<<
มกราคม 2555
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
5 มกราคม 2555
 
 
วันส่งท้ายปี 2554 (ตอนที่ 1)

อารัมภบท


คืนวันสิ้นปีจะไป count down ที่ไหนดี? รึจะไปสวดมนต์ข้ามปีที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญเหมือนเช่นปีที่ผ่านๆ มา? ก็ให้คิดอยากลองเปลี่ยนสถานที่ดูมั่ง หลังจากเคลียร์บ้านหลังน้ำท่วม แจ้งเรื่องขอเงินชดเชยกับทางเขตบางแคเสร็จเรียบร้อย เกือบ 2 อาทิตย์ก่อนสิ้นปี ก็อาศัยผ่าน social media – facebook พบว่า ปีนี้มีจัดสวดมนต์ข้ามปีกันหลายแห่ง แต่ความที่ไม่มีรถส่วนตัว พอสวดมนต์เสร็จตอนตีหนึ่ง แล้วจะเดินทางกลับบ้านตอนดึกค่ำคืนคงไม่ดีนัก ดูไปดูมา เอ ปีนี้น่าจะไปหอจดหมายเหตุท่านพุทธทาส เขตจตุจักร เพราะจัดกิจกรรมตลอดทั้งวันที่ 31 ธันวาคมจนถึงเช้าวันใหม่ เสียอย่างเดียว ไกลบ้านชะมัด

วันอาทิตย์ 25 (คริสต์มาส) ทราบจากเพื่อนที่เรียนหลักสูตรครูสมาธิก็แนะ “ยุวพุทธฯ” ไง ใกล้บ้านนู๋เมี่ยงที่สุดแล้ว ต่อให้เลิกงานตอนตี 1 ก็ไม่น่าจะกลับบ้านลำบากเกินไปนัก อึ้งน่ะ อยากเขกหัวตัวเองโป๊กๆ เรานี่ช่างใกล้เกลือกินด่างจังเลย กลับมาถึงบ้าน เข้าดูหน้าเวปของยุวพุทธ ซอยเพชรเกษม54 ดีจัง เพราะมีกำหนดโปรแกรมตลอดทั้งวันที่ 31 ธันวาล่วงจนถึงเช้าวันที่ 1 มกรา มีการปฏิบัติธรรม (เดินจงกรม นั่งสมาธิ) สลับกับธรรมะบรรยายจากพระอาจารย์ต่างๆ ถูกใจ้... ถูกใจ


เสาร์ 31 ธันวาคม 2554





เช้าตรู่ แต่งตัวสวมชุดขาว (เสื้อปักรูปนกฮูกอยู่กลางหน้าอก ฝีมือของนู๋เมี่ยงเองแหระ) เดินทางไปถึงยุวพุทธตอน 8 โมงครึ่ง ลงทะเบียนร่วมงาน ความที่ไม่เคยมาสถานที่นี้มาก่อน จึงรู้สึกเด๋อด๋ามาก ตั้งใจว่าพอถึงแล้วจะรีบไปจับจองที่นั่ง กว่าจะหาสถานที่เจอ ก็ล่วงไป 8.50 น.แล้ว

9 โมงเศษ พิธีกรได้ขึ้นมากล่าวทักทาย พุทธศาสนิกชนเริ่มทยอยเดินทางเข้ามาอย่างแน่นขนัด จนได้เวลาท่านประธานศูนย์ยุวพุทธฯ ได้ขึ้นมากล่าวเปิดงาน และตีฆ้องเป็นสัญญาณเปิดงาน “เสริมมงคลชีวิต ประสิทธิพรปีใหม่ พุทธศักราช 2555”



จากนั้นได้นิมนต์พระศรีศาสนวงศ์ รองเจ้าคณะกรุงเทพฯ ภาค1 ขึ้นธรรมมาส (มาแทนสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (พระพรหมโมลี)) มีการสมาทานศีล 5 และอาราธนาให้ท่านแสดงธรรม

แสดงธรรมช่วงที่ 1




พระศรีศาสนวงศ์ได้กล่าวถึง “มงคล” ในพระพุทธศาสนา ซึ่งปรากฏในมงคลทีปนีสูตร คำว่า “มงคล” แปลว่า ที่มาของความเจริญ --> สิริ
อัน “มงคล”นี้จักเกิดขึ้นได้โดยผู้ที่ต้องการมงคลนั้นต้องปฏิบัติเอง มีอยู่ 38 ประการ ท่านได้ยกขึ้นมา 3 ข้อแรกกล่าวคือ:
ข้อ 1 ไม่คบคนพาล  เลี่ยงที่จะเข้าไปใกล้ชิด ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย
ข้อ 2 คบบัณฑิต บัณฑิตนั้นคือผู้ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา
ข้อ 3 บูชาสิ่งหรือบุคคลที่ควรบูชา กล่าวคือ ผู้มีพระคุณ
แล้วสิ่งที่ควรบูชา อย่าง “วัตถุมงคล” เช่น พระเครื่อง พระพุทธรูปล่ะ? บูชาอย่างไร?

พระศรีศาสนวงศ์ได้อธิบายต่อไปดังนี้ วัตถุมงคล คือวัตถุที่เป็นที่ตั้งแห่งการบูชา เช่น พระเครื่อง พระพุทธรูป เจดีย์ พระสารีริกธาตุ สิ่งต่างๆ ที่พุทธศาสนาถือเป็น ‘หลัก’ เคารพนอบน้อม เป็น ‘ต้น’ เป็น ‘เค้าเงื่อน’ แห่งสิริมงคลได้ และวัตถุจักเป็นมงคลได้แด่ผู้รู้ ผู้ตื่นเท่านั้น แต่ไม่ใช่สำหรับผู้ลุ่มหลง ท่านยกตัวอย่าง “พระสมเด็จ” ที่มีชั้นเดียว สามชั้น เก้าชั้นบ้าง (??? นู๋เมี่ยงไม่รู้เรื่องพระเครื่อง) ซึ่งเป็นปริศนาธรรมเป็นพุทธานุสติ ไว้เตือนสติผู้ที่ถือครอง อย่างน้อยก็ให้มี หิริ-โอตัปปะ เป็นเครื่องเตือนใจ เป็นต้น

หมายเหตุ* ท่านให้ความหมายของพระสมเด็จสามชั้นว่า หมายถึง ญาณทั้ง 3 และพระสมเด็จเก้าชั้น หมายถึง โลกุตตรธรรม 9 นั่นเอง

ถัดจากนั้น ท่านได้จุดประเด็นคำถามว่า จุดหมายของพระพุทธศาสนาคือพระนิพพาน ผู้คนต่างปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์ และปรารถนาให้ตนบรรลุเป้าหมายคือพระนิพพานนั้น เช่นนั้นจะไม่เป็นกิเลสหรอกหรือ? ข้อนี้น่าสนใจ พระศรีศาสนวงศ์ได้อธิบายดังนี้ว่า ความต้องการพระนิพพานนั้นเป็นกุศล คือฉันทะ เป็นความพอใจที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว เป็นสัมมาทิฐิ vs. ตัณหา เป็นอกุศล <ท่านอธิบายมากกว่านั้น แต่นู๋เมี่ยงจดมาได้แค่นิ๊ดเดียวเองค่ะ>

นอกจากนี้ท่านยังสอนให้พวกเรารู้จัก “ผิดเป็นครู” นำมาเป็นที่ตั้ง ที่วิเคราะห์ว่าเราจะไม่ทำสิ่ง (ผิด)นั้นอีก หรือจะแก้ไขให้ดีขึ้น ยอมรับความผิดพลาดนั้นแล้วนำมาคิดปรับ-ปรุง-เปลี่ยน-แปลง

ท้ายสุดนี้ ท่านให้พวกเราสังวรถึงศีลข้อที่ 4 เพราะเมื่ออยู่ในชนหมู่มากเช่นงานวันนี้ ย่อมมีโอกาสที่จะหลุดจากศีลข้อนี้ได้ง่าย “คำพูดเป็นนาย” เพราะหลุดปากออกไปแล้ว ย่อมส่งผลร้ายกลับมาได้ “ข่าวลือ” เป็นคำพูดที่เพ้อเจ้อ การสวดมนต์นั้นเป็นวจีสุจริต และเป็นที่ตั้งของสมาธิ

สาธุ .....

จบการบรรยายธรรมะจากพระศรีศาสนวงศ์แล้ว ก็มีการนำปฏิบัติธรรม เดินจงกรม ต่อด้วยนั่งสมาธิ เป็นเวลา 1 ชั่วโมงก่อนลงไปรับประทานอาหารกลางวัน



วิทยากรจากยุวพุทธขึ้นมาสาธิตการเดินจงกรม ด้วยการบริกรรมออกเสียง "ขวา-ย่าง-หนอ ซ้าย-ย่าง-หนอ" มีสติกำกับระลึกรู้ขณะยกเท้า ย่างเท้าและเหยียบ ความที่ให้ออกเสียงคำบริกรรม (ไม่ใช่คิดในใจ) ซ้ำยังออกเสียงยืดยาว ทำให้ใจของนู๋เมี่ยงรู้สึกเบื่อ ง่วง ความคิดมันแทรกเข้ามาอยู่ตลอดเวลา ตัวเองไม่ได้ออกเสียงคำบริกรรม ใช้แต่ฟังเสียงคำบริกรรมของผู้อื่นเอา อย่างตอนที่หยุดยืน ก็ให้ออกเสียงบริกรรมว่า “ยืน-หนอ” 3 ครั้ง และก่อนออกเดินก็บริกรรม “อยาก-เดิน-หนอ” ถึง 3 ครั้ง ช่วงนั้นแหละ ใจมันก็ประท้วงว่า อยากเดิน ก็แล้วทำไมเรายังไม่เดินล่ะ ไม่! เรายังเดินไม่ได้ เพราะมันยังแค่“อยาก”เดิน แค่ถึง“รู้สึกอยาก” ต้องให้มันถึง “เดิน”ก่อน จึงค่อยเดิน (ไม่งั้นขืนเดินทะเล่อทะล่าก็กลายเป็นแกะดำอ่ะดิ) แล้วตอนที่เขากำลังเดินอยู่ ใจมันก็ไม่อยากเดินขึ้นมาเฉยๆ .... การเดินจงกรมของนู๋เมี่ยงจึงไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เอวังด้วยประการฉะนี้....

ส่วนการนั่งสมาธิ อาศัยการบริกรรมทางใจ ฉะนั้นใครจะบริกรรมด้วยยุบ-หนอ พอง-หนอ สัมมาอะระหัง หรือพุทโธ คราวนี้ก็แล้วแต่ทางใครทางมัน ....

เที่ยงแล้วค่ะ ได้เวลาพักรับประทานอาหารกลางวันกันแล้ว

แล้วจะรีบกลับมาโพสต่อนะคะ


บันทึกจากภาพความทรงจำและโน้ตคำบรรยาย
5 มกราคม 2555




Create Date : 05 มกราคม 2555
Last Update : 5 มกราคม 2555 15:42:51 น. 3 comments
Counter : 1116 Pageviews.

 
ธรรมะม่ะใช่เรื่องง่าย ที่ใครๆจะเข้าถึงได้ถ้วนทั่วทุกตัวฅน บ้างมีโอกาสแต่ม่ะใส่ใจจะประพฤติปฏิบัติ บ้างม่ะมีแม้กระทั่งโอกาสจะได้รู้ได้เห็นหรือได้ยิน นู๋เมี่ยงมีทั้งโอกาสและศรัทธาที่จะประพฤติและปฏิบัติ เชื่อแน่ว่าต้องไปได้ดีแน่นอน ขอบคุณนะครับที่นำมาเผยแพร่เผื่อแผ่ให้ได้รู้ได้อ่าน..สาธุ


โดย: charn32vi IP: 115.87.173.137 วันที่: 5 มกราคม 2555 เวลา:21:15:22 น.  

 
มาตามเก็บเรื่องราวของเพื่อน...
อ่านแล้วคิดตาม ปฏิบัติตาม...

รออ่านเรื่องราวต่อไปนะจ๊ะ


โดย: นัทธ์ วันที่: 5 มกราคม 2555 เวลา:21:28:35 น.  

 
สาธุ นุชเองจ้า


โดย: larmarth วันที่: 6 มกราคม 2555 เวลา:19:55:11 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 
 

มามะ.. เมี่ยงเองค่ะ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




[Add มามะ.. เมี่ยงเองค่ะ's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com