Group Blog
 
 
ธันวาคม 2548
 
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
19 ธันวาคม 2548
 
All Blogs
 

“การแปรธาตุรัฐวิสาหกิจ ทุนนิยมหรืออำนาจนิยม”

ชำแหละแผนขาย กฟผ."อภิมหาบรมโคตรโกง"
คำบรรยายสาธารณะหัวข้อ “การแปรธาตุรัฐวิสาหกิจ ทุนนิยมหรืออำนาจนิยม”
ส่วนหนึ่งจากบันทึกการประชุมสมัชชาประชาชนต้านคอร์รัปชัน เนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล ประจำปี 2548
(9 December : International Anti-Corruption Day 2005) วันที่ 9 ธันวาคม 2548 ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ

โดย ดร.วุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์ สถาบันสหสวรรษ
(ผู้เขียนหนังสือ “ซื้อรัฐวิสาหกิจ แถมประเทศไทย” และ “ขายเอง ซื้อเอง บันทึกลับแปรรูปการไฟฟ้า”)





 

Create Date : 19 ธันวาคม 2548
16 comments
Last Update : 19 ธันวาคม 2548 22:45:01 น.
Counter : 774 Pageviews.

 

“การแปรธาตุรัฐวิสาหกิจ ทุนนิยมหรืออำนาจนิยม”

โจทย์ที่ยกมาให้ผมนั้นดูเหมือนเป็นข้อสอบปรนัย บอกว่าการแปรรูปรัฐวิสาหกิจหรือแปรธาตุรัฐวิสาหกิจนั้น คำตอบข้อ ก.ทุนนิยม ข้อ ข.อำนาจนิยม ไม่ทราบเหมือนกันว่าข้อสอบลวงหรือเปล่า คำตอบของผมก็คือ ไม่ใช่ทั้งข้อ ก.และข้อ ข. คำตอบคือข้อ ค. แต่ ค.ไม่ได้ย่อมาจาก “คอควาย” นะครับ ค.ย่อมาจาก คอร์รัปชัน และคอร์รัปชันอันนี้ไม่ใช่คอร์รัปชันปกติธรรมดาที่เราคุ้นเคยกัน

แต่เป็นคอร์รัปชันชนิดพิเศษ เป็นคอร์รัปชันที่บางคนก็เรียกว่าคอร์รัปชันเชิงนโยบาย บางคนก็เรียกว่ามหาคอร์รัปชัน บางคนก็เรียกคอร์รัปชันประเภทอภิมหาอมตะนิรันดร์กาล สรุปแล้วก็คืออภิมหาบรมโกง

คอร์รัปชันอันนี้มีลักษณะพิเศษก็คือว่า ไม่ใช่คอร์รัปชันแบบชักหัวคิวกันง่ายๆ ที่เราเห็นกันดาษดื่นทั่วไป

แต่เป็นคอร์รัปชันที่มีแง่มุมในเชิงศิลปกรรมสูง นอกเหนือจากมีความโหด มันส์ ฮาแล้ว มันยังมีแง่มุมของความสวยงามประกอบอยู่มากมาย

คอร์รัปชันวันนี้พูดถึงเรื่องการแปรรูป มันไม่เพียงแต่ว่าโหดกว่าในอดีต อำมหิตกว่าในอดีต มันส์กว่าในอดีต

แต่วันนี้มันแนบเนียน นุ่มนวล สุขุม ลุ่มลึก และลึกซึ้งมาก จนการคอร์รัปชันรูปแบบนี้เกิดเป็นศิลปะแขนงหนึ่ง เราเรียกกันว่า

"วิจิตรโจรกรรม"

แล้วก็บังเอิญไม่ทราบว่าด้วยรัฐธรรมนูญนี้หรือเปล่า เราก็ได้ผู้ที่มาเป็นศิลปินประกอบวิจิตรโจรกรรมที่มีความสามารถสูง ในระดับที่ผมคิดว่าน่าจะได้รับการยกย่องสรรเสริญเป็นศิลปินแห่งชาติในสาขาวิจิตรโจรกรรมนี้

เราจะเห็นว่างานเหล่านี้นอกจากมูลค่ามหาศาลแล้ว วิธีการยังแนบเนียนและยอกย้อน และไม่ได้ทำกันทีละเล็กทีละน้อย แล้วก็ไม่ใชเรื่องที่เด็กๆ จะสามารถทำได้ เป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นในระดับสูง มีขนาดใหญ่ มีความซับซ้อน และถูกกฎหมายทั้งสิ้น

การที่เป็นคอร์รัปชันที่ถูกกฎหมายก็เพราะ คนที่ทำการคอร์รัปชันนั้นเป็นคนเขียนกฎหมาย ถ้าไม่พอใจในกฎหมายก็สามารถที่จะแก้กฎหมาย

ในระหว่างการดำเนินการคอร์รัปชัน ก็มีที่ปรึกษากฎหมายที่ยอดเยี่ยม เพราะฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่างจะถูกต้องตามลายลักษณ์อักษรทุกตัวอักษร

นี่ก็เป็นสภาพที่เกิดขึ้น

เพราะฉะนั้นสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในวันนี้ พูดกันชัดๆ ตรงๆ และไม่ต้องมากมารยาท
เรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในวันนี้ก็คือ เรื่องของ"คอร์รัปชัน" เป็น "อภิมหาบรมโคตรโกง"
เพื่อให้ชัดเจนก็ขออนุญาตยกตัวอย่างตรงๆ ง่ายๆ เป็นเหตุการณ์ณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ และพวกเราก็คงมีส่วนรับรู้รับเห็นอยู่พอสมควรแล้ว
ก็คือเรื่องของการแปรรูป กฟผ. ผมขอยกแง่มุมเพียงแค่ 3 ประเด็นเท่านั้นเพื่อจะได้เห็นภาพ

 

โดย: Can (ไทเมือง ) 19 ธันวาคม 2548 22:46:09 น.  

 

ประการแรก ก็คือ เวลาเขาถามว่าคุณเอา กฟผ.ไปขายในตลาดได้ยังไง เพราะ กฟผ.มันมีทั้งสายส่ง มีทั้งเขื่อน มันมีทั้งเหมืองถ่านหิน

รัฐบาลก็บอกว่าไม่เป็นไรหรอก แท้จริงแล้วเราขาย กฟผ.แต่เราไม่ได้ขายเขื่อนด้วย เขื่อนเอาไปโปะไว้กับกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง

รัฐบาลยังเป็นเจ้าของเหมือนเดิม แล้วก็ให้ กฟผ.ซึ่งวันนี้ไม่ใช่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต แต่เป็น บมจ.กฟผ.เข้ามาเช่า

วิธีการเช่าก็ไม่ยากเย็นอะไร เขื่อนทั้งหมด 21 แห่ง ตีมูลค่าออกมาประมาณ 23,000 ล้านบาท
มีพื้นที่ประมาณ 38,000 ไร่ รัฐบาลก็ตีมูลค่าเช่าให้กับ บมจ.กฟผ.30 ปี เป็นเงินทั้งหมด 9,443 ล้านบาท เอา 30 หาร ง่ายๆ ก็คงประมาณปีละ 300 ล้านบาท

แล้วเขื่อนอันนี้ก็สามารถนำมาปั่นไฟได้โดยแทบจะไม่มีต้นทุน

เพราะว่าใช้พลังน้ำทั้งหมดวันนี้เราผลิตพลังไฟฟ้าทั้งหมดที่ กฟผ.ขายให้กับผู้บริโภคทั้งประเทศประมาณ 130,000 ล้านหน่วย โดย 12% เป็นกำลังผลิตจากน้ำ

ถ้าเอาตัวเลขกลมๆ ว่าผลิตจากน้ำสัก 10% ก็ประมาณ 13,000 ล้านหน่วย แล้วคูณด้วยประมาณ 2.50 บาทต่อหน่วย มูลค่าทั้งหมดก็ออกมาประมาณ 32,500 ล้านบาท

เอาเศษนิดๆ ประมาณ 300 ล้านบาท เอามาจ่ายเป็นค่าเช่าเขื่อน อีก 30,000 ล้านบาทเก็บเข้ากระเป๋าไป

ทำอย่างนี้ทั้งหมด 30 ปี เป็นเงิน 900,000 ล้านบาท

แต่ไม่ใช่แค่ 30 ปี แต่รัฐบาลเปิด Option ให้สามารถต่อสัญญาได้อีก 30 ปี รวมเป็น 60 ปี ถ้าเอา 60 คูณก็จะเป็น 1.8 ล้านล้านบาท

นี่แหละครับ รวยแล้วไม่โกง เพราะว่าคนรวยย่อมไม่โกงทีละเล็กทีละน้อย

ต่อไปนี้ถ้าเห็นวลีที่ว่า “รวยแล้วไม่โกง” ขอให้ขีดฆ่าทิ้ง

แล้วก็เปลี่ยนเป็น “ไม่โกงก็ไม่รวย” หรือว่า “ไม่โกงแล้วทำไมรวย”


1.8 ล้านล้านบาทนี้ เพื่อที่จะให้ท่านทราบว่ามันมากมายขนาดไหน

วันนี้...เราใช้เงินงบประมาณแผ่นดินทั้งปี 1.36 ล้านล้านบาท อันนี้ใหญ่กว่างบประมาณ 1 ปีไปอีก 50%

วันนี้...เราไม่ได้พูดถึงการโกงเพียงแค่เก็บหัวคิว 5% 10% 15% อีกต่อไปแล้ว

วันนี้...คือการโกงใหญ่กว่ามูลค่าของงบประมาณแผ่นดินทั้งปี อันนี้คิดแบบอนุโลม

เพราะว่าแท้จริงแล้วเราคิดกันที่ค่าไฟฟ้า 2.50 บาทต่อหน่วย

เราพูดกัน 30 ปีจากนี้ ค่าไฟฟ้าคงจะไม่ใช่ 2.50 ต่อหน่วย คงจะเป็น 10 บาทต่อหน่วยมากกว่า

แล้วถ้าเราพูดกัน 60 ปี เราคงจะโชคดีมากถ้าค่าไฟฟ้ายังไม่ถึง 50 บาทต่อหน่วย

แต่วันนี้ บมจ.กฟผ.จ่ายให้กับรัฐบาล จ่ายให้กับประชาชนเท่ากับไม่ถึง 2 สตางค์ต่อหน่วยไฟฟ้า

นี่แหละครับอภิมหาบรมโคตรโกง

 

โดย: Can (ไทเมือง ) 19 ธันวาคม 2548 22:50:30 น.  

 

แม้เขาจะบอกว่าท้ายสุดกรรมสิทธิ์ก็ไม่ได้อยู่กับ บมจ.กฟผ.

แต่ผมไม่อยากให้เราถูกตบตาซ้ำแล้วซ้ำเล่า

กรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของที่แท้จริง ไม่ใช่ชื่อที่อยู่แสดงกรรมสิทธิ์ ผู้ที่เป็นเจ้าของจริง คือผู้ที่เป็นคนใช้ เป็นคนตัดสินใจ เป็นคนวางแผน และเป็นคนได้ประโยชน์

การที่ผมมีหุ้นจำนวนมาก แล้วเอาชื่อคนใช้บ้าง คนขับรถบ้าง เอามาใส่ ไม่ได้หมายความว่าคนใช้และคนขับรถเป็นเจ้าของหุ้น

แต่เจ้าของหุ้นก็ยังเป็นผมเหมือนเดิม เพราะฉะนั้นการที่เพียงบอกว่าเอาเขื่อน 21 แห่งไปไว้ใต้ชื่อของกระทรวงการคลัง ไม่ได้ทำให้กระทรวงการคลังเป็นเจ้าของ ผู้ที่ใช้ ผู้ที่ควบคุม ผู้ที่วางแผน และผู้ที่ได้ประโยชน์ ก็ยังเป็น บมจ.กฟผ.เหมือนเดิม

อย่าสับสน นานๆ...ครั้งอาจจะมองได้ว่าเป็นการบกพร่องโดยสุจริต ทำบ่อยๆ มันจะกลายเป็นทุจริตโดยไม่บกพร่อง

 

โดย: Can (ไทเมือง ) 19 ธันวาคม 2548 22:52:40 น.  

 

ประการที่สอง หุ้นของ บมจ.กฟผ.วันนี้มีสินทรัพย์ไม่ถึง 200,000 ล้านบาท เอามาจัดเป็นหุ้น 6,000 ล้านหุ้น แล้วก็เพิ่มหุ้นใหม่อีก 2,000 ล้านหุ้น เพื่อเอามากระจาย

ใน 2,000 ล้านหุ้นนี้เอามาให้กับพนักงาน กฟผ.เพื่อลดแรงเสียดทานจำนวน 510 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 25% ครึ่ง
กันไว้สำหรับผู้ลงทุนที่ไม่ประสงค์ออกนาม 12% ครึ่ง คิดเป็น 245 ล้านหุ้น

ที่เหลืออีก 62% หรือ 1,245 ล้านหุ้น เอามาแบ่งขายให้กับประชาชน

แต่ก็ไม่ทราบว่าใครคือประชาชนนั้น จำนวน 31% หรือ 622.5 ล้านหุ้น

ขายให้กับสถาบัน อีก 12% ครึ่ง เท่ากับ 249 ล้านหุ้น
ขายให้กับผู้ลงทุนต่างชาติ 18% ครึ่ง เท่ากับ 373.5 ล้านหุ้น

เพราะฉะนั้นพนักงาน บมจ.กฟผ.รับไปแล้ว 510 ล้านหุ้นที่ราคาพาร์ ใช้เงินซื้อ 10 บาท (ต่อหุ้น)

แต่ราคาที่จะขายสู่ท้องตลาด คือ 25-28 บาท (ต่อหุ้น) คิดคร่าวๆ ที่ราคากลาง 26.50 บาทแล้วกัน

เพราะฉะนั้นพนักงาน กฟผ.จะได้กำไรทันที Capital Gain หุ้นละ 16.50 บาท คูณ 510 ล้านหุ้น คิดเป็นเงิน 8,400 ล้านบาท ฟังดูก็น่ากลัว แต่แท้จริงเป็นเพียงเศษเนื้อที่โยนมาเพื่อให้แน่ใจว่าสุนัขจะไม่เห่า

ขออภัยเพื่อนพนักงาน กฟผ. แต่ผมเชื่อว่าเขามองอย่างนั้นจริงๆ

ของจริงก็คือหุ้นที่ผมเรียนแล้ว หุ้นที่ผู้ซื้อไม่ประสงค์จะออกนาม หรือที่เรียกว่า “นอมินี” (Nominee) ในส่วนที่กันแล้วขายในประเทศไทย กันไม่ให้ผู้ถือหุ้นต่างชาติ ทั้งหมด 373.5 ล้านหุ้น กับอีกอันที่ขายโดยไม่ประสงค์ออกนามจริงๆ อีก 245 ล้านหุ้น

เมื่อบวกกันแล้วจะเป็นหุ้นทั้งหมดประมาณ 618.5 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 31% ของหุ้นทั้งหมด

ฟังแล้วคล้ายๆ กับการขายหุ้น ปตท. ซึ่งหุ้นทั้งหมด 30% ขายไปให้กับกองทุนในสิงคโปร์ มี 2 กองแต่ชื่อเดียวกัน ไม่ได้ปรากฏและเปิดเผย

คราวนี้ต่างไปเล็กน้อยก็คือ 31%

เพราะฉะนั้นผมเชื่อว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับ กฟผ.จะทำให้สิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับ ปตท.เป็นเรื่องเด็กๆ

หุ้นของ กฟผ. IPO ประมาณ 25-28 คิดกลมๆ ประมาณ 25 บาท ราคาหุ้นที่ประเมินกันในท้องตลาด เขาคำนวณโดยสิ่งที่เรียกว่า “ไพรซ์ เอิร์นนิ่ง เรโช” (Price-earning ratio) หรือ P/E

หมายความว่าจะซื้อหุ้นสักตัว ต้องดูว่ามีกำไรมากน้อยสักแค่ไหน

ถ้ามีกำไร 1 บาท ราคาหุ้น 10 บาท ก็เท่ากับว่าหุ้นตัวนั้น P/E เท่ากับ 10

หมายความว่าถ้าอยากกำไร 1 บาท ก็ต้องลงทุน 10 บาท
ถ้าธุรกิจไม่ค่อยดี P/E ก็อาจจะต่ำกว่า 10 ถ้าธุรกิจดีๆ P/E ก็จะสูง เพื่อสะท้อนลักษณะธุรกิจ

รัฐบาลก็แสนจะใจดี เมื่อไม่กี่เดือนก็บอกว่า ท้ายสุดค่าเอฟที (ต้นทุนพลังงานผันแปรในการผลิตไฟฟ้า) ในปี 2548 ทั้งปี ตกลงรัฐบาลจะยกให้ประชาชนฟรีๆ ไม่คิดเงิน

หารู้ไม่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ทำให้กำไรของ บมจ.กฟผ. ทรุดฮวบไปเป็นหมื่นล้านบาท

ทรุดฮวบไปเป็นหมื่นล้านแปลว่าอะไร ไอ้ตัว E คือกำไรที่เคยคิดว่าควรจะเป็นนั้น ก็ตกไปประมาณ 50-60%

เมื่อ E หรือกำไรตก ราคาหุ้นของ กฟผ.ก็จะตกไปด้วย

แล้วก็ใช้กำไรนั้นคิดคำนวณราคาที่ขายในท้องตลาด หรือที่เรียกว่าราคา IPO ออกมาเป็น 25 บาท

ถ้าสมมติเราตัดเหตุการณ์ไม่ปกติออก เราจะพบว่ากำไรที่ควรจะเป็นสูงกว่ากำไรที่เกิดขึ้นจริงประมาณ 1.6 เท่า

ถ้า 1.6 เท่าก็แปลว่า ราคา (หุ้น กฟผ.) ที่ตั้งไว้มันต่ำไป 1.6 เท่า ราคา 25 บาทที่แท้จริงควรจะเป็น 40 บาท

แต่นั่นคิดที่ราคา P/E 7.5 เท่า หมายความว่ากำไร 1 บาท ราคาหุ้น 7.50 บาท

แต่หุ้นในกลุ่มพลังงาน กลุ่มสาธารณูปโภค กลุ่มไฟฟ้า ไม่ใช่ 7.5 แน่ๆ

คิดกันง่ายๆ เอาของ ปตท.มาดูก็แล้วกัน ประมาณ 15 ก็แสดงว่ามันผิดไป 2 เท่าตัว เอา 40 คูณ 2 เท่ากับ 80 บาท

เพราะฉะนั้นของที่มูลค่าควรจะเป็น 80 บาท แล้วมาขาย 25 บาท กำไร 55 บาท เอา 618 ล้านหุ้น คูณ 55 บาท

กำไรเล็กๆ น้อยๆ แค่ 34,000 ล้านบาท

อันนี้แค่ประเดี๋ยวประด๋าว กำไรเหนาะๆ 34,000 ล้านบาท

ลองคิดเล่นๆ ค่าไฟฟ้า 2.50 บาทต่อหน่วย ถ้าผมเข้าไปยึดกุม กฟผ.ได้ ผมขยับราคาขึ้นไปสัก 50 สตางค์ เป็นไปได้ไหมครับ ค่าไฟฟ้าจาก 2.50 บาท เป็น 3 บาท

ทราบไหมครับถ้าผมขยับค่าไฟฟ้าขึ้นไปอีก 50 สตางค์ ราคาที่ควรจะเป็นของหุ้น กฟผ.จะพุ่งขึ้นไปเป็น 186 บาทต่อหุ้น

เอา 186 บาท ลบ 25 คูณ 620 ล้านหุ้น เป็นเลขกลมๆ ประมาณ 100,000 ล้านบาทพอดีๆ

ถ้าผมสามารถขยับราคาไฟฟ้าจาก 2.50 บาทเป็น 3.50 บาท ราคาหุ้น กฟผ. ก็จะพุ่งไป 200 กว่าบาท ผลกำไรนั้นประมาณ 165,000 ล้านบาท

ถ้าราคาไฟฟ้าเป็น 4, 5, 6 บาทต่อหน่วย ก็คำนวณกันเองแล้วกัน ผมไม่กล้า...ขนลุก

 

โดย: Can (ไทเมือง ) 19 ธันวาคม 2548 22:55:11 น.  

 

ประการที่สาม

ผลประโยชน์ยังอีกอันก็คือ ในระบบสายส่งของ กฟผ.ไม่ว่าจะ 230 KV, 500 KV, 115 KV สายไฟฟ้าที่ส่งไปนี้สอดไส้ตรงแกนกลางด้วยใยแก้วนำแสงไฟเบอร์ออฟติค (Fiber Optic) หรือออฟติเคิล-ไฟเบอร์ (Optical Fiber)

ซึ่งตัวนี้สามารถส่งสัญญาณได้จำนวนมหาศาล ถามว่ามากเท่าไหร่ เขาบอกว่าประมาณ 155 MBPS มันมากแค่ไหนอาจจะนึกไม่ออก แต่เวลาถ่ายทอดสดบอลโลกเข้ามา ใช้ไม่ถึง 1 MBPS ถ้าเป็นระบบ DVD คุณภาพดีหน่อยก็ประมาณไม่ถึง 2 MBPS

เพราะฉะนั้นอันนี้สามารถที่จะใช้ทำช่องทีวีได้เป็นร้อยๆ ช่อง ถ้าเติมเงินอีกนิดหน่อย สามารถเอาช่องสัญญาณอันนี้คูณได้อีก 32 หรือ 64 พูดง่ายๆ สามารถที่จะสร้าง UBC ขึ้นมาอีก 10 บริษัท หรือ 50 บริษัท หรือ 100 บริษัทได้ในชั่วพริบตา

แต่นั่นก็ไม่ใช่วัตถุประสงค์อันเดียว ความจริงใยแก้วนำแสงสามารถใช้เชื่อมต่อสัญญาณโทรศัพท์ ใครก็ตามที่มีอุปกรณ์ปลายทาง ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์บ้านหรือโทรศัพท์มือถือ สามารถมาต่อเชื่อมกับอันนี้ เพราะฉะนั้นเวลาจะโทร.จากกรุงเทพฯ ถึงเชียงใหม่ ก็แค่โทร.ไปถึงสถานี Substation ในกรุงเทพฯ แล้วสัญญาณก็จะวิ่งไป คนที่มีโทรศัพท์มือถือที่เชียงใหม่ก็สามารถจะรับได้ทันที โครงข่ายอันนี้จะเป็นโครงข่ายที่สมบูรณ์ที่สุด ไม่แพ้องค์การโทรศัพท์ หรือ ทศท.คอร์ปอเรชั่น และการสื่อสารฯ

แต่เรื่องก็ยังไม่จบ เพราะว่าสายส่งของ กฟผ.ที่มาเป็นสายหลัก หรือ Trunk Line หรือ Back Bourn

ตัวนี้มันก็ยังไม่ถึงบ้านท่าน ถ้าเราผนวกกับสายซึ่งเป็นสายทองแดงของการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเข้าไป

สายจะถึงทุกบ้านทุกช่อง 15 ล้านครัวเรือนวันนี้ ต่อไปสายทองแดงของท่านไม่ได้เพียงนำกระแสไฟฟ้าเท่านั้น ยังสามารถที่จะนำสัญญาณโทรศัพท์ สัญญาณอินเทอร์เน็ตเข้ามาด้วย

อันนี้เราเรียกว่า BPL Broad Brand over Power Line ตามศัพท์ของยุโรป

ถ้าอเมริกาก็เรียกว่า Power Line Communication

เพราะฉะนั้นพูดง่ายๆ ปลั๊กไฟที่บ้านอีกหน่อยก็คือแจ๊คโทรศัพท์ อีกหน่อยก็คือแจ๊คสำหรับเสียบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง

อีกหน่อยก็สามารถที่จะเสียบ UBC ช่องใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น

ใครก็ตามที่เป็นเจ้าของโครงข่าย กฟผ.บวก กฟน.บวก กฟภ.ก็คือ คนที่จะเป็นเจ้าของโครงข่ายโทรคมนาคมที่สมบูรณ์ที่สุดของประเทศ

วันนี้สิ่งที่ไม่ปรากฏเป็นข่าวในการแปรรูป กฟผ.ก็คือ การแยกบริษัท กฟผ.ออกมาอีกหนึ่งบริษัทเป็นบริษัทลูก ชื่อ EGAT Telecom ซึ่งเป็นเจ้าของ Fiber Optic ทั้งหมด

แต่ EGAT Telecom มีปัญหา เพราะบริหารไม่เป็น อยากหา Partner ทางธุรกิจ ผมก็นึกไม่ออกว่าใครควรจะเป็น Partner ทางธุรกิจของ EGAT Telecom

ใครก็ตามที่เป็น Partner ทางธุรกิจของ EGAT Telecom จะเป็นคนที่มีเครือข่ายโทรคมนาคมที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย

 

โดย: Can (ไทเมือง ) 19 ธันวาคม 2548 22:57:35 น.  

 

เพราะฉะนั้นวันนี้ภาพจิ๊กซอว์ลงตัวแล้ว ปตท. ออกไปเป็นด้านพลังงาน แต่พลังงานยังไม่สมบูรณ์ถ้ามีเพียงน้ำมันและแก็ส สายพลังงานจะสมบูรณ์จะต้องมีไฟฟ้าด้วย

อันนี้เขาถึงจะเรียกว่า Energy Sector ถ้า EGAT ออกไป Energy Sector ก็สมบูรณ์ Energy Sector

อันนี้เราเรียกว่าอะไรรู้ไหมครับ เราเรียกว่า SHIN Energy

เพราะฉะนั้นสมการสั้นๆ ง่ายๆ ก็คือ PTT + EGAT = SHIN Energy

ส่วน AIS, SATTEL, LOXINFO + EGAT Telecom คือ SHIN Telecom

TMB ธนาคารทหารไทย + IFCT + DBS TDB ไทยทนุเก่า + Capital OK = SHIN BANK

นอกเหนือจาก SHIN Energy, SHIN Telecom, SHIN Bank เราก็มี SHIN TV และเรามี SHIN AIR

สมการผูกเรียบร้อย ตอนนี้ก็ต้องแก้สมการ

ถ้าท่านถามต่อว่าในฐานะคุณวุฒิพงษ์เป็นนักเศรษฐศาสตร์ ช่วยพยากรณ์เศรษฐกิจเมืองไทยปีหน้าหน่อยได้ไหม

ผมก็ขออาสาพยากรณ์เศรษฐกิจปีหน้าและปีต่อๆ ไปข้างหน้า จะมีลักษณะเป็น “เศรษฐกิจคู่ขนาน”

แต่ไม่ใช่คู่ขนานแบบที่ท่านนายกฯ บอกเราหรอกครับ

ไม่ได้หมายความว่ามีเศรษฐกิจรากหญ้า มีเศรษฐกิจสากล เพราะว่าเวลารัฐบาลพูดอย่าง ท่านจะทำอีกอย่าง

รัฐบาลนี้ไม่ใช่รัฐบาล “คิดใหม่ ทำใหม่” แต่เป็นรัฐบาล “พูดอย่าง ทำอย่าง"

เวลาท่านพูดถึงเศรษฐกิจคู่ขนานท่านหมายถึงอย่างนี้ คู่ขนานก็คือว่า ด้านหนึ่งท่านก็บริหารองค์การโทรศัพท์ TOT ทศท.อีกด้านหนึ่งท่านก็มี SHIN Telecom

ด้านหนึ่งท่านก็บริหารการบินไทย นกแอร์ บางคนบอกว่านกแอร์ย่อมาจาก “กน๊กแอร์” อีกด้านหนึ่งก็มี SHIN AIR

ด้านหนึ่งก็บริหารช่อง 3 ช่อง 9 ช่อง 11 อีกด้านหนึ่งก็มี SHIN TV

ด้านหนึ่งก็บริหารธนาคารกรุงไทย ธนาคารนครหลวง และธนาคารอะไรต่อมิอะไรที่รัฐยึดมา รวมถึงธนาคารชาติ และกระทรวงการคลัง

อีกด้านหนึ่งก็มี SHIN BANK แล้วก็ SHIN Energy

นี่แหละครับคือภาพของเศรษฐกิจคู่ขนาน ท่านที่มาจากการบินไทย องค์การโทรศัพท์ที่วันนี้เรียกว่า บมจ. TOT ก็ไม่ต้องห่วงใยว่าองค์กรของท่านจะเสียชีวิตลง

เพราะรัฐบาลไม่มีเจตนาจะทำให้ตายหรอก เพียงแต่ต้องการจะเลี้ยงให้เป็นง่อยเท่านั้น

เพราะผมเชื่อว่าองค์กรเหล่านี้ที่ผมพูดถึงในเศรษฐกิจคู่ขนานจะไม่ตาย

แต่จะถูกเก็บไว้ให้เป็นอัมพฤตหรืออัมพาต

เพราะว่าองค์กรธุรกิจเหล่านี้ยังมีด้านสังคมที่จะต้องใช้

เพราะฉะนั้นอะไรที่ต้นทุนสูงๆ กำไรน้อยๆ จะต้องลากสายโทรศัพท์ สายไฟฟ้าไปในที่ทุรกันดาร สัมปทานที่ไม่เกิดประโยชน์ ทศท. TOT และการสื่อสาร CAT รับไป

ส่วนสัมปทานของดีๆ ก็มาทาง SHIN Telecom

เพราะฉะนั้นเศรษฐกิจคู่ขนาน ด้านหนึ่งก็จะเป็นกระโถนท้องพระโรง กับอีกด้านหนึ่งก็จะเป็นบริษัทของเรา

เพราะฉะนั้นเศรษฐกิจของไทยก็จะบริหารโดยคนๆ หนึ่ง แล้วก็จะเป็นคนที่ตัดสินว่าตกลงเราจะเลือกข้างประชาชนคนไทย หรือเราจะเลือก SHIN Corporation

ซึ่งกลายเป็นปลาหมึกยักษ์ตัวใหญ่ที่แผ่หนวดและกิ่งก้านสาขาไปทุกวงการ

ท้ายสุดก็จะจบลงว่า เศรษฐกิจไทยก็จะต้องเลือกระหว่าง THAILAND Inc. กับ SHIN Inc.

วันนี้ผมเชื่อว่าเรามาอยู่ในจุดๆ หนึ่งแล้วว่า คืออยู่ในรูปของเศรษฐกิจซึ่งผู้ที่ตัดสินว่าจะดูแลธุรกิจของตนเองและครอบครัว

หรือจะดูแลธุรกิจให้เกิดความผาสุกและประโยชน์สุขของประชาชนคนไทย คือคนๆ เดียวกัน.

 

โดย: Can (ไทเมือง ) 19 ธันวาคม 2548 22:58:45 น.  

 

ใครอ่านแล้วช่วยบอกต่อด้วย...ทั้งหมดนั้นผมลอกมาจากคำพูด ดร.วุฒิพงษ์นะครับ เผื่อโทษจะน้อยลง

 

โดย: Can IP: 202.5.87.134 19 ธันวาคม 2548 23:15:47 น.  

 

2 กรณีแรกไม่ทราบรายละเอียด...
แต่กรณีสุดท้ายนี่เคยให้ความเห็นไปแล้วว่า
ต่อให้มี ล้านช่องทาง ปัญหามันอยู่ที่ Content
คือเนื้อหาที่จะนำเสนอ...เพียงแค่ทีวี อนาล็อค
เนื้อหายังโหรงเหรง...ไปเอารายการดีๆต่างชาติมา
ก็โดนค่าลิขสิทธิ์อ่วม...คิดเพ้อฝัน นั่งจิ้มเครื่อง
คิดเลขน่ะมันง่าย...เสร็จแล้วก็จินตนาการว่า
คนโน้นคนนี้มันจะมาฮุบเอาไปทำประโยชน์
...ประสาทแดก...
บอกได้เลยว่า คนทำ Content ในบ้านเรามีไม่พอ
ถึงมีพอ คนบริโภคก็ไม่พอหรอก...แล้วมันก็ไม่สามารถ
ทำประโยชน์จากตรงนี้ได้ ตัวอย่างวิทยุชุมชนนั่นไง
ตัวอย่าง เวบไซด์ นั่นไง...

2 ข้อแรกขอเวลาหน่อย...จะได้รู้ว่ามันนั่งเทียน
หลับหูหลับตาจิ้มเครื่องคิดเลขไปฝ่ายเดียวยังไง...

 

โดย: Killer IP: 61.91.254.188 20 ธันวาคม 2548 0:02:06 น.  

 

ขอบคุณครับ

 

โดย: Acinetobacter IP: 202.57.176.12 20 ธันวาคม 2548 0:35:55 น.  

 

ก็ว่ากันไปครับ อิ อิ ผมก็ฟังมายังงี้ คิดยังไง โต้ยังไง ก็ลองตอบดู ฉีกออกมาเป็นข้อ ๆ ยิ่งดีครับสหาย

คนอ่านจะได้ข้อมูลเพิ่ม

จริง ๆ มีอีกหลายหลายมุมมอง แต่เด็ก ๆ เค้าส่งให้แค่นี้

ไฟล์อื่น ๆ ก็ยังไม่มา รอนิดนะครับ

 

โดย: Can (ไทเมือง ) 20 ธันวาคม 2548 1:04:34 น.  

 

สามปีก่อน ดร.วุฒิพงษ์ นำเสนอปัญหาคอร์รัปชันที่ประชุมเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน ที่ห้องประชุมวุฒิสภา ชี้ชัดเบาะแสการโกงชาติ ครั้งนั้นได้เนื้อหา อารมณ์ ใคร?..จะเป็น"ม้าแกลบ" ร่วมกับผมบ้าง//ดร.วุฒิพงษ์ประกาศ

วันนี้สิ่งที่ ดร.วุฒิพงษ์พูด ประชาชนส่วนใหญ่เริ่มรับรู้ เห็นความจริง ดูได้จากเรื่องโรคคอร์รัปชัน ที่ทะยอยออกมาจากสื่อต่างๆ " ไม่ใช่โคตรโกงแต่โกงกันทั้งโคตร"

หลวงตาแคนก็นั่งในที่ประชุม มันคักแท้แด....

 

โดย: sokmok// IP: 203.151.140.119 20 ธันวาคม 2548 3:55:28 น.  

 

การติดคุกถือเป็นเกียรติ์ประวัติ ทำเพื่อชาติบ้านเมืองแม้ตายก็ยิ้มได้ จะห่วงไปใยเรื่องส่งน้ำ-ข้าว

เมื่อดอกไม้บานสู่ชน มันคือภารกิจที่ยิ่งใหญ่.....ม้าแกลบที่ลากเลื่อน แบกน้ำหนักมาก บางทีเลื่อนก็กระดก ต้องลอยตัว...ตระกายอากาศบางขณะ เมื่อใดสัมภาระ(กล่องข่าวสาร)น้อยลง ม้าแกลบวิ่งฉลิว....

ใครจะร่วมขบวนการม้าแกลบกับ ดร.วุฒิพงษ์..เชิญ

 

โดย: sokmok// IP: 203.151.140.119 20 ธันวาคม 2548 4:07:44 น.  

 

อิ อิ สมัครสมาชิกได้ยัง ซกมก

 

โดย: Can IP: 202.5.87.134 20 ธันวาคม 2548 19:08:27 น.  

 

เรียนลุงแคน

ช่วงนี้ผมไม่มีเวลาเท่าไหร่ จึงอยากเรียนสั้นๆ จากความเห็นของผมดังนี้ว่า เรื่องการแปรรูปกฟผ. ไม่ใช่พึ่งจะมาทำกันตอนนี้แต่ได้ทำกันมานานมาแล้วไม่ใช่อยู่ในขั้นพิจารณาอย่างที่เข้าใจ กิจการไฟฟ้านั้นสามารถแบ่งออกได้เป็นส่วนใหญ่ๆ คือ การผลิต(generation) การส่ง(transmission) และการจัดจำหน่าย(distribution) ปัจจุบันกฟผ.มีกิจการอยู่ในสองส่วนแรก ส่วนกฟน. และ กฟภ. ทำอยู่ในส่วนสุดท้าย

กิจการการส่งไฟฟ้า(trasmission) นั้นนับเป็นหัวใจหลักของกิจการไฟฟ้า เพราะว่าโรงไฟฟ้าในปัจจุบันจะพยายามสร้างให้ใหญ่เพื่อให้ประสิทธิภาพสูง และมักจะตั้งอยู่ใกล้แหล่งเชื้อเพลิง เช่นใกล้แนวท่อก๊าซ ใกล้เหมืองถ่านหิน หรือใกล้ชายฝั่งหากต้องนำเข้าถ่านหินหรือก๊าซอัดในอนาคตอันใกล้ ซึ่งที่เหล่านี้มักจะอยู่ไกลจากผู้ใช้ไฟฟ้า โรงไฟฟ้าเกือบทุกโรง(ไม่เว้นแม้กระทั่งโรงที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรม เพราะโรงไฟฟ้าเหล่านั้นก็จะต้องขายไฟฟ้าให้กับกฟผ.ส่วนหนึ่งเพื่อใช้เป็นบัพเฟอร์หากการใช้ไฟฟ้าของลูกค้าในนิคมไม่คงที่) จึงต้องใช้บริการระบบสายส่งเพื่อส่งไฟฟ้าไปให้ถึงผู้ใช้ไฟฟ้า ผู้ที่ควบคุมระบบส่งนี้ได้จึงเป็นผู้ควบคุมราคาทั้งซื้อและขาย และผู้ควบคุมในปัจจุบันคือ กฟผ.

จากจุดที่เรายืนอยู่ในปัจจุบัน หากไม่เกิดปัญหาต้องเข้าโครงการไอเอ็มเอฟที่บังคับให้แปรรูปแบบฉับพลันทันทีแล้ว การแปรรูปสามารถเกิดได้ตามธรรมชาติ โดยการที่รัฐหรือกฟผ.เองไม่ลงทุนในส่วนการผลิตเพิ่มเติม(เพราะรัฐเองไม่มีเงินที่จะลงทุนอยู่แล้ว) แต่ให้เอกชน(IPP)เข้ามาลงทุนแทนไปเรื่อยๆ ท้ายสุดแล้วรัฐซึ่งก็คือกฟผ.ก็จะเป็นหน่วยงานที่ควบคุมระบบไฟฟ้าผ่านทางระบบสายส่งเป็นหลักโดยอาจมีโรงไฟฟ้าเองบางส่วน(เช่นในพื้นที่ห่างไกลสายส่งเข้าไปไม่ถึง ตัวอย่างเช่นแม่ฮ่องสอน ที่มีกำลังใช้น้อยไม่คุ้มที่จะลงทุนค่าสายส่งใช้โรงจักรดีเซลคุ้มกว่า) หรือกฟผ.ก็สามารถเข้าไปร่วมเล่นกับส่วนผลิตด้วยก็ได้ โดยอยู่ในรูปการถือหุ้นในบริษัทเอกชนที่ผลิตไฟฟ้า(ปัจจุบันก็มีคือโรงไฟฟ้าราชบุรี) หากรัฐสามารถควบคุมการแข่งขันได้ตามที่หลายๆประเทศเขาทำกันค่าไฟฟ้าจะยืนอยู่ที่ราคาใกล้เคียงกับราคาต้นทุนที่ควรจะเป็น

ในทางตรงกันข้ามหากรัฐอ้างว่ากิจการไฟฟ้านั้นเป็นกิจการเพื่อความมั่นคงเช่นเดียวกันหน่วยงานอื่นๆ เช่น กองทัพ (ยกตัวอย่างเพื่อความเข้าใจง่ายๆ หวังว่าคงไม่มีใครคิดเอากองทัพเข้าตลาดหุ้น) รัฐจะมาอ้างเรื่องค่าใช้จ่ายไม่ได้ รัฐต้องหาเงินมาลงทุนให้กับทางกฟผ.(ซึ่งก็คือหน่วยงานรัฐเอง) เพื่อความมั่นคงในการจัดหาพลังงานไฟฟ้า โดยไม่เปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมผลิตเพิ่มเติมอีก ในที่สุดโรงไฟฟ้าเอกชนเหล่านั้นก็จะหมดอายุไปและกฟผ.ก็จะสามารถควบคุมกิจการไฟฟ้าได้ทั้งร้อยเปอร์เซนต์เหมือนเดิม ซึ่งรัฐก็จะได้ความมั่นคงตามที่ต้องการ

สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำในปัจจุบันโดยการยกเอากฟผ.เข้าตลาดไปทั้งกระบิและกำหนดให้เป็นผู้ผลิตขนาดใหญ่นั้นจะไม่ได้ทั้งการแข่งขัน และความมั่นคง เป็นเพียงการยืดเวลาของปัญหาเรื่องไม่มีเงินลงทุนให้นานออกไปอีกเท่านั้นเอง ยกตัวอย่างให้เห็นภาพคือ ความต้องการไฟฟ้าในปัจจุบันเพิ่มขึ้นในอัตราเจ็ดถึงแปดเปอร์เซนต์ต่อปี ซึ่งหากรัฐต้องการลงทุนเองทั้งหมดรัฐจะต้องหาเงินมาสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มในอัตราดังกล่าวและจะต้องมีโรงไฟฟ้าใหม่แทนที่โรงไฟฟ้าเก่าที่จะหมดอายุด้วย หมายถึงรัฐต้องหาเงินมาเพื่อลงทุนเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปีซึ่งรัฐอาจรับภาระได้เพียงระยะเวลาเพียงสี่ห้าปีข้างหน้า แต่หากรัฐต้องการจะรับภาระเพียงครึ่งเดียวเพื่อ"ความมั่นคง" ถึงจุดๆ หนึ่งรัฐก็จะเจอปัญหาที่เงินลงทุนไม่พออยู่ดีและ"ความมั่นคง" ที่ฝันไว้ก็จะหายไปเช่นกัน ในขณะเดียวกันการแข่งขันก็ไม่เกิดเพราะกฟผ.เป็นยังผูกขาดการขายไฟฟ้าเจ้าเดียวเช่นเดิมราคานั้นจึงเป็นราคาที่กฟผ.จะอยู่ได้ ไม่ใช่ราคาที่สะท้อนต้นทุนการผลิตที่แท้จริง สรุปแล้วคือไม่มีการแก้ปัญหาใดๆ

สรุปสั้นๆ ในตอนท้ายคือ ไม่ว่ารัฐจะเอาอย่างไร สายส่ง(และศูนย์ควบคุม)จะต้องเป็นของรัฐและต้องไม่ขึ้นกับกฟผ.ที่เป็นบริษัทหรือบริษัทผลิตไฟฟ้าใดๆ หากบริษัทกฟผ.ยังอยากจะเป็นผู้เล่นในส่วนการผลิตอยู่ ก็ทำไปโดยไปแข่งราคาประมูลราคาเอากับเอกชนเองอย่างเท่าเทียม ไม่ใช่มาขอแอบใช้ความได้เปรียบของระบบส่งและศูนย์ควบคุม

ประเด็นเรื่องการใช้สายส่งเพื่อโทรคมนาคมนั้นผมเห็นเป็นเรื่องปลีกย่อย หากสายไฟฟ้าเป็นของรัฐนั้นก็ทำไปเถิดเพราะเงินก็เข้ารัฐเอง อีกประการหนึ่ง สายส่งของกฟผ.นั้นก็ไม่ได้ผ่านเข้าทุกหมู่บ้านทั่วประเทศเป็นแต่เพียงโครงหลักเท่านั้น ใครจะเอาไปใช้อย่างไรนั้นก็ต้องลงทุนเพิ่มเติมผ่านเข้าระบบของ กฟน และ กฟภ.เพื่อเข้าถึงชาวบ้านเช่นกัน

ดูรูประบบสายส่งของกฟผ.ได้จากที่นี่ครับ
//pr.egat.co.th/prweb/webnews/callcenter/data/Map_Transmission.pdf

 

โดย: ตอบด้วย IP: 130.207.48.21 21 ธันวาคม 2548 1:28:48 น.  

 

ขอนำความเห็นนี้ไปใส่ไว้ในกระทู้ครับ

 

โดย: Can IP: 202.5.87.137 21 ธันวาคม 2548 21:26:51 น.  

 

ไอ้กร๊วกกกกกกกกกกกกกก

 

โดย: จินตนาการเลิศลำจริงนะ IP: 203.188.39.45 26 ธันวาคม 2548 8:35:26 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ไทเมือง
Location :
อุบลราชธานี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add ไทเมือง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.