Group Blog
 
 
มีนาคม 2549
 
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
22 มีนาคม 2549
 
All Blogs
 

(ผู้นำ) ประชานิยม เวียนว่ายตายเกิด

(ผู้นำ) ประชานิยม เวียนว่ายตายเกิด

คอลัมน์ ดุลยภาพ ดุลยพินิจ

โดย ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ สถาบันวิจัยสังคมและเศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
"""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""

ไม่ช้าก็เร็วในที่สุดคุณทักษิณก็ต้องเว้นวรรคหรือจบชีวิตทางการเมือง ระบอบ ลัทธิ หรือปรากฏการณ์ทักษิณจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร โดยเฉพาะองค์ประกอบในส่วนของมิติด้านนโยบายประชานิยมซึ่งเป็นปรากฏการณ์ใหม่สำหรับสังคมไทย

ประสบการณ์ในต่างประเทศชี้ให้เห็นว่าประชานิยมเมื่อได้ฝังตัวแมัจะมีจุดเสื่อมและถดถอยแต่ก็เวียนกลับมาในบริบทใหม่

ผู้เขียนคิดว่าประเทศอาจเปลี่ยนผู้นำ หรือแม้กระทั่งเปลี่ยนจากรัฐบาลไทยรักไทย ประชานิยมยังน่าจะอยู่กับสังคมไทยในรูปแบบที่ต่างจากอดีต

ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าแม้สไตล์ประชานิยมของคุณทักษิณจะทอนกำลังของสังคมไทยในระยะยาวอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ที่ผ่านมาความสามารถของเศรษฐกิจไทยในด้านความเจริญเติบโตและมีเสถียรภาพพอสมควรยังไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจมหภาคมีปัญหาร้ายแรงผู้คนเดือดร้อน

โดยตัวมันเองนโยบายประชานิยมและความเป็นผู้นำประชานิยม หรือ Populist ยุทธศาสตร์การเมืองประชานิยมในองค์ประกอบของระบอบทักษิณไม่ใช่มูลเหตุหลักของความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน รวมทั้งเป็นเหตุหลักในการที่คุณทักษิณกำลังถูกขับไล่ให้ลงจากตำแหน่ง

ในแต่ละสังคมนโยบายและผู้นำประชาสังคมไม่ใช่มีสภาพสถิตย์ หรือ Static แต่มีพลวัตทั้งด้านอุดมการณ์และนโยบายรวมทั้งฐานสนับสนุนทางสังคมกระบวนการโลกาภิวัตน์เศรษฐกิจเสรีนิยมที่ส่งเสริมการแข่งขันและมีการกำกับดูแลโดยรัฐที่ดี สามารถอยู่เคียงคู่ไปกับประชานิยมและช่วยให้ประชานิยมมีด้านที่เป็นมนุษย์อยู่กับร่องกับรอยโดยเฉพาะเมื่อระบบและกติกาทางการเมืองมีคุณภาพ

ในหลักการไม่ได้หมายความว่าผู้นำประชานิยมที่เก่งจะต้องโกงและเหลี่ยมจัดเสมอไป ชีวิตจริงในโลกนี้มีทั้ง Populist ที่ซื่อตรงไม่โกง และที่โกงมากโกงน้อย แต่ในที่สุดประเภทที่โกงจะอยู่ไม่ได้

คุณทักษิณและพวกเป็นผู้สร้างนวัตกรรมประชานิยมสำหรับประเทศไทย แต่กรอบความคิดเรื่องอุดมการณ์ขบวนการการเมือง เศรษฐกิจ ประชาธิปไตย ผู้นำแบบประชานิยมมีมานานแล้วในต่างประเทศ

Populism เป็นคำที่มีความหมายสับสนและกำกวมที่สุดในทางสังคมศาสตร์

Magaret Canovan จำแนกไว้อย่างน้อย 7 ความหมายหรือปรากฏการณ์

ตั้งแต่ขบวนการชาวนาหัวรุนแรงในปลายศตวรรษที่ 19 ของสหรัฐและการเกิดขึ้นของพรรคประชาชน การปฏิวัติสังคมเกษตรกรรมให้เป็นสังคมนิยมผ่านปัญญาชน เช่น ประชานิยม Narodniki ในศตวรรษที่ 19 ของรัสเซีย และประเทศโลกที่สามในศตวรรษที่ 20 ประชานิยมของชาวนาในยุโรปในศตวรรษที่ 20 ที่ต่อสู้เพื่อยกฐานะของชาวนารายย่อยสู้กับนายทุนและลัทธิสังคมนิยมไปจนถึงเผด็จการ Populist ที่ผู้นำที่มีบารมีชนะใจมวลชน เช่น เปรอง ในอาร์เจนตินา

หรือเช่นการมีกระบวนการประชาธิปไตยแบบ Populist เพื่อทำให้รัฐตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของประชาชนจากความคิดริเริ่มของประชาชนผ่านประชาธิปไตยโดยตรง (Direct Democracy) เช่น การทำประชามติ หรือผู้นำประชานิยมปฏิกิริยาใช้ช่องว่างความแตกต่างทางความคิดเช่น เชื้อชาติ ผิว เป็นต้น

ในสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่แก่นแท้ของ Populism และผู้นำประเภทนี้คือความสามารถในการเข้าไปครองใจประชาชน หรือ The People จึงไม่น่าแปลกใจที่เห็นการทำการตลาดของคำขวัญของพรรคไทยรักไทยว่า ไทยรักไทย หัวใจคือประชาชน ผู้นำประชานิยมเป็นตัวแทนของประชาชน

คำว่าประชาชนนี้มีความหมายตั้งแต่ประชาชนโดยรวมเป็นหนึ่งเดียว อาจจะหมายถึงชาติหรือประเทศ หรือประชาชนของพวกเราเทียบกับพวกเขา ไปจนถึงสามัญชนชาวบ้านหรือคนธรรมดาทั่วๆ ไป

อุดมการณ์ซ้าย หรือ Marxist ตามแนวคิดของ Ernest Laclau ประชานิยมมักจะเกิดขึ้นในช่วงวิกฤติในวาทกรรมอุดมการณ์หลักซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิกฤติในสังคม

ขบวนการประชานิยมสะท้อนการเป็นปฏิปักษ์หรือการท้าทายระหว่างอุดมการณ์ประชาชนกับอุดมการณ์กลุ่ม ขั้ว หรือชนชั้นผู้มีฐานอำนาจในสังคมรวมทั้งรัฐ

เพราะฉะนั้น ฮิตเลอร์ เมาเซตุง เปรอง ล้วนเป็นผู้นำประชานิยมได้ทั้งนั้นในความหมายนี้

เพราะว่าวาทกรรมของอุดมการณ์ที่ประชาชนนำเสนออยู่ในรูปแบบการเป็นปฏิปักษ์ต่อกันและกัน ในความเห็นของ Canovan ในมิติเชิงโครงสร้าง ประชานิยมเป็นเรื่องของการครองใจและเป็นตัวแทนประชาชนอยู่กับฝ่ายตรงข้ามที่มีอำนาจ

ผู้นำประชานิยมท้าทายความคิดและคุณค่า อำนาจของชนชั้นผู้นำ สื่อ ปัญญาชน สถาบันวิชาการ ในเรื่องการเมือง เศรษฐกิจและสังคม เพราะฉะนั้นประชานิยมสามารถมีมิติทางอุดมการณ์ได้เช่นกัน

ผู้นำประชานิยมโดยเนื้อแท้มีสไตล์ทางการเมืองที่ง่ายและตรง ลึกๆ แล้วเขาไม่ไว้ใจนักการเมือง ไม่ชอบระบบ ไม่ชอบระบบราชการที่มีหลายชั้นหลายขั้นตอน เขาต้องการสัมผัสกับประชาชนหรือผู้ตามโดยตรงทันทีทันควัน หรือ Spontaneous

คุณทักษิณจึงชอบงบกลาง ทัวร์นกขมิ้น เดินทางไปจังหวัดไหนก็แจกและให้สัญญาให้ความหวัง

ที่สำคัญคือ อารมณ์ หรือ Mood ของผู้นำประชานิยมเป็นอารมณ์ที่เต็มไปด้วยความกระตือรือร้น การเมืองจึงไม่ใช่เรื่องกิจวัตรที่จำเจ ประจำวัน ซ้ำๆ ซากๆ การเมืองเป็นเรื่องของการฟื้นฟู สร้าง และกู้ชาติ เพราะสังคมมีวิกฤต พรรคการเมืองเดิมไม่สามารถแก้ปัญหาได้

ผู้นำประเภทนี้จึงต้องมีหรือสร้างภาพให้มีลักษณะพิเศษ มีบุญบารมี หรือ Charisma ประชาชนมองเขาบ่อยครั้งเหมือนเทวดามาโปรด จะมาดับทุกข์และสร้างสุข

ในประวัติศาสตร์ประชานิยมถูกมองว่าเป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตย เมื่อมีผู้นำที่มีอำนาจอย่าง ฮิตเลอร์ หรือผู้นำประเภท Fascist ขึ้นมาฉ้อฉลอำนาจ และผู้ตามก็ถูกมองว่าเป็นผู้ไร้เหตุผล

ผู้นำ Populist มักใช้ภาษาที่สื่อกับประชาชนแบบง่ายๆ ใช้โวหารมากและมีลักษณะ Tabloid คุณทักษิณใช้ภาษาพูดตอบโต้กับฝ่ายตรงข้ามเช่นพวกขาประจำ หรือกับคุณสนธิ คุณจำลอง พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้อย่างแสบสันต์ เช่น ไอ้พวกกุ๊ยข้างถนน เหม็นกว่าส้วมสาธารณะ เลี้ยงหมายังไม่รอดแล้วจะมากู้ชาติ หรือจะไม่โง่ ไม่บ้า ไม่โกง เป็นต้น

การมองประชานิยมเป็นยุทธศาสตร์ทางการเมืองในความคิดของ Kurt Weyland ที่เน้นวิธีการและเครื่องมือในการชนะได้มาและใช้อำนาจก็น่าสนใจ

ยุทธศาสตร์ทางการเมืองกำหนดขีดความสามารถในการได้มาซึ่งอำนาจ (Power Capability) ที่ผู้นำใช้ ผู้นำอาจเป็นปัจเจกชน กลุ่มไม่เป็นทางการหรือองค์กรตามกฎหมาย

ขีดความสามารถของอำนาจพื้นฐานสององค์ประกอบคือ

1) จำนวน (เช่น การลงคะแนน การสำรวจจากโพล การชุมนุมของมวลชน เป็นต้น)

2) น้ำหนัก การให้น้ำหนักพิเศษเฉพาะเช่นการแทรกแซงของทหาร กลุ่มทางสังคมที่มีพลังอำนาจ เป็นต้น เพราะฉะนั้นผู้นำประชานิยมใช้การเลือกตั้ง การทำประชามติ การชุมนุมของมวลชน โพล เป็นกลไกในการระดมและแสดงออกถึงขีดความสามารถในอำนาจของตน

ในยามวิกฤตเมื่อผู้นำหลังพิงกำแพงกำลังจะสูญอำนาจ ฐานสนับสนุนมวลชนจะถูกนำมาใช้ คุณทักษิณจึงชอบอ้าง 19 ล้านเสียงอยู่เป็นประจำ รวมทั้งการระดมชาวบ้านมาสนับสนุนสู้กับกลุ่มพันธมิตร

การสนับสนุนของมวลชนที่แสดงต่อเปรองเมื่อกว่า 50 ปีก่อนก็ดี หรือประธานาธิบดี Fujimori ที่สามารถฉีกรัฐธรรมนูญคุมอำนาจทหารและชนะการเลือกตั้งในช่วงหนึ่งก่อนจะถูกขับไปในที่สุด หรือการที่อดีตประธานาธิบดี Collor แห่งบราซิล ที่อ้าง 35 ล้านเสียงที่เขาชนะการเลือกตั้งเมื่อปี 2532 เมื่อเผชิญกับข้อหาคอร์รัปชั่นเมื่อปี 2535 อย่างไรก็ตาม ฐานสนับสนุนของมวลชนของเขาอ่อนลงในที่สุดจึงถูกถอดถอนจากตำแหน่งประธานาธิบดี

กรณีทั้งหมดนี้สะท้อนข้อเท็จจริงที่ว่าประชานิยมและผู้นำโดยพื้นฐานขึ้นอยู่กับฐานสนับสนุนของมวลชน

ประชานิยมตามติดประชาธิปไตยเหมือนเงาจึงเป็นของคู่กันแยกกันไม่ออก

เมื่อใดที่ความฝันกับความเป็นจริงจากระบอบประชาธิปไตยมีช่องว่างมาก ความคาดหวังของประชาชนทั้งหมดหรือบางกลุ่มไม่ได้รับการตอบสนอง ประชานิยมจะผุดขึ้นมาในทุกที่

ในอุดมคติของประชาธิปไตยก็มีสองด้าน

ด้านอำนาจอธิปไตยของปวงชน ซึ่งทำให้เกิดรัฐบาลโดยประชาชน (Government by the people) โดยระบบตัวแทนและการใช้เสียงข้างมากเป็นระบบ Popular Democracy บอกถึงอำนาจของประชาชน

แต่รัฐบาลโดยประชาชนไม่จำเป็นจะต้องเป็นรัฐบาลเพื่อประชาชน (Government for the people) ซึ่งเป็นส่วนของ Constitutional Democracy เพื่อให้เกิดการประกันซึ่งสิทธิของประชาชน การตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของตัวแทนประชาชน รวมทั้งการประสานผลประโยชน์ แก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคม

เมื่อใดที่มีทั้งสองด้านของประชาธิปไตยมีช่องว่างไม่เกิดดุลยภาพ ประชานิยมก็จะผุดขึ้นมาตอบสนอง

ถ้าการเมืองเป็นเรื่องที่มากกว่าการให้เกิดเสถียรภาพ เสรีภาพของเสียงข้างน้อย การแก้ไขความขัดแย้งซึ่งเป็นหัวใจหลักของ Constitutional Democracy

แต่การเมืองเป็นเรื่องของการที่ประชาชนต้องการระบบและผู้นำทำให้ความฝันและการคาดหวังของเขาเป็นจริง Popular Democracy ที่เน้นอำนาจประชาชนมักทำให้ผู้นำแบบประชานิยมในระบบพรรคการเมืองแบบรัฐสภา หรือระบบประธานาธิบดี ใช้เสียงที่ได้มาอย่างท่วมท้น ทำอะไรได้ตามใจชอบจนถึงฉ้อฉลอำนาจ รวมทั้งครอบงำอำนาจและทำลายการตรวจสอบทุกรูปแบบ

คุณทักษิณและระบอบทักษิณทำมาให้เห็นแล้วจนต้องถูกขับไล่เร็วกว่าที่ควรจะเป็น

แต่คุณทักษิณไม่ใช่ข้อยกเว้น

ผู้นำประเภทนี้ในลาตินอเมริกามีให้เห็นอยู่เป็นประจำ และอำนาจที่มากล้นมักจะมากับการโกงและการดับสิ้นของอำนาจ

การเมืองภาคประชาชนและภาคประชาสังคมของไทยมีพัฒนาการและการเรียนรู้ที่ไม่เลวและดูจะมีพลังมากกว่าประเทศส่วนใหญ่ในละตินอเมริกาที่ใช้ระบบประธานาธิบดี ซึ่งฐานพรรคการเมืองไม่เข้มแข็ง

ถ้าระบอบทักษิณจะถูกทำลายในเร็ววัน เมื่อความเสียหายยังไม่มากจนเกินไป

คุณูปการของการเมืองภาคประชาชนนอกสภาทุกรูปแบบโดยเฉพาะตั้งแต่ปลายปีที่แล้วเป็นต้นมาจะส่งผลใหญ่หลวงต่อการเปลี่ยนแปลงของการเมืองไทย

เพราะปรากฏการณ์ข้างต้นแสดงให้เห็นว่าสังคมไทยยังมีอีกกลไกหนึ่งคือการเมืองภาคประชาชน ในการตรวจสอบรัฐบาลและผู้นำเพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐบาลเพื่อประชาชนไม่ใช่เพียงรัฐบาลโดยประชาชนเท่านั้น

ที่มา : มติชน




 

Create Date : 22 มีนาคม 2549
1 comments
Last Update : 22 มีนาคม 2549 6:06:18 น.
Counter : 1015 Pageviews.

 

ถ้าสังคมมันทำให้เราสูญเสียอัตลักษณ์ ก็ควรถอยออกมา

ใครอยากพบคนราชดำเนินผู้ประท้วงความอยุติธรรม

เชิญที่ ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด

//ithai.awardspace.com/forums/index.php

คุณ Can ไทเมือง ประจำที่นั่นทุกวัน พร้อม ๆ ชาวราชดำเนินเกือบ ๆ 300 คน

 

โดย: 000 IP: 58.8.106.179 4 เมษายน 2549 5:44:07 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ไทเมือง
Location :
อุบลราชธานี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add ไทเมือง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.