ต้นทุนชีวิตคือการสะสมความเคยชินที่ดี

อ่านภาษาลาวเขียนภาษาไทย (2) : ภาษาวันหยุด


การไปจ่ายตลาดผักปลอดสารเคมีหน้าธาตุหลวงทุกเช้าวันเสาร์เป็นกิจกรรมวันหยุดที่แสนรื่นรมย์ (แม่บ้านก็มีวันหยุดตอนเช้ากับเขาเหมือนกัน) ถนนตอนเช้าสงบ ไม่มีรถมาก ไม่ต้องเครียดกังวลกับการเลี้ยวซ้ายจากเลนขวา มีเวลาก็หยุดถ่ายรูปป้ายมาฝากคุณแมลง


สวนสาธารณะ 23 สิงหา (วันยึดอำนาจของชาวนครหลวงเวียงจันทน์)


เสาร์เมื่อวานเปลี่ยนเส้นทางไปถนนล้านซ้าง แวะเข้าไปถ่ายรูปป้ายอธิบายสถานที่ ในความรู้สึกเคยคิดว่าเป็นป้ายที่เขียนอธิบายยาวมาก และรู้สึกว่าตัวเองเก่งมากที่อ่านได้โดยไม่มองภาษาอังกฤษ (คงเหมือนเด็กหัดอ่านคำประสมได้) กลับมาถ่ายรูปวันนี้ทำไมมีไม่กี่บรรทัด ? อาจเป็นเพราะนี่คือข้อความแรกในวันแรกที่เริ่มอ่านภาษาลาวจากป้ายข้างถนน ความทรงจำครั้งแรกกับการเริ่มเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ มีอะไรพิเศษให้จดจำแบบนี้นี่เอง


ประตูไชยตั้งอยู่กลางเมืองเวียงจันทน์ สิ้นสุดของถนนล้านช้างด้านทิศตะวันออก,
ประตูไชยสร้างขึ้นปี ค.ศ.1962 กง (ตรง)กับพ.ศ. 2505
รูปการก่อสร้างแม่นสงวนไว้ซึ่งศิลปะลายลาวต่าง ๆ ควรแก่การศึกษาค้นคว้า
ปัจจุบันนี้ บริเวณประตูไชยได้ปรับปรุงให้กลายเป็นบ่อนพักผ่อนหย่อนใจ
ของชาวนครหลวงเวียงจันทน์ทุกชั้นคนและทุกเพศวัย


ภาษาลาวไม่ฟุ่มเฟือยตัวอักษรและคำสะกด การผสมคำก็ง่าย ๆ เหมือนเขียนคำอ่านออกเสียง เป็นการใช้คำที่ ตรงไปตรงมาและน่ารักดี อย่างป้ายเขียนว่า “ห้ามเหยียบหญ้า” นี่เคลียร์คัทชัดเจนมาก ไม่เหมือนป้ายบ้านเราเขียนว่า “กรุณาอย่าเดินลัดสนาม” เคยคิดเหมือนกันว่าสนามกว้างเดินอ้อมไกล ไม่มีทางลัดสะดวกให้แล้วยังมาห้ามอีก คนเขียนนี่ช่างไม่กรุณาเอาซะเลย

ถัดสนามหญ้าหลังประตูไชยมาหน่อยจะมีศาลาฆ้องสันติภาพโลก ได้รับเงินสนับสนุนจากอินโดนีเซีย แต่ดูใกล้ ๆ จะเห็นธงชาติของลาวคู่กับเวียดนามซึ่งลาวถือเป็นมิตรสนิทอยู่ด้านบนกึ่งกลางฆ้อง ส่วนของพี่ไทย (เราเรียกกันเอง? คนลาวเขาบ่นับเราเป็นเพื่อนสนิทเท่าเวียดนามและเขมรนา) อยู่ด้านล่างซ้ายมือ หาตั้งนาน เพราะสีน้ำเงินบนธงชาติกลายเป็นสีม่วง (ผสมสีผิดไปนิดหรอกน่าอย่าคิดมาก)


ศาลาฆ้องมองเห็นประตูไชยอยู่ด้านหลัง


ฆ้องสันติภาพโลก


ฆ้องสันติภาพโลก
มอบให้แก่รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
จากคณะกรรมการสันติภาพโลกของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย
วันที่ 22 พฤศจิกายน 2008


ปั่นขึ้นเนินมาอีกสักพักก็ถึงตลาดนัดตอนเช้าที่ตั้งใจมาแล้ว (แวะเที่ยวเพลินไปหน่อย)


ผลิตภัณฑ์อินทรีย์ ORGANIC PRODUCTS
กลุ่มชาวสวนกสิกรรมอินทรีย์ นครหลวงเวียงจันทน์
(ด้านขวามือตัวเล็ก ๆ เขียนว่า กรมปลูกฝัง)


ตอนแรกอ่านชื่อหน่วยงานแล้วคิดไม่ออกว่าคืออะไร เพราะเคยผ่านสถานที่แห่งหนึ่งเขียนว่ากรมส่งเสริมการปลูก คราวนี้มาเจอกรมปลูกฝัง ถามคนที่นี่เขาบอกว่า คล้าย ๆ Department of Agriculture คืองานเกษตรทั้งปลูกทั้งฝัง “บ่ต้องกึ๊ดมาก” จริงแฮะ ดูรูปข้างล่างสิ มีผักทั้งแบบปลูกแบบฝังเลย


ร้านนี้ออกแนวผักสีม่วง


แถวนี้ผักสีเขียว


กลุ่มนี้เน้นสีเหลือง มีแซมเขียวพอสวยงาม (อันหลังนี่คนเขียนใส่เอง อิ อิ)


ร้านนี้ก็สีเขียว ชอบวิธีแบ่งกำขายของเขาจัง
คิดถึงบ้านเราสมัยก่อน ที่นี่หาหนังยางรัดปากถุงยากมาก (แม้แต่ในตลาดสดแถวบ้านก็ไม่ใช้)
เป็นความเรียบง่ายและเสน่ห์ของตลาดพื้นบ้านจริง ๆ


เห็ดขอนขาว คนขายบอกว่าใช้ขอนไม้สีขาวเพาะเห็ด


ร้านนี้ออกแนวสีแดง
ดูแพ็กเก็จจิ้งเขาดิ เดาเอาว่าอาจเป็น “ขาใหญ่ประจำโครงการ”
(ขยับมาถ่ายรูปบวบเพราะชอบรูปทรง ดูตะปุ่มตะป่ำแปลกดี)


ตลาดนัดผักออร์แกนิคนี้มีทุกเช้าวันพุธและวันเสาร์ คนขายมาจากหลาย ๆ ที่ ถามไปถามมาจำไม่ได้เลยสักที่ (แป่ว!) ไปถามหากระเพราไม่เคยมีสักร้าน เห็นที่วางคู่กับโหระพาเขาก็บอกไม่ใช่ “ผักตู้” คนขายบอกอย่างนั้น ความที่ไม่มีสัญชาตญาณแม่ครัวก็เลยมอง ๆ มาหลายอาทิตย์แล้ว คิดว่าคงเป็นใบแมงลักมั้ง

วันก่อนไปซื้อขนมปังที่ร้านเบเกอรี่ มีสาวลาวไปถามชี้ขนมปังแบบต่าง ๆ ที่วางอยู่บนชั้น ขอคนขายเอามาลูบ ๆ คลำ ๆ แล้วยกขึ้นดม มองครั้งแรกก็รู้สึกแปลก ๆ เพราะเล่นจับขนมปังแถว (ซึ่งยังไม่ได้หั่นแบ่ง) ออกจากถุงด้วยมือเปล่า แต่ท่าทางที่เธอสัมผัสก้อนขนมปัง และรอยยิ้มตอนดมกลิ่นขนมปังนั้นประทับใจนักหนา สาวลาวคนนั้นหันมาบอกทั้งคนขายและคนซื้ออย่างเราว่า “หอมจัง นุ่มด้วย เคยซื้อบางร้านมันแข็ง เอาอันนี้แหละ หั่นให้ด้วย” เมื่อวานนี้เลยขอแม่ค้าหยิบผักตู้ขึ้นดม แม้กลิ่นไม่เหมือนบ้านเรา แต่ก็หอมติดจมูก มีกลิ่นเผ็ดอ่อน ๆ ไม่ฉุนมาก ยิ้มแป้นให้คนขายบอกว่านี่แหละกระเพรา คนขายบอกไม่ใช่ “นี่ผักตู้ อันนี้ (โหระพา) ผักตู้หลวง” เขาเห็นหน้างง ๆ เลยบอกให้เอาบุญ “ผักตู้มาจากหลวงพระบาง คนที่นั่นชอบกิน”

เวลาเดินซื้อของที่ตลาดนี่คิดถึงสินค้าโอท็อปบ้านเรา อาจเป็นเพราะลักษณะการส่งเสริมพิเศษหลายอย่างที่เห็นจากภายนอก (สักวันคงหาโอกาสขอไปดูสวนผักจริง ๆ ที่นี่) คนขายส่วนใหญ่ใส่เสื้อยืดสีเขียวพิมพ์โลโก้เดียวกัน ตั้งโต๊ะเป็นแถวต่อกัน คนซื้อแทบไม่รู้ว่าผักร้านไหนเป็นของใคร ร้านไหนขายไม่ดีก็จะบอกให้ช่วยซื้อหน่อย เพราะหน้าตาและรสชาติพืชผักบางอย่างก็ยังต้องการการส่งเสริมพัฒนาพันธุ์อีกระยะ เห็นสีหน้าแววตาคนขายบางร้านที่นี่แล้วทำให้นึกถึงชาวบ้าน (จริง ๆ) ที่ทำงานฝีมือที่เมืองไทยแล้วขายไม่ได้ โดยเฉพาะผ้าที่มีราคาแพงเพราะฝีมือและการออกแบบยังไม่สามารถสู้กับโอท็อป “มืออาชีพ” ที่ตั้งร้านประกบกันอยู่

บางอาทิตย์ก็มีเจ้าหน้าที่มาตั้งโต๊ะอำนวยการด้านข้างเต๊นท์ขายผัก มีคนเดินเก็บโพยอะไรบางอย่าง ชวนให้นึกถึงบัญชีรายได้ที่หน่วยงานพัฒนาชุมชนมาเก็บสถิติยอดขายงานออกร้านโอท็อบยังไงยังงั้น ผักที่นี่สดมาก ไปทีไรซื้อกลับมาเต็มตู้ (ตู้เย็นบ่แม่นตู้หลวง) ผ่านมาหนึ่งอาทิตย์กินไม่หมดก็ยังสดอยู่ เวลาเห็นสีสันและความหลากหลายของพืชผักแล้วละลานตา มีความสุขในการเดินดูมาก ไม่รู้จักชื่อเสียเป็นส่วนใหญ่ อาจเป็นเพราะไม่ใช่คนชอบเข้าครัวหนึ่งและอาจเพราะตลาดผักที่นี่ยังไม่ถูกผักเศรษฐกิจครอบงำเหมือนที่บ้านเราอีกหนึ่ง…ความสุขทางสายตาเช่นนี้ผสมรวมไปกับความหมายบางอย่างของวิถีชีวิตที่ซึมซ้อนอยู่

จ่ายตลาดเช้าแล้ว แวะซื้อข้าวจี่ข้างทาง (บอกแล้วว่าวันนี้วันหยุดของแม่บ้าน ไม่มีการทำอาหารวันละสามมื้อ เย้!) ข้าวจี่เป็นของรับมาจากฝรั่งเศส แต่ดูส่วนผสมซะก่อนเถิด มีตั้งแต่มะละกอสับ หมูสับ หมูหยอง ไปจนถึงพริกส้ม ๆ ที่เห็นอยู่นั่น ฝรั่งคนไหนใจถึงพอก็เชิญรับเบรคฟาสต์แบบเผ็ดขาดใจได้ที่นี่ค่า



สติ๊กเกอร์สามแผ่นข้างล่างนี้แปะอยู่ที่กระจกรถเข็นขายข้าวจี่ ทั้งสามภาพคือนโยบายด้านการเงินและการค้าของลาว (?)


งดติดราคาเป็นเงินบาท งดติดราคาเป็นเงินดอลลาร์ มาติดราคาเป็นเงินกีบลาว


แลกเปลี่ยนเงินตราค้าขาย ผิดกฎหมายบ้านเมือง
(ถ้าลูกค้าเอาเงินบาทเงินเหรียญมาซื้อก็รับไว้ได้น่า ...แต่ทอนกลับไปเป็นเงินกีบนะ)


อยู่เมืองลาวใช้แต่เงินกีบ (นะค้า)


กินข้าวเช้าแล้วพักก่อนแป๊ปนึง เดี๋ยวกลางวันจะพาไปกินไก่เคเอฟซี (คูเวียงฟรายชิคเค่นส์)..


ร้านคูเวียงจึ๋นขาไก่ (จึ๋นแปลว่าทอด)



บรรยากาศหน้าร้าน....แสดงว่ามีชื่อพอชวนลอง


มาเป็นชุด...ไก่ (จากไทย) หนึ่งชิ้น เฟรนส์ฟรายด์อีกหน่อย ชุด (จาน) ละ 7000 กีบ
แกล้มด้วยส้มตำ.. ส้มตำร้านนี้เสริฟพร้อมตะเกียบนะคร้าบ


อิ่มแล้วพักอีกรอบ ตอนเย็นจะพาไปเดินเล่นริมโขง




 

Create Date : 10 เมษายน 2554
6 comments
Last Update : 10 เมษายน 2554 12:41:49 น.
Counter : 4137 Pageviews.

 

มาเก็บไปหนึ่งคำ ..ภาษาเขาเรียบง่าย ตรงไปตรงมา ชาวไทยอย่างเราผู้อ้อมค้อม เพราะมีลับลมคมในและเล่ห์เหลี่ยมจะต้องพูดให้เข้าใจยากไว้ก่อน ทำซับซ้อนจะได้ดูมีวิชา ข่มเหงคนอื่น..ชอบๆ "กรมปลูกฝัง" ..เอ..แล้วกระทรวงศึกษาธิการนี่เขาว่าไง..
เห็ดขอนขาว ตอนอยู่บ้านที่สกล เวลาอากาศอ้าวแล้วมีฝนจะเห็นงอกอยู่ตามตอไม้มะม่วงตายหลังบ้าน เอามาใส่แกงหน่อไม้ อร่อยดีค่ะ ..มันอยู่ในสวนหลังบ้าน เราอยุ่ใกล้ที่สุด แต่ไม่เคยเก็บทันคนอื่นเลยค่ะ ต่างจังหวัด อะไรที่งอกอยู่ในบ้านบริเวณบ้านเรา เขาถือว่าเป็นของ"สาทาละนะ" ฮะ ฮะ มะม่วง น้อยหน่า มะเม่า ทุกอย่างที่เราปลูก ถือว่าเป็นของโลก หาได้มีใครเป็นเจ้าของที่แท้จริงไม่..เมืองลาวเป็นเหมือนกันไหม..
และผักตู่นี่ น่าจะเป็นผักอีตู่ของชาวอิสานนะคะ กลิ่นมันแรงดี เวลาแกงหน่อไม้ใส่เจ้านี่ลงไปด้วย เหอๆ กลิ่นหอมสิบบ้าน บางคนเขาว่าเหม็น แต่แมลงชอบ ออกแนวสมุนไพรดี
..พี่พี ได้ออกไปกินข้าวนอกบ้าน ถือเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศเหรอ ฮิฮิขำ

 

โดย: แมลงจ่่่่อย (Bug in the garden ) 10 เมษายน 2554 20:38:23 น.  

 

แวะมาหาอีกแล้ว ชอบจังเลยค่ะ+++ เก๋ดี

 

โดย: Fung Lan IP: 82.170.15.215 11 เมษายน 2554 5:15:36 น.  

 

สวัสดียามชามเช้าค่ะ ตลาดสดตอนเช้าน่าเดินนะคะ เห็นผักผลไม้แล้วน่าทานจริงๆ เลย

 

โดย: Apples in my eyes (Apples in my eyes ) 11 เมษายน 2554 9:13:49 น.  

 

สวนสาธารณะ 23 สิงหา ทางการจัดได้งามมาก

ฆ้องสันติภาพโลกใหญ่โตแสดงความหมายอย่างจริงใจ เข้าใจง่ายครับ

ผักปลอดสารพิษน่านำไปปรุงอาหารมากมีหลากหลายดีครับ

อยากให้เมืองไทยแพร่หลายแบบนี้บ้าง ของเราแพง และหายากมาก

 

โดย: Insignia_Museum 11 เมษายน 2554 22:53:00 น.  

 

ซำบายดีบ่..แว่บมารสน้ำดำหัวคุณพี่บ้านนี้ สงกรานต์เมืองลาวม่วนบ่

 

โดย: แมลงจ่่่่่อย (Bug in the garden ) 13 เมษายน 2554 13:59:34 น.  

 

เป็น blog เขมร และแปลภาษาเขมรได้ดีจริงๆครับ

 

โดย: ต้าโก่ว 12 กรกฎาคม 2554 10:07:01 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


kangsadal
Location :
เวียงจัน Laos

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]






พระจันทร์เต็มดวงคนมองเห็นได้บางวัน
เช่นกันกับวันที่เห็นพระจันทร์เสี้ยว
แต่ทุกวัน....
พระจันทร์เต็มดวง
online
Group Blog
 
<<
เมษายน 2554
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
 
10 เมษายน 2554
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add kangsadal's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.