ต้นทุนชีวิตคือการสะสมความเคยชินที่ดี
ที่พึ่งทางอาหาร


เมื่อย้ายมาอยู่เวียงจันทน์ใหม่ ๆ เคยลองดั้นด้นค้นหาที่พึ่งทางอาหารให้กับครอบครัวไปทั่วเมือง ก่อนจะได้ค้นพบว่า ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน แม้จะมีลิ้นจระเข้และฝีมือขนาดเด็กเก็บโต๊ะร้านอาหาร สถานการณ์ก็บีบบังคับให้กลายเป็นแม่ครัวจำเป็น และเมื่อต้องเป็นทั้งที่จำอะไรไม่ค่อยได้ อาวุธข้างกายก่อนเข้าครัวจึงคือตำราอาหาร โอ้…ที่วางเรียงรายอยู่บนชั้นหนังสือนั้นใครมาเห็นเข้าคงนึกว่า บ้านนี้มีแม่ครัวมือหนึ่ง จะว่าไปก็หนึ่งจริง ๆ นั่นแหละ คือเริ่มนับหนึ่งในการทำครัวไง



คู่มือเล่มแรก ๆ ออกแนวหลักการ เริ่มจากครัวสีเขียวของคุณทัทยา อนุสร ก็ทำให้ไอเดียการทำครัวในเมืองลาวบรรเจิด เพราะหลายอย่างเข้ากันได้ดี โดยเฉพาะเรื่องอาหารรีไซเคิล เปลี่ยนของเหลือเป็นจานเด็ด (เหมาะสำหรับแม่ครัวมือใหม่มาก เพราะมีของเหลือจากทุกมื้อให้ทำเพียบ) ชอบไอเดียกติกามารยาทการทำอาหารรีไซเคิล ตรงที่ว่า “ข้อแรก เหลือปุ๊บเก็บปั๊บ เก็บให้ดี ให้เป็น ให้สะอาด อีกไม่เกินสามวันเจอกัน... ข้อสอง ต้องมีการลงทุนเพิ่มขึ้นบ้าง เพื่อให้ดูดีและเพียงพอ... และสุดท้ายอาหารจานนั้นต้องมีหน้าตาพออวดเพื่อนฝูงได้” (ตกม้าตายก็คือข้อสุดท้ายนี่แหละ เพราะคำว่าหน้าตามันต้องรวมรสชาติด้วย เป็นนักทฤษฎีนี่นะ ชอบอ่านและอยู่ในโหมดอ่านอย่างเดียวเรื่องทำนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เหอะ ๆ )

ในหนังสือมีไอเดียหลายอย่างเกี่ยวกับครัวที่คำนึงถึงทั้งสุขภาพและสิ่งแวดล้อม อย่างเช่น ควรเลือกใช้เตาแก๊สแทนเตาไฟฟ้าเพื่อประหยัดพลังงานและขยะอิเล็คทรอนิคส์ในอนาคต โชคดีที่บ้านเช่าให้ครัวมาพร้อมเตาแก๊สเลยไม่ต้องคิดเรื่องนี้ให้เสียเวลา แต่ไอ้ที่ต้องคิดเพิ่มจนอยากเปลี่ยนไปใช้เตาถ่านก็คงน่าจะเป็นเหตุผลที่ว่าแก๊สที่นี่แพงเหลือใจ แก๊สถังเล็ก 15 กิโลราคาเกือบสองแสนกีบ (เจ็ดร้อยกว่าบาท) โอ้....ช่างเป็นเงื่อนไขให้แม่ครัวมือใหม่ต้องยืมเทคนิคคนเขียนมาใช้ว่า จะต้มจะตุ๋นอะไรให้เปื่อยก็ใช้ไฟอ่อนและปิดฝาหม้อเสียนะจ๊ะ นอกจากประหยัดค่าแก๊สแล้วยังได้ประโยชน์จากวิตามินต่าง ๆ มากกว่าใช้ไฟแรงเร่งร้อนจี๋

แม่ครัวเปิดตำราที่คนเขียนบอกว่าง่าย ๆ ทำไปเรื่อย มันก็ทำง่ายจริงนะ แต่ว่ามันไม่อร่อยอ่ะ!? อันนี้ไม่เกี่ยวกับตำราแต่เกี่ยวกับคนทำที่ขาดสัมผัสทางลิ้นและความรู้พื้นฐานของการทำกับข้าว ลูกชายจอมเขมือบแนะนำว่า

”แม่คร้าบ เป็นแม่ครัวน่ะต้องหัดชิม! ขนาดแม่ยังไม่กล้าชิมกับข้าวที่แม่ทำแล้วคนอื่นจะกล้ากินหรือ!?”

พอบอกลูกไปว่าแม่ชิมแล้วล่ะ อร่อยแล้ว แต่กับข้าวแม่ไม่มีการใช้ผงชูรสนี่ (ข้อนี้แก้ตัวให้ฝีมือตัวเอง) ลูกชายซึ่งไม่สนเรื่องครัวสีเขียวเพราะสีอะไรก็ได้ขอให้ “อร่อย” ย้ำบอกเทคนิคว่า

“แม่เคยสังเกตร้านอาหารดัง ๆ ที่คนรอคิวซื้อกันเยอะ ๆ หรือเปล่า”

แม่สั่นหน้าเพราะไม่เคยสนใจตามหาตามชิม ลูกชายบอกต่ออย่างมั่นใจว่า

“ร้านไหนร้านนั้นไม่เคยติดป้ายว่า ร้านนี้ปลอดผงชูรส!”

คำพูดนี้เรียกเสียงหัวเราะและแรงฮึดจากคุณแม่ที่อยากต่อท้ายว่า “ครัว” เพิ่มอีกหนึ่งตำแหน่งเป็นอย่างยิ่ง

นอกจากครัวสีเขียวแล้ว ยังมีหนังสือเกี่ยวกับอาหารอีกเล่มที่ชอบอ่านก่อนเริ่มต้นเป็นแม่ครัว ชื่อหนังสือคือ "แมคโครไบโอติกส์ เล่มสาม ตอนที่นี่ มีคำตอบ" ชอบเพราะหลังปกบอกว่า “เป็นจุดสิ้นสุดเบ็ดเสร็จของเรื่องราวหลากหลายในทฤษฎีที่ว่าด้วยการกินอยู่แบบธรรมชาติ ที่คุณสิทรา พรรณสมบูรณ์ ผู้ประสบเหตุการณ์อันหฤโหดจากมะเร็งร้ายซึ่งเธอสามารถกำจัดมันออกไปให้หายขาดด้วยการใช้ชีวิตแบบแมคโครไบโอติกส์ จากนั้นเธอก็ใช้ความรู้ทั้งหมดที่มีเขียนหนังสือ…”

ตอนอ่านก็เพลิดเพลินเป็นที่ยิ่ง (โหมดอ่านนี่เข้าง่ายกว่าโหมดทำเนอะ) แต่พอเวลาทำกับข้าวจริง ๆ ความรู้ต่าง ๆ ที่อ่านมาลืมโม้ดดด.. ไม่เป็นไร ปลอบใจตัวเองว่ายังไม่ป่วย (หนัก) ให้เวลาตัวเองค่อย ๆ ซึมซับความรู้ไว้ก่อน ถึงเวลาคงได้ใช้ออกมาอย่างเป็นธรรมชาติแหละนะ

อีกเล่มที่อ่านอย่างเพลิดเพลินกับสำนวนน่ารักของคนเขียนคือ I love breakfast ของคุณพลอย จริยะเวช เจอคำโปรยหน้าปกว่า “สารพันเมนู เพื่อการเปลี่ยนยามเช้ามื้อยุ่งให้เป็นมื้อเช้าที่อิ่มอร่อยและรื่นรมย์” ก็เลยตามเธอไปดูนั่นชิมนี่เป็นที่สนุกสนาน อุตส่าห์เอาเมนูง่าย ๆ อย่างหมูเค็มสูตรฮิตติดบ้านคุณพลอยมาลองทำ ตอนฝึกก่อนมาอยู่เองที่ลาวก็พอลุ้น แต่พอมาอยู่จริง เอ้อ, หมูเมืองลาวไม่ค่อยมีไขมัน ทำครั้งแรกหม้อไหม้ ครั้งที่สองเค็มขาดใจ (ปรับส่วนผสมเองแต่ตามประสาคนไม่เป็น) เลยยังไม่คิดจะกินหมูเค็มสูตรนี้ในลาวอีก เหอ ๆ ขอเปลี่ยนไปอีกสองเมนูที่(เหมือนจะ)ง่ายกว่า อ่านแล้วดูอร่อยด้วย นั่นคือไข่ขยี้หรือไข่คน กับไข่ม้วนออมเล็ต

วันแรกทำไข่ม้วนออมเล็ตลูกชายบ่นกระปอดกระแปดว่าไม่ชอบ (คือไม่ชอบหอมใหญ่กับมะเขือเทศ) วันรุ่งขึ้นก็อุตส่าห์เอาใจทำไข่ขยี้แสนพิเศษให้ คราวนี้ทั้งพ่อทั้งลูกบอกว่า ต่างกับไข่เจียวตรงที่มันไม่เป็นแผ่นเท่านั้นเอง..และก็ ‘เท่านั้นเอง’ สำหรับอาหารจากสูตรคุณพลอย เหอ ๆ เอาเก็บไว้อ่านเล่นเพลิน ๆ ก็แล้วกัน ก่อนที่ทุกเช้าของวันจะไม่รื่นรมย์



เล่มที่สี่หยิบมาเพราะหน้าปกยั่วยวนใจคนที่บ้านเป็นอย่างมาก หนังสือชื่อ “เบาหวาน อาหารลดน้ำตาลในเลือด” ของสำนักพิมพ์แสงแดด ดูแต่ภาพก็อิ่มแบบผอม ๆ พร้อมสุขภาพที่น่าจะดีไปด้วย อิ่มอกอิ่มใจว่าถ้าทำได้ คนที่บ้านคงลดปัญหาเรื่องโรคเบาหวาน ส่วนคนทำก็คงได้ลดปัญหาน้ำหนัก แต่ก้อ..นะ, ทำออกมาไม่ได้อร่อยซักที..ช่วงเดือนแรก ๆ ในเมืองลาวจึงกลายเป็นช่วงเดือนแห่งความกลุ้มใจของแม่ครัวมือ (เริ่มนับ) หนึ่ง เพราะลูกชายจะบ่นอุบเกือบทุกมื้อ ตอนแรกก็โมโหลูกว่าช่างเลือก จะทำนี่ให้ก็ไม่เอา จะทำโน่นให้ก็ไม่กิน ถามว่าอยากกินอะไร ลูกตอบกลับมาชัดถ้อยชัดคำ “อะไรก็ได้ที่อร่อย!”

แรงฮึดจากลูกทำให้พยายามอย่างยิ่งที่จะทำอะไรที่ไม่ใช่แค่ง่ายแต่ต้อง “กินอร่อย” ซึ่งความอร่อยของลูกชายเริ่มที่ผัดคะน้าหมูกรอบซึ่ง “ใคร ๆ ก็ทำได้” ใคร ๆ ที่ว่านี้ลูกชายหมายถึงเข้าไปร้านอาหารตามสั่งที่เมืองไทย ร้านไหนก็ทำได้ แถมออกมารสชาติเดียวกันด้วย (แม่ไม่อยากเถียงว่าก็แหงสิ ใช้ซอสปรุงรสยี่ห้อเดียวกันนี่) ว่าแล้วก็อยากท้าประลองด้วยการทำผัดคะน้าหมูกรอบให้ลูก ล้างและหั่นผักเสร็จก็ทุบกระเทียมโคร้ม! กลีบกระเทียมกระเด็นกระดอนออกนอกเขียง นึกในใจว่า แค่กระเทียมยังทุบให้แหลกไม่ได้เลย! แล้วความคิดก็ชะงักอยู่ตรงนั้น

วิธีที่ใช้ทำกับข้าวคงไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องกระมัง..ทำกับข้าวไม่อร่อยเพราะทำไม่เป็นอย่างที่มันควรจะเป็นกระมัง คราวนี้เลยขยับท่าทางใหม่ แทนที่จะทุบกระเทียมปัง ๆ อย่างที่เคยทำ ก็ใช้ด้านข้างของมีดบุบพอแหลกแล้วค่อย ๆ สับซอย เออแฮะ, หน้าตาค่อยดูได้ขึ้นมาหน่อย

พอถึงการทำหมูกรอบเลยนึกถึงประสบการณ์หมูเค็มเค้มเค็มที่ทำพลาดจากสูตรคุณพลอยมาเป็นบทเรียน นั่นคือต้มหมูสามชั้นก่อนแล้วทอดตามให้หมูกรอบนอกนุ่มใน เทหมูที่หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ลงกระทะ ใส่น้ำมันนิดหน่อยแล้วตั้งใจเจียวน้ำมันจากหมูสามชั้น ไม่น่าเชื่อว่าหลังจากนั้นจะทำให้รู้จักอีกหนึ่งมหัศจรรย์แห่งชีวิต

มันหมูที่คลุกเคล้าอิ่มน้ำมันพืชในกระทะยืดพองแล้วหดตัว ก่อนจะเปลี่ยนสีและสภาพกลายเป็นหมูกรอบ ช่วงเวลานั้นต้องยืนอยู่หน้าเตาไฟคอยปรับความร้อนและคอยดูชิ้นหมูไม่ให้ไหม้เกรียม นับเป็นเวลาค่อนข้างยาวนานจนรู้สึกร้อนที่หน้าและเหงื่อเริ่มซึม แต่ประหลาดมากเหลือเกินที่ชั่วขณะหนึ่งของการได้เห็นชิ้นหมูสามชั้นแต่ละชิ้นค่อย ๆ กลายสภาพจากอ่อนเป็นกรอบแข็งและสีขาวขุ่นค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นเจือสีเหลืองทองก่อนจะกลายเป็นสีเข้ม ช่างเป็นชั่วขณะที่แสนพิเศษ เป็นช่วงเวลาที่ความร้อนหน้าเตาไฟไม่มีผลเท่าความเย็นที่วาบกระจายอยู่ข้างในอก เออหนอ, ความเย็นใจเป็นเช่นนี้เอง

หลังคำชมจากลูกชายว่าอร่อยจังในมื้อนั้นแล้ว จึงได้รู้ว่า คู่มือทำอาหารก็คือคู่มือ คือผู้ช่วย แต่จะไม่ช่วยเลยถ้าแม่ครัวไม่กล้าทำ มะงุมมะงาหราอยู่กับการเปิดตำรา จะหยิบจะจับอะไรก็เงอะงะกลัวผิดสูตร การได้เห็นอะไรกระจะตาจากเตาไฟในการทำผัดคะน้าหมูกรอบวันนั้นช่วยให้ตาสว่างขึ้น มีความมั่นใจมากขึ้น กล้าทำและรู้จักอดใจรออะไรมากขึ้น รวมทั้งยอมรับมากขึ้นที่จะถูกบ่นหรือวิจารณ์ว่าอาหารจานนี้จานนั้น “ไม่อร่อย, ไม่ได้เรื่อง” เริ่มรู้ว่าคำวิจารณ์ที่บางครั้งตรงจนกระแทกอัตตากระเจิดกระเจิงนั้น อาจเกิดขึ้นได้จากความคาดหวังของคนกิน หรือความช่างเลือกจนน่าหมั่นไส้ของคนกินอาจเกิดขึ้นเพราะคนกินไม่มั่นใจในคนทำอันเนื่องจากคนทำไม่มั่นใจในตนเองก็ได้

ความเครียดในการทำอาหารท้ายสุดแล้วจึงกลายเป็นความผ่อนคลาย กลายเป็นความสนุกในการทดลองและทำ และกลายเป็นความสุขที่จะคอยสังเกตหน้าตาของคนกิน นอกจากนี้ความสุขยังมีมากขึ้นอีกเมื่อรู้ว่า ต่อจากนี้ไป หลักการอาหารรีไซเคิลของคุณทัทยาจะถูกหยิบยืมมาใช้น้อยลง 5555

แต่ยังไง้ ยังไง การทำอาหารก็เหมือนการใช้ชีวิต ไม่มีหยุดนิ่งเพราะมีอะไรใหม่ ๆ มาท้าทายตลอด พื้นฐานสุดคือการทำอาหารที่คนกินชอบ มีประโยชน์และไม่น่าเบื่อ แม้เดี๋ยวนี้ลูกชายไม่ต้องไปกินเฝอที่ร้านแถวบ้านติดกันตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันอาทิตย์อีกแล้ว แต่การทำกับข้าวก็ยังเป็นแบบฝึกหัดพื้นฐานของการทำงานและการเรียนรู้ใหม่ ๆ ในชีวิตประจำวันอยู่เสมอ เพราะแม้จะมั่นใจว่าทำกับข้าวได้ แต่ก็แน่ใจว่าไม่ใช่คนทำกับข้าวเก่งหรือมีพรสวรรค์ในการทำกับข้าว แน่ใจว่าตนเองไม่ใช่แม่ครัวประเภทที่สามารถหยิบจับทุกอย่างที่ขวางหน้ามาแปรสภาพให้เป็นจานอร่อยได้ง่าย ๆ ไว ๆ

ด้วยเหตุฉะนี้ คู่มือการทำอาหารต่าง ๆ จึงเป็นตัวช่วยที่มีความหมายมากขึ้นกว่าแต่ก่อน และระหว่างการหัดทำกับข้าวเพื่อให้บ้านหลังนี้สามารถเป็นที่พึ่งทางอาหารแก่สมาชิกหนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่ได้สมควรแก่อัตภาพนั้น ต้องขอขอบคุณคู่มือหลายเล่มที่ใช้เป็นที่พึ่งของแม่ครัวมือใหม่อีกต่อหนึ่ง โดยเฉพาะต้องขอบคุณน้องกุ้งที่อุตส่าห์ให้ยืมคู่มือน่าอ่านน่าทำมาไว้หัดฝึกปรือที่เมืองลาวด้วยหลายเล่ม อยากบอกว่าชอบมาก โดยเฉพาะ “อาหารจากสมุนไพร” ของสำนักพิมพ์แม่บ้าน เพราะนอกจากเป็นเมนูธรรมดา ๆ ที่อร่อยและหาเครื่องปรุงแสนง่ายในตลาดเกือบทุกแหล่งแห่งที่แล้ว ในเล่มยังมีความรู้นิด ๆ หน่อย ๆ ประกอบสมุนไพรแต่ละชนิดเป็นเครื่องเคียงเมนูด้วย หากเวลาส่งคืนมีเยินเล็กน้อยก็ขออย่าถือโทษเลย เพราะคู่มือเล่มนี้มีที่อยู่ประจำในครัวมากกว่าบนชั้นหนังสือ

หมายเหตุ: ตอนแรกอยากเขียนถึงหนังสือเพื่อลงในกลุ่มบล็อก"อ่านแล้วเขียน" แต่ไม่ได้อัพบล็อกเรื่องลาวมานานแล้ว (ติดไว้ตั้งแต่แม่โขงน้ำแห้งขอดจนน้ำปริ่มท่วมเมือง) เลยรวมเรื่องกินเรื่องอ่านมาไว้ในกลุ่มบล็อกนี้แทนก็แล้วกันนะ ส่วนเรื่องภาษาลาวและสถานที่เที่ยวคงติดไว้ก่อนเหมือนเดิม ถึงกำหนดย้ายกลับเมืองไทยแล้วจะพูดลาวได้หรือไม่ และจะได้เที่ยวเมืองลาวหรือเปล่าก็ยังไม่รับประกัน อิ อิ





Create Date : 19 สิงหาคม 2554
Last Update : 19 สิงหาคม 2554 16:10:05 น. 22 comments
Counter : 1175 Pageviews.

 
ช่วงขณะที่แสนพิเศษนั้น เป็นช่วงขณะที่เกิดได้กับทุกๆกิจกรรมในชีวิต ที่เห็นได้ชัดมากๆคือ ทำสวน เย็บผ้า และทำอาหารนี่แหละค่ะ
..เรารู้สึกอุ่นๆที่หัวใจได้เสมอๆกับกิจกรรมประเภทนี้
พี่พีเขียนได้อ่านเพลินไปเลย รู้สึกดีกับการทำอาหารแล้วใช่ไหมคะ ..ที่เคยรู้สึกไม่ดี เพราะไม่เคยได้"ลงมือ"กับครู(เช่นแม่หรือคนในครอบครัวคนอื่นที่เขาทำเป็น)หรือปล่าวคะ พี่สาวแมลงก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน ไม่กล้าลงมือ รวมทั้งไม่กล้าปรุงก๋วยเตี๋ยวด้วยกลัวไม่อร่อย ต่างจากแมลงมากเพราะเป็นลูกมือให้แม่(เหมือนแก่นและโส่ย)ตลอด..แต่วันนี้ เขาเริ่มชอบทำอาหารและเริ่มชอบเย็บผ้าด้วย(แม่มดเอ๊กซ์ว่า มันไม่สายเกินไปเหรอ..เหอๆ แม่สะกัดดาวรุ่ง)
แมลงก็หาใช่แม่ครัวคนเก่งไม่ แต่ชอบที่จะทำอาหารกินเอง มีเหตุผลหลายอย่าง แน่ๆคือ เราชอบกินอะไรเราก็ทำอย่างนั้น อย่างที่ทำสลัดบ่อยเพราะตัวเองชอบกินผักและขี้เกียจเก็บล้าง เหลือกินไม่หมดเดือดร้อนต้องกินของเก่า.. ชอบกินใหม่ๆ สลัดผักก็เลยเป็นคำตอบของตัวเอง ผลไม้ก็เหมือนกันค่ะ กินแล้วสบายตัว ไม่เหมือนกินกรอบแกรบ
แล้วเมนูที่ทำก็พยายามเลือกให้ง่ายเข้าไว้ จะได้ไม่เสี่ยงต่อการเททิ้ง..พี่พีรู้ไหมว่าทำหมูกรอบให้กรอบอร่อยนั้นน่ะ ลำบากเหมือนกันนา ถ้าเทียบกับออมเลต ฮี่ๆ ไข่ขยี้...แต่ดีจังนะคะ หมูเมืองลาวไม่ค่อยมีมัน สงสัยเขาเลี้ยงแบบปล่อยเนอะ
แมลงเคยได้ยินพวกคนครัวเก่งๆพูดกันทั้งนั้นว่า ฝีมือมาที่หลัง แต่วัตถุดิบต้องเป็นของดี สด ใหม่ อร่อยไปมากว่าครึ่งทางแล้วค่ะ ถ้าจะไม่อร่อยก็เป็นเพราะว่าเราไม่รู้วิธี ก็เลยทำเสีย ฮ่าๆ


โดย: แมลงจ่่่่่อย (Bug in the garden ) วันที่: 20 สิงหาคม 2554 เวลา:20:01:32 น.  

 
ใช่ค่ะคุณแมลง อร่อยไปครึ่งทาง แต่ไปไม่ถึงปลายทาง แง

อยากบอกว่าเย็นใจจริง ๆ น้า ไม่ใช่อุ่นใจ แบบหลังน่ะ ไม่ใช่ตอนทำกับข้าวให้ลูกกับพ่อ แต่เป็นตอนที่พ่อกับลูกกินหมดตะหาก อิ อิ

คิดว่าความเย็นที่ได้ตอนนั้นเป็นความสุขผสมสมาธินะคุณแมลง และสัมผัสนั้นน่ะแหละที่ทำให้มั่นใจได้ว่า การปฏิบัติธรรมคือชีวิตจริง ๆ ...รางวัลที่ได้เพิ่มเติมจากการทำครัวไงคะ ข้อนี้คุณแมลงรู้ดีอยู่แล้วววว แต่พี่ได้เป็นรางวัลพิเศษ เพราะเป็นสิ่งที่ไม่ชอบทำ การต้องทำในสิ่งที่ไม่ชอบนั้น มองดูอีกทีมันก็เหมือนหมูสามชั้นกลายสภาพเป็นหมูกรอบเหมือนกันเนอะ


โดย: kangsadal วันที่: 21 สิงหาคม 2554 เวลา:11:02:25 น.  

 
แวะมาเยี่ยมแม่ครัวอนาคตไกล (ไม่ใช่ไกลครัวนะ) อ่านๆ แล้วก็รู้สึกว่าพี่พีเร่ิมสนุกแล้วนะคะ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

เราว่า อันตำราอาหารเพื่อสุขภาพนั้น เอาไว้ทีหลัง เมื่อทำอาหารเพื่อความอร่อยได้อยู่ตัวก่อนดีไหม เพราะตามความเห็นส่วนตัว คิดว่า พอเบสิคดี จะปรับใช้อะไรที้คิดว่าดีกว่าสำหรับสุขภาพแทนของเดิม ก็จะง่ายกว่า

เชื่อไหมว่า ขอบอ่านหนังสือทุกอย่าง ยกเว้นตำราทำกับข้าวพวกนี้ที่วางแผงขาย ๆ อยู่ ไม่รู้เป็นยังไง บางเล่มคนเขียนทำให้เรารู้สึกว่า เขาไม่ค่อยเก่งจริง อ่านแล้วก็ไม่อยากทำตาม คนที่เขียนบล็อกทำอาหารหลายคนทำได้ดีกว่านั้นแยะเลยค่ะ





โดย: secreate (secreate ) วันที่: 21 สิงหาคม 2554 เวลา:13:48:35 น.  

 
เบสิคค่ะคุณโส่ย...เบสิค หนังสือที่อ่านเป็นพื้นฐานเพราะแทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับการทำครัว และอยู่ที่นี่แรก ๆ ไม่มีโอกาสเข้าเน็ต แต่เห็นด้วยว่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากบล็อกต่าง ๆ มักเป็นของแถมดี ๆ ที่หาไม่ได้จากหนังสือ แต่เอ้อ,..ไม่อยากบอกเลยว่า น้ำสลัดสูตรเต้าหู้กับน้ำสต็อคที่เคยถามถึงกับคุณนิดยังไม่เคยทำเลย แหะ ๆ เป็นพวกแพ้ครัวจริง ๆ

เริ่มทำอาหารเพราะอยากได้อาหารสุขภาพ แต่มันก็เหมือนกับก้าวกระโดดจริง ๆ เพราะอาหารสุขภาพนั้นไม่เก่งจริงคงไม่มีใครอยากกิน...และด้วยเพราะเหตุนี้แหละที่ทำให้ไม่อยากเข้าครัว พอไม่หัดอะไรก๊อก ๆ แก๊ก ๆ ในครัว ก็ทำอะไรไม่เป็น กลายเป็นปัญหางูกินหางไปเลย นี่ถ้าแถวบ้านมีร้านอาหารเยอะเหมือนเมืองไทยรับรองว่าก็คงไม่เข้าครัวอยู่ดี :)

วันนี้ทำสุกี้ผักให้ลูกชาย จอมเขมือบฟัดเรียบ แต่พอถามหาความอร่อยลูกชายให้สี่ แม่ยิ้มกริ่มว่าได้เกรดสี่เหมือนตอนลูกเรียนที่ไทย ที่ไหนได้ ลูกบอก "สี่เต็มสิบ!!"
:(




โดย: พี่พี IP: 202.137.156.26 วันที่: 21 สิงหาคม 2554 เวลา:15:18:11 น.  

 
เคยพูดบ่อย ๆ ว่าปัจจัยหลักของการทำอาหารให้ได้ดี คือคนกิน คนชิมนี่ล่ะค่ะ
เพราะเป็นทั้งเหตุผลที่ต้องทำ หรืออยากทำ เป็นแรงกระตุ้น(เวลาทำแล้วมันว่าไม่อร่อย ต้องแก้มือ) และบางทีก็เป็นกำลังใจให้ด้วย

ทำแล้วไม่มีคนกิน จะทำไปทำไม เนอะ
สุกี้ผัก เป็นอีกเมนูที่ชอบทำ เหมือนจะยุ่งยาก เครื่องเยอะ แต่ง่ายเพราะความอร่อยอยู่ที่วัตถุดิบเป็นส่วนใหญ่ เคยใช้วิธีเตรียมเครื่องทุกอย่างให้เรียบร้อย แยกเป็นอย่าง ๆ ต้มซุปเอาไว้หม้อโต เวลากิน ทำทีละชาม โดยใช้หม้อใบเล็ก ตั้งน้ำซุปให้เดือด ใส่เครื่องตามลำดับความยากง่ายในการสุก คน ๆ เสร็จแล้ว เครื่องกับน้ำซุปแยกเก็บในตู้เย็น ใช้ได้ลายครั้ง แต่พวกผักต้องผึ่งให้แห้งๆ ก่อนเก็บเท่านั้นค่ะ
สุกี้ที่บ้านเสิร์ฟพร้อมกระเทียมสด และพริกขี้หนูสับ มะนาวสด น้ำจิ้มสุกี้ยังบางทีไม่จำเป็นเลย


โดย: secreate (secreate ) วันที่: 21 สิงหาคม 2554 เวลา:15:37:07 น.  

 
ถ้าอยากซื้อเตาอบ ใช้ขนาดกลาง ๆ ดีกว่า อย่าเล็กเกินไป เตาเล็กร้อนช้ากินไฟเพราะต้องเปิดนานกว่าอุณหภูมิจะได้ที่ ประมาณขนาด 30 ลิตร ก็ได้ค่ะ เราแนะนำตามประสาคนมือไม้หนักนะ ได้ยินหลายคนในห้องก้นครัวเขาใช้ยี่ห้ออ้อตโต้ รุ่นไม่ใหญ่ ยังทำอะไรต่าง ๆ นานาได้กระหน่ำ เครื่องหนึ่งราคาไม่แพง ลองซื้อมาแล้วจะได้ไม่เสียดายถ้าเกิดไม่ชอบใช้

โดยส่วนตัวชอบเตาอบที่ข้างในกว้างหน่อย. บางยี่ห้อเดี๋ยวนี้ข้างในเล็กมาก
อาหารที่ใช้วิธีอบง่าย ๆ เยอะนะคะ ไม่ต้องใช้น้ำมันเยอะถ้าเราใช้ถาดเป็นแก้ว (ไม่ค่อยชอบพวกนอนสติ๊ก)
ลูกชายพี่พีท่าทางจะกินเก่ง ดีค่ะ อยากให้นายเทนเป็นเด็กกินเก่งมั่งจังเลย เขาเลี้ยงกันยังไงนะ ให้ลูกช่างกินเนี่ย


โดย: secreate (secreate ) วันที่: 21 สิงหาคม 2554 เวลา:17:57:14 น.  

 
มาแจมคุยกับสองคุณแม่ด้วย ..เค้าไม่เห็นด้วย เค้าว่าอาหารสุขภาพอร่อย เพราะมันเป็นรสธรรมชาติของตัวเองอยู่แล้ว ไม่ต้องเติมจนจำรสชาติเดิมของวัตถุดิบไม่ได้ แต่ก่อนไม่เข้าใจว่าทำไมคุ้มว่าผักเมืองไทยเช่นไม่มีรสชาติ พอไปเจอในยุโรปน่ะ กินเปล่าๆก็อร่อย(เข้าใจว่าพืชคงใช้เวลาสะสมอาหารนานกว่า) แต่ก็น่าภูมิใจว่าบรรพบุรุษไทยนี่เก่งมากๆที่ทำวัตถุดิบไม่ดีให้อร่อยได้ไง (ใส่เครื่องเทศเครื่องปรุงซะรสจัดจ้านจำรสเดิมไม่ได้เลย) น่าจะมาแลกลูกกันเนอะ ยกนายเทนไปอยู่บ้านพี่พี และยกหนูไผ่ไปให้โส่ย ฮ่าๆ ผ่านไปนายเทนเป็นซี่โครงเดินได้ ส่วนหนูไผ่ต้องไเข้าคอร์สลดน้ำหนัก


โดย: แมลงจ่่อย (Bug in the garden ) วันที่: 21 สิงหาคม 2554 เวลา:20:05:27 น.  

 
คุณนิดคะ ตอนนี้ก็ต้องเข้าลดน้ำหนักกันแล้วทั้งแม่ทั้งลูก
มิใช่ว่าอาหารอร่อย แต่อาหารไม่อร่อยกินแล้วมันเหมือนไม่ได้กิน ก็เลยต้องแสวงหาโน่นนี่กินอยู่เรื่อยยย

เชื่อว่าอาหารอร่อยที่ปลายลิ้นจริง ๆ คนกินไม่เยอะหรอก เพราะเวลาละเลียดสัมผัสรสนั้นมันช่วยให้อิ่มใจไปด้วย อีกนานเลยกว่าจะถึงวันนั้น

ขอบคุณคุณโส่ยสำหรับคำแนะนำเรื่องเตาอบ สงสัยคงต้องรอไปหาซื้อแถวอุดร..คนงานเยอะจะว่างพาไปตอนไหนก็ไม่รู้ และขอบคุณมาก ๆ เลยสำหรับคำแนะนำที่จริงจังดีแท้กับการทำอาหารให้อร่อยอยู่ตัวก่อนคิดเรื่องอาหารสุขภาพ เหอ ๆ อาทิตย์นี้เห็นกราฟดิ่งลงเรื่องรสชาติแล้วอดใจฝ่อไม่ได้ แต่ก็ เนอะ มีคนคอยชิมคอยติยังดีกว่าไม่ต้องทำเพราะไม่มีใครรอกิน

มาหัดเข้าครัวตอนแก่เนี่ยนะ...


โดย: kangsadal วันที่: 24 สิงหาคม 2554 เวลา:8:18:06 น.  

 
น้องนิด เค้าว่าอาหารสุขภาพอร่อย ไม่ได้ชอบอาหารปรุงเยอะ ๆ เหมือนกัน ตนทำอาหารต้องรู้เบสิคของการทำอาหารเบื้องต้นก่อน ในความเห็นของเรา เช่น จะทอดอย่างไรให้ดี ต้มผักยังไง ผัดผักทำยังไง ก่อนที่จะไปถึงว่าจะปรุงอะไรให้มันแยะ

ยังไม่ต้องไปกังวลว่าจะเน้นทำอาหารสุขภาพ เชื่อว่าอาหารส่วนใหญ่ในครัวคนไทย เป็นอาหารสุขภาพอยู่แล้ว เพราะอาหารพรืออาหารตะวันออก(เรียกรวม ๆ จะมาจากชาติไหนก็เถอะนะ) มีความหลากหลายของเครื่องปรุง ใช้เครื่องเทศและสมุนไพรเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว

อาหารประจำวันนี่แหละค่ะ เล่นสนุกได้ทุกวันนะคะ พี่พี
เอาใจช่วย



โดย: secreate (secreate ) วันที่: 24 สิงหาคม 2554 เวลา:9:38:19 น.  

 
มาลุ้นเต็มที่ วันก่อนลืมบอกเรื่องทำอาหารง่ายๆ ก็อร่อยได้ อาหารที่แมลงทำทุกอย่างต้องง่าย เพราะเป็นคนขี้เกียจ ทั้งเตรียมทั้งเก็บล้าง ไม่ต้องการเปลืองแรงมาก ก็เลยชอบสูตรอาหารที่ทำง่ายและเสร็จเร็ว สลัดและแกงจืดจึงเป็นทางเลือก ทำบ่อยๆเลยกลายเป็นนิสัยให้กินอาหารสุขภาพไปโดยบังเอิญ
น้าสต๊อกนั่น ควรทำเป็นอย่างยิ่ง เก็บใส่ตู้เย็นไว้ ไม่รู้จะกินอะไร ก็แกงจืดหมูสับกับตำลึงข้างบ้าน หรือจะฟักแม้ว รวมผัก ผักกาดขาว ได้สารพัด ไข่เจียวหมูสับ ไม่ต้องพิสดารทำแกงมัสมั่น หมูกรอบ ยากเกินล่ะพี่ ไม่มีอะไรจะกิน เอาแป้งเกี๊ยวมาห่อหมูสับหมักกระเทียมพริกไทยน้ำมันงาเกลือ ใช้นำ้สต๊อกใส่ผักกาดหอมหรือถั่วงอก ก็อร่อยแล้ว ไม่เหนื่อนเก็บล้าง จะชวนเด็กมาเล่นห่อแป้งเกี๊ยวด้วยก็ยังได้ หรือจะเราไปทอดจิ้มน้ำบ๊วยเจี่ย หาแตงกวามะเขือเทศแกล้ม..สารพัดจะจินตนาการ เล่นสนุกไปค่ะ มีเหยื่อเลี้ยงง่าย โชคดีมากเลยรู้ไหมคะ เนี่ยเดี๋ยวจะไปชวนโส่ยมายึดพื้นที่บ้านนี้ แจกเมนูให้ทำทุกวันดีไหม ฮี่ๆ


โดย: แมลงจ่่่่อย (Bug in the garden ) วันที่: 25 สิงหาคม 2554 เวลา:21:54:20 น.  

 
ใครว่าเลี้ยงง่าย?
ตอนนี้ปิดครัวชั่วคราวค่ะ เลิกทำอาหารกลางวันแล้วให้ตังค์ไปกินที่โรงเรียนเองชั่วคราว!!

ปล. อาทิตย์หน้าจะลองหัดทำน้ำสต็อคค่ะ ถ้าเวิร์คก็จะเปิดโรงเลี้ยงเด็กใหม่ :)


โดย: กังสดาล IP: 202.137.156.20 วันที่: 26 สิงหาคม 2554 เวลา:8:13:49 น.  

 
ตอนนี้ คาดว่าพี่พีคงจะเปิดโรงเลี้ยงเด็กใหม่แล้ว เอาใจช่วย แกงจืดตำลึงด้วยน้ำสต๊อก ตอนนี้ตำลึงเยอะ ยอดฟักแม้ว ยัดไส้แตงกวา แกงจืดวุ้นเส้นใส่ดอกไม้จีนเห็ดหอมฟองเต้าหู้ สารพัดแกงจืดผัก เพราะน้ำแกงจืดเราอร่อยไงคะมีอีกเมนูนึงที่เด็กๆมักชอบกินคือ เนื้อหรือผักชุบเกล็ดขนมปังป่นทอด กินกับสลัด(หาทางหลอกให้กินผัก)


โดย: แมลงจ่่่่่อย (Bug in the garden ) วันที่: 4 กันยายน 2554 เวลา:15:50:45 น.  

 
ดีใจจังที่ได้เห็นข้อมูลในหนังสือได้นำไปใช้ประโยชน์ค่ะ ถ้าอยู่กับกุ้งก็คงได้แต่อยู่กับชั้นหนังสือแหละค่ะ พออ่านไปอ่านมา ชักอยากกินหมูกรอบซะแล้วสิคะ ^ _ ^


โดย: A pixel in a universe IP: 161.200.208.180 วันที่: 11 พฤศจิกายน 2554 เวลา:10:30:24 น.  

 
คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ...

สบายดีนะคะ


โดย: Dangjarunun วันที่: 27 พฤศจิกายน 2554 เวลา:7:59:54 น.  

 
สวัสดีค่า
ไม่เห็นล้อกอินคุณพีพีตั้งนานแล้ว จะตามมาคุยด้วยก่อนหน้านี้ เฟเวอริททีบุ๊คมาร์คหน้านี้ไว้หายไป จากการเอาไอแพดที่ใช้อยู่ไปอัพเดท

ตอนนี้อยู่เมืองลาว หรือกอบกู้บ้านน้ำท่วมอยู่กอทอมอคะ

ถ้าอยู่เมืองลาวคงได้เปิดโรงเลี้ยงเด็กใหม่ละมัง
เนอะ


โดย: Secreate (secreate ) วันที่: 7 ธันวาคม 2554 เวลา:19:05:36 น.  

 
ขอบคุณมาก ๆ ค่ะพี่พี สำหรับมิตรภาพ และข้อเขียนดี ๆ ทั้งที่มาคอมเม้นท์ และที่บ้านของแมลง
เราได้แง่มุมความคิดที่ดี และทำให้เรา "ช้า" ลงจากข้อเขียนพี่พีหลายครั้งเลย เพราะเราเป็นคนคิดเร็ว ทำอะไรเร็วเป็นนิสัยถาวร (ที่เขาเรียกย่อ ๆ ว่า ส.ด. อิ อิ) บางการกระทำและความคิดก็เร็วไป และหลายครั้งก็ไม่ดีเท่าไหร่
การได้อ่านข้อเขียนพี่พีบ่อย ๆ เหมือนกับทำให้ต้องค่อย ๆ คิดตามไปขณะที่อ่าน และทำความเข้าใจไปด้วย เหมือนมีคนมาค่อย ๆ พูดให้ฟัง

เอาใจช่วยให้การปรับปรุงบ้านเป็นไปด้วยดีนะคะ ตอนนี้ที่บ้านก็รกเต็มแก่ เพราะน้ำไม่ท่วม แต่เตรียมตัวซื้อของมาไว้บ้าง ตามกระแส ซึ่งจริง ๆ ถ้าน้องน้ำมาจริง ๆ ก็คงเอาไม่อยู่ แต่ซื้อพอไม่ให้โดนประนามว่าประมาท กำลังจะแจกจ่ายไปให้ผู้ที่เอาไปทำประโยชน์ได้อยู่


โดย: Secreate (secreate ) วันที่: 8 ธันวาคม 2554 เวลา:21:13:01 น.  

 


.
..
...
สุขทรรศน์
...
..
.

โลกที่ร้อน แรงร้าย เพราะใจเร้า

ก็ใจเรา มองลบ เพิ่มทบผล

มองให้ทุกข์ ก็ทุกข์ซ้ำ ต้องจำทน

โลกมัวหม่น ใช่หม่นแท้ แค่มุมมอง...


โดย: ลุงแว่น วันที่: 23 ธันวาคม 2554 เวลา:7:43:03 น.  

 


โดย: ลุงแว่น วันที่: 25 ธันวาคม 2554 เวลา:20:34:18 น.  

 



.
..
...
นับถอยหลัง
...
..
.

..................

ปีใหม่มา ให้นับน้อย ถอยอีกหนึ่ง

ก่อนชีวาตม์ ขาดผึง ลงร่วงผลอย

เร่งทำดี เติมชีวิต ก่อนปลิดลอย

คิดให้บ่อย ทำให้หนัก ค่อยพักยาว.


โดย: ลุงแว่น วันที่: 26 ธันวาคม 2554 เวลา:10:11:17 น.  

 
สวัสดีปีใหม่ค่ะ พี่พี
ขอให้พี่พีมีแต่ความสุข สงบ สว่าง ตลอดไปค่ะ


โดย: นก IP: 203.151.15.245 วันที่: 29 ธันวาคม 2554 เวลา:8:58:15 น.  

 
//bg3.bloggang.com/data/s/skit/picture/1325201369.jpg


โดย: ลุงแว่น วันที่: 30 ธันวาคม 2554 เวลา:6:34:18 น.  

 


โดย: ลุงแว่น วันที่: 30 ธันวาคม 2554 เวลา:6:34:43 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

kangsadal
Location :
เวียงจัน Laos

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]






พระจันทร์เต็มดวงคนมองเห็นได้บางวัน
เช่นกันกับวันที่เห็นพระจันทร์เสี้ยว
แต่ทุกวัน....
พระจันทร์เต็มดวง
online
Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2554
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
19 สิงหาคม 2554
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add kangsadal's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.