ต้นทุนชีวิตคือการสะสมความเคยชินที่ดี

เพลินผ้า : เรียน ๆ เล่น ๆ ให้เป็นงาน


ตามอ่านบล็อกคุณแมลง (buggy in the garden) มานานสองนาน นอกจากเขียนถึงงานสวนในแบบที่หาอ่านที่อื่นไม่ค่อยได้แล้ว (รึหาได้แต่ว่าไม่เคยหาก็ไม่รู้ แหะ ๆ โลกสำหรับคนบางคนมันก็แคบอยู่เหมือนกันเนอะ) คุณแมลงเธอยังชอบทำอาหารและ “เล่นผ้า” มีงานควิลท์ผลงานตัวเองรวมทั้งงานควิลท์ผลงานคนอื่นมาแบ่งกันดูแบ่งกันชื่นชมอยู่บ่อย ๆ


(ภาพนี้มาจากบล็อกคุณแมลง แอบยืมมาโดยไม่ได้ขออนุญาต ขอบคุณไว้มาก ๆ ตรงนี้นะคะ)


เห็นฝีเข็มเล็ก ๆ และรายละเอียดยิบย่อยเบื้องหลังงานแต่ละชิ้นแล้วไม่เคยคิดเลยว่าเป็นเรื่องที่น่าเข้าไปร่วมวงด้วย เพราะรู้ว่าเบื้องหลังของเบื้องหลังคือเวลาและความอุตสาหะของคนทำเป็นอย่างยิ่ง ก็แหม.. เวลาเป็นของมีค่า แถมการเล่นผ้าตามสไตล์แม่บ้านผู้มีกะตังค์ทั้งหลายนั้นช่างเป็นเรื่องชวนให้คนที่คิดอยากจะเล่นต้องเตรียมพร้อมที่จะเสียค่าเวลาและจ่ายวัสดุอุปกรณ์ที่มีราคา (และแพง) อย่างยิ่งด้วย

ผ่านมาสองปี อยู่ ๆ ก็เกิดอยาก “เล่น” แบบคุณแมลงขึ้นมาบ้าง พอแจ้งความจำนงผ่านบล็อก เจ้าของงานก็เชิญชวนให้ทดลองเล่นก่อนอย่างยินดี น้ำใจผ่านบล็อกของคนที่รู้จักกันผ่านโลกอินเตอร์เน็ทนั้นเป็นสิ่งที่พิเศษและเกิดขึ้นได้เช่นเดียวกับความดีงามหลาย ๆ อย่างในโลกนี้ (และเช่นเดียวกับความไม่ดีไม่งามทั้งหลายที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาเช่นเดียวกัน…โลกนี้มีอะไรมากกว่าด้านเดียวเสมอ)

คุณแมลงชวนไปเรียน “เล่นผ้า” ด้วยหลักสูตรเร่งรัดเฉพาะสำหรับคนแก่ที่เธอเป็นคนออกแบบและสอนเอง พร้อมเตรียมวัสดุอุปกรณ์ไว้ให้พร้อมสรรพ เธอบอกว่า “ลองเล่นดูก่อน อย่าเพิ่งไปซื้ออะไร (ของมันแพง อิ อิ) ถ้าชอบค่อยเอาจริง” ว่าแล้วเธอก็เริ่มต้นด้วยการเลคเชอร์เกี่ยวกับการเลือกมุมผ้าก่อนวางแผนตัด

“รู้จักเกรนผ้าไหมคะ นึกถึงภาพการทอผ้านะคะ มันจะมีเส้นนอนกับเส้นตั้ง แบบนี้, ถ้าเราวางผ้าตามแนวนี้จะทำให้ตัดผ้าออกมาได้ตรง (คนสอนดึงผ้าแต่ละมุมให้ดูความแข็งแรงตึงตัวของเส้นด้ายประกอบ) ผ้าที่ตัดตามแนวนี้จะตรง ส่วนผ้าแนวทแยงกับเกรนผ้าเหมาะกับการทำเป็นผ้ากุ๊นขอบ เพราะมันยืดมันย้วยได้ แบบนี้”

คำอธิบายมาพร้อมกับการตัดผ้าให้ดูเป็นตัวอย่าง เออ, ผ้าที่ตัดจากคนละมุมมันให้ความแข็งแรงของชิ้นผ้าต่างกันจริง ๆ ด้วยแฮะ ไม่ยักกะรู้มาก่อนนะเนี่ย

“นี่คือชุดเข็มสำหรับเล่นผ้า อันเล็ก ๆ นี่สำหรับงานควิลท์ อันยาวสำหรับการสอยและอันใหญ่สุดสำหรับการเนาผ้า” ครูผ้าคนใหม่วางชุดเข็มเล่มจิ๋ว ๆ พร้อมอธิบาย นักเรียนลืมจดเพราะคิดว่าจำได้ ก็แหม มีเข็มอยู่ไม่กี่เล่ม เล่มเล็กสำหรับควิลท์ อีกเล่มสำหรับทำแอพพลิเค่ ยาวหน่อยก็เข็มทำแพ็ทช์เวิร์ค (ต่อผ้า) ใหญ่สุดก็เอาไว้เนาผ้า.. แต่แหม, พอกลับมาถึงบ้านกลับจำไม่ได้ ไม่แน่ใจเลยว่าเข็มขนาดไหนใช้กับงานอะไร คนมันแก่แล้ว เลยใช้วิธีเดาเอาแบบมั่ว ๆ ว่าอันไหนสะดวกมืองานลื่นไม่สะดุดก็ใช้อันนั้นแหละ (ประเด็นนี้ต้องขอไปถามคุณแมลงอีกที เพราะรู้ว่าถ้าใช้เครื่องมือเหมาะกับงาน งานจะง่ายและมีประสิทธิภาพภาพมากขึ้นอีก ไม่งั้นคนเขาจะออกแบบมาให้ต่างกันทำไม จริงมะ)

หลังจากนั้นครูผ้าจำเป็นก็เริ่มสอนต่อ

ควิลท์คือเย็บผ้าเป็นเส้นสั้น ๆ ต่อกันแบบเดียวกับงานเนาผ้า แต่มีระยะถี่กว่ากันมาก “คุณมาซาโกะเธอบอกว่าต้องให้ได้สามช่วงในหนึ่งเซ็น (ติเมตร)” คนเรียนก็จำไว้ว่า อ๋อ ไอ้เส้นเนาผ้าแบบละเอียดเอาไว้ทำลวดลายสวย ๆ นี่เอง

แพ็ทช์เวิร์คคืองานต่อผ้า เริ่มต้นง่าย ๆ จากการต่อผ้าสี่เหลี่ยมก่อน
คนสอนตัดผ้าเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมเล็ก ๆที่ตีเส้นเป็นกรอบสี่เหลี่ยมเท่ากัน “เว้นขอบไว้ 0.7 เซ็นนะ เวลาจะต่อผ้าให้ใช้หมุดตรึงที่ขอบเส้นทั้งสี่ด้าน ให้เส้นบนผ้าทั้งสองชิ้นที่จะต่อกันนี้ทับกันสนิท เนาก่อนก็ได้ถ้ายังไม่ชำนาญ ทำแบบนี้เพื่อให้ชิ้นงานออกมาเนี้ยบ มุมต่อตรงกันเป๊ะ”

แอพลิเค่ก็คือการตัดผ้าเป็นรูปต่าง ๆ แล้วนำมาเย็บติดบนชิ้นงาน (ให้เนียนสนิทเหมือนติดกาว หรือจะให้นูนสวยเพราะยัดใยสังเคราะห์ไว้ข้างใต้ด้วยก็ได้ไม่ผิดกติกา)

คุณแมลงบอกเรื่องพื้น ๆ ที่คนเรียนไม่เคยใส่ใจมาก่อน นั่นคือเทคนิคการซ่อนปลายด้าย (ที่จำมาจากคุณมาซาโกะ) ว่า เมื่อเย็บผ้าเสร็จแล้ว ถ้าอยากเนี้ยบให้ซ่อนปลายด้ายที่ขมวดปมเก็บแล้วในเนื้อผ้า ด้วยการสอดเข็มเข้าไปเหมือนตอนควิลท์ จากนั้นจึงตัดปลายเส้นด้าย เท่านี้ปลายเส้นด้ายก็เข้าไปนอนนิ่ง ๆ อยู่ในเนื้อผ้า ไม่มีโผล่ออกมาให้หลุดลุ่ยล่อแหลมต่อการคลายปมหรือรุ่มร่ามกับชิ้นงาน

เพื่อให้มีกำลังใจในการเรียนเล่นผ้าครั้งแรก คุณแมลงให้เริ่มลองทำถุงผ้าที่มีหูรูดง่าย ๆ ไว้ มีผ้าให้เลือกสีเลือกลายตามใจชอบ “ถุงแบบนี้ง่ายมากเลย” ดูจากรูปก็น่าจะง่ายดีนะคะ ผ้าต่อเล็ก ๆ ระหว่างสีพื้นกับผ้าลายตารางเป็นบทเรียนกระชับสั้น ๆ สำหรับการต่อผ้า เส้นด้ายเล็ก ๆ ที่ย้ำอยู่บนรอยต่อคือบทเรียนเรื่องการควิลท์ และบ้านลอยฟ้า (พยายามจินตนาการหน่อยค่ะว่าเป็นบ้าน) คือบทเรียนเล็ก ๆ เรื่องแอพลิเค่



ตอนแรกทำเป็นผ้าชิ้นเดียวนะคะ เสร็จแล้วคุณแมลงให้เอาผ้าอีกชิ้นที่ตัดขนาดเท่ากัน (พร้อมเผื่อขอบแล้ว) มาเย็บประกบบอกว่าทำให้งานเรียบร้อยและสามารถพลิกกลับเอามาใช้อีกด้านได้ด้วย



ผลงานเสร็จออกมาพร้อมคำชมของครูจำเป็นว่า “งานชิ้นแรกมักจะอินโนเซ้นท์อย่างนี้แหละ”
เอ้อ, มันหมายความว่ายังไงคะครูแมลง?

วันนั้นทั้งครูทั้งนักเรียนนั่งเล่นผ้ากันเพลินตั้งแต่สิบโมงเช้าจนถึงหกโมงเย็น เป็นเวิร์คช็อปที่แสนเพลิดเพลินและเป็นมิตรภาพที่แสนพิเศษระหว่างคนสอนกับคนที่รู้จักกันผ่านบล็อก ผ่านความคิด และผ่านการเล่นเพื่อเรียนรู้จักกันในอีกหลาย ๆ แง่มุมของชีวิต

ก่อนจากกันวันนั้น คุณครูให้เข็มมาหนึ่งชุดพร้อมเศษผ้าสำหรับหัดเล่นมาหนึ่งถุงใหญ่ คนเรียนดูแล้วก็ไม่อยากเอามาตัดชิ้นเล็ก ๆ (เพื่อมาต่ออีกให้เสียเวลา เฮ้อ, ) เลยเอามาทำงานผลงานชิ้นที่เห็นข้างล่างนี้ และเพื่อเป็นการขอบคุณเจ้าของผ้าเลยขออวดผลงานด้วยค่ะ เป็นงานผ้าที่เรียบมาก ๆ แต่ก็ตั้งใจทำนะคะคุณครู “อินโนเซ้นท์มาก ๆ ด้วย” อิ อิ







งานนี้เป็นที่ใส่หนังสือค่ะ เลือกทำงานชิ้นนี้เพราะเป็นคนชอบพกหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คติดตัวไปไหนต่อไหนด้วยเสมอ บางครั้งเก็บหนังสือไม่ดี ในกระเป๋าโดราเอมอนของตัวเองมีสมบัติเยอะมาก ของก็มักปนกัน บางครั้งปกหนังสือก็เลยมียับมีเยินบ้าง เมื่อเริ่มรู้เทคนิค เริ่มใช้เวลาในความหมายของการใช้เวลา แถมยังมีเศษผ้าอีกเป็นกอง ๆ ก็เลยออกแบบง่าย ๆ จากเทคนิคงานผ้าที่เรียนมาจากคุณแมลงค่ะ วัสดุที่ซื้อเพิ่มเติมเองคือแผ่นใยสังเคราะห์และเทปดำสำหรับปิดเปิด และก็เอ้อ, ดินสอเขียนบนผ้าพร้อมไม้บรรทัด แค่นี้ก็หมดไปหลายตังค์แล้วนะ ฮือ ๆ …(แต่ก็คิดว่าคุ้มค่ะ แล้วถ้าได้เพลินกับงานผ้าอีกเมื่อไหร่คงมีอะไรมาอวดคุณครูผ่านเน็ตอีกแน่นอน )







 

Create Date : 18 ตุลาคม 2553
9 comments
Last Update : 18 ตุลาคม 2553 11:57:26 น.
Counter : 2560 Pageviews.

 

เล่นผ้าก็สนุกดีนะคะ

 

โดย: พี่แมว IP: 110.164.231.17 18 ตุลาคม 2553 15:23:23 น.  

 

ได้ทำแล้วก็รักงานผ้าค่ะ

 

โดย: กุ้ง (kungviyada ) 18 ตุลาคม 2553 16:14:30 น.  

 

อยากเย็บควิลท์เก่งๆ บ้างจังค่ะ แต่เย็บทีไรไม่สวยสักที เลยไม่กล้าโชว์ผลงานที่ต้องมีลายควิลท์ ใครมีเทคนิคดี ช่วยแนะนำด้วยนะคะ

 

โดย: T H R E E - A N G E L S 18 ตุลาคม 2553 17:31:07 น.  

 

“เล่นผ้า” ชอบคำนี้จัง

 

โดย: แม่สามข้าว (sinaporn ) 18 ตุลาคม 2553 18:03:43 น.  

 

ใช่แล้ว สนุกจริงๆ ๆ ค่ะ

 

โดย: Gunpung 18 ตุลาคม 2553 20:14:06 น.  

 

สวัสดีค่ะคุณแม่..น้องมาอยู่กับยายมดเอ็กซ์ได้หลายคืนแล้ว เพิ่งจะค้นพบว่าน้องชายเขานอกจากใจดีทิ้งรถไว้ให้ใช้แล้ว ยังทิ้งโน๊ตบุ๊คไว้ด้วย เลยได้มาฉลองเรื่องใหม่ของพี่ เหอๆ ครูสอนเย็บผ้า..มีเรื่องขำนะ ตอนไปขอวีซ่าที่สถานฑูตเยอรมัน น้องคนสัมภาษณ์เขาถาม พี่มีอาชีพอาราย..โม้ไปว่าเป็นควิลท์มาสเตอร์..ฮิฮิ ที่สอนแบบไม่เก็บตังค์น่ะ (เพราะกลัวนักเรียนเลิกเรียน..เรื่องที่เราเคยคุยกันว่าจะไปสอนเด็กๆแบบอาสาสมัครน่ะ วันนึงต้องได้ทำแน่นอน ขอเก็บเกี่ยวประสบการณ์ก่อน ทุกสิ่งที่มีโอกาสได้เรียนรู้ไม่ทิ้งปล่าวๆแน่นอน) พี่พีถ่ายรูปสวยมากขึ้นเรื่อยๆนะคะ ..
ชอบซองหนังสือมากเลยค่ะ เป็นไอเดียที่สามารถทำให้เพื่อนได้หลายคน เริ่มมีผลงานซองผ้าเมื่อไหร่ จะเข้ามาประชันกันค่ะ
หมายเหตุ..ราคาอุปกรณ์ในเมืองไทยตอนนี้ ราคาเริ่มลดลงอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเทียบกับสองปีก่อน คงเป็นผลจากที่คนเริ่มสนใจงานฝีมือแบบนี้มากขึ้นกระมัง
คำชมว่าอินโนเซนต์นั้น ชมจริงๆนา ถ้าพี่พีมาที่บ้านที่หัวหินจะเห็นผลงานอินโนเซ้นต์เต็มไปหมด ..มีบางงานเพื่อนฝรั่งมากรี๊ดด เพราะมันดูซื่อมากๆ ..อยากจะบอกกับคนที่เริ่มทำว่า ไม่ต้องกังวลว่าตัวเองจะทำไม่ได้ เราไปเห็นงานสวยๆนั่น พวกเขาทั้งหลาย ทำกันมานานกว่าเราเยอะ เหมือนกับมาสเตอร์ทั้งหลาย เราเพิ่งเริ่มทำ ก็ค่อยๆเป็นค่อยๆไป
ตอบคำถามคุณนางฟ้าให้ตรงนี้ว่า เทคนิคควิลท์แต่ละคนบอกไม่เหมือนกัน สรุปว่าเราต้องหาเองว่าจับเข็มอย่างไรจึงจะเหมาะมือเรา(ที่ไม่เหมือนคนอื่น) แมลงพบว่า สำหรับตัวเอง เมื่อเวลาผ่านไปสองปี มือและนิ้วจะวางแบบที่เราต้องการเองค่ะ..learning curve เกิดจากการฝึกฝนค่ะ
พี่พี อย่าเพิ่งซื้อดินสอเขียนผ้าแบบมั่วๆนะ ส่วนใหญ่มันใช้ไม่ดี เดี๋ยวมีเวลาจะอัพบล๊อกเรื่องประสบการณ์กับอุปกรณ์ให้ดูค่ะ

 

โดย: แมลงจ่อย (Bug in the garden ) 19 ตุลาคม 2553 17:05:32 น.  

 

'วัสดีค่ะพี่แมว (แน่ใจนะว่าพี่ อิ อิ), คุณกุ้ง, คุณนางฟ้า (มาที่เดียวสามองค์), คุณแม่สามข้าว และคุณ gunpung (ไม่แน่ใจว่าจะเรียกว่าอันใดดี ..ไว้มีโอกาสจะตามไปที่บล็อกนะคะ)
ยินดีที่ได้รู้จักกันผ่านงานผ้าค่ะ เป็นคนใหม่ (มิใช่น้องใหม่แน่ อายุปูนนี้แล้ว) สำหรับงานแบบผู้ญิ๊งผู้หญิงแบบนี้

เป็นคนชอบงานละเอียดค่ะ แต่ไม่ค่อยมีความสามารถในการทำสิ่งละเอียดเพราะเหตุผลสองประการคือ มีเวลาน้อย (เอาไปทำอย่างอื่นหมด ฮ่ะ ๆ) และใจร้อน
ไปเรียนเล่นผ้าเพื่อฝึกฝนนิสัยสองประการนี้ ด้วยเหตุฉะนี้ ความเพลิดเพลินจากการเรียนปนเล่นเล่นปนเรียนจึงน่าจะต่างจากงานควิลท์ของคนอื่น ๆ นะคะ เรื่องราวและผลงานก็คงออกมาหน้าตาบ๊องแบ๊ว "อินโนเซนท์" อย่างคนสอนบอกไว้

และสวัสดีคุณครูค่ะ
อัพบล็อกแล้วว่าจะไปบอกข่าวที่บล็อกคุณแมลงเหมือนกัน แต่ช่วงนี้ลูกชายยึดพื้นที่คอมพ์ไปเกือบหมด ไร้ความสามารถที่จะฝ่าวงล้อมคุณเธอเข้ามาเล่นคอมพ์เล่นเน็ตได้..ไว้เปิดเทอมก่อนก็แล้วกันนะคะ

อยากอ่านเรื่องอุปกรณ์ค่ะ เพราะของใช้มันแพงเกินไป จะซื้ออะไรทั้งทีจะได้ไม่ต้องมานั่งเสียดายเงินที่หลัง ตอนนี้กำลังเพลินกับการเล่นผ้าทำเบาะเก้าอี้อยู่ ยังไม่ได้ซื้ออะไรเพิ่มเติมทั้งสิ้น ใช้ผ้าที่คุณแมลงให้มาเป็นหลักอยู่ค่ะ

 

โดย: กังสดาล IP: 125.24.78.87 21 ตุลาคม 2553 11:17:05 น.  

 

มาบอกว่าวันนี้เขียนตอบไว้ในเรื่องเที่ยวยุโรปยาวเหยียดเลยค่ะ แล้วก็แนะนำอุปกรณ์แล้วนะคะ..หาอ่านได้ที่สมบัติบ้าค่ะ เรื่องอุปกรณ์นี้มีพี่พีเป็นแรงบันดาลใจหลักในการเขียนค่ะ

 

โดย: แมลงจ่อย (Bug in the garden ) 26 ตุลาคม 2553 7:33:14 น.  

 

เรื่องอยู่เพื่ออะไร กับเรื่องความหวังนี่ คิดว่าต้องนั่งลงคุยกันแบบเห็นหน้ากัน เพราะต้องมีเรื่องของการยกตัวอย่างชีวิตคนที่เห็นมาประกอบเรื่องค่ะ ไม่งั้นจะไม่เห็นภาพชัดเจนกลายเป็นความเข้าใจผิด ไปกันใหญ่ ตอนที่อยู่ที่ร้านอาหารมีสองสามครั้งที่เขามีการระเบิดกัน เลยทำให้มีโอกาสได้คุยกันชนิดถกปุจฉาวิสัชนากับเพื่อนหญิง..เช่นเคย ใครคุยกับเราต้องร้องไห้ทุกคนไป มีแต่พี่พีนี่แหละที่ไม่ร้องไห้ แสดงว่าได้ผ่านการฝึกฝนมา เป็นอย่างดี วิธีคิดนี่สำคัญมากที่จะกำหนดพฤติกรรม ความสุข ความทุกข์ แต่เรากลับละเลยที่จะดูแลมันอย่างตั้งใจ ทำให้กลายเป็นทุกข์ใหญ่ ทั้งๆที่จรังแล้วไม่มีอะไร

 

โดย: แมลงจ่อย (Bug in the garden ) 27 ตุลาคม 2553 8:03:30 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


kangsadal
Location :
เวียงจัน Laos

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]






พระจันทร์เต็มดวงคนมองเห็นได้บางวัน
เช่นกันกับวันที่เห็นพระจันทร์เสี้ยว
แต่ทุกวัน....
พระจันทร์เต็มดวง
online
Group Blog
 
 
ตุลาคม 2553
 
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
18 ตุลาคม 2553
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add kangsadal's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.