Extremely Loud & Incredibly Close : เหมือนดังกังวาลแต่แผ่วเบา เหมือนใกล้แต่แสนไกล
โดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง
Extremely Loud & Incredibly Close (2005, Jonathan Safran Foer, A+)
มีภาพยนตร์หรือหนังสือหลายเรื่องที่เรารู้สึกไม่ถูกชะตาในระหว่างทาง จนพาลทดท้อใจที่จะดู/อ่านจนจบ แต่เมื่อเรื่องราวดำเนินมาถึงฉากสุดท้ายเราก็ตระหนักถึงความอัศจรรย์ของมัน และสิ่งนั้นเพียงพอที่จะให้อภัยความขลุกขลักกลางทางทั้งหมด หนังสือ Extremely Loud & Incredibly Close (2005) เป็นหนึ่งในผลงานที่เข้าข่ายที่ว่ามา
ผลงานเล่มที่สองของ Jonathan Safran Foer ผู้โด่งดังจาก Everything Is Illuminated (2002) ว่าด้วย ออสการ์ เด็กชายวัยเก้าขวบผู้สูญเสียพ่อไปในเหตุการณ์ 11 กันยาฯ เขาค้นพบกุญแจดอกหนึ่งในบรรดาข้าวของของพ่อ จากนั้นจึงเริ่มปฏิบัติกาตามหารูกุญแจทั่วทั้งเมืองนิวยอร์ค นิยายเล่มนี้ถูกสร้างเป็นหนังแล้วเรียบร้อย กำกับโดย สตีเฟน ดัลดรี (Billy Elliot, The Hour และ The Readers) มีกำหนดเข้าฉายปลายปีนี้
ความโดดเด่นของหนังสืออยู่ที่เทคนิคพิเศษในลักษณะของกราฟิกโนเวลที่ปรากฏให้เห็นตลอดทั้งเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ภาพประกอบจำนวนมาก, การเล่นกับสีของตัวหนังสือ, การเว้นหน้าว่าง หรือการขีดฆ่า ผู้เขียนยังทำให้เรื่องราวหวือหวาขึ้นไปอีก ด้วยการแบ่งเนื้อหาเป็นสามส่วนตามสามตัวละคร (ออสการ์, ปู่ของเขา และย่าของเขา) โดยแต่ละส่วนก็นำเสนอด้วยสไตล์การเขียนที่ต่างกัน
ความแพรวพราวดังกล่าวในแง่หนึ่งก็ดูท้าทายและน่าตื่นตาตื่นใจ แต่ขณะเดียวกันมันก็กลายเป็นดาบสองคม หลายครั้งที่ความจัดจ้านดูเป็นแค่ของเล่นของผู้เขียนและไม่สื่อความใดๆ นัก ส่วนการแบ่งเรื่องเป็นสามส่วน และเล่าสลับไปมาโดยไม่เรียงลำดับเวลา นำมาซึ่งความไม่กลมกลืน และผู้อ่านหลายรายอาจจะรู้สึกถอยห่างจนเลิกอ่านไป
อีกประเด็นที่ต้องตั้งคำถามคือ ทัศนคติของตัวละครเอก ในช่วงแรกผู้อ่านอาจมองว่าหนุ่มน้อยผู้นี้ไม่เหมือนใครและมีนิสัยยียวน แต่เมื่อซึบซับความคิดที่เกินวัยของเขาไปเรื่อยๆ ทำให้ตระหนักได้ว่าเด็กวัยเก้าขวบในเรื่องดูเหมือนจะเป็นร่างทรงของผู้เขียนวัย 28 (ในขณะที่หนังสือวางขายครั้งแรก) เสียมากกว่า
อย่างไรก็ดี หากข้ามพ้นอุปสรรคที่กล่าวมาในข้างต้นก็จะพบกับส่วนที่ดีที่สุดของหนังสือ นั่นคือเนื้อเรื่องช่วงหนึ่งในสามท้ายเล่ม ซึ่งเต็มไปด้วยความสะเทือนใจ ความสูญเสีย ความผิดหวัง และความน่ากลัวของสิ่งไม่อาจหวนคืน จนทำให้ภาพประกอบในยี่สิบหน้าสุดท้ายทรงพลัง ชาญฉลาด และชวนขนลุกอย่างยิ่ง
นิยายเรื่องนี้ออกตีพิมพ์ในปี 2005 อันเป็นช่วงที่สังคมอเมริกันเริ่มคลี่คคลายตัวเองจากเหตุการณ์ 9/11 สื่อศิลปะต่างๆ เริ่มพูดถึงเหตุการณ์นี้อย่างตรงไปตรงมา (จนทำให้ปีต่อมามีหนังอย่าง World Trade Center และ United 93) แต่ผู้เขียนก็ใช้ 9/11 เป็นชนวนเหตุของเรื่อง ไม่ได้เจาะจงลงลึก แต่เขากลับนำเรื่องราวในสงครามสองครั้งที่โลก -ผ่านการเล่าจากตัวละครปู่และย่าของออสการ์- มาเป็นตัวเปรียบเทียบเชิงความรุนแรง ไม่น่าแปลกใจนัก เพราะ Safran Foer มีเชื้อสายยิว
เหนืออื่นใด สิ่งที่ผลงานชิ้นที่ทำได้ดีที่สุดคือการพูดเรื่องการรับมือกับความตายจากมุมมองฝั่งคนที่ยังมีชีวิตอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการตายที่ร่างกายสูญสลายไปแล้ว หรือความตายทางตัวตนที่อีกฝ่ายกลายร่างเป็นคนแปลกหน้า หนังสือให้ภาพของคนตายเหล่านั้นว่าเสียงของพวกเขาช่างดัง แต่ก็เหมือนจะแผ่วเบา สัมผัสของพวกเขาเหมือนจะอยู่ใกล้ แต่แท้จริงกลับไกลห่างออกไป
Create Date : 01 ธันวาคม 2554 |
|
4 comments |
Last Update : 1 ธันวาคม 2554 20:23:03 น. |
Counter : 2975 Pageviews. |
|
|
|