้นและขจัดปัญหาการกีดกันทางการค้าในรูปแบบต่างๆ

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาสถิติเงินลงทุนทางตรงระหว่างประเทศของประเทศไทยจะพบว่า ประเทศไทยมีระดับเงินทุนทางตรงระหว่างประเทศขาออกที่ต่ำกว่าประเทศที่มีรายได้ระดับสูงและกลางอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีระดับเงินทุนทางตรงระหว่างประเทศขาออกสะสม (OFDI Stock) ที่ประมาณ 2.9% ของ GDP เป็นอันดับที่ 7 โดยมี สิงคโปร์และมาเลเซียเป็นอันดับที่ 1 และ 2 ที่ระดับ 92.7% และ 31.2% ตามลำดับ


ดังนั้น การศึกษาถึงสาเหตุที่เงินทุนทางตรงระหว่างประเทศของประเทศไทยยังอยู่ในระดับที่ต่ำจึงมีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคที่มีระดับเงินทุนทางตรงระหว่างประเทศที่สูง

งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาเกี่ยวกับเงินทุนทางตรงระหว่างประเทศขาออกของไทย โดยเน้นการศึกษาปัจจัยที่กำหนดเงินทุนทางตรงระหว่างประเทศขาออก (Outward Foreign Direct Investment (OFDI)) ซึ่งจะเป็นการศึกษาเปรียบเทียบประเทศไทยกับประเทศสิงคโปร์และมาเลเซียซึ่งมีระดับเงินทุนทางตรงระหว่างประเทศขาออกสูงกว่าประเทศไทยมาก โดยจะใช้วิธีการ Oaxaca-Blinder decompositionในการศึกษา ซึ่งวิธีการดังกล่าวจะศึกษาปัจจัยหรือคุณลักษณะที่ใช้อธิบายช่องว่างระหว่างเงินทุนทางตรงระหว่างประเทศขาออกของสองประเทศ นอกจากนั้นคณะผู้วิจัยจะใช้วิธีการศึกษาเชิงคุณภาพเพื่อศึกษาสถานการณ์ในปัจจุบัน ปัญหาและอุปสรรคในการลงทุนในต่างประเทศของประเทศไทยโดยเฉพาะในกรณีของประเทศลาว กัมพูชา พม่าและเวียดนาม และศักยภาพของเงินทุนทางตรงระหว่างประเทศของประเทศไทย พร้อมทั้งจะจัดทำดัชนีวัดผลประกอบการของเงินทุนทางตรงระหว่างประเทศขาออกของประเทศไทย เปรียบเทียบกับประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ ในช่วงปีค.ศ. 2001-2011 โดยใช้วิธีการของ UNCTAD ซึ่งจัดทำดัชนีที่รวมผลของปัจจัยที่กำหนดเงินทุนทางตรงระหว่างประเทศขาออกทั้ง 2 ส่วนคือความได้เปรียบในการเป็นเจ้าของ (Ownership advantages) ซึ่งเป็นความเข้มแข็งในการแข่งขันของบริษัทที่ส่งออกทุน และปัจจัยด้านสถานที่ตั้ง (Location factors) ซึ่งแทนปัจจัยทางเศรษฐกิจที่มีผลต่อการผลิตสินค้าโดยเปรียบเทียบระหว่างประเทศเจ้าของทุนและประเทศผู้รับทุน

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

1.เพื่อศึกษาสถานการณ์ปัจจุบันของเงินทุนทางตรงระหว่างประเทศขาออกของประเทศไทย

2.เพื่อศึกษาปัญหาและอุปสรรคในการลงทุนในต่างประเทศของประเทศไทยโดยเฉพาะในกรณีของประเทศลาว กัมพูชา พม่าและเวียดนาม

3.เพื่อศึกษาศักยภาพของเงินทุนทางตรงระหว่างประเทศของประเทศไทยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์

4.เพื่อศึกษาปัจจัยที่ทำให้เงินทนุทางตรงระหว่างประเทศขาออกของประเทศไทยอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์



ที่มา: UNCTAD (2008)


Source://outwardfdi.org/

-----------------------------------------------------------------------------


Create Date : 17 สิงหาคม 2556
Last Update : 18 กันยายน 2557 16:47:33 น. 0 comments
Counter : 1972 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

moonfleet
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 25 คน [?]




ไม่มีสิ่งใดจะเกิดขึ้นมาได้ หากไม่เคยเป็นความฝันมาก่อน
New Comments
Friends' blogs
[Add moonfleet's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.