<<
กันยายน 2552
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
24 กันยายน 2552
 
 

ไหว้พระ ๙ วัดกับโครงการ “เจ้าท่าพาเที่ยว”(ตอนจบ)

ล่องเรือผ่านไปครึ่งค่อนวัน “แวะ” ลงกราบไหว้พระไล่มาตั้งแต่วัดราชสิงขร วัดยานนาวา วัดบุคคโล วัดกัลยาฯ วัดอรุณฯ และวัดอมรินทร์ฯ เหลืออีก 3 วัดสุดท้าย

ความเดิมตอนแรก

ความเดิมตอนที่สอง


วัดที่ ๗ วัดเทวราชกุญชร


15.00 น. เรือจอดเทียบท่าวัดฯ บนหลังคาศาลาท่าเรือของวัด มีนกพิราบบินขึ้นไปเกาะตามตัวช่อฟ้า ใบระกาเต็มไปหมด เรารึก็กลัวจะได้ของฝากจากเจ้าพวกนี้ลงใส่หัวเสียด้วย



วัดเทวราชกุญชรเป็นวัดโบราณสร้างมาแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมวัดนี้มีชื่อเรียกว่า “วัดสมอแครง” จนถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 พระองค์ทรงพระราชทานนามใหม่แก่วัดนี้ว่า “วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร” ซึ่งมาจากพระนามของ “พระองค์เจ้ากุญชร” พระนามเดิมของ “กรมพระพิทักษ์เทเวศร” (ต้นสกุล “กุญชร ณ อยุธยา”) พระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ผู้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้



เข้าไปสักการะ “พระพุทธเทวราชปฏิมากร” ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังรูปเหล่าเทวดาบนสรวงสวรรค์เข้ามาเฝ้าสดับฟังพระธรรม บูชาพระพุทธเจ้า บานหน้าต่างลงรักปิดทองที่สวยสดงดงาม


พระพุทธเทวราชปฏิมากร


ประวัติของพระพุทธรูปองค์นี้ คุณหลวงวรศักดิ์ภูบาลเล่าว่า ในสมัยรัชกาลที่ 3 พระองค์ทรงทราบมาว่าได้มีการค้นพบพระทององค์ใหญ่ จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นพระพิทักษ์เทเวศรไปอัญเชิญลงมายังพระนคร ในกรมได้ทรงต่อแพเชิญพระพุทธรูปองค์ใหญ่ล่องลงมา ครั้นถึงปากคลองเทเวศร์ แพเกิดดื้อฉุดเท่าไรก็ไม่มายังตำหนักแพ รัชกาลที่ 3 จึงโปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นพิทักษ์เทเวศร เชิญพระพุทธรูปนี้ขึ้นที่วัดสมอแครง

ส่วนสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงวินิจฉัยที่มาของพระพุทธรูปนี้ไว้ว่า

“ ...ต่อมา เมื่อถึงสมัยเมื่อสร้างวัดเบญจมบพิตร หม่อมฉันไปทอดกฐินวัดเทวราชกุญชร สังเกตเห็นพระพักตร์พระพุทธรูปหล่อที่เป็นพระประธานในโบสถ์ เป็นลักษณะแบบพระสมัยทวารวดี แต่องค์พระเป็นพระแบบกรุงรัตนโกสินทร์ สืบตามได้ความว่า พระประธานองค์นั้นกรมพระพิทักษ์เทเวศรเชิญลงมาจากเมืองลพบุรี ก็เข้าใจว่าคงได้แต่เศียรมาหล่อองค์ที่ในกรุงเทพฯ หม่อมฉันจำขนาด ไปตรวจดูที่เมืองลพบุรี เมื่อภายหลังก็พบกับแหล่งเดิม ว่าเป็นพระประธานอยู่ในพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุ วัดอื่นหามีที่ตั้งพระพุทธรูปขนาดใหญ่เท่านั้นไม่... ”

- ข้อมูลจากเวปไซค์วัดเทวราชกุญชร //www.watdevaraj.com -





รับพรและน้ำมนต์จากหลวงพี่ก่อนจะกราบลาพระประธาน ล่องเรือเดินทางต่อ




วัดที่ ๘ วัดคฤหบดี


“พระยาราชมนตรีบริรักษ์” (ภู่) ต้นสกุล “ภมรมนตรี” ได้รับพระราชทานบ้านจากรัชกาลที่ 3 ให้เป็นที่อยู่หลังใหม่ ซึ่งบ้านหลังนี้พระศรีสุนทรโวหาร (สุนทรภู่) เคยอยู่อาศัยมาก่อน พระยาราชมนตรีบริรักษ์จึงได้อุทิศที่ดินพร้อมบ้านหลังเดิมของท่านสร้างเป็นวัด และน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระอารามหลวง ได้รับพระราชทานนามว่า “วัดคฤหบดี”


- ต้นสาละหน้าพระอุโบสถวัดคฤหบดี -


มัคคุเทศก์ขอให้นักท่องเที่ยวเข้าไปในพระอุโบสถก่อน เพื่อที่จะได้ฟังคำบรรยายบอกเล่าของหลวงพี่/ หลวงพ่อเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของวัด และพระประธานในโบสถ์ สีทองอร่ามดูงดงามจับตา



พระประธานในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปทองคำปางมารวิชัย สมัยเชียงแสน (สร้างขึ้นประมาณระหว่างปี พ.ศ 1700 – 1800) นามว่า “หลวงพ่อแซกคำ” ภายในองค์หลวงพ่อได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ 9 องค์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้อัญเชิญท่านมากจากเวียงจันทน์ในปี พ.ศ. 2369



ประวัติหลวงพ่อ พระพุทธแซกคำ


หลวงพ่อแซกคำเป็นพระพุทธรูปที่มีความสำคัญมาก เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองในสมัยอาณาจักรล้านนา (นครเชียงใหม่) ซึ่งมี “พระเจ้าไชยเชษฐา” เป็นพระมหากษัตริย์

ต่อมาเมื่อพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชต้องเสด็จไปครองราชย์สมบัติในอาณาจักรล้านช้าง พระนครกรุงศรีสัตนาคนหุต (หลวงพระบาง) พระองค์ได้อัญเชิญพระพุทธรูปที่สำคัญไปด้วย 3 องค์คือ “พระแก้วมรกต” “พระพุทธแซกคำ” และ “พระบาง”

ในปี พ.ศ. 2100 พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชได้ย้ายราชธานีจากหลวงพระบางไปตั้งอยู่ที่นครเวียงจันทน์ และได้อัญเชิญพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ไปด้วย หลวงพ่อพระพุทธแซกคำได้ประดิษฐานที่นครเวียงจันทน์สืบมาหลายรัชกาล นานถึง 269 ปี

ในต้นสมัยรัชกาลพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.3) พระองค์ทรงให้ “เจ้าพระยาบดินทรเดชา” (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นแม่ทัพไปปราบกบฎเวียงจันทน์ ได้นำตัวเจ้าอนุกษัตริย์ พร้อมได้อัญเชิญพระพุทธแซกคำมายังกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระพุทธแซกคำให้มาเป็นพระประธานประดิษฐานในพระอุโบสถวัดคฤหบดีในปี พ.ศ.2369

- ข้อมูลจากแผ่นจารึกบนผนังด้านในพระอุโบสถ วัดคฤหบดี -



จากนั้นหากพุทธศาสนิกชนคนใดสนใจร่วมทำบุญ หรือต้องการเช่าวัตถุมงคล สามารถติดต่อกับหลวงพี่/ หลวงพ่อท่านได้



เนื่องจากหลวงพ่อพระพุทธแซกคำประดิษฐานอยู่บนฐานสูงในพระอุโบสถ ไม่เหมาะที่จะปีนขึ้นไปปิดทององค์ท่านได้ ด้านนอกจึงมีองค์พระพุทธรูปจำลอง ให้พวกเราสามารถจุดธูปเทียน ถวายดอกไม้ และปิดทององค์ท่านได้

วัดที่ ๙ วัดระฆังโฆสิตาราม




ปิดท้ายโปรแกรมการล่องเรือสำหรับวันนี้ที่วัดระฆัง เรือของลำเป็นเรือลำที่ 2 แต่กลับเป็นเรือลำสุดท้ายที่ยังเหลือรายการเที่ยววัดอยู่ ขณะที่เรือลำอื่นๆ ตอนนี้กำลังวิ่งกลับไปส่งผู้โดยสารนักท่องเที่ยวที่ท่าเรือมหาราช และท่าสาทรกันแล้ว

16.40 น. เรือเข้าจอดเทียบท่าน้ำของวัด เจอข้อความทั้งเชิญชวนยินดีต้อนรับและอวยพรส่งนั่งท่องเที่ยวเดินทางกลับบนแผ่นไม้ชิ้นเดียวกัน



วัดระฆังฯ เป็นวัดโบราณ สร้างในสมัยอยุธยา เดิมชื่อ “วัดบางว้าใหญ่” (หรือ "บางหว้าใหญ่") ในสมัยธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสร้างพระราชวังใกล้วัดบางว้าใหญ่ โปรดเกล้าฯ ให้ยกเป็นพระอารามหลวงและเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช


- ภายในพระอุโบสถวัดระฆังฯ -


ในสมัยรัตนโกสินทร์ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช วัดบางว้าใหญ่อยู่ในพระอุปถัมภ์ของเจ้านายวังหลังคือ “สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี” (สา) พระเชษฐภคินีของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและเป็นพระชนนีของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ทรงมีตำหนักที่ประทับอยู่ติดกับวัด ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดร่วมกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และได้ขุดพบระฆังลูกหนึ่ง ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้นำไปไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยทรงสร้างระฆังชดเชยให้วัดบางว้าใหญ่ 5 ลูก จากนั้นได้พระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดระฆังโฆสิตาราม” ตามระฆังที่ขุดพบในวัดนี้และเพื่อฟื้นฟูแบบแผนครั้งกรุงศรีอยุธยาที่มีวัดชื่อวัดระฆังเช่นกัน

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อ “วัดระฆังโฆสิตาราม” เป็น “วัดราชคัณฑิยาราม” (คัณฑิ แปลว่าระฆัง) แต่ไม่มีคนนิยมเรียกชื่อนี้ ยังคงเรียกว่าวัดระฆัง


“พระประธานยิ้มรับฟ้า”


พระประธานในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปเนื้อทองสำริด ปางสมาธิ เบื้องพระพักตร์มีรูปพระสาวก ๓ องค์ นั่งประนมมือดุจรับพระพุทธโอวาท พระประธานองค์นี้ได้รับการยกย่องว่างดงามมาก

มีเรื่องเล่าว่าครั้งหนึ่งเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดระฆังโฆสิตาราม ได้ทรงมีพระราชดำรัสแก่ผู้เข้าเฝ้าฯ ใกล้ชิดว่า “ไปวัดไหนไม่เหมือนมาวัดระฆังพอเข้าประตูโบสถ์พระประธานยิ้มรับฟ้าทุกที” ด้วยเหตุนี้จึงทรงถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์นพรัตนราชวราภรณ์ และมหาปรมาภรณ์ช้างเผือกแด่พระประธานองค์นี้เป็นพิเศษ และพระประธานองค์นี้ก็ได้นามว่า "พระประธานยิ้มรับฟ้า" ตั้งแต่นั้นมา

-ข้อมูลจากเวปไซค์วัดระฆัง //www.watrakang.com/ และวิกิพีเดียไทย –



17 นาฬิกาเตรียมตัวเดินทางขึ้นเรือ ระหว่างรอนักท่องเที่ยวคนอื่นๆ ทยอยขึ้นเรือ ก็ดูฝูงปลาว่ายเบียดเกยทับกันอย่างกับฝูงหนอน มีร้านขายขนมปังและอาหารปลาจำหน่าย คิดเล่นๆ ว่าหากใครได้ตกลงไปในแม่น้ำแล้ว ...อึ๋ย สยอง

เรือออกจากท่าวัดระฆัง ส่งผู้โดยสารลงที่ท่ามหาราชก่อน แล้วจึงไปที่ท่าเรือสาทร ตอนนี้คิดอยากอาบน้ำล้างเหงื่อ ให้ตัวสบายๆ นึกอยากถึงบ้านเร็วๆ จัง ....



ในวันเดินทางนั้นเราประเมินตัวเองได้ว่าโปรแกรมประเภทไหว้พระ ๙ วัดใน 1 วันได้กลายเป็นทริปที่เหนื่อยเกินไปสำหรับเราไปเสียแล้ว และพอหลังจากนั้น เมื่อเราค่อยๆ เริ่มจดบันทึก ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่เราได้แวะชมมานั้น จะรู้สึกเลยว่า แต่ละวัด/สถานที่ ยังมีสิ่งที่น่าสนใจศึกษาอีกมาก และต้องใช้เวลาแต่ละแห่งนานมากกว่านี้



แต่ถึงกระนั้น การได้ร่วมเดินทางครั้งนี้ของเราก็ไม่สูญเปล่า เพราะทุกคนก็ได้บรรลุวัตถุประสงค์ที่จะได้มากราบไหว้ขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และทำให้เรารู้สึกอยากเข้าไปในวัดแต่ละแห่งที่เราได้ชมในวันนั้นอีก (หลายๆ) ครั้ง



ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือสำรองที่นั่งได้ที่กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี (0 2 236 3240) หรือที่ บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด (0 2623 6001) วันอาทิตย์ที่ 27 กันยายน และ 4 ตุลาคมนี้จะเป็นสัปดาห์สุดท้ายสำหรับโครงการท่องเที่ยวทางเรือฯ แล้วค่ะ



ทุกครั้งขอให้สนุกกับการเดินทางนะคะ แล้วพบกันใหม่ในทริปหน้าค่ะ


บันทึกจากภาพความทรงจำ
13 -23 กันยายน 2552






 

Create Date : 24 กันยายน 2552
2 comments
Last Update : 25 กันยายน 2552 0:09:55 น.
Counter : 2508 Pageviews.

 

เดินป่าตามหาหนอนไม้ไผ่ ศึกษาระบบนิเวศน์ ทะเลหมอกสุดสวย เมือฟ้าหลังฝน ๒๓ - ๒๕ ตุลาคม ๕๒
เดินป่าศึกษาระบบนิเวศน์ที่กำลังหมดฝน ทำให้ป่าเขียวขจีมีความสมบูรณ์ ทั้งดอกไม้ป่า กล้วยไม้ สมุนไพร ตามหาหนอนไม้ไผ่ และชมทะเลหมอก ดอยบ่อ
ผู้ประสานงาน: somsakbannok@yahoo.com
Tel 081-7655352 ;053-737373
www.hilltribeguide.com

 

โดย: พรานไพร ณ.ดอยบ่อ (guide doi ) 25 กันยายน 2552 10:29:08 น.  

 

ไม่มีเวลาไปทริปนี้แล้วล่ะ ...แต่คงจะหาทางไปเที่ยววัดเทวราชกุญชร กับวัดคฤหบดีเองแล้วกัน

 

โดย: นัทธ์ 26 กันยายน 2552 18:31:31 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

 

มามะ.. เมี่ยงเองค่ะ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




[Add มามะ.. เมี่ยงเองค่ะ's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com