" เรื่องราวต่างๆเป็นดั่งทองคำในเทพนิยาย เมื่อคุณแจกจ่ายไปมากขึ้น คุณก็ได้รับกลับมามากขึ้น " พอลลี แมคไกวร์
Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2556
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
17 สิงหาคม 2556
 
All Blogs
 
038. ทฤษฎีห่านบิน: A Journey Through the Secret History of the Flying Geese Model

ทฤษฎีห่านบิน: A Journey Through the Secret History of the Flying Geese Model






คนเรามักจะเลียน/เรียนจากธรรมชาติ แบบแผนต่างๆ ที่คนเราคิดกันขึ้นมา ก็มักจะมาจากการช่างสังเกตชีวิตรอบตัวและในธรรมชาติรอบนี่เอง แม้แต่เรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ ก็มีคนสังเกตว่าเหมือน "ห่านบิน"

............................

การพัฒนาทางเศรษฐกิจของเอเซียตะวันออกมีแบบแผนที่เรียกกว่า “ห่านบิน”


ห่านตัวแรกที่ออกบินก่อนคือ “ญี่ปุ่น” ซึ่งปฏิรูประบบเศรษฐกิจให้ทันสมัยภายหลัง “การปฏิรูปเมจิ” ในช่วงครึ่งหลังศตวรรษที่ 19 ญี่ปุ่นได้พัฒนาเรื่อยแต่สะดุดไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ในทศวรรษ 1960 ญี่ปุ่นก็ยังอยู่ในระดับที่เป็นประเทศพัฒนาซึ่งเป็นเพียงประเทศเดียวในเอเซีย ณ ขณะนั้น


ห่านกลุ่มต่อมาที่บินตามญี่ปุ่นไปคือกลุ่มประเทศ “4 เสือ” หรือ Asian NIE’s อันประกอบด้วยไต้หวัน เกาหลีใต้ ฮ่องกง และสิงคโปร์ ได้ออกบินในช่วงทศวรรษ 1960 ตามมาด้วยประเทศในอาเซียน โดยเฉพาะมาเลเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ที่บินตามมาห่างๆ


ห่านกลุ่มที่สามซึ่งออกบินในช่วงทศวรรษ 1990 คือ จีน ภายหลังจากเปิดเศรษฐกิจของประเทศในปี 1994 อินเดียและเวียดนามก็ได้บินมาด้วยในช่วงนี้


อะคะมะทรึ (Akamatsu) เป็นผู้บุกเบิกแนวคิดห่านบินและได้รับการต่อยอดโดยโคะจิมะ (Kojima)


อะคะมะทรึอธิบายปรากฎการณ์ห่านบินว่ามี 4 ขั้นตอนคือ


1. ประเทศเริ่มนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมมาเพื่อบริโภค


2. อุตสาหกรรมในประเทศเริ่มผลิตสินค้าอุตสาหกรรม และนำเข้าสินค้าทุนเข้ามา


3. ประเทศเริ่มส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม


4. อุตสาหกรรมไล่ตามอุตสาหกรรมเดียวกันในประเทศพัฒนาแล้ว การส่งออกสินค้าเริ่มลดลง และเริ่มส่งออกสินค้าทุนที่ใช้ในการผลิตสินค้านั้นแทน


อะคะมะทรึใช้ข้อมูลอุตสาหกรรมด้ายดิบในช่วง 1860-1930 พบว่าการนำเข้า ผลิต และส่งออก เป็นไปตามแบบจำลองห่านบินอย่างสมบูรณ์ จากนั้นแบบจำลองห่านบินได้รับการขยายเพิ่มจำนวนประเทศและจำนวนสินค้ามากขึ้น แบบจำลองอะคะมะทรึพยากรณ์ว่าในกระบวนการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศหนึ่งๆ นั้น อุตสาหกรรมเบาจะพัฒนาก่อนแล้วตามมาด้วยอุตสาหกรรมหนัก อุตสาหกรรมปลายน้ำมาก่อนแล้วค่อยตามมาด้วยอุตสาหกรรมต้นน้ำ


การวิจัยเชิงประจักษ์ที่เกี่ยวกับประเทศไทยพบว่า เป็นไปตามคำอธิบายของอะคะมะทรึ แต่ไทยอยู่ในลักษณะ “ปลาบิน” (Flying Fish) คือ


1. อุตสาหกรรมเสื้อผ้าพัฒนาก่อน แล้วจึงตามมาด้วยอุตสาหกรรมสิ่งทอ


2. อุตสาหกรรมยานยนต์พัฒนาก่อน แล้วจึงตามมาด้วยอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า


3. อุตสาหกรรมเสื้อผ้าและสิ่งทอพัฒนาก่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ เหล็กและเหล็กกล้า


อย่างไรก็ตาม ในกรณีของเกาหลีใต้นั้นอุตสาหกรรมเสื้อผ้าได้พัฒนาแล้วแล้วในปี 1960 และเริ่มตกต่ำในช่วง 1990 อุตสาหกรรมสิ่งทอตามอุตสาหกรรมเสื้อผ้ามาแต่ก็ตกต่ำไปก่อนอุตสาหกรรมเสื้อผ้า ส่วนเหล็กและเหล็กกล้าพัฒนามาก่อนยานยนต์จึงตามมาทีหลัง อุตสาหกรรมต้นน้ำจึงไม่จำเป็นที่จะต้องตามอุตสาหกรรมปลายน้ำเสมอไป


อุตสาหกรรมของแต่ละประเทศอาจจะเกิดจากการผลักดันจากอุตสาหกรรมสำหรับผู้บริโภคก่อน หรือผลักดันจากอุปทานของประเทศก่อนก็ได้ ดังเช่น อังกฤษ ที่การปฏิวัติอุตสาหกรรม จากการประดิษฐ์เครื่องจักรไอน้ำจากนั้นนำมาใช้เป็นสินค้าทุนเพื่อก่อให้เกิดอุตสาหกรรมต่างๆ ตามมา


แบบจำลองห่านบินไม่สามารถอธิบายปรากฎการณ์ได้อย่างสมบูรณ์ ปัจจุบันมีข้อสงสัยว่า สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์นั้น ญี่ปุ่นคงจะไม่ใช่ “ห่านจ่าฝูง” ได้นานอีกต่อไป เพราะห่านรุ่นหลังอย่างจีนกำลังจะทันแล้ว อย่างไรก็ดี อะคะมะทรึ กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า “…these countries, advanced and less advanced, do not necessarily go forward at the same speed in their development of a wild-geese-flying pattern, nor do they always gradual progress, but they are at time dormant and at other times make leaping advances….”


ข่าวดีก็คือ เรามีหลายเส้นทางให้เลือกเดิน



Source://www.oknation.net/blog/print.php?id=312619

-----------------------------------------------------------------------------





Create Date : 17 สิงหาคม 2556
Last Update : 18 กันยายน 2557 16:43:31 น. 61 comments
Counter : 7616 Pageviews.

 
ญี่ปุ่นที่ไม่เหมือนใคร : Post JTEPA (1)

วิถีเศรษฐกิจ : ดร.ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2550

พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ กล่าวในพิธีลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น หรือ JTEPA ที่โตเกียว เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2550 ว่านี่เป็น win-win สำหรับสองประเทศ แต่ในความเห็นของผู้เขียน ญี่ปุ่นมีความสำคัญมากเหลือเกิน โดยเฉพาะในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มากเสียจนว่าผลของ JTEPA ที่มีต่อสองประเทศนั้นยังไม่สำคัญเท่ากับว่า หลังจาก JTEPA ญี่ปุ่นจะเปลี่ยนทัศนคติและบทบาทของตัวเองอย่างไรให้ต่างไปจากอดีต จนส่งผลดีแก่โลกและภูมิภาค

ปัญหาของญี่ปุ่นหรือที่เรียกกันว่า Japan's problems ซึ่งมีมาตลอดนั้นยังไม่เคยหมดไป และตราบใดที่ปัญหานี้ ยังไม่ได้รับการเยียวยา บทบาทของญี่ปุ่นที่จะมีต่อโลกและภูมิภาคก็จะน้อยกว่าที่ควรเป็น ญี่ปุ่นสำคัญอย่างไรหรือ?

ความสำคัญของญี่ปุ่น ไม่ได้อยู่ที่ญี่ปุ่นมีเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก หรือเป็นผู้ค้า ผู้ลงทุนรายใหญ่ของโลก เป็นผู้นำมีนวัตกรรมทางเทคโนโลยีการผลิตในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะรถยนต์ Consumer Electronics ซึ่งส่งผลดีต่อโลก หรือในเอเชีย โดยเฉพาะอาเซียนไม่ได้เป็นเพราะญี่ปุ่น ได้มีบทบาทต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม ผ่านการลงทุนโดยตรง และการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยเฉพาะการเป็นแหล่งสินค้าทุนที่สำคัญของภูมิภาค

แต่ที่สำคัญกว่า ในบริบทขั้นต้น ญี่ปุ่นก็นำมาซึ่งปัญหาแก่โลกและภูมิภาคมาตลอด ญี่ปุ่นจึงเป็นที่รักและที่ชังของผู้ที่เป็นหุ้นส่วน แม้กระทั่งกรณีของไทย เหตุของปัญหามักจะมองไม่เห็นได้ง่าย หรือ Invisible หรือจับให้มั่นคั้นให้ตาย

สัจธรรมที่พบในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศนั้น ทุกประเทศย่อมคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ "เรา" ย่อมสำคัญกว่า "เขาหรือคนอื่น" เสมอ ญี่ปุ่นไปลงทุนที่ไหนก็ใช้ผู้บริหารของตัวเอง การค้าเสรีในอุดมคติหรือตามตำรา ไม่เคยเป็นจริงในโลก ทุกประเทศล้วนมีการจัดการ มีการแทรกแซง มีการทำการค้าในเชิงเป็นนโยบายเชิงกลยุทธ์ ทั้งส่งเสริม ปกป้องและคุ้มครอง ยึดหลัก Mercantilist คือ ส่งออกให้มากที่สุด นำเข้าให้น้อยที่สุด ญี่ปุ่นไม่ได้ต่างจากสหรัฐหรือ EU ในการให้เงินอุดหนุนภาคเกษตรหรือคุ้มครองชาวนา

ในกรอบของการเจรจาพหุภาคี ผ่าน GATT หรือ WTO ในอดีต ญี่ปุ่นค่อยๆ เปิดตลาดด้วยการลดภาษีนำเข้าจนค่อนข้างต่ำ ในสินค้าอุตสาหกรรม แม้จะเปิดเสรีภาคการเงินแบบค่อยเป็นค่อยไป เหมือนประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆ แม้ญี่ปุ่นจะสนใจ Trade Facilitation แต่เมื่อมาถึงเรื่องมาตรฐานรวมทั้งอะไรที่เรียกรวมๆ ว่า Nontariff Barriers หรือปัญหาทางโครงสร้าง ทางสถาบันซึ่งล้วนแล้วแต่จะสร้างต้นทุนทางธุรกรรม ให้แก่ผู้ค้าและผู้เข้ามาลงทุน อุปสรรคที่พบในญี่ปุ่นนั้นสูงไม่แพ้ใคร ข้อเท็จจริงที่พบจากหลักฐานการวิจัยและการศึกษาทางวิชาการที่มีอยู่มากมาย

ในบริบทข้างต้นญี่ปุ่นค่อนข้างจะสุดขั้วและมีลักษณะพิเศษหลายอย่าง ที่ต่างไปจากคนอื่น อย่างเสมอต้นเสมอปลาย ญี่ปุ่นต่างกับผู้อื่นอย่างไร ?

ลองดูข้อมูลจาก การลงทุนโดยตรง จะพบว่า โดยทั่วไปประเทศอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่จะมีสัดส่วน หรือส่วนต่างระหว่างการลงทุนโดยตรงที่ออกไปกับที่เข้ามาไม่ต่างกันอย่างลิบโลก แต่สำหรับญี่ปุ่นนั้น การลงทุนโดยตรงส่วนที่ไหลเข้าประเทศญี่ปุ่นน้อยเหลือเกิน ส่วนที่ออกนอกสูงกว่าส่วนที่เข้าเคยสูงถึงเป็นกว่าสิบเท่า

โครงสร้างและความสำคัญของการนำเข้าของญี่ปุ่น ยิ่งบอกถึงความพิเศษ ตั้งแต่ทศวรรษ 60 เป็นต้นมา เป็นเวลาเกือบ 40 ปี ประเทศอุตสาหกรรม เช่น สหรัฐ เยอรมนี อังกฤษ ฝรั่งเศส เมื่อ GDP มีขนาดใหญ่ขึ้น รายได้ต่อหัวสูงขึ้น ประเทศเหล่านี้ ล้วนนำเข้าสูงขึ้นมากอย่างชัดเจนในสัดส่วนต่อ GDP โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรม จากญี่ปุ่นหรือประเทศ NICS อื่นๆ

ในทางตรงกันข้ามญี่ปุ่นนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมเพียงแค่ประมาณร้อยละ 2 เศษๆ ของ GDP เป็นเวลายาวนาน แม้จะเพิ่มขึ้นมาบ้างในระยะหลังๆ โดยพื้นฐานญี่ปุ่นไม่มีทรัพยากรธรรมชาติ จึงนำเข้าอาหาร วัตถุดิบ ชิ้นส่วนอุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมัน มากเป็นธรรมดา

ปกติเมื่อประเทศร่ำรวยขึ้น ประเทศจะค้าขายสินค้าประเภทเดียวกันให้กันและกัน เพราะผู้บริโภคมีรสนิยมที่หลากหลาย ทำให้มี intra industry trade สูง ที่สะท้อน Product Differentiation สูง และถ้าไม่นับชิ้นส่วนอุปกรณ์ อะไรที่ญี่ปุ่นส่งออกมาก ซึ่งก็คือสินค้าอุตสาหกรรมญี่ปุ่นก็จะนำเข้าน้อยมาก ในสินค้าประเภทเดียวกัน

ดัชนีที่บอกถึง intra industry trade ของญี่ปุ่นนั้นต่ำเอามากๆ เชื่อกันว่า นอกเหนือจากปัจจัยเรื่องรสนิยมผู้บริโภค และระบบเครือข่ายธุรกิจในญี่ปุ่น เชื่อกันว่า สัดส่วนที่สูงมากกว่าใครๆ ของการค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่น ที่ทำผ่านระหว่างบริษัทแม่ในญี่ปุ่นและบริษัทลูกของญี่ปุ่นในต่างประเทศ มีส่วนที่ทำให้ญี่ปุ่นนำเข้าน้อย ในสินค้าใหม่ๆ ที่อาจจะไปแข่งกับตลาดในญี่ปุ่นของบริษัทแม่

Kojima นักเศรษฐศาสตร์ญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่น เชื่อว่าญี่ปุ่นและโลกจะดีขึ้น ถ้าญี่ปุ่นนำเข้าจากไม่ถึงร้อยละ 10 เป็น 20% ของ GDP ผู้เขียนเชื่อว่า การที่ญี่ปุ่นซื้อน้อยทำให้ความไม่สมมาตร ความไม่สมดุลทางการค้า และการเงินโลก และภูมิภาคมีมากขึ้น ประเทศกลุ่มอาเซียน และ NICS ทั้งหลาย ต้องชดเชยการขาดดุลกับญี่ปุ่นอย่างเรื้อรัง จำเป็นต้องไปพึ่งพาตลาดสหรัฐมากเกินไป เช่นในปัจจุบัน

รัฐบาลญี่ปุ่นมักจะมองบทบาทของญี่ปุ่นผ่านการลงทุนโดยตรง เหมือนเป็นผู้นำของฝูงห่าน หรือ Flying Geese Model สามารถทำให้ประเทศ NICS และอาเซียน ไต่อันดับทางรายได้และเทคโนโลยีเป็นขั้นเป็นตอนตามความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ หรือ Comparative Advantage ในที่สุด ประเทศเหล่านี้ก็จะเพิ่มขีดความสามารถทางเทคโนโลยี และลดการขาดดุลกับญี่ปุ่นได้ เป็นสถานการณ์ win-win

ผู้เขียนคิดว่า ขณะนี้ เรายังไม่สามารถสรุปเช่นนี้ได้ กรณีของไทยเรายังไปไม่ถึง ญี่ปุ่นช่วยเราได้ในเรื่องง่ายๆ แต่ในเรื่องยากๆ ของการพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยี เราตั้งรับมากกว่าการมีนโยบายเชิงรุก ในการพัฒนาเทคโนโลยี ประเทศ NICS รุ่นแรก เช่น เกาหลี ไต้หวัน แต่ยกเว้นสิงคโปร์ ฮ่องกง สามารถไต่อันดับทางเทคโนโลยี โดยไม่ต้องพึ่งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เหมือนประเทศในอาเซียน จึงอย่าคิดว่า JTEPA จะทำให้ญี่ปุ่นช่วยพลิกแผ่นดินไทย

Source://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q2/2007april25p1.htm


โดย: ญี่ปุ่นที่ไม่เหมือนใคร : Post JTEPA (1) (moonfleet ) วันที่: 17 สิงหาคม 2556 เวลา:17:06:24 น.  

 
ญี่ปุ่นที่ไม่เหมือนใคร? : Post JTEPA (2)

วิถีเศรษฐกิจ : ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 09 พฤษภาคม พ.ศ. 2550

ความเป็นมหาอำนาจทางด้านทุน และเทคโนโลยีนั้นอาจทำให้ญี่ปุ่นต้องกระจายการลงทุนไปทั่วโลกก็จริง ที่ไหนมีทรัพยากร เช่น แร่ น้ำมัน ถ่านหิน ที่ไหนมีตลาดและแรงงานที่เหมาะและจะทำให้ญี่ปุ่นได้เปรียบในการแข่งขัน ญี่ปุ่นไปทุกที่ อย่างไรก็ตามถ้าดูจากสัดส่วนการค้าและสต็อกของการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศจะพบว่า กว่าครึ่งที่ญี่ปุ่นค้าขาย และลงทุนนั้น ญี่ปุ่นทำกับกับกลุ่มประเทศที่ร่ำรวย เช่น สหรัฐและยุโรป

เอเชียตะวันออกนั้นสำคัญกับญี่ปุ่นมาตลอด แต่ถ้าดูจากตัวเลขจะพบว่าตั้งแต่กลางทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา ญี่ปุ่นโหมลงทุนย้ายฐานการผลิตมาสู่ภูมิภาคนี้มากเป็นพิเศษ สต็อกของการลงทุนเพิ่มขึ้นมหาศาล เพียงช่วง 4 ปีระหว่าง ค.ศ.1986-1989

ก่อนจะเกิดวิกฤติ ปี 2540 ก็เป็นอีกช่วงที่การลงทุนของญี่ปุ่นในเอเชียเด่นมาก ญี่ปุ่นลงทุนในอาเซียนและกลุ่ม NICS ในรุ่นแรกสูงกว่าที่ญี่ปุ่นเคยลงทุนก่อนหน้าเกือบ 40 ปี หลายเท่าด้วยซ้ำไป ญี่ปุ่นเริ่มค้ากับประเทศในเอเชียมากกว่าที่อื่น

ญี่ปุ่นรวมทั้งนักวิชาการกระแสหลักเสรีนิยมที่ยึดกรอบทฤษฎีห่านบิน มองการค้าในภูมิภาค และการลงทุนของญี่ปุ่น ว่าเป็นสิ่งที่เสริมกันและกัน การลงทุนของญี่ปุ่นเป็นกลไกส่งเสริมการส่งออกของประเทศเจ้าภาพ รวมทั้งการค้าการก่อตัวของตลาดในภูมิภาคซึ่งหนาแน่นและลึกมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป

ญี่ปุ่นเป็นหัวจักร ผู้นำในการผ่องถ่ายทุนและเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมที่ญี่ปุ่นเสียเปรียบในเชิงเปรียบเทียบ เพราะค่าแรงและค่าของเงินเยนที่สูงขึ้นไปสู่กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกรวมทั้งอาเซียนซึ่งจะเรียนรู้ สั่งสมประสบการณ์ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรม จนสามารถไล่กวดและลดช่องว่างทางเทคโนโลยีระหว่างผู้นำญี่ปุ่น กับผู้ตามได้และเป็น positive sum game อันเกิดจากพลังตลาดและเหตุผลทางเศรษฐกิจซึ่งทำให้เกิดการแบ่งแยกแรงงาน หรือความเชี่ยวชาญในระดับภูมิภาค

แต่อีกกระแสหนึ่งซึ่งก็มีไม่น้อยเช่นกันไม่ได้ปฏิเสธกระบวนโลกานุวัตน์ การรวมตัวกันระดับภูมิภาคที่มีลักษณะเปิดไม่กีดกัน ไม่ได้ปฏิเสธบทบาทการค้าและการลงทุน แต่ก็มองว่าญี่ปุ่นมีลักษณะพิเศษ มากกว่าที่จะพิจารณาอย่างผิวเผิน จากตัวเลขการขยายตัวของการลงทุน ลักษณะพิเศษนี้เองทำให้ญี่ปุ่นเหมือนมีพลังอำนาจเหนือตลาด ถ้าเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจหรือความร่วมมือก็เป็นหุ้นส่วนที่ไม่เท่าเทียมกันไม่สมมาตร

กระแสนี้เชื่อว่าประเทศเจ้าภาพที่รับการลงทุนจากญี่ปุ่นจะต้องพึ่งพาญี่ปุ่นโดยเฉพาะทางด้านเทคโนโลยี ในระยะยาวจนเหมือนเป็นเชลยศึกหรือลูกไก่อยู่ในกำมือของญี่ปุ่น ขาดกลไกและแรงจูงใจที่มากพอ และเร็วพอจนไม่สามารถเพิ่มขีดความสามารถทางเทคโนโลยีด้วยตนเองอย่างเป็นอิสระ

ในระยะยาวจะได้ไม่คุ้มเสียตราบใดที่ญี่ปุ่นสามารถคุมขอบข่าย และความเข้มข้นของการถ่ายทอดเทคโนโลยี ตามที่ตัวเองต้องการ ในข้อเท็จจริงกระแสความคิดข้างต้นมีส่วนที่เป็นความจริงแค่ไหน ลองมาดูว่าการลงทุนจากต่างประเทศ หรือความเป็นบรรษัทข้ามชาติของญี่ปุ่นมีลักษณะพิเศษต่างกับบรรษัทข้ามชาติอื่นๆ เช่น อเมริกัน หรือยุโรปอย่างไร

เชื่อกันว่า เมื่อออกมานอกประเทศ รูปแบบโครงสร้างการจัดการรวมทั้งการกำกับดูแลหรือ Governance ของบรรษัทข้ามชาติญี่ปุ่นมีรูปแบบ และกลไก ที่เป็นส่วนขยายหรือต่อยอดจากสิ่งที่ดำรงอยู่ในประเทศญี่ปุ่น

ซึ่งได้ฝังรากลึกจนพัฒนาเป็นสถาบันของความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างตัวละครหลักๆ ในเวทีเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับธุรกิจ ระหว่างธุรกิจหรือหน่วยผลิตกับธุรกิจกันเอง ระหว่างแรงงานกับฝ่ายจัดการ เป็นต้น

ทุกสังคมล้วนมีกลไกของเครือข่ายหรือ Network และความสำคัญของกลุ่มในการจัดระเบียบสังคม แต่สังคมญี่ปุ่น ให้ความสำคัญกับกลุ่มมากกว่าปัจเจกชนเป็นพิเศษ เครือข่ายความร่วมมือของกลุ่มนอกเหนือจากกลไกตลาด ที่คนญี่ปุ่นทำในประเทศ ญี่ปุ่นก็ทำเมื่อออกไปนอกประเทศ

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่ญี่ปุ่นมีลักษณะพิเศษที่ไม่เหมือนใครคือการเกิดขึ้น หรือนวัตกรรมของบรรษัทข้ามชาติที่เป็น General Trading Cos หรือที่เรียกว่า Sogo Shosha ซึ่งพัฒนาการจากการทำธุรกิจเชี่ยวชาญเฉพาะอย่างในศตวรรษที่ 19 มาเป็นบริษัทการค้าทั่วไปทำทุกอย่าง หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีจำนวนเป็นพันๆ แห่ง 10 อันดับบริษัทใหญ่ที่สุดเคยมีสัดส่วนในธุรกิจถึงร้อยละ 30 ของ GDP ในทศวรรษ 1970

Sogo Shosha ซึ่งถือหุ้นในกลุ่มเครือข่ายธุรกิจมีบทบาทในช่วงแรกในการช่วยบริษัทญี่ปุ่น โดยเฉพาะขนาดเล็กและขนาดกลาง ที่มาลงทุนในต่างประเทศ แต่ขาดเงินทุน ความรู้ ข้อมูล ข่าวสาร

Sogo Shosha เป็นทั้งองค์กรที่อำนวยความสะดวก เป็นผู้ประสานงาน ขณะเดียวกันก็เป็นผู้ร่วมลงทุนในลักษณะ Venture Capitalists นี่คือตัวอย่างนวัตกรรมของบรรษัทข้ามชาติที่เป็นลักษณะพิเศษของญี่ปุ่น

Source://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q2/2007april25p1.htm


โดย: ญี่ปุ่นที่ไม่เหมือนใคร? : Post JTEPA (2) (moonfleet ) วันที่: 17 สิงหาคม 2556 เวลา:17:07:30 น.  

 
ญี่ปุ่นที่ไม่เหมือนใคร? : POST JTEPA (3)

วิถีเศรษฐกิจ : ดร.ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2550

ความได้เปรียบในการแข่งขัน (Competitive Advantage) มีที่มาได้หลายทาง วิเคราะห์ได้ในระดับหน่วยผลิตระดับองค์กร หรือ Firm ระดับอุตสาหกรรม ระดับประเทศ แม้กระทั่งระดับโลก เอกลักษณ์ของญี่ปุ่นที่มีลักษณะเฉพาะไม่เหมือนใคร คือการสร้างเครือข่าย (Network) ของกลุ่มธุรกิจรู้จักกันดีว่า Keiretsu เป็นเครือข่ายของ 6 กลุ่มธุรกิจใหญ่ ซึ่งพัฒนามาแทนกลุ่ม Zaibatsu ที่ถูกบังคับให้สลายไปหลังญี่ปุ่นแพ้สงคราม เครือข่ายนี้สามารถทำให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขัน ทั้งในประเทศและออกไปนอกประเทศ

Keiretsu เป็นเครือข่ายพันธมิตรที่รวมตัวกันทั้งในแนวนอน คือระหว่างอุตสาหกรรม และแนวดิ่งคือ ซื้อขาย จัดหารับช่วงการผลิตสินค้าให้กันและกัน โดยมีธนาคารหลักเป็นศูนย์กลางแหล่งการเงิน ที่น่าแปลกใจก็คือ ญี่ปุ่นเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยจนเศรษฐกิจโต โดยเฉลี่ยเพียงแค่ 1.1% ถึงกว่า 10 ปี และเอเชียซึ่งญี่ปุ่นลงทุนไว้มากก็เผชิญวิกฤติใหญ่เมื่อปี 2540 อาจทำให้ Keiretsu เปลี่ยนบทบาท และลดความสำคัญลงมาบ้าง แต่ Keiretsu ยังคงมีพลังมหาศาลมีความคงทนและความต่อเนื่อง แม้เมื่อบริษัทญี่ปุ่นออกมานอกประเทศ

หัวใจของ Keiretsu Network อยู่ที่ความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทที่พัฒนาจนเหมือนเป็นสถาบัน โดยมีฐานของเครือข่ายการทำธุรกรรมการแลกเปลี่ยนด้วยกันที่หนาแน่น มีเสถียรภาพ รวมทั้งการปฏิบัติการเพื่อประโยชน์ของกลุ่ม ความสัมพันธ์ดังกล่าวสะท้อนออกมาในรูปของการถือหุ้นไขว้ระหว่างกัน การใช้เครื่องหมายการค้าร่วมกัน การให้สินเชื่อในลักษณะพิเศษภายในเครือข่ายของสมาชิก

ผลทางเศรษฐกิจของ Keiretsu ในญี่ปุ่นมีค่อนข้างมาก แม้สมาชิกของ 6 เครือข่ายที่ใหญ่ที่สุด (ในปัจจุบัน มิตซูบิชิ มิตซุย ซูมิโทโม ฟูโย ไดอิชิกังโย และซันวา) จะเป็นเพียง 0.007% ของบริษัทญี่ปุ่น แต่ก็จ้างงานถึงร้อยละ 4 มีสินทรัพย์ร้อยละ 13 ทุนร้อยละ 15 ยอดขายร้อยละ 14 และกำไรถึงร้อยละ 12 ในช่วงทศวรรษ 1990

หัวใจที่ทำให้ Keiretsu Network เป็นที่มาที่สำคัญของความได้เปรียบทางการแข่งขัน คือ ความสามารถในการลดต้นทุนในการทำธุรกรรม ระหว่างสมาชิก ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิก มีลักษณะที่เป็นสัญญาระยะยาวยืดหยุ่นได้ มีการสื่อสารกันสม่ำเสมอ และเป็นการลงทุนที่มีลักษณะเฉพาะ ผลก็คือผู้ผลิต และ Suppliers ต่างได้เปรียบที่ต้นทุนต่ำ เพราะไม่ต้องเผชิญต้นทุนที่สูงจากการรวมตัวกันในแนวดิ่ง เหมือนธุรกิจในประเทศตะวันตก

โดยทั่วไปผู้ผลิตของญี่ปุ่น จะใช้ Suppliers ซึ่งเป็นสมาชิกของ Keiretsu ในจำนวนที่น้อยกว่ากรณีของผู้ผลิตในอเมริกาหรือยุโรป ตัวอย่างเช่น เมื่อ 10 กว่าปีก่อนระบบ Keiretsu ของโตโยต้า ใช้คนเพียงแค่ 340 คน เพื่อซื้ออะไหล่และให้บริการกับรถยนต์ 3.6 ล้านคัน (หรือประมาณ 10,560 หน่วยต่อผู้ซื้อ 1 คน) เมื่อเทียบกับกรณีของ General Motor ซึ่งใช้คน 3,000 คนในงานที่เหมือนกันสำหรับรถ 6 ล้านคัน (หรือ 2,000 หน่วยต่อผู้ซื้อ 1 คน) ต้นทุนทางธุรกรรมที่ลดลงไปนี้ ทำให้โตโยต้าประหยัดเงินต่อรถ 1 คันได้ถึง 700 ดอลลาร์ หรือประมาณ 10% ของต้นทุนทั้งหมด สำหรับรถขนาดเล็ก

ความได้เปรียบอันเกิดจาก Keiretsu นี้ เป็นที่มาของกำไรเกินปกติ หรือ Super Normal Profit ที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า Rent เป็น Relational Rent ที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนจากความสัมพันธ์ของสมาชิกในกลุ่มที่สมาชิกแต่ละคนโดดๆ โดยตัวเองไม่สามารถทำได้ แต่ได้มาจากการก่อตัวเป็นพันธมิตรกันเท่านั้น

ญี่ปุ่นขยายการลงทุนในเอเชียอย่างหนักหน่วงตั้งแต่กลางทศวรรษ 1980 นักเศรษฐศาสตร์ญี่ปุ่นชื่อ Itami ให้ข้อสังเกตว่า "เครือข่ายของบริษัทญี่ปุ่นในเอเชียตะวันออก คือ ส่วนขยายของญี่ปุ่นอย่างเป็นระบบและบูรณาการของระบบการผลิตในประเทศ" สถิติชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษ 1990 ว่าเครือข่าย Keiretsu ก่อตัวหนาแน่นในเอเชีย บรรษัทข้ามชาติญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในเอเชีย ไม่ได้มาเดี่ยวๆ แต่ตามมาด้วยฝูงสมาชิก Keiretsu ที่เป็น Suppliers หรือ Subcontractors จากญี่ปุ่นโดยตามมาให้บริการโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่บริษัทญี่ปุ่นมีส่วนแบ่งตลาดสูง เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร เป็นต้น

มีหลักฐานจากงานวิจัยค่อนข้างมากทั้งในไทยและในเอเชีย ว่ากว่าครึ่งของชิ้นส่วนอุปกรณ์ส่วนประกอบ ที่บรรษัทข้ามชาติญี่ปุ่น ใช้ในประเทศเจ้าบ้าน ซื้อจากเครือข่ายของกลุ่ม Keiretsu แม้กระทั่งกรณีของโตโยต้าที่ถือว่า ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญ นอกจากนี้ ในปี 1995 พบว่า กว่าครึ่งของสัญญาซื้อขาย หรือการส่งออกเทคโนโลยีของญี่ปุ่นมาเอเชียนั้น กว่าครึ่งเป็นระหว่างบริษัทในกลุ่มด้วยกัน

เทคโนโลยี นวัตกรรม และความรู้ต้องลงทุนใครๆ ก็หวงแหน แต่นักวิชาการจำนวนมาก เชื่อว่าญี่ปุ่นมีความเป็น Technonationalism สูงกว่าใครๆ เป็นอุดมการณ์ความเชื่อตั้งแต่ผู้นำสมัยเมจิ ที่ต้องการพัฒนาอุตสาหกรรม และไล่กวดให้ทันสหรัฐหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ความเชื่อที่ว่า ความมั่นคงของประเทศขึ้นอยู่กับขีดความสามารถทางเทคโนโลยี

อุดมการณ์ดังกล่าวสะท้อนออกมาในพฤติกรรมของบรรษัทข้ามชาติญี่ปุ่นที่ต่างกับประเทศตะวันตก เช่น การใช้คนท้องถิ่นระดับบริหารในสัดส่วนที่น้อยมากค่อนข้างช้า และไม่เต็มใจที่จะจัดตั้งเครือข่าย R&D ในต่างประเทศ พยายามไม่ใช้ Suppliers ท้องถิ่น

ญี่ปุ่นใช้การขยายเครือข่าย Keiretsu ในเอเชีย เป็นยุทธศาสตร์หนึ่งทางธุรกิจ เพื่อตักตวงค่าเช่าทางเศรษฐกิจให้ได้สูงสุด จากการเป็นเจ้าทางเทคโนโลยี การผลิตที่ใช้เทคโนโลยีและให้มูลค่าเพิ่มสูง รองลงมาไปที่กลุ่มนิกส์ ส่วนการผลิตที่ใช้แรงงานมาก และสินค้าที่ Standardize ผลิตจำนวนมากไปที่ประเทศอื่นในเอเชียและจีน โดยเครือข่าย Keiretsu

ในกระบวนการดังกล่าวญี่ปุ่นสามารถกำกับระดับความเข้มข้นของการถ่ายทอดเทคโนโลยีตามที่ตัวเองต้องการ ป้องกันการรั่วไหลสามารถกีดกันหรือเพิ่มต้นทุนให้แก่ผู้ที่ต้องการเข้ามาใหม่ ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกในอุตสาหกรรม มีลักษณะรูปแบบเหมือนเป็นการใช้อำนาจเหนือตลาดก็ว่าได้

ต้นทุนที่สูงมากและสำคัญสำหรับบริษัทท้องถิ่น ที่เป็น Supplier ก็คือขีดความสามารถทางเทคโนโลยี ส่วนใหญ่จะถูกกำหนดตามความจำเป็น และยุทธศาสตร์ของบริษัทญี่ปุ่น และขีดความสามารถนี้คงอยู่ในระดับที่จำเป็น ในการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เทคโนโลยีไม่สูงนัก


Source://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q2/2007april25p1.htm


โดย: ญี่ปุ่นที่ไม่เหมือนใคร? : POST JTEPA (3) (moonfleet ) วันที่: 17 สิงหาคม 2556 เวลา:17:09:01 น.  

 
ญี่ปุ่นที่ไม่เหมือนใคร? : POST JTEPA (4)

วิถีเศรษฐกิจ : ดร.ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 06 มิถุนายน พ.ศ. 2550

ความคิดที่ว่าญี่ปุ่นหวงเทคโนโลยี ถ้าไม่จำเป็นจะไม่ถ่ายทอดเทคโนโลยีสำคัญให้ใครได้ง่ายๆ หรือเป็นจอม Techno Nationalist แบบสุดๆ นั้น มีส่วนที่เป็นความจริงอยู่มาก ถ้าเปรียบเทียบกับสหรัฐ อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรมองการถ่ายทอด หรือการรับเทคโนโลยีเป็นเพียงกิจกรรมที่เกิด หรือทำครั้งเดียวเสร็จ หรือมองเป็นเพียงจุดหนึ่งของเวลา แต่ควรมองมันเป็นกระบวนการที่ใช้เวลาสะสมเป็นกิจกรรมที่ต่อเนื่อง

รัฐบาลและนักธุรกิจญี่ปุ่นมักให้เหตุผลของการที่ประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งประเทศไทย ที่ไม่สามารถพัฒนาขีดความสามารถ และรับการถ่ายทอดทางเทคโนโลยีจากบรรษัทข้ามชาติของญี่ปุ่นได้เต็มที่ เพราะ Absorptive Capacity ต่ำ เป็นเพราะคุณภาพของแรงงานและระดับการศึกษา สะท้อนออกมาจากจำนวน และคุณภาพของวิศวกร และนักวิทยาศาสตร์ที่มีน้อย ประเทศขาดอุตสาหกรรมสนับสนุน หรือ Supporting Industries ที่สำคัญ

ความคิดที่ว่าบรรษัทข้ามชาติญี่ปุ่นที่มาลงทุนในอาเซียนหรือในเอเชีย สามารถทำอะไรได้ตามใจชอบ เพราะครอบครองเทคโนโลยี อาจจะเป็นการพูดที่เกินความจริง เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่า นักวิชาการ เช่น Richard Doner ซึ่งศึกษาเปรียบเทียบนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ของประเทศในอาเซียน เช่น ไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ได้ชี้ให้เห็นว่า ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศเป็นผลิตผลที่เกิดขึ้นจากการต่อรอง

โดยอำนาจการต่อรองขึ้นอยู่กับคุณภาพของรัฐบาล การรวมตัวกันเป็นพันธมิตรของกลุ่มธุรกิจ ขีดความสามารถ และปัจจัยพื้นฐานของประเทศนั้น

การที่ญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าตลาดรถในอาเซียนย่อมสำคัญ แต่ไม่ใช่ว่าญี่ปุ่นจะนึกทำอะไรก็ทำได้ โดยเฉพาะก่อนทศวรรษ 1990 ที่อุตสาหกรรมรถยนต์ยังไม่เปิดเสรี ทุกประเทศต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ เริ่มจากง่ายๆ เพื่อทดแทนการนำเข้า ซึ่งแม้ขนาดของตลาดมีจำกัดในช่วงแรกๆ และต้นทุนการผลิตสูง แต่บริษัทญี่ปุ่นก็ยังมีกำไรเพราะนโยบายการคุ้มครอง จนต่อมาประเทศเหล่านี้สามารถส่งออกรถ และชิ้นส่วน และเข้าอยู่ในกระบวนการ Global Production Network (GPN)

ทั้งหมดเกิดจากพัฒนาการยุทธศาสตร์ทางนโยบาย เช่น นโยบายภาษีและศุลกากรสำหรับรถประเภท CBU และ CKD ในช่วงเวลาต่างๆ การกำหนดการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ การจำกัดโมเดล เพื่อให้เกิดการประหยัดจากขนาด และการมองภูมิภาค เช่น อาเซียนเป็นตลาดเดียว เพื่อการแบ่งความเชี่ยวชาญทางด้านการผลิตและลดต้นทุน การซึมซับของการเรียนรู้ทางเทคโนโลยีของประเทศเจ้าบ้าน เช่น กรณีของไทยมีความชัดเจนมากขึ้นเมื่อมาถึงทศวรรษ 1990 ที่ครึ่งหนึ่งของชิ้นส่วนเป็น Local Content แม้ว่า 70% ของชิ้นส่วนรถยนต์ที่โตโยต้าใช้ในประเทศนั้น มาจาก Suppliers ของญี่ปุ่น อีกร้อยละ 20 ได้รับความช่วยเหลือทางด้านเทคนิคบ้าง และมีแค่ร้อยละ 10 ที่มาจากของบริษัทไทยแท้ๆ

ในกรณีของอุตสาหกรรมรถยนต์ ในบริบทของ Global Production Network และการแข่งขันที่รุนแรง บรรษัทข้ามชาติญี่ปุ่นอาจไม่ต่างจากคนอื่นอย่างมีนัยสำคัญ ในการรักษาส่วนแบ่งของตลาดจากคู่แข่งที่มีมากขึ้นในทศวรรษ 80 และ 90 และจากค่าของเงินเยนที่แข็งขึ้น ญี่ปุ่นจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการผลิต และใช้กลยุทธ์แตกแยกย่อยการผลิตแบ่งความเชี่ยวชาญระดับภูมิภาคในอาเซียน (เช่น ชิ้นส่วนพวงมาลัยในมาเลเซีย ระบบ Transmission ในฟิลิปปินส์ ส่วนประกอบเครื่องยนต์ในไทยและอินโดนีเซีย เป็นต้น)

อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์นี้ไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก ก่อนกลางทศวรรษ 1990 เชื่อกันว่า แม้ประเทศในอาเซียน ไม่มีนโยบายบังคับการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ ญี่ปุ่นก็คงเข้ามาหาชิ้นส่วนที่ต้นทุนต่ำกว่าอยู่ดี แม้ว่าในช่วงต้นๆ อาจเริ่มจากประเภทที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ ทั้งหมดนี้ สะท้อนถึงความสำคัญพลวัตของระบบการผลิตระดับภูมิภาค และระดับโลก

Regional Production Network ในอาเซียนเริ่มมีบทบาทมากขึ้น เมื่อกรอบของ AICO ที่มีขอบข่ายกว้างกว่า (ผู้ผลิตชิ้นส่วนและผู้ประกอบรถสามารถใช้ได้) เข้ามาแทนที่โครงการ BBC ในปี 1996 รวมทั้งการกำหนดอัตราภาษีระดับ 0-5% สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ค้าขายภายใน AICO ซึ่งเริ่มในปี 2546 ในปี 2541 เกิดข้อตกลงฉบับแรกในกรอบของ AICO มีการเซ็นสัญญากันระหว่างผู้ผลิตรถ VOLVO, TOYOTA, ISUZU และผู้ผลิตชิ้นส่วน เช่น Denso, Sanden, Nihon Cable เป็นต้น

แต่ก่อนนี้ ผู้ผลิตญี่ปุ่นมักจะต่อต้านเมื่อรัฐบาลมีนโยบาย Localization หรือการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ ปัจจุบันญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการเปิดเสรีมากขึ้น ต้องการเห็นพิธีการที่ง่ายและสะดวก ต้องการเห็นการแบ่งแยกแรงงานมีการขยายขอบข่าย ไม่ใช่เฉพาะในอาเซียน แต่รวมถึงญี่ปุ่นและประเทศเพื่อนบ้าน

การแข่งขันที่มากขึ้น รวมทั้งความไม่สามารถที่จะตั้งราคารถยนต์และชิ้นส่วนได้สูงตามใจชอบได้อีกต่อไป หมายความว่า การประหยัดจากขนาดมีความสำคัญยิ่งยวด มีการร่วมมือกันระหว่างผู้ผลิตรถยนต์และผู้ผลิตชิ้นส่วน ภายใต้กรอบของอาเซียน ผู้ผลิตรถญี่ปุ่นเริ่มกระจายแหล่งผู้ผลิตชิ้นส่วนนอกเครือข่าย Keiretsu ส่งผลให้ความสัมพันธ์ของ Keiretsu ญี่ปุ่นเริ่มเปลี่ยนไป

ดร.เกรียงไกร เตชกานนท์ นักวิชาการจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบจากการวิจัยว่า บริษัทผู้ผลิตรถในญี่ปุ่น ต้องลงทุนในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้แก่ทั้งบริษัทในเครือและบริษัทนอกเครือในประเทศไทย รวมทั้งผู้ผลิตชิ้นส่วนในรูปแบบต่างๆ มากพอสมควร เพราะการออกแบบและการพัฒนาผลิตภัณฑ์เกิดที่ญี่ปุ่น ผู้ผลิตรถและชิ้นส่วนในไทยต้องการการถ่ายทอดความรู้และบริษัทญี่ปุ่นเต็มใจที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยี

ในอนาคตอันเนื่องมาจากความสำคัญที่ประเทศไทยจะเป็นฐานการผลิตรถ เพื่อการส่งออกของญี่ปุ่น เป็นที่แน่ชัดว่าในอนาคตการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Process engineering และ Production stage จะมาทำที่เมืองไทย

ความพร้อมในด้านการพัฒนาขีดความสามารถของไทย และการเป็นพันธมิตรกับต่างชาติของ Suppliers ของไทย จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง เราไม่ควรจะต้องกลัวว่าญี่ปุ่นจะไม่ถ่ายทอดเทคโนโลยี


Source://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q2/2007april25p1.htm


โดย: ญี่ปุ่นที่ไม่เหมือนใคร? : POST JTEPA (4) (moonfleet ) วันที่: 17 สิงหาคม 2556 เวลา:17:10:08 น.  

 
ญี่ปุ่นที่ไม่เหมือนใคร? : POST JTEPA (5)

วิถีเศรษฐกิจ : ดร.ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 04 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

การพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีในระดับที่สูงขึ้นในอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก เป็นโจทย์ใหญ่และจะท้าทายประเทศไทยในสิบถึงยี่สิบปีข้างหน้า สาเหตุที่ไทยจำเป็นต้องเอาจริงเอาจัง และรัฐบาลไทยควรมีนโยบายเชิงรุกด้านนโยบายเทคโนโลยี เป็นเพราะว่าแม้ในอดีตเราละเลยและมองเทคโนโลยีแบบตั้งรับ เราก็ยังสามารถเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรม ทำให้เราสามารถส่งออกสินค้าใหม่ๆ ที่โลกต้องการ จนทำให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเติบโตในอัตราสองหลักได้อย่างต่อเนื่อง

แต่สิ่งแวดล้อมและนโยบายที่เกื้อกูลความสำเร็จในการส่งออกของไทยในอดีตนั้น ได้เปลี่ยนไป เราจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ใหม่ ความสำเร็จจากอดีต ไม่ได้ประกันความสำเร็จในอนาคตได้เสมอไป ในสิ่งแวดล้อมใหม่ กติกาใหม่ภายใต้ WTO และข้อตกลงการค้าเสรี การใช้นโยบายอุตสาหกรรม หรือ Industrial Policy ในการปกป้องอุตสาหกรรม การให้เงินอุดหนุนทำได้ยากขึ้น ทุกประเทศล้วนดึงดูดการลงทุน การค้าขยายตัว ตามมาด้วยการลดลงของภาษีศุลกากร

ขณะเดียวกัน กระบวนการผลิตระดับโลกและภูมิภาคเป็นระบบเครือข่าย ทำให้แต่ละประเทศมีทางเลือกที่น้อยและแคบลง การพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีเท่านั้น คือทางออกที่ยั่งยืนเพื่อตัวเราเองและเพื่อจูงใจผู้ลงทุนจากต่างประเทศ

แม้เราจะมีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ หรือมีความสามารถในการแข่งขันในสินค้าเกษตร หรือสินค้าที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งควรเป็น Niche ของเรา เราเคยได้เปรียบในสินค้าที่ใช้แรงงานไร้ฝีมือสูง เทคโนโลยีต่ำ แต่นี่ไม่ใช่สินค้าที่เติบโตสูง เป็นพลวัตของโลก นับวันโลกต้องการสินค้าที่มีความเข้มข้นทางเทคโนโลยีสูง จากข้อมูลการค้าของโลกระหว่างช่วงปี ค.ศ.1985-1997 กิจกรรมที่มีเทคโนโลยีเข้มข้น ซึ่งหมายถึงกิจกรรมที่มีการใช้จ่ายลงทุนทางด้าน R&D สูง และใช้วิศวกร และนักวิทยาศาสตร์มาก โตในอัตราที่เร็วกว่ากิจกรรมอื่นๆ ทั้งในด้านการผลิตและการส่งออก

Sanjaya Lall พบว่าสินค้าประเภทที่ใช้เทคโนโลยีระดับต่ำและใช้แรงงานไร้ฝีมือสูง สามารถย้ายฐานการผลิตเพื่อชดเชยกับการเติบโตของอุปสงค์ที่ต่ำ ขณะที่สินค้าเกษตรและที่อิงทรัพยากรธรรมชาติ อุปสงค์ก็ต่ำและไม่ค่อยมีนวัตกรรม แต่ก็ย้ายฐานการผลิตไม่ได้ ส่วนสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นกลาง (MT) อุปสงค์ยังเติบโตและมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี การย้ายฐานการผลิตไม่สำคัญนัก เพราะขีดความสามารถในการผลิตและเทคโนโลยี รวมทั้งอุปทานของการผลิตชิ้นส่วนของประเทศนั้นๆ สำคัญกว่าค่าจ้าง เช่น

กรณีของอุตสาหกรรมยานยนต์ ส่วนอุตสาหกรรมประเภทไฮเทค (HT) เช่น อิเล็กทรอนิกส์นั้น มีพลวัตสูงมาก เพราะขณะที่ส่วนกระบวนการผลิตที่เป็นแก่น ใช้เทคโนโลยีสูงและซับซ้อนมากนั้น จะผลิตในประเทศอุตสาหกรรมที่ค่าจ้างสูง แต่ขณะเดียวกัน การประกอบที่ใช้แรงงานไร้ฝีมือ ค่าจ้างต่ำ สามารถทำในประเทศกำลังพัฒนา ความสามารถในการย้ายฐานการผลิตนี้เอง ทำให้อุตสาหกรรมไฮเทคประเภทนี้มีพลวัตสูงมาก เป็นอุตสาหกรรมที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงมาก อุปสงค์โตเร็ว

Lall พบว่าในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา สินค้าส่งออกที่อิงทรัพยากรเป็นฐาน มีการเติบโตที่ต่ำสุด ส่วน HT นั้น มีอัตราการเติบโตสูงสุด ตามมาด้วย MT ซึ่งยังครองสัดส่วนสูงที่สุด

อนาคตประเทศไทยจึงไม่มีทางเลือก เราจำเป็นต้องมี Paradigm Shift ทางด้านเทคโนโลยี ตามให้ทันโลกที่เปลี่ยนไปทางด้านนี้ ถ้าเราต้องการอยู่ในกลุ่มของประเทศที่เกิดใหม่ สามารถครองส่วนแบ่งของตลาดสินค้าส่งออกอุตสาหกรรม ที่โลกต้องการสูงได้อย่างยั่งยืน เราต้องเพิ่มขีดความสามารถไต่บันไดทางเทคโนโลยีให้มาอยู่ในระดับกลางและระดับสูงเท่านั้น

เราเคยมีความได้เปรียบสูงในโครงสร้างการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีต่ำ หรือ LTในทศวรรษ 80 เช่น สิ่งทอ เครื่องหนัง รองเท้า ผลิตภัณฑ์พลาสติก เฟอร์นิเจอร์ ของเด็กเล่น หรืออัญมณี และสามารถปรับตัว ผลิตเพื่อส่งออกสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีระดับกลาง (MT) และระดับสูง (HT) เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์วิศวกรรม อิเล็กทรอนิกส์ และผลิตภัณฑ์ไฟฟ้า

แต่ความได้เปรียบที่เราเคยมีในอดีตนั้น มาจากทรัพยากรธรรมชาติและแรงงานที่ถูก มาจากนโยบายที่ส่งเสริมการลงทุนทั้งใน และจากต่างประเทศ ที่เน้นปริมาณรวมทั้งการจ้างงานมากกว่าคุณภาพ โดยเฉพาะเราไม่เคยจริงจัง วางแผนและทำงานอย่างเป็นระบบระหว่างรัฐกับเอกชน ในการพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยี เหมือนที่เกิดขึ้นในเกาหลี สิงคโปร์ หรือไต้หวัน

เราเรียนรู้ใช้เทคโนโลยีเป็นมากกว่าสามารถทำนวัตกรรม เป็นผู้ผลิต OEM (Original Equipment Manufacture) มากกว่าเป็น OBM (Owned Brands Manufacture) หรือ ODM (Owned Design Manufacture) ด้วยเหตุนี้ เราจึงเป็นเพียงฐานการผลิตและการประกอบเรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตที่ไม่ยากเย็น การออกแบบ หรือการทำ R&D ในขั้นตอนที่สำคัญทั้งหรือการมีนวัตกรรมใน Product และ Process ใหม่ๆ จึงทำไม่ได้ มูลค่าเพิ่มสุทธิของภาคอุตสาหกรรม จึงต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

Larry Westphal เคยมาศึกษาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีของไทยในปี ค.ศ.1989 กับ TDRI เขาคิดว่าในขณะนั้น รูปแบบของไทยทางด้านขีดความสามารถทางเทคโนโลยีนั้น น่าห่วงและเป็นรูปแบบของละตินอเมริกา มากกว่ากลุ่มนิกส์

Sanjaya Lall ให้ข้อสังเกตในเรื่องนี้ เมื่อเขามาศึกษาขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยหลังวิกฤติในปี ค.ศ.1998 ว่า แม้ไทยดูจะเติบโตดีและส่งออกได้ในทศวรรษ 80 และแม้ว่าโครงสร้างการส่งออกของไทยดูจะล้ำหน้ากว่าจีน หรืออินโดนีเซียในระดับเทคโนโลยี แต่ก็ไม่ชัดเจนว่าประเทศไทยมีขีดความสามารถทางเทคโนโลยีสูงกว่าในกระบวนการผลิต เขาคิดว่าโครงสร้างการส่งออกของไทยใกล้ไปทางฟิลิปปินส์มากกว่าโครงสร้างของไต้หวัน เกาหลี หรือสิงคโปร์

เป็นที่แน่ชัดว่า นอกเหนือจาก JTEPA ประเทศไทยจะต้องสามารถมีความเป็นอิสระ สามารถเลือกเป้าหมาย ในการพัฒนาเทคโนโลยี ในเส้นทางที่เรากำหนดเอง โดยเป็นหุ้นส่วนที่เท่าเทียมกับประเทศใน FTA ความเป็นอิสระนี้ จะมีได้ก็ต่อเมื่อเรามุ่งมั่นที่จะพัฒนาขีดความสามารถทางสถาบันของเราเท่านั้น ไม่ต้องโทษต่างชาติหรือใครๆ


Source://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q2/2007april25p1.htm


โดย: ญี่ปุ่นที่ไม่เหมือนใคร? : POST JTEPA (5) (moonfleet ) วันที่: 17 สิงหาคม 2556 เวลา:17:11:20 น.  

 
POST JTEPA : ญี่ปุ่นที่ไม่เหมือนใคร? (6)

วิถีเศรษฐกิจ : ดร.ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 01 สิงหาคม พ.ศ. 2550

ตารางที่ 1 การแข่งขันระหว่างจีนกับประเทศในเอเชีย ในตลาดสหรัฐ ค.ศ.1990-2000

(% ที่ทับซ้อนคาบเกี่ยวกับสินค้าจากจีน)

ประเทศ ค.ศ.1990 ค.ศ.1995 ค.ศ.2000

ญี่ปุ่น 3 8.3 16.3

เกาหลีใต้ 24 27.1 37.5

ไต้หวัน 26.7 38.7 48.5

ฮ่องกง 42.5 50.5 55.9

สิงคโปร์ 14.8 19.2 35.8

อินโดนีเซีย 85.3 85.5 82.8

มาเลเซีย 37.1 38.9 48.7

ฟิลิปปินส์ 46.3 47.8 46.1

ไทย 42.3 56.3 65.4

นอกจากการที่การส่งออกในสินค้าอุตสาหกรรมของโลก มีอัตราการเจริญเติบโตที่สูงที่สุดในอุตสาหกรรมประเภทไฮเทคแล้ว ตารางข้างล่างนี้ จะสามารถยืนยันได้ว่า ทำไมรัฐบาลไทยจำเป็นต้องมี Paradigm shift ทางด้านนโยบายเทคโนโลยี เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอย่างญี่ปุ่นและกลุ่ม NICs ที่ล้ำหน้ากว่าไทยทางด้านขีดความสามารถเทคโนโลยี ไทยกำลังเผชิญกับภาวะคุกคามของจีนในระดับที่สูงกว่าประเทศเหล่านี้มาก

จะเห็นได้ว่าภาวะคุกคามจากจีนที่มีต่อไทยนั้น ไทยเป็นรองแค่อินโดนีเซีย และเป็นที่แน่นอนว่า ภายในไม่เกินยี่สิบปีข้างหน้า ขีดความสามารถในการใช้เทคโนโลยีของจีน จะเป็นไปอย่างก้าวกระโดด จีนจึงเป็นภาวะคุกคามสำหรับทุกประเทศในเอเชีย จะมากหรือน้อยเท่านั้น แม้ว่าในปัจจุบัน กว่าครึ่งของการนำเข้าของจีนจะมาจากประเทศในเอเชียก็ตาม

ตารางที่ 2 บทบาทของจีนในตลาดใหญ่ของโลก

ค.ศ.1980 ค.ศ.1995 ค.ศ.2000 ค.ศ.2003

ญี่ปุ่น 3.1 10.7 14.5 18.5

สหรัฐ 0.5 6.3 8.6 12.5

EU 0.7 3.8 6.2 8.9

เมื่อดูการนำเข้าจากจีนของประเทศที่เป็นเสาหลักของการค้า การลงทุนของโลกที่เรียกว่า The TRIAD คือ ญี่ปุ่น สหรัฐ และ EU ก็จะเห็นได้ชัดเช่นกันว่า จีนเริ่มมีบทบาทมากขึ้นในตลาดของประเทศทั้งสาม

แก่นของ JTEPA ในมุมมองของไทย จึงไม่ได้อยู่เพียงแค่การมี Market Access ในตลาดญี่ปุ่น แต่จะต้องเป็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ที่มีขอบข่ายกว้างขวาง โดยเฉพาะด้านการลงทุนจากญี่ปุ่นที่จะช่วยยกระดับ ทักษะและคุณภาพของแรงงาน รวมทั้งการพัฒนาคนขีดความสามารถทางด้านเทคโนโลยีในภาคอุตสาหกรรม

ประเทศที่จะประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนในกระแสโลกาภิวัตน์ จึงจำเป็นต้องมีองค์ประกอบของสองสิ่งด้วยกัน คือต้องสามารถ Upgrade เทคโนโลยี ทักษะและผลิตภาพในกิจกรรมที่ทำอยู่ ขณะเดียวกัน ก็สามารถเขยิบจากกิจกรรมที่ใช้เทคโนโลยีธรรมดาง่ายๆ ไปสู่กิจกรรมที่ใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อนขึ้น เพื่อทำให้ตำแหน่งของประเทศตนในตลาดโลกมีความแข็งแกร่งขึ้น และได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่

องค์กรที่สร้างและใช้เทคโนโลยีไม่ใช่ประเทศ แต่เป็นบรรษัทวิสาหกิจ แต่ประเทศสร้างกลไกกติกา แรงจูงใจ ที่มีผลต่อปฏิสัมพันธ์และการเรียนรู้ระหว่างบริษัท จนเป็นระบบของการเรียนรู้ หรือระบบนวัตกรรมของชาติ

ความคิดที่ไม่ถูกต้อง คือความคิดที่ผู้กำหนดนโยบายจะทึกทักเอาว่า ถ้าประเทศหรือโลกใช้นโยบายการค้าและการลงทุนที่เสรี บรรษัทวิสาหกิจก็จะสามารถนำเข้าและประยุกต์ความรู้ที่มีอยู่ในโลกได้อย่างง่ายๆ หรือเป็นไปโดยอัตโนมัติ ผ่านเทคโนโลยีที่ถ่ายทอดฝังอยู่ในเครื่องจักรหรือสินค้าทุน สิทธิบัตรหรือพิมพ์เขียว นี่เป็นแนวคิดของการมอง การถ่ายทอดเทคโนโลยีของเศรษฐศาสตร์กระแสหลักนีโอคลาสสิก

ในความเป็นจริง การที่จะเก่งและเชี่ยวชาญเทคโนโลยีในประเทศกำลังพัฒนา ไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายๆ เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ เทคโนโลยีส่วนใหญ่ไม่ใช่ขายกันเหมือนขายเป็นสินค้า ส่วนใหญ่เป็นความรู้ที่ฝังลึก หรือมี Tacit Elements ที่ต้องฝึกฝน ซึ่งมักเป็นกระบวนที่ช้า สะสม ค่อยเป็นค่อยไป และที่สำคัญมากก็คือ ทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นในภาวะแวดล้อมที่มีความไม่แน่นอน ความเสี่ยงสูง การที่จะเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ต้องการการลงทุน มีความขาดแคลนทั้งทางด้านทักษะ ด้านสารสนเทศ เครือข่าย หรือแม้แต่สินเชื่อ

เพียงแค่ให้บริษัทหรือผู้ผลิตไทยได้ออกไปค้าขายแข่งกับผู้อื่นในโลก และเปิดเสรีการลงทุนโดยตรง โดยหวังว่าผู้ผลิตไทยจะเก่งด้านเทคโนโลยีได้โดยง่าย เป็นการคาดหวังที่ลมๆ แล้งๆ ญี่ปุ่น และประเทศ NICs ในเอเชียทั้งหลาย จึงต้องให้รัฐ Active ด้านเทคโนโลยี

ดังที่ Joseph Stiglitz ให้ข้อสังเกตไว้ว่า กลไกตลาดทำงานล้มเหลวและบกพร่องสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยี เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ปัญหา Coordination รุนแรงมาก


Source://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q2/2007april25p1.htm


โดย: POST JTEPA : ญี่ปุ่นที่ไม่เหมือนใคร? (6) (moonfleet ) วันที่: 17 สิงหาคม 2556 เวลา:17:12:54 น.  

 
POST JTEPA : ญี่ปุ่นที่ไม่เหมือนใคร? (7)

วิถีเศรษฐกิจ : ดร.ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2550

ทุกประเทศเคยเผชิญกับวิกฤติของเศรษฐกิจในลักษณะใดลักษณะหนึ่งเสมอ แต่ถ้าจะถามว่า มีวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับประเทศหนึ่ง แล้วส่งผลอย่างใหญ่หลวง สั่นคลอนต่อการเปลี่ยนแปลงในความเชื่อห รือความคิดของคนที่มีต่อประเทศนั้นอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ เกือบจะเรียกว่าเป็น Paradigm shift ก็ว่าได้ ผู้เขียนคิดว่าประเทศนั้นคือ ญี่ปุ่น ในความสำเร็จที่ดูเหมือนเป็นสิ่งอัศจรรย์และความล้มเหลวในการแก้ปัญหาวิกฤติ ญี่ปุ่นเป็นตำนานให้ความรู้ที่มีค่า ญี่ปุ่นมีอะไรที่เหมือนและไม่เหมือนใครในความหลากหลายของระบบทุนนิยมของโลก

ญี่ปุ่นเป็นแบบจำลองของความสำเร็จทางเศรษฐกิจ เป็นประเทศแรกของเอเชียที่สามารถ Catch up หรือไล่กวดชาติตะวันตกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทางด้าน Productivity และเทคโนโลยี โดยใช้เวลาเพียงสองทศวรรษเศษๆ มีเศรษฐกิจที่โตในระดับสองหลัก หรือประมาณ 10% อยู่ช่วงหนึ่งเหมือนจีนในปัจจุบัน ในช่วงเวลาเพียง 2-3 ทศวรรษ ญี่ปุ่นสร้างความได้เปรียบในโครงสร้างของอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนจากอุตสาหกรรมที่แรงงานมีค่าจ้างต่ำใช้แรงงานมาก ไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้ความรู้ ทักษะของแรงงานและอุตสาหกรรมประเภทไฮเทค

ในทศวรรษ 1980 ญี่ปุ่นเปลี่ยนสถานภาพจากผู้นำเข้าเป็นผู้ส่งออกเทคโนโลยีที่สำคัญของโลก และสามารถวางตำแหน่งสินค้าของญี่ปุ่นในตลาดโลก ว่าคุณภาพนั้นมากับอะไรที่ Made in Japan และเมื่อญี่ปุ่นขายได้มากกว่าซื้อหรือมีดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุล ตั้งแต่ทศวรรษ 80 ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศเจ้าหนี้ หรือส่งออกทุนทั้งทางตรง และทางอ้อมรายใหญ่ของโลก หรือที่เรียกว่าเป็น Creditor Nation ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของโลกอันดับหนึ่งเป็นธนาคารญี่ปุ่น และอีกหลายๆ แห่งติดอันดับ 1 ใน 10 เราได้เคยเห็น บริษัทยักษ์ใหญ่ญี่ปุ่นซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้าในธุรกิจที่ตัวเองไม่ถนัด

ดูเหมือนทุกๆ อย่างที่บอกถึงความสำเร็จทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นนั้นมาบรรจบกัน ในปลายทศวรรษ 80 และมีจุดเปลี่ยนของแนวโน้มใหญ่ในปี ค.ศ.1991 เมื่อฟองสบู่แตก เป็นธรรมดาเมื่อญี่ปุ่นไล่กวดทันสหรัฐและประเทศในกลุ่ม OECD ตั้งแต่กลางทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา และเข้าสู่ Frontier ทางเทคโนโลยี อัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ย่อมชะลอลง แต่ก็ยังสูงกว่ายุโรป และสูงกว่าร้อยละ 4 ซึ่งเป็นอัตราที่สะท้อนศักยภาพ ก่อนวิกฤติเศรษฐกิจในทศวรรษ 1990 ญี่ปุ่นจึงไม่มีปัญหาเรื่องความเจริญเติบโต ซึ่งมาพร้อมกับความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมการผลิตหลายอย่าง

แต่บนเส้นทางของสามทศวรรษแห่งความสำเร็จหลังสงครามโลกของญี่ปุ่นนั้น ญี่ปุ่นต้องปรับตัวอย่างสาหัสสากรรจ์ก่อนวิกฤติใหญ่ ที่น่าแปลกใจสำหรับผู้เขียนก็คือ

ในช่วงเวลาดังกล่าว ญี่ปุ่นสามารถปรับตัวได้อย่างดีเยี่ยม ไม่ใช่เฉพาะต่อการเปลี่ยนแปลงและความผันผวนของโลก ซึ่งญี่ปุ่นไม่สามารถควบคุมได้ เช่น เมื่อเกิดวิกฤติน้ำมันโลกเมื่อต้นทศวรรษ 70 แต่ยังสามารถปรับตัวให้อยู่รอดได้อย่างแข็งแกร่งในเวลาต่อมา ต่อผลที่เกิดจากความสำเร็จของตัวเอง เช่น การปรับตัวจากผลกระทบกรณีค่าของเงินเยนที่สูงขึ้น จากระดับกว่า 300 เยนต่อหนึ่งดอลลาร์ มาเป็นประมาณ 150 เยน เมื่อปลายปี ค.ศ.1986

ประเทศที่ไม่มีทรัพยากรและต้องพึ่งพาน้ำมันอย่างญี่ปุ่น ย่อมต้องหวาดผวากับ Oil Shock แต่เป็นที่ทราบกันดีว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศในระดับแนวหน้าที่ประสบความสำเร็จในการประหยัดพลังงาน และพัฒนาพลังงานทดแทน โดยที่รัฐบาลญี่ปุ่นมีบทบาทที่สำคัญต่อความสำเร็จข้างต้น Shock ที่มีผลต่อเศรษฐกิจที่ใหญ่หลวงในทศวรรษ 80 ก็คือ Shock ที่เกิดจากค่าเงินเยนที่แข็งขึ้น คนญี่ปุ่นกลัวเรื่องนี้มาก กลัวการส่งออกของญี่ปุ่นจะพังทลาย ซึ่งจะมีผลต่อเศรษฐกิจที่รุนแรง แต่ผลที่เกิดขึ้นกลับตรงกันข้าม เศรษฐกิจญี่ปุ่นแข็งกว่าที่คาดไว้

นโยบายการเงินได้รับการผ่อนคลายตั้งแต่ปี 1985 เป็นต้นมา เศรษฐกิจโตได้อย่างสูงจากแรงผลักดัน ของอุปสงค์รวมจากภาคเอกชน ฐานะการคลังก็ดีขึ้นและได้ดุลหรือเกินดุลเมื่อสิ้นทศวรรษ 1980 การปรับตัวของบรรษัทข้ามชาติญี่ปุ่น การย้ายฐานการผลิตมาสู่เอเชียตะวันออก ขยายตัวอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ที่น่าแปลกใจกว่านั้น เศรษฐกิจญี่ปุ่นไม่ถูกกระทบอย่างรุนแรง จากเหตุการณ์ Black Monday เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 1987 ที่ราคาหุ้นในสหรัฐลดลงมหาศาลในลักษณะเฉียบพลัน

ตรงกันข้าม ณ สิ้นปี ค.ศ. 1989 เศรษฐกิจญี่ปุ่นถึงจุดสูงสุดของฟองสบู่ราคาสินทรัพย์ คือราคาหุ้นและราคาอสังหาริมทรัพย์ แทบไม่น่าเชื่อว่าในช่วงเวลาหกปี ราคาที่ดินและราคาหุ้นจะขึ้นไปได้ถึงสี่เท่าตัว นักวิชาการ Ito, Patrick และ Weinstein ให้ข้อสังเกตในหนังสือของเขา ชื่อ Reviving Japan’s Economy ว่า ไม่มีใครจะกล้าพยากรณ์ว่า ราคาสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นนั้น จะอันตรธานหายไปในสิบกว่าปีถัดมา

ฟองสบู่ที่แตกในต้นปีทศวรรษ 1990 จนนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจที่ชะงักงันเป็นเวลากว่าหนึ่งทศวรรษของญี่ปุ่นนั้น ถือได้ว่าเป็นหายนะและการท้าทายที่ใหญ่หลวงที่สุดที่ญี่ปุ่นได้เผชิญตั้งแต่หลังสงครามโลก หลังจากที่ได้เคยเผชิญกับเรื่องวิกฤติน้ำมันและค่าของเงินเยนที่สูงขึ้น สมมติฐานที่เป็นความเชื่อหรือจะเรียกว่า เป็นความศรัทธาก็ว่าได้และฝังใจสังคมญี่ปุ่น ซึ่งกลายเป็นความผิดพลาดและความหายนะต่อมา ก็คือ ความเชื่อที่ว่า ราคาที่ดินจะไม่ลดลง เพราะมันไม่เคยลดลงกว่าสี่สิบปีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ความเชื่อที่สองว่า เศรษฐกิจจะโตได้ต่อไปตลอดและเมื่อเกิดวิกฤติไม่นานเศรษฐกิจก็จะฟื้นกลับไปเหมือนเดิม แต่ภาวะเศรษฐกิจที่ชะงักงันโตได้ในอัตราเพียง 1% เศษๆ เป็นเวลาที่ยาวนานกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้เกิดคำถามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับญี่ปุ่น

แบบจำลองทางธุรกิจและแบบจำลองของรัฐของการพัฒนาขีดความสามารถทางอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีของญี่ปุ่น ที่เป็นแบบจำลองของความสำเร็จนั้น จริงๆ แล้ว เป็นแบบจำลองที่มีกึ๋นจริงหรือไม่ ความสำเร็จของญี่ปุ่นมีเอกลักษณ์จริงหรือ หรือว่าเอาเข้าจริงญี่ปุ่นก็ไม่ได้ต่างกับใครๆ


Source://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q2/2007april25p1.htm


โดย: POST JTEPA : ญี่ปุ่นที่ไม่เหมือนใคร? (7) (moonfleet ) วันที่: 17 สิงหาคม 2556 เวลา:17:15:38 น.  

 
POST JTEPA : ญี่ปุ่นที่ไม่เหมือนใคร? (8)

วิถีเศรษฐกิจ : ดร.ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2550

ประเทศทุนนิยมในโลกทำงานด้วยกลไก หรือสถาบันที่เป็นตลาดเสรี ผสมผสานไปกับสถาบันทางสังคมที่ไม่ใช้วิถีหรือกลไกตลาด เราจะเข้าใจวิถีทุนนิยมของญี่ปุ่นได้ดีขึ้น ทั้งในด้านความสำเร็จในอดีตและปัญหาที่ญี่ปุ่นจะต้องเผชิญในอนาคต ถ้าเราเข้าไปให้ถึงปรัชญาและระบบคุณค่าที่กำหนดพฤติกรรมของหน่วยเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบ กับระบบทุนนิยมของอเมริกา และอังกฤษ หรือ Anglo Saxon และ ในระบบทุนนิยมไม่มีมิติใดที่จะสำคัญไปกว่าลักษณะของ Firm หรือองค์กรธุรกิจหรือหน่วยผลิต

เศรษฐศาสตร์กระแสหลักมอง Firm จากทัศนะที่เป็นทรัพย์สิน หรือ Property ทัศนะในลักษณะนี้ที่เป็นทั้งพื้นฐานทางกฎหมาย และวิถีปฏิบัติ รวมทั้งบรรษัทภิบาลของทุนนิยมอังกฤษอเมริกา ย่อมถือว่าผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นต้องมาก่อน ตรงกันข้ามกับทัศนะข้างต้น ทุนนิยมของเยอรมนีมององค์กรธุรกิจเหมือนเป็นสถาบันทางสังคมที่ระบบ หรือระเบียบขององค์กรภายใน เป็นเรื่องของประโยชน์สาธารณะ ที่รัฐและสังคมต้องดูแล

ญี่ปุ่นก็มีลักษณะคล้ายกัน คือมององค์กรธุรกิจในลักษณะที่เป็นชุมชน หรือ Community ที่คนในองค์กร หรือสมาชิกผูกโยงใยด้วยความผูกพัน ที่เป็นทั้งผลประโยชน์ร่วมกันกับชะตากรรมของชุมชน ชุมชนนี้จึงเป็นอะไรมากกว่าทรัพย์สินของผู้ถือหุ้น สมาชิกของชุมชนไม่ได้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติเหมือนชุมชนในหมู่บ้าน แต่ผ่านระบบการเลือกเฟ้นตามปรัชญาและเป้าหมายขององค์กร

ด้วยปรัชญาข้างต้น ระบบการจ้างงานและแรงงานสัมพันธ์ของญี่ปุ่น ก็เป็นตรรกะที่ตามมา Ronald Dore นักวิชาการที่ศึกษาสังคมญี่ปุ่นมายาวนานเคยให้คำอธิบายไว้ว่า การเป็นพนักงานในบริษัทญี่ปุ่นขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานคอปกขาวหรือคอปกน้ำเงิน ไม่ได้หมายความว่าพนักงานเหล่านั้นยื่นใบสมัครทำงานแล้วได้งานทำ แต่มันมีความหมายมากกว่านั้น ก็คือว่าพนักงานเหล่านี้ตั้งแต่ช่วงต้นของชีวิต หลังจากออกจากโรงเรียนหรือจบจากมหาวิทยาลัย ได้ประสบความสำเร็จในการได้เป็น "สมาชิกของบริษัท"

การเป็นสมาชิกนี้หมายความว่า พนักงานเหล่านี้สามารถมีความหวังได้ว่า ตนเองไม่ใช่เพียงแต่จะได้งานทำ แต่จะสามารถสร้างความก้าวหน้า เป็น Career กับบริษัทได้ เกิดเป็นพันธะร่วมกันตลอดชีวิต กระบวนการคัดสรรของบริษัทญี่ปุ่น ไม่ได้เน้นความสามารถเฉพาะทางวิชาชีพ เท่ากับคุณสมบัติส่วนบุคคล สติปัญญา และความสามารถในการเรียนรู้ พนักงานมีโอกาสหมุนเวียน เรียนรู้งานหลายๆ อย่างในองค์กร ที่จะสามารถเป็น Generalist ที่ดีได้

คงเป็นเรื่องแปลกมาก ถ้าจะมีผู้บริหารระดับสูงของญี่ปุ่นออกจากบริษัทคู่แข่ง เช่น จากโตโยต้าไปอยู่กับฮอนด้าหรือนิสสัน เรื่องราวแบบนี้ไม่ปรากฏให้เห็นในสังคมธุรกิจญี่ปุ่น เพราะความจงรักภักดีที่มีต่อบริษัท และเจตจำนงในการทำงานร่วมกันไปตลอดชีวิต ในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น ความจงรักภักดีอย่างแนบแน่น เป็นความสัมพันธ์ทางสังคม เช่น ระหว่างบ่าวกับนาย แต่ขยายไปสู่บริษัทและประเทศที่รุนแรง จริงจัง และมีความเป็นชาตินิยมสูงจนเป็นความทะเยอทะยาน ก้าวร้าวของผู้นำประเทศยุคหนึ่ง

การมององค์กรเหมือนเป็นชุมชนของญี่ปุ่น ส่งผลอื่นๆ ตามมามากมาย เช่น ระดับของความไม่เท่าเทียมกันในรายได้ภายในองค์กร ซึ่งของญี่ปุ่นความต่างกันในรายได้จะแคบกว่าของอเมริกาอย่างเทียบกันไม่ได้ สหภาพแรงงานในสหรัฐ และอังกฤษมุ่งรักษาสถานภาพ หรือเพิ่มค่าจ้างของคนงานในอาชีพเดียวกัน แต่ในญี่ปุ่นสหภาพระดับบริษัทเป็นจุดเชื่อมสมาชิกขององค์กรที่มีเป้าหมายร่วมกัน มุ่งกำกับดูแลความไม่เป็นธรรม ที่อาจเกิดแก่พนักงานระดับล่าง และกลุ่มที่อยู่ห่างจากศูนย์กลางของอำนาจ

ระบบการจ้างงานตลอดชีพช่วยสร้างความเข้าใจ และผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างฝ่ายบริหาร และแรงงานนำไปสู่สันติภาพในระบบแรงงาน ประธานสหภาพของหลายบริษัทเคยได้ไต่เต้า จนได้เป็นประธานของบริษัทก็มีให้เห็นอยู่ ในขณะที่ทุนมนุษย์ของพนักงานที่สะสมจากการทำงาน และการอบรมในบริษัทอเมริกัน ถือเป็นสมบัติส่วนตัวของพนักงาน เคลื่อนย้ายได้คล่องตัว เช่น จาก IBM Intel Hewlett Packard ไปที่ Silicon Valley การลงทุนในทุนมนุษย์ของบริษัทญี่ปุ่น ถือเป็นการเพิ่มทักษะหรือทุนของชุมชนโดยรวม ไม่ใช่ของปัจเจกบุคคลนั้นๆ เท่านั้น

ระบบหรือสถาบันที่ทำให้ระบบการจ้างงานต่างกันนั้น ส่งผลต่อความแตกต่างในด้านพฤติกรรมอื่นๆ หรือการบริหารบริษัทโดยตรรกะของตัวมันเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในการผลิตสินค้าขั้นสุดท้าย บริษัทญี่ปุ่นพึ่งความร่วมมือจากบริษัทอื่นค่อนข้างมาก เราจึงได้พบในระบบ Distribution ที่มีช่องทางหลายชั้นหลายตอน อัตราส่วนระหว่างขายส่งกับขายปลีกของญี่ปุ่นนั้นสูงกว่าอังกฤษประมาณเท่าตัว ในความสัมพันธ์ระหว่างบริษัท

ขณะที่ปรัชญาของบริษัทอเมริกันนั้น พร้อมจะเปลี่ยนคู่ค้าอย่างง่ายๆ ถ้าบริษัทจะได้อะไรที่ดีกว่า บริษัทญี่ปุ่นตรงกันข้าม เน้นภาระผูกพันระยะยาวที่มีต่อกันไม่เปลี่ยนคู่ค้าเพราะผลประโยชน์ระยะสั้น เห็นได้ชัดจากจำนวนผู้ผลิตชิ้นส่วนชั้นหนึ่งให้โตโยต้าเมื่อปี ค.ศ.1990 เกือบทั้งหมดเป็นพวกเดิมๆ เมื่อยี่สิบปีก่อน

การที่บริษัทไม่ลดหรือปลดพนักงานเมื่อเศรษฐกิจถดถอยในระบบการจ้างงานตลอดชีพ ย่อมหมายความว่า ฝ่ายบริหารต้องไม่ให้ความสำคัญกับการดูกำไรระยะสั้น ราคาหุ้น ภาระการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น มาเป็นเครื่องชี้วัดผลการดำเนินงานของบริษัท ฝ่ายบริหารของบริษัทญี่ปุ่นจึงสามารถทุ่มเทให้กับการลงทุน และการเปลี่ยนแปลงของบริษัทในระยะยาวได้ง่ายขึ้น

ความเป็นไปได้ของฝ่ายบริหารในการทุ่มเทให้กับการแก้ปัญหาระยะยาว จะต้องเกิดขึ้นในสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวย เช่น ไม่ต้องวิตกกับการที่ราคาหุ้นตกต่ำ จะถูกเทคโอเวอร์ ซึ่งญี่ปุ่นทำได้ เพราะระบบการถือหุ้นไขว้กัน ระหว่างกลุ่มบริษัททั้งสถาบันการเงินและไม่ใช่สถาบันการเงิน ที่ทำให้มี Floating Share ต่ำมาก ตลาดทุนญี่ปุ่น จึงไม่ใช่ Market for Corporate Control

ขณะที่บริษัทในระบบอเมริกัน เป็นระบบที่ทุกฝ่ายอยากเห็นเสรีภาพและความคล่องตัว เมื่อโอกาสเปิดให้สามารถมีทางเลือกใหม่ได้เสมอ แต่ญี่ปุ่นพอใจระบบที่ปิดทางเลือก และความคล่องตัว โดยมี Commitment ต่อกันระยะยาว ระบบไหนดีกว่ากันเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์


Source://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q2/2007april25p1.htm


โดย: POST JTEPA : ญี่ปุ่นที่ไม่เหมือนใคร? (8) (moonfleet ) วันที่: 17 สิงหาคม 2556 เวลา:17:16:39 น.  

 
POST JTEPA: ญี่ปุ่นที่ไม่เหมือนใคร? (9)

วิถีเศรษฐกิจ : ดร.ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2550

เราได้เห็นภาพลักษณะพิเศษของบริษัทญี่ปุ่นที่มีลักษณะพิเศษแล้ว เพื่อที่จะเข้าใจความสำเร็จ และปัญหาของญี่ปุ่น ที่เป็นพลวัตในทางเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบที่ต่อเนื่องในระยะยาว เราจำเป็นต้องเข้าใจระบบเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ที่ประกอบไปด้วยระบบย่อย เพราะระบบย่อยต่างสัมพันธ์และเสริมซึ่งกันและกัน ก่อให้เกิดความเจริญเติบโตและเสถียรภาพและผลต่อการกระจายรายได้

สองระบบย่อยที่สำคัญในการใช้วิเคราะห์ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมใดๆ คือ หนึ่ง การแบ่งบทบาทของรัฐและเอกชนหรือบทบาทของรัฐในการส่งเสริมและแทรกแซงการทำงานของตลาดหรือการแข่งขัน สอง คือระบบของภาคเอกชนซึ่งกรณีของญี่ปุ่นสามารถแตกแยกย่อยเป็นสามองค์ประกอบหลักที่สำคัญ คือระบบการจ้างงานหรือระบบแรงงานสัมพันธ์ ระบบการเงินและระบบการผลิต

ก่อนที่เราจะวิเคราะห์การทำงานและผลขององค์ประกอบย่อย ลองมาดูว่าความเจริญเติบโตของญี่ปุ่น และข้อมูลทางมหภาคว่ามีอะไรที่พิสดารหรือพิเศษไม่เหมือนใครหรือไม่ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าเราจะเทียบกับใครในช่วงเวลาใด ญี่ปุ่นอาจจะเป็นประเทศแรกหรือก่อนคนอื่นในเอเชีย แต่ไม่ใช่ประเทศเดียวที่ไล่กวดประเทศอุตสาหกรรมในซีกโลกตะวันตก ในรายได้ต่อหัว และการพัฒนาอุตสาหกรรม

ภายใต้ระเบียบเศรษฐกิจโลกหลังสงครามที่มีอเมริกาเป็นผู้นำ อเมริกาต้องใช้ญี่ปุ่นและประเทศบริวารอื่นๆ ในเอเชียเป็นต้นแบบของความสำเร็จของทุนนิยมเสรี เพื่อหยุดยั้งการเติบโตของลัทธิคอมมิวนิสต์ ยิ่งขนาดของความล้าหลังและช่องว่างทางเทคโนโลยีระหว่างญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆ ยิ่งห่างเท่าใด ประเทศที่ต้องไล่กวดก็ยิ่งสามารถโตได้ในอัตราก้าวกระโดด อย่างที่ไม่เคยได้พบเห็นในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของโลกตะวันตก

ญี่ปุ่นสามารถเพิ่มรายได้หนึ่งเท่าตัวภายในสิบปี ในขณะที่อังกฤษและประเทศอื่นๆ ในยุโรปต้องใช้เวลาเกือบครึ่งศตวรรษ ญี่ปุ่นอาจจะมาก่อนเกาหลี ไต้หวันหรือสิงคโปร์ หรือแม้กระทั่งจีน แต่ประเทศที่มาทีหลังญี่ปุ่นเหล่านี้ ล้วนมีเศรษฐกิจที่โตได้อย่างต่อเนื่องในอัตราที่สูงได้เช่นกัน

ช่วงที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นโตในอัตราที่สูงมากเป็นเวลาประมาณยี่สิบปีคือช่วงทศวรรษ 50- 70 นั้น มีรูปแบบบางอย่างที่ประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกสิบถึงสามสิบปีหลังเลียนแบบญี่ปุ่นจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม หนึ่งในรูปแบบนี้ก็คือการมีรัฐที่ไม่ใช่แค่เป็นกรรมการรักษากติกา แต่แทรกแซงกำหนดกติกา มุ่งการพัฒนาอย่างเข้มข้น หรือที่นักวิชาการเรียกว่า Developmental State ทั้งญี่ปุ่นและประเทศเหล่านี้ล้วนมีอัตราการออมและการลงทุนที่สูงมาก คือเพิ่มจากประมาณร้อยละยี่สิบเศษๆ เป็นเกือบร้อยละสี่สิบในช่วงสองทศวรรษ

การที่ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จเป็นเจ้าเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมสำคัญๆ ตีตลาดโลก ทำให้คนทั่วไปมักจะนึกว่าช่วงที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นโตอย่างก้าวกระโดดนั้น การส่งออกต้องเป็นพลังหลัก โดยข้อเท็จจริง ขณะที่ประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกต้องพึ่งการส่งออกในอัตราที่สูงมาก ตั้งแต่ร้อยละ 30 ของจีดีพีขึ้นไปจนเกินกว่า 100% เช่นกรณีของสิงคโปร์ ที่มาของความเจริญเติบโตของญี่ปุ่นในช่วงที่เศรษฐกิจโตเร็วกลับมาจากอุปสงค์รวมภายในประเทศ โดยเฉพาะด้านการลงทุน การส่งออกของญี่ปุ่นต่อจีดีพีต่ำกว่าร้อยละ 10 จนกระทั่งปี ค.ศ. 1973 สูงสุดก็ประมาณร้อยละ 14 เมื่อกลางทศวรรษ 1980

การที่ญี่ปุ่นแพ้สงคราม สต็อกของทุนทางวัตถุถูกทำลายมหาศาลแต่กลับทะยานขึ้นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ โดยใช้เวลาเพียงยี่สิบปีเศษๆ นั้น ทำให้ภาพของความต่อเนื่องหายไปในช่วงเศรษฐกิจก่อนสงคราม เศรษฐกิจและสังคมของญี่ปุ่นตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 19 หรือต้นทศวรรษที่ 20

นักวิชาการญี่ปุ่น เช่น Roskovsey และ Teranishi ได้ชี้ให้เห็นว่าญี่ปุ่นได้เข้าสู่ช่วงความเจริญเติบโตสมัยใหม่แล้วในเวลานั้น เศรษฐกิจช่วงต้นทศวรรษที่ 20 จนถึงช่วงก่อนญี่ปุ่นเตรียมเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ญี่ปุ่นมีอัตราความเจริญเติบโตที่สูงเช่นกัน โดยที่ภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมมีความสำคัญ ภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนถึงร้อยละ 32 ก่อนญี่ปุ่นเข้าสู่สงคราม แต่แรงงานในภาคเกษตรยังสูงถึงเกือบร้อยละ 50 เมื่อญี่ปุ่นเตรียมเข้าสู่สงคราม ญี่ปุ่นมีส่วนแบ่งในจีดีพีของโลกเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.43 ในปี 1870 เป็นร้อยละ 4.38 ในปี 1938 เมื่อเทียบกับร้อยละ 7.34 ในอังกฤษ

ญี่ปุ่นมีลักษณะพิเศษและพิสดารที่ไม่เหมือนใครอยู่อย่างหนึ่งคือ ช่วงที่เศรษฐกิจเจริญเติบโตในอัตราที่สูงมากหลังสงคราม เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีการกระจายรายได้ที่เท่าเทียมกันค่อนข้างมาก ดูได้จากค่าสัมประสิทธิ์ Gini ที่นักเศรษฐศาสตร์ใช้วัดที่มีค่าต่ำมาก และลดลงเมื่อเทียบกับก่อนสงคราม (ประมาณ 0.58 เหลือ 0.38)

ที่น่าสนใจคือ ความเท่าเทียมกันในรายได้ดีขึ้นหลังสงครามเมื่อเทียบกับก่อนสงคราม ก่อนสงครามคนชั้นกลางประกอบไปด้วย พ่อค้า ครู ข้าราชการ เจ้าของที่ดินในชนบทเป็นส่วนใหญ่ Teranishi ให้ข้อมูลว่าผู้ชายญี่ปุ่นที่อายุเกิน 25 แล้วมีสิทธิเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 1898 โดยต้องเสียภาษีให้กับรัฐบาลกลางมากกว่าสิบเยนนั้น มีเพียง 4.3 % ของประชากรที่เป็นชายอายุเกิน 25 หรือประมาณ 4.5 แสนคน จาก 10.5 ล้านคน

ผลของการแพ้สงครามที่ทุนถูกทำลาย รวมทั้งการปฏิรูปที่ดินที่ทำให้เจ้าของที่ดินรายใหญ่ในชนบทหมดไป เปลี่ยนจากผู้เช่ามาเป็นเจ้าของที่ดินรายย่อย รวมทั้งการปฏิรูปเศรษฐกิจอื่นๆ รวมทั้งระบบการจ้างงานในบริษัทหลังสงครามน่าจะมีส่วนที่ทำให้รายได้มีการกระจายเท่าเทียมกันมาก

แม้สังคมญี่ปุ่นจะเป็นสังคมในแนวดิ่ง โดยเฉพาะระหว่างผู้อาวุโสและผู้อ่อนกว่า คนให้ความสำคัญกับการมีตำแหน่งแบ่งชั้นตามลำดับขั้นในองค์กร แต่ความเท่าเทียมกันในรายได้เป็นจุดเด่นของสังคมญี่ปุ่น เพียงแค่ 30 ปี หลังญี่ปุ่นแพ้สงคราม คนญี่ปุ่นเกือบทั้งประเทศมองตัวเองว่าเป็นชนชั้นกลาง ไม่ว่าคุณจะเป็นพนักงานคอปกขาวหรือคอปกสีน้ำเงิน

Source://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q2/2007april25p1.htm


โดย: POST JTEPA: ญี่ปุ่นที่ไม่เหมือนใคร? (9) (moonfleet ) วันที่: 17 สิงหาคม 2556 เวลา:17:17:31 น.  

 
ญี่ปุ่นที่ไม่เหมือนใคร : Post JTEPA (10)

วิถีเศรษฐกิจ : ดร.ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2550

ตารางข้างล่างนี้บอกอะไรที่น่าสนใจมาก ในกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาว กรณีของญี่ปุ่นเมื่อเทียบกับนานาประเทศ ญี่ปุ่นมีอะไรคล้ายๆ คนอื่นก่อนสงคราม หลังสงครามการเปลี่ยนแปลงทางด้านสถาบันในหลายด้าน โดยความต้องการของสหรัฐ น่าจะมีบทบาทสำคัญต่อความเท่าเทียมกันในรายได้ กลุ่มที่มีรายได้สูงสุดมีรายได้สูงกว่ากลุ่มต่ำสุดเพียงแค่ 6 เท่า และมีเสถียรภาพมาก แม้เวลาจะผ่านไปถึงกว่าสี่สิบปี

สัดส่วนระหว่างรายได้สูงสุด 5% ต่อกลุ่มรายได้ต่ำสุด 10%

1820 1870 1890 1929 1950 1960 1970 1980 1992
สหรัฐ 13 18 25 20 13 13 12 12 15
อังกฤษ 40 35 30 16 10 10 7 7 10
กลุ่มสแกนดิเนเวีย 13 17 17 12 9 9 8 8 8
จีน 14 14 14 13 9 8 8 10 12
อินเดีย 12 12 12 12 10 10 10 9 8
ญี่ปุ่น 12 12 12 14 6 6 6 6 6
บราซิล 21 21 21 21 21 21 24 24 24
ที่มา : Bourguignon และคณะ (2002)

สำหรับกรณีของประเทศไทย ข้อมูลที่ผู้เขียนได้จาก TDRI แม้จะไม่สามารถเปรียบเทียบกับตารางข้างต้น ข้อมูลที่มีอยู่ก็พอจะบอกได้ว่า ความไม่เท่าเทียมกันในรายได้ของไทย ดูจะกระเดียดไปทางละตินอเมริกาค่อนข้างมาก เช่น ในปี 2006 กลุ่มคนที่มีรายได้สูงสุด 5% จะมีรายได้สูงกว่าถึง 62 เท่า ของกลุ่ม 5% ต่ำสุด และลดลงมาเหลือ 29 เท่า และ 15 เท่า สำหรับกลุ่มรายได้ 10% และ 20% ตามลำดับ

กรณีของญี่ปุ่นนั้น สมัยที่ผู้เขียนมีโอกาสไปศึกษาเรื่องเศรษฐกิจญี่ปุ่นเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ก่อนไปถึงญี่ปุ่น ผู้เขียนรับรู้มาว่า สังคมญี่ปุ่นเป็นสังคมที่ไม่มีปัญหาเรื่องชนชั้น ทุกคนคิดว่าตัวเองเป็นชนชั้นกลาง แม้จะเป็นคนงานในโรงงาน ภาพที่เห็นแรกๆ อย่างผิวเผินของผู้คน บ้านช่องที่เล็กและคับแคบ วิถีชีวิตของเพื่อนอาจารย์ชาวญี่ปุ่น รู้สึกว่า สถานะทางเศรษฐกิจหรือทางวัตถุของคนญี่ปุ่นที่ได้พบเห็น ถ้าจะเป็นชนชั้นกลางไม่ได้ต่างกันมาก ดูคล้ายกันเป็นส่วนใหญ่ มีสินค้าอุปโภคบริโภคครบครัน นั่งรถไฟไปทำงานและกลับแทนการใช้รถส่วนตัว

ผู้เขียนอดจะรู้สึกไม่ได้ในตอนนั้นว่า มาตรฐานการครองชีพของผู้เขียน ในฐานะข้าราชการธรรมดาๆ ไม่มีทรัพย์สินที่เกินความจำเป็นนั้น ไม่ได้ต่ำกว่าเพื่อนอาจารย์ชาวญี่ปุ่น เมื่อปรับค่าครองชีพและรายได้ของกันและกัน ตัวเลขการกระจายรายได้ที่ดีของญี่ปุ่นกับคุณภาพของชีวิตและความพึงพอใจ จึงอาจไม่ใช่สิ่งเดียวกัน

ความไม่เท่าเทียมกันในรายได้ที่ดูต่ำมาก แถมยังมีเสถียรภาพมาตลอดหลังสงครามของญี่ปุ่น จนถึงช่วงทศวรรษ 1990 นั้น ยิ่งดูแปลกมาก ทั้งๆ ที่ญี่ปุ่นเกิดภาวะฟองสบู่ก่อนหน้า ราคาอสังหาริมทรัพย์และหุ้นสูงขึ้นมโหฬาร การกระจุกตัวและการกระจายในทรัพย์สิน จะไม่มีส่วนที่ทำให้การกระจายรายได้ไม่เท่าเทียมกันมากขึ้นเลยหรือ ในส่วนการถือครองหุ้นนั้น คนญี่ปุ่นโดยเฉลี่ยออมเงินในรูปของหุ้นน้อยกว่าคนอเมริกัน ส่วนใหญ่คล้ายกันคือฝากเงินไว้กับธนาคารที่ได้ดอกเบี้ยต่ำ ส่วนใหญ่บริษัทและสถาบันการเงินถือหุ้นโยงใยกัน และไม่ซื้อขายกันมาก

ที่แปลกอีกอย่างหนึ่งก็คือ โดยทั่วไปแม้โครงสร้างภาษีจะมีลักษณะก้าวหน้า แต่เอาเข้าจริง ผลของภาษีที่มีต่อการลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของญี่ปุ่นมีไม่มาก เพราะมีระบบยกเว้นหักลดหย่อนแก่ลูกจ้าง เจ้าของกิจการขนาดเล็กมากมาย หรือแม้ญี่ปุ่นจะมีภาษีมรดก เอาเข้าจริงภาระภาษีต่ำ ญี่ปุ่นเก็บภาษีเป็นรายได้ต่อจีดีพี ต่ำกว่าอเมริกา และต่ำกว่ากลุ่มประเทศยุโรปมาก แม้รายได้ต่อหัวของคนญี่ปุ่นอยู่ในระดับเดียว หรือสูงกว่าประเทศเหล่านั้นแล้วก็ตาม ผลก็คือญี่ปุ่นใช้จ่ายเพื่อสวัสดิการทางสังคมในระบบสวัสดิการ ต่ำกว่าประเทศในยุโรปมาก

ในภาคชนบท รัฐอุ้มภาคเกษตรทั้งการคุ้มครองและอุดหนุนหลังสงครามมาตลอด แต่ในด้านสวัสดิการสังคมแก่คนงาน โดยเปรียบเทียบรัฐบาลญี่ปุ่นมีบทบาทน้อยกว่าประเทศในยุโรป กลไกที่มาแทนรัฐของญี่ปุ่น ยังมีลักษณะคล้ายสังคมเอเชียที่ยังไม่ร่ำรวย คือครอบครัวผู้สูงอายุในญี่ปุ่น ยังอยู่กับครอบครัวที่เป็นลูกหลาน มากกว่าสังคมตะวันตก ผู้สูงอายุในญี่ปุ่นยังทำงานในสัดส่วนที่สูงกว่าเช่นกัน

เหนืออื่นใด กลไกที่สำคัญที่มาแทนรัฐในเรื่องสวัสดิการก็คือบริษัท นอกจากสวัสดิการ เช่น ภาษีที่บริษัทต้องจ่ายเป็นไปตามกฎหมายแล้ว บริษัทใหญ่ๆ ของญี่ปุ่นให้สวัสดิการแก่พนักงานโดยเฉพาะที่อยู่อาศัย โดยคิดค่าเช่าในราคาที่ต่ำมาก รวมทั้งสวัสดิการอื่นๆ รวมทั้งการศึกษาอบรม ส่วนบริษัทเล็กๆ สวัสดิการจะไม่ดีเท่า นี่คือปัญหา เพราะเราต้องไม่ลืมว่า แม้ระบบการจ้างงานตลอดชีวิตของญี่ปุ่น ก็มีไม่เกินหนึ่งในสามของการจ้างงานในญี่ปุ่นเท่านั้น

ยังไม่พูดถึงชั่วโมงการทำงานของคนญี่ปุ่น โดยเฉพาะในบริษัทใหญ่ๆ ที่มากกว่าใครๆ อยู่ถึงมืดค่ำและวันสุดสัปดาห์ การเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงญี่ปุ่น รวมทั้งการจ้างคนงานที่ไม่ทำงานเต็มเวลา ค่าจ้างต่ำที่มีมากขึ้น ล้วนมีผลต่อคุณภาพชีวิตและการกระจายรายได้

มิติคุณภาพของชีวิต ความเสมอภาคทั้งทางเศรษฐกิจ การแบ่งชั้นทางสังคมของญี่ปุ่น จึงต้องมองให้ลึกลงไปกว่าการมองจากตัวเลขการกระจายรายได้เพียงอย่างเดียว


Source://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q2/2007april25p1.htm


โดย: ญี่ปุ่นที่ไม่เหมือนใคร : Post JTEPA (10) (moonfleet ) วันที่: 17 สิงหาคม 2556 เวลา:17:18:58 น.  

 
POST JTEPA : ญี่ปุ่นที่ไม่เหมือนใคร (11)

วิถีเศรษฐกิจ : ดร. ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

ก่อนที่ญี่ปุ่นจะเผชิญปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจชะงักงัน ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 เป็นต้นมานั้น มีการศึกษาเรื่องความสำเร็จอย่างน่าอัศจรรย์ใจ ของญี่ปุ่นกันมากมายเหลือเกินในทุกมุมโลก โดยเฉพาะในซีกโลกตะวันตกจากหลากหลายสำนักวิชาการ

เป็นที่น่าสังเกตว่าการกระจุกตัวของความสนใจของนักวิชาการ จะอยู่ที่ปรากฏการณ์ที่ญี่ปุ่น สามารถกลายเป็นประเทศมหาอำนาจทางอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจไล่กวดสหรัฐ และประเทศที่มาก่อนหน้าได้ในเวลาอันรวดเร็วหลังจากที่ญี่ปุ่นแพ้สงคราม และเป็นประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโต ในช่วงกว่าสองทศวรรษแรกอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประเทศทุนนิยมซีกโลกตะวันตก แม้ว่าเมื่อเวลาผ่านไป เราได้เรียนรู้ใหม่ว่า สำหรับประเทศในเอเชีย ไม่ใช่ญี่ปุ่นเท่านั้นที่ทำได้

ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจก็คือความแตกต่างของประเทศอื่นๆ ในเอเชียกับญี่ปุ่น ก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ตั้งแต่ปี ค.ศ.1950 เป็นต้นมา เอเชียโดยเฉพาะเอเชียตะวันออก ซึ่งพยายามจะไล่กวด ลดช่องว่างในรายได้กับประเทศตะวันตกนั้น มีอัตราความเจริญเติบโต และการพัฒนาอุตสาหกรรมสูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ ญี่ปุ่นโตเร็วกว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชียในช่วงยี่สิบปีแรกหลังสงคราม แต่หลังจากญี่ปุ่นตักตวงและปิดช่องว่างทางเทคโนโลยีกับโลกตะวันตก ญี่ปุ่นก็โตช้ากว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชีย แต่ทุกประเทศในเอเชียอาจยกเว้นฟิลิปปินส์ ล้วนมีมาตรฐานทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น สัดส่วนของเอเชียใน GDP โลกสูงขึ้น

แต่ภาพของเอเชียก่อนปี ค.ศ. 1950 ย้อนไป 400-500 ปีหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ ในช่วงดังกล่าว เอเชียค่อนข้างชะงักงันอยู่กับที่ ขณะที่ภูมิภาคอื่นก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ จากข้อมูลของ Angus Maddison ในปี ค.ศ. 1500 เอเชียมีส่วนแบ่งใน GDP โลกถึงร้อยละ 65 และลงมาเหลือเพียง 18.5 ในปี ค.ศ. 1950 และเพิ่มขึ้นประมาณเท่าตัวหลังจากนั้น

ญี่ปุ่นเป็นข้อยกเว้นของการจมอยู่กับที่ทางเศรษฐกิจของเอเชีย ช่วงก่อน ค.ศ. 1950 จริงๆ แล้วปรากฏการณ์ของญี่ปุ่นในการไล่กวดทางเศรษฐกิจ และอารยธรรม กับซีกโลกตะวันตก ไม่ใช่เพิ่งเป็นปรากฏการณ์ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ถ้าย้อนไปยาวถึงพันปี ญี่ปุ่นมองจีนด้วยความรู้สึกที่ล้าหลัง ทางด้านอารยธรรม และขีดความสามารถทางเศรษฐกิจก็ด้อยกว่าจีน

จนกระทั่งปลายศตวรรษที่ 18 ญี่ปุ่นจึงซึมซับเลียนแบบดัดแปลงวัฒนธรรม ความรู้และวิทยาการจำนวนมากจากจีน ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม ศาสนา วรรณกรรม และสถาบันอื่นๆ ตั้งแต่ศตวรรษที่ 7 การซึมซับความรู้และวิทยาการจากโลกตะวันตก ผ่านภาษาและชาว Dutch เกิดขึ้นภายหลัง

ความสำเร็จทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในการไล่กวดโลกทุนนิยมตะวันตก ได้บดบังข้อเท็จจริงที่สำคัญของญี่ปุ่นและเอเชียก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สำคัญก็คือ ญี่ปุ่นหลังการรื้อฟื้นสถาปนาขึ้นมาใหม่ของจักรพรรดิเมจิ ตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกและประเทศเดียวที่ประสบความสำเร็จ สามารถไล่กวดความเจริญทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ลดช่องว่างที่มีอยู่ระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐและยุโรป เมื่อญี่ปุ่นเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2

ข้อมูลจาก Angus Maddison ตารางข้างล่างนี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ความสำเร็จของญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นนี้ ญี่ปุ่นบินเดี่ยว คือ ญี่ปุ่นสำเร็จ คือมีสัดส่วนต่อ GDP โลกสูงขึ้น ขณะที่ประเทศอื่นๆ ในเอเชียล้วนย่ำอยู่กับที่หรือเลวลง ในช่วง ค.ศ.1870-1938 เห็นได้จากการที่สัดส่วนของเอเชียต่อ GDP โลก เอเชียเริ่มผงาดใหม่ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970

ตารางที่ 1 สัดส่วน GDP ของญี่ปุ่นและประเทศในเอเชียใน GDP โลก
ปี ค.ศ. เอเชีย
อังกฤษ สหรัฐ เอเชียรวม จีน ญี่ปุ่น อื่นๆ
1870 9.13 9.39 38.74 17.87 2.43 18.44
1900 9.55 16.92 29.76 14.09 2.71 12.96
1913 8.40 20.28 25.75 11.78 2.70 11.27
1938 7.34 20.69 24.79 10.33 4.38 10.08
1960 5.68 25.61 19.82 7.42 4.62 7.78
1970 4.62 23.67 22.13 6.94 7.66 7.53
1980 3.97 22.97 25.03 7.92 8.45 8.66
1990 3.66 21.38 31.96 11.98 8.97 11.02



ตารางที่ 2 อัตราความเจริญเติบโตของ GDP
ประเทศ 1860-1963 1913-1938
ญี่ปุ่น 4.1 4.5
สหรัฐ 4.3 2.0
อังกฤษ 2.4 1.0
เยอรมนี 3.0 1.3
สวีเดน 2.0 1.9

ทำไมก่อนสงคราม ประเทศอื่นๆ ในเอเชียโดยเฉพาะจีนจึงล้มเหลว และญี่ปุ่นเท่านั้นที่สำเร็จ ทำไมสหรัฐและยุโรป เจริญก่อนจีนหรือเอเชีย เรื่องนี้นักประวัติศาสตร์มีคำตอบที่ไม่เหมือนกัน


Source://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q2/2007april25p1.htm


โดย: POST JTEPA : ญี่ปุ่นที่ไม่เหมือนใคร (11) (moonfleet ) วันที่: 17 สิงหาคม 2556 เวลา:17:20:58 น.  

 
POST JTEPA : ญี่ปุ่นที่ไม่เหมือนใคร (12)

วิถีเศรษฐกิจ : ดร.ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 05 ธันวาคม พ.ศ. 2550

ขณะที่ญี่ปุ่นและเอเชียเติบโตไปด้วยกันหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และศตวรรษที่ 21 กำลังจะเป็นศตวรรษแห่งเอเชีย ญี่ปุ่นกลับเป็นประเทศเดียวก็ว่าได้ในเอเชีย ที่สามารถเข้าสู่การเป็นเศรษฐกิจสมัยใหม่ (Modern Economic Growth) ตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 19 การเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจสมัยใหม่ หมายถึง การมีอัตราความเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และยั่งยืนโดยเฉพาะในรายได้ต่อหัว ประเทศมีการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างการผลิต ที่ภาคอุตสาหกรรมเข้ามามีบทบาทแทนภาคการเกษตร ทั้งทางด้านการผลิต และกำลังแรงงาน และที่สำคัญคือ การมีขีดความสามารถทางสังคม และสถาบัน ที่สามารถนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีมาใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ตารางข้างล่างยืนยันค่อนข้างชัดเจนว่า ความสำเร็จของญี่ปุ่น ก่อนสงครามนั้นเด่นหรือประสบความสำเร็จกว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชีย

รายได้ต่อหัวของประเทศในเอเชีย มูลค่าดอลลาร์ ปี 1990
ค.ศ.1500 ค.ศ.1700 ค.ศ.1820 ค.ศ.1950 ค.ศ.2003
จีน 600 600 600 439 4392
ญี่ปุ่น 500 570 669 1921 21218
อินเดีย 550 550 533 619 2160
เกาหลีใต้ 600 600 600 770 15732





อัตราความเจริญของรายได้ต่อหัวของ 11 ประเทศในเอเชีย


ค.ศ.1870-1913 ค.ศ.1913-1950
จีน 0.6 -0.3
อินเดีย 0.4 -0.3
ญี่ปุ่น 1.4 0.9
อินโดนีเซีย 0.8 -0.1
ฟิลิปปินส์ - -0.1
เกาหลีใต้ - -0.2
ไต้หวัน - 0.4
ไทย 0.4 0.0
เฉลี่ย 11 ประเทศ 0.7 -0.2

ความสำเร็จของญี่ปุ่นในการก้าวขึ้นเป็นประเทศมหาอำนาจทางอุตสาหกรรมในเวลาอันสั้นๆ เพียงแค่ 2 ทศวรรษหลังสงคราม และการมีอัตราความเจริญเติบโตในอัตราที่เคยเรียกกันว่า ความมหัศจรรย์ของญี่ปุ่น ทำให้เราไม่เห็นภาพของการก่อตัว และขีดความสามารถของสังคมและคนญี่ปุ่น รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่มาก่อนหน้า 50-100 ปี ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญต่อความสำเร็จของญี่ปุ่นในเวลาต่อมา ถ้าเราได้เห็นภาพระยะยาวและภาพใหญ่ก็จะพบว่า ประเทศและคนญี่ปุ่นมีอะไรที่น่าสนใจ ที่ทั้งเหมือนและไม่เหมือนใครๆ ในการเข้าเป็นสังคมเศรษฐกิจสมัยใหม่

จริงๆ แล้ว เมื่อเราได้เห็นเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกในช่วง 20-30 ปีที่โตเอาๆ และเข้าสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรม มีบทบาทสำคัญในการผลิตและการค้าของโลก อัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจระดับ 2 หลัก 20 ปีแรกๆ หลังสงครามดูจะไม่ใช่เรื่องอัศจรรย์อีกต่อไป สามารถอธิบายได้ตามทฤษฎีความเจริญเติบโต ในเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ประเทศดาวรุ่งเหล่านี้กับญี่ปุ่น จึงมีหลายๆ อย่างที่คล้ายกันที่เป็นเงื่อนไขสำคัญ ในการก้าวไปเป็นประเทศอุตสาหกรรมและโตได้อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากตารางข้างล่างชี้ให้เห็นว่า การเติบโตในอัตราที่สูงนั้น ไม่ใช่ปรากฏการณ์หลังที่ญี่ปุ่นแพ้สงครามเท่านั้น ตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 20 เศรษฐกิจของญี่ปุ่นต่างกับประเทศในเอเชียอื่นๆ คือ มีอัตราความเจริญเติบโตที่ค่อนข้างสูง แม้จะโตในอัตราที่ต่ำกว่า แต่ก็ไม่ได้ต่างกันมากมาย และมีการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ไปสู่ความเป็นสังคมสมัยใหม่ที่ชัดเจน

เปรียบเทียบอัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นก่อนและหลังสงคราม

ค่าเฉลี่ย ช่วงต่าง

ค.ศ.1905-1912 6.7 16.5 และ -3

ค.ศ.1912-1919 7.0 18.8 และ -0.9

ค.ศ.1931-1938 7.5 11.0 และ -2.5

ค.ศ.1953-1960 9.3 17.9 และ 3.3

เมื่อเทียบกับอินเดียหรือจีนหรือประเทศอื่นๆ ในเอเชียและโดยสภาพทางภูมิศาสตร์ ญี่ปุ่นไม่น่าจะเป็นประเทศที่ยุโรป ซึ่งเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในทศวรรษที่ 19 จะให้ความสนใจ ในช่วงหนึ่งศตวรรษญี่ปุ่นเข้าสู่การมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศค่อนข้างช้า คือกลางทศวรรษที่ 19 โดยเพราะการปิดประเทศกว่าเกือบ 300 ปี และดูเหมือนจะล้าหลังมาก ขณะที่อังกฤษมีการปฏิวัติทางอุตสาหกรรม และโลกเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่สำคัญ

สาเหตุของความสำเร็จในการเป็นประเทศอุตสาหกรรมสำหรับญี่ปุ่นและเป็นประเทศแรกในเอเชีย จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายนักวิชาการเสมอมา


Source://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q2/2007april25p1.htm


โดย: POST JTEPA : ญี่ปุ่นที่ไม่เหมือนใคร (12) (moonfleet ) วันที่: 17 สิงหาคม 2556 เวลา:17:23:24 น.  

 
POST JTEPA : ญี่ปุ่นที่ไม่เหมือนใคร (13)

วิถีเศรษฐกิจ : ดร.ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2550

พอถึงกลางศตวรรษที่ 19 ข้อเท็จจริงที่ว่ายุโรปและอเมริกาล้ำหน้าเอเชียไปค่อนข้างมากทางด้านความเจริญทางเศรษฐกิจ ความรู้วิทยาการ และเทคโนโลยี ไม่ว่าจะทางอุตสาหกรรมหรือทางทหาร ดูจะไม่เป็นที่แคลงใจของนักวิชาการ แต่ถ้าย้อนหลังไปไกลหน่อย รวมทั้งความพยายามที่จะอธิบายว่าทำไมช่องว่างระหว่างเอเชีย โดยเฉพาะจีนและอินเดีย กับยุโรปหรือโลกตะวันตก จึงเริ่มห่างกันมาก และห่างกันตั้งแต่เมื่อใด อะไรคือสาเหตุ ประเด็นนี้ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันในทางวิชาการค่อนข้างมาก

แนวคิดที่ยึดยุโรปหรือตะวันตกเป็นศูนย์กลาง (Euro Centrism) แนวคิดนี้ยอมรับว่า ช่วงก่อนและช่วงคริสตกาล ราวศตวรรษที่ 15-16 ยุโรปยังล้าหลังแทบทุกๆ ด้านกว่าอารยธรรมเก่าแก่ของอิสลาม อินเดีย จีน เป็นต้น ความล้าหลังนี้ รวมทั้งความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่ยุโรปตั้งแต่ยุคฟื้นฟู หรือ Renaissance หลังยุคกลาง และการเดินทางสำรวจแผ่นดินใหม่ ตามมาด้วยการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษ การประกาศอิสรภาพของอเมริกา บอกถึงการเปลี่ยนแปลงในจุดศูนย์กลางความเจริญของโลกจากเอเชียมาที่ยุโรป และจากยุโรปแพร่กระจายไปส่วนอื่นๆ ของโลก โดยกระบวนการจักรวรรดินิยม หรือการล่าอาณานิคม

แต่ก็ยังมีแนวคิดที่เป็น Anti Eurocentrism หรือ Asia Centrism ซึ่งไม่ได้เห็นด้วยกับแนวคิดข้างต้น โดยมีจุดยืนและความเชื่อที่ว่า ตะวันออกนั้นก้าวหน้ากว่าโลกตะวันตก โดยเฉพาะในช่วง ค.ศ. 500-1800 ตะวันออกเป็นผู้นำ ริเริ่มการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยตนเอง มีส่วนสำคัญในการสร้างระบบเศรษฐกิจของโลก เช่น ทางด้านการค้า มีบทบาทที่สำคัญต่อความรุ่งเรืองของอารยธรรมตะวันตกสมัยใหม่ ในด้านความคิด เทคโนโลยี และการเกิดสถาบันต่างๆ รวมทั้งไม่เห็นด้วยกับการที่มองตะวันออกในลักษณะที่เป็นดินแดนชายขอบ

ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของเอเชียบอกเราว่า ภูมิภาคนี้ค่อนข้างเปิดเต็มที่กับระบบเศรษฐกิจโลกมานานนม ก่อนการเกิดเศรษฐกิจสมัยใหม่ กรณีของจีนกับญี่ปุ่นนั้น แม้ในศตวรรษที่ 15 และ 17 จะแสดงออกของการเป็นประเทศที่ปิดตัวเองกับประเทศภายนอก แต่ในข้อเท็จจริงก็พบว่า ในหลายๆเรื่องไม่ได้เป็นการปิดตายอย่างถาวร หรือปิดทุกประตู เมื่อเวลาผ่านไปในระยะยาว เอเชียเป็นกลไกที่สำคัญในการแบ่งแยกแรงงานในระบบเศรษฐกิจโลก

เอเชียมีระบบเศรษฐกิจของตัวเอง ซึ่งมีผลต่อความเจริญของยุโรป เอเชียจึงไม่ควรถูกมอง หรือวิเคราะห์ว่าเป็นส่วนที่ถูกค้นพบ และเปิดประเทศโดยชาวยุโรป ในช่วงศตวรรษที่ 13 และ 14 มีพัฒนาการของเศรษฐกิจที่เป็นการค้าระหว่างประเทศ นักประวัติศาสตร์ เช่น Braudel มองเศรษฐกิจตะวันออกไกลในช่วงระหว่างศตวรรษที่ 15 และ 18 ว่า เป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งจริงๆ แล้ว ประกอบไปด้วย 3 เศรษฐกิจที่เป็นยักษ์ใหญ่ของโลกในขณะนั้น อันประกอบไปด้วย

1.อิสลาม ผ่านมหาสมุทรอินเดีย จากทะเลแดง และอ่าวเปอร์เซีย ผ่านทะเลทรายมาทางเอเชีย จากอาหรับสู่จีน 2. อินเดีย ซึ่งมีอิทธิพลแผ่ขยายไปทั่วมหาสมุทรอินเดีย และ 3. จีน ซึ่งเป็นมหาอำนาจทางทะเลและภาคพื้นดิน

นักวิชาการ เช่น Andre Gunder Frank เชื่อว่า ตั้งแต่ปี ค.ศ.1500 เป็นต้นมา เศรษฐกิจโลกมีลักษณะที่เป็นหนึ่งเดียว มีการค้าขายในระดับพหุภาคี มีการแบ่งแยกแรงงานระดับโลก ประเด็นสำคัญของ Frank ก็คือว่า โลกในขณะนั้น เอเชียมีบทบาทที่เด่นกว่าผู้อื่นในระบบเศรษฐกิจของโลก ไม่ว่าจะเป็นทางด้านประชากร การผลิต ความสามารถในการแข่งขัน ผลิตภาพการค้า รวมทั้งการสะสมทุน อย่างน้อยจนถึงช่วงระหว่าง ค.ศ.1750-1800

ประชากรของเอเชียมีมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลกมา 2,000 ปีแล้ว และเมื่อถึงปลายศตวรรษที่ 19 ก็อยู่ระหว่าง 60-70% โดยที่จีนและอินเดียครองสัดส่วนประมาณ 70-85% แม้จะมีปัญหาเรื่องการมีและความน่าเชื่อถือของข้อมูลทางด้านรายได้ และผลผลิต ในช่วงปี ค.ศ.1400-1800 Frank มีความเชื่อว่า การที่เอเชียมีประชากรที่มีอัตราการเติบโตที่เป็นไปได้ เพราะการผลิตต้องโตเร็วกว่า เพื่อสนับสนุนประชากรเท่านั้น และเขาเชื่อว่าอย่างน้อยจนถึงปี ค.ศ.1800 เทคโนโลยีและสถาบันทางเศรษฐกิจของเอเชียต้องมีความสามารถทั้งทางด้านการแข่งขัน และการผลิตในเศรษฐกิจโลก มากกว่าประเทศทางยุโรปตะวันตกรวมกัน

นักประวัติศาสตร์ Eric Jones และคณะ พรรณนาความเป็นเมืองของประเทศใน Pacific Rim ว่า เอเชียมีเมืองใหญ่มาเป็นเวลาพันๆ ปี Marco Polo พ่อค้าชาวเวนิช เคยพูดถึงเมืองหนึ่งของจีนชื่อ Kinsai (Hangzhou) เมื่อเขามาถึงในศตวรรษที่ 13 ว่า "เป็นเมืองที่สวยและวิเศษมากที่สุดในโลกโดยไม่ต้องสงสัย" เชื่อว่าเมืองนี้มีประชากรสูงถึง 2.5 ล้านคนในศตวรรษที่ 13 ในขณะที่เมืองที่ใหญ่ที่สุดของยุโรป คือ ปารีส ในปี ค.ศ.1250 มีประชากรเพียง 1.6 แสนคน เมืองหลวงของเกาหลีสมัยโบราณคือ เมือง Kyongju มีประชากรประมาณ 1 ล้านคน ในศตวรรษที่ 8

ในช่วงศตวรรษที่ 17 และ 18 เมืองใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น คือ Edo (ปัจจุบันคือเมืองโตเกียว) มีประชากรกว่า 1 ล้านคน ขนาดและความสำคัญในการเป็นศูนย์ทางด้านเศรษฐกิจการค้า การปกครองและวัฒนธรรมของ 3 เมืองใหญ่ๆ ในญี่ปุ่น อันได้แก่ โตเกียว โอซากา และเกียวโต ในสมัยก่อนที่ญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ คือสมัยระบบศักดินาของโชกุนตระกูล Tokugawa ในช่วงกว่า 200 ปีที่ญี่ปุ่นปิดประเทศ บอกถึงระดับความเจริญของคนในการจัดการบริหารเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งไม่สามารถบอกได้จากการดูเพียงรายได้ต่อหัว หรือการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เทคโนโลยีสูงๆ

ในปี ค.ศ.1500 เมืองที่ใหญ่ที่สุดของโลก 20 เมือง เกือบทั้งหมดอยู่ในเอเชียตะวันออกกลางและแอฟริกา และ 8 เมืองที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย มี 6 เมืองอยู่ในจีน อย่างไรก็ตาม 3-4 ศตวรรษต่อมา เช่น เมื่อ ค.ศ.1850 65% ของ 20 เมืองใหญ่ของโลก ย้ายศูนย์มาที่ยุโรป และข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก

นั่นเป็นภาพของเมืองและประชากร แต่ทางผลผลิตและรายได้ต่อหัว ทำไมช่องว่างระหว่างเอเชียและยุโรป จึงกว้างขึ้นในเวลาต่อมา ทั้งๆ ที่เมื่อ 500 ปีก่อน 60% ของ GDP โลกอยู่ที่เอเชีย เราจะวิเคราะห์ประเด็นนี้ และบริบทของญี่ปุ่นในคราวต่อไป


Source://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q2/2007april25p1.htm


โดย: POST JTEPA : ญี่ปุ่นที่ไม่เหมือนใคร (13) (moonfleet ) วันที่: 17 สิงหาคม 2556 เวลา:17:24:13 น.  

 
POST JTEPA: ญี่ปุ่นที่ไม่เหมือนใคร (14)

วิถีเศรษฐกิจ : ดร.ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 02 มกราคม พ.ศ. 2551

ที่ผ่านมาเวลาเราพูดถึงการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในระยะยาวของญี่ปุ่นและเอเชีย เรามักจะเปรียบเทียบโดยเอาตะวันตก หรืออีกนัยหนึ่งคือยุโรปและต่อมาสหรัฐอเมริกาเป็นศูนย์กลางในอดีต และเนื่องจากเอเชียเคยเจริญมาก่อนยุโรปในอดีตกาล การมองยุโรปกับเอเชียในเชิงเปรียบเทียบทางประวัติศาสตร์ของการพัฒนา จึงได้รับความสนใจจากนักวิชาการในทุกมุมโลกมาตลอด โดยเฉพาะกรณีของญี่ปุ่นที่เป็นประเทศเดียวในเอเชียที่สามารถเข้าสู่เศรษฐกิจอุตสาหกรรมสมัยใหม่ได้เท่าเทียมกับ กลุ่มประเทศยุโรป และสหรัฐในต้นทศวรรษที่ 20

ตารางข้อมูลจาก Angus Maddison ข้างล่างนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยให้เรามองเห็นความแตกต่าง ในการเปลี่ยนแปลงของอำนาจทางเศรษฐกิจในระดับโลกได้เป็นอย่างดี

ตาราง รายได้ต่อหัวของกลุ่มประเทศในโลก (US dollars ในราคาปี 1990)

ประเทศ ค.ศ.1500 1700 1820 1870 1913 1950 1998

อังกฤษ 714 1,250 1,707 3,191 4,921 6,907 18,714

เยอรมนี 676 894 1,058 1,821 3,648 3,881 17,799

12 ประเทศในยุโรป 796 1,056 1,270 2,086 3,688 5,013 1,872

สหรัฐ 400 527 1,257 2,445 5,301 9,561 27,331

ญี่ปุ่น 500 570 669 737 1,387 1,926 20,413

จีน 600 600 600 530 552 439 3,117

อินเดีย 550 550 533 533 673 619 1,746

ประเทศเอเชียอื่นๆ 572 571 575 543 640 635 2,936

โดยสมมติฐานที่ว่ามนุษย์ไม่ว่าจะต่างกันด้วยศาสนา ความเชื่อ หรือวัฒนธรรมแบบไหน มนุษย์ล้วนอยากมีชีวิตทางเศรษฐกิจที่ดี ข้อสงสัยและปริศนาที่ดึงดูดความสนใจของนักวิชาการมาตลอดก็คือ จะหาคำอธิบายอะไร อย่างไรและดีที่สุดมาใช้กับปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในระยะยาวของประเทศ ภูมิภาค หรือระดับโลก

ทำไมในปัจจุบันความแตกต่างในรายได้หรือฐานะทางเศรษฐกิจระหว่างกลุ่มประเทศร่ำรวยกับกลุ่มประเทศยากจน มันยิ่งห่างกันมากขึ้น ทั้งๆ ที่หลายร้อยปีที่ผ่านมา กระบวนการโลกานุวัตน์อันเป็นพาหะที่สำคัญที่ทำให้สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ เงินทุน ความคิดความรู้ เทคโนโลยีวิชาการ คนและแรงงานสามารถเคลื่อนย้ายกันไปมาระหว่างประเทศได้ง่ายขึ้น ทำไมเมื่อโลกเข้าสู่ศตวรรษที่ 19 ประเทศที่เหลือในโลกเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะเอเชีย จึงตามไม่ทัน ตกเป็นเบี้ยล่าง ถูกครอบงำโดยมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่มีศูนย์กลางอยู่เพียงแค่ยุโรปและสหรัฐ ทั้งๆ ที่ย้อนไปให้ไกล โดยเฉพาะก่อนปี ค.ศ.1500ยุโรปต่างหากที่ล้าหลังกว่าเอเชีย และต้องตามไล่กวดให้ทันจีน

ข้อมูลจากตารางชี้ให้เห็นว่า จนก็จนคล้ายๆ กัน โลกทั้งโลกในศตวรรษที่ 18 เป็นสังคมเกษตร มีลักษณะไม่แตกต่างกันทางเศรษฐกิจ การที่รายได้ต่อหัวไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญก่อนศตวรรษที่ 19 หมายความว่า ผลผลิตกับประชากรโตในอัตราที่ใกล้เคียงกัน บทบาทของเทคโนโลยียังมีน้อย เป็นการเติบโตที่เรียกว่า Extensive growth แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การที่รายได้ต่อหัวไม่ได้เพิ่มขึ้น ก็ไม่ได้หมายความว่า ประเทศหรือโลกไม่มีการเปลี่ยนแปลง โลกมีความเปลี่ยนแปลง และความก้าวหน้าอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป มีลักษณะเป็นวิวัฒนาการมากน้อยแล้วแต่ประเทศและภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ทั่วๆ ไป การเพิ่มขึ้นของการผลิตและผลิตภาพในภาคการเกษตร บทบาทของรัฐในการมีกติกาที่สำคัญ

แม้โลกจะมีการค้าขายกันในระดับภูมิภาค และระดับโลกหลายร้อยหลายพันปีก่อนหน้า แต่เมื่อพูดถึงโลกานุวัตน์ นักวิชาการตะวันตกมักจะถือว่าคลื่นโลกานุวัตน์ในอดีตมี 2 คลื่นใหญ่ คือ คลื่นแรกเป็นช่วงระหว่างปี ค.ศ.1870-1914 และคลื่นที่สอง เช่น ตั้งแต่ปี ค.ศ.1960 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน คลื่นแรกนั้นเป็นผลพวงมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรกในอังกฤษในปลายศตวรรษที่ 18 ถ้ามองเป็นกระบวนการก็เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป หรือเป็นวิวัฒนาการ แต่ผลลัพธ์มีลักษณะเหมือนการปฏิวัติ

จุดเปลี่ยนที่สำคัญเมื่อเทียบกับอดีตก็คือ การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีการผลิต ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างที่สำคัญ ของอุตสาหกรรมการผลิตของอังกฤษมีผลต่อ Productivity ของแรงงานและทั่วๆไป ในช่วงแรกเป็นผลจากเทคโนโลยีของเครื่องจักรไอน้ำ การประดิษฐ์คิดค้น การผลิตสิ่งทอที่สำคัญ ความก้าวหน้าในการผลิตเหล็ก รวมทั้งอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล หรือ Machine tool

เทคโนโลยีการขนส่งที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนโลกานุวัตน์ คลื่นแรกซึ่งเกิดขึ้นราวปี ค.ศ.1820 ที่สำคัญที่สุดคือ การขยายตัวอย่างรวดเร็วของเครือข่ายรถไฟในช่วงปี ค.ศ.1820-1850 เรือที่ขับเคลื่อนด้วยพลังไอน้ำในเส้นทางภายในประเทศ และในมหาสมุทรในช่วงปี ค.ศ.1840-1870 ทั้งรถไฟและเรือพลังไอน้ำ มีส่วนสำคัญในการปฏิวัติการขนส่งและการเดินทางทั้งทางบกและทางทะเลอย่างมหาศาล เปิดพื้นที่และตลาดทางเศรษฐกิจอย่างไม่เคยมีมาก่อน ลดต้นทุนและเวลา

เศรษฐกิจอังกฤษเปลี่ยนโฉมไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือในช่วงปี ค.ศ.1830-1860 ผลผลิตต่อชั่วโมงของแรงงานเพิ่มขึ้น 270% ในอุตสาหกรรมปั่นฝ้ายและ 700% ในการทอฝ้าย อังกฤษเปลี่ยนจากสังคมเกษตรกรรม สองในสามของประชากรเป็นคนเมือง คนงานในอุตสาหกรรมเพิ่มจากร้อยละ 19 ในปี ค.ศ.1700 เป็น 30% ในปี ค.ศ.1800 เพิ่มขึ้นเป็น 47%ในปี ค.ศ.1840 และสูงสุดคือ 49% ในปี 1870 อังกฤษกลายเป็นผู้ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมและเป็นประเทศนำเข้าอาหารรายใหญ่ (ยังมีต่อ)


Source://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q2/2007april25p1.htm


โดย: POST JTEPA: ญี่ปุ่นที่ไม่เหมือนใคร (14) (moonfleet ) วันที่: 17 สิงหาคม 2556 เวลา:17:25:14 น.  

 
POST JTEPA : ญี่ปุ่นที่ไม่เหมือนใคร (15)

วิถีเศรษฐกิจ : ดร.ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2551

การที่เอเชียและประเทศในโลกที่สามเริ่มห่างชั้นกันมากกับยุโรป โดยเฉพาะตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 19 ทั้งๆ ที่ก่อนหน้าหลายร้อยปีไม่ได้มีอะไรที่ต่างกันแบบฟ้ากับดินนั้น น่าสนใจและเราต้องพยายามตอบโจทย์นี้ให้แตก โดยมองให้รอบด้าน Pomeranz เรียกการห่างชั้นที่ยิ่งใหญ่ระหว่างเอเชียกับยุโรปในหนังสือของเขาว่า the great divergence ข้อมูลประวัติศาสตร์หลายร้อยหลายพันปีไม่ใช่ข้อมูลที่หาง่าย ข้อมูลประวัติศาสตร์มาจากหลายแหล่งมักจะต่างกัน เราได้เห็นข้อมูลจาก Angus Maddison ที่มีการใช้อ้างอิงมากที่สุด ข้อมูลช่วง ค.ศ.1750-1950

ที่มีช่วงสั้นกว่าของ Maddison อีกแหล่งหนึ่งมาจาก Bairoch ซึ่งอ้างไว้ในงานของ Sakakibara แม้จะบอกถึงความแตกต่างในการห่างชั้นกันอยู่บ้าง แต่ไม่ได้ต่างกันในแง่ทิศทาง กรณีของ Bairoch ประเทศในกลุ่มโลกที่สามซึ่งรวมเอเชีย มีรายได้ต่อหัวใกล้เคียงกับยุโรปและอังกฤษเมื่อมีการปฏิวัติอุตสาหกรรม แต่ทุกๆ 30-50 ปีหลังจากนั้น การห่างชั้นมีมากขึ้นเรื่อยๆ จากหนึ่งเท่าตัวเป็นห้าเท่าตัวใน ค.ศ.1950

เอเชียต่างกับยุโรปมากในด้านความแตกต่างในทุกๆ ด้าน แต่ในการวิเคราะห์ยุโรป เราสามารถวิเคราะห์ยุโรปเป็นหน่วยเดียวมองเป็นภูมิภาคก็ได้ เพราะความคล้ายกันและผลกระทบที่มีต่อกันของประเทศในยุโรป เมื่อประเทศหนึ่งมีการเปลี่ยนแปลง หรือเมื่อมีอะไรเปลี่ยนแปลง นักประวัติศาสตร์เช่น Eric Jones จึงไม่ให้ความสำคัญกับเหตุการณ์หรือปรากฏการณ์ เช่น การปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษเป็นเรื่องใหญ่โต แต่วิเคราะห์ยุโรปก่อนปี ค.ศ.1500

แต่ผู้เขียนพูดถึงการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษเมื่อครั้งก่อน ก็เพราะผู้เขียนคิดว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษ ถ้าดูจากข้อมูลและข้อเท็จจริง เป็นการเปลี่ยนแปลงในหลายมิติที่เด่นชัดมาก แม้ว่าปรากฏการณ์นี้ จะมองเป็นปรากฏการณ์ของยุโรป คือมองเป็นภูมิภาคได้ก็ตาม แต่การเปลี่ยนแปลงของอังกฤษนั้นเกิดก่อนผู้อื่น จะว่าเป็นผู้นำก็ได้ เมื่ออังกฤษเปลี่ยนโฉมหน้าใหม่ ยุโรปก็เปลี่ยน จากยุโรปก็ส่งผลต่อโลก และเปลี่ยนโลก

เราเรียนประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ และเคยชินกับปรากฏการณ์ที่เรียกว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษมานานนม จะให้เลิกใช้คำนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การที่คำนี้ยังใช้กันอยู่ก็คงมีนัยว่า นักวิชาการจำนวนหนึ่งแม้ไม่ทั้งหมดเห็นว่าเหมาะสม และมีประโยชน์ ช่วงของการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษ นักประวัติศาสตร์ที่ยังใช้คำนี้ ให้ช่วงของปฏิวัติอุตสาหกรรมอยู่ในช่วงที่ยาวพอสมควร คือ ค.ศ.1760-1830 หรือประมาณ 70 ปี

นักประวัติศาสตร์ที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้คำนี้ และเห็นว่าควรกำจัดออกไปจากสารานุกรมหรือในการศึกษา เพราะเขาเหล่านั้นเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงของอังกฤษในช่วงดังกล่าว หรือในช่วงแรกๆ ของปลายทศวรรษที่ 18 ไม่มีอะไรเกิดขึ้นที่สมควรจะเรียกว่าเป็นการปฏิวัติ หรือ Revolution

นักประวัติศาสตร์กลุ่มนี้เห็นว่าคำว่าปฏิวัติสื่อความหมายว่า การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมในอังกฤษ เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลัน รวดเร็ว ส่งผลแบบพลิกแผ่นดินทันที เหมือนการปฏิวัติทางการเมืองหรือสังคม เช่น เมื่อเรานึกถึงการปฏิวัติในฝรั่งเศส เราเห็นฝูงชนบุกทำลายคุกบาสติล หรือการปฏิวัติเพื่อเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษของอเมริกา

ในประเด็นนี้เราต้องยอมรับว่า การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ มักไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงที่ฉับพลัน มักมองไม่เห็นได้ง่ายๆ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีนักประวัติศาสตร์กลุ่มหนึ่งมายืนยันว่า สังคมอุตสาหกรรมในอังกฤษไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง แบบหน้ามือเป็นหลังมือ แม้ว่าภาคอุตสาหกรรมจะเริ่มมีความสำคัญมากขึ้น มีคนทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้นก็ตาม หรือมีการเปลี่ยนแปลงในเทคโนโลยีการผลิต เพราะเอาเข้าจริงการพัฒนาอุตสาหกรรมในช่วงเริ่มต้นและช่วงเปลี่ยนผ่าน สิ่งที่เกิดขึ้นในอังกฤษในช่วง 30-50 ปีแรกที่ภาคเกษตรมีความสำคัญลดลง และอุตสาหกรรมมีความสำคัญมากขึ้น ในสัดส่วนของการผลิตและการใช้แรงงานก็ตาม

แต่การเปลี่ยนแปลงในอังกฤษก็คงเหมือนกับสิ่งที่นักวิชาการได้พบได้เห็นในประเทศอื่นๆ ในช่วงกลางหรือไม่เกินปลายทศวรรษที่ 19 เช่น ในสหรัฐอเมริกา ในยุโรป หรือในญี่ปุ่น ช่วงปฏิรูปเมจิ ตั้งแต่ปี ค.ศ.1868-1910 หรือประเทศในเอเชียอื่นๆ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือในกรณีของไทยในช่วงก่อนทศวรรษ 1980 สิ่งที่คล้ายกันก็คือ การเกษตร แม้จะมีความสำคัญลดลง การผลิตในภาคดั้งเดิมในสาขาอุตสาหกรรม ในอุตสาหกรรมครัวเรือน ในอุตสาหกรรมขนาดเล็กล้วนยังมีความสำคัญ และอยู่เคียงคู่ไปกับระบบการผลิตสมัยใหม่ในภาคอุตสาหกรรมที่มีขนาดกลางและขนาดใหญ่ ใช้เทคโนโลยีทันสมัย พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ประเทศเหมือนมีเศรษฐกิจอุตสาหกรรม 2 ระบบ หรือเป็นทวิลักษณ์ อังกฤษในช่วง 70 ปีแรกก็มีลักษณะเช่นนี้

อีกสาเหตุหนึ่งที่นักประวัติศาสตร์ไม่เห็นด้วยกับการเรียกว่า เป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมของอังกฤษ ก็เพราะว่าถ้าดูอัตราการเปลี่ยนแปลงของการเจริญเติบโตของผลผลิตอุตสาหกรรมและจีดีพีแล้ว แม้มันจะมีอัตราการเจริญเติบโตที่สูงกว่าช่วง ค.ศ.1760 ก็ตาม แต่ผลผลิตอุตสาหกรรมที่คำนวณโดยนักวิชาการหลายคน แสดงให้เห็นว่า ผลผลิตอุตสาหกรรมเริ่มเพิ่มมากขึ้นหลังปี ค.ศ.1800 ไปแล้ว หรือมี Lag ความล่าช้าอยู่นานพอสมควร

ผลผลิตอุตสาหกรรมในช่วง 40 ปีแรก โตอยู่ในช่วง 1.24-2.60% ต่อปีเท่านั้น แต่เพิ่มมากขึ้นเล็กน้อยในช่วงต่อมา รายได้ต่อหัวเริ่มเติบโตเพิ่มขึ้นจากประมาณร้อยละ 0.4 ต่อปีก่อนปีปฏิวัติอุตสาหกรรม ค.ศ.1760 มาเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2 เมื่อเกือบถึงกลางทศวรรษที่ 19 แสดงให้เห็นว่าในช่วงแรกๆ การเปลี่ยนแปลงในภาคอุตสาหกรรมของอังกฤษ ซึ่งรวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีที่เด่นมากนั้น กระจุกอยู่ที่ไม่กี่อุตสาหกรรม เช่น การทำเส้นใยจากฝ้าย สิ่งทอ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการถลุงและใช้เหล็ก รวมทั้งการขนส่ง เช่น รถไฟในช่วงต่อมา

ก็ต้องยอมรับว่า ถ้าดูจากอัตราการเจริญเติบโต ไม่ว่าจะเป็นรายได้ต่อหัวหรือผลผลิตอุตสาหกรรม มองอย่างผิวเผิน นี่ไม่น่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่าเป็นการปฏิวัติ ประเทศไทย รวมทั้งประเทศกลุ่มอาเซียน หรือกลุ่มเอเชียตะวันออกเคยมีอัตราการเจริญเติบโตตั้งแต่หลังสงครามสูงกว่านี้มาก อัตราที่โตเท่าไรถึงจะเรียกว่าเป็นการปฏิวัติ หรือว่าเราควรจะมองอังกฤษที่เป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมจากแง่มุมอื่น (ยังมีต่อ)

Source://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q2/2007april25p1.htm


โดย: POST JTEPA : ญี่ปุ่นที่ไม่เหมือนใคร (15) (moonfleet ) วันที่: 17 สิงหาคม 2556 เวลา:17:26:05 น.  

 
ญี่ปุ่นที่ไม่เหมือนใคร (16)

วิถีเศรษฐกิจ : POST JTEPA : ดร.ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2551

ถึงแม้ว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษในช่วง 50-70 ปีแรก จะไม่สามารถเปลี่ยนทุกๆ อณูหรือทุกๆ ส่วนของเศรษฐกิจอังกฤษและยุโรปในเวลาอันสั้น รวมทั้งอัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวม และในภาคอุตสาหกรรมก็ไม่ได้เพิ่มหรือเติบโตในอัตราที่สูงที่เรียกว่ามหัศจรรย์ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในอังกฤษในปลายศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา และผลที่ตามมาหลังจากนั้น โดยเฉพาะเมื่อโลกเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีการผลิตในภาคอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 19 นั้น ต้องถือว่าเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมได้ เพราะมันหมายถึงการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมครั้งยิ่งใหญ่ แบบไม่เคยมีมาก่อน โดยที่ศูนย์กลางของการเปลี่ยนแปลงนี้อยู่ที่การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี

แม้มนุษย์จะสะสมความรู้ เพื่อความอยู่รอดและเอาชนะธรรมชาติมายาวนาน แต่ก็มีนักวิชาการบางท่านที่เชื่อว่า ความรู้และเทคโนโลยีของมนุษย์ที่สำคัญๆ เกิดขึ้นในช่วง 300-500 ปีในเอเชียและยุโรปก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษ การเปลี่ยนแปลงในความรู้หรือเทคโนโลยีนั้นจะมีลักษณะที่เป็นการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย ค่อยเป็นค่อยไป และมีทั้งการเปลี่ยนแปลงที่เหมือนเป็นการก้าวกระโดด แต่นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจด้านเทคโนโลยี เช่น Joel Mokyr เชื่อว่าจุดเปลี่ยนที่สำคัญของการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษ คือผลที่ตามมาของการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี ซึ่ง Mokyr เห็นว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงหรือนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะการคิดค้นและนำมาใช้เครื่องจักรไอน้ำ และการประดิษฐ์เครื่องปั่นฝ้ายหรือปั่นด้าย

ผลของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่มีต่อผลิตภาพ ผลผลิต และวิถีชีวิตคน มักส่งผลที่ล่าช้าและกินเวลา ในยุคสมัยใหม่การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เช่น คอมพิวเตอร์หรืออินเทอร์เน็ต เป็นตัวอย่างที่ดี ผลของเทคโนโลยีจากปรากฏการณ์การปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษก็คงมีลักษณะเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม แม้จะมีผลล่าช้าความรู้และเทคโนโลยีเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงมักจะไม่ถดถอย ถอยหลังหรือย้อนกลับ มีแต่จะก้าวหน้าขึ้น เพราะฉะนั้น หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษ อังกฤษมีประชากรเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ทำสงครามถี่ยิบ โดยเฉพาะกับฝรั่งเศส จนกระทั่งกลางทศวรรษที่ 19

แต่อังกฤษ ยุโรป รวมทั้งอเมริกาไม่เคยย้อนกลับไปเหมือนเดิม แม้เศรษฐกิจจะเผชิญวัฏจักรมีขึ้นมีลง แต่ด้วยผลของเทคโนโลยีนี่แหละ มาตรฐานทางเศรษฐกิจ รายได้ต่อหัวมีแต่จะขึ้นไม่เคยกลับไปที่เดิม ดังที่เราได้เห็นจากข้อมูลของ Angus Maddison เมื่อคราวที่แล้ว เป็นครั้งแรกที่ยุโรปซึ่งมีประชากรน้อยกว่าเอเชียหลายเท่าตัว เริ่มทิ้งห่างมากขึ้นๆ ในสัดส่วนจีดีพีโลกในรายได้ต่อหัว ในอำนาจทางเศรษฐกิจและทางเทคโนโลยี

ทำไมผลของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีจึงมีความสำคัญ ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาตินั้น เป็นหมื่นๆ ปีมาแล้ว มนุษย์พัฒนาความรู้หรือเทคโนโลยีมาตลอดตั้งแต่ยุคเร่ร่อน ล่าสัตว์ ผ่านสังคมเกษตรกรรม สร้างบ้านแปลงเมือง ในการเดินทางอันยาวนานของมนุษย์ โดยพื้นฐานมนุษย์รักความก้าวหน้า ความมั่งคั่ง ด้วยเหตุนี้ การแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ การค้าขาย จึงเป็นกิจกรรมปกติของมนุษย์ที่ Adam Smith เชื่อว่าโดยธรรมชาติกิจกรรมข้างต้น จะทำให้เศรษฐกิจสังคมมีความก้าวหน้า เจริญเติบโต เพราะอำนาจซื้อและขอบเขตของตลาดจะใหญ่ขึ้น ก่อให้เกิดแรงจูงใจในการแบ่งแยกแรงงาน และความเชี่ยวชาญ นำมาซึ่งประสิทธิภาพและผลิตภาพของผลผลิต รวมทั้งความเจริญเติบโต

เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ในโลกก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษหรือก่อนศตวรรษที่ 19 นั้น ไม่ใช่หยุดอยู่กับที่หรือ Stagnant กันไปหมด แม้ว่ารายได้ต่อหัวดูจะไม่เพิ่มมากเช่นที่พบในจีน อินเดีย หรือแม้แต่ญี่ปุ่น ประเทศจำนวนมากทั้งในและนอกยุโรปมีการเปลี่ยนแปลงและมีความก้าวหน้าทั้งในภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม เริ่มมีชีวิตทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น กรณีของญี่ปุ่นนั้น เคยมีนักวิชาการตะวันตกให้ข้อเท็จจริง เปรียบเทียบมาตรฐานความเป็นอยู่ของคนญี่ปุ่นในเมืองใหญ่ ในปลายศตวรรษที่ 18 หรือช่วงสมัย Tokugawa ว่า ไม่แพ้หรือสูงกว่าคนอังกฤษด้วยซ้ำไป แต่ก็มีนักวิชาการญี่ปุ่นที่ไม่เห็นด้วยในเรื่องข้อเท็จจริง

ภูมิภาคในเอเชียตะวันออกไกลและตะวันออกใกล้ ในเอเชียเหนือ และเอเชียกลาง ในเมดิเตอร์เรเนียน ในยุโรปตะวันตก ในแอฟริกา ในทวีปอเมริกา มีการค้าขายทาส สินค้านานาชนิด มีการอพยพเคลื่อนย้ายถิ่น เป็นเวลายาวนานหลายร้อยหรือพันๆ ปี นักประวัติศาสตร์บางคนให้โลกาภิวัตน์ครั้งแรกอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 14 หรือ 15 ไม่ใช่ศตวรรษที่ 19 ซึ่งนักวิชาการกลุ่ม Euro Centrist เน้น

แต่นักเศรษฐศาสตร์ O'Rourke และ Williamson ยืนยันว่า ถ้าโลกาภิวัตน์หมายถึงการผนึกเชื่อมโยงกันของตลาด (Market Integration) อย่างแท้จริง ความแตกต่างในราคาสินค้าประเภทเดียวกันที่ขายกันในแต่ละเมืองที่ค่าขนส่งทางเรือลดลงมากมาย รวมทั้งการลดลงของอากรขาเข้าในศตวรรษที่ 19 น่าจะทำให้ความแตกต่างในราคาลดลงหรือต่างกันไม่มาก ซึ่งทั้งสองพบว่าเป็นจริงสำหรับกรณีของกระบวนการโลกาภิวัตน์ในศตวรรษที่ 19 แต่ไม่เป็นจริงสำหรับกรณีศตวรรษที่ 15

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมในปลายศตวรรษที่ 18 ถ้ามองจากการเปลี่ยนแปลงในรายได้ต่อหัวเป็นเครื่องชี้แล้ว ก็ต้องบอกว่ามันมักเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ยั่งยืน เปราะบาง เศรษฐกิจวนเวียนอยู่ในกับดักรายได้ต่ำ รายได้หรือผลผลิตไม่สามารถเอาชนะประชากรได้อย่างยั่งยืน เป็นลักษณะของ Extensive Growth เพราะเป็นเศรษฐกิจที่ชะตากรรมและชีวิตของผู้คนต้องอิงกับที่ดินกับการเกษตร ที่อิงกับการค้าและพาณิชยกรรม แม้ว่าประสิทธิภาพอาจสูงขึ้นตามความคาดหวังของ Adam Smith ซึ่งแม้จะเป็น Intensive Growth แต่ก็ต้องพบกับกฎของ Laws of Diminishing Return ผลิตภาพสูงขึ้นไม่มากพอจากการค้าการแลกเปลี่ยน ไม่พูดถึงชะตากรรมของผู้คนที่เกิดจากสงครามจากรัฐชาติ จากการรุกรานของพวก Nomad เร่ร่อน จากโรคระบาด ภัยธรรมชาติ รวมทั้งจากการถูกปล้นสะดม ขูดรีดส่วนเกินโดยหัวหน้าเผ่าหรือผู้ปกครองในรูปของส่วยหรือภาษี

เทคโนโลยีทางการผลิตและสังคมในการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษ เปลี่ยนโฉมหน้าอดีตอย่างไร


Source://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q2/2007april25p1.htm


โดย: ญี่ปุ่นที่ไม่เหมือนใคร (16) (moonfleet ) วันที่: 17 สิงหาคม 2556 เวลา:17:27:03 น.  

 
POST JTEPA : ญี่ปุ่นที่ไม่เหมือนใคร (17)

วิถีเศรษฐกิจ : ดร.ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

เป็นเรื่องธรรมดาที่การเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่หลวงอย่างการปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่เริ่มในอังกฤษและแผ่กระจายไปที่ยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น ในศตวรรษที่ 19 และประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะช่วงหลังสงครามโลก จะได้รับการตีความที่แตกต่างกันไป ตั้งแต่ว่า ทำไมมันต้องเกิดที่อังกฤษ ไม่ใช่ที่อื่นในยุโรป เช่น ฮอลแลนด์ ซึ่งก็มีเงื่อนไข ปัจจัยพื้นฐาน ความเจริญในด้านอื่นๆ ที่ไม่แพ้อังกฤษ

แม้นักวิชาการ เช่น Landes และ Mokyr จะให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ที่มากับการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษ ว่า เป็นหัวใจสำคัญ แต่ก็มีนักวิชาการที่ไม่เห็นด้วยกับโลกทัศน์ดังกล่าว นักประวัติศาสตร์ เช่น Hobsbawn เชื่อว่าเทคโนโลยีที่เกิดใหม่ในอังกฤษช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม สามารถเกิดขึ้นได้เมื่อ 150 ปีก่อนหน้า Eric Jones เชื่อว่าแม้ไม่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษ ความเจริญเติบโตก็ยังมีได้แต่ในอัตราที่ต่ำลง แต่ Mokyr เห็นว่าในระยะยาว ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่ต่อเนื่อง ความเจริญเติบโตจะชะงักลง แรงขับดันจากการค้า การแบ่งความเชี่ยวชาญจะไม่เพียงพอ

Joel Mokyr ซึ่งเป็น Euro centrist มองว่าในปี ค.ศ.1750 ยุโรปได้ก่อตัวอย่างช้าๆ เป็นผู้นำทางเทคโนโลยีเหนือส่วนอื่นๆ ของโลก เขากล่าวว่า "จากบอสพอรัสถึงอ่าวโตเกียว อาณาจักรทางตะวันออกได้ตามหลังและโดดเดี่ยวตัวเองจากโลกตะวันตก และถดถอยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี" ในมุมมองของเขา ส่วนอื่นๆ ของโลกและอินเดียได้ถูกครอบงำโดยตะวันตก มีความเป็นไปได้ว่า ถ้าเทคโนโลยีของยุโรปหยุดชะงักตายลงเหมือนที่เกิดกับอิสลามประมาณปี ค.ศ.1200 ที่เกิดกับจีนประมาณปี ค.ศ.1450 หรือที่เกิดกับญี่ปุ่นในปี ค.ศ.1600 เมื่อญี่ปุ่นจะปิดประเทศตัดขาดจากโลกตะวันตก ดุลยภาพของโลกคงจะลงตัวในสภาพเดิมๆ

ตรงกันข้าม 200 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงของการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด เป็นภาวะที่ไร้ดุลยภาพขนาดมหึมา ในสองศตวรรษ วิถีชีวิตประจำวันของมนุษย์เปลี่ยนไปมากกว่าที่เกิดขึ้นเมื่อ 7,000 ปีก่อน ตัวการที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ในลักษณะที่ไร้เสถียรภาพนี้ จะเป็นอื่นใดไม่ได้นอกจากเทคโนโลยี และเป็นเทคโนโลยีจากโลกตะวันตกเท่านั้น

แน่นอนว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นในปีค.ศ.1750 และความแตกต่างระหว่างสิ่งที่เกิดก่อนและหลังปี ค.ศ.1750 ก็เป็นความแตกต่างในระดับ แต่ความแตกต่างในระดับนี้มีความสำคัญ สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ยุโรปสามารถเพิ่ม Productivity ทำให้ยุโรปสามารถเพิ่มประชากรได้หลายเท่าตัว ขณะเดียวกัน ก็มีคุณภาพชีวิตที่สูงและดีกว่าสังคมดั้งเดิม เท่านั้นยังไม่พอ ยังสามารถเข้าไปครอบงำทางการเมือง ล่าอาณานิคมเหนือมนุษยชาติเกือบทั้งโลก และกำหนดชี้นำเทคโนโลยีในอัตลักษณ์ของยุโรป

แม้เทคโนโลยีจะมีความสำคัญ แต่เราไม่ควรมองการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีในมิติที่แคบ ที่หมายถึงเฉพาะสิ่งประดิษฐ์เท่านั้น แต่ควรมีความหมายที่กว้าง ที่รวมถึงความรู้ เทคโนโลยีการผลิต การจัดองค์กร การจัดการ การตลาดและการแจกจ่าย และถ้าการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นในอังกฤษ ไม่ถูกจำกัดให้อยู่ในช่วงสั้นเพียงครึ่งศตวรรษ แต่เป็นปรากฏการณ์หลายชั่วอายุคนแล้ว การปฏิวัติอุตสาหกรรมก็จะเกี่ยวพัน กับการเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตของคน อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในทุกๆ ด้าน ในวิธีการทำงาน การผลิต การเกิดของระบบโรงงาน การจัดองค์กรของหน่วยผลิตและไม่ใช่จำกัดอยู่เพียงแค่เทคโนโลยีการผลิต แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงแม้กระทั่งในความสัมพันธ์ทางสังคม

ถ้าเราพิจารณาการปฏิวัติในภาคอุตสาหกรรม การปฏิวัตินี้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง หรือนวัตกรรมใน 3 เรื่อง ซึ่งล้วนแล้วแต่เพิ่ม Productivity

1.คือกระบวนการใช้เครื่องจักรกลที่เร็ว แม่นยำ ทำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเข้ามาทดแทนแรงงานและทักษะของมนุษย์

2.การเอาพลังงานที่มาจากสิ่งที่ไม่มีชีวิตมาแทนแหล่งของพลังงานที่มาจากสัตว์ ในกรณีของอังกฤษนี้คือการสร้างเครื่องจักร โดยเฉพาะเครื่องจักรไอน้ำ ที่สามารถแปลงความร้อนออกมาเป็นงาน เปิดโอกาสให้มนุษย์ เข้าถึงแหล่งพลังงานอย่างไม่มีขอบเขตจำกัด

3.การนำมาใช้วัตถุดิบที่ใหม่หรือมีอยู่จำนวนมาก โดยเฉพาะการนำสินแร่ต่างๆ มาทดแทนแหล่งที่มาจากพืชหรือสัตว์ นี่คือสาระหลักๆ ของการปฏิวัติอุตสาหกรรม

การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่สำคัญในช่วง ค.ศ.1750-1830 ที่เริ่มในอังกฤษก่อนที่จะแผ่กระจายไปส่วนอื่นๆ ของยุโรป เพราะในทัศนะของ Mokyr เพราะอังกฤษมีองค์ประกอบค่อนข้างสมบูรณ์ของการเป็นสังคมที่สร้างสรรค์ทางเทคโนโลยี หรือ Technology Creative Society สิ่งที่นักวิชาการเห็นพ้องต้องกัน ก็คือในช่วงนั้น ถ้าพิจารณาเทคโนโลยีการผลิตในอุตสาหกรรมจำนวนหนึ่ง เราจะพบว่าได้เกิดการประดิษฐ์คิดค้น รวมทั้งนวัตกรรมกระจุกตัวกันจำนวนมากในระยะเวลาอันสั้น และแม้วิทยาศาสตร์จะไม่สามารถตัดขาดจากเทคโนโลยี บทบาทของวิทยาศาสตร์ต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีของอังกฤษในช่วงนี้จะมีน้อยกว่า และมีบทบาทที่ต่างกับบทบาทของวิทยาศาสตร์ในการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 ในปลายศตวรรษที่ 19

ที่สังคมอังกฤษในขณะนั้นเป็นสังคมที่สร้างสรรค์เทคโนโลยี เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ บนภาคพื้นยุโรป ก็เพราะว่าการสร้างสรรค์ทางเทคโนโลยีนี้ไม่ได้หมายความว่า อังกฤษจะต้องมีความเป็นเลิศทางด้านการประดิษฐ์คิดค้น หรือ Inventiveness แต่อย่างเดียว แต่อังกฤษมีช่างฝีมือและนักอุตสาหกรรมจำนวนมากที่เน้นการปฏิบัติ การแปลง การประดิษฐ์คิดค้นเป็นนวัตกรรม สามารถนำไปใช้เพื่อการพาณิชย์ ทำกำไร สร้างความมั่งคั่งและที่สำคัญคือ เขาเต็มใจที่จะยอมรับการประดิษฐ์คิดค้นที่เกิดจากที่อื่น สังคมอังกฤษค่อนข้างกระตือรือร้นตอบรับเทคโนโลยีจากต่างประเทศ

ในข้อเท็จจริงเราพบว่า การประดิษฐ์คิดค้นจำนวนมากที่ทำให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษเป็นการปรับปรุง ปรุงแต่ง การประดิษฐ์คิดค้นที่มาจากต่างประเทศ (ยังมีต่อ)


Source://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q2/2007april25p1.htm


โดย: POST JTEPA : ญี่ปุ่นที่ไม่เหมือนใคร (17) (moonfleet ) วันที่: 17 สิงหาคม 2556 เวลา:17:27:55 น.  

 
ญี่ปุ่นที่ไม่เหมือนใคร (18)

วิถีเศรษฐกิจ : Post Jtepa : ดร. ไพโรจน์ วงค์วิภานนท์ กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

อังกฤษก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม เป็นสังคมที่มีความคิดสร้างสรรค์ด้านเทคโนโลยี เงื่อนไขทางสังคมสนับสนุนและก่อให้เกิดแรงจูงใจ ต่อผลตอบแทนของผู้ประกอบการ การก่อตัวของพาณิชย์กรรมการเงิน การเคลื่อนย้ายแรงงาน ระหว่างเมืองกับชนบท มีมานานพอสมควร อังกฤษมีระบบสิทธิบัตรที่ให้ความคุ้มครองแก่นักประดิษฐ์ เกิดขึ้นก่อนสหรัฐ และประเทศอื่นๆ ในยุโรปหลายสิบปี

นักวิชาการเชื่อว่า ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งอธิบายปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอย่างเป็นระบบ ของยุโรปนั้นล้ำหน้าสังคมอื่นๆ ประมาณปี ค.ศ. 1600 สมัยกาลิเลโอ แล้วช่องว่างก็ห่างกันมากเรื่อยๆ จากนั้นมา แต่ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์อย่างเดียว อาจจะยังไม่มีบทบาทต่อช่องว่างทางเศรษฐกิจ เพราะความรู้ทางวิทยาศาสตร์ต้องนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ผ่านเทคโนโลยี

วิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยีน่าจะสัมพันธ์กันในระดับหนึ่ง แต่ไม่จำเป็นต้องแน่นแฟ้น ใกล้ชิดกันเสมอ นักวิชาการทางเทคโนโลยีเชื่อว่าก่อนช่วง ค.ศ.1850-1875 การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษ ในปลายศตวรรษ ที่ 18 นั้น ไม่ต้องพึ่งพาหรือพึ่งความรู้ใหม่ทางวิทยาศาสตร์ หลังปี 1875 อย่างไรก็ตามความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์เริ่มมีบทบาทสำคัญในการอธิบายปรากฏการณ์ที่เกี่ยวกับไฟฟ้า เคมี ชีววิทยา และปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอื่น ๆ เป็นต้น

แต่ก่อนกลางศตวรรษที่ 19 หรือแม้กระทั่งหลังจากนั้น เทคโนโลยีการประดิษฐ์คิดค้น ที่พบและใช้ในโลกตะวันตก เกิดจากช่าง หรือวิศวกร คนที่ทำงานในภาคปฏิบัติ ซึ่งไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ ไม่ได้รับการอบรมอย่างเป็นทางการ เพราะมันไม่จำเป็น ความรู้ทางวิทยาศาสตร์จำนวนมากไม่ได้ตอบสนองต่อความจำเป็นและการประยุกต์โดยตรง ทางด้านเศรษฐกิจ หรือเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สินค้ากระบวนการผลิตใหม่ ๆ วิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยีจึงสามารถอยู่กันคนละโลกได้ และได้เป็นแบบนี้ในทุก ๆ สังคมมายาวนาน จึงไม่เป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจที่ความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่มีพัฒนาการในช่วง ปี 1600 ต้องใช้เวลากว่า 200 ปี จนมีการประยุกต์ใช้ให้เกิดผลทางเศรษฐกิจ

ในมุมมองของเทคโนโลยีนักประวัติศาสตร์ มองหัวใจการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษ อยู่ที่การเปลี่ยนแปลงในเทคโนโลยีของพลังงาน (Power Technology) โดยเฉพาะการประดิษฐ์เครื่องจักรไอน้ำ จนสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง ซึ่ง James Watt ปรับปรุงพัฒนาสิ่งที่มีมาก่อน ๆ หน้าโดยผู้อื่นให้ดีขึ้น แม้อังกฤษจะมีการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ที่สำคัญเช่น การนำเครื่องจักร มาแทนแรงงานคน ในอุตสาหกรรมปั่นและทอผ้า ซึ่งก็มีผลต่ออังกฤษค่อนข้างมากก็ตาม

การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี พลังงานนี้อาจไม่มีผลใหญ่หลวง ทันทีทันใด แต่ผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แทบจะเรียกได้ว่าไม่มีขีดจำกัด เห็นได้ชัดว่า ในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 พลังงานจากไอน้ำได้เข้าไปแทรกซึมมีอิทธิพลต่อทุก ๆ ส่วนของชีวิตทางเศรษฐกิจในสังคมตะวันตก และส่วนอื่นๆ ของโลก ตามมากับการเปลี่ยนแปลงนี้ Joel Mokyr เชื่อว่า Power Technology นี้ได้ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างยุโรปกับส่วนอื่น ๆ ของโลกเป็นภาวะไร้ดุลยภาพชั่วคราว ที่ทำให้คนยุโรปสามารถเป็นผู้นำ มีอำนาจครอบงำประเทศอื่นทั้งทางเศรษฐกิจและทางทหาร

ความคิดในการสร้างเครื่องจักรที่สร้างขึ้นโดยใช้แรงดันจากบรรยากาศ เกิดจากการเข้าใจว่า ในโลกนี้มีบรรยากาศ และบรรยากาศมีแรงดันที่ทำให้เกิดแรง ซึ่งความรู้แบบนี้คนจีนคงรู้มานานแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ครึ่งหลังของศตวรรษที่ 17 เป็นเรื่องของยุโรป ซึ่งเกิดจากการเข้าใจในปรากฏการณ์ที่ค้นพบใหม่ว่า ถ้าเราสามารถทำให้เกิดสุญญากาศได้อย่างซ้ำๆ ต่อเนื่อง พลังหรือแรงจากแรงดันจากบรรยากาศสามารถจะเป็นที่มาของพลังงานใหม่ได้

ความคิดนี้นำไปสู่การสร้างเครื่องจักรโดยชาวฝรั่งเศส ชื่อ Papin และชาวอังกฤษ ชื่อ New Komen เป็นเครื่องจักรที่ใช้ความดันจากไอน้ำ ดันลูกสูบในกระบอกสูบขึ้นลงจนเกิดเป็นงาน New Komen ใช้แรงดันจากบรรยากาศในเครื่องจักรที่สลับความร้อนความเย็นเพื่อสร้างสุญญากาศให้เครื่องจักรทำงานได้ตลอดเวลา โดยกระบวนการกลั่นตัวหรือ Condensation วิธีการนี้ใช้พลังงานสิ้นเปลืองขาดประสิทธิภาพ จึงไม่มีการใช้กันแพร่หลาย

จุดเปลี่ยนที่สำคัญของ James watt คือเขาแยกเครื่องที่กลั่นตัวควบแน่นหรือ Condenser (ซึ่งจะเปลี่ยนไอน้ำให้เป็นน้ำมีอุณหภูมิต่ำลง เพื่อให้เกิดสุญญากาศ สามารถดันลูกสูบลงให้เครื่องจักรทำงานได้ต่อเนื่อง) ออกจากกระบอกสูบทำให้เครื่องร้อนอยู่ตลอดเวลาประหยัดพลังงานและเครื่องจักรทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และหลังจากนั้นเมื่อผนวกกับพัฒนาการด้านอื่น ๆ เครื่องจักรไอน้ำที่จดลิขสิทธิ์โดยเขาและสหาย มีการใช้แทนพลังงานลมและน้ำอย่างกว้างขวางทั้งในอุตสาหกรรมปั่นด้าย ทอผ้า และการขนส่ง เช่น เรือกลไฟและรถไฟ มีผลอย่างมหาศาลในทางเศรษฐกิจในทศวรรษที่ 19 ในด้านการลดต้นทุนและความรวดเร็ว

Joel Mokyr มองว่าการประดิษฐ์คิดค้นเครื่องจักรไอน้ำ ในขณะนั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่หลวง เป็นการปฏิวัติทางเศรษฐกิจเป็น Paradigm Shift ถ้ามองจากประวัติศาสตร์ของเทคโนโลยีทางด้านพลังงาน อัจฉริยะและความสามารถของ James Watt เทียบได้กับ Louis Pasteur กรณีชีววิทยาหรือ Newton ในกรณีของฟิสิกส์ หรือในกรณีของดนตรีเทียบได้กับ Beethoven

เราพบว่าในช่วงประมาณ 100 ปีเศษๆ ตั้งแต่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษ จนถึงปี ค.ศ. 1896 กว่าร้อยละ 90 ของกำลังแรงม้าเครื่องจักรไอน้ำกระจุกอยู่ที่ยุโรปและสหรัฐอเมริกา โดยที่อังกฤษเป็นผู้นำมีสัดส่วนประมาณ 35-60% ของยุโรป ประเทศอาจจะใช้แหล่งพลังงานจากแหล่งพลังงานที่หลากหลายแล้วแต่สภาพทางภูมิศาสตร์และทรัพยากรที่มีอยู่ ซึ่งจะไปกำหนดต้นทุนเปรียบเทียบ

และถ้าสมรรถนะของเครื่องจักรไอน้ำ สามารถใช้เป็นเครื่องชี้สำคัญที่มากับระดับความเจริญทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาอุตสาหกรรมหรืออำนาจทางเศรษฐกิจ และทางทหารในศตวรรษที่ 19 ได้แล้ว ยุโรปและสหรัฐอเมริกา คือเจ้าโลกอย่างไม่ต้องสงสัย (ยังมีต่อ)


Source://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q2/2007april25p1.htm


โดย: ญี่ปุ่นที่ไม่เหมือนใคร (18) (moonfleet ) วันที่: 17 สิงหาคม 2556 เวลา:17:28:45 น.  

 
ญี่ปุ่นที่ไม่เหมือนใคร (19)

วิถีเศรษฐกิจ : POST JTEPA : ดร.ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2551

แม้การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในระยะยาวจะมีขึ้นมีลงเป็นวัฏจักร แต่แนวโน้มใหญ่ซึ่งได้รับการขับเคลื่อน โดยการพัฒนาอุตสาหกรรมในอังกฤษในปลายศตวรรษที่ 18 และแผ่กระจายหลายสิบปีต่อมาไปที่ส่วนอื่นของยุโรป โดยเฉพาะยุโรปตะวันตก และอเมริกานั้นค่อนข้างชัดเจน จีดีพีต่อหัวอาจจะโตแค่ประมาณ 2% ต่อปี ประชากรเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่แนวโน้มใหญ่ของ Kondratieff พบว่าในทางเศรษฐกิจมี Long swing ในชั่วอายุคน ยุโรปล้วนพัฒนาอุตสาหกรรม และ Integrate กันมากขึ้น

ศตวรรษที่ 19 จนเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นช่วงที่เอเชียและยุโรปห่างกันมากขึ้นๆ อย่างไม่เคยมีมาก่อนนั้น โลกตะวันตกก้าวหน้าทั้งผลิตภาพ และการผลิตในภาคเกษตร จากนั้นก็ล้ำหน้ามาก่อนเอเชีย ในการก้าวไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรม ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ที่ไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่เครื่องจักรไอน้ำของ James Watt และการพัฒนาการใช้เครื่องจักรกลในการปั่นด้ายแทนนิ้วมือมนุษย์ จนทำให้อังกฤษเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมสิ่งทอก่อนผู้อื่น

หลังกลางศตวรรษที่ 19 คลื่นของการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอื่นๆ ตามมาอีกมากมายไม่เคยหยุดนิ่ง ที่ล้วนมีผลต่อวิถีชีวิตมนุษย์ ตั้งแต่เรื่องของเครื่องจักรไอน้ำที่มีพลังและประสิทธิภาพสูงขึ้น พลังงานไฟฟ้าและมอเตอร์ เคมีอินทรีย์ Synthetics เครื่องยนต์สันดาปภายใน เครื่องยนต์ดีเซล การผลิตที่มี Precision สูง ระบบการผลิต Assembly line และระบบการบริหารจัดการแบบอเมริกา รวมทั้งความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ เป็นต้น ทั้งหมดนี้เป็น Cluster ของนวัตกรรมที่นักวิชาการเรียกว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2

ช่วงที่จีนและญี่ปุ่นเริ่มปิดตัวเองเป็นต้นมา เป็นช่วงที่นอกจากช่องว่างทางความมั่งคั่งและเทคโนโลยี โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม ระหว่างเอเชียและยุโรป โดยเฉพาะหลัง ค.ศ.1750 จะห่างกันมากขึ้นแล้ว ระหว่างในยุโรปและอเมริการาวปลายศตวรรษที่ 19 เยอรมนีและอเมริกาเริ่มไล่กวดทัน และล้ำหน้าอังกฤษในหลายอุตสาหกรรม ยุโรปค้าขายกันมากขึ้นถึง 60% ของการค้าโลก ความเป็นชาตินิยมทางเศรษฐกิจ หรือการใช้นโยบายแบบ Mercantilism เริ่มค่อยๆ ถูกแทนที่โดยการค้าเสรี เช่นที่อังกฤษและประเทศอื่นๆ ในยุโรปที่ตามมา อังกฤษยกเลิก Corn Laws และใช้นโยบาย Free trade ราวกลางศตวรรษที่ 19

ช่องว่างทางเทคโนโลยีทั้งทางอุตสาหกรรมและทางทหารและการรบ โดยเฉพาะอำนาจทางทะเลหรือมหาสมุทร ก็เริ่มต่างกันมากขึ้น กรณีของญี่ปุ่นก็เห็นได้ชัดเช่นกันจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ที่ยังต่ำกว่าศักยภาพ เมื่อกัปตัน Perry บังคับให้ญี่ปุ่นเปิดประเทศในปี ค.ศ. 1853 และญี่ปุ่นตัดสินใจที่จะทำประเทศให้ทันสมัยแบบตะวันตก

จีนอาจจะเป็นเจ้าโลกทางทะเลในก่อนและเมื่อต้นศตวรรษที่ 15 แต่การที่จีนแพ้อังกฤษในสงครามฝิ่นซึ่งรบกันในช่วงปี ค.ศ.1839-1842 และมหาอำนาจอื่นๆ ในยุโรปในเวลาต่อมา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเทคโนโลยีทางทหาร ด้านอาวุธปืนและเรือที่ขับเคลื่อนด้วยไอน้ำของอังกฤษนำหน้าจีนไปค่อนข้างมาก ในประเด็นนี้ บทบาทของการเป็นผู้นำของยุโรปทางเทคโนโลยี กับการขยายตัวของจักรวรรดินิยมทางทหารในศตวรรษที่ 19 ในเอเชียหรือแอฟริกา ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างผิดหูผิดตาจึงมีความสัมพันธ์กัน

มองย้อนกลับไป 300-400 ปีก่อนหน้า จีน (ราวๆ กลางศตวรรษที่ 15) หมุนกลับทวนเข็มนาฬิกา หันกองเรือกลับประเทศ และหยุดพัฒนา ไม่สนใจที่จะมองและออกไปข้างนอก ไปบุกเบิกไปจับจอง ไปล่า และแสวงหาโภคทรัพย์ ทั้งๆ ที่ศักยภาพไม่ว่าจะมองจากทางด้านใด มีพร้อมกว่าใครๆ และเมื่อต้องถูกบังคับโดยเรือปืน เพราะแพ้สงครามให้เปิดประเทศในกลางศตวรรษที่ 19 ก็เป็นฝ่ายถูกกระทำในเงื่อนไขที่เสียเปรียบ

แต่ยุโรปเริ่มตั้งแต่โปรตุเกส เนเธอร์แลนด์ สเปน ตามมาด้วยอังกฤษ ฝรั่งเศส หรือแม้กระทั่งเยอรมนีในช่วงหลัง ทำทุกอย่างตรงกันข้ามกับจีน ญี่ปุ่นเลือกเส้นทางแบบจีน ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 17 ที่จะปิดตัวเองกับโลกตะวันตก ที่ถูกมองว่าเป็นพวกป่าเถื่อน หรือ Barbarian

แน่นอนว่า การเปิดประเทศคบค้ากับชาวโลกเป็นดาบสองคม ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขภายในของแต่ละประเทศ และเงื่อนไขความกดดันจากภายนอกในแต่ละช่วงเวลา การออกไปแสวงหาล่าอาณานิคม ก็ไม่ได้เป็นเครื่องประกันว่า ในระยะยาวการเป็นเจ้าอาณานิคมจะเป็นสิ่งเดียวกันกับการมีเศรษฐกิจอุตสาหกรรมและการเงินที่แข็งแกร่งยั่งยืนกว่าคนอื่น เช่นตัวอย่างจากสเปนเมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 19 หรือกรณีของสวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศเล็กๆ ก็สามารถแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปยึดครองประเทศใด

เมื่อถึงคราวจำเป็นและมีวิถีทาง หรือ Mean ที่เปิดให้หรือพร้อม ญี่ปุ่นก็ไม่ต่างกับประเทศเจ้าอาณานิคม อาทิเช่น อังกฤษหรือประเทศอื่นๆ จะว่าไปแล้วตั้งแต่ปี ค.ศ.1870 ญี่ปุ่นพัฒนาทางทหารและใช้นโยบายต่างประเทศ ตามรูปแบบของประเทศยุโรปตะวันตก แต่ขอบข่ายของอำนาจที่ญี่ปุ่นใช้และสร้างเป็นระดับ Regional ที่ใกล้กับตัวเอง อาทิเช่น เกาหลี ไต้หวัน ชานตุง เป็นต้น ไม่ใช่ Global ในแง่ความอยากหรือเป็นความฝัน ในอดีตไม่ใช่ผู้นำญี่ปุ่นจะไม่มีความทะเยอทะยาน

นักวิชาการญี่ปุ่น Kuno เล่าว่า ในช่วงปลายศตวรรษที่ 16 ผู้นำทางทหารของญี่ปุ่นที่ยิ่งใหญ่ชื่อ Hideyoshi เคยร่างแผนของการเอาชนะเพื่อครอบครองอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และฟิลิปปินส์ ซึ่งหมายถึงการทำให้จักรพรรดิญี่ปุ่นมีอำนาจเท่าเทียมกับรัฐของยุโรป ถ้าแผนนี้เกิดขึ้นจริงและสำเร็จ แต่เขาไม่สามารถพัฒนากองทัพเรือและกองเรือของญี่ปุ่น ซึ่งทำให้แผนนี้ล้มเหลว แม้กระทั่งเกาหลีซึ่งเป็นประเทศแรกๆ ที่ควรจะยึดครองได้ กองทัพก็ไม่ประสบความสำเร็จ มีข้อสังเกตว่าแผนของ Hideyoshi ที่ถูกยกเลิกไป อยู่ในช่วงเวลาที่หลายประเทศมหาอำนาจในยุโรปกำลังรุกผงาดอำนาจทางทะเล

ในกรณีของศตวรรษที่ 19 เทคโนโลยีมีบทบาทต่อการขยายตัวของจักรวรรดินิยมอย่างไร


Source://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q2/2007april25p1.htm


โดย: ญี่ปุ่นที่ไม่เหมือนใคร (19) (moonfleet ) วันที่: 17 สิงหาคม 2556 เวลา:17:29:44 น.  

 
ญี่ปุ่นที่ไม่เหมือนใคร (20)

วิถีเศรษฐกิจ : POST JTEPA: ดร.ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 09 เมษายน พ.ศ. 2551

ตารางข้างล่างนี้ บอกอะไรได้หลายๆ อย่างเกี่ยวกับที่มาของการเป็นมหาอำนาจ ตามลักษณะการจำแนกของ Paul Kennedy ทั้งทางเศรษฐกิจ ทางการเมืองและทางการทหาร และอาจจะรวมไปถึงที่มาของสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 และในเบื้องหลังบอกให้เห็นถึงความสำคัญของการเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีการพัฒนาอุตสาหกรรม รวมทั้งการขยายตัวของจักรวรรดินิยมที่ก่อตัวรุนแรงมากขึ้นในศตวรรษที่ 19 จนถึงกลางศตวรรษที่ 20

ตารางที่ 1 สัดส่วนของการผลิตในภาคอุตสาหกรรมของโลก ช่วง ปี ค.ศ.1880-1938
1880 1900 1913 1928 1938
อังกฤษ 22.9 18.5 13.6 9.9 10.7
ฝรั่งเศส 7.8 6.8 6.1 6.0 4.4
รัสเซีย 7.6 8.8 8.2 5.3 9.0
เยอรมนี 8.5 13.2 14.8 11.6 12.7
ออสเตรีย-ฮังการี 4.4 4.7 4.4 - -
อิตาลี 2.5 2.5 2.4 2.7 2.8
ญี่ปุ่น 2.4 2.4 2.7 5.3 5.2
สหรัฐอเมริกา 14.7 23.6 32.0 39.3 31.4



ตารางที่ 2 การใช้พลังงานของประเทศมหาอำนาจในช่วง ปี ค.ศ.1880-1938 (เทียบเท่ากับการใช้ถ่านหินล้านเมตริกตัน)
1880 1890 1900 1910 1913 1920 1930 1938
อังกฤษ 125 145 171 185 195 212 184 196
ฝรั่งเศส 29 36 47.9 55 62.5 65 97.5 84
รัสเซีย 5.4 10.9 30 41 54 14.3 65 177
เยอรมนี 47 71 112 158 187 159 177 228
ออสเตรีย-ฮังการี 11.3 19.7 29 40 49.4 - - -
อิตาลี 1.8 4.5 5 9.6 11 14.3 24 27.8
ญี่ปุ่น 0.7 4.6 4.6 15.4 23 34 55.8 96.5
สหรัฐอเมริกา 68 147 248 483 541 694 762 697

ปรากฏการณ์สำคัญที่มีผลต่อชาวโลก คือ ความก้าวหน้าและพลังแห่งเทคโนโลยีทางอุตสาหกรรม ปรากฏการณ์ที่สำคัญอีกอันหนึ่งที่นักวิชาการเรียกว่า The great divergence ก็คือความแตกต่าง ความห่างชั้น หรือช่องว่างในรายได้ต่อหัว ขีดความสามารถทางเทคโนโลยี ระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมระหว่างยุโรป อเมริกา และส่วนอื่นๆ ของโลก รวมทั้งเอเชีย โดยเฉพาะจีน เห็นได้จากข้อมูลของ Angus Maddison

ตารางที่ 3 ตะวันออก-ตะวันตก : เปรียบเทียบรายได้ต่อหัว (US dollars) ในช่วงปี ค.ศ.1820-1950

1820 1870 1890 1913 1933 1950

ยุโรปตะวันตก 1,270 2,086 3,688 3,851 5,013

สหรัฐอเมริกา 1,257 2,445 3,396 5,301 4,783 9,561

ญี่ปุ่น 669 737 1,012 1,387 2,120 1,926

จีน 600 530 540 552 578 439

โลก 667 867 1,510 2,114

ชาวโปรตุเกส สเปนหรือชาวดัตช์ รวมทั้งคนจีนในช่วงต้นศตวรรษที่ 15 ได้เดินทางบุกเบิก จับจองล่าหาเมืองขึ้นเป็นอาณานิคมเมื่อ 400-500 ปีก่อนก็จริง แต่ The great divergence ที่เริ่มเห็นชัดเจนขึ้นในศตวรรษที่ 19 เกิดขึ้นพร้อมกับการแผ่อำนาจของจักรวรรดินิยมที่เพิ่มมากขึ้นโดยชาวยุโรป โดยเฉพาะในเอเชียและแอฟริกา บางคนเรียกว่าเป็นจักรวรรดินิยมใหม่ โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องของขนาดหรือขอบข่ายและผลที่ตามมา

ในด้านของขนาดมิติจักรวรรดินิยมนั้น ในปี ค.ศ.1800 คนยุโรปครอบครองและคุมพื้นที่ 35% ของผิวดินของโลก ในปี ค.ศ.1878 หรือเกือบ 80 ปีต่อมา ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นเป็น 67% หรือเกือบหนึ่งเท่าตัว และในปี ค.ศ.1914 กว่า 80% ของพื้นที่ผิวดินของโลกถูกครอบงำโดยชาวยุโรป กรณีของ British Empireนั้น ยิ่งดูน่ากลัว เฉพาะในปี ค.ศ.1800 อาณาจักรของอังกฤษ คุมพื้นที่มากถึง 1.5 ล้านตารางไมล์ โดยมีประชากรประมาณ 20 ล้านคน เมื่อสิ้นปลายศตวรรษที่ 19 หรือ 100 ปีหลังจากนั้น British Empire ครอบงำพื้นที่ผิวดินเพิ่มขึ้นอีก 7 เท่าตัว และประชากรเพิ่มขึ้นอีก 20 เท่า

ประเทศที่ล่าเมืองขึ้นหาอาณานิคม โดยทั่วไปทำไปเพื่อการครอบงำทางการเมืองและทำให้ความสามารถในการครอบงำนั้น เป็นความมั่งคั่งหรือกำไรในทางเศรษฐกิจ มูลเหตุหรือแรงจูงใจย่อมมีที่มาที่หลากหลาย ตั้งแต่การช่วงชิงในความเป็นใหญ่ ความเป็นปรปักษ์กันในระดับนานาชาติ มูลเหตุทางเศรษฐกิจทั้งในการเข้าถึงวัตถุดิบตลาดหรือโอกาสในการลงทุน เป็นต้น

แต่แรงจูงใจหรือความต้องการที่จะเข้าไปยึดครองเป็นเจ้าอาณานิคมอย่างเดียวย่อมไม่พอ หนทาง วิธีการหรือ Means ย่อมมีความสำคัญด้วยเช่นกัน และวิธีการหรือความเป็นไปได้ หรือหนทางนี้แหละที่เทคโนโลยีมีความสำคัญ กับการทำให้การล่าอาณานิคมนั้นเป็นความสำเร็จ ยุโรปเริ่มพบหลังกลางศตวรรษที่ 19 ว่า ต้นทุนการเป็นเจ้าอาณานิคมนั้นมีและสูงขึ้น ถ้าเทคโนโลยีทำให้การล่าเมืองขึ้นง่ายและต้นทุนต่ำขึ้น จักรวรรดินิยมก็ขยายตัว

คนเอเชีย เช่น อินเดีย จีน พม่า ฯลฯ และชาวแอฟริกา เป็นเหยื่อของเทคโนโลยีในศตวรรษที่ 19 นี้อย่างไร?


Source://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q2/2007april25p1.htm


โดย: ญี่ปุ่นที่ไม่เหมือนใคร (20) (moonfleet ) วันที่: 17 สิงหาคม 2556 เวลา:17:30:58 น.  

 
วิถีเศรษฐกิจ : POST JTEPA : ญี่ปุ่นที่ไม่เหมือนใคร (21)

ดร.ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2551

แม้มหาอำนาจยุโรปจะมีอำนาจทางเศรษฐกิจ ทางเทคโนโลยี และทางทหาร ถึงขีดสูงสุดในปลายศตวรรษที่ 19 และสามารถเข้าพิชิตพื้นที่ส่วนใหญ่ของโลก แต่มหาอำนาจเหล่านั้นก็ไม่สามารถเข้ายึดและปกครองส่วนอื่นของโลกได้ทั้งหมด ประเทศอย่างญี่ปุ่น จีน ทิเบต ไทย เอเชีย อัฟกานิสถาน และประเทศส่วนใหญ่ในคาบสมุทรอาหรับ ฯลฯ ไม่ถูกผนวกเข้าไปอยู่ในระบบจักรวรรดินิยม ในทางดินแดน จีนเหมือนไทยในเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ยอมผ่อนปรนทางด้านการค้า แต่ประเทศทั้งสองไม่เคยสูญเสียอำนาจอธิปไตยให้แก่ต่างชาติ

เทคโนโลยีทางทหารของยุโรปอาจจะช่วยให้การแผ่อาณานิคมหลังกลางศตวรรษที่ 19 ทำได้ง่ายขึ้น แต่สภาพทางภูมิศาสตร์ อาทิเช่น ขนาดของประเทศ ภูเขา ทะเลทราย ย่อมทำให้การพิชิตประเทศแถบอารเบีย และทิเบต ทำได้ยากขึ้น ชาวอัฟกานิสถานเคยทำให้กองทัพอังกฤษเสียหน้ามาแล้วในการรบ 2 ครั้งในศตวรรษที่ 19 อังกฤษใช้เวลานานมากในการทำให้อินเดียเป็นอาณานิคม เพราะลักษณะของประเทศ

ขีดความสามารถทางด้านการทหาร ทางการเมืองและการปกครองของประเทศที่ถูกรุกราน เป็นเครื่องชี้ถึงขีดความสามารถในการต่อต้าน บางครั้งอาจเป็นเรื่องของโชคชะตา อาทิเช่น กรณีของญี่ปุ่นในช่วงศตวรรษที่ 13 ญี่ปุ่นถูกพวกมองโกล ซึ่งปกครองจีนอยู่ในขณะนั้นรุกราน หลังจากชัยชนะในเกาหลี เล่ากันว่า ทหารของพวกมองโกลไม่มีอาวุธรัศมีไกล ไม่สามารถสู้กับเรือขนาดเล็กของญี่ปุ่น และการต่อสู้ประชิดตัวด้วยดาบของซามูไร โชคที่เข้าข้างญี่ปุ่น คือพายุที่รุนแรง ทำลายเรือของมองโกล จนต้องถอยกลับไป เป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่สำคัญของคนญี่ปุ่นว่า อำนาจศักดิ์สิทธิ์ หรือ Divine wind นี้ หรือเรียกกันต่อมาว่า Kamikaze มีอยู่จริง พร้อมที่จะคุ้มครองปกป้องญี่ปุ่น

เกาะญี่ปุ่นไม่เคยเผชิญกับการถูกรุกรานจากกองกำลังทหารยุโรป นักประวัติศาสตร์ อาทิเช่น David Abernethy เชื่อว่าสาเหตุหนึ่งที่สำคัญเป็นเพราะกิตติศัพท์ของความโหดร้ายที่ชาวญี่ปุ่นมีต่อศัตรู คนญี่ปุ่นด้วยกันเอง และชาวต่างชาติ เคยมีพระราชโองการของกษัตริย์สเปนที่มีต่อผู้บัญชาการเหล่าทัพในแปซิฟิกในปี ค.ศ.1609 ว่า ไม่ควรนำความเสี่ยงของกองทัพและของรัฐไปเผชิญกับทหารญี่ปุ่น ผู้บุกเบิกพวกมิชชันนารี อย่าง Francis Zavier เคยพูดไว้ว่า "ในชีวิตของข้าพเจ้ายังไม่เคยเห็นใครที่ต้องพึ่งพากับการมีอาวุธเช่นชาวญี่ปุ่น พวกเขาเป็นพวกที่ชอบและทำสงครามเอามากๆ"

ในช่วงต้นศตวรรษที่ 17 ภายใต้การปกครองของโชกุน Tokugawa ญี่ปุ่นจำกัดและกีดขวางการค้าที่จะมีกับตะวันตก ยกเว้นเฉพาะที่เมืองท่านางาซากิ ขณะเดียวกัน ก็จองล้างจองผลาญพวกพระและหมอสอนศาสนา ในขณะนั้น ไม่มีมหาอำนาจของยุโรปใดกล้าที่จะตอบโต้ แก้แค้น ไม่ต้องพูดถึงการรุกรานเพื่อมุ่งยึดครองมีชัยชนะ ตรงกันข้ามอังกฤษถอนตัวอย่างเงียบๆ ในปี ค.ศ.1623 พวกสเปนถูกเนรเทศในปี ค.ศ.1624 รวมทั้งชาวโปรตุเกสอีกสิบกว่าปีถัดมา ชาว Dutch จำนวนหนึ่งเท่านั้น ที่ให้อยู่ในเขตจำกัดในบริเวณท่าเรือนางาซากิ

ในช่วงปี ค.ศ.1640 มาเก๊าซึ่งเป็นเขตปกครองของโปรตุเกส ได้ส่งตัวแทนที่จะขอเปิดทำการค้ากับญี่ปุ่นใหม่ คณะผู้แทนถูกจับกุม ลูกเรือและเจ้าหน้าที่สถานทูตถูกตัดหัวทั้งหมดรวม 61 คน อีก 13 คนถูกส่งกลับมาเก๊า เพื่อให้ไปรายงานว่าเกิดอะไรขึ้น เพื่อเป็นการเตือนว่า ผู้นำญี่ปุ่นตั้งใจและหมายถึงอะไร สถานที่ซึ่งศพถูกฝังไว้นั้นมีเสาที่เขียนข้อความฝังลงไปไว้ว่า "การรับโทษทำนองนี้จะเกิดขึ้นกับใครก็ตามที่มาขึ้นฝั่งที่นี่จากโปรตุเกส ไม่ใช่แค่นี้หรอก แม้กระทั่งกษัตริย์จากโปรตุเกสหรือแม้แต่พระเจ้าของพวกคริสเตียน ถ้าจะมาก็จะต้องเจอกับการถูกลงโทษแบบเดียวกัน"

ดูเหมือนว่า การขู่ทำนองนี้จะได้ผล เพราะไม่มีมหาอำนาจของยุโรปกล้ามาอีกเลย จนกระทั่งกัปตัน Perry ของอเมริกาจะมาบังคับให้เปิดประเทศอีกหลังจาก 200 กว่าปีผ่านไป คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ความสามารถของญี่ปุ่น ในการต่อต้านการเข้ามาของยุโรปใน Phase ที่ 1 เป็นผลมาจากความสามารถของผู้นำโชกุน Tokugawa ในการทำให้การเมืองรวมศูนย์เป็นปึกแผ่น หยุดยั้งสงครามระหว่างเจ้านครต่างๆ ที่ดำเนินมากว่า 100 ปี รวมทั้งการตัดสินใจอย่างเด็ดขาด ทันเวลา ที่จะไม่สมาคมกับชาวตะวันตก เป็นไปได้ว่าผู้นำญี่ปุ่นในยุคนั้นมีสายตาที่ยาวไกล เพราะรู้ว่าสิ่งที่จะตามมากับพวกพ่อค้าและมิชชันนารีก็จะเป็นทหาร แล้วก็จะมายึดครอง จึงต้องป้องกันไว้ก่อน

ญี่ปุ่นเป็นข้อยกเว้นจำนวนไม่มากของแรงขับเคลื่อนที่ชาวยุโรปประมาณกว่าครึ่งโหลต้องการเอาชนะโลก แรงขับเคลื่อนนี้เป็นผลผลิตของอำนาจทางเศรษฐกิจและทางเทคโนโลยี บวกกับความสามารถในการจัดองค์กรทางการบริหารทางการเมืองและทางสังคม ซึ่งทำให้สามารถมีขีดความสามารถทางทหารของยุโรปสูงกว่าชาวโลก ขอบข่ายของมหาอำนาจทางจักรวรรดินิยมมีขึ้นมีลง เริ่มตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 และ 16 นำโดยประเทศในคาบสมุทรไอบีเรีย คือ โปรตุเกสและสเปนโดยชาว Dutch ในศตวรรษที่ 17 โดยชาวฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 18 และโดยชาวอังกฤษในศตวรรษที่ 19 และโดยรวมทั้งหมดขึ้นสู่ขีดสูงสุดในปลายศตวรรษที่ 19 หรือต้นศตวรรษที่ 20

หลังศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา นักประวัติศาสตร์เช่น Curtin เชื่อว่ายุโรปเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีการรบทางทะเล ชาวยุโรปเป็นคนแรกๆ ที่ใช้ปืนใหญ่กับเรือเดินทะเล สามารถเดินทางไกลๆ อย่างปลอดภัย คนยุโรปไม่ได้เก่งไปกว่าคนเอเชียหรือยูเรเชียในด้านการรบบนพื้นดิน

แต่กว่า 200 ปีหลังจากที่ชาวโปรตุเกสชื่อ วาสโก ดากาม่า เดินทางถึงอินเดียเป็นครั้งแรก บอกถึงการที่ยุโรปมีความเหนือและเด่นทางทะเล ไม่มีประเทศในเอเชียที่จะเอาความรู้ทางทะเลนี้ เพื่อทำให้คนเอเชียสามารถควบคุม ผูกขาดเส้นทางการค้าในสินค้าที่ไปยุโรป เหมือนกับที่โปรตุเกสเป็นผู้ผูกขาดเส้นทางการค้าของยุโรปกับเอเชียในยุคแรกๆ และทำให้เกิด Empire ที่มีลักษณะเป็นเมืองท่าทางการค้า หรือ Trading Post ของตนเอง

แต่เทคโนโลยีของยุโรปในศตวรรษที่ 19 นั้น เหนือกว่าประเทศที่ถูกยึดครองเอามากๆ โดยเฉพาะทางอาวุธ จนเกือบทำให้การรบเหมือนเป็นการล่าสัตว์

เป็นชัยชนะที่สมบูรณ์แบบ ทั้ง Penetration Conquest แล้วก็ Consolidation

Source://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q2/2007april25p1.htm


โดย: วิถีเศรษฐกิจ : POST JTEPA : ญี่ปุ่นที่ไม่เหมือนใคร (21) (moonfleet ) วันที่: 17 สิงหาคม 2556 เวลา:17:32:00 น.  

 
POST JTEPA : ญี่ปุ่นที่ไม่เหมือนใคร (22)

วิถีเศรษฐกิจ : ดร.ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 07 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

การที่ประเทศในยุโรปเพียง 8 ประเทศ สามารถครอง 80% ของพื้นผิวดินของโลกให้อยู่ใต้อาณัติของตนเมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้นั้น ยุโรปคงต้องมีความเหนือกว่าทางด้านเทคโนโลยีทางทหาร หรือการรบอย่างไม่ต้องสงสัย อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว ความยั่งยืนในการเป็นมหาอำนาจจักรวรรดินิยม จะพึ่งอำนาจทางทหารอย่างเดียวคงไม่พอ การรุกราน การบุกเบิก การสำรวจโพ้นทะเล และการแสวงหาอาณานิคม ต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมาก รัฐที่รุ่งเรืองทางเศรษฐกิจสามารถเก็บภาษีจากคนในประเทศ และดูดซับทรัพยากรจากที่อื่น ย่อมอยู่ในฐานะได้เปรียบ

เงื่อนไขเหล่านี้ทำให้ยุโรปอยู่ในฐานะได้เปรียบกว่าผู้อื่น อำนาจทางเศรษฐกิจและอำนาจทางทหารจึงต้องควบคู่กันไป เป็นวัฏจักรของความสำเร็จ ไม่ต้องดูอื่นไกล การล่มสลายของอาณาจักรโซเวียต เมื่อต้นทศวรรษ 1990 เป็นประจักษ์พยานได้อย่างดี

ศตวรรษที่ 19 เป็นยุคของการพัฒนาอุตสาหกรรม ที่ควบคู่มากับการก้าวกระโดดทางเทคโนโลยีทางการรบ เทคโนโลยีนี้ทำให้การทะลุทะลวงเข้าไปในพื้นที่ของประเทศทำได้ง่ายขึ้น จึงเป็นศตวรรษที่ territorial empire ถึงจุดสุดยอด โดยที่คนยุโรปสามารถเข้าไปปกครองประเทศอาณานิคมจริงๆ

ปรากฏการณ์เช่นนี้ ต่างไปจากการแผ่อิทธิพลของบริษัท British East India ที่เข้ามาใน Bengal ในช่วงต้นศตวรรษที่ 18 ก่อนที่อินเดียจะเป็น Crown Colony ของอังกฤษในกลางศตวรรษที่ 19 หรือต่างไปจากการผูกขาดอำนาจทางการค้าตามเมืองท่า หรือเมืองสำคัญๆ ที่พ่อค้าชาวโปรตุเกส ชาวดัตช์ หรือชาวอังกฤษ บุกเบิกขยายอิทธิพลเข้ามาในเอเชีย หรือตามชายฝั่งของแอฟริกาด้านตะวันตก จนสามารถครอบงำการค้าทาส นำทาสหลายล้านคนไปเป็นแรงงานในไร่อ้อยในทวีปอเมริกา

Philip Curtin ให้ข้อสังเกตว่า แม้กระทั่งกรณีของทวีปอเมริกา ที่ลักษณะ territorial empire ก่อตัวตั้งแต่แรกๆ ในต้นศตวรรษที่ 16 เรื่อยมา โดยสเปน โปรตุเกส อังกฤษ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ กระนั้นก็ตาม ณ ปี ค.ศ.1800 เขาคิดว่าไม่เกิน 25% ของพื้นที่ของทวีปอเมริกาอยู่ภายใต้การปกครองจริงๆ โดยชาวยุโรป

Daniel Headrick อธิบายในหนังสือ The Tools of Empire ไว้ว่า การขยายตัวของจักรวรรดินิยมในเอเชียและแอฟริกา ดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอน ก่อนที่เป้าหมายการครอบครองเป็นอาณานิคมจะบรรลุผล ขั้นแรก คือ การเจาะเข้าถึงและการสำรวจของผู้เดินทางยุคแรกๆ (Penetration and exploration) ขั้นต่อมา คือ การเอาชนะชนพื้นเมือง และเข้าปกครองประเทศในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง (Conquest) สุดท้าย คือ การที่จะทำให้อาณานิคมมีคุณค่าเป็นส่วนเสริม หรือส่วนขยายของประเทศแม่ หรือเศรษฐกิจยุโรป (Consolidation) จำเป็นจะต้องก่อให้เกิดหรือลงทุนสร้างเครือข่ายด้านการสื่อสาร คมนาคม และการขนส่ง

มองจากมิติทางด้านเทคโนโลยี กรณีของศตวรรษที่ 19 นั้น การเข้าถึงพื้นที่โดยเฉพาะด้านในของประเทศ กรณีของเอเชียและแอฟริกา เรือที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องจักรไอน้ำ และกรณีของแอฟริกา การใช้ยาควินินที่ช่วยป้องกันมาลาเรีย คือเทคโนโลยีหลักที่สำคัญ

จีนแพ้สงครามฝิ่นทั้งสองครั้งเพราะเทคโนโลยีการรบ และการป้องกันล้าหลังกว่าอังกฤษมาก จีนกับอังกฤษ (ขอใช้แทน Britain) นั้น มีความขัดแย้งกันเพราะรากเหง้าของปัญหาทางการค้า แต่การดำรงอยู่ของความขัดแย้งนี้ ดำรงอยู่ได้มาตลอดหรือมีดุลยภาพ ก็เพราะสถานภาพของเทคโนโลยีทางทหาร เหมือนช้างกับปลาวาฬ ต่างก็มีการดำรงชีวิตที่ต่างกันในทะเล อังกฤษไม่มีใครสยบได้และสามารถทำลายกองเรือของจีนและป้อมปราการชายฝั่งจีน ตรงกันข้ามเป็นอาณาจักรที่มีอำนาจบนผืนแผ่นดิน (Land Empire) มีความสนใจอยู่บ้าง ก็เรื่องของเมืองตามชายฝั่ง

ตราบใดที่ชาวยุโรปไม่สามารถที่จะทะลุทะลวงเข้ามาถึงจีนได้ จีนก็ไม่หวั่นไหวและต้องสยบต่อผู้ใด ก็เป็นเรื่องของเรือที่ขับเคลื่อนด้วยพลังไอน้ำนี่แหละ ที่สามารถจะขับเคลื่อนเข้าไปภายในของจีนตามลำแม่น้ำ และโจมตีเมืองภายใน ที่ทำให้ความยืดเยื้อและดุลยภาพที่เคยดำรงอยู่ระหว่างสองประเทศนี้ต้องสิ้นสุดลง จีนไม่ตกใจและไม่ยอมสยบให้อังกฤษเมื่อเสียเมืองกวางตุ้ง

แต่ในปี ค.ศ.1842 ปีที่ 3 ของสงครามฝิ่น ในที่สุด จีนต้องยอมแพ้ เมื่อเรือ Nemesis พร้อมด้วยกองเรือจำนวนมาก ที่สามารถจมเรือสำเภาของจีนจำนวนมากได้อย่างง่ายดาย เคลื่อนเข้ามาถึงเมืองชินเกียง ซึ่งเป็นชุมทางระหว่างแม่น้ำแยงซีเกียง กับ Grand Canal นี่เปรียบเสมือนหลอดเลือดใหญ่ที่คอของจีน Grand Canal เป็นเส้นทางหลักระหว่างเหนือกับใต้ ใช้เป็นที่ลำเลียงข้าวทางเรือจากจังหวัดเสฉวน เพื่อส่งไปเลี้ยงประชากรที่เมืองหลวงคือ ปักกิ่ง

เรือ Nemesis และกองเรือที่ขึ้นชื่อลือชาของอังกฤษนี้ มีบทบาทสำคัญในการรุกเข้าไปตามแม่น้ำอิรวดีของพม่า ในสงครามอังกฤษกับพม่าทั้ง 2 ครั้ง เมื่อปี ค.ศ.1852-1853 และปี ค.ศ.1885 เรือปืนหรือ Gun boat ทั้งของอังกฤษและฝรั่งเศส ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ทางอำนาจสำคัญของมหาอำนาจตะวันตก ตามชายฝั่งและแม่น้ำของประเทศในเอเชีย และก็เรือที่ขับเคลื่อนด้วยไอน้ำเช่นกัน ที่นำกัปตัน Perry ในปี ค.ศ.1853-1854 มาทำลายกำแพง Tokugawa ของญี่ปุ่นได้สำเร็จ

อย่างไรก็ตาม กรณีของแอฟริกาที่ประเทศในยุโรปได้เข้ามาบุกเบิกก่อนหน้าเป็นเวลานานนั้น ในต้นศตวรรษที่ 19 เรือที่ขับเคลื่อนด้วยไอน้ำไม่พอเพียงที่จะทำให้ชาวยุโรปบุกเข้าไปด้านในของทวีปแอฟริกาได้ อุปสรรคสำคัญ คือ โรคมาลาเรีย ที่อันตรายมาก เป็นลักษณะเฉพาะของทวีปนี้ ตามมาด้วยโรครองๆ อาทิเช่น ไข้เหลือง โรคบิด โรคท้องร่วง เป็นต้น

ในช่วงปี ค.ศ.1790 ซึ่งเป็นปีแรกๆ ที่ทหารยุโรปเข้าประจำการในแถบแอฟริกาตะวันตก อัตราการตายนั้นสูงถึง 46-72% การค้นพบยาควินิน หรือ Quinine prophylaxis และเริ่มใช้อย่างได้ผลราวกลางทศวรรษ 1850 เป็นการเปิดประตูของแอฟริกา นำไปสู่การยึดครองอย่างถ้วนหน้าของชาวยุโรป

เรือที่ขับเคลื่อนด้วยไอน้ำ และยาควินินช่วยลดต้นทุนได้อย่างมหาศาลในการเข้าถึงพื้นที่ประเทศในเอเชียและแอฟริกา


Source://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q2/2007april25p1.htm


โดย: POST JTEPA : ญี่ปุ่นที่ไม่เหมือนใคร (22) (moonfleet ) วันที่: 17 สิงหาคม 2556 เวลา:17:33:04 น.  

 
ญี่ปุ่นที่ไม่เหมือนใคร (23)

วิถีเศรษฐกิจ : POST JTEPA : ดร.ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

ก่อนทศวรรษ 1850 เปลือก Cinchona ที่ใช้ทำยาควินิน เกือบทั้งหมดมาจากป่าในเปรู โบลิเวีย เอกวาดอร์ และโคลัมเบีย ซึ่งเป็นผู้ผูกขาดแหล่งเดียวของโลก จนกระทั่งอังกฤษและเนเธอร์แลนด์นำเข้าเมล็ดมาปลูกที่ Madras Bengal และชวา ในอินเดีย และอินโดนีเซียตามลำดับ กลายเป็นแหล่งผลิตสำคัญของโลกต่อมา จนกระทั่งมีการคิดยา Synthetics ขึ้นในศตวรรษที่ 20

เชื่อกันว่า ในประวัติศาสตร์มนุษย์ แอฟริกาเคยถูกเรียกว่า "เป็นหลุมฝังศพของคนผิวขาว" เพราะโรคร้ายมาลาเรีย โรคบิด ไข้เหลือง หรือไข้บางชนิด แต่คนพื้นเมืองในหลายพื้นที่หรือประเทศมีภูมิคุ้มกัน และไม่ตายมากเท่าคนผิวขาว ว่ากันว่า มาลาเรียประเภท Plasmodium falciparum ในแอฟริกานั้นอันตรายที่สุด

ในสายตาของคนยุโรป จึงไม่น่าแปลกใจที่เขาเรียกทวีปนี้ว่า เป็น กาฬทวีป หรือ Dark Continent ทั้งๆ ที่เมื่อโคลัมบัสพบอเมริกาเป็นครั้งแรกนั้น โปรตุเกสคุ้นเคยกับฝั่งตะวันตกของแอฟริกาค่อนข้างดี หลังจากได้สำรวจมันอยู่นานกว่าครึ่งศตวรรษกว่า 350 ปี ชาวยุโรปจึงเลือกที่จะสำรวจ และตั้งรกรากที่อเมริกา เอเชีย และออสเตรเลีย แทนที่จะเป็นแอฟริกา ต้องมาถึงช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ที่ความเข้าใจในการป้องกัน และรักษาด้วยการกินยาควินินเป็นประจำวัน และคนตายน้อยลง ที่กระบวนการล่าแอฟริกา จึงเริ่มอย่างเป็นขบวนการ

นักประวัติศาสตร์ด้านการรบเชื่อว่า ก่อนปี ค.ศ.1900 โดยเฉพาะช่วง ค.ศ.1870-1890 ช่องว่างระหว่างขีดความสามารถทางอาวุธ อาทิเช่น ปืนของประเทศมหาอำนาจในยุโรปด้วยกันและอเมริกาจะไม่ห่างกันมาก แต่ระหว่างยุโรปกับประเทศที่ยุโรปล่าเป็นอาณานิคมนั้น ห่างกันราวฟ้ากับดิน และช่องว่างนี้แคบลงมาก เมื่อเข้าสู่ต้นศตวรรษที่ 20

ในศตวรรษที่ 19 กองทัพของมหาอำนาจในยุโรปจะใช้อาวุธคล้ายๆ กัน ผลลัพธ์ของสงครามจะขึ้นกับจำนวนทหารของแต่ละฝ่าย ยุทธศาสตร์และยุทธวิธี แต่ในส่วนอื่นของโลกที่ห่างไกล ยุโรปเอาชนะประเทศเหล่านั้นได้อย่างไร เพราะเสียเปรียบในด้านภูมิประเทศ และกองกำลังที่เล็กหรือน้อยกว่า

คำตอบก็คือ การปฏิวัติในอาวุธปืน และหลังกลางศตวรรษที่ 19 นี่แหละ ที่การเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงพื้นๆ ที่เห็นได้ชัด อาทิเช่น ในสงคราม Crimea (ค.ศ. 1853-1856) ทหารรัสเซียใช้ปืน Musket และทหารพันธมิตรใช้ปืนไรเฟิลหรือปืนยาว ที่บรรจุกระสุนจากด้านหน้า หรือปากกระบอกปืน (Muzzle-loading) หรือคนไทยเรียกกันว่าปืนลูกซอง ใช้เชื้อปะทุ ยิงไม่ได้เมื่อฝนตกหรืออากาศชื้น มีประสิทธิผลค่อนข้างต่ำ ปืนไรเฟิลในต้นศตวรรษที่ 19 ไม่ต่างกับปืน Musket ไม่เหมาะกับการทำสงครามใหญ่ เพราะใช้เวลาบรรจุกระสุนนาน 4 เท่า เมื่อเทียบกับปืน Musket และสูญเปล่าง่าย

แต่เพียงแค่ปี ค.ศ.1870 หรือไม่ถึง 20 ปี จากสงคราม Crimea ทั้งฝรั่งเศสและปรัสเซียต่างก็ใช้ปืนไรเฟิล ที่บรรจุกระสุนจากท้ายลำกล้องปืน (Breech-loading) ซึ่งมีความแม่นยำมากกว่า 5 เท่าของปืนแบบ Musket มีวิถีกระสุนที่ดีกว่ามาก ถ้าปืนไรเฟิลต้องบรรจุกระสุนจากด้านหน้า ความได้เปรียบนี้จะไม่มี เพราะมันยิงได้ช้าลง นักประวัติศาสตร์เชื่อกันว่า ยังไม่เคยมีช่วงใดของประวัติศาสตร์ที่พัฒนาการของอาวุธตั้งแต่ปืนไรเฟิล ปืนกล ถึงปืนใหญ่ สำหรับทหารราบจะเปลี่ยนแปลงแบบหน้ามือเป็นหลังมือเท่ากับในศตวรรษที่ 19

ลักษณะเด่นที่สำคัญของปืนสมัยใหม่ที่แปลก ก็คือว่าในช่วงแรกๆ ได้พัฒนามาเพื่อใช้สำหรับคนยุโรปและอเมริกันเท่านั้น แล้วก็เอาไปปราบเพื่อเอาชนะ หรือยึดครองประเทศอื่น ซึ่งล้าหลังด้านอาวุธกว่ามาก ไม่ต้องดูอื่นไกล Joseph Nedham เล่าไว้ว่า แม้จีนจะนำโลกทางเทคโนโลยีเกือบทั้งหมด จนกระทั่งศตวรรษที่ 15 แต่เมื่อจีนต้องเผชิญกับการรุกรานจากตะวันตก ในศตวรรษที่ 19 จีนมีอาวุธที่ล้าหลังไปประมาณ 100-200 ปี ป้อมปราการของจีนเป็นกำแพงธรรมดา ไม่มีคูท้องร่อง หอรบไม่มีช่องสำหรับยิงปืนบนกำแพง หรือเป็นถุงบรรจุทราย โคลน และเรือที่คว่ำแล้ว ปืนใหญ่ก็หนักและเก่า หล่อมาสำหรับจักรพรรดิราชวงศ์หมิง 3 ศตวรรษก่อนหน้า และก็ยึดติดกับตัวอาคาร ไม่สามารถยิงเป้าที่เคลื่อนที่ได้

ทหารราบของจีนก็ยังใช้ศรคันธนู มีด หอก หลาว หรือแม้กระทั่งหินและโล่เพื่อป้องกันตัว เรือสำเภาที่ใช้เป็นเรือรบก็ตื้น ไม่คล่องตัว ติดปืนขนาดเล็ก ทหารใช้ปืนน้อยและไร้ประสิทธิภาพ จึงไม่แปลกใจที่จีนในสงครามฝิ่น และพม่าเปราะบางกับการโดนโจมตี โดยเรือที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องจักรไอน้ำ และอังกฤษก็ชนะได้อย่างง่ายๆ ซึ่งต่างกับกรณีที่อังกฤษหรือฝรั่งเศสกว่าจะชนะอินเดีย และแอลจีเรียได้ ใช้เวลานาน ยากเย็น มีต้นทุนสูง เพราะฝ่ายหลังก็มีอาวุธดี

อังกฤษได้เปรียบเพราะการจัดกองทัพสมัยใหม่ที่ทรงประสิทธิภาพ เป็นเวลากว่าพันปี กองทัพสมัยก่อนจะเดินทางได้ไม่เกิน 15 ไมล์ต่อวัน แต่รถจักรไอน้ำนำกองทหารที่ใหญ่ขึ้นเดินทางได้มากกว่าวันละ 100 ไมล์ ว่ากันว่า ปรัสเซียชนะฝรั่งเศสในสงครามระหว่างปี ค.ศ.1870-1871 เพราะให้ความสำคัญกับรถไฟในการระดมคนจัดหาเสบียง

เครื่องจักรไอน้ำที่มีแรงดันสูงขึ้นในเครื่องยนต์หลายกระบอกสูบ เรือที่เป็นเรือเหล็กและเหล็กกล้าแทนเรือไม้ หรือ Wrought Iron การเปิดคลองสุเอซในปี ค.ศ.1869 ที่ช่วยเชื่อมทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกับทะเลแดง ช่วยลดระยะทาง และเวลาในการเดินทางจากยุโรปมาตะวันออก โดยไม่ต้องอ้อมแหลมกู๊ดโฮป ระบบโทรเลขจากเรือดำน้ำ เคเบิลใต้น้ำ ระบบรถไฟในประเทศอาณานิคม โดยเฉพาะในอินเดีย

เหล่านี้ล้วนเป็นเทคโนโลยีในช่วงครึ่งหลังศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 ทำให้มหาอำนาจจักรวรรดินิยม สามารถสร้างมูลค่าให้กับประเทศแม่ ทั้งในด้านการค้า เศรษฐกิจ การปกครอง และการทหาร

คำถามที่สำคัญคือ ในช่วงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ ญี่ปุ่นมีลักษณะพิเศษที่ต่างกับประเทศอื่นๆ อย่างไร

Source://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q2/2007april25p1.htm


โดย: ญี่ปุ่นที่ไม่เหมือนใคร (23) (moonfleet ) วันที่: 17 สิงหาคม 2556 เวลา:18:51:04 น.  

 
ญี่ปุ่นที่ไม่เหมือนใคร (24)

วิถีเศรษฐกิจ : POST JTEPA : ดร.ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2551

เมื่อพูดถึงความสัมพันธ์ของญี่ปุ่นกับโลกภายนอกทีใด คำถามที่ไม่เคยล้าสมัยและต้องการคำตอบก็คือ ในปี ค.ศ.1641 ทำไมผู้ปกครองญี่ปุ่นจึงตัดสินใจใช้นโยบายปิดประเทศตัวเองจากโลกภายนอก หรือที่ญี่ปุ่นเรียกว่า Sakoku ญี่ปุ่นได้หรือเสียจากการโดดเดี่ยวตัวเองไปถึง 268 ปี อาทิเช่น โอกาสทางการค้าที่น่าจะทำให้ญี่ปุ่นมีความก้าวหน้ากว่าเดิม หรือการรับวิทยาการจากต่างประเทศ อีกคำถามหนึ่งก็คือ เมื่อปิดก็ต้องมีการเปิด อะไรทำให้ญี่ปุ่นเปิดตัวเองกับโลกอีกครั้งหนึ่ง หลังกลางศตวรรษที่ 19

เวลาเราวิเคราะห์ประเทศใดประเทศหนึ่ง เราไม่สามารถละเลยปรากฏการณ์ที่เป็นจริง และอิทธิพลของภูมิภาคในบริบทของโลกทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง หรือการทหาร ที่มีต่อประเทศนั้นๆ มีนักวิชาการบางท่าน อาทิเช่น Andre Gunder Frank มองว่า โลกเศรษฐกิจที่ประกอบกันเป็นระบบนั้น เริ่มประมาณปี ค.ศ.1500 และเขาเชื่อว่าอย่างน้อย 300 ปี หรือประมาณปี ค.ศ.1800 นั้น ความเจริญ ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของเอเชีย โดยเฉพาะเอเชียตะวันออก จีน และญี่ปุ่น ไม่เคยด้อยกว่าโลกตะวันตก โดยเฉพาะก่อนอังกฤษมีการปฏิวัติอุตสาหกรรม

กรณีของญี่ปุ่น นักประวัติศาสตร์มีข้อมูลที่มากพอสนับสนุนและยืนยันว่า ช่วงที่ญี่ปุ่นปิดประเทศ เศรษฐกิจมีความก้าวหน้า ไม่ได้ถอยหลังหยุดนิ่ง แม้ว่าอัตราความเปลี่ยนแปลงจะไม่ได้ก้าวกระโดดเหมือนหลังการปฏิวัติสมัยเมจิ ค.ศ.1868 และหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างน้อยก็ยืนยันว่า การลดบทบาทของการค้ากับต่างประเทศไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าของญี่ปุ่น

โดยสภาพทางภูมิศาสตร์ ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่โดดเดี่ยวตัวเองมากอยู่แล้ว ทางฝั่งตะวันออกก็เป็นมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งมีการสำรวจน้อยมากก่อนปลายศตวรรษที่ 18 ทางเหนือก็มีขีดจำกัดทางด้านการติดต่อ เพราะสภาพภูมิอากาศ ทางตะวันออกของผืนแผ่นดินใหญ่ คือ จีนกับเกาหลีก็ยังห่างไกลกันทางทะเลถึง 500 ไมล์ และ 100 ไมล์ตามลำดับ ซึ่งไกลกว่ากรณีของอังกฤษกับภาคพื้นยุโรปมาก ญี่ปุ่นรับวัฒนธรรมจากจีนผ่านมาทางเกาหลี อาทิเช่น ปรัชญาขงจื๊อ ระบบการเขียน รวมทั้งพุทธศาสนากว่า 1,000 ปีมาแล้ว

ส่วนทางใต้ของญี่ปุ่นลงมา สภาพภูมิอากาศ และความสะดวกในการเดินเรือนอกชายฝั่งของจีนตอนใต้และหมู่เกาะ East Indies ทำให้เกิดการค้ากว้างขวาง โดยเฉพาะในศตวรรษที่ 17 ในสินค้า อาทิเช่น ข้าว เครื่องเทศ สิ่งทอ น้ำตาล ทองคำ เงิน เป็นต้น แต่แรกกระจายไปสู่พ่อค้าจากจีน ชาวอาหรับ และชาวยุโรปในเวลาต่อมา ในปลายศตวรรษที่ 16 เรื่อยมา

ช่วงก่อนที่ญี่ปุ่นจะปิดประเทศ ตอนกลางศตวรรษที่ 17 นั้น เป็นช่วงที่มีหลายปรากฏการณ์สำคัญเกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกัน คือ 1.ชาวต่างประเทศทั้งจีนและยุโรปเข้ามาค้าขายกับญี่ปุ่นมากขึ้นกว่าเดิม 2.เศรษฐกิจยุคต้น Tokugawa นี้ รุ่งเรือง บูมใหญ่ 3.มีการสถาปนาความเป็นปึกแผ่นในอำนาจจากส่วนกลางของโชกุน Tokugawa เกิดความสงบที่ตามมา รวมทั้งการสิ้นสุดสงครามการชิงความเป็นใหญ่ หรือที่เรียกว่า Senkoku ระหว่างเจ้าเมืองต่างๆ

ในทางการค้า นั้น ดูเหมือนญี่ปุ่นไม่ได้สูญเสียอะไรไปมากจากการปิดประเทศ เพราะญี่ปุ่นมีความพอเพียงทางด้านอาหาร ญี่ปุ่นขาดแคลนสินค้าที่จะขายจนเป็นโจรสลัด ญี่ปุ่นต้องปล้นเรือจีน จนจีนสั่งระงับไม่ค้าขายกับญี่ปุ่นอยู่ช่วงหนึ่ง แม้กระทั่งเมื่อญี่ปุ่นรุกทางการค้าเข้ามาในอินโดจีนและในสยาม ที่นักรบชาวญี่ปุ่นได้เข้ามามีบทบาททางการเมือง ในสมัยพระเจ้าทรงธรรม สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่โดยรวมบทบาทและสถานภาพการค้าของญี่ปุ่นในเอเชียก็ยังเป็นเพียงส่วนน้อย กิตติศัพท์ความคมของดาบญี่ปุ่นที่ซามูไรใช้ ทำให้เป็นที่ต้องการในยุโรปและเอเชีย

ในกรณีของโลหะเหรียญเงิน จีนต้องการเงินจากญี่ปุ่นมาก เหมืองผลิตเงินของญี่ปุ่นเป็นแหล่งอุปทานสำคัญของเงิน (แม้ภายหลังจะหมดความสำคัญลง) ในเอเชียนอกจากสเปนที่ได้มาจากอเมริกาใต้ โดยที่ญี่ปุ่นแลกกับผ้าไหมและไหมดิบจากจีนสำหรับการทอผ้าคุณภาพดี ซึ่งเป็นที่ต้องการของชนชั้นสูงที่เกียวโต ความรุ่งเรืองของเหมืองผลิตซิลเวอร์ของญี่ปุ่นนี้ เป็นที่ต้องตาของยุโรปเช่นกัน ทำให้ญี่ปุ่นดูเหมือนเป็นยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจในขณะนั้น และภาพนี้ฝังอยู่ในความทรงจำของยุโรปเรื่อยมา แม้กระทั่งเมื่อเหมืองเงินเริ่มหมดไป สังเกตว่าการค้าในลักษณะพิเศษนี้ระหว่างจีนกับญี่ปุ่นนี้ ต่างไปจากการค้าที่มีมูลค่าต่ำ ปริมาณมากๆ ในการค้าปกติทั่วๆ ไป

โชกุน Tokugawa คงตระหนักว่า การค้าของชาวยุโรปเป็นกลไกขั้นแรกของการเข้ามาครอบงำและยึดครองญี่ปุ่น รวมทั้งการเข้ามาเผยแผ่ศาสนาเพื่อเปลี่ยนศาสนาของคนญี่ปุ่น โดยเฉพาะพวกคาทอลิกจากมิชชันนารีชาวโปรตุเกส เมืองนางาซากิและสภาพที่ตั้งของเกาะกิวชิวทางใต้ที่ชาวยุโรปมาเพ่นพ่านนั้น ก็อันตรายต่อการแทรกซึม หรือการจับมือกันระหว่างเจ้าเมืองหรือ Daimyo กับชาวต่างประเทศ เพื่อความเป็นอิสระจากโชกุน จึงต้องมีการควบคุมและหยุดยั้ง

จังหวะการปิดและเปิดประเทศมีความเป็นเหตุเป็นผลเช่นกัน โชกุนญี่ปุ่นรู้ดีว่า ขณะนั้น ประเทศในยุโรปยังอ่อนแอ ปลายศตวรรษที่ 16 และต้นศตวรรษที่ 17 ประเทศตะวันตก อาทิเช่น โปรตุเกส ดัตช์ สเปน อังกฤษ ฝรั่งเศส แม้จะเริ่มรุกเข้ามาในเอเชีย มีปืนใหญ่ แต่ก็ยังไม่น่ากลัว เพราะประเทศเหล่านี้ยังทำสงครามกันถี่ ยุโรปขณะนั้นยังสนใจอินเดียมากกว่าทางเอเชียตะวันออก แต่หลังกลางศตวรรษที่ 19 และอำนาจทางเทคโนโลยีทางทหารของยุโรปเหนือกว่าเอเชียมาก ญี่ปุ่นรู้ดีว่า ถ้าดันทุรังสู้ก็จะแพ้ นอกจากนี้อังกฤษ ฝรั่งเศสก็เป็นพันธมิตรกันแล้วในการรุกเข้ามาในจีนหลังสงครามฝิ่น ญี่ปุ่นเริ่มเห็นภัยใกล้ตัว เมื่อเห็นมหาอำนาจตะวันตกรุกเข้ามาในจีน

แม้ญี่ปุ่นปิดประเทศ ญี่ปุ่นไม่ได้ละเลยวิทยาการที่จำเป็นจากตะวันตก ผ่านการเรียนรู้จากความรู้ที่มีการเขียนไว้จากชาวดัตช์ และก็ใช้ภูมิปัญญาของตนเองในการสร้างประเทศ ญี่ปุ่นทำอย่างไร

Source://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q2/2007april25p1.htm


โดย: ญี่ปุ่นที่ไม่เหมือนใคร (24) (moonfleet ) วันที่: 17 สิงหาคม 2556 เวลา:18:52:23 น.  

 
ญี่ปุ่นไม่เหมือนใคร (25) ทิ้งปืน กลับไปใช้ดาบ

วิถีเศรษฐกิจ : POST JTEPA : ดร.ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 02 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

ญี่ปุ่นทำตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับโลกตะวันตกในการปิดประเทศ เพราะนั่นกลับเป็นช่วงเวลาที่ยุโรปออกไปจับจองโลก แม้ว่าในปลายศตวรรษที่ 16 ก่อนจะปิดประเทศ โชกุน Hideyoshi ครั้งหนึ่งก็อยากจะครองโลกด้วยการรุกเข้าไปในจีน ในขณะนั้น ถ้ายึดครองจีนได้ก็ครองโลกได้ โดยเริ่มต้นที่เกาหลีแต่ไม่สำเร็จ เพราะจีนช่วยเกาหลี และเขาเสียชีวิตลงเสียก่อน เมื่อสันติภาพกับเกาหลีและจีนเกิดขึ้น และการสู้รบแย่งชิงความเป็นใหญ่ในประเทศ ซึ่งดำเนินมาเป็นร้อยๆ ปีสิ้นสุดลง ความสงบและเสถียรภาพภายในที่เกิดขึ้น ทำให้ญี่ปุ่นมีทางเลือกในวิถีของตนเอง

ทางเลือกหนึ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นญี่ปุ่นที่ไม่เหมือนใคร แม้แต่ละเหตุการณ์จะเป็นเหตุการณ์เล็กๆ ที่นักประวัติศาสตร์ไม่ได้บันทึกและให้ความสำคัญกับมันมากนัก คือ ทางเลือกระหว่างการใช้เทคโนโลยีทางอาวุธสมัยใหม่คือ ปืน ที่น่ากลัว อันตราย นำเข้ามาจากภายนอก กับดาบและอาวุธอื่นๆ ที่เป็นหัวใจสำหรับนักรบญี่ปุ่นแต่ไหนแต่ไรมา วิวัฒนาการของการเลือกให้ความสำคัญระหว่างปืนกับดาบนั้น บอกอะไรหลายๆ อย่างถึงความไม่เหมือนใครของญี่ปุ่น Noel Perrin เล่าไว้ใน Giving up the gun

มันบอกว่า ถ้าญี่ปุ่นจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยี หรือแม้กระทั่งวัฒนธรรมของผู้อื่น อาทิเช่น จากตะวันตกหรือจากจีน คนญี่ปุ่นมีขีดความสามารถสูง สามารถซึมซับและพัฒนาให้เหมาะกับสังคมของตนได้ดีกว่าต้นตำรับด้วยซ้ำ

ตัวอย่างเรื่อง อาวุธปืนนี้ชัดเจนมาก ปืนมาที่ญี่ปุ่นครั้งแรกโดยชาวโปรตุเกสในปี ค.ศ.1543 เพราะเรืออับปาง ญี่ปุ่นรับมาใช้ทำปืนเองทันทีที่เมือง Tanegashima คนญี่ปุ่นใช้คำนี้แทนปืน หรือ Teppo เล่ากันว่า ช่างดาบของเมืองนี้ต้องยกลูกสาวอายุ 17 ปีให้กับกัปตันเรือชาวโปรตุเกส เพื่อให้ได้มากับการแก้ปัญหากลไกของ Spring ในลำกล้องท้ายปืน ภายใน 1 ปีช่างดาบนี้ก็ทำปืนได้ เกิดช่างปืนทั่วประเทศ ปืนกลายเป็นอาวุธใหม่ 10 ปีต่อมา รวมทั้งทักษะปืนของซามูไร ในปี ค.ศ.1575 ปืนกลายเป็นอาวุธที่ตัดสินชัยชนะในการรบภายในที่สำคัญของญี่ปุ่น

ปืนใช้กันมากในญี่ปุ่นประมาณเกือบร้อยปี จากนั้นก็ค่อยๆ ถูกทิ้งหรือเลิกใช้เมื่อญี่ปุ่นเข้าสู่ความสงบ และมีการรวมประเทศเป็นปึกแผ่น โดยรัฐบาลทหารศักดินาโชกุนตระกูล Tokugawa ตอนใช้ทุกคนรู้และเห็นมัน แต่ตอนเลิกเป็นไปอย่างช้าๆ ไม่โจ่งแจ้ง ศตวรรษที่ 16 ของญี่ปุ่นนั้น ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีสูงไม่แพ้ยุโรป ญี่ปุ่นเรียนรู้ที่จะหล่อปืนใหญ่ที่มีขนาดใหญ่ มีความก้าวหน้าทางวิศวกรรมและโลหวิทยา

คนญี่ปุ่นรบราฆ่าฟันกันเองมาตลอดเป็นร้อยๆ พันๆ ปี เพราะฉะนั้น ช่วงที่ฝรั่งเอาปืนเล็กเข้ามา จึงเป็นช่วงที่ปืนเหมาะกับการสู้รบมาก ช่วง ค.ศ.1490-1600 เป็นช่วงที่คนญี่ปุ่นเรียกว่า Sengoku Jidai หรือยุคที่ประเทศมีแต่สงคราม เชื่อกันว่าในช่วงนั้น ญี่ปุ่นใช้ปืนมากกว่าประเทศใดๆ

นักประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นมักจะพูดว่า คนอาหรับ อินเดีย และจีน ล้วนใช้ปืนก่อนญี่ปุ่น แต่ญี่ปุ่นนี่แหละที่เชี่ยวชาญในการผลิตปืนเป็นล่ำเป็นสัน ในปริมาณที่มาก หรือมี Economies of scale และมีขีดความสามารถทางเทคโนโลยี เหล็ก และโดยเฉพาะทองแดงของญี่ปุ่นมีคุณภาพและถูกกว่าของยุโรป แม้ค่าขนส่งจะแพง พ่อค้าดัตช์ยังพบว่าคุ้มในการส่งทองแดงจากญี่ปุ่นไป Amsterdam เพื่อใช้ทำปืนใหญ่

ดาบของญี่ปุ่นไม่มีใครเทียบได้ในความคมของใบมีด ได้พิสูจน์กันมาแล้วในการผ่าตะปูขนาดใหญ่ และเคยตัดดาบของยุโรปเป็นสองท่อน การที่ญี่ปุ่นมีเทคโนโลยีในการทำดาบที่คมมีคุณภาพ จึงเป็นการไม่ยากที่จะเรียนรู้และดัดแปลงเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับปืน เพียงปีเดียวคือปี ค.ศ.1483 ญี่ปุ่นเคยส่งออกดาบไปจีนสูงถึง 67,000 เล่ม ประเทศสยามก็เป็นลูกค้าญี่ปุ่น ญี่ปุ่นตอนนั้นจึงเป็นผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่ที่สำคัญ

ที่ญี่ปุ่นเก่งในการผลิตและใช้อาวุธนั้น เป็นเพราะประเทศนี้เป็นประเทศของทหาร St.Francis Xavier เขียนไว้ในปี ค.ศ.1552 หลังจากที่อยู่ญี่ปุ่นมาสองปีว่า

"พวกเขายกย่องและให้เกียรติกับอะไรที่เกี่ยวข้องกับสงคราม และไม่มีอะไรที่เขาจะภูมิใจ เท่ากับอาวุธที่ตกแต่งด้วยทองคำ และเงิน พวกเขาจะสวมชุดที่มีดาบทั้งใน และนอกบ้าน และเมื่อเข้านอนก็จะแขวนไว้ที่หัวเตียง พวกเขาให้ความสำคัญกับอาวุธ มากกว่าชนชาติใดๆ ที่เคยเห็นมา"

สำหรับชายฉกรรจ์ของญี่ปุ่นในศตวรรษที่ 16 ไม่มีอะไรที่สำคัญไปกว่าเกียรติยศ ความรุ่งโรจน์ทางทหาร

ปืนสมัยโบราณที่ญี่ปุ่นรับมา ไม่ว่าจะเป็นปืนที่เหมือนใช้ไม้ขีดไฟไปจุดที่ชนวน ทำให้ดินปืนขับหัวกระสุนออกจากลำกล้อง หรือปืนที่ใช้ชั้นหินไฟจุดชนวน เพื่อให้ดินปืนขับหัวกระสุน ใช่ว่าจะได้รับการยอมรับกันทั่วไปในระยะแรกๆ เสียทีเดียว ที่สำคัญคือมันโบราณมาก ต้องบรรจุกระสุนจากปากกระบอกปืน ยิงได้ช้า ใช้เวลา 10-15 นาทีที่จะบรรจุกระสุน ยิงได้ในรัศมี 80-100 หลาเท่านั้น เวลาฝนตกใช้ไม่ได้เลย นี่เป็นเรื่องของความบกพร่องทางเทคนิค และในช่วงแรกๆ พวกที่ใช้ปืนแล้วแพ้ก็มี เพราะความช้าในการสับไกและจุดชนวนไฟ แต่ปัญหาเหล่านี้ล้วนได้รับการแก้ไขและพัฒนาในญี่ปุ่น ไปไกลกว่าของในยุโรป อาทิเช่น เพิ่มขนาดลำกล้องปืนและทำกล่องที่เคลือบด้วยแลคเกอร์ หุ้มสายชนวนและดินปืน ทำให้สามารถเพิ่มรัศมีการยิงและสามารถใช้ในประเทศที่ฝนตกมากอย่างญี่ปุ่น

แต่กระแสที่ไม่ยอมรับปืนที่สำคัญนั้นเกิดจากปัญหาทางสังคม ประเพณีของการต่อสู้ของนักรบญี่ปุ่นนั้น มีพิธีรีตองเหมือนกับต้องมีการไหว้ครู มีการแนะนำให้เกียรติซึ่งกันและกันระหว่างคู่ต่อสู้ บ่อยครั้งในอดีต แชมเปี้ยนมักจะอวดอ้าง คุยโม้สรรพคุณและเกียรติคุณของตัวเอง พิธีการแบบนี้ยังใช้อยู่ในช่วงแรกๆ ของการนำปืนมาใช้ อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ปืนมีการใช้สูงสุด มีพัฒนาการคู่ขนานไปกับการต่อต้านอย่างเงียบๆ เสมอมา

เหตุผลที่สำคัญ ก็คือ อาวุธที่มีประสิทธิภาพ ได้ข่มและดับรัศมีของคนที่ใช้มัน


Source://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q2/2007april25p1.htm


โดย: ญี่ปุ่นไม่เหมือนใคร (25) ทิ้งปืน กลับไปใช้ดาบ (moonfleet ) วันที่: 17 สิงหาคม 2556 เวลา:18:54:00 น.  

 
ญี่ปุ่นไม่เหมือนใคร (26) ทิ้งปืน กลับไปใช้ดาบ

วิถีเศรษฐกิจ : POST JTEPA : ดร.ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กรุงเทพธุรกิจ วันเสาร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

ถ้านับจำนวนปืนในศตวรรษที่ 16 เชื่อกันว่ามีการใช้ปืนในญี่ปุ่นมากกว่าทุกที่ในโลก แต่นักรบพันธุ์แท้ หรือชนชั้น BUSHI ดูถูก และไม่ต้องการใช้มันด้วยตัวเอง ที่แน่ๆ อาวุธที่มีประสิทธิภาพได้ดับรัศมีของคนที่ใช้ ปืนที่ชาวยุโรปนำมานั้น ทำให้การรบเป็นการรบระดับมวลชน ใช้คนจำนวนมาก แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับการรบก่อนหน้า ซึ่งมักจะเป็นการสู้รบกันบ่อยครั้ง แต่ละครั้งสู้กันประปราย เป็นกลุ่มเล็กๆ มีพิธีการแนะนำตัวและจับคู่สู้กันด้วยดาบ นักรบมีศักดิ์ศรี มีเกียรติยศ มีวีรบุรุษ

ทำไมญี่ปุ่นหลังสงบศึกกับเกาหลีในปลายศตวรรษที่ 16 จึงค่อยๆ เลิกใช้ปืน ขณะที่ยุโรปกลับเดินหน้าพัฒนาต่อ NOEL PERRIN ในหนังสือของเขาชื่อ GIVING UP THE GUN ให้ไว้ 5 สาเหตุใหญ่ๆ

ประการแรก คือ ชนชั้นนักรบของญี่ปุ่นซึ่งไม่ชอบและดูถูกปืนมีจำนวนมากกว่าของยุโรปมาก เชื่อว่า จำนวนซามูไรทุกระดับในปลายศตวรรษที่ 16 น่าจะมีประมาณ 2 ล้านคน หรือประมาณ 8% ของประชากร ซึ่งถ้าเทียบกับอังกฤษและประเทศในยุโรปในช่วงเวลาเดียวกันนั้น อังกฤษจะมีขุนนางตั้งแต่ลอร์ดลงมา หรือชนชั้นนักรบอัศวินไม่ถึง 1%

สาเหตุที่สอง ก็คือ สภาพภูมิศาสตร์ คนญี่ปุ่นดุร้ายเกินไปกว่าที่ใครจะเข้ามารุกรานและเอาชนะ คนโปรตุเกสนั้นไม่เคยแม้แต่คิดที่จะพยายาม ในกรณีของสเปนนั้น กษัตริย์สเปนเคยมีพระบรมราชโองการ ห้ามไม่ให้ผู้นำทหารในเขตแปซิฟิกมีเรื่องกับทหารญี่ปุ่นเด็ดขาด และทหารสเปนก็เคยแพ้ในการสู้กันกับซามูไรที่ถูกเนรเทศ หรือที่เรียกว่า RONIN ในประเทศสยามเมื่อปี ค.ศ.1620 แม้จีนก็เช่นกัน อาจจะเคยชนะในการสู้รบเคียงบ่าเคียงไหล่ในสงครามเกาหลีในปลายศตวรรษที่ 19 แต่จีนก็รู้ดีว่าจะไม่สามารถเอาชนะญี่ปุ่นได้ง่ายเลย ถ้าบุกญี่ปุ่น เกาะญี่ปุ่นนั้นโดยธรรมชาติยากที่ข้าศึกจะบุกเข้ามา การรักษาอธิปไตยทางด้านอาณาเขตพื้นที่ จึงสามารถทำได้โดยใช้อาวุธแบบดั้งเดิม

ดาบญี่ปุ่นเป็นสัญลักษณ์ทางคุณค่ามากกว่ากรณีของดาบที่ใช้ในยุโรป เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่สำคัญ สำหรับนักรบญี่ปุ่น เขารู้สึกเป็นความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่กว่าเมื่อปืนเข้ามาแทนที่ดาบ ในญี่ปุ่นนั้น ดาบไม่ใช่เป็นเพียงอาวุธที่ใช้ต่อสู้เท่านั้น มันเป็นเกียรติยศที่มองเห็นได้ และเป็นสิ่งเดียวเมื่อนักรบสวมเครื่องแต่งกาย และเป็น "จิตวิญญาณของซามูไร" แม้จะเป็นเช่นนี้ในยุโรปในการเป็นอัศวิน แต่ความยิ่งใหญ่ไม่เหมือนกัน เป็นพันๆ ปี ที่ชายฉกรรจ์ชั้นสูงของญี่ปุ่นไม่สวมแหวนใดๆ รวมทั้งแหวนที่ฝังอยู่กับเสื้อเกราะ ไม่สวมใส่อัญมณี หรือเครื่องตกแต่งทางทหารใดๆ ทุกอย่างรวมศูนย์อยู่ที่ดาบที่ใช้สำหรับการต่อสู้ และความสวยงามของด้ามดาบ

พูดอีกอย่าง ก็คือ ดาบนั้นเป็นเครื่องชี้ความสัมพันธ์ทางสังคม ที่มีความสำคัญมากกว่าระบบศักดินาของยุโรป ในระบบศักดินาของญี่ปุ่นนั้น คุณไม่สามารถจะมีนามสกุลด้วยซ้ำไป ถ้าคุณไม่สวมดาบกับเครื่องแต่งกาย ชาวนาและพ่อค้าญี่ปุ่นในยุคศักดินาจะไม่มีสิทธิทั้งสองอย่าง แม้ว่าสามัญชนอาจจะได้อภิสิทธิ์นี้บ้างเป็นครั้งคราว คนญี่ปุ่นเรียกว่า MYOJI-TAITO

ดาบนั้นสำคัญอยู่ในหัวจิตหัวใจของนักรบญี่ปุ่นแค่ไหนดูได้จากความรัก ความหวงแหนที่นักรบแสดงออก อาทิเช่น กรณีการสู้รบในปี ค.ศ.1582 นายพล HORI HIDEMASA (นามสกุลจะเขียนไว้ก่อนชื่อต้น ตามธรรมเนียมปฏิบัติของญี่ปุ่น) กำลังล้อมและเผาปราสาทของขุนนาง AKECHI MITSUHIDE ที่เมือง SAKAMOTO ความตายนั้น AKECHI ไม่กลัว แต่มีทุกข์ที่คิดว่าดาบที่ตัวเองสะสมมานั้นจะไหม้วอดวายไปพร้อมกับปราสาท เขาต้องร้องขอให้ HORI หยุดรบ มาเอาดาบของเขาที่สะสมไว้ไป และบอกว่าจะได้ตายอย่างมีความสุข ซึ่งวันรุ่งขึ้น เขาก็มีความสมหวัง

เหตุผลที่สี่ ก็อาจจะเป็นเพราะว่าโชกุนญี่ปุ่นจะต่อต้านอะไรที่นำมาจากข้างนอก เห็นได้จากการต่อต้านศาสนาคริสต์และทัศนคติของตะวันตกในเรื่องธุรกิจ ในกรณีของศาสนาคริสต์นั้น หลังจากปี ค.ศ. 1616 ในญี่ปุ่นถือว่าเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย และญี่ปุ่นก็ไม่ต้อนรับชาวต่างประเทศหลังปี ค.ศ. 1636 ยกเว้นชาวดัตช์จำนวนหนึ่งในพื้นที่เฉพาะ ในกรณีของนักธุรกิจนั้น โชกุนมีทัศนคติต่อนักธุรกิจยุโรปว่า เป็นพวกที่ตกอยู่ในความโลภเอาแต่ได้

เหตุผลสุดท้ายแต่ก็สำคัญมาก ในทัศนะของ PERRIN เป็นเรื่องของความงาม คุณค่าในทางสัญลักษณ์ของดาบในญี่ปุ่นนั้น จะไม่ขึ้นอยู่กับการที่เราจะใช้มันอย่างไรในการสู้รบ อาวุธอะไรก็ใช้เป็นสัญลักษณ์ได้ทั้งนั้น อาทิเช่น ปืน COLT REVOLVER ในตะวันตกของอเมริกา หรือหลาวในแอฟริกา แต่ดาบนั้นจะมีความสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวของร่างกายที่มีความสง่างาม ในกรณีนี้ ปืนกับดาบนั้นเทียบกันไม่ได้ ดาบนั้นสง่างามมากกว่าปืน ทุกกาลเวลา ทุกสถานที่ ไม่ต้องดูอื่นไกล ฉากการฟันดาบกันในภาพยนตร์ที่ใช้เวลายาวนานนั้น มองดูจะคล้ายๆ กับการเต้นบัลเลต์ที่แฝงไว้ด้วยอันตราย ขณะที่ฉากการดวลปืนกันที่ต่อเนื่องยาวนาน ดูจะเป็นการต่อสู้กันที่มีลักษณะใช้ความรุนแรงดิบๆ ซึ่งเรื่องนี้คนอเมริกันก็คงยอมรับ

การสู้รบกันด้วยดาบนั้นมีอะไรที่แฝงอยู่มากกว่านั้น ในทฤษฎีเกี่ยวกับเรื่องความงามของคนญี่ปุ่นนั้น คนญี่ปุ่นมีวัฒนธรรม ว่า คนในชนชั้นหนึ่งควรจะมีการเคลื่อนย้ายตนเองในลักษณะใด อาทิเช่น ควรจะยืนหรือนั่ง หรือคุกเข่า เป็นเรื่องที่ดีที่เขาควรจะเอาเข่ายึดเข้าหากัน พร้อมกับมือสองมือ ซึ่งถือเป็นการรวมสมาธิของกาย จิต และพลัง คนที่ถือและยิงปืนโบราณไม่จำเป็นจะต้องเคลื่อนไหวร่างกายของตัวเอง เหมือนกับการเคลื่อนไหวร่างกายของคนที่ใช้ดาบ โดยเฉพาะเมื่อคนญี่ปุ่นใช้สองมือในการจับดาบ ที่เรียกว่า KATANA เชื่อกันว่า แม้กระทั่งกับปืน คนญี่ปุ่นจะพยายามถือมันอย่างสง่า

ในบางสังคมของญี่ปุ่น การปฏิบัติทำตนในลักษณะนี้ยังมีอยู่แม้แต่ในทศวรรษ 1970 อาทิเช่น พิธีชงชาของญี่ปุ่น ที่ให้ความสำคัญกับความสวยงาม

Source://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q2/2007april25p1.htm


โดย: ญี่ปุ่นไม่เหมือนใคร (26) ทิ้งปืน กลับไปใช้ดาบ (moonfleet ) วันที่: 17 สิงหาคม 2556 เวลา:18:55:22 น.  

 
ญี่ปุ่นไม่เหมือนใคร (27) ทิ้งปืน กลับไปใช้ดาบ

วิถีเศรษฐกิจ : POST JTEPA: ดร.ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

เพราะไม่มีการประกาศยกเลิกอย่างเป็นทางการ จึงบอกไม่ได้ว่าญี่ปุ่นเลิกใช้ปืนตั้งแต่เมื่อไหร่ บทบาทของปืนที่ลดลงจนแทบไม่มีบทบาท เป็นไปอย่างช้าๆ ใช้เวลาหลายสิบปี เริ่มตั้งแต่โชกุน Ieyasu รุ่นแรกของตระกูล Tokugawa และต่อเนื่องมาจนถึงโชกุนคนที่ 15 ราวกลางศตวรรษที่ 19 ไม่เคยมีการยกเลิกนโยบายของ Ieyasu เป็นเวลากว่า 200 ปี

การรังเกียจและไม่นิยมใช้ปืนของชนชั้นนักรบนั้นเป็นเรื่องหนึ่ง แต่การที่จะคุมการผลิตและการใช้ปืนเป็นคนละเรื่อง ช่วงเวลาเดียวกันในอังกฤษหรือฝรั่งเศส การที่จะครอบครองปืนโดยได้รับอนุญาตจากรัฐไม่ใช่เรื่องแปลก อังกฤษสมัยเฮนรี่ที่ 8 ก็เคยออก Act of parliament ค.ศ.1523 โดยกำหนดให้คนที่จะมีปืนต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 100 ปอนด์ แต่การบังคับใช้กฎหมายทำได้บ้างไม่ได้บ้าง

ญี่ปุ่นควบคุมการผลิตปืน โดยกำหนดแหล่งผลิตและรวมช่างปืนไว้เพียง 2 เมือง คือเมือง Nagahama และเมือง Saki การไม่อนุมัติเมื่อมีผู้ขอผลิตและครอบครอง หมายความว่าในทางปฏิบัติ ความต้องการจากรัฐเป็นตัวกำหนดจำนวนปืน ที่ผลิตขึ้นในแต่ละปี เมื่อรัฐต้องการน้อย บวกกับการเข้ายึด และบังคับให้ชาวนาส่งมอบปืนให้แก่รัฐ เวลาผ่านไปช่างปืนเกือบทั้งหมดไม่สามารถมีรายได้พอ ต้องกลับไปเป็นช่างดาบ ความสำเร็จในการทำให้ญี่ปุ่นเป็นปึกแผ่น รวมศูนย์อำนาจไว้ที่ Edo มีสันติภาพความสงบปราศจากสงคราม โดยโชกุนตระกูล Tokugawa ก็เป็นปัจจัยสำคัญ ตั้งแต่การก่อกบฏของชาวนาในปี ค.ศ.1637 ซึ่งเป็นสงครามที่ใช้ปืนกันเต็มที่ ปืนหมดบทบาทในสงครามอย่างสิ้นเชิง ดาบ คันธนู หอก หลาว เป็นอาวุธสำคัญในการสู้รบ

ญี่ปุ่นควรให้ความสำคัญกับการป้องกันชายฝั่ง แต่การวิจัยและพัฒนาปืนในญี่ปุ่นหยุดชะงัก ตอนที่กัปตันเรือ Perry มาที่อ่าวโตเกียว เขามากับเรือติดปืนใหญ่ขนาด 65 ปอนด์ แต่ของญี่ปุ่นเป็นปืนที่มีน้ำหนักเพียงแค่ 8 ปอนด์ กลางศตวรรษที่ 18 ปืนใหญ่ที่ญี่ปุ่นใช้ป้องกันชายฝั่ง ยังเป็นปืนที่ใช้ไม้ขีดไฟจุดชนวน ในยุโรป ปืนมีสมรรถนะสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างช้าๆ เช่น ญี่ปุ่นไม่สนใจพัฒนาปืนที่ใช้หินไฟจุดชนวนในกลางศตวรรษที่ 17 ที่ชาวดัตช์แนะนำเข้ามา เพื่อเอามาแทนปืนที่จุดชนวนด้วยไม้ขีดไฟในการขับหัวกระสุน ทั้งๆ ที่ญี่ปุ่นมีหินไฟจำนวนมาก แต่กลับไปใช้หินไฟทำเป็นเครื่องจุดบุหรี่ เพื่อสูบ Pipe โดยขุนนางชั้นสูง เป็นความไม่สนใจมากกว่าการไม่มีความสามารถ

ในเรื่องการป้องกันชายฝั่งนั้น มีเรื่องเล่ากันว่า ญี่ปุ่นมีวิธีพรางตาข้าศึกได้อย่างแยบยล ราวๆ มิถุนายน ค.ศ.1846 เรือล่าปลาวาฬของอเมริกาที่จมลง รอดตายมาอยู่ที่ท่าเรือของเกาะ Itorufu กะลาสีเรือ George Howe เล่าไว้ว่า เมื่อเข้ามาใกล้ฝั่ง เขาคิดว่าเขาเห็นป้อมปราการ แต่เมื่อเข้ามาใกล้ๆ สิ่งที่เห็นกลับกลายเป็นผ้าผืนยาวกว่า 1 ไมล์ มีภาพบนผืนผ้าเป็นป้อมที่มีปืน เมื่อเข้ามาใกล้ก็มีชายฉกรรจ์ประมาณ 60 คน พร้อมดาบและหอกกรูกันเข้ามาหา นี่คงเป็นกลยุทธ์ในการป้องกันชายฝั่งของญี่ปุ่น ที่ทำให้ญี่ปุ่นอยู่รอดมาได้ยาวนานโดยใช้การลงทุนที่น้อยมาก

กัปตันเรือ Perry ของอเมริกา น่าจะเป็นคนที่เปลี่ยนให้ญี่ปุ่นต้องทวนเข็มนาฬิกาใหม่ ทิ้งดาบแล้วกลับมาใช้ปืนใหม่ เพื่อความอยู่รอดของชาติในการเผชิญกับชาติตะวันตก แม้จะต้องใช้เวลาอีกกว่า 20 ปีหลังการมาของเขา เมื่อโชกุน Tokugawa ถูกโค่นล้มหมดอำนาจ อาวุธสมัยใหม่มากับการมีกองทัพแห่งชาติมาพร้อมกับการยกเลิกชนชั้นนักรบซามูไร

ประสิทธิภาพระหว่างปืนกับดาบนั้น เมื่อเป็นการรบเต็มรูปแบบ ผลลัพธ์จะเป็นเพียงด้านเดียวคือ ปืนเป็นฝ่ายชนะตลอด ในการรบที่สำคัญตั้งแต่ที่ Nagashino ปี ค.ศ.1575 สงครามกบฏในปี ค.ศ.1637 และครั้งสุดท้ายการกบฏของซามูไรที่ถูกสั่นคลอนอำนาจ และวิถีชีวิตที่เคยมีมาเป็นเวลาหลายร้อยปีในช่วงปี ค.ศ.1876 และ 1877 หลังการปฏิรูปเมจิ ดาบของซามูไร 170 คนอาจจะฆ่าทหาร 300 คนของรัฐบาลใหม่เมจิในช่วงแรก แต่หนึ่งปีถัดมาในกบฏ Satsuma คราวนี้ซามูไรกบฏ 40,000 คน ต้องสยบกับปืนที่ทันสมัยของรัฐบาล

ตั้งแต่ปี ค.ศ.1878 ทัศนะของญี่ปุ่นเกี่ยวกับเรื่องอาวุธปืน ได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง และรวมถึงเรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยีและความทันสมัยที่เริ่มเป็นทัศนะคติที่เหมือนในสังคมอุตสาหกรรมตะวันตกที่เจริญมาก่อนหน้า และเมื่อญี่ปุ่นหมุนทวนเข็มนาฬิกา มันเกิดขึ้นในอัตราเร่งที่ค่อนข้างเหลือเชื่อ ยังไม่พูดถึงเรื่องเศรษฐกิจ ในด้านการทหาร เพียงไม่ถึง 50 ปี คือภายในปี ค.ศ.1900 นั้น เชื่อกันว่าญี่ปุ่นเริ่มไล่ทันโลกตะวันตก

ถ้าเราลองมองจากบริบทของปัจจุบัน เมื่อพิจารณาจากความสำเร็จของญี่ปุ่นอย่างรวดเร็วหลังจากนั้น เราจะสรุปได้ไหมตามมุมมองที่แหลมคมของ Perrin ว่า

"ถ้าการทิ้งปืนเป็นเวลา 250 ปีนั้น เปรียบเสมือนการถดถอยทางเทคโนโลยีของญี่ปุ่นแล้ว การถอยหลัง ไม่ได้ส่งผลที่มีความสำคัญเลย เพียงแต่ว่ามันเป็นเหตุการณ์ที่แปลกประหลาดในทางประวัติศาสตร์ ในสังคมที่ศิวิไลซ์นั้น การเลือกที่จะหมุนทวนเข็มนาฬิกากลับ หรือเลือกเทคโนโลยีที่ล้าหลังมีความเป็นไปได้"

การกลับไปอยู่กับอดีต ไม่ใช่เกิดกับญี่ปุ่นเท่านั้นในกรณีการเลือกระหว่างปืนกับดาบ พระราชินีอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษ ก็เคยทรงปฏิเสธข้อเสนอของขุนนางใกล้ชิด และปฏิเสธการให้สิทธิบัตรกับการร่วมลงทุนในโรงงานต้นแบบ ที่จะประดิษฐ์เครื่องจักรเย็บผ้าแทนการถักด้วยมือ ในการทำถุงเท้าสำหรับใช้ในอังกฤษ พระราชินีทรงตรัสเรื่องนี้ว่า "ราษฎรของฉันได้อาหาร ขนมปังมาจากการถักเสื้อด้วยมือ ฉันรักพวกเขามากเกินกว่าที่จะให้เงินนี้ไปสำหรับการประดิษฐ์คิดค้น ที่จะมีผลทำให้ชีวิตของเขาวอดวายพินาศ เพราะนั่นหมายถึงการที่เขาจะสูญเสียอาชีพไม่มีงานทำ" นี่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ.1589

ญี่ปุ่นทวนเข็มนาฬิกาและเลือกที่จะใช้อาวุธที่โบราณ แต่ผลที่มีต่อวิถีและคุณภาพชีวิตของชาวญี่ปุ่นเป็นอย่างไร 250 ปีหลังจากนั้น


Source://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q2/2007april25p1.htm


โดย: ญี่ปุ่นไม่เหมือนใคร (27) ทิ้งปืน กลับไปใช้ดาบ (moonfleet ) วันที่: 17 สิงหาคม 2556 เวลา:18:56:31 น.  

 
ญี่ปุ่นไม่เหมือนใคร (28) โดดเดี่ยวแต่ไม่ล้าหลัง

POST JTEPA : ดร.ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ช่วง 250 ปีของการปิดประเทศ ไม่ใช่ช่วงแห่งการสูญเปล่าล้าหลัง ญี่ปุ่นมีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมที่ก้าวหน้าขึ้น จนสามารถกล่าวได้ว่า มันเป็นส่วนสำคัญ ที่ทำให้ญี่ปุ่นสามารถไล่กวดประเทศตะวันตกได้เร็วขึ้นในปลายศตวรรษที่ 19

มนุษย์โดยทั่วไปล้วนต้องการมีชีวิตที่ดีขึ้น เพราะฉะนั้น ในประวัติศาสตร์ของการพัฒนา ถ้าที่ใดมีอุปสรรค ต่อความเจริญในรูปแบบต่างๆ มีไม่มากหรือไม่รุนแรงพอ เศรษฐกิจก็จะโตได้ ช่วงที่ญี่ปุ่นปิดประเทศ ญี่ปุ่นก็คงคล้ายกับยุโรปที่ก้าวหน้ามาก่อนหน้า แรงผลักดันที่นำไปสู่ความก้าวหน้า และความเจริญเติบโต มีมากกว่าอุปสรรคหรือปัจจัยที่ทำลาย ความก้าวหน้าในช่วงปิดประเทศนี้ เป็นพลังสำคัญต่อการเข้าสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่ หลังกลางศตวรรษที่ 19 จนสามารถพูดได้ว่า ที่ญี่ปุ่นสามารถเปลี่ยนโฉมประเทศได้รวดเร็วนั้น ไม่ได้เป็นเพราะมีเทคโนโลยีจากตะวันตกให้ญี่ปุ่นตักตวง แต่ที่สำคัญกว่าเป็นเพราะมรดกทางเศรษฐกิจ และสังคมในช่วง 250 ปีของการปิดประเทศ ในยุคสมัย Tokugawa หรือที่เรียกว่ายุค Edo ต่างหาก

ทำไมระบบเศรษฐกิจศักดินาที่รวมศูนย์ ไม่ค้าขายกับชาวโลกกว่า 200 ปีของญี่ปุ่น ยังสามารถก่อให้เกิดความก้าวหน้าความเจริญทางเศรษฐกิจ แม้จะไม่ก้าวกระโดดเหมือนเศรษฐกิจสมัยใหม่ ที่รายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนาน คำตอบ ก็คือ อำนาจของโชกุนและพวกไม่ Absolute ไม่สามารถรวบส่วนเกินทางเศรษฐกิจและความมั่งคั่ง เพื่อชนชั้นผู้ปกครองได้ตามใจชอบ ในทางปฏิบัติโครงสร้างรูปแบบของรัฐ ในทางการเมือง ไม่จำเป็นต้องเป็นอุปสรรคหรือสามารถหยุดยั้งพลังของตลาด การก่อตัวของชนชั้นพ่อค้า การปรับตัวของชนชั้นนักรบ และแรงจูงใจของปัจเจกที่ต้องการมีชีวิตทางวัตถุที่ดีขึ้น

เมื่อโชกุนตระกูล Tokugawa ชนะสงคราม จนสามารถทำให้ญี่ปุ่นเป็นปึกแผ่นในปลายศตวรรษที่ 16 เขาได้มรดกของระบบเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง มีชีวิตชีวา ประชากรญี่ปุ่นเพิ่มจาก 5 ล้านคนในศตวรรษที่ 11 เป็น 10 ล้านคนในปี ค.ศ.1300 เพิ่มเป็น 18 ล้านคน ในปี ค.ศ.1600 การเพิ่มขึ้นของประชากรนี้บอกถึงขีดความสามารถ ในการเพิ่มผลผลิตของภาคเกษตร เจ้านครมีการลงทุนทางด้านการชลประทาน และขยายพื้นที่จำนวนมาก ที่เป็นมรดกตกทอดมาให้กับยุคตระกูล Tokugawa

ในด้านผลที่มีต่อความเจริญเติบโตและความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ อำนาจของศักดินาที่รวมศูนย์ที่โชกุนแต่ผู้เดียว มีผลทั้งด้านบวกและลบ ในด้านบวก ความเป็นปึกแผ่นของประเทศ ทำให้ตลาดในทางเศรษฐกิจระดับชาติ มีการเชื่อมโยงกันสูงขึ้น เมื่อเทียบกับการที่เจ้านครแต่ละแว่นแคว้นเป็นใหญ่ก่อนหน้า การย้ายเมืองหลวงใหม่มาที่ Edo (โตเกียว) ทำให้ Edo มีสถานะเหมือนเมืองของ Millionaires และในศตวรรษที่ 18 ก็มีประชากรสูงถึง 1 ล้านคน การบังคับให้เจ้านคร หรือ Daimyo ต้องสลับมาอยู่ที่ Edo ปีเว้นปี และทิ้งครอบครัวไว้เป็นตัวประกัน ทำให้เกิดการสร้างถนน โรงแรม ร้านค้า และการค้าขายที่ตามมา เมืองขนาดใหญ่ๆ อาทิเช่น Edo Osaka และ Kyoto มีประชากรหนาแน่น ตลาดการค้า สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม การเงินการธนาคารคึกคัก ในด้านลบ มีความเป็นไปได้ว่า การปิดประเทศ มีผลต่อการเติบโตของตลาด และการรับวิทยาการจากต่างประเทศ รวมทั้งการก่อตัวที่ช้าลงของชนชั้นพ่อค้า

ความสงบ ปราศจากสงครามเป็นพลังปัจจัยที่ทำให้เกิดความเจริญเติบโตในช่วงปิดประเทศ อุปสรรคทางการเมืองและรูปแบบการปกครองเป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจน้อยกว่าที่คิด เพราะอำนาจของโชกุนหลัง ค.ศ.1650 ในเวลาไม่นานเริ่มจะอ่อนลง ในการคุมเจ้านคร Daimyo แม้ชาวนาจะต้องเสียภาษีจากผลผลิต ถึงร้อยละ 40 ชนชั้นนักรบซามูไรในช่วงที่ประเทศไม่มีสงครามภายใน เริ่มมีบทบาทน้อยลง ซามูไรจำนวนมากเป็นหนี้พ่อค้า หรือไม่ก็เริ่มไปทำธุรกิจ

นักประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นจำนวนมากเชื่อว่า ในช่วงที่ญี่ปุ่นปิดประเทศ 250 ปีนั้น สังคมญี่ปุ่นไม่ถดถอย ไม่ล้าหลังในทุกๆ ด้าน ไม่หยุดนิ่ง มีการพัฒนาในทุกๆ ด้าน แม้ว่าร้อยละ 80 ของประชากรอยู่ในภาคเกษตร การที่ผลผลิตในภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัวในช่วงดังกล่าว ขณะที่ประชากรเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 45 แสดงว่าผลผลิตต่อหัวต้องสูงขึ้น และที่สูงขึ้นนี้ ไม่ได้เป็นเพราะพื้นที่ทางการเกษตรเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านนวัตกรรมการผลิต อาทิเช่น มีการใช้ปุ๋ยมากขึ้น มีการพัฒนาชลประทาน และเมล็ดพันธุ์ข้าวใหม่ๆ

คนญี่ปุ่นในช่วงนี้สามารถประดิษฐ์คิดค้นความก้าวหน้าในทางเกษตร ในศตวรรษที่ 15 คนญี่ปุ่นสามารถผลิตอาวุธที่มีประสิทธิภาพสูง และสามารถส่งออกไปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อคนโปรตุเกสนำปืนเข้ามาในญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นก็เลียนแบบและพัฒนาให้ดีขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

ในปี ค.ศ.1654 ประชากรของโตเกียวมีท่อระบายน้ำยาว 25 ไมล์ ขณะที่ท่อระบายน้ำในนิวยอร์กมีขึ้นใน ค.ศ.1842 คลองชลประทานขนาดใหญ่ปรากฏให้เห็นทั่วประเทศ คลอง Kasai ที่มีความยาว 40 ไมล์ ส่งน้ำให้แก่พื้นที่ปลูกข้าวกว่า 2 หมื่นเอเคอร์ ขีดความสามารถทางวิศวกรรมเห็นได้จากการขุดอุโมงค์ที่ผ่านหินแข็ง เพราะญี่ปุ่นมีภูเขามาก คนญี่ปุ่นเป็นช่างโลหะที่มีชื่อเสียงมาหลายร้อยปี

นักทฤษฎีคณิตศาสตร์ชื่อ Seki Takakazu เชี่ยวชาญคณิตศาสตร์แบบญี่ปุ่น ที่เรียกว่า Wasan แก้สมการยกกำลังสาม ในช่วงใกล้เคียงกับ Newton และ Leibnitz และทั่วโลกรู้ดีว่าคนญี่ปุ่นเก่งคณิตศาสตร์ ในเรื่องการแพทย์ หมอญี่ปุ่นมีตำรากายวิภาควิทยาของตนเองในปี 1754 ที่เรียกว่า Zoshi ศัลยกรรมครั้งแรกของโลกที่ใช้ยาชาเริ่มที่ญี่ปุ่นในปี ค.ศ.1805 โดยศัลยแพทย์ชื่อ Hanakoku Hesisu

ลักษณะที่เด่นมากของญี่ปุ่นในช่วงปิดประเทศ และน่าจะมีบทบาทสำคัญที่ทำให้การเข้าสู่ยุคใหม่สมัยเมจิ ประสบความสำเร็จรวดเร็ว ก็คือ เรื่องการศึกษา โรงเรียนที่วัดและบ้านของเอกชนมีอยู่ทั่วไป สิ่งพิมพ์ของญี่ปุ่น เชื่อกันว่า มีอัตราการพิมพ์สูงที่สุดในโลก สะท้อนถึงการรักการอ่านของคนญี่ปุ่น อัตราการอ่านออกเขียนได้ของคนญี่ปุ่นในช่วงปลายสมัย Tokugawa นั้นสูงมาก สำหรับผู้ชายร้อยละ 40-50 อ่านออกเขียนได้ ซึ่งสูงกว่าของไทยกว่าเท่าตัวหรือมากกว่านั้น เชื่อกันว่าสูงกว่าของอังกฤษในขณะนั้นด้วยซ้ำไป

นักวิชาการอังกฤษ Susan Hanley เชื่อว่าญี่ปุ่นในต้นศตวรรษที่ 19 นั้น มีคุณภาพของชีวิตที่ดูจากอายุขัย สูงเท่ากับคนอังกฤษในปัจจุบัน

Source://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q2/2007april25p1.htm


โดย: ญี่ปุ่นไม่เหมือนใคร (28) โดดเดี่ยวแต่ไม่ล้าหลัง (moonfleet ) วันที่: 17 สิงหาคม 2556 เวลา:18:57:34 น.  

 
POST JTEPA : ญี่ปุ่นไม่เหมือนใคร (29) ทุนนิยมวิถีญี่ปุ่น

วิถีเศรษฐกิจ : ดร.ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ครั้งหนึ่งมักเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป ว่า เป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ สำหรับการเปลี่ยนโฉมหน้าที่ยิ่งใหญ่ในทางเศรษฐกิจ และสังคม ของญี่ปุ่น หลังตั้งแต่การล่มสลายของระบบศักดินาภายใต้การปกครอง โชกุน Tokugawa หรือที่เรียกว่า ยุคเอโดะ การก่อตัวของรัฐสมัยใหม่หลังการสถาปนาระบอบจักรพรรดิเมจิจนถึงการที่ญี่ปุ่นสามารถก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว ขึ้นเป็นประเทศอุตสาหกรรม และมหาอำนาจทางการทหาร เมื่อต้นศตวรรษที่ 20 รวมทั้งการที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกในเอเชีย ที่ไล่กวดทันยุโรปและอเมริกา

ขณะเดียวกัน ก็เคยมีการตั้งโจทย์โดยนักวิชาการ ว่า ทำไมต้องเป็นประเทศญี่ปุ่นและไม่ใช่ประเทศอื่นๆ ในเอเชียหรือในกรณีของไทย ว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับญี่ปุ่นกับประเทศไทยในช่วงกลาง ศตวรรษที่ 19 มีอะไรหลายๆ อย่างที่คล้ายๆ กัน ช่วงรัชกาลที่ 5 กับจักรพรรดิเมจิ ตั้งแต่การที่ไม่ต้องตกเป็นอาณานิคม การถูกบังคับให้เปิดประเทศ การปฏิรูปความทันสมัย เพื่อความอยู่รอดและพ้นภัยจากมหาอำนาจตะวันตก แต่ทำไมเราล้าหลังกว่าญี่ปุ่นมาก เราควรต้องหาคำตอบให้กับมัน

โดยทั่วไปแล้ว ทุกคนต้องการความมั่งคั่ง ต้องการชีวิตที่ดีขึ้น และการที่จะเป็นเช่นนั้นได้ ดุลแห่งอำนาจในสังคม จะต้องไม่เป็นอุปสรรค หรือทำลายแรงจูงใจในทางเศรษฐกิจโดยการเก็บส่วยส่วนเกิน หรือภาษีที่โหดร้ายเกินไป เดิมเคยเชื่อกันว่าชาวนาในยุคเอโดะจะโดนขูดรีดภาษีถึงร้อยละ 50 ซึ่งไม่จริง ภายหลังนักวิชาการพบว่า ภาระที่แท้จริงจะอยู่ราวๆ 10-20%

แม้ญี่ปุ่นจะยังเป็นสังคมศักดินาดั้งเดิม แต่รัฐบาลกลางของโชกุน (Bakufu) ที่เมืองเอโดะ ผู้ปกครองไม่สามารถขูดรีดได้ตามใจชอบ ดุลแห่งอำนาจค่อนข้างลงตัวของชนชั้นต่างๆ ระหว่างรัฐบาลกลางกับแคว้นหรือฮัน (HAN) ซามูไรหรือนักรบที่รับราชการเจ้าของที่ดินชาวนา และความมีอิสรภาพของหมู่บ้าน การทำมาหากินของพ่อค้า

ทั้งหมดล้วนเป็นผลดีต่อความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและการค้า เช่นเดียวกับที่เกิดในยุโรป ปรากฏการณ์เช่นนี้ ทำให้ 250 ปีที่ประเทศญี่ปุ่นปิดประเทศ มีการเปลี่ยนแปลงที่ลึกซึ้งทางเศรษฐกิจและสังคม แม้ญี่ปุ่นยังไม่เป็นประเทศอุตสาหกรรมใช้เทคโนโลยีสูง และทันสมัย แต่ญี่ปุ่นก็เป็นสังคมดั้งเดิมที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา ในเมืองที่มีหลายขนาดมากมายในชีวิตทางการค้า และวัฒนธรรมมีความก้าวหน้าและมีประสิทธิผลการเกษตร ก็มีการปฏิวัติเกิดขึ้นเชื่อกันว่า ในปี ค.ศ. 1800 ญี่ปุ่นมีมาตรฐานการครองชีพใกล้เคียงกับอังกฤษ อัตราการอ่านออกเขียนได้ของคนญี่ปุ่นสูงที่สุดในเอเชียและใกล้เคียงกับของยุโรป

แม้คุณภาพของทุนมนุษย์ของคนญี่ปุ่นจะสูง โครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจ มีศักยภาพที่จะเข้าสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่ได้ไม่ยาก แต่ตอนที่ถูกบังคับให้เปิดประเทศญี่ปุ่นตระหนักดีถึงช่องว่างทางเทคโนโลยีที่ห่างกันมากระหว่างตัวเองกับตะวันตก เห็นได้ชัดในเรื่องของเทคโนโลยีทางทหาร ความสำเร็จในยุคของจักรพรรดิเมจิอย่างเกินคาดในช่วง 50 ปี เกิดจากความต้องการอย่างแรงกล้า และการแปลงความต้องการนั้นเป็นความสัมฤทธิ์ในยุทธศาสตร์ และนโยบายของผู้นำรัฐบาลที่มาจากซามูไรระดับล่าง ที่ต้องการให้ญี่ปุ่นไล่กวดให้ทันและล้ำหน้าชาติตะวันตก โดยต้องทำให้ญี่ปุ่น "เป็นประเทศมั่งคั่ง แข็งแกร่งทางทหาร" การปฏิวัติสมัยเมจิเป็นการปฏิวัติจากเบื้องบน มีการปฏิรูปชนชั้นระดับบน แต่ระดับล่างโดยเฉพาะหมู่บ้านในชนบทที่มีพลังและศักยภาพเหมือนเดิม

นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าในโลกที่ขุมความรู้และเทคโนโลยีที่มีอยู่ และมีช่องว่างทางเทคโนโลยีระหว่างประเทศ ประเทศที่มาทีหลังและล้าหลังกว่า สามารถมีอัตราความเจริญเติบโตที่สูงในการตักตวงและลดช่องว่างทางเทคโนโลยี สาเหตุที่ญี่ปุ่นเติบโตในอัตราที่สูงกว่าประเทศตะวันตกจนถึงปลายทศวรรษ 1970 ก็มีสาเหตุส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะ ยังมีช่องว่างในการไล่กวดทางเทคโนโลยี เศรษฐกิจของประเทศหนึ่งจะโตได้มากเท่าไร ก็ขึ้นกับขีดความสามารถทางสังคมของประเทศนั้นๆ นักวิชาการเชื่อว่าถ้าประเทศยิ่งล้าหลังมากเท่าไร และต้องการไล่กวดให้ทันเร็วๆ รัฐก็จำเป็นต้องเข้ามามีบทบาทแทนภาคเอกชนไม่มากก็น้อย ขณะเดียวกัน ก็อาจจะมีเหตุผลหรือปัจจัยด้านวัฒนธรรม บทบาทของรัฐในญี่ปุ่นและประเทศในเอเชียตะวันออกมีลักษณะเช่นนี้ และดูจะมากกว่ากรณีของอังกฤษ และอเมริกาในอดีต

มีข้อเท็จจริงชี้ให้เห็นว่า การที่ผู้นำญี่ปุ่นมีความมุ่งมั่นที่จะไล่กวดยุโรปและอเมริกาให้ทันทั้งทางเศรษฐกิจและทหาร เมื่อบวกกับขีดความสามารถทางสังคมของญี่ปุ่นที่มีอยู่สูง คือ ปัจจัยสำคัญที่อธิบายว่า ทำไมญี่ปุ่นตั้งแต่สมัยเมจิ จนถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงมีการเติบโตที่สูง และมีการเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว

ขีดความสามารถทางสังคมนั้น มีองค์ประกอบหลายด้านหลายปัจจัย กรณีของญี่ปุ่นนักวิชาการบางคน ให้ความสำคัญกับระบบคุณค่าความเชื่อ หรือวัฒนธรรมอันเป็นผลพวงของประวัติศาสตร์อันยาวนาน ซึ่งทำให้ญี่ปุ่นมีลักษณะพิเศษ และมีผลต่อความเจริญก้าวหน้าของญี่ปุ่นอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างเช่น การเป็นสังคมแห่งเครือข่าย การให้ความสำคัญแก่กลุ่มมากกว่าปัจเจกบุคคล เป็นต้น

MORISHIMA นักเศรษฐศาสตร์ชาวญี่ปุ่นเชื่อว่าญี่ปุ่นประสบความสำเร็จ เพราะความเป็นญี่ปุ่นที่มีจิตวิญญาณ ขณะเดียวกัน ก็เป็นญี่ปุ่นที่ศรัทธาในเทคโนโลยีตะวันตก จิตวิญญาณของญี่ปุ่นมีพื้นฐานมาจากการดัดแปลงลัทธิขงจื๊อของจีน ให้เป็นแบบญี่ปุ่น ที่ให้ความสำคัญแก่ความจงรักภักดีโดยปราศจากเงื่อนไข

ความจงรักภักดีนี้ขยายจากความจงรักภักดีที่มีต่อนายไปสู่รัฐและประเทศชาติเป็นปัจจัยที่หล่อหลอมสังคมญี่ปุ่น ให้มีความแข็งแกร่ง


Source://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q2/2007april25p1.htm


โดย: POST JTEPA : ญี่ปุ่นไม่เหมือนใคร (29) ทุนนิยมวิถีญี่ปุ่น (moonfleet ) วันที่: 17 สิงหาคม 2556 เวลา:18:58:25 น.  

 
POST JTEPA ญี่ปุ่นไม่เหมือนใคร (30) ทุนนิยมวิถีญี่ปุ่น

วิถีเศรษฐกิจ : ดร.ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2551

ในช่วงใดช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ทุนนิยมญี่ปุ่นอาจดูต่างกับของโลกตะวันตกโดยเฉพาะรูปแบบของ Anglo Saxon แต่ในระยะยาวด้วยกระแสและพลังของโลกาภิวัตน์ ทุนนิยมขั้นสูงจะเกิด Convergence เข้าหากันในตัวแปรสำคัญๆ ในที่สุด มากกว่าที่จะต่างหรือห่างจากกัน แม้กระทั่งวัฒนธรรมรูปแบบ หรือโครงสร้างของสถาบันทุนนิยม

ตอนที่ญี่ปุ่นถูกบังคับให้เปิดประเทศ ตอนนั้นไม่มีใครคิดว่าญี่ปุ่นจะมีอนาคตญี่ปุ่นใช้เวลา ประมาณ 50 ปี เพื่อเป็นหนึ่งในมหาอำนาจของโลก แต่ 50 ปีก็เป็นเวลาที่จะว่านานก็นาน เช่นเดียวกันตอนที่ญี่ปุ่นแพ้สงคราม อเมริกามองญี่ปุ่นด้วยความหดหู่ แล้วเราเรียกว่าเป็นความมหัศจรรย์เมื่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นโตสองหลัก หรือ 10% ต่อปีอย่างต่อเนื่อง หลังสงครามเป็นเจ้าโลกในหลายอุตสาหกรรม

ภายหลังเราพบว่าไม่อัศจรรย์เพราะประเทศกลุ่ม NICS หรือจีนก็ทำได้ แม้ช่วงก่อนสงคราม ช่วงทศวรรษ 1930 และ 1940 เกาหลี และไต้หวันซึ่งเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่นเริ่มปฏิวัติอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจโตสูงกว่าญี่ปุ่นด้วยซ้ำ เมื่อญี่ปุ่นเริ่มเข้าสู่ ECONOMIC MATURITY ในปลายทศวรรษ 70 อัตราการเติบโตก็ลงฮวบเรื่อยมาเหมือนประเทศที่มาก่อนหน้า เพราะญี่ปุ่นไล่กวดทันทางเทคโนโลยี ไม่มีช่องว่างที่ห่างให้ตักตวงมาก

SIMON KUZNETS นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ที่ได้ศึกษาการเข้าสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ซึ่งหมายถึงความสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องหรือยั่งยืน ของ 50 ประเทศในประวัติศาสตร์ พบว่าประเทศเหล่านี้มีสิ่งที่คล้ายกันมากมีกระบวนการเดินทางที่คล้ายกัน อาทิเช่น มีการประยุกต์ใช้ความรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยโครงสร้างการผลิตและประชากรเปลี่ยนจากการเกษตรไปสู่อุตสาหกรรมและบริการ การเพิ่มขึ้นของการออมและการลงทุนต่อ GDP รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของการค้าระหว่างประเทศกับโลกภายนอก ในโลกทัศน์ของ SIMON KUNETS ความแตกต่างในที่มาสาเหตุหรือกระบวนการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวของแต่ละประเทศมีนัยที่ไม่สำคัญ

ถ้าใช้ข้อมูลของ SIMON KUZNETS มองเศรษฐกิจญี่ปุ่นประมาณ 80 ปี ตั้งแต่สมัยเมจิก่อนสงครามโลกเมื่อญี่ปุ่นเข้าสู่เศรษฐกิจยุคใหม่เทียบกับประสบการณ์ของประเทศตะวันตกที่มาก่อน จะพบว่าการเติบโตของญี่ปุ่นแม้ไม่อัศจรรย์แต่ก็น่าประทับใจ เพราะรายได้ต่อหัวของญี่ปุ่น ซึ่งโตประมาณ 2.5-3% นั้นสูงที่สุดใกล้เคียงกับสวีเดน อย่างไรก็ตาม ถ้าดูเป็นร้อยปีประเทศที่ยังล้าหลังในปัจจุบันคงอยากจะโตให้ดีกว่าญี่ปุ่น เพราะร้อยปีเป็นเวลาที่ยาวนานมาก แต่ประเทศที่ยังล้าหลังจะต้องเข้าใจด้วยว่าการเจริญเติบโตกับการพัฒนานั้นไม่เหมือนกัน ประเทศที่ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติ แต่คุณภาพของคนระบบและสถาบัน ความเท่าเทียมกันในทางเศรษฐกิจของคนญี่ปุ่นรวมทั้งขีดความสามารถในการใช้และพัฒนาเทคโนโลยีต่างหากที่บอกถึงคุณภาพของการพัฒนาของญี่ปุ่นไม่ใช่เพียงแค่อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

ALEXANDER GERSCHENKRON ซึ่งศึกษาการพัฒนาอุตสาหกรรมของหลายประเทศในยุโรป ในปลายศตวรรษที่ 18 และโดยเฉพาะศตวรรษที่ 19 พบข้อเท็จจริงว่าหลายประเทศในยุโรป ที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมหลังอังกฤษหลายสิบปี อาทิเช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส เบลเยียม อิตาลี สเปน รัสเซีย รวมทั้งประเทศที่ยังล้าหลังในยุโรป มีรูปแบบการพัฒนาอุตสาหกรรมและโครงสร้างทางสถาบันรวมทั้งบทบาทของรัฐไม่เหมือนกับที่เกิดขึ้นในอังกฤษ แต่ละประเทศมีเส้นทางของตัวเอง

เขาพบว่าถ้าประเทศที่มาทีหลังยิ่งล้าหลัง โดยเปรียบเทียบกับประเทศที่มาก่อนมากเท่าใด อาทิเช่น รัสเซียเมื่อเทียบกับอังกฤษ ผลผลิตอุตสาหกรรมยิ่งจะมีอัตราการเติบโตสูงมากเท่านั้น ประเทศที่มาทีหลังมีแนวโน้มที่จะเลือกใช้เทคโนโลยีล่าสุดและทันสมัยมุ่งอุตสาหกรรมหนัก และใช้ทุนสูงหรือ CAPITAL INTENSIVE สิ่งที่เป็นเงื่อนไขที่จำเป็นต้องมีสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศที่เจริญมาก่อน อาทิเช่น การประกอบการภาคเอกชนการมีตลาดหุ้นที่สามารถจัดหาทุนระยะยาว แต่ประเทศที่มาทีหลังไม่มี ประเทศเหล่านี้สามารถสร้างสถาบันหรือกลไกอื่นๆ มาทดแทนได้ อาทิเช่น การพึ่งพาเงินกู้เงินทุนจากต่างประเทศ มีการใช้ธนาคารหรือสถาบันการเงินเฉพาะกิจแทนตลาดหุ้น การให้รัฐเป็นผู้ประกอบการเสียเอง ยิ่งประเทศล้าหลังมากเท่าใด และต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างก้าวกระโดด บทบาทของรัฐในการเข้ามาทำงานแทนบทบาทหรือกลไกตลาด ก็ยิ่งจะมีมากขึ้นเท่านั้น

ญี่ปุ่นสมัยจักรพรรดิเมจิที่เริ่มในปี ค.ศ. 1868 นั้น ความทันสมัย คือ เป้าหมายสูงสุดของผู้นำรัฐบาลโดยมีการพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นเครื่องมือ ผู้นำและสังคมของญี่ปุ่นเต็มไปด้วยความไม่มั่นคง จากการเข้ามาของนักล่าอาณานิคมตะวันตกผู้นำของญี่ปุ่น จึงต้องปลุกเร้ากระแสชาตินิยมโดยการชูคำขวัญ "ญี่ปุ่นมั่งคั่ง กองทัพเข้มแข็ง" หรือ FUKOKU KYOHEI ญี่ปุ่นจัดเป็นประเทศที่มาทีหลังตะวันตกในการปฏิวัติอุตสาหกรรม แม้จะเป็นประเทศแรกในเอเชีย

Kuznet’s Law ที่เกี่ยวกับ Modern Economic Growth ข้อเท็จจริงและสมมติฐานของ ALEXANDER GERSCHENKRON ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นจริงสำหรับกรณีของญี่ปุ่นหรือไม่ เพียงไร

Source://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q2/2007april25p1.htm


โดย: POST JTEPA ญี่ปุ่นไม่เหมือนใคร (30) ทุนนิยมวิถีญี่ปุ่น (moonfleet ) วันที่: 17 สิงหาคม 2556 เวลา:18:59:06 น.  

 
ญี่ปุ่นไม่เหมือนใคร (31) ทุนนิยมวิถีญี่ปุ่น

POST JTEPA : ดร.ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 07 มกราคม พ.ศ. 2552

ข้อมูลของ Angus Maddison บอกว่าสัดส่วนของญี่ปุ่นใน GDP โลกช่วง 70 ปีเมื่อเริ่มเข้าสู่ยุคทันสมัย (ค.ศ. 1870-1938) เพิ่มขึ้นจาก 2.4% เป็น 4.38% ของอเมริกาเพิ่มขึ้นจาก 9.30% เป็น 20.7% จากนั้นอีกประมาณ 50 ปี (ค.ศ.1938-1990) สัดส่วนนี้เพิ่มขึ้นเป็น 8.9% สำหรับญี่ปุ่น และ 21.4% สำหรับอเมริกา

สำหรับจีนช่วง 70 ปีแรกสัดส่วนดังกล่าวลดลงจาก 17.87% เหลือเพียง 10.33% สำหรับเอเชียโดยรวมลดจาก 39% เหลือเพียง 25% เพราะฉะนั้น ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่าการไล่กวดประเทศตะวันตกด้านความเจริญและการพัฒนาอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นมีลักษณะเป็นการบินเดี่ยวและไม่ธรรมดา

การวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์พบว่าช่องว่างทางเทคโนโลยีระหว่างญี่ปุ่นกับประเทศตะวันตกหรือญี่ปุ่นเริ่มไล่ทันจะอยู่ในปลายทศวรรษ 1970 ในร้อยปีตั้งแต่ญี่ปุ่นเข้าสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่ตามแบบฉบับของ Kuznets ญี่ปุ่นใช้เวลาน้อยกว่าหรือประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศตะวันตกที่โตมาก่อนในการเพิ่มรายได้ต่อหัวให้ได้สักหนึ่งเท่าตัว เพราะโตได้เร็วกว่าในแทบทุกด้านโดยเฉพาะผลผลิตภาคอุตสาหกรรม

เช่นเดียวกันญี่ปุ่นใช้เวลาน้อยกว่าประเทศตะวันตกในการเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตและแรงงานจากการเกษตรเป็นอุตสาหกรรม Kuznets พบว่าขณะที่อเมริกาต้องใช้เวลาร้อยปีในการลดแรงงานจากร้อยละ 70 ในภาคการเกษตรเป็นร้อยละ 20 ญี่ปุ่นใช้เวลาน้อยกว่านั้น

ในการมาทีหลังและตักตวงเทคโนโลยีที่มีอยู่เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมในช่วงต้น ญี่ปุ่นไม่ได้เน้นอุตสาหกรรมหนักใช้ทุนสูงโรงงานขนาดใหญ่ตามสมมติฐานของ Gerschenkron ไปในทุกอุตสาหกรรมแล้วแต่ช่วงจังหวะเวลา จนกระทั่ง 40 ปีต่อมา ในช่วงแรกการมีแรงงาน โดยเฉพาะที่ไร้ฝีมืออยู่เหลือเฟือ อุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่ทดแทนการนำเข้าและส่งออกมีบทบาทสำคัญเช่นสิ่งทอ การสาวไหมล้วนเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสูง หรือมีฐานอยู่ที่การเกษตร

การเปลี่ยนเทคโนโลยีการปั่นด้ายของญี่ปุ่นแบบเดิม ที่ต้องใช้กับแรงงานที่มีฝีมือมาใช้แบบแหวนหรือ Ring spinning ที่ทำให้ญี่ปุ่นซึ่งเป็นรองอินเดียมาก่อนกลายเป็นเจ้าตลาดสิ่งทอของโลกต่อมาในครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 ก็เพราะเทคโนโลยีแบบนี้สามารถใช้กับแรงงานที่ไร้ฝีมือที่ญี่ปุ่นมีอยู่มากในขณะนั้น ญี่ปุ่นก็เหมือนหลายประเทศ เขาใช้ความได้เปรียบในฐานทรัพยากรและคนเป็นจุดเริ่มต้น แต่เมื่อเวลาผ่านไป ส่วนหนึ่งเป็นเพราะยุทธศาสตร์และการเตรียมเข้าสู่สงคราม ญี่ปุ่นต้องการพึ่งตนเองได้ในทุกด้าน จึงมีอุตสาหกรรมแทบทุกอย่าง หลายอย่างไม่มีประสิทธิภาพได้รับการคุ้มครองจนมีปัญหาจนถึงปัจจุบัน เราจะวิเคราะห์ประเด็นนี้ในอนาคต

จริงๆ แล้ว สิ่งที่ญี่ปุ่นเน้นและทำในทางเศรษฐกิจ 50 แรกเป็นเรื่องพื้นฐานมากไม่มีอะไรที่พิสดาร การเป็นประเทศเกษตรกรรมที่มีแรงงานอยู่ร้อยละ 80 ขาดแคลนที่ดินสำหรับประชากร สามสิบล้านคนในตอนนั้นและประชากรเริ่มเพิ่มเทียบกับห้าล้านคนของสยาม ในสมัยรัชกาลที่ 5 และต้องการเป็นประเทศอุตสาหกรรม การเกษตรต้องผลิตส่วนเกินด้วย Productivity หรือผลิตภาพเพื่อเป็นแหล่งอาหารและทุนสำหรับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งในช่วงแรกๆ ภาษีที่ดินมีบทบาทที่สูงมาก

การเพิ่ม Productivity หนีไม่พ้นเทคโนโลยีทางการเกษตร โดยเฉพาะการชลประทานการใช้ปุ๋ยคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ข้าวที่จะเพิ่ม Productivity ของปัจจัยที่ขาดแคลน คือ ที่ดิน ซึ่งก็จะทำให้ผลิตภาพของแรงงานในภาคเกษตรสูงขึ้นด้วย มรดกสมัย MEIJI คือ ภาคเกษตรมีพื้นที่การชลประทาน สูงถึงร้อยละ 90 ข้อมูลของนักวิชาการ อาทิเช่น Hayami พบว่าญี่ปุ่นทำได้ดีมาก ผลผลิตต่อพื้นที่ ต่อแรงงานในภาคเกษตรสูงกว่าของหลายประเทศในเอเชียรวมทั้งประเทศไทย ในช่วงเวลาเดียวกันและอีกหลายสิบปีต่อมา ช่วงระหว่างสงครามโลกญี่ปุ่นก็ใช้อาณานิคมไต้หวันและเกาหลีเป็นฐานการผลิตอาหารและวัตถุดิบที่เริ่มไม่พอ แต่หลังสงครามผลผลิตเกษตรของญี่ปุ่นก็มีอัตราการเติบโตที่สูง

มักมีการพูดกันเสมอว่าการก้าวกระโดดที่โตเร็วโดยเฉพาะการพัฒนาอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นทำให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจที่มีลักษณะทวิลักษณ์ หรือ Dualism เป็นเอกลักษณ์ของญี่ปุ่นแต่ผู้เขียนคิดว่าปรากฏการณ์ของการดำรงอยู่คู่กันของภาคสมัยใหม่ ภาคล้าหลังภาคดั้งเดิมทางเทคโนโลยี ธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดเล็กควบคู่กับขนาดใหญ่น่าจะเป็นสิ่งที่พบในทุกประเทศมากหรือน้อยเท่านั้นระดับความรุนแรงและการฝังลึกของญี่ปุ่นอาจจะมีมาก แม้หลังจากร้อยปีของการพัฒนา ธุรกิจ และอุตสาหกรรมขนาดย่อมยังมีบทบาทที่สูงมากในระบบ

ความทันสมัยที่มากับการเติบโตต้องการการสะสมทุน ซึ่งต้องการการออมลดการบริโภคจากสังคมญี่ปุ่นหรือทุนการช่วยเหลือจากต่างประเทศ กว่าร้อยปีของการเปลี่ยนแปลงญี่ปุ่นนั้น ญี่ปุ่นออมและลงทุนได้สูงกว่าประสบการณ์ของประเทศตะวันตก ที่น่าทึ่งและคงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ญี่ปุ่นโตในอัตราที่สูง คือ ประสิทธิภาพของทุน Kuznets และนักวิชาการญี่ปุ่นพบว่า โดยเปรียบเทียบญี่ปุ่นใช้ Capital ต่ำในการเพิ่มผลผลิตหนึ่งหน่วย ในระดับมหภาค

การออมการลงทุนของญี่ปุ่นมีส่วนที่คล้ายกับประสบการณ์ของประเทศเอเชียตะวันออกหลังสงคราม คือ การมีการสะสมทุนและการออมที่สูง แม้ว่าเกาหลีและไต้หวันจะได้รับเงินช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกามากในช่วงต้น โดยทั่วไปนอกจากการนำเข้าเทคโนโลยีจากตะวันตกและพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญซึ่งก็มักจะเป็นเรื่องชั่วคราวระยะสั้น หรือการกู้เงินจากอังกฤษเพื่อสร้างทางรถไฟในช่วงแรก ญี่ปุ่นพึ่งทุนจากต่างประเทศน้อย ญี่ปุ่นยืนบนลำแข้งของตนเองมาก

ที่น่าสนใจ คือ ในช่วงกว่าร้อยปีของการเปลี่ยนแปลงนี้บทบาทของตลาดกับการแทรกแซงโดยรัฐ จริงๆ มีหน้าตาอย่างไร ในแต่ละช่วงและส่งผลอย่างไร

Source://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q2/2007april25p1.htm


โดย: ญี่ปุ่นไม่เหมือนใคร (31) ทุนนิยมวิถีญี่ปุ่น (moonfleet ) วันที่: 17 สิงหาคม 2556 เวลา:18:59:57 น.  

 
POST JTEPA ญี่ปุ่นไม่เหมือนใคร (32) ทุนนิยมวิถีญี่ปุ่น

วิถีเศรษฐกิจ : ดร.ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 04 มีนาคม พ.ศ. 2552

ข้อมูลไตรมาสสุดท้ายที่เพิ่งออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ ของเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ติดลบ 3% เศษๆ หรือประมาณร้อยละ 12 ต่อปี และการเลิกจ้าง ลดการผลิตทั้งของบริษัทชั้นนำ และบริษัททั่วๆ ไป กำลังบอกถึงความสาหัสสากรรจ์ของการถดถอยที่ไม่ธรรมดาของเศรษฐกิจโลก ผู้เขียนคิดว่าปัญหาเศรษฐกิจถดถอยที่รุนแรงของญี่ปุ่น ที่มาพร้อมกับประเทศอื่นๆ เป็นลางร้ายสำหรับประเทศในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งประเทศไทยที่ต้องพึ่งพาการส่งออกมาก

แม้ที่ผ่านมา การส่งออกในสินค้าอุตสาหกรรมจะเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญในการทำให้ญี่ปุ่นก้าวเป็นผู้นำในตลาดโลกในสินค้า โดยเฉพาะรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องจักรกล แต่สำหรับเศรษฐกิจญี่ปุ่นการส่งออกโดยรวมก็ไม่เคยสูงถึง 1 ใน 5 ของ GDP

การส่งออกนั้นสำคัญสำหรับญี่ปุ่นก็จริง แต่การที่โครงสร้างเศรษฐกิจมองจากอุปสงค์รวมภายในประเทศของญี่ปุ่นใหญ่กว่าภาคการค้าต่างประเทศมาก และเราก็ยังเห็นแรงกระแทกรุนแรงของความเชื่อมโยงและการพึ่งพากันและกันทางการค้าที่กระทบเศรษฐกิจญี่ปุ่นขนาดนี้ นับประสาอะไรแล้วมันจะรุนแรงแค่ไหนสำหรับประเทศแถบเอเชีย อาทิเช่น ไทย ไต้หวัน เกาหลี สิงคโปร์ ที่มีการส่งออกต่อ GDP ตั้งแต่ประมาณร้อยละ 50 ถึงเกินร้อย นอกจากนี้ การที่ญี่ปุ่นค้าและลงทุนโดยตรงกับเอเชียค่อนข้างมากทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ การถดถอยทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่ยาวนานย่อมไม่ดีต่อเอเชีย

ญี่ปุ่นต้องเผชิญกับภาวะชะงักงันต่อเนื่องยาวนานมาสิบกว่าปี จริงอยู่ความชะงักงันทางเศรษฐกิจที่ยาวนานมีที่มาส่วนหนึ่งจากปัญหาโครงสร้างด้านอุปทานด้านผลิตภาพการผลิตที่ต่ำลงในช่วงเวลานั้น ปัญหาความเจริญเติบโตของญี่ปุ่นก็ยังเป็นปัญหาที่เป็นเพราะอุปสงค์รวมมีไม่พอ เศรษฐกิจลุ่มๆ ดอนๆ ฟื้นได้สักพักก็ฟุบทำให้อุปสงค์รวมภายในประเทศ อาทิเช่น การบริโภค การลงทุน ไม่สามารถเป็นหัวหอกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่องคล้ายๆ กับประเทศไทยหลังวิกฤติปี 2540 เรื่อยมา การส่งออกจึงเป็นทางออกทางเลือกที่สำคัญ

การส่งออกเริ่มชี้เป็นชี้ตาย มีบทบาทสำคัญคู่ขนานกับการของการลงทุนถาวรของภาคธุรกิจ ต่อการฟื้นตัวของญี่ปุ่นตั้งแต่ปี ค.ศ. 2002 ช่วงฟื้นตัวการส่งออกญี่ปุ่นโตสูงถึงร้อยละ 9.7 (เมื่อเทียบกับร้อยละ 3.6 ในช่วง 1992-2002) ซึ่งสูงกว่าการบริโภคและการใช้จ่ายภาครัฐมาก ประมาณว่า 3 ใน 4 ของการฟื้นตัวของญี่ปุ่นมาจากการส่งออกและการลงทุนของธุรกิจ

ในเอเชียจีนมีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตของการส่งออกของญี่ปุ่นที่เดิมเคยพึ่งสหรัฐมากในช่วงปี 1990-2007 การส่งออกของญี่ปุ่นไปจีนโตถึงร้อยละ 18.5 ขณะที่จีนส่งออกไปญี่ปุ่นโตในอัตราร้อยละ 14.9 แต่ญี่ปุ่นยังขาดดุลการค้ากับจีน ไม่น่าเชื่อว่าในปี 2007 จีนแซงหน้าสหรัฐไปแล้วในการเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น คือ ร้อยละ 18 ของการค้าญี่ปุ่นมีกับจีน น่าเสียดายถ้าวิกฤติเศรษฐกิจโลกจะมาซ้ำเติมความเปราะบางในการฟื้นตัวของญี่ปุ่น เพราะปัญหาโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจ คุณภาพของสถาบันการเงินทั้งของเอกชนและของรัฐมีปัญหามากยังไม่ได้กลับเข้าสู่สภาพปกติ เหมือนในอดีตก่อนวิกฤติและตามมาตรฐานสากล

ช่วงปี ค.ศ. 2002-2007 เศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มฟื้นแต่ก็ยังโตในอัตราร้อยละ 2.1 โดยเฉลี่ยซึ่งก็ยังต่ำกว่าศักยภาพ ต่ำกว่าสหรัฐมากและต่ำกว่ากลุ่ม OECD ซึ่งอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2.7 ณ วันนี้ ยังไม่มีใครกล้ายืนยันว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะสามารถกลับไปโตได้อย่างยั่งยืนแข็งแกร่งตามศักยภาพที่น่าจะอยู่ที่ร้อยละ 4 ภาพหลอนของการชะงักงันที่ใหญ่โตช่วง ค.ศ. 1992-2002 ที่เศรษฐกิจโตโดยเฉลี่ยเพียงร้อยละ 0.9 ได้สร้างความหวาดกลัวให้แก่คนญี่ปุ่นและชาวโลก ว่า ปัญหาและความสูญเสียโอกาสของญี่ปุ่นอาจไม่ใช่ปัญหาแค่สิบปีเสียแล้ว มันจะอีกสิบปีหรือยาวกว่านั้นไหมไม่มีใครรู้ เรารู้แต่เพียงว่าโลกโดยเฉพาะประเทศอุตสาหกรรมล้วนเคยเกิดวิกฤติเศรษฐกิจและการเงินแล้วก็ฟื้นได้ช้าบ้างเร็วบ้าง แต่ญี่ปุ่นเป็นกรณีเดียวของโลกโดยเฉพาะสำหรับประเทศที่เจริญแล้วที่วิกฤติการเงินฟองสบู่แตกส่งผลต่อการถดถอยหรือชะงักงันทางเศรษฐกิจได้ยืดเยื้อยาวนานกว่าสิบปี เราจะวิเคราะห์กันให้ลึกว่าเป็นเพราะอะไรในโอกาสต่อไป

ที่น่ากลัว คือ ปัญหาของญี่ปุ่นดูเหมือนไม่รุนแรงแต่ยืดเยื้อ และเศรษฐกิจใช้ศักยภาพต่ำกว่าระดับที่ประธานาธิบดีโอบามากลัว ก็คงกลัวว่าสหรัฐและโลกจะเหมือนญี่ปุ่น ก็คือ การชะงักงันหรือถดถอยที่ยืดเยื้อยาวนานนี่แหละ


Source://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q2/2007april25p1.htm


โดย: POST JTEPA ญี่ปุ่นไม่เหมือนใคร (32) ทุนนิยมวิถีญี่ปุ่น (moonfleet ) วันที่: 17 สิงหาคม 2556 เวลา:19:00:41 น.  

 
ญี่ปุ่นไม่เหมือนใคร (33) ทุนนิยมวิถีญี่ปุ่น

วิถีเศรษฐกิจ : POST JTEPA : ดร.ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 01 เมษายน พ.ศ. 2552

วิกฤตการณ์ทางการเงินใหญ่ๆ ที่เคยเกิดมาหลายครั้งในประวัติศาสตร์ มักจะมีส่วนที่คล้ายๆ กัน คือ ก่อนเกิดวิกฤติสินทรัพย์ อาทิเช่น ราคาหุ้น ที่ดิน ถีบตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง อาจพูดได้ว่าสูงเกินความเป็นจริง หรือตามปัจจัยพื้นฐานจนเรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ฟองสบู่ (Bubbles) ซึ่งในที่สุด ก็ต้องหยุดหรือแตกลง คำถามที่สำคัญ คือ เมื่อประเทศเจอฟองสบู่แตกแล้ว กรณีของญี่ปุ่น ทำไมวิกฤติของญี่ปุ่นจึงยืดเยื้อยาวนานกว่าปกติ ขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ ปัญหาที่ตามมาจากราคาฟองสบู่ที่แตกลงไม่พัฒนาเป็นวิกฤติใหญ่ทั้งระบบหรือว่าทำไมบางประเทศใช้เวลาไม่นานเศรษฐกิจก็กลับไปเป็นปกติ คือ สามารถเติบโตตามศักยภาพได้ อาทิเช่น อเมริกาตอนปลายทศวรรษ 80 หรือตอนที่เกิดฟองสบู่ในตลาดหุ้น ที่เกิดจากการเก็งกำไรในหุ้นดอทคอม และแตกในปี ค.ศ. 2001 หรือตอนต้นทศวรรษที่ 1990 ที่ฟองสบู่ในสินทรัพย์แตกจนเกิดเป็นวิกฤติในระบบการเงินและเศรษฐกิจในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย อาทิเช่น สวีเดน ฟินแลนด์ เป็นต้น หรือวิกฤติในเอเชียที่เริ่มในไทยปี พ.ศ. 2540 วิกฤติที่เกิดขึ้นในประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่จะใช้เวลาไม่นานหรือไม่กี่ปีที่จะฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมาโตปกติตามศักยภาพที่ควรเป็น

ประเทศทุนนิยมสมัยใหม่ ที่เคยมีประสบการณ์ฟองสบู่ราคาสินทรัพย์แตกแล้วฉุดเศรษฐกิจซึมยาวไปกว่า 10 ปี หรือกว่านั้นในประวัติศาสตร์ก็มี 2 ประเทศ ที่มีขนาดของ GDP ใหญ่เป็นที่ 1 และที่ 2 ของโลก คือ สหรัฐและญี่ปุ่น คือ เมื่อทศวรรษ 1930 หรือเกือบ 80 ปี มาแล้ว กรณีของสหรัฐและเมื่อต้นทศวรรษ 1990 เป็นต้นมาจนถึงปี ค.ศ. 2005 หรือเกือบ 15 ปี ในกรณีของญี่ปุ่น

แม้ช่วงเวลาจะห่างกันมากความคล้ายกันของประสบการณ์ของสหรัฐและญี่ปุ่นในปรากฏการณ์การก่อตัวของฟองสบู่ในราคาสินทรัพย์ โดยเฉพาะหุ้นก็มีอยู่มากและเมื่อฟองสบู่แตกราคาสินทรัพย์ก็ตกลงอย่างรุนแรงจากราคาสูงสุด ส่งผลกระทบต่อการหดตัวโดยรวมของเศรษฐกิจ อันเป็นผลมาจากการลดลงของราคาสินทรัพย์ที่มีต่องบดุลของหน่วยเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาระหนี้สินที่สูงขึ้น และความสามารถในการชำระคืนหนี้ที่ลดลง

นอกจากความยืดเยื้อของการหดตัวทางเศรษฐกิจแล้ว การดิ่งลงของราคาสินทรัพย์ที่ต่อเนื่องยาวนานก็มีลักษณะคล้ายกัน ราคาสินทรัพย์ของทั้ง 2 ประเทศ ลดลงอย่างมาก จากราคาสูงสุดก่อนวิกฤติและลงต่อเนื่องยาวนาน ดัชนีราคาหุ้นของสหรัฐที่เคยอยู่ที่ 83 ใน 4 ปี ถัดมาลงมาเหลือ 22 หรือเหลือเพียง 25% และในปี ค.ศ. 1939 ก็อยู่ที่เพียง 38 หรือไม่ถึงครึ่งของจุดสูงสุด กรณีของญี่ปุ่นก็เช่นกัน เมื่อต้นปีที่แล้ว ราคาหุ้นของญี่ปุ่นก็ยังลงมาประมาณ 55% จากที่เคยอยู่สูงสุด ในช่วง ปี ค.ศ. 2003-2004 ที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังไม่ฟื้นเต็มที่ราคาอสังหาริมทรัพย์ เพื่อการพาณิชย์ลงมาถึงร้อยละ 95 หรือเฉลี่ยประมาณไม่เกิน 10% จากราคาที่เคยสูงสุด

อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างที่สำคัญ คือ ขนาดของความรุนแรงที่เศรษฐกิจชะลอตัวลง ในช่วง 14 ปี หรือช่วงระหว่าง ค.ศ. 1990-2003 อาจจะพูดได้ว่าญี่ปุ่นโตต่ำกว่ามาตรฐานโดยมองจากศักยภาพในอดีตหรือทศวรรษก่อนหน้าที่น่าจะโตได้ประมาณ 4-5% แต่ญี่ปุ่นโตได้เพียง 1.2% นักวิชาการบางคนเรียกปรากฏการณ์นี้ ว่า เป็นการถดถอยครั้งยิ่งใหญ่ หรือ Great Recession หรือชะงักงัน Great Stagnation ไม่ใช่ Great Depression เหมือนที่เกิดขึ้นกับสหรัฐเมื่อช่วงทศวรรษ 1930 เชื่อกันว่า ญี่ปุ่นสูญเสีย GDP ไปประมาณ 25% จากที่ควรจะเป็น ราคาสินทรัพย์ที่ลดลงเท่ากับประมาณ 3 ปี ของ GDP รวมกันของญี่ปุ่น คนว่างงานเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 2 เศษๆ มาอยู่ที่สูงสุด 5.5%

ความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานที่คนญี่ปุ่นต้องประสบในช่วงเกือบ 20 ปีที่ผ่านมาน่าจะน้อยกว่าประสบการณ์ที่คนอเมริกันต้องเผชิญ เมื่อทศวรรษ 1930 และนี่อาจจะเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมดูเหมือนญี่ปุ่นไม่เอาจริงเอาจังกับการแก้ปัญหาวิกฤติของตนเอง ญี่ปุ่นอาจจะโตช้าลงแต่ระดับของ GDP ของญี่ปุ่น ในช่วงเศรษฐกิจถดถอยไม่เคยต่ำกว่าช่วงสูงสุดในอดีต

อเมริกาเคยมีปัญหาที่รุนแรงกว่ามากเทียบกันไม่ติด ปี ค.ศ. 1929 ระดับของ GDP ซึ่งอยู่ในช่วงสูงสุดนั้น 4 ปี ถัดมา ลดลงมาเกือบครึ่ง ในสหรัฐอเมริกาอัตราคนว่างงานสูงสุดถึงร้อยละ 50 ตามเมืองใหญ่ๆ ขณะที่ทั้งประเทศสูงถึงร้อยละ 25 ในปี ค.ศ. 1933 และ 5 ปี หลังจากฟองสบู่แตก

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เกิดความแตกต่างข้างต้น รัฐบาลสหรัฐ และญี่ปุ่นใช้วิธีการหรือนโยบายในการแก้ปัญหาวิกฤติที่แตกต่างกัน หรือไม่อย่างไร


Source://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q2/2007april25p1.htm


โดย: ญี่ปุ่นไม่เหมือนใคร (33) ทุนนิยมวิถีญี่ปุ่น (moonfleet ) วันที่: 17 สิงหาคม 2556 เวลา:19:01:21 น.  

 
ญี่ปุ่นไม่เหมือนใคร (34) ทุนนิยมวิถีญี่ปุ่น

วิถีเศรษฐกิจ POST JTEPA : : ดร.ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2552

ความรุนแรงและความยืดเยื้อของเศรษฐกิจที่ตกต่ำในช่วงทศวรรษ 1930 เทียบกันไม่ได้กับปัญหาที่ญี่ปุ่นต้องเผชิญในต้นทศวรรษ 1990 เช่นเดียวกันคนญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษ 1930 ก็ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานเหมือนที่คนอเมริกันต้องเผชิญในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกัน จาก The Great Depression ในสหรัฐ แต่ก่อนที่เราจะมาดูว่าเกิดอะไรขึ้นในญี่ปุ่นเราไม่อาจจะละเลยปรากฏการณ์นี้ในระดับโลกแม้ว่าเวลาพูดถึง The Great Depression เรามักจะนึกถึงสหรัฐเป็นอันดับแรก แต่จริงๆ แล้ว มันเป็น The World Great Depression เกิดขึ้นพร้อมกันทั้งโลกเหมือนวิกฤติที่เรากำลังเผชิญในปัจจุบัน

เป็นเรื่องที่อาจจะดูแปลกของ The World Great Depression ในช่วงทศวรรษ 1930 ที่ทั้งโลกโดยเฉพาะประเทศใหญ่ๆ ทุกภูมิภาคที่เศรษฐกิจจะทะยานถึงขีดสูงสุด (Peak) และเริ่มถดถอยหรือ Recession ไปเป็น Depression ถึงจุดต่ำสุด (Trough) แล้วก็เริ่มฟื้นตัวขั้นแรกจนถึงขั้นถาวรในระยะเวลาที่ไม่ต่างกันมากมาย คือ ต่างกันประมาณ 1-2 ปีเป็นอย่างมาก แม้ความแตกต่างระหว่างภูมิภาคและลักษณะเฉพาะของแต่ละประเทศ น่าจะทำให้ปัญหาและความสามารถในการปรับตัวของแต่ละประเทศต่างกัน เชื่อกันว่า ระบบอัตราแลกเปลี่ยนมาตรฐานทองคำ หรือ Gold Standard ที่กลับมาใช้ในทศวรรษ 1920 หลังยกเลิกไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 มีส่วนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำโยงกันพร้อมกันมากขึ้น

ข้อมูลของศาสตราจารย์ Christina D. Romer (ในตาราง) บอกถึงช่วงเวลาของ The Great Depression ของแต่ละประเทศและขนาดของการลดลงของการผลิตอุตสาหกรรมจากระดับที่เคยอยู่สูงสุดก่อนเศรษฐกิจตกต่ำ

การผลิตในภาคอุตสาหกรรมของประเทศจำนวนมากถึงขีดสูงสุดในปี 1929 อเมริกาเผชิญกับความตกต่ำที่รุนแรงที่สุด ญี่ปุ่น บราซิล ถูกกระทบไม่มาก แม้เยอรมนีจะเริ่มเผชิญภาวะเศรษฐกิจตกต่ำก่อนสหรัฐ แต่สิ่งที่เกิดกับสหรัฐส่งผลกระทบไปทั่วโลก เศรษฐกิจตกต่ำของสหรัฐซึ่งเริ่มประมาณช่วงหน้าร้อนในปี 1929 นั้น ความตกต่ำทั้งโลกดำรงอยู่ต่อเนื่องจนถึงปี 1939 เป็นช่วงเวลาที่ยาวนานที่สุดเท่าที่ประเทศในโลกอุตสาหกรรมของประเทศตะวันตกเคยประสบ

เศรษฐกิจตกต่ำที่เกิดในสหรัฐปรากฏการณ์หลายอย่างมีลักษณะเด่นเฉพาะของอเมริกันที่ต้องการคำอธิบาย ที่น่าสนใจคือขนาดของความรุนแรง ของอเมริกานั้นจุดสูงสุดและต่ำสุดในช่วงปี 1929-1932 ของการผลิตภาคอุตสาหกรรมต่างกันสูงถึงร้อยละ 60 และเวลาผลผลิตลดลงก็ลงแรงมากโดยเฉพาะในปีแรก ถ้าจะวัดการฟื้นตัวกลับไปสู่การผลิตก่อนเศรษฐกิจตกต่ำปี 1929 อเมริกาก็ฟื้นตัวช้าที่สุดเมื่อเทียบกับใครๆ คือ ปี 1937 แต่ก็ดำรงอยู่ไม่ได้เมื่อเทียบกับญี่ปุ่น ซึ่งเริ่มฟื้นได้ในปี 1933 หรือนิวซีแลนด์ สวีเดน อังกฤษ เยอรมนี ซึ่งฟื้นตัวได้ในช่วงปี 1932-1936 แต่เมื่อฟื้นตัว เศรษฐกิจสหรัฐก็โตในอัตราที่อัศจรรย์ คือ สูงถึงเกือบร้อยละ 10 ต่อปีในช่วง 1933-1937 จนมาถดถอยอีกครั้งในปี 1938 จากนั้นก็เติบโตรวดเร็วจนเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1941

ความตกต่ำของเศรษฐกิจโลกส่งผลต่อการลดลงของความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐผ่านการลดลงของการส่งออกน้อยมาก เพราะการส่งออกต่อ GDP มีเพียงร้อยละ 6 ซึ่งต่ำกว่าในปัจจุบันมาก ผลผลิตที่ตกต่ำทั้งโลกเกิดขึ้นพร้อมกับการลดลงของราคาสินค้าทั่วไปเป็นปรากฏการณ์ภาวะราคาฝืด หรือ Deflation เกือบทุกประเทศอุตสาหกรรมเผชิญกับการลดลงของระดับราคาสินค้าขายส่งถึงประมาณร้อยละ 30 ในช่วงปี 1929-1933 ส่วนประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียละตินอเมริกาที่ต้องพึ่งพาการส่งออกในสัดส่วนที่สูงต้องเผชิญกับปัญหาการลดลงของราคาสินค้าขั้นปฐม อาทิเช่น กาแฟ ฝ้าย ไหม ยาง ซึ่งลดลงเกือบครึ่งเพียงปีเศษๆ ในช่วงระหว่างปลายปี 1929-1930

ลักษณะเฉพาะที่สำคัญของการตกต่ำของสหรัฐที่ไม่เหมือนใคร และส่งผลต่อการตกต่ำทางเศรษฐกิจที่รุนแรงในช่วง 4 ปีแรก มาจากการพังทลายของตลาดหุ้น การล้มครืนของธนาคารจำนวนมากและความผิดพลาดอย่างมหันต์ของการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลาง


Source://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q2/2007april25p1.htm


โดย: ญี่ปุ่นไม่เหมือนใคร (34) ทุนนิยมวิถีญี่ปุ่น (moonfleet ) วันที่: 17 สิงหาคม 2556 เวลา:19:01:58 น.  

 
POST JTEPA ญี่ปุ่นไม่เหมือนใคร (35)

ทุนนิยมวิถีญี่ปุ่น

วิถีเศรษฐกิจ : ดร.ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ไม่น่าแปลกใจที่การวิเคราะห์เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ของโลกในทศวรรษ 1930 นั้น ต้องมีอเมริกาเป็นศูนย์กลางของปัญหาบวกกับประเทศอุตสาหกรรมอีก 3 ประเทศในยุโรป คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี ขณะที่ญี่ปุ่นจะไม่ได้รับการกล่าวถึง อเมริกาสำคัญเพราะว่าเมื่ออเมริกาเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายพันธมิตร หลังสงครามผ่านไปแล้วหลายปี อเมริกากลายเป็นประเทศที่เข้มแข็งที่สุดในทางเศรษฐกิจการเงินและการทหาร เสียหายน้อยกว่า อังกฤษ เยอรมนี หรือฝรั่งเศส อเมริกาอยู่ในฐานะที่สามารถเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจและการเงินเหมือนที่อังกฤษ หรือลอนดอน เป็นผู้นำในระบบการค้าเสรี และระบบมาตรฐานทองคำก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ตั้งแต่เริ่มสงครามโลกอเมริกาเป็นผู้ให้กู้และผู้ลงทุนในต่างประเทศรายใหญ่ที่สุด โดยมีเยอรมนีที่แพ้สงครามเป็นผู้กู้รายสำคัญ รวมทั้งอังกฤษที่แม้จะเป็นผู้ชนะสงคราม




จากตารางชี้ให้เห็นถึงขนาดของการว่างงานของ 4 ประเทศสำคัญ ที่ชี้ชะตาความรุนแรงเศรษฐกิจโลก และการฟื้นตัวของการตกต่ำของเศรษฐกิจโลกจะเห็นได้ว่าสหรัฐและเยอรมนีอาการหนักที่สุด

แม้ The Great Depression ในสหรัฐและโลกเกิดมาแล้วกว่า 70 ปี คำอธิบายใหม่ๆ ว่าอะไรคือสาเหตุที่แท้จริงโยงใยกันทั้งโลกอย่างไร อะไรทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวในที่สุด ยังมีเรื่อยมา โดยเฉพาะในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา มี 2 สำนักใหญ่ๆ ในการให้คำอธิบายที่ดี

สำนักหนึ่ง มองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสหรัฐ มีความเป็นอิสระหรือเอกเทศของมันเองโดยเฉพาะในช่วง 3-4 ปีแรกเมื่อเศรษฐกิจเริ่มตกต่ำ ลักษณะเด่นของสหรัฐ คือ การตกต่ำทางด้านการผลิตในปีแรกนั้น รุนแรงมากกว่าที่อื่นอย่างชัดเจน นโยบายของประเทศอื่นๆ และ Depression ที่เกิดที่อื่นน่าจะมีผลกระทบต่อสหรัฐ ไม่มากเหมือนกับที่สหรัฐส่งผลกระทบต่อประเทศอื่น ผ่านระบบมาตรฐานทองคำ แน่นอนว่า สำนักที่เน้นอเมริกา คือ ศูนย์กลางของ Depression ย่อมต้องมีสำนักย่อยๆ ที่ต่างกันในการอธิบาย Depression ความยืดเยื้อและการฟื้นตัว

อีกสำนักหนึ่ง มองสาเหตุและการแผ่กระจายของ Global Depression ในทศวรรษ 30 เป็นเพราะระบบ อาทิเช่น ระบบขาดประเทศผู้นำที่จำเป็นต้องมีเมื่อโลกมีปัญหา หรืออีกคำอธิบายหนึ่ง ก็คือ เศรษฐกิจตกต่ำมีรากเหง้ามาจากช็อกใหญ่ คือ ผลจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ภายใต้การทำงานหรือการดำรงอยู่ของระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่เรียกว่าระบบมาตรฐานทองคำ หรือ Gold Standard ซึ่งเป็นระบบที่มีปัญหาอันเป็นมูลเหตุพื้นฐาน ที่ทำให้ทั้งโลกเผชิญภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจ

Christina D. Romer จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กเลย์ ซึ่งเป็นคนหนึ่งในสำนักแรกเชื่อว่าในช่วง 2-3 ปีแรก หรือระหว่าง ค.ศ. 1929-1933 มีหลักฐานค่อนข้างชัดเจนว่า ปัจจัยภายในหรือแรงกระทบ หรือช็อก ที่มีผลต่อการลดลงของอุปสงค์รวม ตามมาด้วยการลดลงผลผลิต และราคา การเพิ่มขึ้นของคนตกงาน ช็อกที่สำคัญดังกล่าว ได้แก่ การพังทลายของตลาดหุ้นในปลายปี 2529 และการล้มลงของธนาคารจำนวนมากถึง 4 ครั้งใหญ่ระหว่างปี ค.ศ. 1930-1933 ถึงขนาดต้องปิดการให้บริการของธนาคาร หรือ Bank Holiday ประกาศโดยประธานาธิบดี Roosevelt เมื่อ 6 มีนาคม ปี ค.ศ. 1933

Romer เชื่อจากหลักฐานว่าในปีแรกผลจากช็อกของตลาดหุ้นมีผลต่อการลดลงของใช้จ่ายมาก แต่ปีถัดมาช็อก ที่มาจากปัจจัยทางการเงิน อาทิเช่น การล้มลงของระบบธนาคาร หรือการดำเนินนโยบายการเงินที่บีบรัด อาทิเช่น การขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อการดำรงอยู่ของระบบมาตรฐานทองคำ หรือเพื่อรักษาค่าเงินดอลลาร์ทั้งหมด ส่งผลให้ปริมาณเงินลดลงถึง 31 เปอร์เซ็นต์ ระหว่างปี ค.ศ. 1929 และ ค.ศ. 1933 ทำให้ผลผลิตลดลงอย่างรุนแรง เป็นความผิดพลาดทางด้านนโยบาย นอกเหนือจากปัญหาการยึดติดกับระบบมาตรฐานทองคำจนกระทั่งปี 1937 ส่วนการขึ้นภาษีศุลกากรจากกฎหมาย Smoot-Hawleyในปี 1930 เพื่อคุ้มครองภาคเกษตรจากการแข่งขันของต่างประเทศไม่น่าจะเป็นปัจจัยที่สำคัญ

ส่วนความยืดเยื้อความรุนแรงของ Depression ที่ทำให้ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงอย่างหนัก การว่างงานสูงถึงร้อยละ 25 สาเหตุที่สำคัญมาจากการล้มของสถาบันการเงินตั้งแต่ปี 1931-1933 ธนาคารมากกว่า 9,000 แห่งต้องหยุดดำเนินการ ความตื่นตระหนกและการล้มของสถาบันการเงินนอกจากจะทำให้ปริมาณเงินลดลงมหาศาลแล้วความเชื่อมั่นของคนหายไป ธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อ Bernanke เชื่อว่าต้นทุนการเป็นตัวกลางทางการเงินที่สูงขึ้น ทำให้ Great Depression ของสหรัฐในปี 1931 และ 1932 ลงลึกมาก

การล้มลงของสถาบันการเงินเกิดขึ้นที่อื่นในยุโรปเช่นกันแต่ไม่หนักหนาและรุนแรงเท่ากับของสหรัฐ ความตื่นตระหนกและวิ่งไปถอนเงินความเปราะบางของระบบธนาคารสหรัฐ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโครงสร้างระบบธนาคารเดี่ยวมีธนาคารขนาดเล็กจำนวนมาก นอกจากนี้ ธนาคารในชนบทอ่อนแอจากสินเชื่อที่ขยายตัวอย่างมากสำหรับเกษตรกรในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 นี่เป็นหนึ่งในลักษณะพิเศษในที่มาของเศรษฐกิจตกต่ำในอเมริกา

ระบบความคิดความเชื่อของคนในสังคมมีบทบาทต่อการแผ่ขยายและความยืดเยื้อของ Depression และชะตากรรมของโลกอย่างไร ติดตามตอนต่อไป


Source://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q2/2007april25p1.htm


โดย: POST JTEPA ญี่ปุ่นไม่เหมือนใคร (35) (moonfleet ) วันที่: 17 สิงหาคม 2556 เวลา:19:03:59 น.  

 
ญี่ปุ่นไม่เหมือนใคร (36) ทุนนิยมวิถีญี่ปุ่น

POST JTEPA : ดร.ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ไม่น่าเชื่อว่า อุดมการณ์หรือระบบความเชื่อของคน โดยเฉพาะของผู้ที่มีอำนาจในการกำหนดนโยบายทางการเงินและนโยบายของรัฐ อาทิเช่น ผู้ว่าการธนาคารกลาง หรือ รมต. คลัง หรือประธานาธิบดี ผู้ที่อยู่ในวงการเงิน อาทิเช่น นายธนาคาร จะมีบทบาทต่อการเกิดขึ้นหรือชะตากรรมของโลกได้มากมายขนาดนั้น นี่เป็นเรื่องจริงกรณีของ The Great Depression ในช่วงทศวรรษ 1930

ในช่วงปี ค.ศ. 1930-1932 GDP ของสหรัฐ ที่เป็นตัวเงินลดลงถึงเกือบร้อยละ 50 และประมาณร้อยละ 30 สำหรับ GDP ที่แท้จริงหรือปรับระดับราคาแล้วผู้นำของ FED มีความเชื่อว่า FED ไม่สามารถหยุดวิกฤติเศรษฐกิจที่ถดถอยและราคาที่ลดลง 30-40 เปอร์เซ็นต์ได้เช่นกัน พวกเขามีความเชื่อว่าระบบเศรษฐกิจมีการลงทุนและการผลิตมากเกินไปและล้นเหลือโดยธรรมชาติต้องมีการปรับตัวล้มตายเป็นเรื่องธรรมดาพวกนี้เป็นพวก Liquidationists เมื่อการปรับตัวสิ้นสุดสู่ความสมดุลเศรษฐกิจก็จะฟื้น ประธานาธิบดี Hoover ก็เชื่อเช่นนั้น ยังดำเนินนโยบายการคลังแบบสมดุลรายจ่ายเท่ากับรายได้ ทั้งๆ ที่คนว่างงานถึงร้อยละ 25 กว่าที่อุดมการณ์สังคมนิยมหรือแนวความคิดรัฐสวัสดิการอุดมการณ์ หรือนโยบายแบบ Keynesian จะเริ่มก่อตัวทำงานได้เศรษฐกิจก็ถดถอยมานานและมากแล้ว

ลักษณะและกลไกของThe Great Depression 1930 นั้น มีลักษณะพิเศษเฉพาะที่ไม่เหมือนกับวิกฤติ หรือ Depression หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มูลเหตุของ Shock แต่ละครั้งอาจมีที่มาต่างกันแต่ความยืดเยื้อเกือบ 10 ปีของ The Great Depression และความเชื่อมโยงการส่งผ่าน (Transmisson) กันทั้งโลก มาจากความเชื่อหรืออุดมการณ์ของการทำงานของระบบเศรษฐกิจและบทบาทของรัฐกับบทบาทและการทำงานของระบบมาตรฐานทองคำ ที่ทำให้ Shock รุนแรงและยาวนาน

Peter Temin แห่ง MIT อ้างถึง Winston Churchill ว่า ความวุ่นวายของอะไรๆ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 เศรษฐกิจตกต่ำในทศวรรษ 30 และสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น เป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องและยาวเปรียบเสมือนสงคราม 30 ปีครั้งที่ 2 ของศตวรรษที่ 20 หลังจากครั้งที่ 1 ในศตวรรษที่ 17

Temin เชื่อว่า The Great Depression เกิดจาก Shock ของสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยมีระบบมาตรฐานทองคำเป็นตัวกำหนดรูปแบบของนโยบาย หรือ Policy Regime และกระบวนการเชื่อมโยงส่งผ่านระหว่างประเทศต่างๆ ในโลก เขาและนักเศรษฐศาสตร์อื่นๆ อาทิเช่น Bordo และ Eichengreen คิดว่าการกับเข้าสู่ระบบมาตรฐานทองคำหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 และการดำเนินนโยบายภายใต้ระบบดังกล่าว ทำให้ Great Depression เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ระบบมาตรฐานทองคำหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 มีปัญหาหลายด้าน สหรัฐ และฝรั่งเศส ถือทองคำถึงกว่าร้อยละ 60 เป็นประเทศเจ้าหนี้และมีดุลชำระเงินที่เกินดุล ความไม่สมมาตรของระบบ ก็คือ การปรับตัวของประเทศที่มีดุลชำระเงินเกินดุล อาทิเช่น สหรัฐ เวลามีเงินทุนหรือทองคำไหลเข้าไม่จำเป็นต้องเป็นไปโดยอัตโนมัติ คือ ให้ปริมาณเงินเพิ่มขึ้นเศรษฐกิจขยายตัวดอกเบี้ยลดเงินเฟ้อ เพื่อให้ดุลชำระเงินเข้าสู่ดุลยภาพ สหรัฐ สามารถทำให้ทองคำที่ไหลเข้ามาเป็นหมันไม่มีผลต่อปริมาณเงินหรือเงินเฟ้อ ระบบจึงมีปัญหาโดยรวมแล้วความเป็นผู้นำของสหรัฐ สร้างปัญหาแก่ประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะเยอรมนีที่ต้องพึ่งสหรัฐ ทางด้านการเงินและการค้าและเพื่อให้ระบบมาตรฐานทองคำดำรงอยู่ได้การใช้นโยบาย Deflation ก็เป็นของคู่กันสำหรับเยอรมนี

ทางออกสำหรับประเทศที่ขาดดุลในดุลชำระเงิน คือ ต้องดำเนินนโยบายเศรษฐกิจหดตัวราคาฝืดหรือลดลง หรือนโยบาย Deflation ระบบมาตรฐานทองคำที่อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ ทำให้ประเทศลดค่าเงินไม่ได้ ยกเว้นต้องออกจากระบบ เมื่อมีวิกฤติ ทุนสำรองหรือทองคำมีไม่พอ ระบบมาตรฐานทองคำจึงเป็นระบบที่แนวโน้มทำให้เกิด Deflation เมื่อประเทศไร้เสถียรภาพอ่อนแอทางด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ อาทิเช่น เยอรมนี ที่แพ้สงครามและมีภาระที่จะต้องชำระค่าปฏิกรรมสงครามให้แก่ผู้ชนะ อาทิเช่น ฝรั่งเศส หรืออังกฤษ ซึ่งแม้จะเป็นผู้ชนะโดยเฉพาะอังกฤษก็บอบช้ำมีหนี้จำนวนมากที่ต้องใช้ให้แก่สหรัฐ ซึ่งกลายเป็นมหาอำนาจใหม่แทนอังกฤษ ในแทบทุกเรื่อง

Robert Mundell นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล เชื่อว่าการกลับไปใช้ระบบมาตรฐานทองคำของ อังกฤษ ในปี ค.ศ. 1925 และประเทศอื่นๆ ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมือนเดิมก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 และภายใต้อำนาจมหาอำนาจใหม่ คือ สหรัฐ ภายใต้การนำของ FED ซึ่งตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1913 มีอำนาจมหาศาลแต่ไร้ความสามารถ เป็นสาเหตุสำคัญที่ Shock ของสงครามโลกครั้งที่ 1 พัฒนาไปสู่ระบบมาตรฐานทองคำที่บกพร่องจนเกิดภาวะเงินฝืดราคาตกต่ำ หรือ Deflation อย่างกว้างขวางทั่วโลกพัฒนาเป็น Great Depression การก่อตัวและชัยชนะของ Fascist และนาซี หรือฮิตเลอร์ ในเยอรมนี จนเป็นสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น Mundell เชื่อว่าถ้าธนาคารกลางสำคัญๆ โดยเฉพาะสหรัฐ ที่เป็นผู้นำให้ความสำคัญกับการป้องกันไม่ให้เกิด Deflation แทนที่จะให้ความสำคัญกับระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่คงที่หรือระบบมาตรฐานทองคำ ความเลวร้ายข้างต้นหรือพายุหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ของศตวรรษที่ 20 จะไม่เกิดขึ้น

ประเทศที่ออกจากมาตรฐานทองคำได้เร็วกว่าผู้อื่นเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเร็ว อาทิเช่น ญี่ปุ่น ออกในปลายปี 1931 หลังจากกลับไปอยู่ในระบบเพียง 2 ปีเศรษฐกิจก็แทบตาย แต่หลังจากนั้น ก็ใช้นโยบายเศรษฐกิจขยายตัวและลดค่าเงิน ญี่ปุ่นจึงฟื้นตัวได้เร็วกว่าสหรัฐมาก สำหรับสหรัฐนั้นกว่าจะออกจากระบบก็ปี 1933 เข้าไปแล้ว หลังจาก GDP ลดไปเกือบครึ่ง

ความเจ็บปวดของสหรัฐ และโลกในการยึดติดกับอุดมการณ์ที่ล้าสมัย อาทิเช่น ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ของระบบมาตรฐานทองคำ จึงรุนแรงและเป็นบทเรียนที่มีคุณค่าสูงมาก แต่ก็มีให้เห็นซ้ำซากอยู่เสมอ อาทิเช่น ไทย ในวิกฤติปี 2540 และอีกหลายประเทศ


Source://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q2/2007april25p1.htm


โดย: ญี่ปุ่นไม่เหมือนใคร (36) ทุนนิยมวิถีญี่ปุ่น (moonfleet ) วันที่: 17 สิงหาคม 2556 เวลา:19:05:22 น.  

 
ทุนนิยมวิถีญี่ปุ่น - ญี่ปุ่นไม่เหมือนใคร (37)

POST JTEPA : ดร.ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ถ้าสงครามโลกครั้งที่ 1 มีผลทำให้รัฐและภาคเอกชนในยุโรป ไม่ว่าจะเป็นผู้ชนะหรือแพ้สงครามอ่อนแอลง เปราะบางต่อแรงกระทบทั้งจากภายนอกและภายใน นอกจากสหรัฐแล้ว ญี่ปุ่นดูเหมือนจะเป็นผู้ได้มากกว่าเสีย ระหว่างสงครามญี่ปุ่นสามารถขายสินค้าให้แก่พันธมิตร รวมทั้งการขนส่งทางเรือ จนเปลี่ยนฐานะจากที่เป็นประเทศที่ขาดดุลทางการค้าเป็นประจำก่อนสงครามเริ่มมีฐานะเกินดุลอยู่หลายปี เปลี่ยนสภาพจากประเทศลูกหนี้เป็นประเทศเจ้าหนี้อย่างน้อยก็ชั่วคราว ทุนสำรองที่เป็นทองคำที่อยู่ในประเทศและฝากไว้ที่ลอนดอน เพิ่มขึ้นมากแม้ญี่ปุ่น จะมียอดหนี้ต่างประเทศที่ยังค่อนข้างสูงอยู่ก็ตาม

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง GDP ที่แท้จริงของญี่ปุ่น ในปี 1919 เมื่อเทียบกับปี 1913 ก่อนสงครามอยู่ที่ระดับ 141 ในขณะที่ผู้ชนะสงคราม อาทิเช่น สหรัฐมีตัวเลขอยู่ที่ 116 อังกฤษ 101 อิตาลี 111 ฝรั่งเศส 75 ขณะที่ผู้แพ้สงคราม อาทิเช่น เยอรมนี มีตัวเลขอยู่ที่ 72.3 ออสเตรีย 61.8 เป็นต้น

เศรษฐกิจญี่ปุ่น เมื่อเทียบกับประเทศในยุโรปและอเมริกา มีอัตราการเติบโตของ GDP สูงที่สุดในช่วง ค.ศ. 1913-1929 คือ โตในอัตราร้อยละ 3.7 ต่อปี ขณะที่ประเทศที่ชนะสงคราม อาทิเช่น สหรัฐโตในอัตรา 3.1% อังกฤษ 0.7% อิตาลี 1.7% ฝรั่งเศส 1.9% ขณะที่ประเทศผู้แพ้ ออสเตรีย 0.3% เยอรมนี 1.2% ส่วนประเทศที่เป็นกลางส่วนมากเติบโตดี อาทิเช่น เนเธอร์แลนด์ 3.6% นอร์เวย์ 2.9% ฟินแลนด์ 2.4% สวีเดน 1.9% เป็นต้น

ในช่วงปี 1926 และ 1937 ขณะที่มูลค่าการส่งออกของโลกลดลงจากฐาน 100 เหลือเพียง 44 ตัวเลขดังกล่าวของญี่ปุ่น ลดจากฐาน 100 ลงมาเป็นเพียง 95 แม้ว่าในปี 1932 จะเหลือเพียง 41 แสดงว่าญี่ปุ่นทำได้ดีมากในการค้าของโลก ส่วนแบ่งตลาดของญี่ปุ่นในสินค้าอุตสาหกรรมของโลก (ที่เด่นมาก คือ ไหมดิบ และสิ่งทอโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ฝ้าย) เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจาก 3% ในปี 1926-1929 เป็น 7% ในปี 1936-1938 ก่อนที่จีนจะ Boycott สินค้าญี่ปุ่น ที่รุนแรงขึ้นในปี 1931 ประมาณร้อยละ 50 ขายให้สหรัฐ และจีน ในทางอุตสาหกรรมญี่ปุ่นย่อมไม่ธรรมดาแล้วในขณะนั้น

ในระบบการเงินโลกญี่ปุ่นเข้าสู่ระบบมาตรฐานทองคำในปี 1897 การที่ญี่ปุ่นได้สินไหมทดแทนจากจีนในการชนะสงครามในปี 1895 เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นมีบัญชีทองคำสำรองไว้ที่ลอนดอน ชัยชนะของญี่ปุ่นที่มีต่อรัสเซีย ในสงครามปี 1905 เพิ่มอำนาจของญี่ปุ่นในเอเชีย และพยายามเลียนแบบอังกฤษ และสหรัฐ ในการสร้าง Yen Bloc ในอาณานิคมไต้หวัน และเกาหลี ในเวลาต่อมา

ในช่วงสงครามเดือนกันยายน ปี 1916 ญี่ปุ่นออกจากมาตรฐานทองคำ ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็เตรียมตัวตั้งแต่ปี 1922 ที่จะกลับเข้าไปสู่ระบบมาตรฐานทองคำ ณ ค่าเสมอภาคก่อนสงคราม แต่แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในปี 1923 ในโตเกียวทำให้มีความจำเป็นต้องห้ามการส่งออกทองคำ ทศวรรษ 1920 เป็นช่วงของการสลับกันไปมาระหว่างการเติบโตและความไร้เสถียรภาพในระบบการเงินและธนาคาร สลับกับการถดถอยและภาวะเงินฝืด เพื่อเตรียมกลับเข้าสู่ระบบมาตรฐานทองคำ

การตัดสินใจกลับเข้าสู่ระบบมาตรฐานทองคำเมื่อเดือนมกราคม ปี 1930 ช่างเป็นช่วงเวลาที่เลวร้าย ทางการญี่ปุ่นคิดว่าวิกฤติตลาดหุ้นของอเมริกาในปี 1929 น่าจะเป็นเรื่องชั่วคราว รัฐบาลต้องใช้นโยบาย Deflation เพื่อรักษาค่าเงินเศรษฐกิจและสังคมเผชิญวิกฤติใหญ่ทั้งในชนบทและเมือง ญี่ปุ่นสูญเสียทองคำประมาณ 700 ล้านเยน และต้องออกจากระบบในเดือนธันวาคม ปี 1931

หลังจากญี่ปุ่นออกจากมาตรฐานทองคำ ญี่ปุ่นใช้ส่วนผสมของนโยบายการคลังการเงินและนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่นักวิชาการ อาทิเช่น Hugh Patrick จากมหาวิทยาลัย Yale คิดว่าประสบความสำเร็จมากที่สุดที่โลกเคยประสบมา เมื่อพิจารณาจากสิ่งแวดล้อมของโลกที่ไม่เอื้ออำนวย เมื่อลดค่าเงินเยน แล้วอัตราแลกเปลี่ยนที่คงที่ก็ไม่เป็นอุปสรรคอีกต่อไป นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายถูกใช้ควบคู่ไปกับการขาดดุลทางการคลังขนานใหญ่ โดยการใช้จ่ายของรัฐบาลในโครงการสาธารณูปโภค Kindleberger ให้ความเห็นว่า ญี่ปุ่นใช้นโยบายเคนส์เซี่ยน ก่อนเคนส์ เพราะเคนส์ เขียนหนังสือของเขาในปี ค.ศ. 1936

ระหว่างปี 1931-1933 การใช้จ่ายรัฐบาลเพิ่มขึ้น 26 เปอร์เซ็นต์ เศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากส่วนผสมของนโยบายช่วยกระตุ้นทั้งการใช้จ่ายในประเทศเพิ่มการส่งออก การใช้จ่ายของรัฐบาลเพิ่มปริมาณเงิน เนื่องจากรัฐบาลกู้จากธนาคารกลาง ซึ่งก็เหมือนกับการพิมพ์แบงก์ เพราะญี่ปุ่นไม่จำเป็นต้องมีทองคำหนุนหลังธนบัตรในสัดส่วนที่สูงเหมือนแต่ก่อน แต่แน่นอนว่า มันส่งผลให้ญี่ปุ่นเผชิญการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ โดยเฉพาะในช่วงระหว่างปี 1935-1938 ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 21 เปอร์เซ็นต์

ญี่ปุ่นเริ่มทุ่มเทมากขึ้นกับความพยายาม ในการผลักดันการขยายตัวของเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมสำหรับการเตรียมพร้อมทำสงคราม และล่าอาณานิคมในเอเชีย มีข้อสังเกตว่าในกลางทศวรรษ 1930 รัฐบาลนาซี ของฮิตเลอร์ก็ใช้นโยบายขาดดุลทางการคลังทุ่มการใช้จ่ายของรัฐบาลจนเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวการณ์มีงานทำเต็มที่ แต่ทุกอย่างต้องเป็นไปตามความปรารถนาของฮิตเลอร์

เป้าหมายทางเศรษฐกิจและการเมืองของญี่ปุ่นที่มีทหารเป็นใหญ่และเยอรมนีในช่วงนั้นมีลักษณะคล้ายๆ กัน


Source://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q2/2007april25p1.htm


โดย: ทุนนิยมวิถีญี่ปุ่น - ญี่ปุ่นไม่เหมือนใคร (37) (moonfleet ) วันที่: 17 สิงหาคม 2556 เวลา:19:06:06 น.  

 
POST JTEPA :ญี่ปุ่นไม่เหมือนใคร (38) ทุนนิยมวิถีญี่ปุ่น

วิถีเศรษฐกิจ : ดร.ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2552

แมกกาซีน The Economist ฉบับวันที่ 5-11 กันยายน 2009 พาดหัวผลการเลือกตั้งที่พลิก Landscape ทางการเมืองของญี่ปุ่นแบบ 360 องศา ว่า เป็นการเลือกตั้งที่ได้เปลี่ยนญี่ปุ่นไม่ใช่เปลี่ยนเพียงแค่พรรค LDP (Liberal Democratic Party) แต่ "เป็นการเปลี่ยนระบบทั้งหมด" ถ้าดูจากคะแนนเสียงในสภาล่างที่พรรค DPJ (Democratic Party of Japan) ได้รับถึง 308 เสียง เมื่อเทียบกับพรรค LDP ที่ได้มาเพียง 119 เสียงจากจำนวน ส.ส. ทั้งหมด 480 คน เราคงจะพูดได้ว่าพรรค DPJ ได้ mandate จากประชาชนชัดเจนเหมือนให้มาเปลี่ยนแปลงญี่ปุ่น หัวหน้าพรรค DPJ นาย Yukio Hatoyama หรือนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่น ก็ใช้สโลแกนของ ประธานาธิบดี Obama ว่า ญี่ปุ่นต้องการการเปลี่ยนแปลง และเขาจะทำให้ได้ ญี่ปุ่นจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีเหมือนที่ Hatoyama ให้ความหวังไว้ หรือที่ Economist วิเคราะห์ไว้ได้ง่ายจริงหรือ

ผู้เขียนคิดว่าที่ผ่านมา อำนาจในระบบการเมืองของญี่ปุ่นนั้น แบ่งแยกหรือกระจายกันอยู่หลายส่วน ถ้าจะเปรียบเหมือนวง ออร์เคสตรา ผู้นำรัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรี ไม่ได้มีฐานะเป็นวาทยกร หรือ Conductor แต่เป็นผู้เล่นคนหนึ่งในบรรดาผู้เล่นอีกหลายๆ คน ที่มาและลักษณะของการใช้อำนาจ รวมทั้งกระบวนการกำหนดนโยบาย หรือการปฏิรูปการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในระบบการเมืองญี่ปุ่นที่หยั่งลึกฝังรากมานานจึงมีความสลับซับซ้อน

ในความเป็นจริงระบบการเมืองญี่ปุ่นมีการเปลี่ยนแปลง แต่การเปลี่ยนแปลง หรือการปฏิรูปนั้นช้าเอามากๆ ดังประจักษ์พยานใน 20 ปีที่ผ่านมา

ในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของญี่ปุ่นนั้น การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญๆ ที่พลิกแผ่นดินในเวลาต่อมาจะโดยบังเอิญหรือไม่ก็ตาม มักเป็นไปเพราะความจำเป็นไม่มีทางเลือกอื่นจากพลังภายนอก อาทิเช่น การถูกบังคับให้เปิดประเทศในกลางศตวรรษที่ 19 หรือเมื่อแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เป็นอเมริกา ที่บังคับให้ญี่ปุ่นเป็นอย่างที่อเมริกาอยากให้เป็นตั้งแต่การปฏิรูปที่ดิน จนถึงการต้องการให้ญี่ปุ่นเป็นสังคมประชาธิปไตยตามแบบที่อเมริกาต้องการ แต่ญี่ปุ่นแรกๆ ไม่ค่อยพอใจเพราะญี่ปุ่นเคยชินกับเผด็จการอำนาจนิยม หรือรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางมานาน รัฐธรรมนูญ ปี 1947 ของญี่ปุ่นนั้น เขียนเป็นภาษาอังกฤษ เพราะเป็นความต้องการของอเมริกา

ไม่มีประเทศไหนในโลกที่สามารถบรรลุอุดมคติของประชาธิปไตยได้เต็มร้อย แต่ 60 ปีหลังสงคราม ญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างของประเทศแรกในเอเชียที่ความแตกต่างทางจารีตวัฒนธรรมของญี่ปุ่นกับของตะวันตกไม่เป็นอุปสรรค ต่อการมีประชาธิปไตยที่ต่อเนื่อง มีเสถียรภาพ นอกจากการที่เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง จนไล่กวดทันประเทศตะวันตก

การแพ้สงครามก็ส่งผลดีแบบที่ไม่ได้ตั้งใจให้สังคมญี่ปุ่นมีความเสมอภาคกันค่อนข้างสูง อันเป็นผลจากการถูกบังคับจากอเมริกา ในการปฏิรูปที่ดินและญี่ปุ่นต้องเป็นประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพของพลเมืองญี่ปุ่นก่อนและหลังสงครามต่างกันอย่างสิ้นเชิง ความเป็นอิสระในการปกครองของรัฐบาลท้องถิ่นของญี่ปุ่น แม้จะไม่มากเท่ากับที่เป็นอยู่ในสหรัฐ แต่ก็เป็นการเริ่มต้นที่สำคัญ โดยรวมประชาธิปไตยและระบบการเมืองในญี่ปุ่นใน 20-30 ปีแรกหลังสงครามไม่ล้มเหลว ระบบสามารถตอบสนองการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และความต้องการของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิผล

ระบบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยมีต้นทุนทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่ได้เป็นตัวเงิน เชื่อกันว่า ระบบเลือกตั้ง ส.ส.ของญี่ปุ่นหลังสงครามโดยเฉพาะเกือบ 20 ปี คือ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1974 ถึงปี 1994 ซึ่งมีการปฏิรูประบบเลือกตั้งใหม่หลังพรรค LDP ไม่ได้เป็นรัฐบาลเป็นครั้งแรกหลังสงครามนั้นเป็นระบบ ที่ทำให้พรรคการเมืองต้องใช้เงินจำนวนที่มากเกินไปในการแข่งขันการเลือกตั้ง ส.ส.ระดับชาติเป็นบ่อเกิดของคอร์รัปชันทางการเมือง

ระบบก่อนการปฏิรูปเป็นระบบที่เขตเลือกตั้งหนึ่งมี ส.ส. หลายคนสูงสุด 5-6 คน ระบบนี้ทำให้สมาชิกพรรคการเมืองเดียวกันต้องแข่งขันกันเอง พรรคต้องส่งคนมากเกินไปลงเลือกตั้ง เพื่อให้ได้โอกาสสูงสุดในการชนะเลือกตั้ง หลังปี ค.ศ. 1994 ระบบได้เปลี่ยนมาเป็นระบบเขตเดียวเบอร์เดียว และผสมกับการเลือกระบบสัดส่วน

การที่ญี่ปุ่นต้องใช้เวลาถึง 20 ปีในช่วงที่พรรค LDP เป็นรัฐบาลเกือบพรรคเดียวตลอดในการแก้ปัญหาระบบเลือกตั้ง เขตเดียวหลายเบอร์ หรือความไม่ยุติธรรมในความแตกต่างอย่างมากในคะแนนของ ส.ส. ของเขตเลือกตั้งในเมืองกับในชนบท บ่งชี้ถึงความหนืดความยากที่จะปฏิรูปหรือเปลี่ยนแปลง

แต่ต้นทุนของระบบการเมืองที่สูงนั้นประชาชนหรือผู้ออกเสียงยอมรับได้ ถ้าเศรษฐกิจเติบโตได้ต่อเนื่อง คนมีงานทำสวัสดิการของรัฐตั้งแต่สาธารณูปโภค ที่อยู่อาศัย การสาธารณสุข การศึกษา เป็นไปอย่างทั่วถึงมีคุณภาพ ชุมชนมีสิ่งแวดล้อมที่ดีเป็นต้น เงื่อนไขดังกล่าวข้างต้นเริ่มจะไม่เป็นจริงเมื่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มเข้าทศวรรษ 1980 และทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา

เราจะเข้าใจต้นทุนและปัญหาของระบบการเมืองที่พรรค LDP เป็นใหญ่อยู่ครึ่งศตวรรษได้เราต้องรู้ที่มาของวิวัฒนาการในฐานคะแนนเสียงทางการเมืองของพรรค LDP ในคราวต่อไป


Source://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q2/2007april25p1.htm


โดย: POST JTEPA :ญี่ปุ่นไม่เหมือนใคร (38) ทุนนิยมวิถีญี่ปุ่น (moonfleet ) วันที่: 17 สิงหาคม 2556 เวลา:19:06:48 น.  

 
วิถีแห่งเศรษฐกิจ POST JTEPA ญี่ปุ่นไม่เหมือนใคร ทุนนิยมวิถีญี่ปุ่น (ตอนที่ 39)

วิถีเศรษฐกิจ : ดร.ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2552

การสิ้นสุดของยุค LDP จากการพ่ายแพ้การเลือกตั้งไม่ใช้เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงจากรัฐบาลหนึ่งไปเป็นอีกรัฐบาลหนึ่ง แต่ตามทัศนะของนักวิชาการเช่น Pempel เป็น Regime Shift ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงในสถาบันทางการเมือง การจัดระเบียบทางเศรษฐกิจและสังคมตลอดจนลักษณะของนโยบายสาธารณะ การเปลี่ยนแปลงนี้น่าจะมีความหมายและมีความสำคัญต่อญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก Regime Shift นี้ไม่ใช่พึ่งเกิด มันเริ่มก่อตัวอย่างช้าๆ เมื่อความนิยมของพรรค LDP ลดลงมีความแปรปรวนมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อ LDP ได้เสียงส่วนน้อยในสภาสูงเป็นครั้งแรก ในปี ค.ศ.1989 ซึ่งมาชัดเจนขึ้นเมื่อ LDP ไม่สามารถครองเสียงข้างมากจนตั้งรัฐบาลเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ.1993 นับตั้งแต่การเกิดของระบบ 1955 ญี่ปุ่นจึงมีการเปลี่ยนแปลงในระบบ และในสถาบัน แต่เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปอย่างช้าๆ

พรรคการเมืองอาจแพ้หรือชนะการเลือกตั้งได้เป็นหรือไม่ได้เป็นรัฐบาลในช่วงเวลาอันสั้นๆ แต่การเปลี่ยน REGIME ในความหมายข้างตันเป็นวิวัฒนาการที่กินเวลา ระบบ 1955 ของญี่ปุ่นที่ทำให้ LDP เป็นรัฐบาลพรรคเดียวโดยไม่สั่นคลอนมากว่า 3 ทศวรรษนั้นมีลักษณะเด่นพิเศษสำหรับการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ไม่เคยปรากฏในประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆ มาก่อน สวีเดนและอิสราเอลเคยมีรัฐบาลพรรคเดียวที่นานแต่ก็ไม่นานเท่า LDP ในประเทศอื่นๆ ที่เป็นระบบ 2 พรรคใหญ่ มีพรรคการเมืองสลับกันเป็นรัฐบาล ซึ่งคนคิดว่าจะเกิดกับญี่ปุ่นเมื่อพรรคการเมืองมีการรวมตัวกันเป็นปึกแผ่นในปี 1955 คือพรรคอนุรักษนิยม LDP (พรรค Liberal รวมตัวกับพรรค Democrat) และพรรคสังคมนิยมญี่ปุ่น Japan Socialist Party (JSP)

สาเหตุสำคัญที่ระบบ 2 พรรคไม่เกิดในญี่ปุ่นทันทีหลังปี 1955 ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่พรรคสังคมนิยม ก็แตกแยกกันทางด้านความคิดและอุดมการณ์ระหว่างซ้ายที่เอียงซ้ายและซ้ายที่เอียงขวาต่างกันในความคิด หรือจุดยืนเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญที่อเมริกาออกแบบมาให้หรือเรื่องสนธิสัญญาความมั่นคง ระหว่างสหรัฐกับญี่ปุ่น รวมทั้งนโยบายการป้องกันประเทศความไม่ลงรอยกันในความคิด นำไปสู่การแยกตัวของนักการเมืองฝ่ายซ้ายมาตั้งพรรคใหม่ นอกจากนั้นการที่ JSP ซึ่งเป็นพรรคที่มีฐานอยู่ที่สหภาพแรงงาน ปัญญาชนนักศึกษามหาลัยรวมทั้งคนในเมืองใหญ่ๆ ไม่สามารถเสนออุดมการณ์นโยบาย ที่เด่นพอจนแข่งกับ LDP ได้ การที่สหภาพแรงงานของญี่ปุ่นจัดตั้งเป็นระดับบริษัทก็ดีหรือเมื่อเวลาผ่านไปการที่สัดส่วนของแรงงานทั้งหมดที่เป็นสมาชิกสหภาพยังต่ำหรือแรงงานเริ่มพอใจกับชีวิตที่ดีขึ้นจากการบริหารของพรรค LDP ล้วนเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของพรรคสังคมนิยมญี่ปุ่น

ก่อนที่จะมีการปฏิรูประบบการเลือกตั้งเป็นแบบที่แต่ละเขตมี ส.ส.คนเดียวในปี 1994 ระบบเลือกตั้งของญี่ปุ่นซึ่งค่อนข้างพิสดารไม่เหมือนใครตั้งแต่ปี 1955 ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดแรงจูงใจในการเกิดของพรรคขนาดเล็ก ระบบการเลือกตั้งที่ผู้ออกเสียงเลือกผู้สมัครได้คนเดียวจากเขตที่มีสมาชิกตั้งแต่ 2 ถึง 6 คน จริงๆ แล้วคล้ายๆ เป็นกึ่งๆ ระบบสัดส่วน เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้พรรคเล็กๆ แทรกเข้ามาได้ง่าย การได้รับเลือกตั้งในโครงสร้างแบบนี้อาจต้องการเพียง 10-15%ของผู้ออกเสียงก็พอ จึงไม่น่าแปลกใจที่ในเวลาไม่นานก็มีพรรคเล็กๆ เกิดขึ้นตามมา แต่ระบบนี้สร้างปัญหาและเป็นต้นทุนที่สูงแก่สังคมเช่นกัน ในระบบนี้ลักษณะส่วนตัวของผู้สมัครสำคัญไม่น้อยกว่ายี่ห้อของพรรค ระบบนี้ทำให้พรรค LDP ต้องส่งสมาชิกในพรรคแข่งกันเองรุนแรง และดุเดือด กว่าการแข่งขันกับพรรคอื่นด้วยซ้ำไป

การที่ตัวบุคคลมีความสำคัญทำให้สมาชิกหรือ ส.ส. แต่ละคน หรือพรรคต้องสร้างเครือข่ายส่วนตัวของตนทำให้มีค่าใช้จ่ายสูง ในปี ค.ศ. 1994 นักวิชาการญี่ปุ่นเคยประมาณการค่าใช้จ่ายด้านสำนักงาน และบุคลากรไม่รวมช่วงหาเสียงเลือกตั้งสำหรับ ส.ส. ระดับเขต สูงถึงปีละ 1 ล้าน เหรียญสหรัฐ ซึ่งนับว่าสูงมากทำให้ money politics มีความสำคัญในระบบการเมืองญี่ปุ่น

นอกจากนี้ ส.ส.ญี่ปุ่นน่าจะคล้ายของไทยในด้านวัฒนธรรมทางการเมืองอันเนื่องมาจากความสำคัญของความสัมพันธ์ส่วนบุคคลคือ ส.ส. ต้องมีความใกล้ชิดกับเครือข่ายที่สนับสนุนและฐานคะแนนเสียง ส.ส.ต้องดูแล และฝากฝังคนเข้าเรียน เข้าทำงาน ไปงานศพ งานแต่งงาน ซึ่งล้วนมีค่าใช้จ่าย

มักจะมีคนพูดว่าการเมืองของญี่ปุ่นไม่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง หรือเป็นประชาธิปไตยเทียมๆ โดยยกเหตุผลต่างๆ มาอ้างมากมาย เช่นการที่พรรคการเมืองเดียวผูกขาดการเป็นรัฐบาลเป็นเวลานาน การแข่งขันทางการเมือง ย่อมมีน้อยผู้ออกเสียงเลือกตั้ง ก็มีทางเลือกน้อย ฝ่ายค้านไม่สามารถมีชุดของนโยบายหรือ platform ของพรรคที่น่าสนใจ และฝ่ายค้านก็สักแต่ค้าน คนญี่ปุ่นไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภคหรือในฐานะผู้ออกเสียงเลือกตั้งหรือในฐานะพลเมือง ไม่ให้ความสำคัญกับสิทธิของตนเอง และยอมสยบกับผู้มีอำนาจหรือรัฐ เคยมีการสำรวจพบว่าผู้บริโภคญี่ปุ่นส่วนใหญ่ เห็นด้วยกับการคุ้มครองให้เงินอุดหนุนภาคเกษตร หรือชาวนา และยอมบริโภคข้าวในราคาที่สูงมาก

หรือความเชื่อที่ว่าคนญี่ปุ่นเชื่องยอมสยบกับรัฐชนชั้นปกครองหรือผู้มีอำนาจ จนเป็นวัฒนธรรมที่ถูกสร้างขึ้นโดยชนชั้นปกครองผ่านระบบการศึกษาหลักสูตรในโรงเรียน หรือในระบบทุนผ่านบริษัทขนาดใหญ่ สังคมญี่ปุ่นยังมีความเป็นสังคมแบบระบบอุปถัมภ์ หรือ Patron-Client หรือการที่สังคมญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับความเป็นน้ำหนึ่งเดียวกัน เพื่อชาติ เพื่อรัฐ เน้นความจงรักภักดี เน้น Harmony มากกว่าความขัดแย้ง ระบบไม่ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ และการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เป็นอุปสรรคต่ออุดมการณ์การพัฒนาประชาธิปไตยเชิงเสรีนิยมแบบตะวันตก ประชาธิปไตยของญี่ปุ่นที่ผ่านมามีลักษณะที่เป็นประชาธิปไตยของอภิชนหรือ Elites Democracy โดยอำมาตย์ในยุคหนึ่งก่อนสงครามหรือระบบข้าราชการเป็นใหญ่กว่านักการเมืองในช่วงหลังสงคราม เป็นต้น (ติดตามได้ในคราวหน้า)


Source://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q2/2007april25p1.htm


โดย: วิถีแห่งเศรษฐกิจ POST JTEPA ญี่ปุ่นไม่เหมือนใคร ทุนนิยมวิถีญี่ปุ่น (ตอนที่ 39) (moonfleet ) วันที่: 17 สิงหาคม 2556 เวลา:19:07:43 น.  

 
ญี่ปุ่นไม่เหมือนใคร ทุนนิยมวิถีญี่ปุ่น (40)

POST JTEPA : ดร.ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ผู้เขียนคิดว่าความสัมฤทธิผลของพัฒนาการประชาธิปไตยในญี่ปุ่นหลังสงคราม ถ้าเราไม่ยึดติดกับอุดมการณ์ที่สูงส่งจนเกินไป จะเห็นได้ว่าญี่ปุ่นประสบความสำเร็จอย่างน่าทึ่ง เพราะประชาธิปไตยได้ฝังรากลึก มีเสถียรภาพต่อเนื่องยาวนานและเป็นประเทศแรกในเอเชียเสียด้วย น่าทึ่งโดยเฉพาะถ้าพิจารณาว่า ก่อนสงครามในยุคเมจิ และไทโช ระบบรัฐสภา เริ่มต้นได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถมีพลังทานกระแสอำนาจนิยม และลัทธิฟาสซิสต์ได้ นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญฉบับแรก ปี ค.ศ. 1889 ก็ยังไม่เป็นประชาธิปไตย

นักวิชาการตะวันตกอาจมองประชาธิปไตยญี่ปุ่น โดยเฉพาะช่วง 20 ปีแรกหลังสงคราม ว่า ยังมีความไม่สมบูรณ์อยู่มาก แต่เราต้องไม่ลืมว่าญี่ปุ่นสามารถติดอันดับสูงสุดในเอเชียได้สม่ำเสมอ ในดัชนีชี้วัดความเป็นประชาธิปไตย คนญี่ปุ่นมักมาใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งในสัดส่วนที่สูงกว่าร้อยละ 60 มาตลอด แน่นอนว่า การมีส่วนร่วมไม่ได้ดูจากการมาลงคะแนนเท่านั้น

เป็นความจริงอยู่บ้างว่าในช่วงพรรคแอลดีพีเป็นใหญ่ และก่อการปฏิรูประบบเลือกตั้ง ปี ค.ศ. 1994 นั้น การเมืองที่เน้นในประเด็นนโยบาย หรือ Issues Based Politics หรือวิวาทะด้านอุดมการณ์ (นอกจากเรื่องสนธิสัญญาระหว่างสหรัฐกับญี่ปุ่น) ไม่ค่อยจะมีความสำคัญในการเมืองของญี่ปุ่น ปรากฏการณ์นี้เป็นเช่นนี้เรื่อยมามากบ้างน้อยบ้าง โดยเฉพาะทางเลือกหรือวิสัยทัศน์ของประเทศ แม้กระทั่งเมื่อประชาชนเบื่อพรรคแอลดีพีเต็มที่ มองหาทางเลือกจากพรรคใหม่ๆ หรือแม้กระทั่งเมื่อล่าสุด พรรคดีพีเจ ที่มีนายฮาโตยามาเป็นหัวหน้าพรรค ก็ยังไม่สามารถเสนอทางเลือกเด่นๆ ที่ต่างกับแอลดีพี เพื่อผู้ลงคะแนนได้

การเมืองที่ผ่านมาในระบบเลือกตั้งเดิมก่อนปี 1994 เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ตัวบุคคล บุคลิกภาพของผู้สมัครเลือกตั้ง และผลประโยชน์ที่พรรคการเมืองจะหยิบยื่นให้แก่ท้องถิ่น มีความสำคัญมากกว่าประเด็นและวาระระดับชาติ นอกเหนือจากการที่คนญี่ปุ่นก็เหมือนกับคนในชาติอื่นๆ ทั่วไปในโลก ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องปากท้อง เรื่องเศรษฐกิจ และสวัสดิการจากรัฐเป็นเรื่องสำคัญกว่าเรื่องอื่น

ในแง่วิชาการและองค์ความรู้ ข้อดีของสังคมญี่ปุ่น ก็คือ การที่ญี่ปุ่นเคยประสบความสำเร็จอย่างใหญ่หลวงในทางเศรษฐกิจ จึงมีคนทั้งในประเทศและต่างประเทศให้ความสนใจและศึกษาสังคมญี่ปุ่นมากเหลือเกิน นักวิชาการตะวันตกจำนวนหนึ่งคิดว่าญี่ปุ่นมีเศรษฐกิจระดับเกรดที่เป็นที่หนึ่ง แต่ระบบการเมืองมีคุณภาพประมาณเกรดสาม ผู้เขียนไม่ค่อยเห็นด้วยนัก เพราะว่านักวิชาการเหล่านี้ใช้โลกทัศน์แบบตะวันตกมาเปรียบเทียบการเมืองญี่ปุ่น

การเปรียบเทียบการเมืองและประชาธิปไตยระหว่างประเทศนั้นยากที่จะเปรียบเทียบกันได้ โดยไม่คำนึงถึงว่ามีอะไรบ้างที่คล้ายกันและต่างกันที่จะต้องนำเข้ามาพิจารณา เป็นไปไม่ได้เลยที่การเปรียบเทียบนี้จะไม่นำเรื่องวัฒนธรรมเข้ามาไม่มากก็น้อย จริงอยู่วัฒนธรรมอาจไม่สำคัญในทุกเรื่อง บ่อยครั้งการให้ความสำคัญแก่วัฒนธรรมที่เกินเลยก็ไม่เป็นประโยชน์ อาทิเช่น กรณีที่คนญี่ปุ่นมักจะอ้างเสมอว่าญี่ปุ่นมีความเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร หรือที่เรียกกันว่า Nihonjinron หรือโดยไม่พิจารณาว่าวัฒนธรรมที่แตกต่างกันนั้น ไม่มีผลต่อการอธิบายพฤติกรรมทางการเมืองหรือเศรษฐกิจ อาทิเช่น การวิเคราะห์ทางการเมืองที่ใช้วิธีการทางเลือกที่เป็นเหตุเป็นผล หรือที่เรียกว่าทฤษฎี Rational Choice ก็สามารถหรืออาจอธิบายพฤติกรรมทางการเมืองของญี่ปุ่นได้เช่นกัน

องค์ความรู้ที่ตกผลึกในช่วงประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา จากนักวิชาการทั้งของญี่ปุ่นและตะวันตกอาทิเช่น Okimoto Rohlen Titus van Wolferen เป็นต้น เชื่อว่าในระบบหรือโครงสร้างการเมือง ญี่ปุ่นไม่เคยมีโครงสร้างหรือองค์กรใดองค์กรเดียวที่ยืนเด่นอย่างถาวรเป็นศูนย์กลางทางอำนาจทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นมิติทางกฎหมายหรือระบบราชการ หรือพรรค LDP ลักษณะเด่นที่สำคัญ คือ ความขัดแย้งที่มีอยู่ในสังคมระหว่างฝ่ายต่างๆ ไม่ได้ทำให้การถ่วงดุลของอำนาจเปลี่ยนแปลงไป มีความพยายามที่จะรักษาดุลแห่งอำนาจนี้ไว้เสมอ จุดเด่นที่สำคัญ ก็คือ รัฐมีลักษณะที่ไม่แยกตัวเองออกมาเป็นเอกเทศอิสระ และอยู่เหนือสังคม แต่รัฐเป็นกลไกปกติในกระบวนการของกลไกในสังคม

Karel van Wolferen เคยให้ข้อสังเกตไว้ว่าระบบอำนาจของญี่ปุ่นเป็นระบบที่มีหลายศูนย์กลางกระจายไปทั่วระหว่างหน่วย หรือองค์กรที่มีลักษณะกึ่งอิสระกึ่งพึ่งพาซึ่งกันและกันไม่ได้อยู่ในอาณัติของฝ่ายใดชัดเจน และจำนวนมากก็ไม่ต้องรับผิดชอบต่อหน่วยเลือกตั้ง ปรากฏการณ์หรือระบบที่ดูเหมือนศูนย์กลางมีความว่างเปล่าเช่นนี้ (ดังเช่นนักคิดชาวญี่ปุ่น Masao Maruyama เคยเปรียบจักรพรรดิญี่ปุ่นก่อนสงครามว่าเหมือนศาลเจ้าที่ไร้อำนาจ) น่าจะมีส่วนที่ปลดปล่อยความตึงเครียดจากความขัดแย้งของสังคมญี่ปุ่นได้มาตลอดในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น

หัวใจสำคัญของการใช้อำนาจในประชาธิปไตยของญี่ปุ่นต่างกับสังคมตะวันตกค่อนข้างมาก ในขณะที่สังคมตะวันตกเน้นเรื่องสิทธิและอำนาจที่เป็นทางการ หรือ Formal Authority แต่สำหรับญี่ปุ่นการที่สังคมญี่ปุ่นให้ความสำคัญน้อยกับลักษณะความสัมพันธ์ที่มีลักษณะเป็นพันธสัญญา หรือ Contractual Governance ซึ่งเป็นจุดเด่นของทุนนิยม Anglo Saxon ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจหรือสังคม แต่สังคมญี่ปุ่นเน้นความสัมพันธ์ที่มีลักษณะของความผูกพันโดยเฉพาะทางอารมณ์ ความใกล้ชิดสนิทสนม และเน้นความกลมเกลียวในกลุ่ม ซึ่งต้องให้ความสำคัญกับการได้มาซึ่งฉันทานุมัติ หรือมีลักษณะเป็น Consensual Governance ประชาธิปไตยญี่ปุ่น จึงมีลักษณะเด่นอยู่ที่การจัดการหรือการบริหารความสัมพันธ์ มากกว่าเรื่องของสิทธิ หรือการใช้อำนาจที่เป็นทางการ ตัวอย่างเช่น ในทางการเมือง แม้พรรค LDP จะครองเสียงข้างมากต่อเนื่องมาตลอด ก็มักจะให้ฝ่ายค้านมีบทบาท แม้กระทั่งสำหรับพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นลักษณะของการประนีประนอม

โดยทั่วไปอาจกล่าวได้ว่ารัฐญี่ปุ่นไม่ใช่รัฐที่กฎหมายเป็นโดยทั่วไป อาจกล่าวได้ว่ารัฐญี่ปุ่นไม่ใช่รัฐที่เน้นกฎหมายเป็นใหญ่ หรือที่เรียกว่า Legalistic State เช่นเดียวกันในกรอบของจริยธรรม ญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับสถานการณ์ หรือบริบทมากกว่าการยึดหลักจริยธรรมที่เป็นสากลตายตัว

รัฐญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับกระบวนการ หรือวิธีการแก้ปัญหาที่ไม่เป็นทางการ รวมทั้งการใช้แนวทางหรือข้อบังคับทางการปกครอง (Administrative guidance) มีความสำคัญเสมอในสังคมญี่ปุ่น ให้ความสำคัญกับสถานการณ์เฉพาะ หรือการแก้ปัญหาเป็นกรณีๆ ไป


Source://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q2/2007april25p1.htm


โดย: ญี่ปุ่นไม่เหมือนใคร ทุนนิยมวิถีญี่ปุ่น (40) (moonfleet ) วันที่: 17 สิงหาคม 2556 เวลา:19:08:24 น.  

 
ญี่ปุ่นไม่เหมือนใคร ทุนนิยมวิถีญี่ปุ่น (41)

วิถีแห่งเศรษฐกิจ : ดร.ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 09 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ถ้าวัฒนธรรมมีความสำคัญในการก่อตัวของระเบียบสังคม (social order) ในทางการเมือง วัฒนธรรมก็คงเป็นเช่นเดียวกัน แม้กระทั่งความคิดของคำว่า "ประชาธิปไตย" ที่ญี่ปุ่นนำเข้ารูปแบบทางสถาบันจากสังคมตะวันตก สังคมญี่ปุ่นก็มีมุมมองที่เป็นของตัวเอง

นักเศรษฐศาสตร์ Michio Morishima นักรัฐศาสตร์ อาทิเช่น Hitoshi Abe หรือในหนังสือ Japanese society ของนักมานุษยวิทยาสังคมชาวญี่ปุ่นชื่อ Chie Nakane ประชาธิปไตยที่รากแก้วได้เติบโตในญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น Nakane มองว่าประชาธิปไตยในบริบทของสังคมญี่ปุ่นไม่ใช่รูปแบบของรัฐบาลหรือการปกครองแต่เป็น "รูปแบบของความสัมพันธ์ของกลุ่มคนในสังคม" โดยให้ความสำคัญกับความเสมอภาค ความกลมเกลียว

ตั้งแต่โบราณกาลสังคมญี่ปุ่นจะมีความเป็นหนึ่งเดียว หรือเป็นเนื้อเดียวกันทางวัฒนธรรมที่สูงมาก เป็นสังคมวัฒนธรรมเดี่ยว ความเป็นเนื้อเดียวกันทั้งทางสถาบันและทางวัฒนธรรมฝังรากลึกขึ้นสมัยศักดินา รวมศูนย์ที่ส่วนกลางโชกุนตระกูล Tokugawa

มองอย่างผิวเผิน นี่น่าจะเป็นสังคมในแนวดิ่งที่มีการจัดชั้นทางสังคมที่สูงมาก ระหว่างชาวนาซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 กับชนชั้นนักรบ หรือ Bushi ซึ่งมีประมาณร้อยละ 6 และเป็นกลุ่มที่สถานะภาพทางสังคมที่สูงที่สุด ที่เหลือก็เป็นช่างฝีมือและพ่อค้า พระและกลุ่มคนอื่นๆ ชนชั้นนักรบหรือซามูไร ถูกแยกออกมาจากชาวนาอย่างชัดเจน

ที่ดูแปลกและเหมือนมีความขัดแย้งกันเอง ทำไมชาวนาร้อยละ 80 ในสังคมแบบนี้ กลับมีความเชื่อในชุมชนที่ตัวเองสังกัดว่ามีความเท่าเทียมกันเป็นพื้นฐาน ซึ่งรวมถึงสิทธิที่เขามีในชุมชนหมู่บ้าน เป็นเรื่องที่ต้องการคำอธิบาย เพราะมันมีนัยต่อความรู้สึกเกี่ยวกับประชาธิปไตยในสังคมญี่ปุ่น

การแบ่งชั้นทางสังคมระหว่างชนชั้นนักรบกับชาวนาไม่ใช่เกิดจากผลพวงของการพัฒนาการทางเศรษฐกิจ แต่เกิดจากนโยบายหรือกฎหมายที่โชกุนผู้ปกครองเป็นผู้กำหนด ที่สำคัญ นักรบซามูไรมีจำนวนไม่มากไม่กี่ร้อยคน นักรบเหล่านี้รับเงินเดือนในรูปของข้าวจากรัฐบาล ไม่มีที่ดินเป็นของตนเองไม่เป็นพ่อค้า ซึ่งไม่เหมือนกับกรณีของอังกฤษ หรือในยุโรป จีนและอินเดีย

เนื่องจากความสงบที่มีช่วงยาวนาน ชนชั้น Bushi มีลักษณะเหมือนเป็นข้าราชการ โดยทำหน้าที่ฝ่ายปกครองบริหาร หรือฝ่ายการเงินการคลัง เห็นได้ชัดว่าเมื่อญี่ปุ่นเข้ายุคสมัยใหม่ สมัย Meiji และยกเลิกชนชั้นนักรบ เส้นแบ่งชนชั้นทางสังคมระหว่างนักรบและชาวนา จึงหมดไปเร็ว เมื่อมีการปฏิรูประบบการศึกษาให้มีลักษณะเพื่อมวลชนและการปฏิรูประบบราชการ

ในส่วนของชุมชนหมู่บ้านในอดีตกาล ชนชั้นชาวนาย่อมมีทั้งชาวนารวยและจน แต่นาส่วนใหญ่เป็นนาขนาดเล็ก ชุมชนในหมู่บ้านไม่มีกลุ่มที่มีสถานภาพทางสังคมที่ต่างกันมาก มีความเป็นหนึ่งใจเดียวกัน หรือ Solidarity สูง ผลก็คือ คนส่วนใหญ่ก็คือชาวนา ไม่เคยมีความรู้สึกว่าตัวเองอยู่ในสังคมหรือชุมชนที่มีการแบ่งชั้นทางสังคม แต่เป็นความแตกต่างตามตำแหน่ง ยศ ตามพื้นฐาน หรือตามหลักการของการบริหารการจัดองค์กร ความเสมอภาค หรือความเท่าเทียมกัน จะจริงหรือเท็จก็ตาม เป็นความเชื่อ ความนึกคิด หรือ Perception ของคนส่วนใหญ่ ด้วยภูมิหลังของวิวัฒนาการของสังคมญี่ปุ่น แนวคิดเรื่องประชาธิปไตยจึงเกิดขึ้น เมื่อญี่ปุ่นต้องนำเข้ารูปแบบของสถาบันนี้จากโลกตะวันตก ตั้งแต่สมัยเมจิเรื่อยมาจนเป็นปึกแผ่นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ทั้งๆ ที่อเมริกาเป็นผู้ออกแบบทางสถาบันให้ แต่วัฒนธรรมของญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญในการกำหนดพฤติกรรมทางการเมือง

สังคมญี่ปุ่นหลังสงครามใช้แนวคิดประชาธิปไตย ซึ่งเริ่มฮิตมากเพื่อมาลบล้างรูปแบบศักดินา หรืออำนาจนิยม ซึ่งเป็นระบบที่มีมาก่อนสงคราม ระบบที่ผู้มีอำนาจสามารถฉ้อฉล การใช้อำนาจต่อกลุ่มคนระดับล่าง ญี่ปุ่นใช้แนวคิดเรื่องประชาธิปไตย เพื่อต่อต้านยับยั้งอำนาจผูกขาด หรือการใช้อภิสิทธิ์ในภาคหรือสาขาต่างๆ ในกลุ่มคนองค์กร หรือมุ้ง (faction) ที่แข็งแรง มีพลังกว่ากลุ่มอื่นๆ

ประชาธิปไตยในความหมายของสังคมญี่ปุ่น คือ ระบบที่เอียงเอนใส่ใจกับคนระดับล่าง คนที่อ่อนแอกว่า เมื่อแปลงเป็นการปฏิบัติ หมายถึงขบวนการตัดสินใจใดๆ ที่มีขึ้น มีหลักการของการมีส่วนร่วม การปรึกษาหารือ อย่างเต็มที่ จนเกิดเป็นฉันทานุมัติ หรือ consensus ประชาธิปไตยในแนวคิดของสังคมญี่ปุ่น จึงไม่ใช่การเน้นหลักของเสียงข้างมาก (majoritiy) แต่เป็นเรื่องของการหาความเป็นเอกฉันท์

ขณะที่พื้นฐานของประชาธิปไตยตะวันตก อยู่ที่การให้ความสำคัญกับความเป็นตัวของตัวเอง หรือ autonomy ของปัจเจกชน และสังคมเป็นผลรวมของเจตจำนงของปัจเจกชน แต่ในปรัชญาสังคมของญี่ปุ่นสังคมเป็นองค์อินทรีย์ที่ถูกสร้างขึ้น โดยมีกลุ่มทางสังคมหลักอยู่ที่ครอบครัว และเดิมที่หมู่บ้าน มากกว่าปัจเจกชน กลุ่มสังคมอื่นๆ ก็มีหลักการที่คล้ายกัน เน้นความกลมเกลียวเสถียรภาพ หรือ harmony

รัฐก็เหมือนเป็นส่วนขยาย หรือเป็นตัวแทนของครอบครัว หรือเป็น family state ภาระและหน้าที่ของผู้นำของกลุ่ม คือ การสร้างความกลมเกลียว ความผูกพัน ความสนิทสนมให้เกิดขึ้นในกลุ่ม แบบพ่อรักลูก ประชาธิปไตยในบริบทนี้จึงเป็นเรื่องของการสร้างความมีส่วนร่วมของคนในกลุ่ม สร้างความสนิทสนม ผูกพันของกลุ่ม ความสัมพันธ์ระหว่างนายกับลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชาจะมีส่วนของความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นทางการบอกถึงความรู้สึกของการอยู่ในครอบครัวหรือเรือลำเดียวกัน

ปรัชญาของคนญี่ปุ่นจึงมีว่าเมื่อคุณอยู่ในเรือลำเดียวกัน ทุกคนจะมีสิทธิในชุมชนที่เหมือนกันโดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างในสถานะภาพหรือความสามารถ ประชาธิปไตยของญี่ปุ่นในทัศนะของ Nakane จึงมีส่วนของความรู้สึกที่เป็นชุมชนมีแรงเกาะและฉันทานุมัติที่สูงในกลุ่ม

การที่ความกลมเกลียวเป็นเป้าหมายสำคัญของกลุ่ม องค์กรที่มีภราดรภาพสูง องค์กรขนาดเล็กๆ ย่อมหมายความว่า เมื่อใดก็ตามที่สังคมญี่ปุ่นต้องเลือกระหว่างความกลมเกลียวกับการแตกแยกที่จะเกิดขึ้นจากการเลือกตั้ง หรือการใช้ majority rule สังคมญี่ปุ่นก็จะเลี่ยงการใช้ majority rule ในแง่นี้สังคมญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการได้มาหรือการดำรงอยู่ของกลุ่มมากกว่าการยึดมั่นในการใช้กฎเกณฑ์

การเมืองอาจจะเป็นเรื่องของการจัดการกับความขัดแย้งในสังคม และในแนวคิดของสังคมตะวันตก ประชาธิปไตยเป็นกลไกที่สำคัญ แต่ในปรัชญาการเมืองและสังคมของญี่ปุ่น รัฐทำหน้าที่เหมือนเป็นครอบครัวใหญ่ ความขัดแย้งและความเป็นฝ่ายค้านไม่น่าจะมี ในทางการเมืองความคิดดังกล่าว รัฐของญี่ปุ่น จึงมีลักษณะเป็นรัฐที่ไม่ใช่รัฐการเมือง (apolitical state)

การเมืองญี่ปุ่นในบริบทของความคิดขั้นต้น จึงมีสมมติฐานของ harmony ของกลุ่ม ดุลยภาพที่พึงประสงค์ คือ การปราศจากความขัดแย้งและการเผชิญหน้า

สังคมหรือการเมืองหรือประชาธิปไตยของญี่ปุ่น อาจไม่เก่งในเรื่องการจัดการกับความขัดแย้งหรือกรณีพิพาทเท่ากับความสามารถในการกำหนด หรือการได้มาซึ่งยุทธศาสตร์หรือกระบวนการในการหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง และการเผชิญหน้าที่ญี่ปุ่นเรียกว่า "nemawashi"


Source://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q2/2007april25p1.htm


โดย: ญี่ปุ่นไม่เหมือนใคร ทุนนิยมวิถีญี่ปุ่น (41) (moonfleet ) วันที่: 17 สิงหาคม 2556 เวลา:19:09:13 น.  

 
ญี่ปุ่นไม่เหมือนใคร : ทุนนิยมวิถีญี่ปุ่น (42)

ดร.ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 06 มกราคม พ.ศ. 2553

ที่น่าสนใจคือมุมมองที่ค่อนข้างแปลกเรื่องแนวคิดประชาธิปไตยของญี่ปุ่น จากนักเศรษฐศาสตร์ชาวญี่ปุ่นที่เชี่ยวชาญเศรษฐศาสตร์ของ Karl Marx ชื่อ Morishima

เขาคิดว่าแม้ระบอบประชาธิปไตยผ่านระบบรัฐสภาในยุคเมจิจะไม่เป็นประชาธิปไตยในความคิดของคนตะวันตก แต่ระบบราชการของญี่ปุ่นซึ่งมีความสำคัญมากสามารถมีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าประเทศตะวันตกด้วยซ้ำ คือ เป็นประชาธิปไตยโดยระบบราชการ หรือที่เขาเรียกว่า Bureaucratic Democracy

Morishima คิดว่าระบบของอังกฤษและอเมริกาเป็นระบบประชาธิปไตย ที่อิงกับเงินหรือความมั่งคั่งที่เรียกว่า Plutocratic Democracy ตัวอย่างของแนวคิดนี้เห็นได้จากการให้ผู้ถือหุ้นเป็นใหญ่ในบริษัทเมื่อเทียบกับพนักงานหรือคนงานของบริษัท แต่ในระบบการอภิบาล หรือ Governance ของญี่ปุ่น องค์กรหรือบริษัทของญี่ปุ่นจะให้ความสำคัญกับพนักงาน คนงาน เท่ากับผู้ถือหุ้น ซึ่งดูเป็นประชาธิปไตยมากกว่าระบบที่ให้ความมั่งคั่งเป็นตัวกำหนด

ในแนวคิด Bureaucratic Democracy ถ้าประยุกต์กับการเมืองหรือประชาธิปไตยกับญี่ปุ่น คนแต่ละคนต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันทุกคน เป็นระบบที่ยึดคุณธรรม หรือ Meritocracy ซึ่งเป็นแนวคิดที่เป็นพื้นฐานสำหรับระบบข้าราชการที่ Weber ได้กล่าวไว้

ความเป็นประชาธิปไตยแบบข้าราชการนี้เริ่มฝังรากในญี่ปุ่นทันทีเมื่อมีการปฏิวัติเมจิ ใน ค.ศ. 1868 เมื่อมีการยกเลิกระบบแบบประชาชนเป็นชนชั้นตามกฎหมายตั้งแต่ซามูไรไปจนถึงพ่อค้า ในยุคเมจิองค์กรของรัฐที่มีฐานะรับบุคคลเข้าทำงานเหมือนกับบริษัทใหญ่ๆ ทำหลังสงคราม โดยใช้ระบบการคัดเลือกผ่านการสอบที่ยากและเข้มข้น การแบ่งแยก "พวกเขา พวกเรา" ในองค์กรใหญ่ๆ ไม่มี หรือมีก็น้อยมาก ส่วนบริษัทเล็กๆ ที่มีครอบครัวถือหุ้นหรือเป็นเจ้าของจะต่างไปจากองค์กรใหญ่ๆ

ในยุคก่อนสงคราม บริษัทกลุ่ม Zaibatsu ก็มีลักษณะคล้ายรัฐ หรือ Quasi State ในตอนนั้นคนงานกับบุคลากรระดับสูงได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม หรือมีความเสมอภาคสูง เช่นเดียวกับระบบของบริษัทขนาดใหญ่ในสังคมญี่ปุ่นสมัยใหม่ คือ มีความเป็น Bureaucratic Democracy สูง

แนวคิดข้างต้นนี้เป็นเรื่องของระบบ ในความเป็นจริงระบบราชการและข้าราชการของญี่ปุ่น ที่ผ่านมา ก็มีลักษณะพิเศษไม่เหมือนใคร คือ เป็นระบบที่ข้าราชการมีอำนาจมาก มีคุณภาพสูงเป็นพลังสำคัญของสังคม โดยมีที่มาก่อนหน้าหลายร้อยปี

แม้ว่าในช่วงหลังๆ บทบาทและความสำคัญของข้าราชการ ในระบบการเมืองญี่ปุ่นอาจลดลงไปมากมีเรื่องอื้อฉาว ทุจริต แต่โดยเปรียบเทียบข้าราชการญี่ปุ่น ทั้งก่อนหน้าและหลังสงครามใหม่ๆ เป็นชนชั้นนำที่สำคัญ ภาพของการทุจริตโกงกินจะน้อยกว่านักการเมือง ระบบราชการยุคเมจิที่แข็งแกร่งและมีอิทธิพลต่อระบบหลังสงครามเป็นผลพวงของมรดกตกทอดจากระบบราชการที่พัฒนามาในยุคโชกุน Tokugawa เมื่อ 200 กว่าปีก่อน

ระหว่างปลายศตวรรษที่ 16 ถึงกลางศตวรรษที่ 19 การปกครองของญี่ปุ่นต่างกับยุโรป คือ ญี่ปุ่นไม่เป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ระบบญี่ปุ่นมีการถ่วงดุลของศูนย์อำนาจต่างๆ ฐานอำนาจของโชกุนเปรียบเสมือนมีที่มาจากการเป็นพันธมิตรของแคว้น (Han) ที่ปกครองโดยตนเองและช่วยตนเองได้ โดยเฉพาะทางเหนือและทางตะวันออกของประเทศ การปกครองในแคว้นก็มีลักษณะคล้ายกัน ผลของการถ่วงดุลในอำนาจที่ซับซ้อนนี้ มีส่วนในการป้องกันไม่ให้เกิดผู้นำเลวๆ ด้วย

ความปรารถนาสูงสุดของโชกุน คือ การรักษาสถานะภาพเดิมและการมีเสถียรภาพ สังคมมีความราบรื่นผู้นำโชกุนที่รวมประเทศได้สำเร็จ อาทิเช่น Hideyoshi ตระหนักดีว่าเสถียรภาพจะไม่เกิดขึ้นได้ถ้าเขาใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ เพราะว่าผู้นำของแคว้นและชาวนาจะต้องลุกฮือต่อต้าน

มีปัจจัยหลายอย่างที่ระบบราชการของโชกุน Tokugawa ฝังตัวเป็นปึกแผ่นแข็งแรงเป็นมรดกสำคัญต่อมาในยุคเมจิ ความสงบอันยาวนานเป็นร้อยๆ ปี ทำให้ซามูไรหรือชนชั้นนักรบกลายสภาพเป็นข้าราชการปกครองในแคว้นต่างๆ พวกเขาดูแลการบริหารการภาษี ป้องกันน้ำท่วม การศึกษา อาชญากรรม เป็นต้น เขาไม่มีอำนาจทางทหาร ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง เพราะต้องมาอยู่ในปราสาทเขตเมือง

ซามูไรเป็นชนชั้นที่มีการศึกษาสูง ซึ่งก็หมายถึงระบบราชการได้คนที่มีการศึกษาดีที่สุด เกียรติยศของซามูไรที่เคยมีรากฐานของความเป็นปัจเจกชนในการรบ และความกล้าหาญ ในยุคที่แคว้นต่างๆ รบกัน ได้เปลี่ยนมาเป็นเกียรติยศที่มาจากการปฏิบัติตนเพื่อส่วนรวมเพื่อรัฐ (Collectivism) ในยุคโชกุน Tokugawa ซึ่งหมายถึง การมีจิตวิญญาณ ทุ่มเท ในการทำหน้าที่หรือบรรลุพันธะกิจ

ญี่ปุ่นดัดแปลงคำสอนของลัทธิขงจื๊อ ให้เหมาะกับตนเองต่างไปจากของจีนที่ญี่ปุ่นรับมา หรือต่างจากเกาหลี อาทิเช่น ถ้ามีความขัดแย้งกันระหว่างความจงรักภักดีต่อนายกับต่อครอบครัวแล้ว กรณีของญี่ปุ่นความจงรักภักดีต่อนายต้องมาก่อนครอบครัว แต่กรณีของจีนกับเกาหลีนั้น ตรงกันข้ามกับของญี่ปุ่น

นักวิชาการญี่ปุ่น Takashi Inoguchi ให้ข้อสังเกตเปรียบเทียบระบบราชการของเกาหลีและญี่ปุ่นที่ต่างกันในช่วงนี้ว่าการเป็นเจ้าของที่ดินมีความสัมพันธ์กับตำแหน่งหน้าที่ในระบบราชการ ในกรณีของเกาหลีมากกว่าของญี่ปุ่น ชนชั้นนำข้าราชการเกาหลีสนใจการสืบทอดตระกูล แต่ของ ญี่ปุ่นใส่ใจกับการแต่งตั้งและการเลื่อนตำแหน่งหน้าที่ การเมืองในเกาหลีในยุคนั้นมีการแข่งขันกันสูง สูงกว่าที่ Edo

การเมืองในเกาหลีมีพลังขับเคลื่อนมาจากการเป็นเจ้าของที่ดิน และความเป็นอริกันระหว่างครอบครัว การที่ระบบการถ่ายทอดมรดกเป็นการแบ่งให้หรือให้โอกาสเท่าๆ กันของเกาหลีและจีน ทำให้เกิดการแข่งขันกันมากกว่าระบบของญี่ปุ่นที่กำหนดไว้ตายตัวรู้ล่วงหน้าสำหรับลูกคนโต

พื้นฐานของระบบราชการที่เน้นระบบคุณธรรมไม่ใช่ระบบพวกพ้องในสมัยโชกุน เป็นระบบตกทอดมาถึงสมัยยุคเมจิและต่อมาในยุคหลังสงคราม การที่สถานภาพของข้าราชการที่เป็นชนชั้นนักรบอยู่เหนือชาวนา ช่าง และพ่อค้า นั้น หมายความว่า ชนชั้นนักรบหรือซามูไรเท่านั้น ที่สามารถยับยั้งชั่งใจในการแสวงหากำไรที่ชนชั้นพ่อค้าทำอยู่ หรือชนชั้นชาวนาที่หนีภาษีเป็นปกติ

ในความเห็นของ Morishima คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติ หรือให้บริการแก่กลุ่มที่ตัวเองสังกัดมากกว่าจะเห็นการแข่งขันกันเองในกลุ่ม เราจึงเห็นความร่วมมือกันระหว่างบริษัทที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน และเห็นการแข่งขันระหว่างกลุ่มด้วยกัน

ถ้าผลประโยชน์ของชาติต้องมาก่อน เช่นช่วงที่ญี่ปุ่นต้องเตรียมทำสงครามโลกครั้งที่สอง แรงงานและธุรกิจต้องปรับตัวจากการแข่งขันเป็นการร่วมมือกัน

ทั้งหมดนี้ เป็นความคิด ความจริงของการเมืองและประชาธิปไตยในญี่ปุ่นเป็นเช่นนี้จริงหรือไม่


Source://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q2/2007april25p1.htm


โดย: ญี่ปุ่นไม่เหมือนใคร : ทุนนิยมวิถีญี่ปุ่น (42) (moonfleet ) วันที่: 17 สิงหาคม 2556 เวลา:19:10:02 น.  

 
ญี่ปุ่นไม่เหมือนใคร ทุนนิยมวิถีญี่ปุ่น (43)

วิถีเศรษฐกิจ : ดร. ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 03 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

นักวิชาการส่วนใหญ่ที่ศึกษาการเมืองญี่ปุ่นอย่างจริงจังมาเป็นเวลานาน ในที่สุดจะมีจุดยืนร่วมกันซึ่งต่างกับที่พบจากการรับรู้หรือองค์ความรู้จากสื่อมวลชนหรือจากสามัญสำนึก นักวิชาการเชื่อว่าการเมืองหรือประชาธิปไตยญี่ปุ่นมีอะไรที่คล้ายๆ กับที่พบในประเทศตะวันตกสามารถวิเคราะห์อย่างเป็นระบบด้วยตรรกะทั่วๆ ไป การเมืองญี่ปุ่นรวมทั้งเรื่องอื่นๆ มักจะถูกยกมาอ้างว่าญี่ปุ่นมีเอกลักษณ์มีลักษณะพิเศษเฉพาะ

สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะเรามักจะหยิบยกญี่ปุ่นมาเทียบกับการเมืองสหรัฐอเมริกา ปัญหาในการเปรียบเทียบในลักษณะนี้ก็คืออเมริกาต่างหากที่มีระบบและการเมืองในภาคปฏิบัติไม่เหมือนของประเทศอื่น เช่น สภา Congress มีอำนาจมาก ในขณะที่ในประเทศอื่นๆ ระบบหรือข้าราชการมักมีความสำคัญ ข้าราชการเป็นชนชั้นนำ แต่ของสหรัฐอเมริกาข้าราชการอเมริกันไม่ถือว่าเป็นชนชั้นนำที่เด่นและมีบทบาทเท่า หรือการที่อเมริกามีการกระจายอำนาจทางการเมืองและเรื่องอื่นๆ เช่นการศึกษาแต่ในกรณีของญี่ปุ่นมักตรงกันข้าม รัฐบาลกลางมีบทบาทสูงรัฐควบคุมระบบและมาตรฐานในระบบโรงเรียนให้เป็นมาตรฐานเดียวกันที่เข้มข้นมาก

ขณะที่ยังมีนักวิชาการสาขามนุษย์วิทยาหรือสังคมวิทยารวมทั้งสื่อมวลชนให้ความสำคัญกับตัวแปรด้านวัฒนธรรมในการอธิบายพฤติกรรมทางการเมืองของญี่ปุ่นอยู่ค่อนข้างมาก แต่นักวิชาการสาขาอื่นๆ กับไม่ได้ให้ความสำคัญและพบจุดอ่อนการให้ความสำคัญกับเรื่องวัฒนธรรมจนมากเกินไปในการอธิบายสถาบันทางการเมือง การใช้วัฒนธรรมในการอธิบายการเปลี่ยนแปลงเมืองญี่ปุ่นในระยะยาวมักมีปัญหา มีความขัดแย้งกันเองในตัว เราอาจจะพูดได้ว่าเป็นเพราะวัฒนธรรมคนญี่ปุ่นมีระเบียบวินัยขยันขันแข็งมีความจงรักดีต่อกลุ่มและองค์กร และการที่ญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมที่ซับซ้อนมาเป็นพันๆ ปีก็ไม่ได้หมายความว่าการวิเคราะห์ทางวัฒนธรรมจะสามารถอธิบายการเมืองญี่ปุ่นได้

ญี่ปุ่นมีคำว่า Giri ninjo ที่แปลว่า การยึดมั่นในพันธะที่มีต่อกันและการให้ความสำคัญต่อความรู้สึกและจิตใจ เมื่อนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นนาย Tanaka ไปเปิดสัมพันธไมตรีกับจีนหลังจากที่ประธานาธิบดี Nixon ทำมาก่อนหน้า เขาถูกถามโดยนักการเมือง ส.ส.จากพรรค LDP ที่เห็นว่าการกระทำเช่นนั้น จะไม่เป็นการไม่ถนอมน้ำใจคนและรัฐบาลไต้หวัน หรือจะไม่เป็นการขัดกับวัฒนธรรม Giri ninjo ของญี่ปุ่นหรือ

นาย Tanaka ตอบว่านั่นอาจจะเป็นวัฒนธรรมที่จำเป็นสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล แต่นี่เป็นเรื่องของความอยู่รอดและผลกระทบของชาติซึ่งมีความสำคัญกว่า นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่วัฒนธรรมไม่อาจนำมาใช้อธิบายพฤติกรรมทางการเมืองได้

วัฒนธรรมไม่สามารถอธิบายว่าทำไมผู้ออกเสียงหรือในฐานะปัจเจกชนตัดสินใจทางการเมืองเช่นนั้น เช่น

การไม่เลือกพรรค LDP เมื่อรัฐบาลโดยนายกฯ Hashimoto ขึ้นภาษีการบริโภคจาก 3% เป็น 5% หรือทำไมนายกรัฐมนตรีที่ได้รับความนิยมสูงจากประชาชนอาจส่งผลต่อคะแนนเสียงของพรรค วัฒนธรรมไม่สามารถอธิบายได้ว่าทำไมเมื่อนายกฯ Koizumi เผชิญอุปสรรคในสภาจากสมาชิกพรรค LDP ของตัวเองที่ต่อต้านไม่สนับสนุนการแปรรูปกิจการไปรษณีย์ของญี่ปุ่น และ Koizumi ยุบสภาเพื่อขออาณัติจากประชาชนและพรรคของเขาได้รับชัยชนะท่วมท้น เป็นรัฐบาลเสียงข้างมากพรรคเดียว เช่นเดียวกัน วัฒนธรรมไม่สามารถอธิบายว่าทำไมผู้ออกเสียงญี่ปุ่นจำนวนมากขึ้น ไม่สังกัดพรรค หรือไม่จงรักภักดีต่อพรรคใดพรรคหนึ่ง หรือออกเสียงไม่ยอมรับพรรค LDP อีกต่อไปในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่ผ่านมาโดยเทคะแนนอย่างท่วมท้นให้แก่พรรคฝ่ายค้าน

วัฒนธรรมเปลี่ยนแปลงได้ในระยะยาวแต่ไม่น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญในการอธิบายการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของญี่ปุ่นได้ดีเท่ากับการเปลี่ยนแปลงในสิ่งแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านสถาบันและพฤติกรรมของคน ตัวอย่างเช่น การลดความสำคัญและศักดิ์ศรีของระบบและข้าราชการระดับชนชั้นนำที่ลดลงโดยเฉพาะตั้งแต่ปลายทศวรรษ 70 เป็นต้นมาเรื่อยๆ เป็นผลพวงของการเติบโตและขีดความสามารถของ เศรษฐกิจและธุรกิจที่มีความจำเป็นต้องพึ่งรัฐน้อยลง ความกดดันจากต่างประเทศที่ไม่ให้รัฐช่วยเหลือและคุ้มครองธุรกิจ ความผิดพลาดในการบริหารเศรษฐกิจจนเกิดเป็นวิกฤติเรื้อรังตลอดจนข้อครหาในเรื่องคอร์รัปชันในหมู่ข้าราชการระดับสูง

เช่นเดียวกับการลดความสำคัญลงของการที่ราชการระดับสูงของญี่ปุ่นหลังเกษียณ ไปทำงานกับธุรกิจเอกชนหรือที่เรียกว่า Amakudari ก็เป็นเพราะธุรกิจเริ่มพึ่งราชการน้อยลง ตรรกะในลักษณะนี้อธิบายการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ดีกว่าตัวแปรทางด้านวัฒนธรรม

การที่พรรคการเมืองญี่ปุ่นมีลักษณะเป็นมุ้งนั้น วัฒนธรรมเรื่องการให้ความสำคัญกับกลุ่มอาจอธิบายได้บ้าง แต่การเมืองในลักษณะนี้ไม่ได้เป็นอะไรที่เป็นเอกลักษณ์ของญี่ปุ่นเท่านั้นของไทยก็มีลักษณะเช่นนี้มานาน ตรรกะที่อธิบายได้เช่นกัน คือ การสร้างอำนาจการต่อรองเพื่อประสิทธิผลทางการเมือง

เช่นเดียวกันขณะที่โครงสร้างหรือวัฒนธรรมทางการเมือง ในขณะหนึ่งขณะใดมีหรือไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่เราก็ได้เห็นความแตกต่างใน Style ทางการเมืองของผู้นำหรือนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นในอดีตที่แตกต่างกันอย่างมาก ในบางช่วง เห็นได้จากความเป็นผู้นำ ความทะเยอทะยาน การไม่ยอมอยู่ภายใต้การกดดันจากสมาชิกพรรค หรือมุ้งต่างๆ ความพยายามที่จะผลักดันนโยบายของตนเอง แม้ว่าจะไม่มีฐานเสียงจากมุ้งใหญ่ๆ เช่นกรณีของนายกฯ Nakasone หรือ Koizumi ซึ่งชี้ให้เห็นว่าไม่ใช่วัฒนธรรมที่อธิบายอะไรได้หมด

การเมืองของญี่ปุ่นหลังสงคราม มีการเปลี่ยนแปลงมาตลอดอย่างต่อเนื่องแบบค่อยเป็นค่อยไปนักวิชาการ Gerald Curtis เรียกว่า Incrementalism ซึ่งเป็นแบบที่คนญี่ปุ่นชอบ ดูเหมือนคนญี่ปุ่นไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงอะไรที่รุนแรงแบบถอนรากถอนโคน แม้ว่าญี่ปุ่นจะเจอวิกฤตทางเศรษฐกิจใหญ่ๆ หลังสงคราม รวมทั้งฟองสบู่ที่แตกในปลายทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา แต่คนญี่ปุ่นก็ยังพอใจกับโครงสร้างสถาบันหลักๆ ที่ทำให้ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จหลังสงคราม ระบบการจ้างงานตลอดชีพ ดำรงอยู่อย่างมั่นคงในธุรกิจใหญ่ๆ ช่วงทศวรรษ 1990 แม้จะมีหลายฝ่ายเห็นว่าควรเลิกไป เพื่อให้ญี่ปุ่นแข่งกับโลกได้

ความขัดแย้งของพรรคการเมือง จากอุดมการณ์ซ้ายและขวาระดับต่างๆ ที่เคยมีช่วงแรกๆ หลังสงคราม โดยเฉพาะประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นโยบายทางทหารและการป้องกันประเทศและสนธิสัญญากับสหรัฐ เริ่มไม่ใช่ประเด็นสำคัญของความขัดแย้งทางการเมือง ระหว่างพรรครัฐบาลและฝ่ายค้าน พรรคส่วนใหญ่ของญี่ปุ่นไม่ได้มีความแตกต่างทางอุดมการณ์อย่างลึกซึ้ง ไม่ว่าจะเป็นนโยบายเศรษฐกิจหรือสังคม จึงไม่น่าแปลกใจที่เราได้เห็นพรรค LDP จับขั้วเป็นรัฐบาลร่วมกัน กับพรรคสังคมนิยม หรือ JSP ซึ่งเป็นอริทางการเมืองกันมานานในอดีต นี่ก็ไม่น่าจะเป็นเพราะวัฒนธรรมมีการเปลี่ยนแปลง

ทุกพรรคอยู่ตรงกลางๆ มีอะไรที่คล้ายกันมากกว่าต่างกัน


Source://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q2/2007april25p1.htm


โดย: ญี่ปุ่นไม่เหมือนใคร ทุนนิยมวิถีญี่ปุ่น (43) (moonfleet ) วันที่: 17 สิงหาคม 2556 เวลา:19:10:55 น.  

 
ทุนนิยมวิถีญี่ปุ่น (44)

ญี่ปุ่นไม่เหมือนใคร : ดร.ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 03 มีนาคม พ.ศ. 2553

เรามักรู้จักสังคมญี่ปุ่น ช่วงที่ญี่ปุ่นรุ่งเรืองมาก จากด้านที่เห็นชัด หรือด้านหน้าที่เรียกว่า Omote Nihon ซึ่งเป็นด้านศูนย์รวมของอำนาจในเขตเมืองใหญ่โดยเฉพาะโตเกียว อำนาจถูกกำหนดจากโตเกียวกระจุกตัวอยู่ในพรรค LDP ระบบราชการและธุรกิจขนาดใหญ่ โดยเฉพาะเครือข่าย Keiretsu

ในความเป็นจริงด้านหลัง หรือด้านที่ญี่ปุ่นถูกซ่อนไว้ หรือ Ura Nihon ที่คนบ้านนอก คนชนบท เข้าใจว่าเป็นอะไร "ที่ไม่ใช่โตเกียว" ก็เป็นตัวที่กำหนดว่า การเมืองญี่ปุ่นจริงๆ แล้ว มีการกระจายของอำนาจ มีพลังของตัวเอง แม้โลกทัศน์และความสนใจเช่นของชาวนา ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดย่อมจะแคบกว่าลูกจ้างของบริษัทขนาดใหญ่ในเขตเมือง

แต่ Ura Nihon ก็มีบทบาทสำคัญในการกำหนดรูปแบบและสไตล์ทางการเมืองของญี่ปุ่น

จะขอยกตัวอย่างความสำคัญของพื้นที่เลือกตั้งในชนบท ที่เป็นแบบอย่างของรูปแบบและการจัดสรรทรัพยากรทางการเมือง จนเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองระหว่างรัฐบาลระดับชาติกับบ้านนอกของญี่ปุ่นที่ในอดีตเป็นฐานคะแนนสำคัญของพรรค LDP

Kakeya เป็นเมืองเล็กๆ มีประชากรเพียง 4,300 คน อยู่ในมลรัฐ หรือ Shimane Prefecture ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของ Honshu เมืองนี้เป็นเมืองที่ครอบครัวของอดีตนายกรัฐมนตรี Takeshita มีชื่อเสียงทำเหล้าสาเกมากว่าร้อยปี

ช่วงที่ Takeshita เป็นนักการเมืองที่โตเกียว เขาใจบุญนำความเจริญมาสู่ Kakeya อย่างมาก ทั้งๆ ที่เมืองนี้ไม่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เด่นและคึกคัก นอกจากการทำเหล้าสาเกแล้ว ก็มีเพียงการปลูกข้าว และการก่อสร้างโดยเงินอุดหนุนจากภาครัฐ Kakeya จึงต้องพึ่งรัฐบาลกลาง เวลาผ่านไปนาน อิทธิพลอำนาจบารมีของ Takeshita ยังดำรงอยู่ เขายังเป็นผู้อุปถัมภ์ที่สำคัญ

Takeshita ก่อนได้เป็นนายกฯ เคยเป็นหัวหน้ามุ้ง หรือ Faction ต่อจากนายกฯ Tanaka เป็นมุ้งที่ทรงอิทธิพลและใหญ่ที่สุดใน 5 มุ้ง ของพรรค LDP โดยมี ส.ส.ในมุ้งสูงสุดถึง 140 คน กำหนดว่าใครจะเป็นนายกฯ

Kakeya เป็นตัวอย่างหนึ่งของเมืองในชนบท ที่รัฐบาลพรรค LDP ทุ่มเททรัพยากรและดำเนินนโยบายที่ทำให้ชีวิตของคนในชนบทดีขึ้นมากหลังสงคราม ดีขึ้นจนมีรายได้สูงกว่าเขตเมืองใหญ่ๆ ด้วยซ้ำไป ครัวเรือนในหมู่บ้านใน Kakeya มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน

ที่ดูประหลาดมาก ก็คือ ข้อมูลจาก Patrick Smith ประชากรเพียง 4,300 คน ในเมือง Kakeya นี้ ได้รับการจัดสรรงบประมาณถึงปีละประมาณ 200 ล้านเยน หรือตกประมาณ 2 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 65 ล้านบาท เฉลี่ยต่อคนได้รับงบประมาณถึงหนึ่งหมื่นห้าพันบาทต่อปี

เมืองนี้มีโรงเรียนสถานีตำรวจที่ทันสมัย ถนนติดไฟสว่าง และเมื่อไม่รู้จะสร้างอะไรแล้วก็สร้างสะพานที่เสริมเหล็กแข็งแรง เมืองนี้อาจจะเป็นเมืองพิเศษที่หลายๆ เมืองไม่มี เพราะเผอิญเป็นเมืองที่นักการเมืองที่ได้เป็นถึงนายกฯ มีความสามารถสูงในการหาเงินและใช้จ่ายเงิน ทำให้นึกถึงจังหวัดสุพรรณบุรีกับคุณบรรหาร ศิลปอาชา

ระบบอุปถัมภ์นโยบายประชานิยม ที่เป็นผลพวงจากความพยายามรักษาฐานคะแนนเสียงของพรรค LDP สำหรับเมือง Kakeya นี้ เป็นหนึ่งในนโยบาย "ฟื้นฟูเมืองเก่าๆ หรือ Furusato" ซึ่งเชิดชูอุดมคติของชีวิตเกษตรกรรม ยุคผู้นำสมัยเมจิและเพื่อหยุดยั้งการเติบโตของเมือง และการเคลื่อนย้ายของคนชนบทสู่เมืองและให้คนเมืองมาเที่ยวชนบท ซึ่งจริงๆ แล้ว เป็นแค่ความฝัน แม้ว่า Takeshita จะให้งบประมาณเมืองในลักษณะนี้ถึง 3,300 แห่ง แห่งละประมาณ 1 ล้านดอลลาร์ ทำไปเพื่อการหาเสียง และในความเป็นจริงเงินนี้ถูกใช้ไปแบบอีลุ่ยฉุยแฉก ตั้งแต่พาคนไปเที่ยวยุโรป จนถึงพาชาวบ้าน Kakeya ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ดูเมือง

แต่ในที่สุด ทั้งหมดนี้ก็ไม่สามารถหยุดยั้งการลดลงของประชากรประมาณร้อยละสิบห้าในมลรัฐ Shimane ได้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1949

ในคราวต่อไป เราจะมาดูเนื้อแท้ของการทำงานกลไกทางการเมือง ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการที่สำคัญของญี่ปุ่น ตั้งแต่ระบบพรรค บทบาท และความสำคัญของผู้นำ หรือนายกรัฐมนตรี กลุ่มผลประโยชน์อื่นๆ เพื่อจะดูว่าอำนาจทางการเมืองของญี่ปุ่นจริงๆ เป็นอย่างไร

ข้อเท็จจริงและการวิเคราะห์ข้างต้นชี้ให้เราเห็นว่า ชีวิตที่ดีขึ้นของเมืองและคนในชนบท ในกรณีของ Kakeya รวมทั้งปรากฏการณ์ทั่วไปของชนบทญี่ปุ่นหลังสงคราม มาจากการให้เงินอุดหนุนจากรัฐบาลกลาง ความคุ้มครองทางด้านราคาโดยเฉพาะราคาข้าวและสินค้าเกษตรอื่นๆ จากการแข่งขันหรือการนำเข้าจากต่างประเทศ และที่สำคัญ ไม่น้อยกว่ากัน คือ โครงการก่อสร้างทั้งหลาย ที่ใช้งบประมาณของรัฐบาล

การแย่งชิงทรัพยากรและงบประมาณของรัฐบาลเพื่อการนี้ คือ วิถีหรือการต่อสู้ทางการเมืองญี่ปุ่นที่แท้จริง


Source://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q2/2007april25p1.htm


โดย: ทุนนิยมวิถีญี่ปุ่น (44) (moonfleet ) วันที่: 17 สิงหาคม 2556 เวลา:19:11:38 น.  

 
ญี่ปุ่นไม่เหมือนใคร ทุนนิยมวิถีญี่ปุ่น (45)

วิถีแห่งเศรษฐกิจ : ดร.ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2553

นักวิชาการตะวันตก มักจะเชื่อว่าญี่ปุ่นมี FIRST RATE ECONOMY แต่มี THIRD RATE POLITICS ความเชื่อเช่นนี้ มีส่วนที่เป็นความจริงอยู่บ้าง แต่ไม่ทั้งหมด แม้แต่เรื่องเศรษฐกิจ ช่วงที่ญี่ปุ่นรุ่งเรืองสูงสุดเมื่อสามสิบปีก่อน แม้ญี่ปุ่นจะเด่นในอุตสาหกรรมรถยนต์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกล แต่ก็ล้าหลัง มีผลิตภาพต่ำในอุตสาหกรรมเรือ การก่อสร้าง การเงิน การธนาคาร บริการค้าปลีกค้าส่ง เป็นต้น จนเป็นตัวถ่วง การฟื้นฟูและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมาจนทุกวันนี้ การเมืองก็เช่นกัน แม้กระบวนการทางการเมือง จะมีความเป็นระบบอุปถัมภ์ หลงเหลืออยู่มากมีต้นทุนสูง แต่ในแง่หนึ่งรัฐญี่ปุ่นก็เป็นรัฐที่มีประสิทธิผล

ถ้าการเมืองเป็นเรื่องของการศึกษาบทบาทของรัฐ รัฐญี่ปุ่นเป็นต้นแบบของประเทศอื่นๆ อาทิเช่น เกาหลี ไต้หวัน สิงคโปร์ และประเทศอื่นๆ ในแถบเอเชีย ในการเป็นต้นแบบของรัฐที่เล่นบทมากไปกว่าเพียงเป็นแค่กรรมการดูแลกติกาการแข่งขันของระบบตลาดตามแบบฉบับของ ADAM SMITH แต่เป็นรัฐที่มุ่งมั่นต่อการพัฒนา ถือว่าการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นอุดมการณ์หลักที่สำคัญ เป็นรัฐที่ CHALMERS JOHNSON เรียกว่า DEVELOPMENTAL STATE (DS) โดยเฉพาะกรณีของญี่ปุ่นในช่วง ค.ศ. 1925-1975

DS ที่ญี่ปุ่นเป็นต้นแบบนี้ (บางคนบอกว่าต้นแบบ คือ เยอรมนี) ไม่ใช่แนวคิดที่คงที่ตายตัว ความสำคัญของ DS คงขึ้นอยู่กับบริบททางประวัติศาสตร์ และลักษณะเฉพาะของแต่ละประเทศ สิ่งแวดล้อมของโลกในขณะนั้น DS ของญี่ปุ่นในช่วงยี่สิบปีแรกหลังสงครามให้ความสำคัญกับการกำหนดทิศทาง รวมทั้งการชี้นำควบคุม ส่งเสริมคุ้มครองธุรกิจและอุตสาหกรรมที่สำคัญ แต่ยี่สิบปีที่ผ่านมาบทบาทของ MITI หรือ METI ในชื่อใหม่เปลี่ยนไปเน้นด้าน REGULATORY มากขึ้น อย่างไรก็ตาม DS ของญี่ปุ่นไม่ใช่ COMMAND ECONOMY แบบของโซเวียต

เศรษฐกิจกับการเมืองขึ้นอยู่ต่อกันและกัน ในระยะยาวรูปแบบของการเมืองจะถูกกำหนดโดยโครงสร้างระดับและปัจจัยทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ แต่กรณีของญี่ปุ่นในรอบร้อยปีที่ผ่านมา การเมืองหรือรัฐไม่เคยแยกออกมาเป็นอิสระ โดยไม่มีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ รัฐมีลักษณะที่เป็น DEVELOPMENTAL STATE และมีระบบราชการที่มีคุณภาพเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนประเทศมาตลอด DS มีเป้าหมายให้ญี่ปุ่นมีความมั่งคั่งและแข็งแกร่งทางทหารไล่กวดให้ทันประเทศตะวันตกหรือ RICH NATION STRONG ARMY ในยุคเมจิ หรือ RICH NATION NO ARMY ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

DEVELOPMENTAL STATE ของญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีมรดกตกทอดที่สำคัญ โดยเฉพาะในช่วง 30-50 ปีก่อนหน้า ทรัพยากรทางวัตถุของญี่ปุ่น อาจถูกทำลายซึ่งก็มีข้อดีที่การลงทุนและเครื่องจักรรวมทั้งเทคโนโลยีใหม่ๆ สามารถเข้ามาแทนที่ แต่ทรัพยากรมนุษย์ อาทิเช่น แรงงาน และระบบราชการที่มีคุณภาพ ดำรงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง หลังญี่ปุ่นแพ้สงคราม เป็นกำลังหลักของประเทศ นอกจากนี้ ก็ยังมีระบบการศึกษา สำหรับมวลชนและระดับสูง ก็มีความสำคัญยังไม่พูดถึงโครงสร้างอุตสาหกรรมทั้งหนักและเบาที่ก้าวหน้าไปมาก

ถ้าการเมืองตามคำจำกัดความของ HAROLD LASWELL คือ เรื่อง WHO GET WHAT AND HOW หรือการที่สังคมต้องเลือกต้องได้อย่างเสียอย่าง การพัฒนาเศรษฐกิจของญี่ปุ่นชี้ให้เห็นว่าในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมนั้น DS ของญี่ปุ่นในช่วง 20 ปีแรก สามารถเลือกข้างและมีอคติต่อกลุ่มต่างๆ ในสังคมได้ โดยไม่ทำให้การพัฒนาการเมืองหยุดชะงักไร้เสถียรภาพ หรือ DS ขาดความชอบธรรม

ในกรณีของญี่ปุ่นสาระสำคัญของ DS อยู่ที่ความมีอิสระ (AUTONOMOUS) พอสมควรของรัฐในการกำหนดนโยบาย เพื่อบรรลุเป้าหมายของการพัฒนา โดยมีระบบและข้าราชการที่มีขีดความสามารถสูงเป็นจักรกลที่สำคัญ โดยรัฐเป็นกลไกสำคัญในการระดมทรัพยากร เลือกที่จะเข้าข้างให้ความสำคัญกับธุรกิจขนาดใหญ่ โดยส่งเสริมและคุ้มครองให้สามารถเติบโต เพื่อแข่งขันกับต่างประเทศได้ เลือกที่จะให้ความสำคัญในช่วงแรกกับความเจริญเติบโต การพัฒนาขีดความสามารถ สำหรับอุตสาหกรรมที่อยู่ในเป้าหมายมากกว่า ความเสมอภาค ความสมดุลระหว่างเมืองกับชนบท ระหว่างภูมิภาคให้ความสำคัญกับผู้ผลิตมากกว่าสวัสดิการของแรงงานของผู้บริโภค สหภาพแรงงานไม่อยู่ในกลุ่มผลักดันที่มีความสำคัญเท่ากับธุรกิจ เป็นปรากฏการณ์ที่นักวิชาการเรียกว่า CORPORATISM WITHOUT LABOUR

แม้ DS ของญี่ปุ่นดูเหมือนจะมี AUTONOMY ในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจที่มีการให้ลำดับความสำคัญก่อนหลัง แต่การที่การเมืองและประชาธิปไตยในญี่ปุ่นมีเสถียรภาพและความต่อเนื่องย่อมบ่งชี้ว่าระบบการเมืองมีระบบการต่อรอง และการแบ่งปันผลประโยชน์ในระดับที่ลงตัว เมื่อไม่ลงตัวการเมืองก็มีการเปลี่ยนแปลง ขาดเสถียรภาพ มี REGIME SHIFT

เป็นการเมืองลักษณะพหุลักษณ์ (PLURALISTIC POLITICS) มีศูนย์ของอำนาจกระจายไปทั่ว


Source://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q2/2007april25p1.htm



โดย: ญี่ปุ่นไม่เหมือนใคร ทุนนิยมวิถีญี่ปุ่น (45) (moonfleet ) วันที่: 17 สิงหาคม 2556 เวลา:19:12:26 น.  

 
ญี่ปุ่นไม่เหมือนใคร (46)

ทุนนิยมวิถีญี่ปุ่น : ดร.ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2553

บทบาทของญี่ปุ่นในเศรษฐกิจโลก ที่ลดบทบาทลงไปหรือไม่ดูยิ่งใหญ่น่ากลัวเหมือนเมื่อ 20 ปีก่อนไม่ได้ทำให้ความสนใจของนักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ หรือแม้กระทั่งผู้กำหนดนโยบายในแต่ละประเทศหยุดหรือลดความสนใจที่มีต่อญี่ปุ่นในด้านการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว วิกฤติเศรษฐกิจที่ญี่ปุ่นต้องเผชิญอย่างยืดเยื้อไม่ได้ทำให้แบบจำลองการพัฒนา (Development Model) ของญี่ปุ่นหรือแนวความคิดรัฐพัฒนา (Developmental State หรือ DS) ที่ญี่ปุ่นเป็นต้นแบบ ลดความสำคัญหรือใช้ไม่ได้ แต่ได้ทำให้เกิดการตั้งคำถามใหม่ๆ ตามมามากมาย โดยเฉพาะขีดจำกัดของแนวคิด การก่อตัวหรือการมีอยู่ของ Developmental State ในประเทศอื่นๆ ประสิทธิผลของมันในฐานะที่เป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนา เป็นต้น

โลกได้เห็นยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ให้ความสำคัญหรือทางเลือกระหว่างกลไกตลาด (Market) กับการวางแผนจากส่วนกลาง (Command หรือ Plan) ในรอบร้อยปีที่ผ่านมาระหว่างระบบทุนนิยมเสรีกับระบบคอมมิวนิสต์หรือสังคมนิยมหรือเผด็จการเต็มรูป (Totalitarianism) แต่แนวคิด Developmental State ที่ญี่ปุ่นเป็นต้นแบบแรกในเอเชียเป็นระบบที่กำหนดบทบาทความสำคัญของรัฐ (State) และตลาด (Market) ที่ทำงานร่วมกันในระบบทุนนิยม แน่นอนว่าเป็นเศรษฐกิจแบบผสม แต่เป็นระบบที่รัฐวางตำแหน่งของตัวเองไว้ค่อนข้างสำคัญโดยถือว่าพันธกิจที่สำคัญของรัฐคือการให้ความสำคัญกับการพัฒนาในทุกๆ ด้านแต่ด้านเศรษฐกิจโดยเฉพาะการพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นหัวใจหลัก

ภารกิจหลักที่สำคัญของรัฐคือการกำหนดความสำคัญลำดับก่อนหลัง (Priority) รัฐกำหนดแนวทางเส้นทางโดยไม่รอให้กลไกตลาดมาเป็นตัวชี้ขาด โดยที่นโยบายรัฐบาลเป็นเพียงตั้งรับ เช่น DSของญี่ปุ่นไม่ได้หยุดการพัฒนาอุตสาหกรรมในช่วงแรกของการพัฒนาเพียงแค่ผลิตและค้าส่งออกในสินค้าเกษตรหรือสินค้าที่ใช้แรงงานมากที่ญี่ปุ่นมีความได้เปรียบโดยธรรมชาติ (Comparative Advantage) ในระยะแรกของการพัฒนา เช่น ส่งออกไหม สินค้าสิ่งทอ DS ของญี่ปุ่นถามตนเองว่า ในสถานการณ์ขณะนั้นถ้าญี่ปุ่นจะอยู่รอดได้ในอนาคต ญี่ปุ่นต้องมีอุตสาหกรรมอะไรบ้าง

เมื่อคิดได้แล้ว DS ก็กำหนดเป็นนโยบายอุตสาหกรรม หรือ Industrial Policy อุตสาหกรรมที่ดูไม่พร้อมในขณะนั้นถ้าเป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ก็ต้องสร้างให้เกิดมีความแข็งแกร่งสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ในอนาคต นี่เป็นตัวอย่างของวิธีคิดของ DS ซึ่งไม่ได้รอให้ตลาดซึ่งขับเคลื่อนโดยผู้บริโภคและแรงจูงใจของผู้ผลิตในการทำกำไรมากำหนดชะตากรรมของญี่ปุ่น

เพราะฉะนั้นในแง่ความคิดหรืออุดมการณ์เกี่ยวกับการทำงานในระบบเศรษฐกิจผู้นำญี่ปุ่น เทคโนแครตซึ่งมีระบบราชการที่มีขีดความสามารถสูงหรือในสังคมญี่ปุ่นไม่ได้หลงใหลหรือชื่นชมทฤษฎี "มือที่มองไม่เห็น หรือ Invisible Hand" ของ Adam Smith แต่อย่างใด จริงๆ แล้วญี่ปุ่นหลงใหลให้ความสำคัญกับ Frederich Liz ซึ่งเป็นชาวเยอรมันมากกว่า Adam Smith ซึ่งเป็นชาวสกอตต์

ผู้นำญี่ปุ่นในยุคเมจิซึ่งสนใจรูปแบบสถาบันและกฎหมายของปรัสเซียจึงเลือกที่จะเลียนแบบบทบาทของรัฐในการพัฒนาอุตสาหกรรมจำลองของจากประเทศบนภาคพื้นยุโรป โดยเฉพาะ เยอรมัน หรือฝรั่งเศส ซึ่งพัฒนาหลังประเทศอังกฤษและต้องไล่กวดอังกฤษ บทบาทของรัฐในการส่งเสริมให้ความคุ้มครองแก่อุตสาหกรรมของประเทศที่มาทีหลังย่อมต้องมีมากกว่ากรณีของอังกฤษ ซึ่งเชื่อกันว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรม การก่อตัวของระบบทุนนิยมเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยมีพลังตลาดและการวางการรักษากฎกติกาโดยรัฐของอังกฤษเพื่อให้แรงจูงใจของเอกชนและตลาดทำงานได้ DS ของเยอรมันเป็นต้นแบบของญี่ปุ่นแม้จะไม่ได้เหมือนกันหมดในรายละเอียด

มันอาจจะดูง่ายเกินไปสำหรับบางคนที่คิดว่าการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างทางเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวงจะเรียกว่าพลิกแผ่นดินก็ได้ของประเทศหนึ่งในช่วงเวลา 50 ปี (ค.ศ.1925-1975) เป็นเพราะรัฐเป็นตัวกำหนดที่สำคัญ ถ้ามันเป็นจริง เงื่อนไขที่สำคัญอันหนึ่งของรัฐประเภทนี้หรือ DS ต้องมีขีดความสามารถที่สูงและโดยนัยระบบหรือสถาบันการเมืองต้องมีประสิทธิผลในการชี้นำและทำนโยบายให้เกิดเป็นผลสิ่งแวดล้อม ปัจจัยอะไรที่กำหนดขีดความสามารถของ DS แล้วลักษณะและบทบาทของสังคม (Society) หรือกลุ่มคนในสังคมหรือบทบาทภาคธุรกิจเอกชนอยู่ที่ไหนที่จะต้องมีส่วนในการกำหนดการก่อตัวของ DS

ความสำเร็จ DS และของการพัฒนา โดยตรรกะ DS ต้องเป็นรัฐที่เข้มแข็ง แต่รัฐที่เข้มแข็งนี้มักเกิดในสังคมที่เข้มแข็งด้วยหรือไม่หรือเกิดในสังคมที่อ่อนแอกว่ารัฐ DS ที่เข้มแข็งในช่วงใดช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์ มักเกิดขึ้นในช่วงที่ระบบการเมืองเป็นประชาธิปไตย เพียงไรหรือไม่ หรือว่า DS ที่เข้มแข็งมักมีความสัมพันธ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้กับระบบหรือสถาบันการเมืองที่มีลักษณะอำนาจนิยม (Authoritarianism) คำถามเหล่านี้มีความสำคัญในการกำหนดกรอบความคิดความเข้าใจใน DS ทั้งกรณีของญี่ปุ่นหรือกรณีของประเทศเอเชียตะวันออก เช่น เกาหลี ไต้หวัน หรือแม้กระทั่งกลุ่มประเทศอาเซียน

การพัฒนาของประเทศไทยที่ผ่านมา ไทยเป็น Developmental State หรือไม่


Source://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q2/2007april25p1.htm


โดย: ญี่ปุ่นไม่เหมือนใคร (46) (moonfleet ) วันที่: 17 สิงหาคม 2556 เวลา:19:13:10 น.  

 
ทุนนิยมวิถีญี่ปุ่น ญี่ปุ่นไม่เหมือนใคร (47)

ดร.ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกในเอเชียที่เปลี่ยนสถานภาพของตนเอง จากการเป็นประเ611 ?ุ่นเป็นประเทศแรกในเอเชียที่เปลี่ยนสถานภาพของตนเอง จากการเป็นประเทศล้าหลังทางเศรษฐกิจ จนไล่กวดประเทศตะวันตกเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจได้ มักจะมีคำถามที่เป็นปริศนาที่สำคัญว่าเป็นไปได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ก่อนหน้าประมาณต้นศตวรรษที่ 20 รายได้ต่อหัวของญี่ปุ่นยังต่ำกว่าเม็กซิโก และอาร์เจนตินา หรือไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 กับญี่ปุ่นสมัยจักรพรรดิเมจิทั้งสองประเทศเปิดประเทศและปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยในเวลาใกล้ๆ กัน แต่ทำไมช่องว่างทางเศรษฐกิจของ 2 ประเทศ 50-100 ปีต่อมายังห่างกันหลายเท่าตัว ไม่พูดถึงอีกหลายประเทศที่เคยมีอารยธรรมเจริญรุ่งเรืองมาก่อนญี่ปุ่น เช่น จีน อินเดีย เกาหลี หรืออินโดนีเซีย ก็มีสถานภาพคล้ายๆ กัน ยกเว้นเกาหลี

คำตอบสำหรับปรากฏการณ์ข้างต้น น่าจะอยู่ที่ความแตกต่างที่เป็นเงื่อนไขสำคัญเบื้องต้น หรือ Initial Conditions ที่ต่างกัน เป็นเงื่อนไขที่ญี่ปุ่นมีแต่ประเทศอื่นไม่มี ถึงแม้ว่าถ้าอยู่อย่างผิวเผิน ในขณะนั้นความล้าหลังถ้าดูจากเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจบางตัวอาจจะดูเหมือนล้าหลังคล้ายๆ กัน เช่น ประเทศยังเป็นสังคมเกษตรมีกำลังแรงงานกว่าร้อยละ 80 ให้ผลผลิตเกือบหรือสูงกว่าร้อยละ 50 แต่ความแตกต่างในเงื่อนไขเบื้องต้นนั้น รวมถึงระบบการเมือง หรือคุณภาพของรัฐ โดยเฉพาะสิ่งที่เราอาจจะเรียกรวมๆ ว่าเป็นเงื่อนไขทางสถาบันและทางสังคม ซึ่งจะทำให้เราสามารถเข้าใจความสำคัญและที่มาของ Developmental State ของแต่ละประเทศได้ดีขึ้น

การพัฒนาเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ถ้ามองเป็นวิวัฒนาการในระยะยาวมีความเป็นเอกลักษณ์ ญี่ปุ่นมีอะไรที่เป็นตัวของตัวเองในหลายเรื่องที่เป็นพื้นฐานสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงจากสังคมที่ยังล้าหลังทางเศรษฐกิจมาเป็นสังคมเศรษฐกิจสมัยใหม่หรือ Modern Economic Growth (MEG) จึงทำให้ญี่ปุ่นสามารถเติบโตได้ไม่เหมือนใคร

เมื่อพูดถึงอัตราความเจริญเติบโต และการเปลี่ยนเป็นประเทศอุตสาหกรรม ญี่ปุ่นมีอะไรที่ไม่เหมือนใครในโลก โดยเฉพาะถ้ามองให้ยาวสัก 100 ปี ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีอัตราความเจริญเติบโตต่อเนื่องยาวนานในอัตราที่เกือบสูงที่สุดในโลก สมัยเมจิ (ค.ศ.1868-1912) ญี่ปุ่นโตเฉลี่ย 3% ต่อปี ซึ่งก็สูงกว่าของไทยหรือถ้าดูช่วง ค.ศ. 1900 ถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นโตได้ถึง 4% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าอัตราการเติบโตของประชากรมากและสูงกว่าประเทศอื่นๆ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เกือบ 20 ปีที่ญี่ปุ่นโตได้ถึงเลข 2 หลักต่อปี คือประมาณ 10% แม้ว่าอัตราการโต 2 หลัก ไทยก็เคยทำได้รวมทั้งจีนในระยะหลัง แต่ยังต้องดูต่อไปว่าจีนจะสามารถทำได้ต่อเนื่องยาวนานได้เหมือนญี่ปุ่นหรือไม่

ปรากฏการณ์ข้างต้น จะดูอัศจรรย์มากถ้าเราตระหนักว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติ ขนาดของประเทศก็เล็ก คือมีขนาดเพียง 1 ใน 10 ของรัฐแคลิฟอร์เนีย ความหนาแน่นของประชากรต่อพื้นที่ เช่นในสมัยเมจิก็สูงมาก คือประมาณ 225 คนต่อ 1 ตารางไมล์ เป็นอัตราส่วนที่สูงกว่าประเทศในยุโรปก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมโดยเฉลี่ยถึงเท่าตัว ญี่ปุ่นมีพื้นที่เพาะปลูกได้ไม่น่าจะเกิน 15% ของเกาะทั้งหมด โดยครอบครัวของชาวนาในไร่นาแปลงขนาดเล็กประมาณ 2-3 เอเคอร์ ญี่ปุ่นไม่มี Capitalist Farming เหมือนในอังกฤษ

ความไม่เหมือนใครอีกเรื่องหนึ่งคือ กว่าร้อยปีตั้งแต่สมัยเมจิ ผู้นำญี่ปุ่นทั้งหมดล้วนเป็นพวก Growth Oriented บางคนอาจจะว่าเป็นพวก Growth Maniacs ก็ได้ ญี่ปุ่นมีแผนพัฒนาประเทศ (Kogyo Iken) ฉบับแรกตั้งแต่ปี ค.ศ. 1884 หรือกว่าครึ่งศตวรรษก่อนประเทศไทย

ญี่ปุ่นต้องไล่กวดให้ทันชาติตะวันตกที่กำลังล่าอาณานิคมในเอเชีย ซึ่งญี่ปุ่นเห็นว่าเป็นภัยคุกคาม โดยดูตัวอย่างจากจีนเมื่อจีนแพ้สงครามฝิ่นกับอังกฤษ จึงจำเป็นต้องพัฒนาประเทศให้ทันสมัย ซึ่งก็คล้ายกับการปฏิรูปสยามในสมัยรัชกาลที่ 5 ย่อมทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นสิ่งจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ภัยคุกคามจากต่างประเทศและความอยู่รอด การเตรียมความพร้อมทำสงคราม หรือปัจจัยด้านความมั่นคงเป็นหัวใจสำคัญของลักษณะและการก่อตัวของ Developmental State ไม่ใช่เฉพาะของญี่ปุ่น ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่รวมทั้ง DS ของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น ไต้หวัน และเกาหลี หลังสงครามในการเผชิญกับภัยคอมมิวนิสต์

ภัยจากสงครามช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมให้รัฐต้องเข้มแข็ง และต้องเป็นรัฐเพื่อการพัฒนา บทบาทของรัฐยิ่งต้องมีมากขึ้นเมื่อประเทศยังล้าหลัง อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลง และเป็นประเทศที่การพัฒนามาทีหลังหรือเป็น Late Development เช่น กรณีของเยอรมนี ฝรั่งเศส หรือ รัสเซีย ซึ่งมาทีหลังกว่าอังกฤษ ในกรณีของยุโรป หรือในเอเชีย กรณีของญี่ปุ่น เมื่อปลายศตวรรษที่ 19 หรือต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งญี่ปุ่นมีการพัฒนาอุตสาหกรรมหลังหรือช้ากว่าประเทศตะวันตกที่เจริญมาก่อนหน้า ทำให้ญี่ปุ่นมีช่องว่างทางรายได้ ทางเทคโนโลยี การบริหารการจัดการองค์กรธุรกิจห่างจากกลุ่มประเทศตะวันตกค่อนข้างมาก

บทบาทที่สำคัญของรัฐคือการเป็นกลไกของสถาบันและการสร้างสถาบันใหม่ เพื่อมาอุดช่องว่างที่ธุรกิจเอกชนหรือกลไกตลาดไม่สามารถอำนวยการพัฒนาได้เข้มแข็งและพอเพียง รัฐญี่ปุ่นมีอิทธิพลค่อนข้างเข้มแข็งเป็นตัวอย่างของปรากฏการณ์และกระบวนการดังกล่าวมาตลอด

ญี่ปุ่นมีความเจริญเติบโตที่ต่อเนื่องยาวนาน ผ่านการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ภาคเกษตรเป็นหัวใจของการขับเคลื่อนการพัฒนาในปลายศตวรรษที่ 19 และช่วงต้นๆ ของศตวรรษที่ 20 ไปสู่การเป็นประเทศที่มีโครงสร้างอุตสาหกรรมที่ครบถ้วนรอบด้าน เมื่อญี่ปุ่นโจมตี Pearl Harbour หมายความว่า สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นเพียงการสะดุด หรือเหตุการณ์ระยะสั้น ที่กระทบต่อแนวโน้มใหญ่ของอัตราการเจริญเติบโตของญี่ปุ่นในระยะยาว ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่มีความต่อเนื่องระหว่างก่อนและหลังสงคราม

จริงอยู่การที่ญี่ปุ่นแพ้สงครามทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านสถาบัน การปฏิรูปต่างๆ ที่มีผลต่อความเจริญเติบโตในช่วงหลังสงคราม แต่คำอธิบายที่สมบูรณ์สำหรับการที่ญี่ปุ่นสามารถกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ โดยใช้เวลาเพียงแค่ 2 ทศวรรษหลังสงครามสิ้นสุดลงในปี 1945 รวมทั้งการก่อตัวของ High Growth System จะมีไม่ได้เลยถ้าเราไม่พิจารณาพัฒนาการที่มาก่อนหน้า

ในคราวหน้า เราจะมาดูว่าเมื่อญี่ปุ่นต้องการเข้าสู่สังคมที่ทันสมัยในปลายศตวรรษที่ 19 ญี่ปุ่นมีมรดกที่ตกทอดมาก่อนหน้าที่สำคัญอะไรบ้าง ที่ประเทศล้าหลังอื่นๆ ในช่วงเดียวกันไม่มี และทำให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจ


Source://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q2/2007april25p1.htm


โดย: ทุนนิยมวิถีญี่ปุ่น ญี่ปุ่นไม่เหมือนใคร (47) (moonfleet ) วันที่: 17 สิงหาคม 2556 เวลา:19:14:04 น.  

 
ญี่ปุ่นไม่เหมือนใคร ทุนนิยมวิถีญี่ปุ่น (ตอนที่ 48)

ดร.ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ทำไมเอเชียที่ใช้ระบบทุนนิยมยกเว้นญี่ปุ่นประเทศเดียว ถึงมาเริ่มมีความเจริญเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ก็ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดอะไรก่อนหน้า โดยเฉพาะในศตวรรษที่ 19 ซึ่งยุโรปเกือบทั้งหมดมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมและครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 คำถามเช่นนี้เป็นคำถามที่นักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ พยายามหาคำอธิบาย ซึ่งก็มีหลากหลายคำตอบ หลายสำนักมาตลอดแม้กระทั่งทุกวันนี้

ในหลักการการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมาก มักต้องการแรงงานที่เหลือเกินจากภาคเกษตรรวมทั้งเป็นแหล่งอาหาร ไม่งั้นก็ต้องมีการนำเข้า ทั้งหมดนี้ จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อผลผลิตในภาคเกษตรซึ่งยังเป็นภาคที่ใหญ่ที่สุด มีผลผลิต และโดยเฉพาะผลิตภาพ หรือ Productivity จะต้องสูงขึ้น ปรากฏการณ์เช่นนี้ญี่ปุ่นทำได้มาหลายร้อยปีแต่ไม่มาก และเด่นพอเหมือนห้าสิบปีแรกของปลายศตวรรษที่ 19 เมื่อญี่ปุ่นต้องการปฏิรูปประเทศให้ทันสมัย ทันโลกตะวันตกที่ญี่ปุ่นทำได้นี้ไม่ได้เป็นสิ่งมหัศจรรย์ เพราะเป็นสิ่งที่เคยเกิดที่ประเทศอังกฤษเช่นกันก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 18

Simon Kuznets นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล คิดว่า ดัชนีที่วัดความล้าหลังทางเศรษฐกิจของประเทศอาจดูได้จากสัดส่วนแรงงานในภาคเกษตร ในกรณีนี้ประเทศในเอเชียยกเว้นญี่ปุ่น หรือประเทศอย่างสิงคโปร์ ฮ่องกง ล้วนมีสัดส่วนแรงงานในภาคเกษตรสูงถึงกว่าร้อยละ 80 เขาแสดงให้เห็นว่า ถ้าดูจากสัดส่วนแรงงานในภาคเกษตร ประเทศกำลังพัฒนาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีความล้าหลังโดยเปรียบเทียบมากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว เมื่อจะเริ่มพัฒนาอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 18 หรือ 19

Harry Oshima นักเศรษฐศาสตร์ญี่ปุ่น เชื่อว่าก่อนปี ค.ศ. 1910 การขาดแคลนแรงงานเป็นปรากฏการณ์ที่พบทั่วทั้งเอเชีย และเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมจากสังคมเกษตร

Oshima พยายามชี้ให้เห็นว่า ประเทศในเอเชีย ที่เป็นประเทศเกษตรกรรม มีข้อด้อยหรือ handicap พิเศษ คือ เป็นประเทศที่ทำเกษตรกรรมปลูกข้าว ใช้แรงงานสูงมาก อยู่ในเขตของลมมรสุม ซึ่งในปีหนึ่งๆ จะนำฝนมาเพื่อการเพาะปลูกปีละไม่กี่เดือน ไม่เหมือนที่เกิดขึ้นในยุโรปที่ฝนตกสม่ำเสมอตลอดทั้งปี ผลของลมมรสุมทำให้การทำนาข้าวมีลักษณะที่เป็นฤดูกาล ครึ่งปีแรกแล้ง ครึ่งปีหลังมีฝน ทำให้ความต้องการใช้แรงงานมีสูงมากช่วงเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว และต้องทำกิจกรรมอื่นๆ ในและนอกภาคเกษตร หรือไม่งั้นก็ว่างงานในช่วงฤดูแล้ง ลักษณะแรงงานที่เหลือหรือเป็นส่วนเกินเป็นฤดูกาลเช่นนี้บ่งชี้ว่าภาคเกษตรอาจมิได้มีแรงงานราคาถูกๆ เหลือเฟือสำหรับภาคอุตสาหกรรม

ผลของลมมรสุมรวมทั้งปรากฏการณ์ข้างต้น เมื่อบวกกับการทำนาที่ต้องใช้แรงงานมาก ทำให้เอเชียต่างกับยุโรป คือ มีประชากรในภาคเกษตรต่อพื้นที่เพาะปลูกสูงกว่า ไร่นามีขนาดเล็ก แม้ผลผลิตต่อพื้นที่ดูจะไม่ต่ำในมาตรฐานสากล แต่รายได้สำหรับครัวเรือนต่ำเกินไป เมื่อคนในภาคเกษตรเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศมีรายได้ต่ำ การออมก็ต่ำ ตลาดภายในประเทศก็เล็ก ทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรมเริ่มต้นลำบาก

เป็นที่แน่ชัดว่า ประเทศเหล่านี้จะพัฒนาอุตสาหกรรมได้ การพัฒนาภาคเกษตรต้องมาก่อน และสำคัญยิ่งยวด ผลผลิตและผลิตภาพในภาคเกษตรจะต้องเพิ่มขึ้น และไม่มีปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ประชากรและแรงงานที่เพิ่มขึ้นหลังทศวรรษที่ 1940 เอเชียเริ่มพัฒนาการเกษตรควบคู่กับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสูงตามมา หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และประสบความสำเร็จในระดับที่ต่างกันตามลำดับจากดีที่สุดหรือมาก คือ ในกลุ่มนิกส์ รองลงมาก็กลุ่มประเทศอาเซียน และกลุ่มประเทศเอเชียใต้ ซึ่งอยู่ใต้สุดในช่วงประมาณ 20 ถึง 30 ปีหลังสงคราม

ในกรณีของญี่ปุ่น แม้ญี่ปุ่นจะอยู่ในเขตมรสุม นาข้าวเป็นแปลงขนาดเล็กและใช้แรงงานมาก แต่ญี่ปุ่นมีระบบชลประทานที่ดีมาตลอดเมื่อถึงปลายศตวรรษที่ 19 ประเทศไม่แห้งและแล้งเหมือนประเทศในเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทางตะวันตกของญี่ปุ่นจะมีความชื้นเกือบทั้งปี แหล่งปลูกข้าวบริเวณโตเกียวนาโกยาและที่อื่นๆ ได้น้ำจากหิมะที่ละลายและน้ำจากแม่น้ำจากฝนของลมมรสุม ทำให้ชาวนาญี่ปุ่นไม่มีปัญหามากเท่าชาวนาในเอเชียอื่นๆ ที่เผชิญฤดูแล้ง ผลผลิตข้าวต่อพื้นที่ของญี่ปุ่นสมัยเมจิ ในปลายศตวรรษที่ 19 สูงกว่าของประเทศในเอเชียช่วงหลังสงคราม

โดยรวม ญี่ปุ่นจะประสบความสำเร็จไม่ได้ในช่วงเวลาประมาณ 50 ปี ซึ่งเริ่มใกล้เคียงกับรัชกาลที่ 5 ปฏิรูปสยาม ถ้าญี่ปุ่นไม่ได้รับมรดกที่สำคัญก่อนหน้าในยุค Tokugawa (ค.ศ. 1603-1868)

ซึ่งแม้ญี่ปุ่นจะโดดเดี่ยวตัวเองเป็นเวลา 265 ปี แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่ล้ำค่า ญี่ปุ่นสามารถสร้างประเทศของตัวเองให้มีความก้าวหน้า ด้วยภูมิปัญญาของตัวเองล้วนๆ

หลายสิบปีก่อน นักประวัติศาสตร์กระแสหลักของญี่ปุ่น โดยเฉพาะสาย Marxist รวมทั้งตำราตะวันตกที่เขียนเกี่ยวกับญี่ปุ่นมักจะมองสังคมเศรษฐกิจแบบศักดินายุคโชกุน Tokugawa ว่า เป็นสังคมที่ล้าหลัง ไม่ก้าวหน้า มีลักษณะสถิต หรือ Static ชาวนาซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่มีชีวิตที่แร้นแค้น ถูกขูดรีดภาษีหนักหน่วงจากผู้ปกครอง ญี่ปุ่นเสียโอกาสในด้านความเจริญในช่วงศตวรรษที่ 18 และ 19 เมื่อเทียบกับยุโรป

ข้อมูลและความรู้จากการวิจัยค้นคว้าของนักประวัติศาสตร์รุ่นหลังๆ เกี่ยวกับสังคม Tokugawa สวนทางกับความเชื่อดั้งเดิม

ผู้เขียนเห็นด้วยกับ Henry Rosovsky นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจจากมหาวิทยาลัย Harvard ที่ว่า ถ้าดูอย่างผิวเผิน ยุคปลายๆ ของ Tokugawa และยุคต้นสมัยเมจิ อาจดูล้าหลัง เพราะเป็นสังคมเกษตรและเทคโนโลยีที่ใช้ทั่วไป ยังไม่ใช่ดีที่สุดที่มีอยู่

แต่ที่สำคัญ และคนมักละเลย คือ ในยุค Tokugawa สังคม (Society) มีความก้าวหน้ากว่าเศรษฐกิจ (Economy) มาก


Source://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q2/2007april25p1.htm


โดย: ญี่ปุ่นไม่เหมือนใคร ทุนนิยมวิถีญี่ปุ่น (ตอนที่ 48) (moonfleet ) วันที่: 17 สิงหาคม 2556 เวลา:19:14:44 น.  

 
ญี่ปุ่นไม่เหมือนใคร ทุนนิยมวิถีญี่ปุ่น (49)

ดร. ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

การวิเคราะห์ปัญหาญี่ปุ่นโดยดูที่มาและรากเหง้าทางประวัติศาสตร์มีการทำกันมาก เช่น การศึกษาลักษณะของรัฐญี่ปุ่น หรือลักษณะและความเป็นมาของ Development State (DS) บทบาทของข้าราชการความสำคัญของกลุ่ม เมื่อเทียบกับความเป็นปัจเจกชน ลักษณะของหมู่บ้านหรือชุมชนในชนบท หน่วยทางสังคม เช่น ครอบครัวหรือองค์กรธุรกิจ การบริหารการจัดการแบบญี่ปุ่น เป็นต้น

ถ้ารัฐญี่ปุ่นเด่นมาตลอดในประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงของญี่ปุ่น แล้วบทบาทของสังคมการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมมีความสำคัญแค่ไหน เนื่องจากสังคมญี่ปุ่นมีความสลับซับซ้อนสิ่งที่ดูเหมือนจะปรากฏให้เห็นชัด หรือโดยนิตินัยอาจต่างกับความเป็นจริง เช่น อำนาจที่มาโดยตำแหน่ง หรือ Authority ต่างกับอำนาจที่มีอยู่และใช้ได้จริง หรือ Power เช่น กรณี Power ของส่วนหัวของญี่ปุ่น เช่น ตำแหน่งจักรพรรดิซึ่งอาจครองราชย์แต่ไม่ใช่ผู้ปกครองที่แท้จริงมาตลอดในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น หรือ Power ของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ที่มีขีดจำกัดค่อนข้างมาก

การเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของสังคมและรัฐและปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันในอดีต ย่อมช่วยทำให้เข้าใจปัจจุบัน ภาพของ Development State ของญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จะไม่สมบูรณ์ ถ้าเราไม่เข้าใจรัฐยุคเมจิที่มาก่อนหน้า เช่นเดียวกันกับการที่เราต้องเข้าใจมรดกของสังคมและรัฐยุค TOKUGAWA การเปลี่ยนแปลงในอดีตของญี่ปุ่นหลายอย่างที่ดูรวดเร็วเหมือนพลิกแผ่นดิน อาจดูไม่ใช่เป็นเรื่องอัศจรรย์ ถ้าเหตุการณ์และเรื่องต่างๆ ร้อยเข้าด้วยกัน จนเห็นการเปลี่ยนแปลงนั้นมีลักษณะเป็นวิวัฒนาการแบบค่อยเป็นค่อยไป

แม้ญี่ปุ่นจะปิดประเทศไป 250 ปี แต่ถ้ายุค TOKUGAWA (แม้ในระยะยาวระบบจะมีปัญหาและจะดำรงอยู่ในระยะยาวไม่ได้) สังคมและเศรษฐกิจมีด้านที่ก้าวหน้าที่สำคัญ สิ่งนี้ย่อมมีความสำคัญสำหรับยุคหลัง หรือแม้กระทั่งปัจจุบัน

เป็นเรื่องที่ดูแปลกแต่ญี่ปุ่นก็คล้ายกับยุโรปในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน คือ สังคมยุคกลางเช่นตั้งแต่ศตวรรษที่ 11 รัฐยังไม่เป็นปึกแผ่น แต่การเกษตรการผลิตก็มีความก้าวหน้าอย่างช้าๆ ยุคที่ญี่ปุ่นรบกันอย่างหนักประมาณ 150 ปี ในช่วงศตวรรษที่ 15-16 มีชาวนาที่ต้องติดอาวุธ แต่ก็อิสระเพราะไม่มีผู้นำคนเดียวใหญ่จริง ผู้นำแคว้นหรือเผ่า หรือ Daimyo ก็ยังลงทุนขยายพื้นที่การปลูกข้าวและชลประทาน

การปิดประเทศทำให้โอกาสของการค้าลดลง แต่ญี่ปุ่นก็ยังค้ากับจีนและเกาหลีในลักษณะจำกัด แต่การที่ประเทศมีความสงบไม่ต้องรบราฆ่าฟันกันเป็นเวลาร้อยๆ ปี ย่อมทำให้โอกาสของผลิต การค้า การแลกเปลี่ยนเติบโตโดยพลังตลาดมีมากขึ้น อุปสรรคต่างๆ ลดลง ผลผลิตการเกษตรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เป็นที่แน่นอนว่า ลักษณะการปกครองแบบขูดรีดของระบบฟิวดัล เริ่มมีปัญหาความตึงเครียด ความขัดแย้งเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ เรื่อยๆ (ซึ่งในที่สุดคงต้องล่มสลายไป) โดยเฉพาะในศตวรรษที่ 18 และ 19 ระหว่างสามัญชนกับชนชั้นปกครอง และระหว่างชนชั้นปกครองด้วยกันเอง ทุพภิกขภัยมีมากขึ้น บางช่วงคนต้องกินหญ้า ใบไม้ การตายมีมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงทศวรรษ 1830 การประท้วงของชาวนาเพิ่มขึ้นจากปีละ 10 กว่าครั้ง เพิ่มเป็นหลักร้อย และเพิ่มขนาดของความรุนแรง ทำลายชีวิตและทรัพย์สิน ประชากรเมืองลดเพราะคนออกไปทำงานในชนบทที่อุตสาหกรรมขยายตัว ภาพด้านมืดของการขูดรีดชีวิตที่แร้นแค้นของชาวนามีปรากฏให้เห็นและเป็นข่าวอยู่เสมอ ดังที่นักวิชาการสายดั้งเดิมและสาย Marxist เขียนไว้มาก

อย่างไรก็ตาม มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าภาพโดยรวมของสังคมและชนชั้นต่างๆ ยุค Tokugawa ไม่เลวร้ายและอ่อนแออย่างที่เคยมีการวาดภาพไว้ มิเช่นนั้น ยุคเมจิคงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้มากมายในช่วงอายุคน ในทางเศรษฐกิจในช่วงกว่าร้อยปี ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1600 อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรของญี่ปุ่นอยู่ระหว่าง 0.4-1% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าอังกฤษ ชี้ว่าผลผลิตโดยรวมสูงกว่าประชากรเล็กน้อย โดยที่ผลผลิตเพิ่มขึ้นเท่าตัว พื้นที่เพาะปลูกข้าวและผลิตภาคหรือผลผลิตต่อพื้นที่เพิ่มขึ้นชัดเจน นี่เป็นข้อมูลที่สำคัญสำหรับชาวนา ซึ่งมีสัดส่วนคิดเป็น 80% ของประชากรไปเลี้ยงคนเมืองและชนชั้นนำตั้งแต่โชกุน ไดเมียว ซามูไร และลูกน้องผู้ติดตาม

ผลผลิตเกษตรที่ดีทำให้การเติบโตของอุตสาหกรรมในชนบทที่ใช้วัตถุดิบและแรงงานมีความก้าวหน้า เช่น อุตสาหกรรมพื้นบ้าน สิ่งทอ โดยเฉพาะจากฝ้าย การสาวไหม การทำสาเก ซีอิ๊ว ไม้เฟอร์นิเจอร์ และอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้เกิดการค้าการแลกเปลี่ยนตามเมืองใหญ่ๆ โดยเฉพาะโอซากา เอโด เกียวโต เป็นต้น โดยที่ญี่ปุ่นมีความเป็นเมืองสูงกว่ายุโรป เอโดในปี ค.ศ. 1700 ประชากรประมาณล้านคน สูงกว่าเบจิง ลอนดอน การที่โชกุนบังคับให้ไดเมียวต้องมาอยู่ที่เอโดปีเว้นปีและทิ้งครอบครัวไว้เมื่อกลับไป เหมือนเป็นตัวประกัน และบทบาทของ Castle Town ที่ซามูไร 5-6% ของประชากรประมาณสามแสนคน ล้วนทำให้เกิดเมืองที่พัก โรงแรม การขนส่ง การใช้จ่าย ทำให้ความเป็นเมืองของญี่ปุ่นเด่นมากในช่วงนั้น

เอาเข้าจริงการปกครองยุค Tokugawa ที่รวมศูนย์อำนาจเป็นสังคมฟิวดัล นายกับบ่าวและแบ่งชนชั้นตามกำเนิด ตามลัทธิขงจื๊อของจีน (ชนชั้นนักรบชาวนา ช่าง และพ่อค้า) จำกัดสิทธิเสรีภาพของสามัญชน ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคหยุดยั้งความก้าวหน้าของประเทศโดยรวม

ในความเป็นจริงอำนาจไม่ได้รวมศูนย์การแข่งขันระหว่างชนขึ้นและระหว่างไดเมียวมีสูง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความก้าวหน้า สังคมมี Social Mobility การบังคับใช้กฎหมายเพื่อจำกัด ควบคุมทำไม่ได้ผล การแบ่งชั้นทางสังคมและอำนาจไม่เป็นไปตามกลไกทางกฎหมาย เพราะเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนแปลง เช่น พ่อค้า ชาวนาที่ร่ำรวยมีฐานะดี จากการค้าและอุตสาหกรรมในเมืองและชนบท เริ่มมีอำนาจ ศักดิ์ศรีสูงกว่าซามูไรระดับล่างและกลางที่จนลงและเป็นหนี้ เป็นต้น

โชกุนปลดอาวุธชาวนาซึ่งอดีตเคยออกรบและจำกัดการเดินทาง โดยทั่วไป ชาวนาในช่วงแรกๆ แม้จะโดนเก็บภาษีประมาณครึ่งหนึ่ง แต่ระบบหมู่บ้านและเกษตร การทำนา ชาวนาญี่ปุ่นไม่ใช่ข้าทาสติดที่ดิน แต่จำนวนมากถือครองที่ดิน (ซึ่งเป็นของชนชั้นปกครอง) แม้ผู้เช่านาจะมีมากขึ้นในภายหลัง โชกุนและไดเมียว ซึ่งครองที่ดินเกือบ 80% ของประเทศ ให้อิสระแก่หมู่บ้านสูง ตราบใดที่หมู่บ้านเสียภาษี สิ่งเหล่านี้ ทำให้หมู่บ้านแลกการเกษตรมีแรงจูงใจในการผลิต แม้ภาษีจะสูง

ที่สำคัญที่สุด คือ ระบบสังคมของ Tokugawa ที่ส่งเสริมให้ทุกคนแม้ระดับล่างที่จะพัฒนาตัวเองตลอดทำให้มวลชนมีความทันสมัยในเรื่องทุกเรื่อง ทุกชนชั้นมีจิตสำนึกที่สูงสะท้อนให้เห็นจากศิลปวัฒนธรรมที่ดูง่ายและเข้าถึงได้โดยทุกคนไม่ใช่เฉพาะชนชั้นนำ ที่เป็นได้เพราะการขยายตัวของการศึกษาอย่างกว้างขวางไม่ใช่เฉพาะชนชั้นซามูไร และไม่แพ้ยุโรปในช่วงเวลาเดียวกัน

Source://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q2/2007april25p1.htm


โดย: ญี่ปุ่นไม่เหมือนใคร ทุนนิยมวิถีญี่ปุ่น (49) (moonfleet ) วันที่: 17 สิงหาคม 2556 เวลา:19:15:29 น.  

 
ทุนนิยมวิถีญี่ปุ่น ญี่ปุ่นไม่เหมือนใคร (50)

วิถีเศรษฐกิจ : ดร.ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2553

คนที่ชอบหา “บทเรียน” จากประเทศที่ประสบความสำเร็จในการเข้าสู่ระบบทุนนิยมขั้นสูงเป็นประเทศอุตสาหกรรมมักจะมีคำถามเสมอว่าทำไมญี่ปุ่นจึงเจริญกว่าไทยมากทั้งๆ ที่ทั้งสองประเทศปฏิรูปเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ และถูกบังคับให้เปิดประเทศค้าขายเสรีกับโลกตะวันตกในเวลาใกล้เคียงกัน

ดูผิวเผินญี่ปุ่นและไทยรวมทั้งประเทศด้อยพัฒนาอื่นๆ ในขณะนั้นจะล้าหลังทางเศรษฐกิจคล้ายๆ กันคือ มีผลผลิตรายได้ต่ำ ผลผลิตและแรงงานจากภาคเกษตรสูงถึงร้อยละ 60 และ 80 ตามลำดับ แต่สิ่งที่ต่างกันของญี่ปุ่นและไทยที่เป็นความแตกต่างใน “เงื่อนไขเบื้องต้นอื่น” นั้นสำคัญอย่างมากที่จะบอกว่าเมื่อประเทศมีโอกาสเข้าสู่ความทันสมัยและเศรษฐกิจสมัยใหม่ ประเทศนั้นๆ จะมีศักยภาพแปลงโอกาสเป็นความสำเร็จได้หรือไม่

คำตอบที่ว่าทำไมญี่ปุ่นถึงเป็นประเทศแรกในเอเชียก็เพราะมิติทางสังคมของญี่ปุ่นมีความก้าวล้ำหน้า เครื่องชี้วัดหรือมิติทางเศรษฐกิจไปค่อนข้างมาก เมื่อโอกาสหรือความทันสมัยใหม่มาถึงการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจจากสังคมเกษตรไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมจึงทำได้ง่ายขึ้น

สังคมญี่ปุ่นในปลายศตวรรษที่ 19 จึงเป็นสังคมที่แม้จะล้าหลังแต่ก็มีความก้าวหน้าเห็นได้ชัดจากโครงสร้างของสังคมที่สัดส่วนประชากรชายที่อ่านออกเขียนได้สูงกว่าครึ่ง และเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ เข้าเรียนชั้นประถมเมื่อสิ้นศตวรรษที่ 19 อุตสาหกรรมการพิมพ์รุ่งเรืองและแพร่หลายสังคมสามารถควบคุมภาวะเจริญพันธุ์ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ง่ายสำหรับประเทศล้าหลังอื่นๆ ญี่ปุ่นมีระบบราชการที่มีประสิทธิภาพ มีระบบรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นที่มีประสิทธิผล ระบบคมนาคม ถนน ที่เชื่อมโยงทำให้เกิดตลาดที่เป็นปึกแผ่นระดับชาติรวมทั้งมีเมืองใหญ่ๆ หลายเมืองระดับหลายแสนถึงระดับล้านคน

เหนืออื่นใดผู้นำไทยและผู้นำญี่ปุ่นต่างต้องการความอยู่รอดของชาติและต้องการความทันสมัย แต่ความมุ่งมั่นที่จะให้ประเทศมั่งคั่งและมั่นคงของผู้นำญี่ปุ่นมีมากกว่าของไทย ดูได้จากทางเลือกการจัดสรรทรัพยากรที่จะมีผลต่อความมั่นคงและการพัฒนาเศรษฐกิจ ในกรณีของไทยเราเลือกให้ความสำคัญกับความมั่นคง (เช่น การสร้างทางรถไฟ เพื่อให้รัฐบาลกลางคุมท้องถิ่นได้) มากกว่าการพัฒนา (เช่น การล้มเลิกโครงการชลประทานขนาดใหญ่ในภาคกลาง) ทำให้ในที่สุดการเปลี่ยนแปลงในเชิงคุณภาพ เช่น การเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ในภาคเกษตรของไทยไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของญี่ปุ่น

ใน 30-50 ปีแรกของการเตรียมเข้าสู่ช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ซึ่งเริ่มในต้นศตวรรษที่ 20 ผู้นำญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการเพิ่มผลผลิตและผลิตภาพของภาคเกษตรมาก เกษตรและอุตสาหกรรมโตมาพร้อมๆ กันโดยในช่วงแรกเกษตรมีบทบาทสำคัญกว่า ผู้นำญี่ปุ่นลองผิดลองถูก แม้กระทั่งการนำเทคโนโลยี เช่น การทดลองใช้เครื่องจักรกลจากประเทศตะวันตกมาพัฒนาการเกษตรของญี่ปุ่น บทเรียนที่สำคัญที่ผู้นำญี่ปุ่นและเกษตรพบ คือความไม่สอดคล้องของเทคโนโลยีตะวันตกกับสิ่งแวดล้อมและโครงสร้างปัจจัยการผลิตของญี่ปุ่นไม่ว่าจะเป็นที่ดิน แรงงาน ขนาดไร่นา และดินฟ้าอากาศ

จุดเด่นของญี่ปุ่นในการพัฒนาการเกษตรและอุตสาหกรรมที่น่าจะเป็นบทเรียนสำคัญต่อประเทศที่มาทีหลังก็คือ ญี่ปุ่นรู้จักเลือกสรรเทคโนโลยีที่เหมาะกับสังคมของตนโดยเฉพาะในช่วงแรกๆ เป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่นซึ่ง Rosovsky เรียกว่าเป็น Meiji Technology รวมทั้งการออกแบบทางสถาบันที่สร้างแรงจูงใจในการผลิต เช่น ระบบภาษี ที่เก็บจากมูลค่าที่ดินที่มีอัตราคงที่ การร่วมมือของชุมชนหมู่บ้านในการเกษตร ในระบบชลประทาน การให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบสหกรณ์ การเพิ่มผลผลิตและผลิตภาพในภาคเกษตรที่พัฒนาจากการผลิตแบบดั้งเดิมโดยการพัฒนาและเลือกเมล็ดพันธุ์ และการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นโดยใช้ทุนไม่มาก แต่ใช้แรงงานสูง ผลที่ตามมาก็คือ แม้ญี่ปุ่นจะมีแรงงานมากที่ดินน้อย ญี่ปุ่นสามารถเพิ่มผลผลิตข้าวต่อพื้นที่ได้มากจนผลผลิตข้าวต่อคนงานและต่อพื้นที่ของญี่ปุ่น ในช่วงนั้น สูงกว่าประเทศในเอเชียหลังสงครามโลกครั้งที่สองเสียอีก

การปฏิวัติอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นในช่วง 40 ปีแรกก็เช่นกันญี่ปุ่นอาจนำเข้าเทคโนโลยีจากโลกตะวันตก แต่ก็เป็นการนำเข้าเทคโนโลยีที่ยังใช้แรงงานสูง (labour intensive) และทุนต่ำ เหมาะกับโครงสร้างปัจจัยการผลิตของญี่ปุ่นและญี่ปุ่นมีความได้เปรียบ เปรียบเทียบ เช่น การปั่นด้ายและการทอผ้าจากฝ้ายซึ่งเมื่อรวมกับการส่งออกไหมและชา ทำให้เป็นแหล่งเงินตราต่างประเทศที่สำคัญในช่วงแรก

สมมติฐานของ Gershenkron นักประวัติศาสตร์จากฮาร์วาร์ด ที่ว่าประเทศที่ล้าหลังมาก มาทีหลัง พัฒนาอุตสาหกรรมหลังอังกฤษ อาจต้องมุ่งอุตสาหกรรมหนัก ที่ใช้ทุนและเทคโนโลยีสูง เหมือนที่พบในยุโรป เช่น เยอรมนี รัสเซีย สมมติฐานนี้ไม่เป็นจริง สำหรับญี่ปุ่น ในช่วงแรกของการพัฒนาอุตสาหกรรม

เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในยุโรปอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่ระดับโรงงาน อุตสาหกรรมพื้นบ้าน อุตสาหกรรมขนาดเล็กที่มีคนงานไม่มากมีความสำคัญมากสำหรับการเติบโตด้านอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นตั้งแต่ช่วงแรกๆ มาจนถึงปัจจุบันระบบรับงานมาทำที่บ้าน รวมทั้งระบบการรับช่วงการผลิตย้ำความสำคัญของการมีอยู่ไปทั่วของอุตสาหกรรมในชนบท

สำมะโนประชากรระดับชาติครั้งแรกของญี่ปุ่นเมื่อปี 1920 พบว่าแรงงานประมาณ 63 เปอร์เซ็นต์ ในภาคอุตสาหกรรมทำงานในสถานที่ ที่ไม่ใช่โรงงานหรือสถานประกอบการอุตสาหกรรม นอกจากนี้คนงานในโรงงานที่จ้างงานเกิน 10 คน ก็มีสัดส่วนที่น้อยกว่าที่พบในประเทศตะวันตกบ่งชี้ว่าคนงานในระบบโรงงานของญี่ปุ่นในช่วงนั้นไม่แพร่หลาย

การเน้นการใช้แรงงานมากกว่าทุนขนาดใหญ่ในการพัฒนาอุตสาหกรรมช่วงแรกๆ ของญี่ปุ่นน่าจะเป็นบทเรียนที่สำคัญสำหรับอินเดียหลังสงครามที่รัฐวางแผนอุตสาหกรรมที่ใช้ทุนสูงและแรงงานน้อยประสบความล้มเหลว การที่ญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการเพิ่มผลิตภาพภาคเกษตรมากไปพร้อมๆ กับการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดเล็กๆ ใช้แรงงานมาก นอกจากจะสร้างงานภาคเกษตรยังเป็นแหล่งเงินทุน เพราะมีส่วนเกินที่เก็บเกี่ยวโดยรัฐผ่านภาษีที่ดินและโดยเอกชนผ่านค่าเช่าและส่วนแบ่งผลผลิตที่เจ้าที่ดินและพ่อค้าสะสมความมั่งคั่งโอนมาสำหรับภาคอุตสาหกรรม ทั้งหมดนี้ทำให้ญี่ปุ่นสามารถพัฒนาโดยใช้ทรัพยากรจากภายในประเทศหรือทุนของตัวเองไม่ต้องพึ่งพาทรัพยากรจากต่างประเทศ เหมือนที่เกิดขึ้นสำหรับประเทศโลกที่สามส่วนใหญ่

แน่นอนว่าภาพของโครงสร้างเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นเมื่อญี่ปุ่นเข้าสงครามโลกครั้งที่สองหรือปลายทศวรรษ 1930 ย่อมต่างกับโครงสร้างอุตสาหกรรม เมื่อ 30 ปีก่อนหน้า ญี่ปุ่นเริ่มเข้าสู่อุตสาหกรรมหนัก ที่ใช้ทุนสูง (capital intensive) แรงงานต่ำ จนมีสัดส่วนถึงกว่าร้อยละ 30 ของภาคอุตสาหกรรม แม้ว่าจะไม่มีประสิทธิภาพหรือคุ้มค่าในทางเศรษฐกิจ เพื่อความมั่นคงญี่ปุ่นต้องการทำอะไรได้เองทุกอย่าง นำเข้าเฉพาะ อาหาร พลังงาน และวัตถุดิบ แม้จะต้องล่าอาณานิคมเข้าไปในจีน ไต้หวัน และเกาหลี แน่นอนว่าโครงสร้างเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในลักษณะนี้ย่อมเป็นทั้งเหตุและผลหรือมีความสัมพันธ์กับเจตจำนงการรุกรานเพื่อนบ้านอันมีที่มาจากลัทธิทหารนิยมและจักรวรรดินิยม โครงสร้างดังกล่าวคงมีผลไม่มากก็น้อยต่อการหยุดยั้งหรือการเติบโตของระบอบประชาธิปไตยที่กำลังก่อตัวอย่างช้าๆ เรื่อยมา ของญี่ปุ่น

ไม่ว่าสงครามโลกครั้งที่สองและการแพ้สงครามของญี่ปุ่น จะมีผลทั้งด้านบวกและลบต่อญี่ปุ่นอย่างไรเราปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าโครงสร้างอุตสาหกรรมที่ญี่ปุ่นสร้างขึ้นโดยเฉพาะเพื่อการทหารคือด้านมืดที่เป็นบทเรียนที่สำคัญด้วยเช่นกัน


Source://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q2/2007april25p1.htm


โดย: ทุนนิยมวิถีญี่ปุ่น ญี่ปุ่นไม่เหมือนใคร (50) (moonfleet ) วันที่: 17 สิงหาคม 2556 เวลา:19:16:13 น.  

 
ทุนนิยมวิถีญี่ปุ่น ญี่ปุ่นไม่เหมือนใคร (51)

วิถีเศรษฐกิจ : ดร.ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เมื่อพูดถึงความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในการพัฒนาอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นหลังสงคราม แต่ไหนแต่ไรมานักวิชาการนอกสาขาเศรษฐศาสตร์หรือนอกกระแสหลักของเศรษฐศาสตร์ ได้ให้ความสำคัญกับบทบาทของรัฐบาล โดยเฉพาะการมีนโยบายอุตสาหกรรม หรือ Industrial Policy ไว้ค่อนข้างมากรวมทั้งการเกิดแนวคิด Developmental State ซึ่งดูเหมือนจะเป็นต้นแบบของประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออก เป็นต้นแบบของอดีตผู้นำมาเลเซียที่หลงใหลการพัฒนาทุนนิยมของเอเชีย

นักเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะสำนัก Neo classic ไม่เชื่อว่าในทางทฤษฎีและในหลักฐานข้อเท็จจริง ความยิ่งใหญ่ของอุตสาหกรรมญี่ปุ่นในเวทีโลกจะเกิดจากการแทรกแซงของรัฐ พวกเขาเชื่อว่าหลายอย่างที่รัฐแทรกแซงไม่คุ้มในเชิงเศรษฐกิจ จะว่าล้มเหลวก็ว่าได้

วาทะกรรมเรื่องบทบาทรัฐหรือตลาดอันไหนสำคัญกว่ากันหรือเสริมขึ้นอยู่กันและกันและถ้ารัฐจะแทรกแซงควรแทรกแซงเมื่อไร อย่างไร ในบริบทการพัฒนาอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นหลังสงครามมีความสำคัญมากมันเป็นบทเรียนที่สำคัญแก่ประเทศที่มาทีหลัง

ถ้า Industrial Policy ของญี่ปุ่นในอดีต หมายถึงการที่รัฐแทรกแซง มีบทบาทในการทำให้เกิดการจัดสรรทรัพยากร การลงทุนในอุตสาหกรรมซึ่งรัฐบาลคิดว่าควรมีจนประกอบเป็นโครงสร้างอุตสาหกรรมที่ยืนอยู่ได้ในเวทีโลก อาจมีการตั้งเป้า มี Targetting มีการเลือกอุตสาหกรรมที่จะเป็นดาวรุ่ง (picking the winner) หรือเลิกลดบทบาทอุตสาหกรรมที่กำลังจะเสื่อมถดถอย ในภาพรวมการใช้ Industrial Policy ของญี่ปุ่นไม่ได้เป็นความล้มเหลวเมื่อเปรียบเทียบกับประสบการณ์ที่พบในยุโรป โดยรายอุตสาหกรรม ญี่ปุ่นมีทั้งประสบความสำเร็จ และล้มเหลว และความสำเร็จในช่วง 20 - 30 ปีแรก หรือช่วงทศวรรษ 50 - 70 มิได้หมายความว่าจะเป็นเช่นนั้นต่อมา

เพื่อที่จะตอบประเด็นข้างต้น เราควรจะต้องเข้าใจลักษณะการแทรกแซงของรัฐบาลญี่ปุ่นในช่วงเวลาต่างๆ และก็ควรจะต้องเข้าใจบทบาทของรัฐกับเอกชนในบริบทของประวัติศาสตร์ด้วยเช่นกัน บ่อยครั้งการให้ความสำคัญกับรัฐมากเกินไปทำให้สำคัญผิดไป นานนมมาแล้วเอกชนเป็นพลังหลักที่ขับเคลื่อนทุนนิยมญี่ปุ่น เมื่อญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ในปลายศตวรรษที่ 19 จนถึงเมื่อญี่ปุ่นเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 อาจมีบางช่วงที่รัฐเล่นบทเป็นพระเอกแทนที่เอกชนเช่นรัฐลองผิดลองถูกเข้ามาทำอุตสาหกรรมนำร่อง เพราะเอกชนไม่พร้อมเช่นยุคเริ่มต้นของยุคเมจิก แต่ก็เป็นช่วงสั้นๆ เมื่อรัฐบาลพบว่าล้มเหลวก็ขายกิจการให้เอกชนไป หรืออาจมีช่วงที่รัฐทหารให้ความสำคัญกับความมั่นคงเข้ามามีบทบาทในการระดมทรัพยากรมีอิทธิพลต่อโครงสร้างอุตสาหกรรมตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1920 โดยที่โครงสร้างอุตสาหกรรมหลักทวีความสำคัญอย่างก้าวกระโดด กระนั้นก็ตามเอกชนกลุ่มธุรกิจเช่นกลุ่ม Zaibatsu ก็มีบทบาทสำคัญ

เมื่อตัดช่วงก่อน 20 ปีของสงครามโลกครั้งที่ 2 ออกไป เศรษฐกิจยุค Meiji - Taisho ในปลาย ค.ศ. 1900 นั้น ญี่ปุ่นมีระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี รัฐแทรกแซงเอกชนน้อยมากต่างฝ่ายต่างแบ่งบทบาทกัน รัฐมุ่งเฉพาะกิจการสาธารณูปโภคเช่น รถไฟ ถนนหนทางหรือสินค้าสาธารณะ เช่นการศึกษา การสร้างสถาบันเศรษฐกิจที่สำคัญ

โดยทั่วไปในอดีตญี่ปุ่นมีการลงทุนภาครัฐค่อนข้างสูงประมาณ 1/3 ของการลงทุนรวม แต่การใช้จ่ายของภาครัฐ ต่อ GDP ในอดีตเมื่อเทียบกับนานาประเทศค่อนข้างต่ำมาก เป็นเพราะการใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคมมีน้อย จนกระทั่งหลังสงครามราวๆ ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา กระนั้นก็ตามรายจ่ายของภาครัฐต่อ GDP ของญี่ปุ่น อยู่ระดับประมาณ ร้อยละ 70 - 80 ของประเทศในกลุ่ม OECD แม้ญี่ปุ่นจะมีหนี้สาธารณะที่สูงมากขณะนี้ การใช้จ่ายเพื่อนโยบาย Industrial Policy โดยกระทรวง MITI ก็ไม่มาก แต่เราไม่ควรดูผลกระทบของบทบาทรัฐเพียงแค่ดูจากงบประมาณที่ใช้

แทบไม่น่าเชื่อเช่นกัน ว่าประเทศที่ต้องพึ่งพลังงานไม่ว่าจะเป็นถ่านหิน น้ำมันดิบ ซึ่งชี้เป็นชี้ตายด้านความมั่นคง รัฐบาลของประเทศนั้นจะไม่พยายามเข้าไปเป็นเจ้าของกิจการประเภทนั้นๆ เสียเอง เหมือนกับที่รัฐบาลไทยใช้ ปตท. และ ปตท.สผ. เป็นกลไกรัฐ หรืออินโดนีเซียใช้ PERTAMA หรือ มาเลเซีย ใช้ PETRONAS หรือ รัฐบาลนอร์เวย์ ใช้ STATOIL ขณะที่ประเทศในยุโรปล้วนมี NATIONAL CHAMPION ในกิจการน้ำมันจำนวนมาก เรากลับพบว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ยอมให้เอกชนเป็นเจ้าของในกิจการไฟฟ้า น้ำมัน เหมืองแร่ถ่านหิน หรือในอดีตก็เป็นรัฐวิสาหกิจในกิจการเหล่านี้น้อยมาก ปัจจุบันญี่ปุ่นเหมือนกับสหรัฐ กิจการสำรวจ ผลิต หรือกลั่นน้ำมัน เอกชนเป็นเจ้าของ ไม่พูดถึง กิจการสาธารณูปโภคอื่นๆ ที่ญี่ปุ่นแปรรูปให้เอกชนไปหมดแล้ว เช่น JAPAN NATIONAL RAILWAY (JNR) หรือกิจการโทรคมนาคม (NTT) หรือแม้กระทั่งการบินพาณิชย์ระหว่างประเทศ

ญี่ปุ่นมีหน่วยงานวางแผนซึ่งครั้งหนึ่งเชื่อกันว่ามีอิทธิพลมาก คือ EPA หรือ ECONOMIC PLANNING AGENCY แต่ในความเป็นจริงความสำคัญของการวางแผนเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ไม่ใช่เป็นการวางแผนแบบของประเทศโซเวียตในอดีต การวางแผนของญี่ปุ่นจริงๆ เป็นเพียงแสดงความปรารถนาของรัฐบาลมีลักษณะเป็น FORECAST ไม่มีความสำคัญเหมือนเป็นการวางแผนลักษณะชี้นำ แบบของฝรั่งเศส เอกชนเป็นพระเอกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ทำไมหลังจากที่ญี่ปุ่นแพ้สงคราม รัฐบาลจึงเล่นบทที่เข้มข้นทั้งชี้นำ แทรกแซง ทุกวิธีในการใช้ INDUSTRIAL POLICY ผู้เขียนคิดว่าในทุกประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สังคมยอมรับการแทรกแซงของรัฐมากขึ้น เพราะประสบการณ์ของยุคเศรษฐกิจตกต่ำและแนวคิดของเศรษฐศาสตร์ KEYNESIAN แต่กรณีของญี่ปุ่นมีปัจจัยพิเศษที่ช่วยเสริมความสำคัญของรัฐ ญี่ปุ่นมีมรดกของโครงสร้างอุตสาหกรรมทุกชนิด ก่อนญี่ปุ่นเข้าสู่สงครามโลกโดยอุตสาหกรรมหนัก มีสัดส่วนถึงร้อยละ 50 ที่สำคัญกว่านั้น ข้าราชการซึ่งสะสมประสบการณ์การบริหารเศรษฐกิจที่ต้องคุมและร่วมมือกับผู้ผลิตและแรงงานในช่วงก่อนสงครามกลายเป็นกลุ่มบุคคลที่มีทั้งความสามารถ มีอำนาจ ที่จะบริหารเศรษฐกิจเพราะธุรกิจใหญ่ๆ และนักธุรกิจ ZAIBATZU ถูกกำจัดบทบาท และขณะที่ข้าราชการกระทรวงการคลังและธนาคารกลางเชื่อในกลไกตลาด และต้องการให้ญี่ปุ่นผลิตตามความได้เปรียบ เปรียบเทียบ พวกข้าราชการกระทรวง MITI เชื่อว่ารัฐต้องชี้นำ ประสานกับเอกชนในการเลือกอุตสาหกรรม และสร้างความได้เปรียบซึ่ง MITI เป็นฝ่ายชนะ


Source://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q2/2007april25p1.htm


โดย: ทุนนิยมวิถีญี่ปุ่น ญี่ปุ่นไม่เหมือนใคร (51) (moonfleet ) วันที่: 17 สิงหาคม 2556 เวลา:19:17:57 น.  

 
ญี่ปุ่นไม่เหมือนใคร (53)

ทุนนิยมรัฐญี่ปุ่น ดร.ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ทำไมโลกให้ความสนใจกับ Industrial policy ของญี่ปุ่นมากมายเป็นพิเศษทั้งๆ ที่ประเทศอื่นที่โตมาก่อนญี่ปุ่น เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี ประเทศอื่นๆ ในยุโรป หรือแม้กระทั่งอังกฤษ อเมริกา ก็มี Industrial policy ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ในช่วงเวลาหนึ่งมาตลอด ในกรณีของอเมริกาเป็นที่ทราบกันดี ว่า อุตสาหกรรมหรือธุรกิจ ที่เกี่ยวโยงกับกิจการทหาร การป้องกัน หรือความมั่นคงของประเทศ เป็นแรงผลักดันให้อเมริกาทุ่มเทงบประมาณ การวิจัยพื้นฐานและไม่สามารถแยกกันได้เด่นชัด จาก Industrial policy ในอุตสาหกรรมไฮเทค เช่น คอมพิวเตอร์ เซมิคอนดักเตอร์ การสร้างเรือบิน เป็นต้น กรณีของยุโรปผู้นำของกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม (MITI) สนใจและดูตัวอย่าง ที่ทำกันมาก่อน จากอิตาลี และฝรั่งเศส

แน่นอนว่า สาเหตุหนึ่งที่โลกให้ความสนใจกับ Industrial policy ของญี่ปุ่น จนเป็นต้นแบบสำหรับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย เพราะความสามารถและความสำเร็จ ในการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำโลกในผลิตภัณฑ์และอุตสาหกรรมหลายชนิด ในช่วงเวลาสั้นๆ หลังสงคราม แต่ที่สำคัญกว่านั้น คือ ความเชื่อซึ่งก่อตัวโดยนักวิชาการทางรัฐศาสตร์ Chalmer Johnson มหาวิทยาลัย MITI ในหนังสือ MITI AND JAPANESE MIRACLE ที่ว่าความเจริญเติบโตที่สูง และความก้าวหน้าในอุตสาหกรรมหลายประเภท มีสาเหตุมาจากการมี Industrial policy โดยรัฐซึ่งมีศูนย์กลางของอำนาจ ชี้นำและสั่งการโดยข้าราชการที่มีความสามารถสูงในกระทรวง MITI

ผู้เขียนไม่ปฏิเสธว่า Industrial policy มีความสำคัญแต่คิดว่าไม่มีใครสามารถพิสูจน์ ยืนยันได้ว่า Industrial policy เป็นมูลเหตุสำคัญของ HI-SPEED GROWTH นอกจากการเป็นประเทศที่มีการออมสูง ญี่ปุ่นหลังการแพ้สงครามในช่วงแรกๆ ของการฟื้นฟูประเทศ มีปัจจัยหลายอย่างที่เกื้อกูลต่อการเติบโต ตั้งแต่การที่สงครามทำให้เครื่องจักรอุปกรณ์เก่าๆ ถูกทดแทนด้วยการสะสมทุน ในเครื่องจักรที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ การได้ความช่วยเหลือและการได้แต้มต่อ จากสหรัฐทั้งในด้านการเงิน การมีตลาดส่งออกการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อให้ญี่ปุ่นเป็นประการสำคัญ ป้องกันและกีดขวาง การขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ รวมทั้งการใช้ญี่ปุ่นเป็นแบบอย่างให้โลกเห็นถึงความเป็นไปได้ และประสิทธิผลของระบบทุนนิยมในทางเศรษฐกิจ และระบอบประชาธิปไตยในทางการเมือง

อำนาจและขีดความสามารถของ MITI ในการกำหนดยุทธศาสตร์และมีอิทธิพลจริงๆ ต่อธุรกิจอุตสาหกรรม จะขึ้นอยู่กับว่าเป็นช่วงเวลาใด อาวุธหรือดาบที่สำคัญที่ทรงอิทธิพล และทำให้ MITI มีบทบาทสำคัญ คือ อำนาจในการจัดสรรปันส่วน เงินตราต่างประเทศ ซึ่งมีอยู่อย่างจำกัดในช่วง 10 ปี เศษๆ ธุรกิจญี่ปุ่นต้องพึ่งพา MITI ในการนำเข้าสินค้าทุนและเทคโนโลยี แต่อำนาจตามกฎหมายนี้ต้องหมดไป ในช่วงต้นทศวรรษ 1960 โดยนัยได้บั่นทอนอำนาจของ MITI ซึ่งทำให้ MITI ต้องมาใช้กลไกที่ไม่มีผลทางกฎหมายในเวลาต่อมา ในช่วงปลายทศวรรษ 60 ผ่านการขอความร่วมมือการขอร้องที่รู้จักกันดีว่าเป็น ADMINISTRATIVE GUIDANCE เมื่อญี่ปุ่นจำต้องเริ่มเปิดเสรีด้านการค้าและการเคลื่อนย้ายทุน รวมทั้งการที่ธุรกิจเอกชน มีความจำเป็นต้องพึ่งรัฐน้อยลง ในหลายๆ ด้าน

ในช่วงที่อำนาจต่อรองและขีดความสามารถของบริษัทญี่ปุ่นยังไม่แข็งแกร่งพอ การมีรัฐผ่าน MITI เข้ามาในเวทีการต่อรอง การซื้อขายเทคโนโลยีโดยมิติวางตัวเป็นผู้ซื้อผูกขาดรายเดียว หรือเป็น Monopsonist ได้ช่วยลดค่าลิขสิทธิ์ที่บริษัทญี่ปุ่นต้องจ่ายในการซื้อเทคโนโลยีจากบริษัทต่างชาติ ขณะเดียวกัน ก็คุ้มครองผู้ผลิตภายในประเทศ กีดกันการลงทุนจากต่างประเทศ ช่วยเหลือให้ผู้ผลิตเข้าถึงแหล่งเงินดอกเบี้ยถูก ในอุตสาหกรรมที่ญี่ปุ่น คิดว่าเป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ ชี้เป็นชี้ตายอนาคตญี่ปุ่น และญี่ปุ่นต้องมี เช่น รถยนต์ เหล็ก การต่อเรือ การทำเหมืองถ่านหิน ซึ่งเป็นพลังงานทดแทนน้ำมัน เป็นต้น

ในการใช้ Industrial policy ข้าราชการกระทรวง MITI (ซึ่งอาจจะรวมกระทรวงสำคัญอื่นๆ โดยเฉพาะกระทรวงการคลัง) มีอำนาจและมีคุณภาพสูง มีบทบาทสำคัญมากเหมือนที่ Chalmer Johnson เชื่อหรือไม่ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วผู้เขียนคิดว่ามันขึ้นอยู่กับว่าเป็นช่วงเวลาไหนและเรื่องอะไร

ระบบคุณค่าและอุดมการณ์ที่อาจจะเรียกว่าเป็นวิถีข้าราชการของญี่ปุ่น คงมีวิวัฒนาการที่ได้รับอิทธิพลไม่มากก็น้อยแล้วแต่ช่วงเวลา จากวิถีแห่งนักรบ หรือ Bushido ของซามูไร ตั้งแต่ยุคเมจิที่ข้าราชการเคยเป็นซามูไรเก่าจำนวนมาก ระบอบประชาธิปไตยและนักการเมืองยังมีบทบาทน้อย ทำให้รัฐข้าราชการในยุคเมจิมีบทบาทสูง และทวีความสำคัญมากขึ้นหลังญี่ปุ่นแพ้สงคราม เพราะข้าราชการพลเรือนเป็นกลุ่มเดียว เมื่อเทียบกับข้าราชการฝ่ายทหารกลุ่มธุรกิจ Zaibatsu ที่ไม่ถูกฝ่ายสัมพันธมิตรที่ยึดครองญี่ปุ่นจำกัดอำนาจและบทบาท

ระดับการศึกษาที่สูงการสำนึกและการอุทิศตนในหน้าที่ที่สูงมากของข้าราชการญี่ปุ่น ทำให้ข้าราชการพลเรือนมีสถานะ หรือ Status ทางสังคมสูง ในช่วงหนึ่ง กว่าร้อยละ 70 ของข้าราชการเหล่านี้ที่สามารถผ่านการสอบเข้ามาทำงานที่กระทรวงการคลัง และกระทรวง MITI ได้จบกฎหมายจากมหาวิทยาลัยโตเกียว หรือที่เรียกว่า TODAI โดยทั่วไปโดยเฉพาะในช่วงแรกๆ ข้าราชการญี่ปุ่นมีสถิติและภาพพจน์ในด้านการคอร์รัปชันที่ดี เมื่อเทียบกับนักการเมือง

กระนั้นก็ตาม ช่วงที่ MITI เรืองอำนาจ บริษัทเอกชนของญี่ปุ่นโดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ เช่น Matsushita ที่ผลิตยี่ห้อ Panasonic หรือ Toshiba Hitachi หรือ Sony ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับข้าราชการการของกระทรวง MITI เท่าใด ลึกๆ บางครั้งอ่านจะดูหมิ่นด้วยซ้ำ MITI เคยผิดพลาด ในการหน่วงเหนี่ยวทำให้เกิดความล่าช้า เกิดความเสียหายแก่บริษัท Sony เมื่อ Sony ต้องได้รับการอนุญาตจาก MITI ในการนำเข้าเทคโนโลยีเครื่องบันทึกเทป ซึ่งต่อมา MITI ก็ยินยอม

ข้าราชการ MITI มักมีวิตกจริตว่าตลาดที่มีแข่งขันมากเกินไป มีผู้ผลิตจำนวนมากรายเกินความจำเป็น จะสร้างความเสียหายหรือประเทศมีโครงสร้างอุตสาหกรรมอ่อนแอ มีกำลังการผลิตเกินขนาด บริษัทไม่มีการประหยัดจากขนาด จึงเคยผิดพลาดในด้านวิสัยทัศน์ MITI คิดว่าญี่ปุ่นควรมีผู้ผลิตรถยนต์นั่ง 3 รายก็พอ ครั้งหนึ่ง MITI ไม่สนับสนุนให้ Honda เข้ามาโตเดี่ยวๆ ในอุตสาหกรรมรถยนต์ แต่อยากให้รวมตัวกับผู้ผลิตเดิม แต่ Honda ไม่ยอม ในที่สุด MITI ต้องยอมถอย

การเติบโตของ Honda ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ รวมทั้งการเป็นเจ้าโลกในอุตสาหกรรมรถยนต์ของโลกในเวลาต่อมา เท่ากับได้ตบหน้า ทำให้ MITI ต้องอับอายไปพอสมควร


Source://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q2/2007april25p1.htm


โดย: ญี่ปุ่นไม่เหมือนใคร (53) (moonfleet ) วันที่: 17 สิงหาคม 2556 เวลา:19:18:46 น.  

 
ญี่ปุ่นไม่เหมือนใคร (54)

ทุนนิยมวิถีญี่ปุ่น ดร.ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 08 ธันวาคม พ.ศ. 2553

มีความเชื่อกันมานานว่าครั้งหนึ่ง MITI หรือ กระทรวงการค้าอุตสาหกรรมญี่ปุ่น เคยมีอำนาจมหาศาลได้มีบทบาทกำหนดความสำเร็จของอุตสาหกรรมญี่ปุ่นหลังสงคราม ในความเป็นจริงเมื่อเวลาผ่านไป ข้อเท็จจริงที่ปรากฏได้ชี้ให้เห็นว่า MITI และข้าราชการญี่ปุ่น ได้เครดิตมากเกินไป จริงๆ แล้วพลังความสามารถของธุรกิจเอกชนที่สะสมมามีความสำคัญไม่น้อยกว่ากัน

มีข้อเท็จจริงในความล้มเหลวในเรื่องวิสัยทัศน์ หรือ Vision Failure ของ MITI อีกมาก นอกเหนือจากกรณีของรถฮอนด้าดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

อีกหนึ่งกรณีของความล้มเหลวในวิสัยทัศน์ของ MITI คือ กรณีของบริษัทเล็กๆ แห่งหนึ่งชื่อ Tokyo Tsushin Kogyo บริษัทนี้ต้องการซื้อทรานซิสเตอร์เทคโนโลยีจากบริษัท Western Electric Transistor Technology ของอเมริกาโดยใช้วงเงินประมาณ 25,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งต้องได้รับการอนุมัติจาก MITI ตามกฎหมายควบคุมการนำเข้าทุนจากต่างประเทศและเงินตราต่างประเทศหลังสงคราม

MITI ต้องการประหยัดการใช้เงินตราต่างประเทศบวกกับความไม่แน่ใจเรื่องความสำเร็จในเชิงพาณิชย์ของข้อเสนอ จึงไม่ค่อยเต็มใจที่จะอนุญาต จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1954 เมื่อผู้บริหารบริษัทตกลงทำสัญญาซื้อเทคโนโลยีจาก Western Electric MITI ถึงยอม ปรากฏในภายหลังว่าบริษัทนี้ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท Sony ซึ่งทำการปฏิวัติพลิกโฉมวงการอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค โดยบรรจุทรานซิสเตอร์ลงไปในวิทยุหิ้วพกพาและโทรทัศน์ในเวลาต่อมา

กรณีของอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ ปฏิเสธไม่ได้ว่าถ้า MITI ไม่ทำอะไรไม่ส่งเสริมไม่คุ้มครองผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ญี่ปุ่นในช่วงแรกๆ คงเป็นการยากที่ผู้ประกอบการญี่ปุ่นจะสู้กับสินค้าที่นำเข้าและผู้ผลิตต่างชาติได้ เพราะนโยบายอุตสาหกรรมบริษัทญี่ปุ่นแม้จะมีเพียง 3 บริษัทใหญ่ คือ NEC Fujitsu และ Hitachi สามารถเกิดและเติบโตครองตลาดที่เคยถูกครอบงำโดย IBM ได้

กระนั้นก็ตาม Martin Fransman นักวิชาการที่ศึกษาอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและคอมพิวเตอร์ของญี่ปุ่น มีข้อสังเกตในการประเมินวิสัยทัศน์ของ MITI ในเวลาต่อมา เขาคิดว่าในช่วงต้นทศวรรษ MITI ก็มี Vision Failure ในกรณีอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์

Fransman คิดว่า MITI ล้มเหลวในการที่ไม่สามารถมองเห็นโลกใหม่ของคอมพิวเตอร์ที่กำลังจะมาถึงในช่วงต้นของทศวรรษ 1990 เช่นเดียวกับที่นักวิเคราะห์ตะวันตกจำนวนหนึ่งที่ยังสนับสนุนชื่นชมความเลอเลิศในสถาปัตยกรรมความคิดของ IBM ซึ่งญี่ปุ่นเองก็เลียนแบบ แบบจำลองของ IBM ในทศวรรษ 1980 จนกระทั่ง IBM ขาดทุนมากที่สุดในปี ค.ศ. 1993 และสูงสุดในประวัติศาสตร์ของบริษัท จากการล่มสลายของธุรกิจเมนเฟรมคอมพิวเตอร์ พร้อมๆ กับการเข้าสู่ยุคใหม่ของโลกคอมพิวเตอร์

Fransman คิดว่าในต้นทศวรรษ 1990 ญี่ปุ่นมีโครงสร้างอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ที่มีจุดอ่อนหลายประการที่ MITI น่าจะเห็นและเตรียมทำอะไรอย่างจริงจัง จุดอ่อนดังกล่าว เช่น โดยเปรียบเทียบญี่ปุ่นมีการแพร่หลายและการกระจายตัวของคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กที่ค่อนข้างต่ำรวมทั้งเครือข่ายของคอมพิวเตอร์ประเภทนี้ ญี่ปุ่นยังมีจุดอ่อนในการพัฒนาการขายของตลาดภายในประเทศมีจุดอ่อนการส่งออกซอฟต์แวร์ที่เป็นแพ็คเกต มีความก้าวหน้าน้อยในการพัฒนาขีดความสามารถระบบคอมพิวเตอร์แบบเปิด เป็นต้น

ในบางกรณีแม้ MITI จะพยายามและตั้งใจที่จะแทรกแซง เพื่อให้อุตสาหกรรมมีโครงสร้างตามที่ต้องการ เช่นกรณีอุตสาหกรรมน้ำมัน หรือให้มีการปรับตัวออกไปจากตลาดเร็วขึ้น เช่นการทำเหมืองแร่ถ่านหินหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เพราะอุตสาหกรรมไม่มีขีดความสามารถในการแข่งขันกับปิโตรเลียมได้ต่อไป

แต่ MITI ไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้ดังใจ เช่นกรณีอุตสาหกรรมน้ำมัน หรือต้องใช้เวลานานใช้ทรัพยากร ใช้เงินภาษีของรัฐ ที่สูงจนเกินไป กรณีของเหมือนถ่านหินยังไม่ต้องพูดถึงการที่ต้องอุ้มภาคเกษตร เพราะเหตุผลทางการเมือง คนที่เคยคิดว่า MITI มีอำนาจล้นเหลือเนรมิตอะไรก็ได้ คงต้องคิดใหม่ ถ้ารัฐของญี่ปุ่นเป็น Developmental State แต่ก็อาจจะไม่ใช่ Strong State เสมอไปในทุกเรื่อง

อุตสาหกรรมน้ำมันเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ขอบเขตและการใช้อำนาจของรัฐญี่ปุ่น จริงๆ แล้วมีขีดจำกัด MITI ต้องประนีประนอมกับเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะเมื่อโครงสร้างตลาดมีผู้เล่นเยอะเป็นเบี้ยหัวแตก ต่างคนต่างมีผลประโยชน์ของตัวเองและไม่ยอมกัน เมื่อใดที่รัฐต้องการเข้ามามีบทบาทให้เต็มที่ในอุตสาหกรรมน้ำมัน และเอกชนรู้สึกว่าเสียประโยชน์ส่วนแบ่งตลาด เอกชนจะรู้สึกถูกคุกคาม ต่อต้านข้อเสนอของรัฐ

ญี่ปุ่นอาจเป็นประเทศอุตสาหกรรมในจำนวนที่มีไม่มากนัก ที่อุตสาหกรรมน้ำมันไม่มีบริษัทน้ำมันที่จัดตั้งในแนวดิ่งทำธุรกิจทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ หรือตั้งแต่สำรวจทำการผลิตและจำหน่าย ไม่เหมือนกลุ่ม ปตท. ของไทย

เป็นผลจากการแพ้สงคราม MITI ไม่พอใจในโครงสร้างอุตสาหกรรมน้ำมันที่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในมือของบรรษัทข้ามชาติครองส่วนแบ่งตลาดสูงกว่าบริษัทญี่ปุ่นในการนำเข้าน้ำมันดิบเข้ามากลั่น โครงสร้างตลาดมีลักษณะเป็นเบี้ยหัวแตก มีโรงกลั่นจำนวนมาก ส่วนด้านการจัดจำหน่ายก็มีผู้ขายปลีกจำนวนมากเป็นร้อย แม้กระทั่งชนบทภาคเกษตรและประมงก็มีเอี่ยวและจะค้านหัวชนฝา เมื่อใดก็ตามที่สิทธิในการขายถูกลิดรอน


Source://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q2/2007april25p1.htm


โดย: ญี่ปุ่นไม่เหมือนใคร (54) (moonfleet ) วันที่: 17 สิงหาคม 2556 เวลา:19:19:28 น.  

 
ทุนนิยมวิถีญี่ปุ่น ญี่ปุ่นไม่เหมือนใคร (55)

ดร. ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 05 มกราคม พ.ศ. 2554

ช่วงต้นๆ หลังสงคราม เชื่อกันว่า การเข้ามาในธุรกิจน้ำมันได้ง่ายโดยนโยบายของ MITI เมื่อบวกกับการกดดันจากผู้ใช้น้ำมันในภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมหนัก ที่ต้องการเห็นการมีคู่แข่งมากๆ ในอุตสาหกรรมนี้เพื่อทำให้น้ำมันมีราคาต่ำ MITI จึงพอใจที่เห็นอุตสาหกรรมน้ำมันมีผู้เล่นจำนวนมาก ลึกๆ แล้ว เชื่อกันว่าอุตสาหกรรมหนักเป็นผู้ใช้น้ำมันที่สำคัญ MITI ให้ความสำคัญกับน้ำมันเกินไปที่จะยอมให้ใครมาผูกขาดทั้งทางด้านการกลั่นและการจำหน่ายและเห็นความสำคัญของผลดีที่ได้จากการแข่งขัน แม้ว่าญี่ปุ่นในขณะนั้นจะต่างจากประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆ ทั่วๆ ไป ที่ประมาณ 85 เปอร์เซ็นต์ของน้ำมันดิบที่นำเข้ามากลั่นในญี่ปุ่นนั้นจัดหาโดยบริษัทน้ำมันต่างชาติ

MITI ไม่เดือดร้อนแม้ญี่ปุ่นจะไม่มี NATIONAL CHAMPION ไม่ต้องพูดกันถึงเรื่องผลที่จะมีต่ออนาคตอันเกิดจากโครงสร้างตลาดที่ FRAGMENTED มาก ผลที่จะมีต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีหรือต่อการสำรวจหาน้ำมันในต่างประเทศ ผลต่ออำนาจของตลาดในการซื้อน้ำมันดิบ ดูเหมือน MITI ไม่ต้องการทำอะไรมาก เพราะหลังสงครามน้ำมันดิบหาง่ายราคาก็ลดลงมาตลอดอย่างน้อยก็จนเข้าสู่ทศวรรษ 70

ในปี ค.ศ. 1952 MITI ใช้นโยบายเลือกปฏิบัติโดยให้สิทธิพิเศษแก่บริษัทญี่ปุ่น โดยมีเครื่องมือที่ MITI คุมได้ คือ อำนาจในการจัดสรรเงินตราต่างประเทศ โดยให้บริษัทญี่ปุ่นได้เปรียบในการนำเข้าน้ำมันดิบมากลั่น หลังปี 1962 สภา DIET ให้อำนาจ MITI ในการปันส่วนปริมาณการกลั่นและสิทธิการจำหน่ายทั้งระดับค้าปลีกและค้าส่ง ทำให้ส่วนแบ่งในตลาดของบริษัทน้ำมันญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นมาจนใกล้เคียงกับของบริษัทต่างชาติในช่วงกลางทศวรรษ 1960

ลักษณะเบี้ยหัวแตก หรือ FRAGMENTATION คือ มีบริษัทที่กลั่นน้ำมันจำนวนมากและบริษัทที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันทำโดยกลุ่มบริษัทจำนวนไม่มาก ลักษณะโครงสร้างตลาดน้ำมันช่วงหลังสงครามเป็นผลจากนโยบายของ MITI ในช่วงต้นทศวรรษ 1950 เพราะนโยบายของสหรัฐในช่วงแรกไม่ต้องการให้ญี่ปุ่นแข็งแกร่งทางทหารขึ้นมาอีก โดยคิดว่าจะไม่ให้ญี่ปุ่นมีอุตสาหกรรมน้ำมันเสียเลย การควบคุมธุรกิจน้ำมันโดยรัฐค่อนข้างอ่อนเมื่อเทียบกับก่อนสงคราม รัฐควบคุมทางอ้อมด้านปริมาณและการจัดสรรการนำเข้าผ่านการควบคุมเงินตราต่างประเทศ

กฎหมายอุตสาหกรรมปิโตรเลียมที่เคยมีก่อนสงครามรวมทั้งกฎเกณฑ์การควบคุมอื่นๆ ถูกยกเลิกหมดแรงผลักดันที่จะมีกฎหมายปิโตรเลียมใหม่มีไม่มากในรัฐบาลเองก็หาฉันทานุมัติไม่ได้ในด้านการให้ความสำคัญกับการวางตำแหน่งอุตสาหกรรมน้ำมันไม่มีภาพชัดเจน และนโยบายออกมาจากรัฐบาลเรื่องบทบาทของน้ำมันกับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่น บทบาทรัฐบาลควรอยู่ตรงไหนไม่เหมือนกับการให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมหนัก เช่น เหล็ก การต่อเรือ อุตสาหกรรมเคมี และปิโตรเคมี เครื่องจักรกล ฯลฯ รัฐบาลมีนโยบายทำ TARGETTING หรือ พยายาม PICK THE WINNER หรืออุตสาหกรรมที่เป็นยุทธศาสตร์

MITI เองก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาหลายครั้ง ในการเลือกระหว่างน้ำมันกับถ่านหินที่จะใช้เป็นเชื้อเพลิงแม้กระทั่งช่วงปี 1955 ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าธุรกิจเหมืองถ่านหินมีปัญหาแล้วเพราะอุปสงค์เริ่มถดถอย ไม่มีอนาคตในระยะยาวหลังจากตะวันออกกลางเปิดหลุมน้ำมันหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมีผลต่อการลดลงของราคาปิโตรเลียมแต่รัฐบาลญี่ปุ่นก็ยังให้เงินอุดหนุนการลงทุนในเหมืองถ่าน แม้ในที่สุด จะยกเลิกไปเพราะเอกชนที่ทำเหมืองถ่านหินพบว่าไม่คุ้มในการขยายกิจการลงทุนแม้จะได้เงินอุดหนุนจากรัฐบาล นอกจากนี้ อุตสาหกรรมเหมืองแร่ยังได้รับสินเชื่อจาก JAPAN DEVELOPMEMT BANK ในสัดส่วนที่สูงถึงประมาณร้อยละ 40 ในช่วงทศวรรษ 1960

อุตสาหกรรมเหมืองแร่ถ่านหินเป็นอีกอุตสาหกรรมหนึ่ง ที่แม้ว่ารัฐบาลจะจัดให้เป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ในด้านพลังงานส่วนใหญ่ของอุตสาหกรรมนี้ก็เป็นของเอกชนมาตลอดโครงสร้างตลาดที่มีทั้งรายใหญ่และรายเล็กจำนวนมาก รวมทั้งแรงงานจำนวนหลายแสนคน มีการจัดตั้งและอยู่ในท้องถิ่นที่มีความสำคัญต่อฐานคะแนนเสียงของพรรค LDP มาก ทำให้ MITI ต้องใช้ทรัพยากรมากและค่อนข้างเหนื่อยในการแก้ปัญหา MITI ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรโดยเฉพาะเมื่อต้องปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมที่หมดอนาคตให้ออกไปโดยเจ็บปวดน้อยที่สุด

หลังสงครามญี่ปุ่นต้องใช้เวลากว่า 30 ปี ในการลดปริมาณการผลิตเหมืองถ่านหินจากห้าหมื่นตัน จนเหลือประมาณหนึ่งหมื่นห้าพันตัน คนงานลดจากกว่าสามแสนคนลงมาเหลือประมาณสองหมื่นหกพันคน จำนวนเหมืองพันกว่าแห่งให้เหลือไม่ถึงสองร้อยแห่งในปลายทศวรรษ 1980

อุตสาหกรรมเหมืองเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งในหลายๆ อุตสาหกรรมรวมทั้งอีกหลายอุตสาหกรรม ที่การใช้นโยบายอุตสาหกรรมไม่ประสบความสำเร็จ เช่น การผลิต ALUMINUM การผลิตเรือบินเชิงพาณิชย์ อุตสาหกรรมเคมี อุตสาหกรรมการผลิตยา เป็นต้น ชี้ให้เห็นว่านโยบายอุตสาหกรรมที่รัฐมีบทบาทเข้ามาแทรกแซง จะต้องเป็นอุตสาหกรรมที่ปัจจัยพื้นฐานทางด้านพลังตลาดรองรับ ถ้าจะประสบความสำเร็จได้หรือต้องมีลักษณะเป็น MARKET CONFORMING ต้องไม่ฝืนตลาด

HENRY ROSOVSKY นักประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย HARVARD เคยพูดไว้ว่าญี่ปุ่นคงจะเป็นประเทศทุนนิยมเดียวในโลกที่ข้าราชการหรือรัฐบาลสามารถกำหนดว่าควรจะมีบริษัทหรือผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการสักกี่รายในอุตสาหกรรมนั้นๆ แม้ว่านี่อาจจะเป็นการพูดเกินความจริงไปบ้าง แต่มันก็มีมูล ดูเหมือนว่า MITI จะเชื่อในด้านบวกของอำนาจตลาดที่ผู้ผลิตน้อยรายมีต่อพลังในการสร้างสรรค์และนวัตกรรมใหม่ๆ หรือเชื่อในความคิดของ SCHUMPETER มากกว่า ADAM SMITH ในเรื่องผลดีของการผูกขาด

MITI ให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพของอุตสาหกรรมที่มาจากการแข่งขันและไม่เห็นด้วยกับการผูกขาดรายเดียว จะเห็นได้ว่า MITI ยอมให้มีผู้ผลิตรถยนต์ถึงสี่รายในช่วงแรกขณะที่อุตสาหกรรมรถยนต์ยังเป็นทารกอยู่ในช่วงต้นทศวรรษ 1950 ญี่ปุ่นอาจจะต่างกับหลายประเทศในยุโรปในช่วงนั้น เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลี ฯลฯ ในช่วงเวลาเดียวกันหรือในเอเชีย เช่น กรณีของเกาหลีและไต้หวันซึ่งล้วนมีรัฐวิสาหกิจในภาคอุตสาหกรรม แต่ญี่ปุ่นไม่ใช้รัฐวิสาหกิจเป็นกลไกรัฐในการพัฒนาอุตสาหกรรมหลังสงคราม แม้กระทั่งในอุตสาหกรรมหนักเช่นเหล็กและการต่อเรือ

แต่ในเรื่องของการแข่งขันในโครงสร้างตลาด MITI ให้ความสำคัญกับเสถียรภาพและความมั่นคงของผู้ผลิตแต่ละรายและทั้งอุตสาหกรรมเท่าๆ กับประสิทธิภาพ ขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและการมีนวัตกรรม เห็นได้จากการที่ MITI ให้ความสำคัญกับความสมดุลระหว่างกำลังการผลิตกับอุปสงค์ โดยเฉพาะในช่วงที่ภาวะอุตสาหกรรม หรือเศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงถดถอย

MITI ให้ความสำคัญกับความร่วมมือที่ผู้ผลิตต้องมีร่วมกันในสถานการณ์ ที่ต้องจำกัดการผลิตเพื่อให้ทุกคนอยู่รอดได้ สำหรับผู้ผลิตหรือรัฐบาลอเมริกันนี่คือการฮั้วหรือการตั้ง CARTEL ซึ่งอเมริกาถือว่าผิดกฎหมายแต่ MITI ถือว่า RECESSION CARTEL เป็นเรื่องปกติและสร้างสรรค์ที่รัฐต้องเข้ามาทำหน้าที่เราจึงได้เห็นความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับญี่ปุ่นเรื่อยมาในประเด็นการค้าและนโยบายอุตสาหกรรม

มีความเชื่อกันมากว่าสังคมญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับอะไรที่ไม่เป็นทางการไม่ได้ระบุไว้ในกฎหมายชัดเจน อำนาจ หรือ POWER มีความสำคัญมากกว่าหรือไม่น้อยไปกว่า AUTHORITY

ความสัมพันธ์ที่ไม่ใช่เป็นความสัมพันธ์แบบตลาด แต่เป็นความสัมพันธ์ที่มีพื้นฐานของเครือข่ายหรือของกลุ่มมีความสำคัญในญี่ปุ่น


Source://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q2/2007april25p1.htm


โดย: ทุนนิยมวิถีญี่ปุ่น ญี่ปุ่นไม่เหมือนใคร (55) (moonfleet ) วันที่: 17 สิงหาคม 2556 เวลา:19:20:14 น.  

 
ทุนนิยมวิถีญี่ปุ่น ญี่ปุ่นไม่เหมือนใคร (56)

ดร.ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 02 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

แม้ว่า Amakudari ซึ่งเป็นระบบที่ข้าราชการที่เกษียณอายุไปทำงานในบริษัทใหญ่ของญี่ปุ่นจะหมดความสำคัญลงไปมากในปัจจุบัน เพราะอำนาจของรัฐบาลในการบังคับควบคุมให้คุณให้โทษลดลงไปมาก แต่หลังสงครามใหม่ๆ ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์จากระบบนี้ บริษัทเอกชนพบว่าการมีอดีตข้าราชการระดับสูงเช่นจาก MITI หรือกระทรวงการคลัง กระทรวงขนส่ง หรือก่อสร้างช่วยลดต้นทุนการทำธุรกิจหรือใช้เส้นได้ในระดับหนึ่ง

มีตัวอย่างคลาสสิกหลายกรณีที่เล่าขานกันมาเรื่องการเล่นพรรคเล่นพวกในสงครามแย่งสิทธิการเดินรถแถบ HAKONE บริเวณรอบๆ และในเขตภูเขาฟูจิ ในช่วงปลายทศวรรษ 1950 นาย GOTO อดีตรัฐมนตรีกระทรวงขนส่งในรัฐบาลนายกโตโจเคยเป็นข้าราชการในกระทรวงรถไฟก่อนสงคราม และต่อมาเป็น president และมาเป็นเจ้าของทำธุรกิจในบริษัทที่เกี่ยวกับ การเดินรถไฟ ธุรกิจโรงแรม ห้างสรรพสินค้า ที่รู้จักกันดีคือ โตคิว (TOKYU) บริษัทนี้มักจะชนะการประมูลแฟรนไชส์การเดินรถไฟและรถเมล์เพื่อการท่องเที่ยวที่ต้องแข่งขันกับ เซบู (SEIBU) เพราะมีพรรคพวกและลูกน้องที่อยู่ที่กระทรวงรถไฟหรือกระทรวงการขนส่งมาก่อน เป็นต้น

ดูเหมือนว่า Amakudari และการเกิดขึ้นของระบบพวกพ้องเส้นสายมีส่วนทำลายความน่าเชื่อถือของ MITI เพราะการขาดความเป็นกลาง หลายบริษัทขนาดใหญ่ที่ไม่ให้ความสำคัญ เช่น ไม่จ้าง Amakudari บ่อยครั้งรู้สึกว่าตัวเองได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม

ในช่วงกลางปี ค.ศ.1965 นาย HYUGA เป็น President บริษัท SUMITOMO METAL INDUSTRIES ซึ่งมีความไม่ลงรอยกับ MITI ในเรื่องการจำกัดการผลิตเหล็ก เคยให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่า เขารู้สึกว่า MITI ให้ความสำคัญ มีอคติเข้าข้างบริษัทผลิตเหล็กขนาดใหญ่ เช่น YAWATA FUJI ที่น่าสนใจคือก่อนหน้า SUMITOMO METAL INDUSTRIES จะไม่จ้างอดีตข้าราชการระดับสูงที่เกษียณราชการมาทำงานแต่ต่อมาเพื่อความสะดวก และประโยชน์ของบริษัทได้มีการจ้าง Amakudari

MITSUBISHI MOTORS ซึ่งโดยทั่วไปก็ไม่ได้ให้ความสำคัญในการจ้าง Amakudari มีความรู้สึกเหมือนกับ president ของ SUMITOMO METAL ที่มีต่อ MITI คือรู้สึกว่าในกรณีอุตสาหกรรมรถยนต์ ในช่วงทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา MITI ให้ความสำคัญกับรายใหญ่สองราย คือ TOYOTA และ NISSAN เท่านั้น

ถ้าเทียบกับจีนเมื่อเริ่มปฏิรูปเศรษฐกิจสู่ระบบตลาดในปี ค.ศ.1979 เป็นต้นมา ญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้โดยทั่วไปจะมีความเป็นชาตินิยมกีดกันการเข้ามาเป็นเจ้าของของธุรกิจต่างชาติสูงกว่าจีนค่อนข้างมากโดยเฉพาะในช่วงแรก MITI เห็นว่าบริษัทญี่ปุ่นยังไม่แข็งแกร่งพอในการแข่งขันกับบริษัทต่างชาติ เมื่อกฎหมายให้อำนาจ MITI น้อยลงในการกีดกันต่างชาติ ในเรื่องการเข้ามาเป็นเจ้าของในธุรกิจเต็มตัว MITI ในยุคของนาย SAHASHI ซึ่งมีตำแหน่งเหมือนเป็นปลัดกระทรวงหรือ VICE MINISTER ใช้ Administrative Guidance ในการชักจูงไม่ให้บริษัทญี่ปุ่นร่วมทุนกับบริษัทต่างชาติได้ง่ายๆ หรือถ้าร่วมทุนญี่ปุ่นต้องมีหุ้นข้างมาก และมีอำนาจควบคุม นาย SAHASHI เป็นข้าราชการ MITI ที่เรืองนาม มีความเป็นชาตินิยมสูงมาก ได้ชื่อว่าเป็น ซามูไรของซามูไร หรือ Mr. MITI

มีตัวอย่างมากมายในยุคของ Mr.SAHASHI และหลังจากนั้นที่บริษัทต่างชาติโดยเฉพาะของอเมริกาที่ต้องการเข้ามาในตลาดและเติบโตในญี่ปุ่นพบการกีดขวางและอุปสรรคมากมายจาก MITI บริษัท TEXAS INSTRUMENT พบว่าข้อเสนอของบริษัทที่จะตั้งบริษัทลูกในญี่ปุ่นเพื่อผลิตแผงวงจรไฟฟ้าถูกดองไว้ 30 เดือน ในที่สุดก็ไม่ยอมให้ TEXAS INSTRUMENT ถือหุ้นเกินร้อยละ 50 และมีเงื่อนไขว่าต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้บริษัทญี่ปุ่น

บริษัทขายเครื่องจักรเย็บผ้าของอเมริกัน คือ SINGER ซึ่งเคยเป็นผู้นำตลาดรายใหญ่ในญี่ปุ่นก่อนสงครามต้องการจะเข้ามาครองตลาดอีกครั้งจึงต้องการมาร่วมทุนกับบริษัท PINE SEWING MACHINE ของญี่ปุ่น แต่ญี่ปุ่นต้องการส่งเสริมบริษัทญี่ปุ่นจึงจำกัดปริมาณการผลิตของ SINGER เป็นอุปสรรคต่อการร่วมทุนของทั้งสองบริษัท

IBM นั้นจดทะเบียนเป็นบริษัทในญี่ปุ่นมาก่อนหน้า IBM เป็นบริษัทที่ MITI ไม่สามารถใช้อำนาจในการควบคุมการใช้และการส่งออกเงินตราต่างประเทศ แถมยังเป็นผู้ถือลิขสิทธิ์เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ นาย SAHASHI ตระหนักถึงความเสียเปรียบของบริษัทญี่ปุ่นดี บริษัทและอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ในญี่ปุ่นคงโตยากถ้า IBM ไม่ขายใบอนุญาตหรือลิขสิทธิ์ในเทคโนโลยีนี้ CHALMERS JOHNSON เล่าไว้ว่า SAHASHI ได้เล่นบทซามูไรเหี้ยมพูดกับ IBM ตรงไปตรงมาว่า "เราจะทำทุกอย่างที่จะทำให้ธุรกิจของ IBM ไม่ประสบความสำเร็จในญี่ปุ่น ตราบใดที่คุณไม่ยอมขายเทคโนโลยีให้บริษัทญี่ปุ่นและคิดค่า ROYALTY ไม่เกิน 5%" เขายังเล่าย้อนหลังให้พรรคพวกฟังว่าเขาได้พูดกับผู้บริหารของ IBM ว่า “เราไม่ได้คิดว่าเราปฏิบัติต่อคุณเพราะเรามีปมด้อย เราเพียงต้องการเวลาและเงินทุน เพื่อที่ว่าเราจะได้แข่งกันอย่างเท่าเทียมกัน”

แม้กระทั่งของกรณีอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ผู้ผลิตรายใหญ่เช่น TOYOTA และ NISSAN กำลังเติบโตไปได้ดีในช่วงทศวรรษ 60 MITI ก็ยังทำให้การเข้ามาทำธุรกิจในญี่ปุ่นของบริษัทรถยนต์อเมริกันเป็นไปอย่างยุ่งยาก ทั้งๆ ที่เมื่อสิ้นทศวรรษ 1970 นั้นญี่ปุ่นส่งรถไปขายในอเมริกาได้ถึงประมาณ 2 ล้านคันแล้ว ขณะที่รถอเมริกันขายในญี่ปุ่นได้เพียง 1.6 หมื่นคัน อเมริการู้ดีว่ารถอเมริกาไม่ตรงกับรสนิยมของคนญี่ปุ่น ประเด็นของบริษัทอเมริกันคือต้องการเข้ามาร่วมทุนกับบริษัทญี่ปุ่น หรือซื้อกิจการอันเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ระดับโลก

เมื่อบรรยากาศการเปิดเสรีเริ่มขึ้นตั้งแต่กลางทศวรรษ 1960 ผู้บริหารของ 3 บริษัทรถยนต์ใหญ่ของอเมริกาคือ GM FORD และ CHRYSLER ได้มองหาโอกาสและช่องทางมาตลอด ในการร่วมทุนกับบริษัทญี่ปุ่นแต่ MITI

พยายามใช้ทุกวิธี เช่น การใช้เครือข่ายของ MITI ที่มีกับ Amakudari ในบริษัทรถยนต์ TOYOTA NISSAN และ HINO ไม่ไปร่วมทุนกับบริษัทรถยนต์ของอเมริกา โดยส่งเสริมให้ร่วมให้บริษัทใหญ่กับเล็กรวมตัวกัน เช่น MITI สำเร็จในการทำให้ NISSAN รวมตัวกับ PRINCE

อย่างไรก็ตามระเบิดเวลา หรือ shock ครั้งใหญ่ก็เกิดขึ้นจนได้ เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ค.ศ.1969 นาย MAKITA รองประธานของ MITSUBISHI HEAVY INDUSTRIES ซึ่งเมื่อถึง 1 มิถุนายน ค.ศ.1970 จะเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น MITSUBISHI MOTORS เพิ่งเดินทางกลับมาจาก DETROIT สหรัฐอเมริกา ประกาศร่วมทุนกับ CHRYSLER ในระยะแรกในสัดส่วน 65 ต่อ 35 นาย YOSHIMITSU ผู้บริหารที่รับผิดชอบในฝ่ายอุตสาหกรรมหนักของ MITI ถึงกับร้องออกมาว่า “คำแถลงของ MITSUBISHI นั้นเหมือนกับการที่น้ำไหลเข้าไปในหูเขาขณะที่เขานอนหลับอยู่” แน่นอนว่า MITI รู้สึกเสียหน้า เสียศักดิ์ศรีมาก

เป็นที่น่าสังเกตว่า ถ้าปฏิบัติการของ MITSUBISHI ถือเป็นการกบฏ มูลเหตุของการแหกคอกของ MITSUBISHI นั้นก็พอจะเข้าใจและอธิบายได้ กลุ่ม MITSUBISHI เป็นกลุ่ม Keiretsu ที่ใหญ่ที่สุดมีวิวัฒนาการมาจากกลุ่ม ZAIBATSU เก่า กลุ่ม MITSUBISHI ไม่กลัวการร่วมทุนกับต่างชาติเพราะมีประสบการณ์ร่วมทุนหลายกิจการ เช่น กับ CATERPILLAR GETTY OIL YORK TRW MALLORY MONSANTO เป็นต้น

และที่สำคัญกลุ่มบริษัทนี้ส่วนใหญ่มีประเพณีไม่ใส่ใจในการรับอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มาทำงาน MITSUBISHI จึงไม่อยู่ในวงจรเครือข่าย Amakudari ของ MITI ซึ่งก็ทำให้ MITI ต้องเจ็บปวด


Source://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q2/2007april25p1.htm


โดย: ทุนนิยมวิถีญี่ปุ่น ญี่ปุ่นไม่เหมือนใคร (56) (moonfleet ) วันที่: 17 สิงหาคม 2556 เวลา:19:20:55 น.  

 
อนาคตญี่ปุ่น : ญี่ปุ่นไม่เหมือนใคร (57)

โดย : ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 30 มีนาคม 2554

มหันตภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นที่ญี่ปุ่น ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 11 มีนาคม 2554 นั้น ดูโหดร้ายและรุนแรงมากก็จริง แต่คงไม่เปลี่ยนหรือกระทบอนาคตของญี่ปุ่นในระยะยาว คงไม่ทำให้เกิด Paradigm shift หรือโลกทัศน์ใหม่ เท่ากับการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ที่ค่อยๆ เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในรอบ 10 ถึง 20 ปีที่ผ่านมา อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างที่สำคัญ และสิ่งแวดล้อมของโลก

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ต่างหากที่กำลังท้าทายทางเลือกในอนาคตของผู้นำและสังคมญี่ปุ่น ซึ่งหมายถึง การเกิด Paradigm ใหม่

บทเรียนที่ได้จากปัญหาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในขณะนี้ ก็คือ ถึงแม้เรายังไม่รู้อะไรมาก ความกลัวที่มาจากประสบการณ์ที่ได้พบได้เห็นก็เพียงพอที่ทำให้มนุษย์ปักใจเชื่อในความไม่ปลอดภัยจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไปเสียแต่แรกแล้ว คนเหล่านี้จะขอปฏิเสธไม่ขออยู่ใกล้มันอีกต่อไป ขณะนี้ ญี่ปุ่นมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ประเภทนี้อยู่จำนวนมาก ญี่ปุ่นต้องพึ่งพลังงานนิวเคลียร์ถึงร้อยละ 30 แน่นอนว่ามันจะไม่ง่ายเหมือนในอดีต (ซึ่งก็มีคนต่อต้านและมีความขัดแย้งมาตลอด) อีกแล้วที่ทางการและเอกชนญี่ปุ่นจะสามารถหาที่ตั้งของโรงไฟฟ้าประเภทนี้ ยังไม่ต้องพูดถึงการที่คนญี่ปุ่นจะไม่ไว้วางใจไม่เชื่อในข้อมูลข้อเท็จจริงจากภาครัฐหรือเอกชน แน่นอนว่าความไม่โปร่งใส การที่ข้อมูลถูกบิดเบือน หรือการให้ข้อมูลที่เป็นเท็จของเจ้าหน้าที่โรงไฟฟ้าเอกชนหรือของรัฐได้ทำลาย Trust หรือความไว้วางใจ ซึ่งเคยเป็นพื้นฐานสำคัญของสังคมญี่ปุ่น

ปรากฏการณ์เช่นนี้ได้ตอกย้ำและซ้ำเติมความไม่ไว้ใจ ความเกลียดชังและความเบื่อหน่ายการเมือง (บ่อยครั้งแสดงออกมาโดยการไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งหรือออกเสียง No vote) ที่ภาคประชาสังคมโดยเฉพาะในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา มีต่อนักการเมืองและราชการที่มีพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องเพิ่มขึ้นมากมายโดยเฉพาะการ corruption ที่มีอยู่ดาษดื่นและมีมายาวนานจากระบบงบประมาณในการก่อสร้าง โดยเฉพาะโครงการโยธาในท้องถิ่นและชนบท

สังคมญี่ปุ่นพิสูจน์มาแล้วจากประวัติศาสตร์ว่าคนญี่ปุ่นมีขีดความสามารถที่จะลุกขึ้นมาหลังจากล้มหรือที่ฝรั่งเรียกว่ามี Resiliency ในอดีตคุณลักษณะที่สำคัญของคนญี่ปุ่น คือ การเชื่อฟัง เคารพ จงรักภักดีกับผู้ที่อยู่สูงหรือมีอำนาจมากกว่า เช่น รัฐ ให้ความสำคัญกับส่วนรวมหรือสังคมหรือหมู่คณะมากกว่าตัวเองหรือความเป็นปัจเจก สังคมจึงมีพลังทั้งในแง่การระดมพล การบริหารจัดการและความมีระเบียบซึ่งในสถานการณ์วิกฤติทุกๆ สังคมต้องการ แน่นอนว่า คุณลักษณะที่เป็นสถาบันยั่งยืนนี้กำลังค่อยๆ เปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ แต่ถึงยังไงคนญี่ปุ่นก็คงไม่เหมือนฝรั่ง หรือคนอเมริกันไปได้ในทุกๆ เรื่อง

ตอนที่ญี่ปุ่นโจมตี Pearl Harbor เพื่อชิงความได้เปรียบและยึด Pacific ตอนใต้ไว้ให้ได้หมดแต่ประเมินศักยภาพการทำสงครามของอเมริกาต่ำเกินไปจนในที่สุดต้องแพ้สงครามนั้น ความมั่งคั่งและความเจริญในทางอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของญี่ปุ่นอยู่กลางๆ ระหว่างการเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาและประเทศอุตสาหกรรมเต็มขั้นหรือก้าวหน้า แน่นอนว่า เมื่อญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามในเดือนสิงหาคมปี ค.ศ. 1945 นั้น ญี่ปุ่นไม่ได้เหลือแต่ซากเหมือนอย่างที่คนส่วนใหญ่คิด เพราะเห็นว่าหนึ่งในสี่ของทรัพย์สินของชาติถูกทำลายและ 9 ล้านครัวเรือนไร้ที่อยู่อาศัยโดยลืมไปว่าที่ญี่ปุ่นฟื้นได้เร็วหลังสงครามก็เป็นเพราะญี่ปุ่นมีมรดกที่สะสมมามีความสำคัญอย่างยิ่งตกทอดมาจากก่อนสงคราม

มรดกที่ไม่สามารถถูกทำลายได้นี้ คือ ประสบการณ์ความรู้ในการบริหารจัดการเศรษฐกิจและธุรกิจ การวางยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม เมื่อปฏิรูปเมจิให้ทันสมัยเริ่มบังเกิดผล คุณภาพและการเติบโตของระบบราชการและภาคธุรกิจกำลังแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ยังไม่ต้องพูดถึงมรดกที่เป็นสินทรัพย์ทางวัตถุในภาคอุตสาหกรรมและการทหาร

ถ้าตัดเรื่องความไม่แน่นอนและความยืดเยื้อจากปัญหาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งส่งผลทางด้านจิตใจค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะมองจากด้านใด ขีดความสามารถในการรองรับสู้กับภัยพิบัติ หรือ ABSORPTIVE CAPACITY ของประเทศญี่ปุ่น ในปัจจุบันจะสูงกว่าสมัยแผ่นดินไหวที่โกเบในปี ค.ศ. 1995 ค่อนข้างมาก เพราะว่าในเวลานั้นและปีถัดมาดูเหมือนว่า เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวจากปีก่อนหน้าเล็กน้อย แต่โดยเนื้อแท้วิกฤติใหญ่ที่เรื้อรังรออยู่ข้างหน้าอย่างชัดเจน ในขณะนั้น สถาบันการเงินเริ่มล้มละลายและเพิ่มมากขึ้น ในช่วงปี ค.ศ. 1998-1999 ธนาคารขนาดใหญ่ เช่น Long Term Credit Bank ยังล้มในช่วงนั้น หนี้เสียทั้งระบบเข้าสู่ขีดสูงสุดในปี ค.ศ. 2001 แล้วจึงค่อยๆ ลดลงเรื่อยมาจนระบบเริ่มมีเสถียรภาพและมั่นคงก็ในปี ค.ศ. 2005 (โดยรวมหนี้เสียเคยมีขนาดสูงถึง 750,000 ล้านดอลลาร์)

เศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มฟื้นตัวต่อเนื่องยาวนานขึ้น ก็เริ่มเข้าปี ค.ศ. 2002 เรื่อยมาอีก 5 ปี การบริโภค การลงทุน ที่เคยหยุดชะงัก เริ่มเป็นกลไกในการฟื้นตัวที่สำคัญ หลังจากการเพิ่มขึ้นของการส่งออกไปประเทศจีน

ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1990 เรื่อยมา การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองของญี่ปุ่น มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ซึ่งจะส่งผลสำคัญต่อประเทศใน 10-20 ปีข้างหน้า การเปลี่ยนแปลงมีทั้งที่มาจากทางด้านนโยบาย และที่มาจากการเปลี่ยนแปลงโดยธรรมชาติ เพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจและการกดดันจากภาคประชาสังคมที่มีต่อรัฐและจากฝ่ายการเมือง เช่น ในสมัย นายกรัฐมนตรี Koizumi ซึ่งเป็นนายกฯ ที่ดำรงตำแหน่งนานที่สุดคนหนึ่งของญี่ปุ่น คือ เกือบหกปี เขายึดวาทะการหาเสียง ว่า "ถ้าไม่ปฏิรูป ก็อยู่ไม่ได้" เขายุบสภาสู้กับพรรค LDP ของเขาจนชนะเลือกตั้งท่วมท้น และสามารถทำให้กฎหมายแปรรูปกิจการไปรษณีย์ของญี่ปุ่นผ่านสภาได้ ในปี ค.ศ. 2005

หลายอย่างถ้าไม่สังเกตให้ดี การที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นไม่กลับไปเติบโตในอัตราที่สูงเหมือนเดิม ทำให้คนคิดว่า ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในญี่ปุ่น ซึ่งไม่เป็นความจริง

เราจะมาดูว่า ญี่ปุ่นมีการเปลี่ยนแปลงอะไรที่สำคัญ ซึ่งจะทำให้ญี่ปุ่นสามารถเผชิญกับปัญหาที่จะมาในรูปแบบต่างๆ ในอนาคตได้อย่างไรและสังคมญี่ปุ่นควรจะเลือกวิถีหรือเส้นทางใดในคราวต่อไป

จริงๆ ญี่ปุ่นมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในทางสถาบัน นโยบายและโครงสร้าง ซึ่งจะมีผลในเชิงพฤติกรรมและโครงสร้างของระบบในอนาคตอย่างแน่นอน


Source://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q2/2007april25p1.htm


โดย: อนาคตญี่ปุ่น : ญี่ปุ่นไม่เหมือนใคร (57) (moonfleet ) วันที่: 17 สิงหาคม 2556 เวลา:19:21:46 น.  

 
อนาคตทุนนิยมญี่ปุ่น ญี่ปุ่นไม่เหมือนใคร (58)

โดย : ดร.ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 27 เมษายน 2554

คนทั่วไปที่ตามเรื่องญี่ปุ่น รวมทั้งนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ Japan watcher สื่อมวลชน มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่มองอนาคตของญี่ปุ่น ค่อนข้างมืดมน ที่เป็นเช่นนี้ เพราะดูเหมือนญี่ปุ่นมีปัญหาที่สะสมมาในอดีต และปัญหาใหญ่ๆ ที่กำลังจะตามมาในอนาคต ระบบสังคมและระบบการเมืองที่มักต้องการฉันทานุมัติจากทุกฝ่าย ไม่เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว และยอมรับความเจ็บปวดที่จะตามมา

สาเหตุส่วนหนึ่งของการมองอนาคตของญี่ปุ่นในลักษณะที่หดหู่ค่อนข้างมาก เป็นเพราะว่าภาพของการชะงักงันทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องยาวนานเกือบ 20 ปี เศรษฐกิจโตได้เพียงประมาณร้อยละ 2 เศษๆ ต่อปี มักถูกนำมาเปรียบเทียบกับความรุ่งเรืองแบบก้าวกระโดดในช่วงทศวรรษ 60 และช่วงก่อนฟองสบู่แตก ในทศวรรษ 90 และมักถูกนำมาเปรียบเทียบกับอเมริกา หรือเยอรมนี ซึ่งโตในอัตราที่สูงกว่า มุมมองในลักษณะเช่นนี้มีความบกพร่อง ถ้าเรามีกรอบการวิเคราะห์ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว

ช่วงที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดด หลังสงคราม โดยไม่มีการถดถอยครั้งใหญ่ เป็นเพราะรายได้ต่อหัวของญี่ปุ่นยังห่างชั้นกับสหรัฐอเมริกา และประเทศอุตสาหกรรมกลุ่ม OECD คือ ญี่ปุ่นมีรายได้ เพียงประมาณร้อยละ 35 เป็นช่วงของการไล่กวดให้ทันทางด้านเทคโนโลยี และรายได้ หรือกระบวนการ catch up รวมทั้งการเข้าสู่ระดับรายได้ที่ใกล้เคียงกันของญี่ปุ่นกับประเทศในกลุ่ม OECD ในระยะยาว หรือที่เรียกกันว่า Convergence Process

แน่นอนว่า หลังฟองสบู่แตกใน 20 ปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นน่าจะโตได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ แต่เราไม่ควรคาดหวังว่าญี่ปุ่นจะต้องโตได้ดีเหมือนในอดีต เพราะญี่ปุ่นได้เป็น Mature Economy แล้วเป็นประเทศที่มีรายได้ต่อหัวสูง ภาคอุตสาหกรรมการผลิตลดความสำคัญลง เมื่อเทียบกับความสำคัญของภาคบริการ และที่สำคัญที่สุด คือ โครงสร้างประชากรที่มีสัดส่วนของผู้สูงอายุที่มากขึ้น ขณะเดียวกัน ประชากรที่เป็นกำลังแรงงานมีสัดส่วนที่ลดลง

อย่างไรก็ตาม ระบบเศรษฐกิจแบบตลาด หรือทุนนิยม ล้วนเผชิญวัฏจักรเศรษฐกิจ มีการเติบโตและการถดถอยในระยะยาว ประสบการณ์นี้ญี่ปุ่นก็ได้พบมาแล้วเหมือนประเทศอื่นๆ การชะงักงันทางเศรษฐกิจหลังฟองสบู่แตกอาจจะไม่ใช่เรื่องแปลก และไม่ใช่ลักษณะพิเศษที่ผิดปกติที่ไม่เคยเกิดขึ้นในอดีต ญี่ปุ่นเคยโตและมีการชะงักงันในระยะยาวมาแล้วหลายครั้ง รวมทั้งช่วง Great Depression ของโลก ข้อมูลของ Ohkawa ชี้ให้เห็นว่า ในช่วงกว่า 50 ปี (ค.ศ. 1885-1940) รายได้ต่อหัวของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 2.1 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ซึ่งดูเหมือนจะไม่สูงกว่ามากนัก เมื่อเทียบกับช่วง ค.ศ. 1989-1994 ซึ่งสามารถโตได้ในอัตราร้อยละ 1.9 และเปรียบเทียบได้กับอัตราความเจริญเติบโตในรายได้ต่อหัวเฉลี่ย 2.7 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงปี ค.ศ. 1973-1996 ก่อนสงคราม ความเจริญเติบโตสลับกันไปมากับการถดถอยชะงักงัน เช่น จากการวิเคราะห์และข้อมูลของ David Weinstein ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 รายได้เฉลี่ยต่อหัวของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นในอัตราเพียง 0.6 เปอร์เซ็นต์ ในช่วง ค.ศ. 1895-1914 และ ค.ศ. 1919-1932 สรุปว่าการชะงักงัน หรือ stagnation ของญี่ปุ่นตั้งแต่กลางทศวรรษ 90 ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ ญี่ปุ่นยังมีความหวังในอนาคตถ้ามีการปรับตัวและเปลี่ยนแปลง

ประเทศที่รวยแล้วมักเจอปัญหาโครงสร้างประชากรที่เป็นอุปสรรคต่อความเจริญเติบโต แต่ปัญหานี้มาที่ญี่ปุ่นเร็วและมีมากกว่าประเทศอื่น รวมทั้งสหรัฐ ขณะนี้ ญี่ปุ่นมีคนวัย 65 ขึ้นไป ในสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 22 สูงกว่าสหรัฐเกือบเท่าตัว และสัดส่วนนี้จะเพิ่มเป็นร้อยละ 40 ในปี ค.ศ. 2550 หรืออีกประมาณ 40 ปีข้างหน้าประชากรญี่ปุ่นจะลดลงไปเกือบ 30 ล้านคน ถ้าไม่มีการทำอะไร ประชากรในวัยทำงานของญี่ปุ่นที่มีอายุ 15-64 ปี อยู่ในช่วงสูงสุดในปี ค.ศ. 1995 ซึ่งมีประมาณ 80 กว่าล้านคน จะเหลือเพียงประมาณ 50 ล้านคนในปี ค.ศ. 2550

โครงสร้างประชากรในลักษณะข้างต้นจะส่งผลใหญ่หลวงสะเทือนเศรษฐกิจและสังคมญี่ปุ่นอย่างไม่เคยมีมาก่อนในอนาคต ซ้ำเติมปัญหาที่มีมากอยู่แล้วในปัจจุบัน ประการแรก ศักยภาพการผลิตหรือความเจริญเติบโตมองจากอุปทานปัจจัยการผลิต ความรู้และเทคโนโลยี ในปัจจุบันและอนาคตจะอยู่ที่ 1.5-2.5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ขนาดของประชากรที่ค่อยๆ ลดลง เมื่อบวกกับความรู้และเทคโนโลยีที่ดีขึ้นจะไม่ทำให้ชีวิตและความเป็นอยู่ของคนญี่ปุ่นเลวลง แต่มีแนวโน้มที่จะถูกแซงห่างออกไปหรือโดนไล่กวดทันจากหลายประเทศ

แต่ผลจากโครงสร้างของประชากรในลักษณะข้างต้นจะมีมากกว่านั้น สังคมที่มีผู้สูงอายุมากขึ้น จะเป็นสังคมที่ขีดความสามารถ และความจำเป็นในการออมลดลงเมื่อเทียบกับสังคมที่มีประชากรเติบโตในอัตราที่สูงมีประชากรในวัยทำงานและวัยกลางคนเพิ่มขึ้น ญี่ปุ่นเคยเป็นประเทศที่สัดส่วนการออมต่อรายได้ของครัวเรือนสูงมาตลอด แต่การออมของครัวเรือนต่อรายได้ของญี่ปุ่นมีแนวโน้มลดลงตลอด เช่น จากสัดส่วน 18 เปอร์เซ็นต์ ปี ค.ศ. 1981 ลงมาเหลือ 6 เปอร์เซ็นต์ ในปี ค.ศ. 2002 และลงมาเหลือประมาณ 2.5 เปอร์เซ็นต์ 4 ปีถัดมา แทบไม่น่าเชื่อว่าอัตรานี้จะเริ่มต่ำกว่าสหรัฐ ซึ่งเป็นประเทศที่ครัวเรือนออมได้น้อยมาก นอกจากนี้ โครงสร้างประชากรที่มีผู้สูงอายุในสัดส่วนที่สูงสามารถทำให้ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดซึ่งที่เคยเกินดุลมาตลอดจะมีแนวโน้มที่ลดลงหรือติดลบได้ ซึ่งจะกระทบกระเทือนสังคมญี่ปุ่นอย่างไม่ต้องสงสัย

ในระยะสั้นการออมได้น้อยหมายถึงการบริโภคที่เพิ่มขึ้นซึ่งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ครัวเรือนญี่ปุ่นเป็นแหล่งเงินออมที่สำคัญผ่านสถาบันการเงินในการไปซื้อพันธบัตรรัฐบาล เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณมาตลอด จนหนี้สาธารณะของญี่ปุ่นเบื้องต้นและสุทธิสูงถึง 200 และ 100 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ การออมของครัวเรือนที่ลดลงจะทำให้รัฐต้องไปแย่งธุรกิจเอกชนในการกู้เงินจากครัวเรือน เศรษฐกิจที่โตช้าลงในสิ่งแวดล้อมที่การออมลดและขาดแคลน อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มสูงขึ้น เมื่อบวกกับความจำเป็นของรัฐในการใช้เงินในระบบประกันสังคม ระบบบำนาญ และสุขภาพ

ปัญหาทั้งหมดนี้สามารถทำให้ฐานะการเงินของรัฐบาลญี่ปุ่นอยู่ในสภาพล้มละลายได้เช่นกัน ถ้าไม่มีการทำอะไรเพื่อแก้ปัญหาที่ตรงจุด


Source://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q2/2007april25p1.htm


โดย: อนาคตทุนนิยมญี่ปุ่น ญี่ปุ่นไม่เหมือนใคร (58) (moonfleet ) วันที่: 17 สิงหาคม 2556 เวลา:19:22:36 น.  

 
อนาคตทุนนิยมญี่ปุ่น ญี่ปุ่นไม่เหมือนใคร (59)

โดย : ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 25 พฤษภาคม 2554

ระบบทุนนิยมของญี่ปุ่นหลังสงครามเป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน มีพัฒนาการและโครงสร้างที่มีความซับซ้อน ทั้งในระดับมหภาคและจุลภาค เราควรจะต้องประเมินระบบเศรษฐกิจหลังสงครามจากมิติทางสถาบันว่ามีกลไกการทำงานอย่างไรในระบบเศรษฐกิจแบบตลาดที่รัฐและเครือข่ายของสังคมมีบทบาทสำคัญ ระบบมีข้อดีข้อเสียอย่างไร เราจะสามารถวิเคราะห์อนาคตเศรษฐกิจได้ดีขึ้น ถ้าเราตระหนักว่าพลังสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สามสิบปีแรกหลังสงคราม ทุกอย่างเปลี่ยนไปมาก ยี่สิบถึงสามสิบปีหลังจากนั้น

เราต้องไม่ให้ภาพพจน์ที่เป็นความสำเร็จของญี่ปุ่นในช่วงแรกถูกมองเป็นภาพนิ่ง ที่มีแต่ด้านเด่น ด้านดี มีแต่จุดแข็ง ไม่ว่าจะเป็นคน หรือสถาบันทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น โดยลืมไปว่า ภายใต้ความสำเร็จในช่วงหนึ่งนั้น ญี่ปุ่นก็มีโครงสร้างบางอย่างที่เป็นจุดอ่อน มีปัญหา มีราคาหรือต้นทุนต่อประเทศที่สูง สามารถส่งผลเสียต่ออนาคต เมื่อเศรษฐกิจช่วงเติบโตเร็วได้กลายเป็นอดีตที่ไม่มีวันหวนกลับ

ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ในระดับจุลภาค โครงสร้างเศรษฐกิจและธุรกิจของญี่ปุ่นไม่ได้เป็นโครงสร้างเดี่ยวที่เหมือนกันไปหมด ญี่ปุ่นมีโครงสร้างที่เป็นทวิลักษณ์ (dualistic structure) มานาน ระดับค่าจ้าง เทคโนโลยีที่ใช้ รูปแบบการจ้างงาน มีความแตกต่างกันมาก ระหว่างธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ซึ่งก็มีขนาดและจำนวนที่สูงมากมาตลอด โครงสร้างของการผลิตภาคอุตสาหกรรมกับภาคที่ไม่ใช่อุตสาหกรรมก็มีความแตกต่างกันมากเช่นกัน ความแตกต่างในโครงสร้างนี้ เมื่อเศรษฐกิจอยู่ในช่วงเริ่มโตแบบปกติ หรือโตช้าลง หรือเมื่อเจอพิษฟองสบู่แตกในทศวรรษ 1990 โครงสร้างหรือนโยบาย หรือวิสัยทัศน์ที่อาจจะดูไม่มีปัญหาในช่วงเศรษฐกิจโตแบบก้าวกระโดด เริ่มเป็นตัวถ่วงความเจริญ และสร้างปัญหา

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา เรามีความรู้และความเข้าใจในกระบวนการพัฒนาอุตสาหกรรมและความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจดีขึ้นมาก โดยเฉพาะประสบการณ์ที่ได้จากญี่ปุ่นในรอบ 60 ปี รวมทั้งประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออก ในความเป็นจริง ญี่ปุ่นอาจมีลักษณะเฉพาะหลายอย่างที่ไม่เหมือนใคร ในทางสถาบันทางเศรษฐกิจและสังคม แต่ถ้าเราดูอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว อัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ในที่สุด ก็ไม่ได้ต่างจากประเทศที่เจริญแล้วที่มาก่อนหน้า

เราเคยให้ความสำคัญหรือทึ่งกับความมหัศจรรย์ในการก้าวกระโดดเป็นประเทศอุตสาหกรรม และอัตราความเจริญเติบโตที่สูงเกือบร้อยละ 10 ของญี่ปุ่นในช่วงยี่สิบปีแรกหลังสงคราม แต่เราเริ่มเข้าใจว่า ปรากฏการณ์ในลักษณะนี้มีมากขึ้นในโลก โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ใช่ญี่ปุ่นเท่านั้น ไต้หวัน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ หรือจีน ก็กำลังผ่านประสบการณ์เหมือนกับของญี่ปุ่น ประเทศเหล่านี้มาทีหลังญี่ปุ่น แต่ในที่สุด ประเทศเหล่านี้ก็จะมีรูปแบบและอัตราการเจริญเติบโตเหมือนที่ญี่ปุ่นเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ญี่ปุ่นมาทีหลังอเมริกาและยุโรป แต่ในที่สุด ญี่ปุ่นก็มีโครงสร้างทางเศรษฐกิจและอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่ต่างไปจากประเทศที่เจริญมาก่อน เพราะฉะนั้น เราจึงไม่ควรที่จะให้น้ำหนักที่เกินความจริงในเรื่องความมหัศจรรย์ในช่วงยี่สิบปีแรกของความเจริญเติบโตและการพัฒนาอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นเริ่มโตในอัตราที่ช้าลงมาก ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 70 เป็นต้นมา ที่เป็นเช่นนี้ไม่ใช่เพราะญี่ปุ่นต้องเผชิญวิกฤตการณ์น้ำมันในช่วงนั้น วิกฤตการณ์น้ำมันส่งผลให้ประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งประเทศอื่นๆ ทั่วโลกโตช้าลง แต่นี่เป็นปรากฏการณ์ระยะสั้น 3-5 ปี เพราะญี่ปุ่นสามารถปรับตัวได้เหมือนกับที่เคยสามารถปรับตัวจากค่าเงินเยนที่แข็งขึ้นในทศวรรษ 80 ช่วงเศรษฐกิจเติบโตช้าลงของญี่ปุ่น เผอิญมาตรงกับช่วงวิกฤตการณ์น้ำมันในทศวรรษ 70 ช่วง ค.ศ. 1974-1993 ญี่ปุ่นโตได้ในอัตราปีละ 3.6% เมื่อเทียบกับ 9.4% ในปี ค.ศ. 1961-1973 ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

ในทศวรรษ 1990 ญี่ปุ่นอาจถูกซ้ำเติมจากฟองสบู่แตก แต่ทฤษฎีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว สามารถใช้อธิบายได้ว่า ศักยภาพความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น เริ่มเข้าสู่ช่วงโตได้ช้าลง ก่อนที่ฟองสบู่จะแตก เศรษฐกิจที่โตในอัตราที่ดีขึ้นในทศวรรษ 1980 ไม่ใช่เรื่องปกติ แต่เป็นผลพวงของการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่นที่ไม่ยั่งยืน ไม่ช้าก็เร็ว วิกฤติฟองสบู่แตกในช่วงทศวรรษ 1990 รออยู่แล้วข้างหน้า

ญี่ปุ่นโตได้ประมาณ 3.6% ในช่วง ค.ศ. 1974-1993 เป็นเพราะกระบวนการไล่กวดประเทศตะวันตก ซึ่งเปิดโอกาสให้ญี่ปุ่นได้เลียนแบบตักตวงปิดช่องว่างทางเทคโนโลยีที่สูงกว่าจากโลกตะวันตก ได้สิ้นสุดลงแล้วในช่วงต้นทศวรรษ 1970 เรารู้เรื่องนี้ได้อย่างไร ยี่สิบปีหลังสงคราม โครงสร้างอุตสาหกรรมเบาและอุตสาหกรรมหนักของญี่ปุ่นได้เข้าสู่ระดับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทัดเทียมกับโลกตะวันตก แม้ว่ารายได้ต่อหัวของญี่ปุ่นยังต่ำกว่าของอเมริกาและประเทศตะวันตก ในช่วงนั้น ประเทศกลุ่ม NICs เช่น เกาหลี ไต้หวัน ยังไล่กวดญี่ปุ่น เพื่อตักตวงช่องว่างทางเทคโนโลยี

เรารู้ช่วงของการสิ้นสุดของการไล่กวดตะวันตกทางเทคโนโลยี ในกรณีของญี่ปุ่นได้โดยดูจากบทบาทของเทคโนโลยี ที่มีส่วนต่อความเจริญเติบโตของญี่ปุ่นในช่วงก่อนหน้า เมื่อเทียบกับช่วงการสิ้นสุดของการไล่กวดทางเทคโนโลยี อัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยต่อปีในแต่ละช่วงสามารถแยกวิเคราะห์ได้ว่า มาจากปัจจัยการผลิต โดยดูจากบทบาทของทุนหรือการสะสมทุน แรงงาน ว่ามีบทบาทในสัดส่วนเท่าไร ส่วนต่างหรือส่วนที่เหลือ จะมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์เรียกรวมๆ ว่า เป็นผลิตภาพรวมจากเทคโนโลยี หรือ Total Factor Productivity ซึ่งมักเรียกย่อๆ ว่า TFP ตัวแปรทั้งสามตัวนี้ อันได้แก่ ทุน แรงงาน และ TFP สามารถแยกออกเป็นความเจริญเติบโตของแต่ละตัวได้ ซึ่งสามารถแปลงออกเป็นสัดส่วน คิดเป็นร้อยละของผลของความเจริญเติบโต ที่เกิดจากตัวแปรของแต่ละตัวทั้งสามตัวได้

เราพบจากการศึกษาของ Saito จากมหาวิทยาลัยโกเบ ว่า ช่วงที่ญี่ปุ่นยังกำลังไล่กวดตะวันตก สามารถตักตวงช่องว่างทางเทคโนโลยีได้นั้น กว่าครึ่งของความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งเฉลี่ยต่อปี 9.4% นั้น อัตราการเปลี่ยนแปลงของ TFP คือ 5.5% หรือพูดง่ายๆ เทคโนโลยีมีบทบาทถึงกว่าร้อยละ 50 มากกว่าทุนและแรงงานรวมกัน แต่เมื่อช่วงการไล่กวดทางเทคโนโลยีสิ้นสุดลง ในทศวรรษ 1970 TFP เติบโตได้เพียงเฉลี่ยปีละ 2.3% ขณะที่เศรษฐกิจโตได้เฉลี่ย 3.6% ซึ่งที่น่าสนใจ คือ อัตราการเติบโตของ TFP หรือผลของเทคโนโลยีนี้ เป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับประเทศที่ญี่ปุ่นไล่กวดทางเทคโนโลยีทันแล้ว คือ อเมริกาและประเทศในยุโรป แต่ในช่วงนี้ กลุ่มประเทศ NICs เช่นเกาหลี ไต้หวัน ยังอยู่ในช่วงไล่กวดญี่ปุ่น TFP หรือเทคโนโลยีของประเทศกลุ่ม NICs นี้ ยังโตได้ในอัตราสูงเหมือนที่ญี่ปุ่นทำได้ในช่วงแรก คือ มี TFP โตในอัตรา 4-5% ต่อปีได้

เศรษฐกิจที่โตช้าลงนั้น ถ้าโครงสร้างและสถาบันทางเศรษฐกิจปรับตัวได้เร็วก็ดีไป แต่กรณีของญี่ปุ่นไม่ได้เป็นเช่นนั้น วงจรอุบาทว์สร้างปัญหาให้ญี่ปุ่นอีกเยอะ โดยเฉพาะตั้งแต่กลางทศวรรษ 1980



Source://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q2/2007april25p1.htm


โดย: อนาคตทุนนิยมญี่ปุ่น ญี่ปุ่นไม่เหมือนใคร (59) (moonfleet ) วันที่: 17 สิงหาคม 2556 เวลา:19:23:20 น.  

 
ทุนนิยมญี่ปุ่น (ตอนที่ 60) : The New Japan?

โดย : ดร.ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 7 ธันวาคม 2554

คนญี่ปุ่นจำนวนมากเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จึงไม่แปลกที่เราได้ยินผู้ว่าฯ เมืองโตเกียวพูดว่าเหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งใหญ่ของญี่ปุ่น

เมื่อ 11 มีนาคมปีนี้ว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือสวรรค์ได้ลงโทษญี่ปุ่น เมื่อถามคนญี่ปุ่นจำนวนมากเขาก็เห็นด้วย

คนญี่ปุ่นมักจะเชื่อเช่นกันว่า การเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ๆ ในญี่ปุ่นมักเป็นลางบอกเหตุถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญหรือแห่งยุคสมัยตามมาติดๆ กัน เมื่อกัปตัน Perry จากอเมริกา นำเรือเข้ามาเทียบท่าเรือของเมืองโตเกียวจนนำไปสู่การเกิดสนธิสัญญาทางการค้าในปี ค.ศ. 1854 จนญี่ปุ่นเปิดประเทศ และก้าวสู่สังคมยุคใหม่ผ่านยุคสมัยการฟื้นฟูของจักรพรรดิเมจินั้น ในปีเดียวกันและปีถัดมาก็เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เรียกว่า Ansei ในปี ค.ศ. 1854 และ 1855

แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เรียกว่า Great Kanto Earthquake ในบริเวณโตเกียวและรอบๆ มีคนตายเป็นแสนในปี ค.ศ. 1923 นั้น เกิดขึ้น 1 ปี หลังจากมีการยกเลิกสัญญาความเป็นพันธมิตรทางทหารระหว่างอังกฤษและญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 1922 เช่นเดียวกัน แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เมืองโกเบ ที่เรียกว่า Great Hanshin Earthquake ในปี ค.ศ. 1995 ที่เมืองโกเบ ก็ตรงกับช่วงที่ญี่ปุ่นเริ่มเข้าสู่ความชะงักงันทางเศรษฐกิจหลังฟองสบู่แตกก่อนหน้าไม่กี่ปี

ยังไม่มีใครรู้ว่าภัยพิบัติที่ใหญ่หลวงที่รวมทั้งสึนามิ แผ่นดินไหว และปัญหาความปลอดภัยจากโรงงานไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ เมื่อ 11 มีนาคม ค.ศ. 2011 นี้ กำลังจะนำไปสู่การสิ้นสุดและการเกิดใหม่ของอะไร ไม่ใช่คนญี่ปุ่นเท่านั้นแต่คนทั้งโลกดูเหมือนจะเชื่อว่าญี่ปุ่นได้ตกต่ำในทุกๆ ด้าน ไม่ใช่เฉพาะเศรษฐกิจที่ชะงักงัน แต่ศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิที่น้อยลงมากของญี่ปุ่น ในเอเชียและในโลก การเสื่อมถอยของระบบราชการ การไม่ไว้ใจและการขาดศรัทธาในตัวนักการเมือง การขาดความเชื่อมั่นในอนาคตของชาติ และขาดความกระตือรือร้น โดยเฉพาะในหมู่คนหนุ่มสาว เป็นต้น ทั้งหมดนี้ดำรงมานานถึง 2 ทศวรรษแล้ว การฟื้นฟูความเสียหายทางวัตถุให้กลับมาเหมือนเดิมคงไม่น่าจะพอ ดูเหมือนญี่ปุ่นต้องการการเกิดใหม่ อดีตนายกรัฐมนตรี Naoto Kan กล่าวในวันถัดมา 12 มีนาคม ว่า คนญี่ปุ่นต้องการ New Japan เพื่อความอยู่รอด

แต่ประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นชี้ให้เห็นว่าสังคมญี่ปุ่น โดยชนชั้นผู้นำ สามารถเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมีลักษณะ top down เมื่อถึงความจำเป็น เห็นได้ชัดในสมัยเมจิ ปลายศตวรรษที่ 19 และเมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 โดยที่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญถูกกำหนดหรือบังคับมาจากภายนอก โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกา

เมื่อญี่ปุ่นสามารถไล่กวดทันประเทศตะวันตก จนเศรษฐกิจเข้าสู่ยุคการเติบโตที่ช้าลง จนถึงเมื่อฟองสบู่แตก เศรษฐกิจเข้าสู่ยุคชะงักงัน เป็นเวลา 2 ทศวรรษแล้ว เศรษฐกิจและสังคมญี่ปุ่นไม่ใช่ว่าไม่มีการปฏิรูปและไม่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเราจะวิเคราะห์ในรายละเอียดต่อไป แต่ดูเหมือนว่าปัญหาพื้นฐานและปัญหาหลักๆ ยังดำรงอยู่ ไม่ได้รับการแก้ไข ดูเหมือนการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่เพียงพอหรือน้อยไป ครอบคลุมทั้งระบบไม่กว้างขวางพอหรือเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด ไม่ตรงกับสมมติฐานของโรค นี่คือ ปัญหาใหญ่หลวงที่ญี่ปุ่นกำลังเผชิญอยู่ ซึ่งก็คือปัญหาที่ว่า ทุกคนรู้ปัญหา สังคมมีเป้าหมายที่อาจจะแตกต่างกันบ้าง แต่ความแตกต่างที่สำคัญ คือ ควรจะแก้มันอย่างไร จะแก้แบบค่อยเป็นค่อยไป หรือคิดใหม่ทำใหม่แบบถอนรากถอนโคน ทิ้งแบบจำลองความคิดเก่าๆ ที่เคยประสบความสำเร็จ มองหาแบบจำลองใหม่ๆ

การขาด consensus หรือฉันทานุมัติร่วมกันนี้แหละ ที่จะทำให้ความสัมฤทธิผลของ New Japan เป็นไปได้ยาก บางคนอาจจะคิดว่า การที่สังคมไม่มี consensus นั้น เป็นเพราะประเทศขาดผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ มีความกล้าหาญ รวมทั้งระบบการเมืองบกพร่องเป็นอัมพาต ไม่สามารถทำหน้าที่ที่มันควรทำได้ดี แต่นี่อาจเป็นความจริงเพียงส่วนเดียว

ที่สำคัญกว่านั้นก็คือว่าญี่ปุ่นหลังสงครามกับญี่ปุ่นหลังฟองสบู่แตกเมื่อ 20 ปีก่อนนั้นแตกต่างกันมาก โดย 30 ปีแรกหลังสงคราม เป้าหมายความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการไล่กวดให้ทันโลกตะวันตก และเศรษฐกิจที่โตในอัตราที่สูงทำให้การแบ่งผลประโยชน์และการกระจายผลลัพธ์การพัฒนาลงตัวในระดับหนึ่ง ผ่านการผูกขาดของการเมืองพรรคเดียวที่มีเสถียรภาพ ธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ชาวนาได้รับการอุ้มชูอุดหนุนดูแลจากรัฐ นโยบายเศรษฐกิจหรืออุตสาหกรรมที่ให้การดูแลคุ้มครองปกป้องการแข่งขัน เพื่อผู้ผลิตในประเทศโดยการเสียสละของผู้บริโภค ได้รับการสนับสนุนและมีความชอบธรรม ทั้งหมดนี้ ทำให้การมีฉันทานุมัติร่วมกันในสังคมเกิดขึ้นได้ง่าย

ในทางตรงกันข้าม พัฒนาการในช่วงเวลา 20 ปีหลังฟองสบู่แตก ทำให้การหา consensus นี้ทำได้ยากขึ้น เศรษฐกิจที่เติบโตอย่างชะงักงัน ฐานะการคลังของรัฐที่เริ่มอ่อนแอลง เห็นได้ชัดจากหนี้สาธารณะที่ถีบตัวจากร้อยละ 70 ของจีดีพี เป็นประมาณ 200 ในปัจจุบัน ความกดดันจากกระแสโลกาภิวัตน์ที่บีบให้รัฐบาลญี่ปุ่นดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีที่ไม่ปกป้องผู้ผลิต ระบบกติกาการเลือกตั้งที่เปลี่ยนไปซึ่งทำให้ชุมชนเขตเมืองเสียเปรียบชนบทน้อยลง รวมทั้งพรรคการเมืองแข่งขันกันด้านนโยบายมากขึ้น ผู้ออกเสียงในเมืองและผู้บริโภคเริ่มมีความสำคัญมากขึ้น ขณะที่กลุ่มผลประโยชน์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นในธุรกิจอุตสาหกรรมหรือในการเกษตรในเขตชนบทก็ขัดแย้งกันเองในกลุ่มเกี่ยวกับนโยบาย เช่นระหว่างนโยบายการค้าเสรีกับนโยบายปกป้องคุ้มครองผู้ผลิตในประเทศ

การปฏิรูปทำได้ยากขึ้นเพราะผู้เสียประโยชน์ไม่ยอมและคัดค้าน ไม่ต้องดูอื่นไกล เพียงแค่ความพยายามหลายครั้งของรัฐบาลที่จะขึ้นอัตราภาษีการขายหรือการบริโภค หรือ vat จาก 5 เปอร์เซ็นต์ เป็น 7 หรือ 8 เปอร์เซ็นต์ ไม่สามารถทำได้ นายกฯ ต้องออกไปแล้วก็หลายคน ถ้าเรื่องแบบนี้ซึ่งดูเหมือนมีเหตุผลเพื่อให้ฐานะการคลังของรัฐเข้มแข็งขึ้น ยังทำไม่ได้ เรื่องใหญ่ๆ ที่จะเปลี่ยนประเทศจะทำได้อย่างไร เราต้องไม่ลืมว่าในยุโรป อัตราภาษีนี้เขาเก็บกันที่ 15-20 เปอร์เซ็นต์ แม้ต้องยอมรับว่าอัตราภาษีของญี่ปุ่น เช่น ภาษีเงินได้นิติบุคคล เก็บในอัตราที่สูงมาก นักธุรกิจบ่นกันมาก

การเปลี่ยนแปลงนั้นมีทั้งการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบและเนื้อหา จริงๆ แล้ว หลังฟองสบู่แตกมา 20 ปีนี้ ญี่ปุ่นมีลักษณะที่เป็น New Japan ทั้งในแง่บวกและแง่ลบ แม้จะดูเหมือนว่า ปัญหาในระบบการเงินได้รับการแก้ไขไปพอสมควร แต่การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจรวมทั้งนโยบายเพื่อผ่อนคลายข้อกำหนด ข้อบังคับในภาคเศรษฐกิจต่างๆ รวมทั้งการเปิดเสรีเพื่อให้เกิดการแข่งขันกันมากขึ้น ยังทำได้มากกว่านี้ถ้าต้องการ

ในทางการเมือง ต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงกติกาการเลือกตั้ง ในปี ค.ศ. 1994 รวมทั้งผลกระทบอื่นๆ ที่ตามมา การถดถอยในการผูกขาดทางการเมืองของพรรค LDP พรรคเดียวก็ดี ชัยชนะอย่างท่วมท้นของพรรค DPJ ในปี ค.ศ. 2009 มีผลเชิงบวกทั้งในแง่สาระและเนื้อหา แม้ว่า 2 ปีที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีหรือผู้นำจากพรรค DPJ คือ Hatoyama และ Kan อ่อนแอและไร้ความสามารถ ไม่มีความเป็นผู้นำพอที่จะนำการเปลี่ยนแปลงการปฏิรูปใหญ่ๆ ให้ญี่ปุ่นเดินหน้าได้ นอกจากทำได้เพียงแค่การใช้โวหารแสดงวิสัยทัศน์ในช่วง 1 เดือนแรกของการเป็นนายกฯ


Source://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q2/2007april25p1.htm


โดย: ทุนนิยมญี่ปุ่น (ตอนที่ 60) : The New Japan? (moonfleet ) วันที่: 17 สิงหาคม 2556 เวลา:19:24:05 น.  

 
ทุนนิยมญี่ปุ่น (ตอนที่ 61) : The New Japan?

โดย : ดร.ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 4 มกราคม 2555

ในอดีต เมื่อมีความจำเป็นเพื่อความอยู่รอด ญี่ปุ่นพร้อมที่จะลืมอดีต เผชิญกับทางเลือกใหม่ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบหน้ามือเป็นหลังมือ

ไม่ว่าจะโดยเต็มใจหรือถูกบังคับ เช่น การเปลี่ยนแปลงในสมัยเมจิ ซึ่งนำไปสู่การปฏิรูปครั้งใหญ่ ทั้งเรื่องชนชั้นและการปกครอง หรือการมี peace constitution หลังญี่ปุ่นแพ้สงคราม ที่ทำให้ญี่ปุ่นเลือกที่จะจำกัดตนเองด้านพลังอำนาจทางทหาร คือ เลือกที่จะไม่มี hard power หรือการเปลี่ยนแปลงบทบาทของจักรพรรดิ ที่ไม่ต้องอิงกับความเป็นสมมติเทพ มาเป็นเพียงสัญลักษณ์แห่งความเป็นปึกแผ่นของประเทศ หรือการที่ญี่ปุ่นหลังสงครามสามารถเปลี่ยนโฉมจากสังคมที่รวมศูนย์อำนาจนิยมก่อนสงคราม มาเป็นสังคมประชาธิปไตยที่เป็นปึกแผ่นอย่างน่าพิศวง เป็นประเทศแรกในเอเชีย

แต่ความสำเร็จของญี่ปุ่น ก่อนที่ฟองสบู่จะแตกในต้นทศวรรษ 1990 ก็เป็นต้นทุนที่สูงมากสำหรับสังคมญี่ปุ่นมาจนถึงปัจจุบัน คนญี่ปุ่นเคยชินกับความสำเร็จของความเจริญเติบโตและเสถียรภาพตลอดเกือบ 30 ปีที่ทำให้ญี่ปุ่นก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก จนใครๆ ก็เชื่อกันว่าญี่ปุ่นต้องเป็นหนึ่งของโลก คนญี่ปุ่นมีความเชื่อหรือลำพองใจว่าความสำเร็จนี้เป็นเพราะญี่ปุ่นมีลักษณะเด่นไม่เหมือนใครทั้งในรากเหง้าของประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม รวมทั้งรูปแบบของทุนนิยมที่ญี่ปุ่นเลือกหลังสงคราม

คนญี่ปุ่นเชื่อว่า ญี่ปุ่นไม่จำเป็นต้องเลือกเส้นทางเดินของทุนนิยมแบบอเมริกา

ความเชื่อและทัศนคติในที่มาของความสำเร็จจากอดีตมีส่วนสำคัญที่ทำให้สังคมญี่ปุ่นหลังฟองสบู่แตกเมื่อ 20 ปีก่อนขาดความยืดหยุ่นที่สูงซึ่งจำเป็นสำหรับการเปลี่ยนแปลงเมื่อสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป เช่น เมื่อฟองสบู่แตกสังคมญี่ปุ่นไม่เชื่อว่าราคาที่ดินจะลดลงได้เพราะมันไม่เคยลดลงมากว่า 50 ปี เมื่อเศรษฐกิจถดถอยเข้าสู่ภาวะชะงักงันในช่วงแรกๆ คนญี่ปุ่นก็เชื่อว่าระดับความเจริญเติบโตในระดับ 4 เปอร์เซ็นต์สามารถกลับมาได้ เมื่อคิดเช่นนี้รัฐบาล ธนาคารกลางและภาคเอกชนล้วนเลือกที่จะเลื่อนหรือไม่ใช้วิธีการปฏิรูปเพื่อแก้ปัญหาให้ถูกจุดซึ่งจะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน ผลก็คือเกิดความผิดพลาดในเชิงนโยบายในภายหลัง เมื่อพบว่าเศรษฐกิจชะงักงันยาวนานกว่าที่คิด ภาคธุรกิจและระบบการเงินเสียหายพังพินาศต้องผ่าตัดกันครั้งใหญ่ ซึ่งมักจะสายเกินไปทำให้ญี่ปุ่นต้องจมอยู่กับความชะงักงันของเศรษฐกิจกว่าหนึ่งทศวรรษ

ความสำเร็จทางเศรษฐกิจหลังสงคราม ทำให้คนญี่ปุ่นมีความมั่งคั่ง มีความมั่นคงและเคยชินกับสถานภาพเดิมๆ ที่เคยเป็นมาในอดีต การที่สังคมญี่ปุ่นมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันค่อนข้างสูง คนส่วนใหญ่เชื่อฟังศูนย์อำนาจ ทำและคิดอะไรคล้ายๆ กันและทำให้คนญี่ปุ่นเชื่อว่า ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในอดีตมาจากรูปแบบและวิถีทางสังคมหรือวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของญี่ปุ่น ความเชื่อในลักษณะนี้ทำให้ทุกส่วนของสังคมโดยเฉพาะศูนย์อำนาจเบื้องบน ไม่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงหรือการปฏิรูปใดๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับกลไกตลาดที่จะทำให้เกิดการแข่งขันที่มากขึ้น ซึ่งจะนำมาซึ่งการเพิ่มขึ้นของประสิทธิภาพหรือผลิตภาพหรือการจัดสรรทรัพยากรที่ดีขึ้น

หรือเรื่องการปฏิรูปการศึกษาซึ่งพูดกันมากมาทุกๆ รัฐบาลที่อาจจำเป็นต้องลดการควบคุมโดยรัฐ เน้นการสร้างคนญี่ปุ่นให้เป็นคนที่มีความคิดอิสระ critical และเป็นคนที่ creative เพื่อให้สังคมเป็นสังคมที่สามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ การเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้ดูเหมือนสามารถเปลี่ยนแปลงได้ยากและช้ามากในสังคมญี่ปุ่น นอกจากเรื่องผลประโยชน์ที่ฝ่ายต่างๆ ยังเคยชินกับการได้จากระบบที่เป็นอยู่ ผู้นำฝ่ายการเมืองหรือฝ่ายอื่นๆ ที่มีลักษณะอนุรักษนิยมมักจะกลัวว่าการเปลี่ยนแปลงในลักษณะข้างต้นที่กล่าวมาแล้ว จะทำให้สังคมญี่ปุ่นที่เคยเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันหรือมีเอกภาพถูกทำลายไป นำมาซึ่งความแตกแยกความวุ่นวายและทำให้คนญี่ปุ่นคิดถึงแต่ตนเองมากกว่ากลุ่มหรือส่วนรวมหรือเพื่อชาติ ทั้งหมดนี้ทำให้การเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ เกิดได้ยากหรือช้ามาก

มีการสำรวจทัศนคติและการศึกษาคนหนุ่มสาวญี่ปุ่นในปัจจุบันโดยทั้งรัฐบาลและนักวิชาการชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาติ พบว่าคนหนุ่มสาวญี่ปุ่นมีลักษณะอนุรักษนิยมค่อนข้างสูงมาก สนใจไปเรียนและไปเที่ยวต่างประเทศน้อยลงแม้กระทั่งภาษาอังกฤษเห็นว่าไม่จำเป็น คนเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะเลี่ยงความเสี่ยงมองเห็นการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่เป็นอันตราย คนรุ่นนี้มีครอบครัวและพ่อแม่ที่มีความมั่งคั่งและชีวิตดีขึ้นหลังสงคราม เคยชินกับวิถีชีวิตการทำงานซึ่งในอดีตได้ความมั่นคงจากการทำงานในบริษัทใหญ่ๆ ไม่เปลี่ยนงานไปเกือบตลอดชีวิต จบมาก็มีงานทำถาวร แม้ว่าในความเป็นจริงสังคมญี่ปุ่นยังมีคนส่วนใหญ่อย่างน้อย 2 ใน 3 ทำงานในกิจการขนาดเล็กขนาดกลางและเปลี่ยนงานไปมา

คนหนุ่มสาวญี่ปุ่นในปัจจุบันเริ่มเผชิญกับปัญหาความไม่มั่นคงและโอกาสการจ้างงานแบบถาวรหลังเรียนจบที่ยากขึ้น เพราะว่าหลังฟองสบู่แตก การว่างงานสูงขึ้น กฎหมายแรงงานเปิดโอกาสมากขึ้นให้บริษัทใช้แรงงานไม่ประจำและ part time ซึ่งจำเป็นสำหรับกิจการซึ่งทวีความสำคัญมากขึ้นเหมือนที่เกิดขึ้นในประเทศตะวันตกแต่คนญี่ปุ่นในอดีตไม่เคยคิดว่ามันเป็นปัญหา แรงงานที่เรียกว่า liquid labor เสียเปรียบและด้อยโอกาสทั้งเรื่องค่าจ้างและการเข้าถึงสวัสดิการสังคมกำลังเป็นปัญหาใหม่ที่มีความรุนแรงมากขึ้น

ปัญหาการหาฉันทานุมัติร่วมกันสำหรับสังคม หรือ consensus เป็นปัญหาหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้ดูเหมือนญี่ปุ่นเผชิญกับ gridlock หรือทางตัน แต่ที่สำคัญไม่น้อยกว่ากัน คือ ปัญหาเรื่องโครงสร้างของประชากรที่กำลังมีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลตลอดช่วง 30-50 ปีข้างหน้า

การเผชิญกับปัญหานี้ ก็ต้องการการตัดสินใจในทางเลือกในเส้นทางซึ่งอาจจะต้องต่างไปจากอดีต ถ้าสังคมญี่ปุ่นกล้าเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง เช่น นโยบายเปิดเสรีหรือผ่อนคลายด้านการนำเข้าแรงงานต่างด้าว


Source://www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q2/2007april25p1.htm


โดย: ทุนนิยมญี่ปุ่น (ตอนที่ 61) : The New Japan? (moonfleet ) วันที่: 17 สิงหาคม 2556 เวลา:19:25:00 น.  

 
how does chloroquine work
[url=https://chloroquineorigin.com/#]hydroxychloroquine coronavirus[/url]
review erectile dysfunction pump
[url=https://erectiledysfunctionpillscvs.com/#]erectile rehabilitation therapy[/url]
hydroxychloroquine 200 mg tablets
[url=https://hydroxychloroquinex.com/#]warnings for hydroxychloroquine[/url]
what erectile dysfunction drug works best
[url=https://plaquenilx.com/#]what is plaquenil used for[/url]
elevex tadalafil 20mg
[url=https://tadalisxs.com/#]buy tadalafil us[/url]
zithromax 500mg tablet
[url=https://zithromaxes.com/#]buy zithromax canada[/url]


โดย: ClarkApets IP: 188.40.113.83 วันที่: 4 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา:13:29:21 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

moonfleet
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 25 คน [?]




ไม่มีสิ่งใดจะเกิดขึ้นมาได้ หากไม่เคยเป็นความฝันมาก่อน
New Comments
Friends' blogs
[Add moonfleet's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.