<<
กันยายน 2558
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
2 กันยายน 2558
 

มาตรการช่วยเหลือ SME ไทย/เวทย์ นุชเจริญ

ขออนุญาตนำเนื้อหาจากกรุงเทพธุรกิจรายวัน มารวบรวมไว้เพื่อการศึกษาต่อไปดังนี้ 

มาตรการช่วยเหลือ SME ไทย

โดย :
//www.bangkokbiznews.com/blog/detail/635407#sthash.EDnUKbzm.dpuf

ได้เห็นรายชื่อทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ของรัฐบาลที่นำทีมโดย ดร. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ท่านผู้ประกอบการคงมีความหวังขึ้นบ้าง
เพราะเป็นทีมที่มีประสบการณ์ในเรื่อง SME มานาน เชื่อว่าจะเข้ามาสานต่อโครงการที่สำคัญและผลักดันมาตรการใหม่ๆ ออกมาได้ทันที โดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลือ SME ด้วยการให้สินเชื่อผ่อนปรน (Soft Loan) ซึ่งเป็นหนึ่งใน 3 นโยบายหลัก ที่ ดร.สมคิด ผลักดันมาตลอดในช่วงที่เป็นที่ปรึกษานายกฯ

ถ้ามาตราการต่าง ๆ ช่วยเหลือ SME ได้ ก็จะช่วยให้ GDP ของประเทศไม่ติดลบในปีนี้ เนื่องจาก SME เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน GDP ในไตรมาส 1 มีมูลค่าถึง 1.39 ล้านล้านบาท คิดเป็น 41% ของ GDP ทั้งหมด ในแง่ของการส่งออก ในไตรมาส 1 มีมูลค่ารวม 456,534 ล้านบาท คิดเป็น 25.6 % ของการส่งออกรวม โดยมีตัวเลขการส่งออกไปยังประเทศในกลุ่ม AEC 121,823 ล้านบาท คิดเป็น 26.7 % ของตลาดส่งออก ถ้า SME เราเข้มแข็ง ปีหน้าเมื่อมีการเปิด AEC จะมีการเชื่อมโยงการขนส่งมวลชนและสินค้า การท่องเที่ยวได้มากขึ้น จะช่วยเพิ่มยอดการส่งออกได้อีกมาก

ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับ SME โดยได้จัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) โดยนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และได้มีมาตราการส่งเสริม SME ระยะเร่งด่วน อาทิเช่น การขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ โครงการสนับสนุนเครือข่ายผู้ประกอบการ SME ใน 18 กลุ่มจังหวัด โครงการจัดทำฐานข้อมูล SME แห่งชาติ โครงการศูนย์บริการ SME ครบวงจร โครงการสุดยอด SME จังหวัด และโครงการสนับสนุนและพัฒนา SME ที่มีศักยภาพ เป็นต้น

มาตรการที่เสนอมาทั้งหมด ไม่น่าจะแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของ SME ได้ จากตัวเลขผู้ประกอบการ SME ที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. รวบรวมจาก 4 หน่วยงานหลัก ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และ SME BANK ในปี 2557 มี SME ทั้งสิ้น 2,668,293 ราย แยกเป็นนิติบุคคล 589,026 ราย บุคคลธรรมดา 2,079,267 ราย ปรากฎว่า กลุ่มที่เป็นนิติบุคคล เข้าถึงสถาบันการเงินได้ 82% ขณะที่บุคคลธรรมดาเข้าถึงสถาบันการเงินได้เพียง 18% ถ้ามีการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ เชื่อว่าจะมีลูกค้าในกลุ่มบุคคลธรรมดาอีกเป็นจำนวนมาก

มาตรการเสริมสภาพคล่อง โดยแบ่งตามกลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ

กลุ่มแรก SME ที่มีศักยภาพ ช่วยเหลือตัวเองได้ มีการจัดการและการวางแผนทางการเงินที่ดี บางรายอาจมีปัญหาขาดสภาพคล่องเนื่องจากยอดขายตกต่ำ กลุ่มนี้สถาบันการเงินที่ผู้ประกอบการใช้บริการ คงจะดูแลกันอยู่แล้ว รัฐบาลมีหน้าที่เพียงสร้างความเชื่อมั่น กระตุ้นการบริโภค เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวโดยเร็ว

กลุ่มที่สอง คือกลุ่ม SME ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จนทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ สถาบันการเงิน ควรเข้าไปดูแลผ่อนปรนเงื่อนใขให้สอดคล้องกับความสามารถที่แท้จริง รัฐบาลอาจตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่อง อัตราดอกเบี้ยต่ำผ่านสถาบันการเงินที่ผู้ประกอบการใช้บริการอยู่ เพื่อให้การช่วยเหลือในช่วงนี้

กลุ่มที่สาม คือกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงสถาบันการเงินได้ ในกลุ่มที่เป็นรายย่อยที่มีศักยภาพ แต่ประสบปัญหาสภาพคล่องควรให้ธนาคารออมสินซึ่งมีสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศให้การสนับสนุนสินเชื่อโดยเสนอผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม ในรายที่ไม่มีหลักประกัน บสย. ควรค้ำประกันโดยยกเว้นค่าธรรมเนียมการค้ำประกัน อย่างน้อย 1 ปี เรื่องเร่งด่วนที่ต้องกระทำเป็นสิ่งแรก คือ การสำรวจความเดือดร้อนของผู้ประกอบการ SME โดยขอความร่วมมือกับหอการค้าแห่งประเทศไทย ผ่านหอการค้าจังหวัดที่มีอยู่ทั่วประเทศ จัดทำเป็นโครงการเฉพาะกิจในภาวะวิกฤต

Key Success Factor ที่สำคัญมากในภาวะวิกฤตนี้ จะต้องมีสถาบันการเงิน ที่มีบทบาทเป็น Lead Bank เพื่ออัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ สำหรับศูนย์ให้บริการ SME ครบวงจร (SME ONE-STOP SERVICE CENTER) ที่มีอยู่ 7แห่ง คงไม่เพียงพอ ควรให้มีการจัดตั้ง สสว. จังหวัด ให้ครบทุกจังหวัด เพื่อทำหน้าที่ติดต่อเชื่อมโยงภาครัฐและเอกชน ให้ข้อมูลความรู้คำแนะนำในการดำเนินธุรกิจ การอบรมสัมมนา และขึ้นทะเบียน SME

SME เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก ต้องทำแผนเร่งด่วนเพื่อเร่งดำเนินการครับ/จบ

.................................................................................................................................

“คลัสเตอร์” เครื่องมือสำคัญที่ SME ควรรู้

โดย :

: //www.bangkokbiznews.com/blog/detail/635778#sthash.gjRUtE2K.dpuf

นับตั้งแต่ ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ภายใต้การนำของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เข้ามารับผิดชอบงานรัฐบาลได้พยามผลักดันในเรื่อง"คลัสเตอร์"ขึ้นมาอีกครั้ง - See more at: //www.bangkokbiznews.com/blog/detail/635778#sthash.gjRUtE2K.dpuf

ท่านผู้ประกอบการหลายท่านคงได้ยินคำว่า คลัสเตอร์ กันมาบ้างแล้ว เริ่มตั้งแต่ปี 2546 รัฐบาลสมัยนั้นได้เริ่มดำเนินการส่งเสริมกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลัก ที่มีบทบาทในการปฎิบัติและขับเคลื่อนเรื่องคลัสเตอร์ ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2547 ผ่านมาสิบกว่าปี เรื่องคลัสเตอร์ในประเทศไทยยังคงเป็นเรื่องที่พูดกันในเวทีสัมมนา มากกว่าจะมีการปฏิบัติอย่างจริง 

ผมจึงขอนำเสนอเรื่องคลัสเตอร์ให้ท่านผู้ประกอบการได้ทำความเข้าใจ และเห็นความสำคัญในการดำเนินธุรกิจ

คำว่า “คลัสเตอร์” ริเริ่มโดย ศาสตราจารย์ Michael E.Porter ซึ่งเป็นปรมาจารย์ด้านกลยุทธ์การแข่งขัน แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ความหมายคือ การที่กลุ่มของธุรกิจและสถาบันที่เกี่ยวข้อง มารวมตัวกันดำเนินกิจกรรมอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน (Geographical Proximity) มีความร่วมมือเกื้อหนุน เชื่อมโยงและเสริมกิจการซึ่งกันและกันอย่างครบวงจร (Commonality & Complementarity) ทั้งในแนวตั้งและแนวนอน (Horizontal Linkage) เป็นความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมสนับสนุนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกันในการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) โดยรวม

หัวใจสำคัญของคลัสเตอร์ คือ ความร่วมมือ ตรงไหนที่ร่วมมือกันได้เพื่อไปแข่งขันกับผู้อื่นก็ร่วมกัน ตรงไหนที่ยังต้องแข่งขันกัน ก็ให้แข่งขันกันอย่างสร้างสรรค์ เช่น แข่งขันกันพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ แข่งขันกันปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อลดต้นทุน ไม่แข่งขันกันโดยการตัดราคาคู่แข่ง

การสร้างความร่วมมือในการกำหนดทิศทางและเป้าหมายและกลยุทธ์การพัฒนาร่วม มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ตลอดจนทรัพยากรต่าง ๆ ระหว่างกัน ตัวอย่างเช่นร่วมมือกันในการวิจัยและพัฒนา ในเรื่องนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าและบริการ

เรื่องที่เป็นประโยชน์มากๆ คือการลดต้นทุนด้านวัตถุดิบและการตลาด ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการประกอบการ

ด้านวัตถุดิบ ผู้ประกอบการรายเล็ก ซึ่งมีความต้องการซื้อวัตถุดิบในปริมาณน้อย การร่วมกันเป็นคลัสเตอร์จะทำให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ร่วมกันสั่งซื้อในปริมาณที่มาก เพื่อต่อรองราคาได้

ด้านการตลาด อาจร่วมมือกันบุกเบิกตลาดโดยมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลในเรื่องราคา ความต้องการของคู่ค้า การเสนอขายผลิตภณฑ์ที่หลากหลาย ร่วมลงทุนเช่าพื้นที่แสดงสินค้าร่วมกัน

องค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนคลัสเตอร์ คือ ภาคเอกชน ซึ่งได้แก่ เจ้าของกิจการ สถาบันการเงินที่สนับสนุนเงินทุน สถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยพัฒนา ที่ให้ความรู้ในเรื่องวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม และที่สำคัญที่สุด คือ ภาครัฐ ที่จะต้องให้การสนับสนุนและร่วมมือ ผ่านทางนโยบาย / มาตรการ / กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง

ในทุกจังหวัดถ้าเราเริ่มทำอย่างจริงจังโดยความร่วมมือกันตั้งแต่ ผู้ประกอบการ มหาวิทยาลัย ชมรม ธนาคารจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด มีระบบการบริหารกลุ่มอย่างชัดเจน ผมเชื่อว่าการจัดตั้งคลัสเตอร์จะประสบความสำเร็จ เช่นเดียวกับที่เกิดในหลายประเทศ

สมัยผมเป็นผู้จัดการธนาคารกรุงไทย ที่อำเภอกระทุ่มแบน เมื่อสิบกว่าปีก่อน เคยแนะนำให้กลุ่มเซรามิคโดยเฉพาะกลุ่มเบญจรงค์ ในเรื่องการตลาดในด้านการส่งออกได้ผลมาแล้ว

การให้ความสำคัญในเรื่องคลัสเตอร์ของรัฐบาลภายใต้ทีมเศรษฐกิจที่รู้เรื่องคลัสเตอร์อย่างลึกซึ้ง ยังเป็นความหวังของ SME ครับ/จบ

..................................................................................................................................

....

ความท้าทายของคลัสเตอร์อุตฯจากมุมมองด้านภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ

โดย :
- See more at: //www.bangkokbiznews.com/blog/detail/635841#sthash.LOjxJV1l.dpuf

การส่งเสริมการพัฒนาด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะที่เกิดจากการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เพื่อยกระดับศักยภาพ 

ของธุรกิจไทย เป็นเรื่องสำคัญ ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงของสินค้าแบบ “แมส” จากจีนที่สำคัญการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย ที่มุ่งเน้นการผลิตเพื่อส่งออกที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เน้นการแข่งขันด้านราคาที่ย้อนกลับมาขูดรีดแรงงานราคาถูก ซึ่งไม่ได้ทำให้อุตสาหกรรมไทยพัฒนาในระยะยาว

อย่างไรก็ดี นโยบายเรื่องคลัสเตอร์อุตสาหกรรมนั้น ไม่ใช่นโยบายใหม่ รัฐบาลภายใต้การบริหารของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชิณวัตร ที่มีคุณสมคิดร่วมเป็นรองนายกฯ ก็เคยผลักดันจนแนวคิดเรื่อง “คลัสเตอร์ (clusters)” ได้รับบรรจุเป็นแผนยุทธศาสตร์ของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และถึงกับเคยว่าจ้างให้นายไมเคิล อีพอร์เตอร์ (Michael  E.Porter) เจ้าของแนวคิด และทีมทำการศึกษาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมกุ้งกุลาดำ และการท่องเที่ยวในเขตจังหวัดภูเก็ต เพื่อใช้เป็นกรณีศึกษา เรื่องการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมไทยที่จนกระทั่งปัจจุบันก็ยังไม่มีรูปธรรมอะไรที่ชัดเจนปรากฏให้เห็น

ดร.ภัทรพงศ์ อินทรกำเนิด นักวิชาการด้านนวัตกรรมในบทความ “Thaksinomics and Thailand’s National Innovation System and Industrial Upgrading” ได้ประมวลปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้นโยบายส่งเสริมคลัสเตอร์อุตสาหกรรมในช่วงเวลาที่ผ่านมา ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการประสานงานข้ามส่วนราชการ, ภาคธุรกิจยังไม่มีความเชื่อใจระหว่างกัน โดยยังมองผู้ประกอบการรายอื่นเป็นคู่แข่ง, ขาดการสนับสนุนการดำเนินงาน จากการปกครองในระดับท้องถิ่น และที่สำคัญความไม่เข้าใจของเจ้าหน้าที่ในระดับกลาง และระดับปฏิบัติงาน เกี่ยวกับแนวคิดเรื่องคลัสเตอร์ ฯลฯ ที่ปัจจัยเหล่านี้ก็ยังคงรอการแก้ไข

ในประเด็นเรื่องไม่ความเข้าใจแนวคิดคลัสเตอร์นี้ เป็นปัญหาสำคัญของการนำแนวคิดนี้ไปปฏิบัติจริง ที่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับเมืองไทย จากการค้นคว้าของผมเองพบว่า ความไม่เข้าใจส่วนหนึ่งมีสาเหตุสำคัญ มาจากจุดอ่อนของแนวคิดเรื่องคลัสเตอร์ที่พัฒนาขึ้นโดย นายไมเคิล พอร์เตอร์ เอง ทั้งนี้ นักวิชาการสองท่านคือ รอน มาร์ติน (Ron Martin) และ ปีเตอร์ ซันลีย์ (Peter Sunley) จากคณะภูมิศาสตร์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และเอดินเบอระในสหราชอาณาจักร ได้เคยตั้งข้อสังเกตว่า แนวคิดเรื่องคลัสเตอร์ของไมเคิล พอร์เตอร์ นั้น มีความคลุมเครือมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่ได้มีข้อเสนอว่า ขอบเขตของการรวมกลุ่มหรือเชื่อมโยง ทั้งในเชิงอุตสาหกรรมและภูมิศาสตร์ ควรเริ่มต้นและสุดสิ้นที่ใด จึงทำให้เกิดความสับสน ทั้งในแง่ทฤษฎีและการปฏิบัติเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ดี ความคลุมเครือนี้กลับส่งผลดีให้แนวคิดนี้ได้รับความนิยม เพราะมันเปิดโอกาสให้นักการเมือง และผู้กำหนดนโยบายทั่วโลก สามารถนำเอาไปตีความและขยายต่อในทางปฏิบัติ ตามแนวทางที่แต่ละคนเข้าใจ เช่น ในกรณีการส่งเสริมการรวมกลุ่มคลัสเตอร์ของไทย ที่ถ้าศึกษาดูอย่างละเอียดแล้ว แทบจะไม่มีอะไรต่างไปจากการจัดตั้งเครือข่ายผู้ประกอบการอย่างหลวมๆ และมีมิติทางภูมิศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องน้อยมาก

อันที่จริงไมเคิล พอร์เตอร์ นำแนวคิดเรื่องการกระจุกตัวของอุตสาหกรรม ที่มีความชำนาญเฉพาะด้านในบางพื้นที่ ซึ่งอัลเฟรด มาร์แชล (Alfred Marshall) นักเศรษฐศาสตร์สำนักคลาสสิคเสนอเอาไว้ตั้งแต่ปี 1890 มาพัฒนาจนกลายเป็นแนวคิดคลัสเตอร์ที่มีชื่อเสียง ตามแนวคิดของอัลเฟรด มาร์แชล การกระจุกตัวของอุตสาหกรรมในเชิงภูมิศาสตร์นั้น เกิดจากสามปัจจัยหลักที่เขาเรียกว่า “สามเหลี่ยมการประหยัดภายนอก (triad of external economies)” ซึ่งประกอบด้วย 1) ความพร้อมของแรงงานมีฝีมือ 2) การเติบโตของภาคการค้าที่สามารถส่งเสริมสนับสนันอุตสาหกรรม และ 3) ความชำนาญของธุรกิจประเภทต่างๆ ที่อยู่ในขั้นของการพัฒนา และสาขาการผลิตต่างๆ

ทั้งนี้ ไมเคิล พอร์เตอร์ ได้ต่อเติมรูปสามเหลี่ยมดังกล่าวให้เป็นสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ตามแนวคิด “competitive diamond” ที่ประกอบด้วยปัจจัยสี่ชุด คือ 1) ยุทธศาสตร์โครงสร้างและการแข่งขันของธุรกิจ 2) เงื่อนไขด้านปัจจัยการผลิต 3) เงื่อนไขทางด้านอุปสงค์ และ 4) ภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องและสนับสนุนกันโดยตรงใจกลางของมุมทั้งสี่นั้น ถูกเชื่อมโยงด้วยปัจจัยสำคัญคือ สภาพแวดล้อมของท้องถิ่นที่เอื้อให้เกิดรูปแบบที่เหมาะสมของการลงทุนและการเพิ่มมูลค่า

การนำแนวคิดเรื่องคลัสเตอร์อุตสาหกรรม มาใช้พัฒนาการเชื่อมโยงของเครือข่ายการผลิตในพื้นที่ต่างๆ จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงการเชื่อมโยงของภาคการผลิต กับปัจจัยทางภูมิศาสตร์ และสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า ทุนทางสังคมและวัฒนธรรมในท้องถิ่น เพราะนวัตกรรมไม่สามารถเกิดขึ้นได้บนอากาศ!

ในแง่ของการปฏิบัตินวัตกรรมและเทคโนโลยี ไม่สามารถเกิดขึ้นจากการนำเข้าองค์กรธุรกิจ ไม่ว่าผู้ผลิตซัพพลายเออร์หรือผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัย จากภายนอกเข้ามาตั้งไว้ในพื้นที่เดียวกัน หากแต่รัฐต้องส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือและกระบวนการทำงาน ที่เชื่อมโยงระหว่างองค์กร และสถาบันที่มีอยู่แล้วอย่างแท้จริง ทั้งนี้ เครือข่ายที่เข้มแข็งต้องการรากฐานขององค์ความรู้ที่เข้าใจถึงขีดจำกัด และศักยภาพของทรัพยากรในท้องถิ่น ที่สำคัญงานทฤษฎีที่ศึกษาการเกิดขึ้นของคลัสเตอร์ในต่างประเทศ ส่วนใหญ่มักชี้ไปที่ความสำคัญของ “ความเป็นผู้ประกอบการ” ของคนในพื้นที่

ประเด็นคำถามที่สำคัญ เกี่ยวกับเรื่องซูเปอร์คลัสเตอร์อุตสาหกรรมในขณะนี้ก็คือ ใครหรือคนกลุ่มไหนกันแน่ ที่จะเป็นเป้าหมายหลักของกระบวนการเรียนรู้ และพัฒนาที่รัฐกำลังต้องการให้เกิดขึ้น

คำถามที่ตามมาก็คือ ทำไมมาตรการส่งเสริมคลัสเตอร์ที่ทยอยออกมา จึงมุ่งเน้นที่เพียงการให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีกับธุรกิจ และสิทธิประโยชน์กับตัวผู้เชี่ยวชาญ ทั้งที่สิ่งที่รัฐบาลควรจะทำอย่างจริงจังในระยะยาวคือ การวางแผนการพัฒนาทักษะและความชำนาญของคนในพื้นที่ยุทธศาสตร์ เริ่มต้นตั้งแต่การยกเครื่องระบบการศึกษาในเขตชนบท ให้สอดรับกับแผนการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมทั้งปฏิรูประบบค่าจ้างให้เหมาะสม ไม่เช่นนั้นนโยบายเรื่องซูเปอร์คลัสเตอร์ จะเป็นเพียงการโยกย้ายภูมิศาสตร์ของเขตอุตสาหกรรมค่าแรงถูกอีกระลอกหนึ่งเท่านั้น

------------------

กรณีศึกษา “คลัสเตอร์” ในประเทศไทย/เวทย์ นุชเจริญ



ขอขอบคุณกรุงเทพธุรกิจรายวัน และขอนำเรื่องนี้มารวบรวมไว้เพื่อการศึกษา

ผมได้นำเสนอเรื่องการสร้างเครือข่ายวิสาหกิจหรือคลัสเตอร์แบบง่าย ๆ ในตอนที่แล้ว หลายท่านสนใจอยากให้ยกตัวอย่างกรณีศึกษาในไทยที่ประสบความสำเร็จ: //www.bangkokbiznews.com/blog/detail/635942#sthash.ftEICnxg.dpuf

ก่อนนำเสนอกรณีศึกษาคลัสเตอร์ ผมขอขยายความเรื่องคลัสเตอร์เพิ่มเติม เพื่อให้ท่านผู้ประกอบการได้ทำความเข้าใจเพิ่มขึ้น

ในตอนที่แล้วผมได้เน้นถึง Cluster ในลักษณะของการดำเนินกิจกรรมอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน Geographical Proximility ซึ่งเป็นรูปแบบที่นิยมในประเทศไทย แต่การรวมตัวกันยังทำได้อีก 2 รูปแบบคือ การรวมตัวกันของผู้นำในอุตสาหกรรมในลักษณะ Facilitating Cluster โดยตัวแทนจากภาคเอกชนมารวมตัวกันเพื่อร่วมกำหนดนโยบาย และเป็นตัวแทนในการเจรจาต่อรองกับภาครัฐ

อีกรูปแบบหนึ่ง คือ การรวมตัวกันของผู้ประกอบการแบบ Commercial Cluster เป็นการรวมตัวในทางตรง ที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในภูมิภาคใกล้เคียงกัน เป้าหมายสำคัญคือ การสร้างมูลค่าเพิ่ม การถ่ายทอดความรู้ผ่านวิทยากร การขยายช่องทางการตลาด และการจัดจำหน่ายเป็นหลัก การวมตัวของผู้ประกอบการในประเทศไทยที่ผ่านมา แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือแกลุ่มที่พึ่งรวมตัวกัน กลุ่มกำลังแสวงหาทิศทาง กลุ่มกำลังพัฒนา และกลุ่มที่มีศักยภาพสูง ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มแสวงหาทิศทาง ซึ่งจำเป็นจะต้องพัฒนาอย่างจริงจัง

สำหรับกลุ่มที่มีศักยภาพสูงที่ผมอยากนำเสนอเพื่อเป็นกรณีศึกษา คือ คลัสเตอร์ต่อตัวถังราชบุรี ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มต่อตัวถังรถยนต์บ้านโป่ง เป็นพื้นที่ซึ่งผมเริ่มทำงานธนาคาร เป็นพนักงานสินเชื่อของธนาคารกรุงไทยครั้งแรก

กลุ่มผู้ประกอบการกระจายตัวกันอยู่ ครอบคลุมพื้นที่ 2 อำเภอ 2 จังหวัด ได้แก่ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี และอำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม มีผู้ประกอบการประมาณ 34 ราย มีกำลังการผลิตไม่น้อยกว่า 1,200 คันต่อปี คิดเป็นมูลค่าเชิงเศรษฐกิจกว่า 6,000 ล้านบาทต่อปี มีการจ้างงานเกือบ 3,000 คน โดยแบ่งเป็นอู่ขนาดใหญ่ที่มีแรงงานมากกว่า 1,000 คน 2 แห่ง อู่ขนาดกลางที่มีแรงงานระหว่าง 50-150 คน 21 แห่ง มีแรงงานน้อยกว่า 50 คน 11 แห่ง เริ่มในปี 2532 ผู้ประกอบการประมาณ 10 ราย รวมตัวกันเพื่อตกลงกับสรรพากรในการประเมินภาษี และได้ขยายไปเรื่องอื่นที่เป็นประโยชน์อีกหลายด้าน จนถึงเดือนกันยายน 2548 ได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างและองค์ประกอบ เพื่อให้รองรับสภาวะการแข่งขันในปัจจุบันและอนาคต

มีการขยายสมาชิกไปสู่ผู้ประกอบการที่เป็นผู้รับจ้างช่วง หรือ Supplier สมาชิกที่เป็นผู้จำหน่าย หรือให้บริการหลังการขาย เพื่อให้ห่วงโซ่ธุรกิจของกลุ่มมีความครบถ้วนสมบูรณ์มากขึ้น เปลี่ยนชื่อจากชมรมอู่ต่อตัวถังรถยนต์โดยสารบ้านโป่ง เป็นชมรมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมตัวถังรถยนต์โดยสารบ้านโป่ง เพื่อให้เป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาเครือข่ายวิสาหกิจอุตสาหกรรมตัวถังรถยนต์โดยสารบ้านโป่ง ร่วมกับสถาบันยานยนต์

มีจุดเด่นในแง่ของการกระจุกตัวในพื้นที่และความเป็นท้องถิ่นภูมิภาค มีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงาน องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนในท้องถิ่นและส่วนกลาง หน่วยงานที่สนับสนุนได้แก่ หอการค้าราชบุรี สภาอุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรี สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดราชบุรี วิทยาลัยเทคนิคราชบุรี สถาบันการเงิน และสถาบันยานยนต์กำหนดวิสัยทัศน์ จะเป็นกลุ่มพันธมิตรอุตสาหกรรมต่อตัวถังรถยนต์โดยสารและรถเอนกประสงค์ด้วยการบริหารงานแบบคลัสเตอร์ มีการกำหนดภารกิจและกลยุทธ์ที่ชัดเจน

จากการวิเคราะห์องค์ประกอบ 4 ด้าน ที่เรียกว่า Diamond Analysis ได้แก่ บริบทการแข่งขันและกลยุทธ์ทางธุรกิจ เงื่อนไขปัจจัยการผลิต เงื่อนไขด้านอุปสงค์ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวโยงและสนับสนุนมีรายละเอียดที่น่าสนใจมาก ซึ่งท่านผู้ประกอบการสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากระบบฐานข้อมูลแผนที่คลัสเตอร์ ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม

ปัจจัยแห่งความสำเร็จของการพัฒนาคลัสเตอร์ ขึ้นอยู่กับสมาชิกที่จะต้องมีจิตสำนึก มีความไว้วางใจซึ่งกันและกันมีประสิทธิภาพในการเพิ่มผลิตภาพของตน มีการรองรับจากธุรกิจที่เกี่ยวข้อง มีความเหมาะสมด้านแรงงาน วัตถุดิบ เครื่องจักรและทำเลที่ตั้ง ที่สำคัญคือจะต้องมีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิด ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญผลักดันในทุกด้าน ในทางปฏิบัติ กลุ่มวิสาหกิจที่ประสบความสำเร็จ ไม่จำเป็นต้องมีปัจจัยครบทุกองค์ประกอบเพียงแต่ต้องมีข้อได้เปรียบที่มีนัยสำคัญ มีความเข้มแข็งมากพอที่จะเอาชนะคู่แข่งขันได้

การเพิ่มขีดความสามารถของการแข่งขันโดยการพัฒนาเรื่องคลัสเตอร์ เพื่อรองรับกระแสการแข่งขันโลกที่รุนแรงมากขึ้นทุกวัน ต้องเริ่มทำอย่างจริงจัง ยังมีอุตสาหกรรมอีกหลายด้าน ทั้งอุตสาหกรรมข้าว ยางพารา เฟอร์นิเจอร์ ที่ยังอยู่ในกลุ่มแสวงหาแนวทาง และกลุ่มกำลังพัฒนา ที่มีการรวมตัวกันแล้ว

หากทุกฝ่ายให้ความร่วมมือกัน ผมมั่นใจว่าเราจะมีผู้ประกอบการที่อยู่ในกลุ่มที่มีศักยภาพสูงเพิ่มขึ้นครับ/จบ

.........................................................................................................................................

10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ของ SME พันธุ์ใหม่

โดย :

//www.bangkokbiznews.com/blog/detail/636288#sthash.ClZfrUyC.dpuf

ในรอบปีที่ผ่านมาผมได้เสนอรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่อง InnovationและDigital Economy ผ่านบทความนี้หลายครั้ง เพราะเห็นว่าเป็นTrendที่สำคัญในปี 59 

เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการสำหรับข้อเสนอของกระทรวงอุตสาหกรรม ในเรื่อง "10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย : กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต" ซึ่งล้วนแต่เกี่ยวข้องกับเรื่อง Innovation และ Digital Economy เป็นส่วนใหญ่ และจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (New Growth Engine) ของประเทศในอนาคต

โดยได้มีการแบ่งอุตสาหกรรมออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

1.การต่อยอด 5 อุตสาหกรรมเดิม (First S-Curve) ประกอบด้วย

1) อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next-Generation Automotive) มีการพัฒนาเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ขยายธุรกิจในห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเฉพาะการออกแบบและจัดทำต้นแบบ ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพและความแม่นยำสูง

2) อุตสาหกรรมอิเลคทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics) ผลิตระบบอิเลคทรอนิกส์ ที่ใช้ในยานยนต์ อุปกรณ์โทรคมนาคม ออกแบบที่อยู่อาศัยอัจฉริยะซึ่งเชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเตอร์เน็ต อุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์เพื่อการสวมใส่

3) อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Affluent, Medical and Wellness Tourism) จัดระเบียบและส่งเสริมกิจกรรมหลากหลายตามสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ สนับสนุนธุรกิจการฟื้นฟูทางการแพทย์และศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพส่งเสริมศูนย์การแสดงสินค้าและนิทรรศการระดับนานาชาติ

4) การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (Agriculture and Biotechnology) นำเทคโนโลยีการเกษตรขั้นสูงทีมีการใช้เทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูลแบบอัตโนมัติ การวิจัยและการลงทุนทางเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์

5) อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร (Food for the Future) การเพิ่มมาตรฐานการตรวจสอบย้อนกลับด้านความปลอดภัยอาหาร การวิจัยและผลิตโภชนาเพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปที่ใช้โปรตีนทางเลือก เช่น โปรตีนเกษตร
ทั้ง 5 อุตสาหกรรมประเทศไทยมีฐานที่แข็งแกร่ง แต่ต้องต่อยอดการลงทุนในผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อยกระดับการแข่งขันสู่ระดับนานาชาติ

2. การเติม 5 อุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve)

1) อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม (Robotics) เป็นอุตสาหกรรมที่โลกมีความต้องการสูง เชื่อว่าจะใหญ่กว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ในอนาคต เช่น หุ่นยนต์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน อาทิ การดำน้ำและการแพทย์

2) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics) จำนวนเครื่องบินที่มากขึ้นเพื่อรองรับการขนส่งทางอากาศที่มากขึ้น เรามีสนามบินอู่ตะเภาและสนามบินอื่นที่ใช้ประโยชน์ ในการฝึกอบรมนักบินและลูกเรือ และเรายังมีจุดแข็งในการเป็นศูนย์รวมโลจิสติกส์ทันสมัย

3) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemical) เรามีฐานการเกษตรใหญ่ที่สุดในอาเซียน จึงควรพัฒนาอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพครบวงจร ในขณะที่ทั่วโลกกำลังกำหนดมาตรฐานชีวภาพเข้ากับการค้า เช่น ใช้ไบโอพลาสติกในการหีบห่อเพื่อการส่งออก เป็นการก้าวเข้าสู่ Bioeconomy

4) อุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital) ทั่วโลกมีความต้องการสูงมาก และเป็นมาตรฐานใหม่ในการดำรงชีพ เช่น E-commerce / Digital Content /Data Center / Cloud Computing

5) อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) เรามีหมอและพยาบาลที่เก่งมาก มีโรงพยาบาลที่ทันสมัย ในอนาคตจะต้องเพิ่มการลงทุนในการผลิตยา อุปกรณ์การแพทย์ การรักษาโรคทางไกลผ่านอินเตอร์เนต/สมาร์ทโฟน
ในการผลักดันการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายข้างต้น รัฐบาลจะมีมาตรการเสริมเพื่อให้การสนับสนุน เช่น แผนการกำหนดทิศทางอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ชัดเจน มาตรการทางการเงินโดยการจัดตั้ง “กองทุนพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสากรรม” ให้เงินกู้ยืมหรือชดเชยดอกเบี้ย มาตรการทางการคลัง เช่น การลดภาษี มาตรการอำนวยความสะดวกเสริม

ท่านผู้ประกอบการจึงควรมีการเตรียมตัวให้พร้อม โดยหน่วยงานที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นพิเศษ คือ ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ที่มีโครงการพัฒนาคุณภาพและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ SMEs, โครงการ Web portal

สำหรับ SMEs, โครงการเร่งสร้างผู้ประกอบการนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีของท่านผู้ประกอบการในการพัฒนาตัวเองให้เป็น SMEs พันธุ์ใหม่ที่จิ๋วแต่แจ๋ว/จบ

...................................................................................................................................







Create Date : 02 กันยายน 2558
Last Update : 10 ธันวาคม 2558 18:20:35 น. 0 comments
Counter : 896 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

justice0009
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




[Add justice0009's blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com