ต้นทุนชีวิตคือการสะสมความเคยชินที่ดี

วันใหม่ในเวียงจันทน์

Every day is the new day.
วันใหม่มีได้ทุกวัน ชีวิตใหม่มีได้ทุกเวลา ถ้าไม่ยึดติด อะไร ๆ ก็เปลี่ยนแปลงได้เสมอ



เรื่องราวต่อไปนี้เป็นการเล่าขานถึงวันใหม่ของชีวิตใหม่ ที่ไม่ใช่เพียงเพราะเปลี่ยนสถานที่สิ่งแวดล้อมมาอยู่ในบ้านอื่นเมืองใหม่ แต่หวังใจให้เป็นทุก ๆ วันที่สดใหม่ในคืนวันธรรมดา ๆ

เรื่องเล่าเกี่ยวกับบ้านเราในเมืองลาวเป็นประสบการณ์ตรงที่อยากแบ่งปันกับน้อง ๆ ผู้เป็นสายใยแห่งครอบครัวและกัลยาณมิตรที่รักยิ่ง รวมทั้งกับเพื่อนผู้สนใจในเรื่องราวการเรียนรู้ตัวเองผ่านผู้อื่นอีกหลายคนที่อยู่อีกฝั่งฟากของริมน้ำโขง ด้วยเหตุนี้ ทัศนะและข้อเขียนอ้างอิงทั้งหมดจึงเป็นเรื่องเล่าสู่กันฟังประสาพี่น้องผองเพื่อนที่หวังว่าจะเกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้เรื่องในตัวเองมากกว่าการอ้างอิงที่กระทบต่อเรื่องราวอื่น ๆ นอกตัว..

เวียงจันทน์ในวันแรก ๆ
ก่อนย้ายมาอยู่อย่างเป็นเรื่องเป็นราว ได้แวะมาก่อนแล้วเมื่อตอนปลายปีที่ผ่านมา ครั้งนั้นตั้งใจจะมาช่วยกันเลือกหาบ้านเช่าที่สะดวกสบายสะอาดสะอ้าน แต่ปรากฏว่า แม้จะมีนัดหมายกับพวกนายหน้าไว้เป็นมั่นเหมาะ ก็มีเหตุคลาดกันด้วยเรื่องง่าย ๆ มาคิดดูอีกที ทุกอย่างที่เกิดขึ้นมักมีเหตุปัจจัยและผลในตัวมันเองเสมอ พวกเราไม่ได้ตระเวนดูบ้านอย่างที่กะการณ์ไว้ เพราะพอคลาดกันครั้งแรก ไม่ฝ่ายใดก็ฝ่ายหนึ่งคงได้คิดว่า “โชคไม่ดี” การนัดหมายต่าง ๆ ก็ล้มเลิกและพวกเราตกลงใจเลือกบ้านที่ไม่ต้องมีนายหน้าพาไป แม้บ้านหลังนี้จะไม่สวยงามสะอาดตาน่าอยู่และสะดวกในการเดินทางไปทำงานหรือซื้อของในเมืองอย่างที่คิด แต่ก็ปลอดภัยและสะดวกต่อการเดินไปโรงเรียนของลูก (ใช้คำว่าเดินเพราะบ้านอยู่ในรั้วโรงเรียนเลย!)

จากนี้ไปอีกสามปี เราอยากมีความสุขในบ้านเราหลังนี้ที่เมืองลาว

เมื่อคิดจะมาอยู่ที่นี่ การปรับตัวต่อภาษา สถานที่ ผู้คน และการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันย่อมแตกต่างจากการอยู่ชั่วคราวแบบนักท่องเที่ยว ในทริปแรกที่มาเมื่อปลายเดือนธันวาคมนั้น เคยงงกับค่าครองชีพในเวียงจันทน์มาแล้ว เพราะคิดว่าเป็นเมืองที่ค่าครองชีพสูงมาก เมื่อเทียบกับคุณภาพสินค้าและบริการ (ไม่เข้าใจก็ตรงการผกผันของราคากับวิถีชีวิตที่เคยเชื่อว่าลาวเป็นประเทศยากจนนี่แหละ) อาจเป็นเพราะข้าวของต่าง ๆ มาจากเมืองไทย ไหนจะบวกค่าขนส่ง บวกภาษี ในทริปแรกจึงรู้สึกตัวเองเป็นนักท่องเที่ยวที่ถูกขูดรีดยังไงพิกล

มาเวียงจันทน์อีกครั้งเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ เริ่มเข้าใจความเป็นอยู่ของชาวเมืองและนักท่องเที่ยวในเวียงจันทน์มากขึ้น ค่ารถที่เคยจ่ายห้าหมื่น (กีบ) ก็เหลือเพียงสามพัน…แต่ขอโทษเถิด ไม่ใช่เพราะพูดลาวได้ แต่เพราะไม่เปิดปากพูดต่างหาก อย่าได้เอ่ยปากถามเชียวว่าไปตลาดเช้า (จุดกลางเมืองแหล่งท่องเที่ยวและเป็นท่ารถขนส่งประจำเมืองด้วย) ราคาเท่าไร เพราะเมื่อพูดออกมาคนขับรถรู้ทันทีว่าเป็นคนไทย เมื่อไม่พูดหน้าตาเราก็พอเป็นลาวได้ คนลาวจ่ายเท่าใด เราก็จ่ายเท่านั้น

แต่บ้านที่เราอยู่ ไม่ใช่เส้นทางสายหลักที่รถเมล์แล่นผ่านได้ ส่วนใหญ่จึงต้องใช้บริการรถจัมโบ้ (มอเตอร์ไซค์ดัดแปลงมีที่นั่งด้านหลัง) หรือรถตุ๊ก ๆ (รถเมล์เล็ก ๆ คล้าย ๆ รถป๊อกแป๊กบ้านเรา) ซึ่งไม่ว่าจะอย่างไรก็ต้องเปิดปากต่อรองจนได้ ด้วยเหตุฉะนี้ การรู้จักเส้นทางและสถานที่อ้างอิงต่าง ๆ จึงเป็นตัวช่วยในการเจรจา คนหลงทิศอย่างเราต้องใช้เวลาอยู่นานกว่าจะเข้าใจเส้นทาง การเข้าใจภาษาลาวบ้างจึงเป็นอีกตัวช่วยที่สำคัญ ในทริปที่สอง การเดินทางในนครหลวงเวียงจันทน์จึงหมดไปกับการอ่านป้ายถนนและชื่อร้านค้าอาคารสถานที่ เป็นการเรียนภาษาลาวที่สนุกมาก เพราะตอนแรกไม่เข้าใจเครื่องหมายและการใช้ตัวอักษรบางคำ เช่นอ่านชื่อร้านแห่งหนึ่งว่า “โคตรแพง” นึกในใจว่าตั้งเข้าไปด๊ายยย แต่เมื่อหัดอ่านภาษาลาวประกบกับตัวหนังสือภาษาอังกฤษ (บางแห่งเป็นภาษาฝรั่งเศสก็มั่ว ๆ เอา) ทำให้ได้เรียนภาษาลาวแบบเด็กประถม วันนี้กลับไปอ่านชื่อร้านโคตรแพงใหม่ ได้ใจความที่ถูกต้องว่าเป็นร้าน “ (รับ) โหลดเพลง”!!

เดินทางในเวียงจันทน์
แล้วเราก็มาอยู่เมืองลาวกันจริง ๆ ในเดือนมีนาคม คราวนี้ บทเรียนใหม่คือการถีบจักรยาน เคยงงเมืองฝรั่งที่ให้มอเตอร์ไซค์มีสถานะเท่ากับรถยนต์มาแล้ว แต่พอมาเจอจราจรในเวียงจันทน์กลับงงหนักกว่า เพราะทุกวันนี้เราสามารถขี่จักรยานร่วมถนนเดียวกับรถยนต์ในถนนทุกสายของเมืองเวียงจันทน์ ช่างเป็นเมืองที่เท่าเทียมกันอะไรอย่างนี้ ไม่ว่าคุณจะขับรถใหญ่ (คือพวกรถตู้ รถเก๋ง) รถตุ๊ก ๆ รถจักร (มอเตอร์ไซค์) หรือรถถีบ (จักรยาน) คุณมีสิทธิเท่ากันในการใช้ถนน สังเกตดูเถิด รถส่วนใหญ่วิ่งคร่อมเลน ก็ถนนเขาไม่ได้กว้างมาก ต้องแบ่งที่ให้จักรยานด้วย คนขับรถใหญ่ก็เลยขับคร่อมเลนซะเลยเพื่อความสะดวกสบายใจ ก็แหม.. จะให้เขาขับตามจักรยานไปเรื่อย ๆ ได้อย่างไร และสำหรับประสบการณ์ส่วนตัวนะ กว่าจะคุ้นกับการใช้เลนขวาและถีบจักรยานปาดหน้ารถเก๋งเข้าไปเพื่อเลี้ยวซ้ายนี่ มันเครียดสะใจดีแท้

พูดถึงเรื่องรถอีกหน่อยก็แล้วกัน รถโดยสารในเมืองที่ใช้กันหลัก ๆ นอกจากรถส่วนตัวที่วิ่งกันขวักไขว่มีรถติดให้เห็นแบบที่กรุงเทพฯ ด้วยแล้ว ก็คือรถจัมโบ้และรถตุ๊ก ๆ (ติดเรื่องภาพก่อนนะ มาอยู่ตั้งเกือบเดือนแล้วยังไม่ได้ถ่ายภาพอะไรเลย ขอเวลาตั้งหลักอีกนิดแล้วจะลงภาพให้ดูประกอบเรื่องเล่า) ดูผาด ๆ รถสองแบบก็คล้ายกัน เพราะเป็นรถต่อพ่วงขนาดใกล้เคียงกัน แต่รถจัมโบ้เป็นมอเตอร์ไซค์เหมือนรถสกายแลปแถวอีสาน ส่วนตุ๊ก ๆ เป็นเหมือนรถสองแถวไซส์มินิ (แต่บ่ใช่รถมินิฯที่ใครหลายคนอยากได้กันเด๊อ)

รถพวกนี้จะมีคิวรถประจำทุกที่ เหมือนวินมอเตอร์ไซค์บ้านเรา แต่ออกจะประนีประนอมช่วยกันมากกว่า นั่นคือ ถ้าคิวแรกเป็นรถตุ๊ก ๆ เขาไม่รับราคาที่เราขอต่อ ก็บอกให้รถจัมโบ้ลัดคิวขึ้นมารับงานแทน ราคาต่อรองที่นี่น่าเวียนหัวพอสมควร คือถ้าเป็นคนเดียวเขาก็บอกว่าเป็นคนเดียว ต้องเหมา เพราะน้ำมันแพง แต่ถ้าเป็นสองสามคนเขาบอกว่าก็ต้องเหมาและคิดเพิ่มเพราะมีจำนวนคนเพิ่ม คนเพิ่มก็ต้องจ่ายเพิ่มไง (เรื่องง่าย ๆ แบบนี้ไม่เห็นต้องถาม !?) คนเรียกรถอย่างเราถึงกับเอ๋อไปเลย แล้วรถส่วนมากนะ เรียกคันไหนก็ไปทั้งนั้น ถ้าไม่เอ่ยปากตกลงราคาก่อนเขาก็คิดราคาตามชอบใจ แต่ถ้าถามราคาก่อนเขารู้ว่าเป็นนักท่องเที่ยวเขาก็คิดราคาตามชอบใจอีกเหมือนกัน (อ้าว!)

อยู่เมืองลาวใช้เงินลาว
เปลี่ยนเรื่องรถมาเรื่องเงินดีกว่า เรื่องพื้น ๆ เพื่อความอยู่รอด เหอ ๆ ในเวียงจันทน์ใช้เงินแบบแพร่หลายได้หลายสกุล คือเงินกีบก็รับ เงินไทยก็ชอบ เงินดอลลาร์ก็ดี นักท่องเที่ยวที่มาไม่กี่วัน (โดยเฉพาะคนไทย) จะแลกเงินกีบหรือไม่ก็ไม่มีปัญหา รัฐบาลลาวพยายามส่งเสริมให้ทั้งคนลาวและนักท่องเที่ยวใช้เงินกีบเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบเงินตราของเขาอยู่เหมือนกัน เพราะคนลาวเองก็ชอบรับเงินไทย เหตุผลง่าย ๆ ก็คือ ข้าวของเครื่องใช้ส่วนใหญ่มาจากไทย มีเงินข้ามไปซื้อของฝั่งไทยก็ถูกกว่า และที่สำคัญ เวลาคิดอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อเทียบราคากับเงินกีบแล้ว คนขายจะได้กำไรพอหอมปากหอมคอ (โดยทั่วไปจะคิดอัตรา 1000 กีบเท่ากับ 4 บาท หรือ 1 บาทเท่ากับ 250 กีบ แต่ถ้าแลกเงินกีบแล้วโดยเฉลี่ย 1 บาทจะเท่ากับ 265 กีบ) นักท่องเที่ยวไทยส่วนใหญ่ก็ไม่อยากแลกเงินมาก เพราะเวลากลับบ้านธนาคารเขาไม่รับแลกเงินลาวคืน ธนาคารไทยก็ยังไม่รับแลกเงินลาว แต่ถ้าคิดจะอยู่ประจำ หรืออย่างน้อยช่วงระยะเวลาหนึ่ง ใช้เงินกีบก็ดีเหมือนกัน โดยเฉพาะเวลาไปจ่ายตลาด เหมือนเราเป็นเศรษฐียังไงยังงั้น จ่ายตลาดทีใช้เงินเป็นแสน ๆ (ฮ่า ฮ่า รวยซ้า…)

แต่คนที่มีปัญหาเรื่องตัวเลขและความไวของสมองก็เอาเรื่องเหมือนกันนะ เพราะเปลี่ยนวิธีคิดและคำนวณไม่ทัน ด้วยเหตุนี้ บางร้าน (ร้านอาหารหรือร้านขายของที่ใช้เครื่องคิดเงิน) ก็จะดีดเงินประกบให้มาในบิลเลยว่า ค่าใช้จ่ายทั้งหมด เป็นเงินกี่กีบ เทียบเท่ากับกี่บาทไทย กี่เหรียญสหรัฐ และกี่เหรียญยูโร น้าน.. บริการอย่างนี้คนคิดเลขช้าอย่างคนเล่าชอบมั่ก ๆ

เรื่องกินเรื่องใหญ่
ต่อจากเรื่องเงินก็เป็นเรื่องอาหารการกิน ในเวียงจันทน์มีอาหารทุกประเภทสำหรับนักท่องเที่ยว อาหารแบบฝรั่งเศส อิตาเลียน สแกนดิเนเวียน ไปจนถึงแบบญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม ลาว ไทย และ ฯลฯ มาใหม่ ๆ ก็สงสัยมากเลยว่าแล้วคนลาวจริง ๆ เขากินอะไรกัน แต่จนเดี๋ยวนี้ก็ยังไม่รู้ แหะ ๆ ขอติดไว้ก่อน ที่สงสัยก็คืออาหารที่นี่ค่อนข้างแพงนะ ปาท่องโก๋ตัวละหกบาท น้ำเต้าหู้แก้วละสิบหกบาท เอ้อ.. ราคานี้น่ะ ข้างถนนนะขอบอก ก๋วยเตี๋ยวขั้นต่ำสี่สิบบาท แถวในเมืองหน่อยก็หกเจ็ดสิบบาท เคยกินผัดไทอร่อยร้านตึกแถวข้างทางก็จานละหกสิบบาท

ตอนมาใหม่ ๆ คุยกับคนลาวที่เป็นเจ้าของบ้านเช่า อดีตข้าราชการเก่า เขาบอกว่าข้าราชการลาวระดับปริญญาตรีนี่ได้เงินเดือน ประมาณ 40-50 เหรียญ ตัวเขาเองเกษียณออกมา (ในฐานะหมอฟัน) ได้บำเหน็จมา 500 เหรียญ พอฟังอย่างนี้ แล้วออกไปซื้อข้าวของเครื่องใช้อาหารในตลาดในราคาที่แพงกว่าเมืองไทย (อยากบอกว่าที่ลาวนี่น้ำมันพืชไม่มีขาดแคลนเหมือนในเมืองไทยช่วงที่ผ่านมานะ ซื้อได้ในราคาขวดละไม่เกินหนึ่งร้อยบาท แฮ่..ไม่สงสัยเลยว่าทำไมคนลาวไม่ค่อยอ้วน) คนมาใหม่ก็ถึงกับอึ้งน่ะสิ สงสัยมากเลยว่าแล้วเขาจะอยู่กันได้อย่างไร….คุยกับนักธุรกิจไทยคนหนึ่งที่นี่ เขาบอกว่าคนเวียงจันทน์ส่วนมากมีเงิน เงินเดือนน้อยแต่รายได้อื่นเยอะ เอ๊, ยังไง ขอติดไว้อีกเรื่องละกัน มีเวลารู้จักผู้คนและบ้านเมืองมากกว่านี้แล้วจะมาเล่าสู่กันอ่านอีกที

เรื่องอาหารการกินยังไม่จบหรอก มีรายละเอียดน่ารักน่าเล่าอีกเยอะ อย่างเช่นก๋วยเตี๋ยวนี่ เขารับเฝอของเวียดนามมาเลย ผักเพียบ! คนชอบอาหารสุขภาพคงชอบเมนูเฝอนี้แน่ แล้วบนโต๊ะน่ะเครื่องปรุงเต็มไปหมด นอกจากน้ำปลาน้ำส้มสายชูเป็นขวดแล้ว ยังมีขวดซีอิ๊วขาว ซอสภูเขาทอง น้ำตาล ขิงสับป่น มะนาว ถั่วผัดพริกเผา พริกผัด พริกสด ถั่วงอก จานผักจานโต ๆ แถมกะปิมาอีกต่างหาก คนช่างปรุงเห็นเข้าเกิดอาการงงจนต้องกินติดต่อกันให้แน่ใจตลอดอาทิตย์ เหอ ๆ

นอกจากก๋วยเตี๋ยวเฝอของเวียดนามแล้ว ยังมีก๋วยเตี๋ยวเส้นกลม ๆ แบบลาวอีก ที่นี่เรียกข้าวเปียก มีทั้งเส้นน้อยเส้นใหญ่ รสชาติก็อร่อยดี แต่ไม่มีผักให้ เมนูเส้นในร้านเฝอยังมีหมี่เหลืองกับล้วนด้วย ตอนเข้าไปนั่งหัดอ่านภาษาลาวอยู่ในร้านนั้น บอกลูกชายว่าล้วนนี่สงสัยเป็นเกาเหลาเพราะให้เนื้อล้วน ๆ พอตกลงใจจะสั่ง คนขายบอกว่า “ล้วนคือวุ้นเส้น”..เอ้อ, ไม่ใช่เกาเหลาเนอะ คนลาวไม่กินเกาเหลาเพราะเรารักกัน เราไม่ทะเลาะกัน (ฮ่า)

เก็บเรื่องกินไว้ก่อนดีกว่า เพราะยังมีอีกเยอะมากกก..เดี๋ยวค่อยทยอยเล่า ตอนนี้ขอเล่าแบบโน่นนิดนี่หน่อยไปก่อนแล้วกัน ตามประสาคนเพิ่งมาอยู่ใหม่ แบบว่า ขอรู้จักแบบดม ๆ ชิม ๆ

การติดต่อสื่อสารก็เป็นเรื่องใหญ่เหมือนกัน
ขอเล่าเรื่องติดต่อสื่อสารเป็นน้ำจิ้มอีกเล็กน้อย ที่ลาวใช้มือถือเกลื่อนไม่ต่างจากเมืองไทย และก้อ เอ้อ, หนึ่งในบริษัทมือถือรายใหญ่ก็เป็นยักษ์ใหญ่มาจากเมืองไทยด้วยเช่นกัน สัญญาณมือถือจากไทยก็ใช้ที่เวียงจันทน์ได้ แต่ต้องเดินหาสัญญาณเอาเอง ที่ง่ายหน่อยก็คือแถวริมน้ำโขง บริเวณถนนฟ้างุ้ม คือถ้าอยู่แถวนั้นก็ใช้ซิมเมืองไทยเราได้ล่ะ แต่ถ้าอยู่ที่อื่น ๆ ก็แล้วแต่ดวงแล้วกัน

ส่วนเรื่องการใช้อินเทอร์เน็ตนั้น ค่อนข้างแพงมากเมื่อเทียบกับเมืองไทย (จะว่าไปก็ยังไม่เห็นมีอะไรที่นี่ถูกกว่าเมืองไทยเลยสักอย่าง) การขอติดตั้งอินเทอร์เน็ตแบบผ่านสายโทรศัพท์บ้านหรือใช้ADSL ค่าใช้จ่ายรายเดือนตกอยู่ที่ประมาณหนึ่งพันบาทต่อความเร็วไม่เกิน 512 kbps (มีบริษัทให้บริการหลายเจ้า ราคาและโปรโมชั่นแตกต่างกันบ้างแล้วแต่ระบบและสถานที่ ที่เขียนถึงนี่เป็นแบบเฉลี่ยรวม ๆ พอเป็นไอเดียนะ คนที่สนใจสามารถเข้าไปเช็คได้ที่เว็บไซท์ของแต่ละเจ้า ถามอาจารย์กู (เกิ้ล) เอาเอง) ถ้าอยากได้ความเร็วสัก 1 Mbps ละก้อต้องจ่ายเกือบสองพันต่อเดือน ไม่รวมค่าติดตั้ง ค่ามัดจำ ถ้าใช้บริการแบบ wireless ก็แพงขึ้นมาอีก ทั้งนี้ทั้งนั้นยังมีค่ามัดจำค่าลงทะเบียนอีกเกือบสองล้าน (กีบ)…ถ้าเลือกใช้แบบแอร์การ์ดก็สะดวกขึ้นมาหน่อย เพราะไม่เสียค่าอื่น ๆ แต่นอกจากค่าแอร์การ์ดและซิมแล้ว ต้องจ่ายประมาณสี่ร้อยบาทต่อการอัพหรือดาวน์โหลด 1 GB

มานึกดูอีกที เทคโนโลยีเพื่อการติดต่อกับโลกภายนอกแบบนี้ ไม่ว่าจะในรูปโทรศัพท์มือถือหรืออินเทอร์เน็ต บ้านเราก็เคยแพงสาหัสมาแล้ว ยังจำได้ว่าเมื่อแรกมีมือถือใหม่ ๆ ค่าบริการแพงขาดใจเพียงใด และใครที่ให้บริการได้ก็สามารถรวยเป็นหมื่นล้านได้อย่างไร (อะแฮ่ม!)….ตอนมาอยู่แรก ๆ จึงไม่อยากใช้อินเทอร์เน็ต ไม่อยากติดต่อกับโลกภายนอก เพราะเวลาที่ตัวเองหยุดและติดต่อกับโลกภายในตัวเองแทนนั้น….นอกจากใช้เงินน้อยกว่ามากแล้ว ยังสงบกว่ามาก ลึกซึ้งกว่ามาก…

แต่ก็อย่างว่าแหละนะ เราอยู่ในโลกที่หมุนไปมา การหยุดนิ่งจริง ๆ จึงทำได้เพียงบางมิติของชีวิต ว่าแล้วก็ต้องลุกขึ้นมาขอใช้บริการอินเทอร์เน็ตเจ้าเก่าในไทยที่เปิดให้บริการในเมืองลาว

ขอเล่าแถมอีกนิดหนึ่งว่า สำหรับนักท่องเที่ยวแล้ว การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่นี่ง่ายมาก มีร้านบริการอินเทอร์เน็ตทั่วไป (ไม่รวมบริการในโรงแรมที่มักมี wifi ให้ลูกค้าอยู่แล้ว) ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 8000 กีบต่อชั่วโมง ใช้หลายชั่วโมงก็มีส่วนลดได้ ถ้าไม่อยากจ่ายค่าชั่วโมงและมีโน้ตบุ๊คส่วนตัวไปนั่งตามร้านกาแฟก็สะดวกดี เพราะส่วนใหญ่ให้บริการฟรี ขอเพียงสั่งกาแฟ หรือขนมอื่น ๆ ให้เจ้าของร้านชื่นใจหน่อย (ยกเว้นของร้านทรูคอฟฟี่จากเมืองไทยจ้ะ ที่ร้านนี้ต้องซื้อชั่วโมงอินเทอร์เน็ตเอง เพราะมีคอมพ์ตั้งโต๊ะให้บริการด้วย แต่ถ้ามีโน้ตบุ๊คส์เองก็จ่ายค่าเชื่อมต่อวายฟาย 10000 กีบต่อชั่วโมง ส่วนขนมเครื่องดื่มก็จ่ายเองไปตามระเบียบ อิ อิ คนไทยที่ไม่ค่อยมีกะตังค์อย่างเราเลยมักเลี่ยงไปนั่งที่ร้านสแกนดิเนเวียนเบเกอรี่ เพราะมีขนมอร่อยในราคาถูกกว่าและใช้อินเทอร์เน็ตสบายกระเป๋ากว่า คือไม่ต้องจ่ายตังค์อ่ะ)

ก่อนจบ (ตอน)
เกือบหมดช่วงเวลาเดือนแรกในเวียงจันทน์แล้ว ยังไม่ได้กล่าวถึงสถานที่ท่องเที่ยวเลย ก้อ, ยังไม่ได้ไปเที่ยวที่ไหนเลยน่ะ นอกจากไปไหว้พระ ไหว้อนุสาวรีย์ต่าง ๆ และเดินเล่นแถวสวนหลังประตูไชย ขอยกยอดเรื่องแหล่งท่องเที่ยวและสถานที่น่าสนใจอื่น ๆ ไว้ตอนต่อ ๆ ไปก็แล้วกันนะ




รถจัมโบ้ สะดวกดี (ถ้าต่อรองราคาเป็น) แต่ต้องทำใจเวลารถเบรคหน่อยนะ เสียงเค้าสุดยอดดด..


รถตุ๊ก ๆ หรือรถสามล้อ (ดูเผิน ๆ คล้ายรถจัมโบ้ พอต่อรองราคาแล้วถึงรู้ว่าคนละแบบ แหะ แหะ แต่ก็นั่งสบายกว่าหน่อยนึง)


ชื่ออาคารตลาดเช้ามอลล์ (แบบฝึกหัดแรก ๆ ในการหัดอ่านภาษาลาว)


หัดอ่านจากป้าย ป้ายนี้คือถนนสามแสนไท เป็นหนึ่งในถนนสายหลักในตัวเมือง มีคนบอกว่าตั้งชื่อถนนนี้เป็นที่ระลึกสำหรับทหารไทยสามแสนคน (?) ที่เข้ามาบุกลาว


อีกป้าย บอกว่าเลี้ยวขวาได้ต้องระวัง หัดอ่านจากคำง่าย ๆ พวกนี้ก่อน ถ้าดูจากรูปรถจัมโบ้ตรงไปรษณีย์กลาง เคยอ่านว่าแลกป่วนเงิน นึกว่าเป็นภาษาลาว คือเราแลกมาแล้วปั่นป่วนมากเนื่องจากกลายเป็นเศรษฐีในพริบตา แต่หัดอ่านเทียบไปเรื่อย ๆ จึงรู้ว่าตัววอหางยาวคือสระเอีย..



รูปนี้เขียนว่าบ่อนจอดรถแขกมาพัวพันเวียก (ที่จอดรถผู้มาติดต่องาน) รูปล่างสุดคือหอวัฒนธรรมแห่งชาติ พร้อมกับป้ายต้อนรับการประชุมพรรค(เขียนไว้ว่าเชิดชูความมีสติระวังตัว เด็ดเดี่ยวปกปักรักษาประเทศชาติและระบอบใหม่ไว้อย่างมั่นคง)



หมายเหตุ: ผ่านมานานจึงรู้ว่า วุ้นเส้นภาษาลาวคือ "ล้อน" ไม่ใช่ล้วน ครั้งแรก ๆ ยังอ่านสลับกันระหว่างตัววอกับตัวออ ขออภัยไว้ตรงนี้ แต่ขอไม่แก้ข้อความข้างบน เก็บไว้เตือนใจตัวเองค่ะ :)




 

Create Date : 22 มีนาคม 2554
27 comments
Last Update : 18 เมษายน 2555 9:39:57 น.
Counter : 6242 Pageviews.

 

เวียงจันทน์น่าอยู่ออกค่ะ ขนาดแค่ไปเที่ยวยังชอบ ขอให้อยู่สุขสบายนะคะ

 

โดย: ta/'o-o/' 22 มีนาคม 2554 23:24:39 น.  

 

ส่งแรงใจมาช่วยค่ะ ขอให้ฝันเป็นจริงและมีบ้านในฝันอย่างตั้งใจนะค่ะ

 

โดย: Fung Lan 23 มีนาคม 2554 3:03:22 น.  

 

ตามมาอ่านทันที แมลงเคยมีประสบการณ์บ้านหลวง ได้รับอนุญาตให้อยู่ในบ้านร้างที่ไม่มีใครเอามาเป็นสิบปี ทั้งที่สกลนคร และกำแพงเพชร เราก็ทำให้น่าอยู่ได้ พอแมลงย้ายออก เพื่อนร่วมงานแย่งจะเอาบ้านหลังนั้นกันนัว ..เพราะเราทำเสียดูดี เน้นดูดี ใครๆ เขาชอบพูดว่าไปทำทำไม ไม่ใช่บ้านเรา..ขี้เกียจตอบ ว่าไม่มีที่ไหนเป็นบ้านเราสักที่แม้ว่าเป็นบ้านที่เราจ่ายเงินซื้อมาก็เหอะ แค่อาศัยอยู่ชั่วคราวทั้งนั้น เราอยู่บ้านก็คือที่พักของจิตใจ ถ้าเราทำดีจิตใจก็มีที่พักดี พี่ว่าไหม..ขำกับโคตรแพงด้วย ..แพงภาษาอิสานแปลว่ารัก ตอนแรกนึกว่าหมายถึงรักมาก แล้วรถมอ'ไซค์พ่วงนี่ใช่แบบอสานเรียกรถสกายแลปไหมคะ ดูเรื่องใหม่ๆของพี่น่าสนุกมากเลยสำหรับแมลง..หรือเป็นเพราะว่าตัวเองชอบอะไรใหม่ๆ ก็ไม่รู้

 

โดย: แมลงจ่่อย (Bug in the garden ) 23 มีนาคม 2554 10:29:59 น.  

 

ขอบคุณคำอวยพรจากคุณ ta/'o-o/' และคุณ Fung Lan เรื่องบ้าน (เช่า) หลังใหม่ในเวียงจันทน์นะคะ แต่อยากบอกว่าโดยส่วนตัวแล้วบ้านในฝันไม่มีหรอกค่ะ มีแต่บ้านจริง ๆ เลย เพราะเชื่อเช่นเดียวกับคุณแมลงว่าบ้านคือที่พักของจิตใจ และไม่มีที่ไหนเป็นของเราอย่างแท้จริง ฉะน้ั้น ไปอยู่ที่ไหนก็เลยไม่ต้องฝันแต่ทำมันให้เป็นจริงเลย..

ตอบเรื่องรถจัมโบ้ในเนื้อเรื่องแทนแล้วนะคุณแมลง ส่วนเรื่องบ้านและสวนจะเล่าต่อไป มีเรื่องทั้งสนุกและกระตุกใจเกี่ยวกับวิธีคิดเรื่องบ้าน home sweet home ด้วย อยากคุยต่อแต่ลูกชายอ้อนหิวข้าวต้องไปแล้ว

 

โดย: kangsadal 24 มีนาคม 2554 8:00:17 น.  

 

สวัสดีครับ ผมมีคนรู้จักเวียงจันทน์หลายคน หากมีเรื่องที่ช่วยเหลือได้ยินดีนะครับ หลังไมค์มาได้ครับ

 

โดย: คนเคยผ่านมหาสมุทร 24 มีนาคม 2554 13:12:35 น.  

 

สะบายดี :-)

เพิ่งย้ายมาอยู่เวียงจันทร์เหมือนกันค่ะ ยังหลงๆลืมๆอยู่เลย มาแรกๆปั่นจักรยานเลนซ้ายมันซะเลย ฮ่า ฮ่า ก็มันลืม
ยังไงเมลล์มาคุยกันได้นะค่ะ
Lee_wsn@hotmail.com

 

โดย: Lee (Khamlee) IP: 202.144.190.150 24 มีนาคม 2554 13:30:31 น.  

 

เห็นจะจริงเรื่องของราคาสูงค่ะ เคยมีประสบการณ์เดียวกัน แต่ถ้ามีเพื่อนคนอิสานไปด้วย เขาสปีคลาวได้ ก็อีกราคานึงน่ะค่ะ
เรื่องค่าใช้จ่าย ค่อยๆอยู่ไปคงจะรู้ช่องทางมากขึ้น คงจะลดลงได้นะคะ
และเป็นกำลังใจให้แม่ครัว อย่าเพิ่งปิดประตูว่าทำอาหารไม่ได้ วันนั้นที่ใช้ความรู้สึกน่ะ ..ใช่เลยค่ะ แล้วมีแรงบันดาลใจตั้งสองคน ทำไม่ได้ให้มันรู้ไป

 

โดย: แมลงจ่่อย (Bug in the garden ) 24 มีนาคม 2554 15:47:20 น.  

 

ไม่รับเด็กมาดูแลถาวร แต่ไปเล่นกับเด็กชั่วคราวได้ค่ะ
อยากจะบอกว่าถ้ามีโอกาสจะมาเยี่ยม อยู่เล่นทำอาหารกินกันสักหลายๆวัน จะหลอกเด็กให้เล่นด้วยก็ยังได้..มีประสบการณ์ตอนเลี้ยงน้องลูกน้าค่ะ
พวกเด็กๆมักจะชอบทำอาหารเพราะมันเป็นการเล่นอย่างนึง
..ถ้าหาเน็ตราคาสมเหตุผลได้ ก็น่าskypeแต่ดูราคาเน็ตอึดแบบนี้ ยังล่อเข้าไปเป็นพัน อื๋อว์ อยู่เมืองไทยแถวอิสานสบายกว่ากันเยอะเลยนะคะ ของกินก็ถูก สิ่งอำนวยความสะดวกก็ดีกว่า.. เออ..แล้วคนลาวเขารวยกันยังไง ถ้าเงินเดือนน้อย ..อยากรู้ค่ะ
แม่มดเอ็กซ์มีญาติเป็นลาวอพยพไปอยู่ที่แคนาดา มีตึกให้พวกองค์กรระหว่างประเทศเช่า ได้ตังค์ดีเหมือนกันค่ะ
พี่พีลองครีมสลัดก่อน เปลี่ยนทูน่า สลับกับไก่ต้ม ไข่ต้ม และเปลี่ยนผักเอา ..ที่จริงเรามีเมนูเดียว แต่สลับหน้าตา ฮี่ๆ

 

โดย: แมลงจ่่อย (Bug in the garden ) 24 มีนาคม 2554 18:59:10 น.  

 

'วัสดีค่ะคุณเคยผ่านมหาสมุทร
เคยผ่านแม่น้ำโขงมาแล้วใช่ไหมคะ ยินดีที่รู้จักและขอบคุณสำหรับน้ำใจค่ะ

สะบายดีคุณ Lee
อยู่ลาวแล้วเป็นอย่างไรบ้าง สะบายดีบ่? แล้วจะเมล์ไปหานะคะ

และสวัสดีตอนสายกับคุณแมลงด้วย
ขอบคุณสำหรับกำลังใจเรื่องอาหาร เพราะกับคนที่ไม่ชอบเข้าครัว การทำอาหารต้องใช้ทั้งกำลังและใจอย่างยิ่ง แฮ่.... ส่วนเรื่องเศรษฐกิจเมืองลาว ขอเวลาอีกสักนิดจะลองหาคำตอบดู แต่ที่แน่ ๆ ทรัพย์ในดินสินในน้ำของคนลาวยังเยอะอยู่ เงินเดือนอาจน้อยแต่ส่วนใหญ่มีที่ทาง บ้านแถวที่พี่พักอยู่แต่ละหลังอลังการงานสร้าง...แต่ก็สร้างไว้ให้หน่วยงานต่างประเทศและเจ้าหน้าที่ต่างประเทศเช่านั่นแหละค่ะ ช่วงนี้ลาวเปิดประเทศ และรับความช่วยเหลือจากทุกประเทศ รายได้เหล่านี้น่าจะเป็นรายได้หลักมากกว่าเงินเดือน...เรื่องความรวยสำหรับบางกลุ่มบางคนนั้นเป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้ แต่คนหาเช้ากินค่ำที่มีอยู่ พี่ก็ยังงง ๆ ว่าเขายังชีพอยู่ได้อย่างไรในเมืองที่ข้าวของแพงมากอย่างนี้



 

โดย: กังสดาล IP: 202.137.156.23 25 มีนาคม 2554 10:15:00 น.  

 

ข้าน้อยว่าระบบเส้นสาย และคอรัปชั่นค่ะ เคยได้ยินพวกอเมริกันพูดว่า ถ้าเงินช่วยเหลือที่ลาวได้รับ ลงไปสู่การปฎิบัติจริง ป่านนี้ถนนทุกสายของเมืองลาว คลจะเป็นคอนกรีตหกเลนทุกพื้นที่แล้วค่ะ มันหายไปอยู่ในกระเป๋าใครบางคน เคยมีประสบการณ์ พวกเด็กนักศึกษาทุนจากลาว แต่ละคนทั้งขี้เกียจและสมองทึบจริงๆ แต่ทุกคนเป็นลูกหลานผู้มีตำแหน่งสูงในหน่วยงานที่ส่งมาทั้งนั้น..แต่ที่เราเห็นนี่มันมองจากข้างนอกเข้าไป อาจไม่ใช่ก็ได้..อยากรู้ว่าถ้ามองจากข้างในออกมาจะเป็นยังไงนะ แล้วพวกที่ทำมาหากินปกติเขาทำไมอยู่ได้ นี่น่าสนใจมากจริงๆ มันจะเป็นเหมือนกันกับที่เขาว่ายุโรปแพง แต่ถ้าไปอยู่แบบที่เขาอยู่กันจริงๆ ก็ไม่แพงสักหน่อยผลไม้อย่างเบอรี่หรือแอบเปิ้ลก.ก.นึงไม่ถึงห้าสิบบาท ไปดูส้มในตลาดหัวหินก.ก.ละเจ็ดสิบห้าถึงเก้าสิบ อกร่องก.ก.ละร้อย นี่แพงกว่า ถ้าเทียบกับค่าครองชีพนิ

 

โดย: แมลงจ่่อย (Bug in the garden ) 25 มีนาคม 2554 10:36:32 น.  

 

พี่พี ..วูววว์ โส่ยมาชวนให้พี่ทำแกงเลียงให้ลูกกินแน่ะ

 

โดย: แมลงจ่่อย (Bug in the garden ) 25 มีนาคม 2554 19:28:03 น.  

 

สาวลาวนี่เวลาจีบเขา เขาจะมีลูกเล่นเยอะหรือเปล่าครับคือแบบว่าโกหกว่ายังไม่แต่งงานบ้างหรืออื่นๆที่ผู้ชายเราไม่ชอบบ้างหรือเปล่าครับ อันนี้สอบถามเพื่อเป็นข้อมูลในการจีบน่ะครับ ขอบคุณเป็นอย่างสูง

 

โดย: พิธ๊ IP: 223.206.228.189 30 มีนาคม 2554 11:00:55 น.  

 

คุณพิธคะ รอสองสามปีไหวไหมคะ กะว่าลูกชายโตพอจีบสาวลาวได้ก่อน

 

โดย: kangsadal 31 มีนาคม 2554 16:53:01 น.  

 

ขอตามมาอ่านด้วยคนนะคะ

 

โดย: พี่แมว (fangbetta ) 31 มีนาคม 2554 20:31:13 น.  

 

พี่พี น่าจะเขียนเรื่องป้ายภาษาลาวแล้วทำเป็นหมวดหมู่นะคะ เอาให้ชัดๆ จะได้มีคำลาวใหม่ๆอีก รู้จักแต่นางบำเรอกำปั่นเหาะ ..เอ๊ะนี่น่าจะเขมร..จำได้ว่าเบียร์ลาว แมลงมีแต่อ่านว่า "เขยลาว" ทุกทีไป มันมีตำราเรียนด้วยนะ น้องชายแมลงเขามีหนังสือฝึกอ่านเขียนภาษาลาวด้วย
รถจัมโบ้นี่รถสกายแลปของเราเนอะ ใครลอกใคร เราลอกเขา หรือเขาลอกเราไม่รุ

 

โดย: แมลงจ่อย (Bug in the garden ) 31 มีนาคม 2554 21:24:16 น.  

 

'วัสดีค่ะพี่แมว ยินดีที่เจอกันที่นี่อีก ตามมาอ่านเรื่อย ๆ นะคะจะได้มีแรง (ใจ) อยากเขียน

ข้อเสนอของคุณแมลงก็น่าสนใจเนอะ ภาษาลาวน่าสนใจนะ ซื่อ ๆ ตรง ๆ ดี ไม่วิลิศมาหราเหมือนภาษาเรา ทั้งพูดทั้งเขียนทั้งการสะกดคำเลยละ

พวกผู้ชายบ้านเราคงชอบคำนำหน้าที่นี่ เพราะใช้ว่าท่าน เหอะ ๆ ใครมาก็ท่านหมด แต่กับผู้หญิงคงไม่ค่อยแฮปปี้เท่าไหร่เพราะใช้คำนำหน้าว่านาง จะแต่งงานหรือยังไม่แต่งก็นางหมดแหละ พี่ยังไม่โดนใครเรียกว่านาง..มีแต่เรียกมาดาม

 

โดย: kangsadal 1 เมษายน 2554 10:12:26 น.  

 

เขาเรียกมาดามเพราะเห็นพี่เป็นต่างชาติกระมังเนอะ
..ตอนถ่ายรูป เอาตัวอักษรใหญ่ๆ เลยเนอะ..จะได้เห็นชัดๆ
น้ำสต๊อก คือน้ำซุปที่ปรุงจากกระดูกสัตว์ เช่น กระดูกไก่ กระดูกหมู หัวปลา เคี่ยวไฟอ่อนๆ คอยช้อนฟองทิ้ง มีหลายสูตร บางคนเขาใส่ผักลงไปด้วย แต่เคยเห็นแม่ครัวโรงแรมเขาสอนแมลงให้เอาเปลือกผักหรือเปลือกไข่ ล้างให้สะอาด ไม่ทิ้ง ใส่ลงไปในน้ำต้มด้วย ได้ไม่เสียของ ทำแบบนี้ น้ำซุปจะหวาน..อาหารฝรั่งง่ายกว่าอาหารไทยเยอะะะเลยค่ะ

 

โดย: แมลงจ่่อย (Bug in the garden ) 1 เมษายน 2554 11:05:21 น.  

 

พี่พี เดี๋ยวจะลงวิธีทำน้ำสต๊อกให้ชมค่ะ พอดีวันนี้ทำตอนเช้า..

 

โดย: แมลงจ่่่่อย (Bug in the garden ) 2 เมษายน 2554 11:53:50 น.  

 

บ้านเช่าในเวียงจันท์ประมาณเท่าไรค่ะประมาณทำร้านกาแฟหรือเกสเฮ้าเล็กๆขอข้อมูลหน่อยค่ะ

 

โดย: jib IP: 180.183.172.130 8 กุมภาพันธ์ 2555 15:22:08 น.  

 

ถึง คุณ jib
ขอโทษที่เพิ่งตอบ เพราะเพิ่งเข้ามาเห็นข้อความนี้นะคะ เรื่องบ้านเช่านี่ขึ้นอยู่กับทำเลค่ะ เหมือนกับบ้านเรานั่นแหละ ที่สะดวกหน่อยราคาก็แพงขึ้นมาหน่อย ถ้าเป็นบ้าน (ไม่ใช่ห้องแบ่งเช่าหรืออพาร์ทเมนต์) มีราคาตั้งแต่ 300 เหรียญขึ้นไปนะคะ ถ้าอยู่กลางเมืองหรือริมโขงก็ค่อนข้างสูงกว่าหน่อย เฉลี่ยประมาณ 5-600 USD ขึ้นไป ชานเมืองหน่อยก็ถูกลงมา ถ้าสนใจลองสอบถามที่บริษัทนายหน้าในเวียงจันทน์นะคะ เสริชข้อมูลในกูเกิ้ลได้ มีอยู่ไม่กี่บริษัทหรอกค่ะ ลองโทร.คุยกับเขาดู บริษัทเหล่านี้จะมีพนักงานพาดูบ้านตามราคาและทำเลที่เราต้องการ เขาไม่คิดค่าใช้จ่ายจากเราแต่จะได้ค่านายหน้าหนึ่งเดือนของค่าเช่าจากเจ้าของบ้าน เพื่อนคนหนึ่งเคยใช้บริการถึงสี่บริษัทเพื่อเปรียบเทียบข้อมูล แต่โดยส่วนตัวใช้บริษัทเดียวบวกกับลองนั่งรถหรือถีบจักรยานวนดูตามพื้นที่ต่าง ๆ ที่สนใจอยากอยู่เอง ถ้าเขาเปิดให้เช่าส่วนมากจะมีป้ายแขวนไว้ ติดต่อเองโดยตรงมักได้ราคาถูกกว่านายหน้าพาไป เพราะเจ้าของบ้านไม่ต้องเสียเงินค่าเช่าหนึ่งเดือนซึ่งเขามักต้องบวกเฉลี่ยรวมกับค่าเช่าที่คิดจากผู้เช่า การเช่าบ้านที่นี่ส่วนมากจะทำสัญญาและจ่ายเงินล่วงหน้าเป็นปีนะคะ อย่างดีที่สุดก็หกเดือน แต่ไม่มีเงินมัดจำือื่น ๆ ค่ะ

ใจเย็น ๆ ในการเลือกหาบ้านเช่านะคะ ดูให้ละเอียดและคุยให้ชัดเจนก่อนตกลงด้วยนะคะ ขอให้โชคดีค่ะ


 

โดย: kangsadal 3 เมษายน 2555 14:53:29 น.  

 

มีเพื่อนอยากขายที่ดินในลาว แขวงสาละวัน เค้าเป็นคนลาว ติดต่อนายหน้าที่ไหนได้บ้างครับ รบกวนผู้รู้ด้วยครับ ขอบคุณครับ

 

โดย: กอล์ฟ IP: 202.28.180.202 10 พฤษภาคม 2555 10:58:17 น.  

 

ไม่ใช่ผู้่รู้ แต่เคยเห็นตอนค้นหาบ้านเช่าจากกูเกิ้ล ใช้คำประเภทบ้านและที่ดินในลาว เวียงจันทน์ ฯลฯ (เขียนเป็นภาษาอังกฤษนะคะ) เว็บไซท์ที่โผล่ขึ้นมาเต็มหน้าจอส่วนใหญ่เป็นบริษัทนายหน้าค่ะ คนลาวด้วยกันโทร.คุยง่ายกว่าเราอีก

 

โดย: kangsadal 4 มิถุนายน 2555 12:49:29 น.  

 

ถ้าใครสนใจยากชื่อบ้านที่เวียงจันติดต่อหาผมได้ครับ email: nong_phsa59@hotmail.com หรือ facebook.com/nong phouthalom ไม่มีเกับค่านายหน้าจากคนชื้อไม่มีคิดราคาเพิ่มขายราคาจริงจากเจ้าของบ้าน

 

โดย: nong d.k IP: 103.1.30.6 17 สิงหาคม 2555 10:14:00 น.  

 

สงสัยจริงๆค่ะ ว่าทำไมที่เวียงจันทน์ ค่าอาหาร มีราคาแพง แล้วคนพื้นเมืองเค้ามีแหล่งอาหารที่ไหนกันคะ หรือเขาขายสองราคาคือราคาคนต่างชาติ และราคาคนลาวคะ และมีแหล่งอาหารพื้นเมืองที่ราคาพื้นเมืองพอจะแนะนำไหมคะ

 

โดย: rachrack IP: 101.108.145.244 5 ตุลาคม 2555 15:00:27 น.  

 

สวัสดีคะ ขอบคุณมากๆ นะคะที่เอาข้อมูลมาแบ่งปันคะ ได้ความรู้เยอะเลย
ไม่ทราบยังอยู่ที่เวียงจันทร์หรือเปล่าคะ เดือนกำลังไปอยู่เหมือนกัน ตื่นเต้นคะ ท่าทางจะสนุก

 

โดย: เดือน IP: 94.23.252.21 17 มกราคม 2558 2:49:52 น.  

 

กำลังลังเลว่าจะไปอยู่เวียงจันทร์ดีมั้ย ข้อมูลเยอะ อ่านสนุก ขอบคุณค่ะ

 

โดย: นีน่า IP: 180.183.33.134 18 สิงหาคม 2558 22:33:35 น.  

 

กำลังจะไปเวียงจันทร์ วังเวียง มองหาธุรกิจที่นั่น มีอะไรแนะนำมั้ยค่ะ

 

โดย: บ๊องส์ IP: 1.10.215.112 18 กรกฎาคม 2560 16:20:16 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


kangsadal
Location :
เวียงจัน Laos

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]






พระจันทร์เต็มดวงคนมองเห็นได้บางวัน
เช่นกันกับวันที่เห็นพระจันทร์เสี้ยว
แต่ทุกวัน....
พระจันทร์เต็มดวง
online
Group Blog
 
 
มีนาคม 2554
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
22 มีนาคม 2554
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add kangsadal's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.