Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2549
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728 
 
13 กุมภาพันธ์ 2549
 
All Blogs
 

สิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเคารพสักการะ

ในโอกาสอันเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา คือวันมาฆบูชานี้ ขอนำเอาพระสูตรอันว่าด้วย พระผู้มีพระภาคนี้สักการะเคารพในสิ่งใด แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอดีตและพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคตจักสักการะและเคารพในสิ่งใดครับ พระสูตรต่างๆก็จะสรุปเนื้อหาไว้เพื่อให้เข้าใจง่ายครับ

พระสุตตันตปิฎก เล่ม 13 อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ปฐมปัญณาสก์

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

************************************
อุรุเวลวรรคที่ ๓

อุรุเวลสูตรที่ ๑

[๒๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในคราวแรกตรัสรู้เราอยู่ที่ต้นอชปาลนิโครธ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ในอุรุเวลาประเทศ เมื่อเราหลีกออกเร้นอยู่ในที่ลับ ความปริวิตกแห่งใจได้บังเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า บุคคลผู้ไม่มีที่เคารพ ไม่มีที่ยำเกรง ย่อมอยู่เป็นทุกข์ เราจะพึงสักการะเคารพสมณะหรือพราหมณ์คนไหนหนอแล แล้วอาศัยอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราได้ปริวิตกต่อไปว่า เราจะพึงสักการะเคารพสมณะหรือพราหมณ์อื่นแล้วอาศัยอยู่ เพื่อความบริบูรณ์แห่งศีลขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ แต่เราไม่เห็นสมณะหรือพราหมณ์อื่น ผู้มีศีลสมบูรณ์กว่าตน ซึ่งเราจะพึงสักการะเคารพแล้วอาศัยอยู่ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณะพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ เราจะพึงสักการะเคารพสมณะหรือพราหมณ์อื่น แล้วอาศัยอยู่เพื่อความบริบูรณ์แห่งสมาธิขันธ์ ... แห่งปัญญาขันธ์ ... แห่งวิมุตติขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ แต่เราไม่เห็นสมณะหรือพราหมณ์อื่น ผู้มีสมาธิสมบูรณ์กว่าตน ... มีปัญญาสมบูรณ์กว่าตน ... มีวิมุตติสมบูรณ์กว่าตนในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ เราได้ปริวิตกต่อไปว่า ไฉนหนอแล เราพึงสักการะเคารพธรรมที่เราตรัสรู้นั้นอาศัยเถิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ท้าวสหัมบดีพรหมรู้ความปริวิตกแห่งใจของเราด้วยใจ ได้อันตรธานจากพรหมโลกไปปรากฏข้างหน้าเรา เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนที่คู้หรือคู้แขนที่เหยียด ฉะนั้น ครั้งนั้นแล ท้าวสหัมบดีพรหมกระทำผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง คุกมณฑลเข่าเบื้องขวาลงที่แผ่นดิน ประนมอัญชลีมาทางเรา แล้วกล่าวคำนี้กะเราว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ข้าแต่พระสุคต ข้อนี้เป็นอย่างนั้น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่าใดได้มีแล้วในอดีตกาล แม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแม้เหล่านั้นสักการะเคารพพระธรรมนั่นเทียว อาศัยอยู่แล้ว พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่าใดจักมีในอนาคต แม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่านั้น ก็จักสักการะเคารพพระธรรมนั่นเทียวอาศัยอยู่แม้พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในบัดนี้ ก็จงสักการะเคารพพระธรรมนั่นแหละอาศัยอยู่เถิด ท้าวสหัมบดีพรหม ครั้นได้กล่าวไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว ได้กล่าวคาถาประพันธ์ต่อไปว่า
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอดีตเหล่าใดด้วย พระพุทธเจ้าใน
อนาคตเหล่าใดด้วย และพระพุทธเจ้าในบัดนี้ด้วย ผู้ยัง
ความโศกของสัตว์เป็นอันมากให้เสื่อมคลาย ล้วนเคารพ
พระสัทธรรมอยู่ นี้เป็นธรรมดาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
เพราะเหตุนั้นแหละ กุลบุตรผู้รักษาตน จำนงความเป็นใหญ่
เมื่อระลึกถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พึงทำ
ความเคารพพระสัทธรรม ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท้าวสหัมบดีพรหมได้กล่าวประพันธ์คาถานี้ ครั้นแล้วอภิวาทเรา กระทำประทักษิณแล้วหายไปในที่นั้นเอง ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้การที่เราทราบการเชื้อเชิญของพรหมแล้วสักการะเคารพอาศัยธรรมที่เราตรัสรู้นั้นนั่นแหละอยู่ เป็นการสมควรแก่ตน เมื่อใด แม้สงฆ์ประกอบไปด้วยความเป็นใหญ่แล้ว เมื่อนั้น เราก็เคารพแม้ในสงฆ์ ฯ
[ในคราวแรกตรัสรู้ของพระศรีศากยมุนีโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ ณ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา อุรุเวลาเสนานิคม พระองค์ทรงเกิดพระปริวิตกแห่งพระทัยว่า บุคคลผู้ใดไม่มีสิ่งที่จะเป็นที่เคารพสักการะ ยำเกรง ย่อมอยู่ด้วยความเป็นทุกข์ พระองค์ทรงพิจารณาแล้วทราบด้วยพระทัยว่า พระองค์ไม่เห็นสมณะหรือพราหมณ์อื่นจักมีศีลขันธ์อันสมบูรณ์กว่าพระองค์ ตลอดจนไม่มีสมณะหรือพราหมณ์อื่นจักมีสมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ วิมุตติขันธ์อันสมบูรณ์กว่าพระองค์ในโลก ตลอดจนในเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ครั้นแล้วพระองค์มีพระดำริว่า พระองค์พึงสักการะเคารพธรรมที่พระองค์ตรัสรู้นั้นเอง ครั้งนั้นแล ท้าวสหัมบดีพรหมทราบถึงพระปริวิตกแห่งพระทัยของพระผู้มีพระภาคด้วยใจ อันตรธานจากพรหมโลกมายังต่อหน้าพระองค์ กระทำผ้าอุตราสงฆ์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง คุกมณฑลเข่าเบื้องขวาลงที่พื้นดิน ประนมมืออัญชลีมาทางพระองค์ กล่าวมีใจความโดยสรุปว่า ข้าแต่พระสุคต เป็นอย่างนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอดีตทรงเคารพสักการะในพระธรรม แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคตก็จักทรงเคารพสักการะในพระธรรม ขอพระผู้มีพระภาคในปัจจุบันนี้จงเคารพสักการะในพระธรรมนั่นแหละอาศัยอยู่เถิด

พระผู้มีพระภาคตรัสสอนแก่ภิกษุว่าลำดับนั้นท้าวสหัมบดีพรหมถวายอภิวาทพระองค์ กระทำประทักษิณแล้วหายไปในที่นั้นเอง และพระองค์ตรัสว่าหากสงฆ์มีความเจริญไพบูลย์แล้ว พระองค์ก็เคารพในสงฆ์]


จบสูตรที่ ๑

อุรุเวลสูตรที่ ๒

[๒๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในคราวแรกตรัสรู้ เราอยู่ที่ต้นอชปาลนิโครธ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ในอุรุเวลาประเทศ ครั้งนั้นแล พวกพราหมณ์มากด้วยกัน เป็นผู้แก่เฒ่า เป็นผู้ใหญ่ล่วงกาลผ่านวัยแล้ว เข้าไปหาเรา ครั้นแล้วได้สนทนาปราศรัยกับเรา ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กล่าวกะเราว่า ท่านพระโคดม เราได้สดับมาอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมไม่อภิวาท ไม่ลุกรับพราหมณ์ผู้แก่เฒ่า เป็นผู้ใหญ่ล่วงกาลผ่านวัยแล้ว ทั้งไม่เชื้อเชิญด้วยอาสนะ ข้อนี้เป็นอย่างที่เราได้สดับมาหรือ การที่ท่านพระโคดมไม่อภิวาท หรือไม่ลุกรับพวกพราหมณ์ผู้แก่เฒ่า เป็นผู้ใหญ่ล่วงกาลผ่านวัยแล้ว หรือไม่เชื้อเชิญด้วยอาสนะ นั้นไม่สมควรเลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความปริวิตกนี้ได้มีแก่เราว่า ท่านเหล่านี้ย่อมไม่รู้ซึ่งเถระ หรือธรรมอันกระทำให้เป็นเถระ ถ้าแม้บุคคลผู้เฒ่ามีอายุ ๘๐ ปี ๙๐ ปี หรือ ๑๐๐ ปี แต่เกิดมา แต่เขามีปรกติพูดในกาลไม่สมควร พูดไม่จริง พูดไม่เป็นประโยชน์ พูดไม่เป็นธรรม พูดไม่เป็นวินัย กล่าววาจาที่ไม่ควรจดจำไว้ ไม่มีหลักฐาน ไม่มีขอบเขต ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ โดยกาลไม่ควร เขาย่อมถึงซึ่งกาลนับว่า เป็นเถระผู้เขลาโดยแท้ ถ้าแม้เด็กกำลังรุ่น มีผมดำสนิท ยังหนุ่มแน่น อยู่ในปฐมวัย แต่มีปรกติพูดในกาลอันควร พูดจริง พูดเป็นประโยชน์ พูดเป็นธรรม พูดเป็นวินัย กล่าววาจาที่ควรจดจำ มีหลักฐาน มีขอบเขต ประกอบด้วยประโยชน์ โดยกาลอันควร เขาย่อมถึงซึ่งกาลนับว่า เป็นเถระผู้ฉลาดโดยแท้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมอันกระทำให้เป็นเถระ ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล สำรวมระวังในพระปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปรกติเห็นภัยในโทษอันมีประมาณน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ๑ เป็นพหูสูต ทรงไว้ซึ่งสุตะ สั่งสมซึ่งสุตะ เป็นผู้ได้สดับมามาก ทรงจำไว้ คล่องปากขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ ซึ่งธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ๑ เป็นผู้ได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่ง เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ๑ ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เถรกรณธรรม ๔ ประการนี้แล ฯ
[เถรกรณธรรม - ธรรมอันกระทำให้เป็นเถระ 4 ประการ คือ
1.ภิกษุเป็นผู้มีศีล สำรวมระวังในในพระธรรมคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาค ศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย
2.เป็นผู้รู้กว้างขวาง ได้ฟังมามาก พอใจในการฟังคำสั่งสอนในธรรม ทรงจำไว้มาก กล่าวได้ไม่ติดขัด มีความเข้าใจชัด
3.มีฌาน4 อันเข้าถึงได้โดยไม่ลำบาก
4.กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ หาอาสวะมิได้]

ผู้ใดมีจิตฟุ้งซ่าน มีความดำริไม่มั่นคง เช่นกับมฤค ยินดี
ในธรรมของอสัตบุรุษ ย่อมกล่าวคำเพ้อเจ้อเป็นอันมาก ผู้
นั้นมีความเห็นลามก ปราศจากความเอื้อเฟื้อ ตั้งอยู่ไกล
จากความเป็นผู้มั่นคง ส่วนผู้ใด สมบูรณ์ด้วยศีล เป็นผู้
สดับ มีปฏิภาณ ประกอบในธรรมอันทำความมั่นคง ย่อม
เห็นแจ้งอรรถแห่งอริยสัจด้วยปัญญา เป็นผู้ถึงฝั่งแห่งธรรม
ทั้งปวง ไม่มีกิเลสอันเป็นประดุจหลักตอ มีไหวพริบ มี
ชาติและมรณะอันละได้แล้ว เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์
สมบูรณ์ เรากล่าวผู้นั้นว่าเป็นเถระ อาสวะของภิกษุใดไม่มี
เพราะสิ้นอาสวะทั้งหลาย เราเรียกภิกษุนั้นว่าเถระ ฯ

จบสูตรที่ ๒

โลกสูตร

[๒๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย โลกตถาคตตรัสรู้แล้ว ตถาคตพรากจากโลกแล้ว เหตุเกิดแห่งโลกตถาคตตรัสรู้แล้ว เหตุเกิดแห่งโลกตถาคตละได้แล้ว ความดับแห่งโลกตถาคตตรัสรู้แล้ว ความดับแห่งโลกตถาคตกระทำให้แจ้งแล้ว ปฏิปทาอันยังสัตว์ให้ถึงความดับแห่งโลก ตถาคตตรัสรู้แล้ว ปฏิปทาอันยังสัตว์ให้ถึงความดับแห่งโลกตถาคตให้เจริญแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปารมณ์ที่เห็นด้วยจักษุ สัททารมณ์ที่ฟังด้วยหู คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ที่รู้ได้ด้วยทวารนั้นๆ ธรรมารมณ์ที่รู้แจ้งด้วยใจ ของโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ของหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ตถาคตได้บรรลุแล้ว เสาะแสวงหาแล้ว ค้นคว้าแล้วด้วยใจ ตถาคตตรัสรู้รูปารมณ์ที่เห็นได้ด้วยจักษุเป็นต้นนั้นโดยชอบ เพราะฉะนั้น โลกจึงเรียกว่า ตถาคต อนึ่ง ตถาคตย่อมตรัสรู้ซึ่งราตรีใด และย่อมยังราตรีใดให้ดับ ตถาคตย่อมกล่าว ย่อมทักทาย ย่อมแสดงออกซึ่งคำใดในระหว่างนี้ คำนั้นทั้งหมดย่อมเป็นอย่างนั้นทีเดียว หาได้เป็นอย่างอื่นไม่ เพราะฉะนั้น โลกจึงเรียกว่า ตถาคต ตถาคตมีปรกติกล่าวอย่างใด ทำอย่างนั้น ทำอย่างใด กล่าวอย่างนั้น ตถาคตมีปรกติกล่าวอย่างใด ทำอย่างนั้น ทำอย่างใด กล่าวอย่างนั้น ด้วยประการฉะนี้ เพราะฉะนั้น โลกจึงเรียกว่า ตถาคต ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ เป็นผู้อันใครๆ ครอบงำไม่ได้ ผู้เห็นแจ้งโดยแท้ ยังอำนาจให้เป็นไป เพราะฉะนั้น โลกจึงเรียกว่า ตถาคต ฯ
ผู้ใดรู้ยิ่งแล้วซึ่งโลกทั้งปวง รู้ตามเป็นจริงในโลกทั้งปวง พราก
ไปจากโลกทั้งปวง ไม่มีกิเลสนอนเนื่องในสันดานในโลก
ทั้งปวง ผู้นั้นแล เป็นธีรชนผู้ครอบงำอารมณ์ทั้งปวงได้ ปลด
เปลื้องกิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งมวลเสียได้ เป็นผู้ถูกต้อง
นิพพานอันมีความสงบอย่างยิ่ง ไม่มีภัยแต่ที่ไหนๆ ผู้นี้
เป็นพระขีณาสพผู้รู้แล้ว ไม่มีทุกข์ ตัดความสงสัยได้แล้ว
ถึงความสิ้นไปแห่งกรรมทั้งปวง เป็นผู้หลุดพ้นเพราะความ
สิ้นไปแห่งอุปธิ บุคคลนี้เป็นผู้มีโชค เป็นพุทธะ ชื่อว่า
เป็นสีหะผู้ยอดเยี่ยม ประกาศพรหมจักรให้แก่โลกทั้งเทว
โลก เพราะเหตุนั้น เทวดาและมนุษย์จึงถึงพระพุทธเจ้าว่า
เป็นสรณะ มาประชุมกันนมัสการพระองค์ผู้เป็นใหญ่ ผู้
ปราศจากความขลาด เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายจักนมัสการ
พระองค์ผู้เป็นใหญ่ ผู้ปราศจากความขลาด กล่าวสรรเสริญ
ว่า เป็นผู้ฝึกตนประเสริฐกว่าบรรดาผู้ฝึกตนทั้งหลาย เป็น
ฤาษีผู้สงบกว่าบรรดาผู้สงบทั้งหลาย เป็นผู้พ้นชั้นเยี่ยมกว่า
บรรดาผู้พ้นทั้งหลาย เป็นผู้ข้ามฝั่งประเสริฐกว่าบรรดาผู้ข้าม
ฝั่งทั้งหลาย ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก จะหาบุคคลเปรียบ
ด้วยพระองค์ไม่มี ฯ
[เหตุ4 ประการที่โลกเรียกพระผู้มีพระภาคว่า ตถาคต(ผู้ไปโดยชอบแล้ว) คือ
1.พระองค์ทรงทราบและละได้ในเหตุเกิดของโลกและความดับของโลก ทรงเจริญแล้วซึ่งปฏิปทาอันยังให้สัตว์ถึงความดับแห่งโลก
2.พระองค์ทรงตรัสรู้แล้ว ตรัสพระวาจาอันเป็นสัจธรรมในเวลานั้นทั้งสิ้น
3.พระองค์มีปกติตรัสอย่างไรก็ทรงกระทำอย่างนั้น ทรงกระทำอย่างไรก็ตรัสอย่างนั้น
4.พระองค์เป็นผู้เลิศในโลก พร้อมทั้งเทวโลก พรหมโลก เป็นผู้อันใครๆครอบงำไม่ได้ ทรงรู้แจ้งในโลก]


จบสูตรที่ ๓

กาฬกสูตร

[๒๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กาฬการาม ใกล้เมืองสาเกต ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปารมณ์ที่เห็นด้วยจักษุ สัททารมณ์ที่ฟังด้วยหู คันธารมณ์ รสารมณ์ และโผฏฐัพพารมณ์ ที่รู้ได้ด้วยทวารนั้นๆ ธรรมารมณ์ที่รู้แจ้งด้วยใจ ของโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ของหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ เราได้บรรลุแล้ว เสาะแสวงหาแล้ว ค้นคว้าแล้วด้วยใจ เราย่อมรู้รูปารมณ์ที่เห็นได้ด้วยจักษุเป็นต้นนั้นรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ตถาคตรู้รูปารมณ์เป็นต้นนั้นแจ้งชัด รูปารมณ์เป็นต้นนั้นไม่ปรากฏในตถาคต ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราพึงกล่าวว่า ... เราย่อมรู้รูปารมณ์เป็นต้นนั้น คำนั้นของเราพึงเป็นคำเท็จ เราพึงกล่าวว่า ... เราย่อมรู้รูปารมณ์เป็นต้นนั้นด้วย ไม่รู้ด้วย แม้ คำของเรานั้นก็พึงเป็นเช่นนั้นแหละ เราพึงกล่าวว่า ... เรารู้ก็หามิได้ ไม่รู้ก็หามิได้ ซึ่งรูปารมณ์เป็นต้นนั้น คำนั้นจึงเป็นโทษแก่เรา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเห็นรูปที่ควรเห็น ย่อมไม่สำคัญว่าเห็นรูปที่เห็นแล้ว ย่อมไม่สำคัญว่าเป็นรูปที่ยังไม่มีใครเห็น ย่อมไม่สำคัญว่าเห็นรูปที่ควรเห็น ย่อมไม่สำคัญว่าเห็นรูปที่มหาชนดูกันอยู่ ตถาคตฟังเสียงที่ควรฟัง ย่อมไม่สำคัญว่าฟังเสียงที่ฟังแล้วย่อมไม่สำคัญว่าฟังเสียงที่ยังไม่มีใครฟัง ย่อมไม่สำคัญว่าฟังเสียงที่ควรฟัง ย่อมไม่สำคัญว่าฟังเสียงที่มหาชนฟังกันอยู่ ตถาคตรู้คันธารมณ์เป็นต้นที่ควรรู้ ย่อมไม่สำคัญว่ารู้คันธารมณ์เป็นต้นที่รู้แล้ว ย่อมไม่สำคัญว่ารู้คันธารมณ์เป็นต้นที่ยังไม่มีใครรู้ ย่อมไม่สำคัญว่ารู้คันธารมณ์เป็นต้นที่ควรรู้ ย่อมไม่สำคัญว่ารู้คันธารมณ์เป็นต้นที่มหาชนรู้กันอยู่ ตถาคตรู้แจ้งธรรมารมณ์ที่ควรรู้แจ้ง ย่อมไม่สำคัญว่ารู้แจ้งธรรมารมณ์ที่รู้แจ้งแล้ว ย่อมไม่สำคัญว่ารู้แจ้งธรรมารมณ์ที่ยังไม่มีใครรู้ ย่อมไม่สำคัญว่ารู้แจ้งธรรมารมณ์ที่ควรรู้แจ้ง ย่อมไม่สำคัญว่ารู้แจ้งธรรมารมณ์ที่มหาชนรู้แจ้งกันอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นผู้คงที่เช่นนั้นเทียว ในธรรมทั้งหลาย คือ รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ และธรรมารมณ์ และเราย่อมกล่าวว่าบุคคลอื่นผู้คงที่ยิ่งกว่า หรือประณีตกว่าตถาคตผู้คงที่นั้นไม่มี ด้วยประการฉะนี้แล ฯ
รูปที่เห็นแล้ว เสียงที่ฟังแล้ว หรือหมวด ๓ แห่งอารมณ์
มีคันธารมณ์เป็นต้นที่ทราบแล้วอย่างใดอย่างหนึ่งอันดูดดื่ม อัน
ชนเหล่าอื่นสำคัญว่าจริง ตถาคตเป็นผู้คงที่ในรูปเป็นต้น
เหล่านั้น อันสำรวมแล้วเอง ไม่พึงเชื่อคำคนอื่นทั้งจริงและ
เท็จ เราเห็นลูกศร คือ ทิฐินี้ก่อนแล้ว ย่อมรู้ ย่อมเห็น
ลูกศร คือ ทิฐิที่หมู่สัตว์หมกมุ่นข้องอยู่เช่นนั้น ความหมก
มุ่นย่อมไม่มีแก่ตถาคตทั้งหลาย ฯ
[พระผู้มีพระภาคทรงรู้แจ้งในรูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ตลอดจนอารมณ์ในรูป รสฯลฯ ด้วยปัญญาอันยิ่ง บุคคลไม่พึงกล่าวว่า
1.พระองค์ไม่ทรงรู้ในอารมณ์ในรูป รส ฯลฯ ใดๆ
2.ที่พระองค์ตรัสว่าทรงรู้ในอารมณ์ในรูป รส ฯลฯ ใดๆ นั้นเป็นคำเท็จ
3.พระองค์ทรงรู้บ้าง ไม่ทรงรู้บ้างในอารมณ์ในรูป รส ฯลฯ ใดๆ
4.พระองค์ทรงรู้ในอารมณ์ในรูป รส ฯลฯ ใดๆก็หามิได้ จะไม่ทรงรู้ในอารมณ์ในรูป รส ฯลฯ ใดๆก็หามิได้]


จบสูตรที่ ๔

พรหมจริยสูตร

[๒๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตถาคตผู้ประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อลวงประชาชนก็หามิได้ เพื่อเกลี้ยกล่อมประชาชนก็หามิได้ เพื่ออานิสงส์ คือ ลาภสักการะ และความสรรเสริญ ก็หามิได้ เพื่ออานิสงส์ คือ การอวดอ้างวาทะก็หามิได้ เพื่อความปรารถนาว่า ชนจงรู้จักเราด้วยอาการดังนี้ ก็หามิได้ โดยที่แท้ ตถาคตอยู่ประพฤติพรหมจรรย์นี้ เพื่อสังวร เพื่อละ เพื่อคลายความกำหนัด เพื่อดับกิเลส ฯ
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ได้ทรงแสดงพรหมจรรย์อันเป็น
การละเว้น มีปรกติยังสัตว์ให้หยั่งลงภายในนิพพาน เพื่อ
สังวร เพื่อละ หนทางนี้อันท่านผู้ใหญ่ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่
ดำเนินไปแล้ว อนึ่ง ชนเหล่าใดย่อมดำเนินไปสู่ทางนั้น
ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว ชนเหล่านั้นชื่อว่าทำตาม
คำสั่งสอนของศาสดา จักกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ ฯ
[พระผู้มีพระภาคอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทรงรู้ในสิ่งที่ควรรู้ เพื่อละกิเลสเพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับแห่งกิเลส มิใช่เพื่อ
1.ลวงประชาชน เกลี้ยกล่อมประชาชน
2.หวังลาภ สักการะ ความสรรเสริญ
3.อวดอ้างวาทะ
4.เพื่อให้ชนทั้งหลายรู้จักพระองค์]


จบสูตรที่ ๕

กุหสูตร

[๒๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่าใด เป็นผู้ลวง เป็นผู้กระด้าง เป็นคนประจบ มีปรกติวางท่า มีมานะดุจไม้อ้อที่ยกขึ้น เป็นผู้ไม่มั่นคง ภิกษุเหล่านั้นหาใช่เป็นผู้นับถือเราไม่ เป็นผู้ไปปราศจากธรรมวินัยนี้ และย่อมไม่ถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้ ส่วนภิกษุเหล่าใด เป็นผู้ไม่ลวง ไม่ประจบ เป็นธีรชน ไม่กระด้าง เป็นผู้มั่นคงดี ภิกษุเหล่านั้นแลชื่อว่านับถือเรา ไม่ไปปราศจากธรรมวินัยนี้ และย่อมถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้ ฯ
ภิกษุเหล่าใด ล่อลวง กระด้าง ประจบ วางท่า มีมานะดุจ
ไม้อ้อ และไม่ตั้งมั่น ภิกษุเหล่านั้นย่อมไม่งอกงามในธรรม-
อันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว ส่วนภิกษุเหล่าใดไม่
ล่อลวง ไม่ประจบ เป็นธีรชน ไม่กระด้าง ตั้งมั่นดีแล้ว
ภิกษุเหล่านั้นแล ย่อมงอกงามในธรรม อันพระสัมมา-
สัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว ฯ
[ภิกษุเหล่านี้ย่อมไม่ถึงความเจริญงอกงามในพระธรรมวินัย คือ
1.ภิกษุชอบล่อลวง
2.ภิกษุชอบประจบ
3.ภิกษุผู้กระด้าง
4.ภิกษุผู้ไม่ตั้งมั่นในธรรม]


จบสูตรที่ ๖

สันตุฏฐิสูตร

[๒๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปัจจัย ๔ อย่างนี้ ทั้งน้อย หาได้ง่าย และหาโทษมิได้ ปัจจัย ๔ อย่างเป็นไฉน คือ บรรดาจีวร บังสุกุลจีวร ทั้งน้อย หาได้ง่าย และหาโทษมิได้ ๑ บรรดาโภชนะ คำข้าวที่หาได้ด้วยปลีแข็ง ทั้งน้อย หาได้ง่าย และหาโทษมิได้ ๑ บรรดาเสนาสนะ รุกขมูล ทั้งน้อย หาได้ง่าย และหาโทษมิได้ ๑ บรรดาเภสัช มูตรเน่า ทั้งน้อย หาได้ง่าย และหาโทษมิได้ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปัจจัย ๔ อย่างนี้แล ทั้งน้อย หาได้ง่าย หาโทษมิได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุที่ภิกษุเป็นผู้สันโดษด้วยปัจจัย อันน้อยและหาได้ง่าย เราจึงกล่าวข้อนี้ว่า เป็นองค์แห่งความเป็นสมณะอย่างหนึ่งของเธอ ฯ
เมื่อภิกษุสันโดษด้วยปัจจัยอันหาโทษมิได้ ทั้งน้อยและหา
ได้ง่าย ปรารภเสนาสนะ จีวร ปานะ และโภชนะ จิตของเธอ
ก็ไม่คับแค้นไม่กระทบกระเทือนทุกทิศ และธรรมเหล่าใด
อันภิกษุนั้นกล่าวแล้ว อนุโลมแก่สมณธรรม ธรรมเหล่านั้น
อันภิกษุผู้ไม่ประมาท มีความสันโดษถือเอาโดยยิ่ง ฯ
[ปัจจัย4ประการที่มีแต่น้อย ภิกษุหาได้ง่าย หาโทษมิได้คือ
1.จีวร ผ้าบังสุกุล
2.อาหารที่ภิกษุหามาด้วยตนเองจากบิณฑบาต
3.เสนาสนะ โคนไม้สำหรับนั่ง
4.ยาเพื่อบรรเทาอาพาธ]


จบสูตรที่ ๗

วังสสูตร

[๒๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยวงศ์ ๔ ประการนี้ นักปราชญ์สรรเสริญว่าเป็นเลิศ มีมานาน เป็นเชื้อสายแห่งพระอริยะ เป็นของเก่า ไม่กระจัดกระจาย ไม่เคยกระจัดกระจาย อันบัณฑิตย่อมไม่รังเกียจ จักไม่รังเกียจ วิญญูชนทั้งสมณะและพราหมณ์ไม่เกลียด อริยวงศ์ ๔ ประการเป็นไฉน คือภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมเป็นผู้สันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้ มีปรกติกล่าวสรรเสริญคุณแห่งสันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้ ย่อมไม่ถึงการแสวงหาอันไม่สมควรเพราะจีวรเป็นเหตุ เมื่อไม่ได้ก็ไม่ตกใจ ครั้นได้แล้วก็ไม่ยึดถือ ไม่หมกมุ่น ไม่ห่วงใย มีปรกติเห็นโทษ มีปัญญาเครื่องรื้อออกใช้สอยอยู่ ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะสันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้นั้น จริงอยู่ ภิกษุใดเป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้านในการสันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้นั้น มีสัมปชัญญะ มีสติเฉพาะหน้า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เรากล่าวว่าเป็นผู้ตั้งอยู่ในอริยวงศ์อันเป็นของเก่า ซึ่งนักปราชญ์สรรเสริญว่าเป็นเลิศ ฯ

อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมเป็นผู้สันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้ มีปรกติกล่าวสรรเสริญคุณแห่งสันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้ ย่อมไม่ถึงการแสวงหาอันไม่สมควรเพราะบิณฑบาตเป็นเหตุ เมื่อไม่ได้ก็ไม่ตกใจ ครั้นได้แล้วก็ไม่ยึดถือ ไม่หมกมุ่น ไม่ห่วงใย มีปรกติเห็นโทษ มีปัญญาเครื่องรื้อออก บริโภคอยู่ และย่อมไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความสันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้นั้น จริงอยู่ ภิกษุใดเป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้านในการสันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้นั้น มีสัมปชัญญะ มีสติเฉพาะหน้า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เรากล่าวว่า เป็นผู้ตั้งอยู่ในอริยวงศ์อันเป็นของเก่า ซึ่งนักปราชญ์สรรเสริญว่าเป็นเลิศ ฯ

อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมเป็นผู้สันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้ มีปรกติกล่าวสรรเสริญคุณแห่งการสันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้ ย่อมไม่ถึงการแสวงหาอันไม่สมควรเพราะเสนาสนะเป็นเหตุ เมื่อไม่ได้ก็ไม่ตกใจ ครั้นได้แล้วย่อมไม่ยึดถือ ไม่หมกมุ่น ไม่ห่วงใย มีปรกติเห็นโทษ มีปัญญาเครื่องรื้อออกบริโภคอยู่และย่อมไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความสันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้นั้น จริงอยู่ ภิกษุใดเป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้านในการสันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้นั้น มีสัมปชัญญะ มีสติเฉพาะหน้า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เรากล่าวว่า เป็นผู้ตั้งอยู่ในอริยวงศ์อันเป็นของเก่า ซึ่งนักปราชญ์สรรเสริญว่าเป็นเลิศ ฯ

อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมเป็นผู้มีภาวนาเป็นที่มายินดี ยินดีแล้วในภาวนา มีปหานะเป็นที่มายินดี ยินดีแล้วในปหานะ ย่อมไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่นเพราะมีภาวนาเป็นที่มายินดี เพราะยินดีในภาวนา เพราะมีปหานะเป็นที่มายินดี เพราะยินดีในปหานะนั้น จริงอยู่ ภิกษุใดเป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้านในภาวนาและปหานะนั้น มีสัมปชัญญะ มีสติเฉพาะหน้า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เรากล่าวว่า เป็นผู้ตั้งอยู่ในอริยวงศ์อันเป็นของเก่า ซึ่งนักปราชญ์สรรเสริญว่าเป็นเลิศ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยวงศ์ ๔ ประการนี้แล นักปราชญ์รู้ว่าเลิศมีมานาน เป็นเชื้อสายแห่งพระอริยะเป็นของเก่า ไม่กระจัดกระจาย และไม่เคยกระจัดกระจาย อันบัณฑิตย่อมไม่รังเกียจ จักไม่รังเกียจ วิญญูชนทั้งสมณะและพราหมณ์ไม่เกลียด ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยอริยวงศ์ ๔ ประการนี้ ถึงแม้อยู่ในทิศตะวันออก เธอย่อมครอบงำความไม่ยินดีเสียได้ ความไม่ยินดีย่อมไม่ครอบงำเธอได้ ถึงแม้เธออยู่ในทิศตะวันตก ... ในทิศเหนือ ... ในทิศใต้ เธอก็ย่อมครอบงำความไม่ยินดีเสียได้ ความไม่ยินดีย่อมไม่ครอบงำเธอได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเธอเป็นธีรชนครอบงำความไม่ยินดีและความยินดีได้ ฯ
ความยินดีย่อมครอบงำธีรชนไม่ได้ ความไม่ยินดีไม่อาจ
ครอบงำธีรชน ธีรชนย่อมครอบงำความไม่ยินดีได้ เพราะ
ธีรชนเป็นผู้ครอบงำความไม่ยินดี กิเลสอะไรจะมากั้นกาง
บุคคลผู้บรรเทากิเลสเสียได้ มีปรกติละกรรมทั้งปวงได้เด็ดขาด
ใครควรเพื่อจะติเตียนบุคคลนั้นผู้เป็นประดุจแท่งทองชมพูนุท
แม้เทวดาก็เชยชม แม้พรหมก็สรรเสริญ ฯ
[ความเป็นเชื้อสายแห่งพระอริยเจ้า 4 ประการที่ผู้รู้สรรเสริญ เป็นของเก่าแก่ ไม่ถูกรังเกียจ วิญญูชนทั้งสมณะและพราหมณ์ไม่เกลียดคือ
1.ความพอใจในจีวรตามมีตามได้ ไม่แสวงหาโดยไม่สมควร ไม่ได้ก็ไม่ตกใจ มีสติ
2.ความพอใจในบิณฑบาตตามมีตามได้ ไม่แสวงหาโดยไม่สมควร ไม่ได้ก็ไม่ตกใจ มีสติ
3.ความพอใจในเสนาสนะตามีตามได้ ไม่แสวงหาโดยไม่สมควร ไม่ได้ก็ไม่ตกใจ มีสติ
4.ความพอใจในการอบรมจิต ยินดีในการละกิเลส ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น มีสติ]


จบสูตรที่ ๘

ธรรมปทสูตร

[๒๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บทธรรม ๔ ประการนี้ บัณฑิตสรรเสริญว่าเลิศ เป็นของมีมานาน เป็นประเพณีของพระอริยะเป็นของเก่า ไม่กระจัดกระจาย ไม่เคยกระจัดกระจาย บัณฑิตย่อมไม่รังเกียจ และจักไม่รังเกียจ อันวิญญูชนทั้งสมณะและพราหมณ์ไม่เกลียด บทธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ บทธรรมคืออนภิชฌา ๑ บทธรรมคืออพยาบาท ๑ บทธรรมคือสัมมาสติ ๑ บทธรรมคือสัมมาสมาธิ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บทธรรม ๔ ประการนี้แล บัณฑิตสรรเสริญว่าเลิศ เป็นของมีมานาน เป็นประเพณีของพระอริยะเป็นของเก่า ไม่กระจัดกระจาย ไม่เคยกระจัดกระจาย นักปราชญ์ย่อมไม่รังเกียจ จักไม่รังเกียจ วิญญูชนทั้งสมณะและพราหมณ์ไม่เกลียด ฯ
บุคคลไม่พึงเป็นผู้มากไปด้วยความเพ่งเล็ง มีใจไม่พยาบาท
มีสติ มีจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งตั้งมั่นด้วยดีในความเป็นกลางอยู่ ฯ
[ธรรม 4 ประการที่ผู้รู้สรรเสริญ เป็นของเก่าแก่ ไม่ถูกรังเกียจ วิญญูชนทั้งสมณะและพราหมณ์ไม่เกลียดคือ
1.ความไม่โลภ
2.ความไม่พยาบาท
3.ความมีสติโดยชอบ
4.ความตั้งจิตมั่นโดยชอบ]


จบสูตรที่ ๙

ปริพาชกสูตร

[๓๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏใกล้กรุงราชคฤห์ ก็โดยสมัยนั้นแล พวกปริพาชกผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง มากด้วยกัน อาศัยอยู่ในปริพาชการาม ใกล้ฝั่งแม่น้ำสิปปินี คือ อันนภารปริพาชก วธรปริพาชก และสุกุลทายิปริพาชก รวมทั้งปริพาชกผู้มีชื่อเสียงโด่งดังเหล่าอื่นด้วย ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่เร้นในเวลาเย็น เสด็จเข้าไปทางปริพาชการาม ริมฝั่งแม่น้ำสิปปินี ครั้นเสด็จเข้าไปแล้ว ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาจัดไว้ถวาย ครั้นประทับนั่งแล้ว ได้ตรัสกะปริพาชกเหล่านั้นว่า ดูกรปริพาชกทั้งหลาย บทแห่งธรรม ๔ ประการนี้ บัณฑิตสรรเสริญว่าเป็นเลิศ เป็นของมีมานาน เป็นประเพณีของพระอริยะ เป็นของเก่า ไม่กระจัดกระจาย ไม่เคยกระจัดกระจาย นักปราชญ์ย่อมไม่รังเกียจ จักไม่รังเกียจ วิญญูชนทั้งสมณะและพราหมณ์ไม่เกลียด บทแห่งธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ บทแห่งธรรมคืออนภิชฌา ๑ บทแห่งธรรมคือ อพยาบาท ๑ บทแห่งธรรม คือ สัมมาสติ ๑ บทแห่งธรรมคือสัมมาสมาธิ ๑ ดูกรปริพาชกทั้งหลาย บทแห่งธรรม ๔ ประการนี้แล บัณฑิตสรรเสริญว่าเป็นเลิศ เป็นของมีมานาน เป็นประเพณีของพระอริยะ เป็นของเก่า ไม่กระจัดกระจาย ไม่เคยกระจัดกระจาย บัณฑิตย่อมไม่รังเกียจ จักไม่รังเกียจ วิญญูชนทั้งสมณะและพราหมณ์ไม่เกลียด บุคคลใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราบอกคืนบทแห่งธรรมคืออนภิชฌานี้แล้ว จักบัญญัติสมณะหรือพราหมณ์ผู้มากไปด้วยอภิชฌา ผู้มีราคะแรงกล้าในกามทั้งหลาย ดังนี้ เราพึงกล่าวในเพราะคำนั้นกะบุคคลนั้นอย่างนี้ว่า จงมา จงกล่าว จงพูดเถิด เราจักดูอานุภาพของเขา ดังนี้ ข้อที่บุคคลนั้นแล บอกคืนบทแห่งธรรมคืออนภิชฌาแล้ว จักบัญญัติสมณะหรือพราหมณ์ผู้มากไปด้วยอภิชฌา มีราคะแรงกล้าในกามทั้งหลาย นั่นไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ บุคคลใดแลพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราบอกคืนบทแห่งธรรมคืออพยาบาทนี้แล้ว จักบัญญัติสมณะหรือพราหมณ์ผู้มีจิตพยาบาท มีความดำริแห่งใจอันเศร้าหมอง เราพึงกล่าวในเพราะคำนั้นกะบุคคลนั้นอย่างนี้ว่า จงมา จงกล่าว จงพูดเถิด เราจักดูอานุภาพของเขา ดังนี้ ข้อที่บุคคลนั้นแลบอกคืนบทแห่งธรรมคืออพยาบาทแล้ว จักบัญญัติสมณะหรือพราหมณ์ผู้มีจิตพยาบาท มีความดำริแห่งใจอันเศร้าหมอง นั่นไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ บุคคลใดแลพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราบอกคืนบทแห่งธรรมคือสัมมาสตินี้แล้ว จักบัญญัติสมณะหรือพราหมณ์ผู้มีสติหลงลืม ผู้ไม่มีสัมปชัญญะ ดังนี้ เราพึงกล่าวในเพราะคำนั้นกะบุคคลนั้นอย่างนี้ว่า จงมา จงกล่าว จงพูดเถิด เราจักดูอานุภาพของเขา ดังนี้ ข้อที่บุคคลนั้นแลบอกคืนบทแห่งธรรมคือสัมมาสติแล้ว จักบัญญัติสมณะหรือพราหมณ์ผู้มีสติหลงลืม ผู้ไม่มีสัมปชัญญะ นั่นไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ บุคคลใดแลพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราบอกคืนบทแห่งธรรมคือสัมมาสมาธิแล้ว จักบัญญัติสมณะหรือพราหมณ์ผู้มีจิตไม่ตั้งมั่น ผู้มีจิตหมุนเวียน ดังนี้ เราพึงกล่าวในเพราะคำนั้นกะบุคคลนั้นอย่างนี้ว่า จงมา จงกล่าว จงพูดเถิด เราจักดูอานุภาพของเขา ดังนี้ ข้อที่บุคคลนั้นแลบอกคืนบทแห่งธรรมคือสัมมาสมาธิแล้ว จักบัญญัติสมณะหรือพราหมณ์ผู้มีจิตไม่ตั้งมั่น ผู้มีจิตหมุนเวียน นั่นไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ฯ

บุคคลใดแลพึงสำคัญบทแห่งธรรม ๔ ประการนี้ว่า ควรติเตียน ควรคัดค้าน ฐานะอันบัณฑิตพึงติเตียน ซึ่งกระทบกระเทือนวาทะอันประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมมาถึงบุคคลนั้นในปัจจุบันเทียว บทแห่งธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ ถ้าบุคคลย่อมติเตียน ย่อมคัดค้านบทแห่งธรรม คือ อนภิชฌา และสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเป็นผู้มากไปด้วยอภิชฌา มีราคะแรงกล้าในกามทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น บุคคลนั้นยกย่องบูชาและสรรเสริญ ถ้าบุคคลย่อมติเตียน ย่อมคัดค้านบทแห่งธรรม คืออพยาบาท สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีจิตพยาบาท มีความดำริแห่งใจอันเศร้าหมอง บุคคลนั้นยกย่องบูชาและสรรเสริญ ถ้าบุคคลย่อมติเตียน ย่อมคัดค้านบทแห่งธรรม คือ สัมมาสติ สมณะหรือพราหมณ์ ผู้มีสติหลงลืม ไม่มีสัมปชัญญะ บุคคลนั้นยกย่องบูชาและสรรเสริญ ถ้าบุคคลย่อมติเตียน ย่อมคัดค้านบทแห่งธรรม คือ สัมมาสมาธิ สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีจิตไม่ตั้งมั่น ผู้มีจิตหมุนเวียน บุคคลนั้นยกย่องบูชาและสรรเสริญ ฯ

บุคคลใดพึงสำคัญบทแห่งธรรม ๔ ประการนี้ว่า ควรติเตียน ควรคัดค้าน ฐานะอันบัณฑิตพึงติเตียน ซึ่งกระทบกระเทือนวาทะอันประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้ ย่อมเข้าถึงบุคคลนั้นในปัจจุบันเทียว ปริพาชกชื่อวัสสะและภัญญะผู้อยู่ในอุกกลชนบทเป็นอเหตุกวาทะ อกิริยวาทะ นัตถิกวาทะ ได้สำคัญบทแห่งธรรม ๔ ประการนี้ว่าไม่ควรติเตียน ไม่ควรคัดค้าน ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะกลัวต่อนินทา กลัวต่อความกระทบกระเทือน และกลัวต่อความติเตียน ฯ
บุคคลผู้ไม่พยาบาท มีสติในกาลทุกเมื่อ มีจิตตั้งมั่นใน
ภายใน ศึกษาในความกำจัดอภิชฌาอยู่ เราเรียกว่าเป็นผู้
ไม่ประมาท ฯ
[ธรรม 4 ประการที่ผู้รู้สรรเสริญ เป็นของเก่าแก่ ไม่ถูกรังเกียจ วิญญูชนทั้งสมณะและพราหมณ์ไม่เกลียดคือ
1.ความไม่โลภ
2.ความไม่พยาบาท
3.ความมีสติโดยชอบ
4.ความตั้งจิตมั่นโดยชอบ

ผู้บอกคืนในธรรม 4 ประการนี้ ว่าจักไม่ปฏิบัติ ไม่ยึดถือว่าควรปฏิบัติ ควรติเตียน ควรคัดค้าน ย่อมไม่อาจกล่าวได้ว่าตนเป็นสมณะหรือพราหมณ์ บัณฑิตพึงติเตียนในปัจจุบันนั้นเทียว]


จบสูตรที่ ๑๐

จบอุรุเวลวรรคที่ ๓

*****************************************
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านครับ




 

Create Date : 13 กุมภาพันธ์ 2549
0 comments
Last Update : 13 กุมภาพันธ์ 2549 14:20:05 น.
Counter : 462 Pageviews.


พญาเหยี่ยว
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add พญาเหยี่ยว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.