พระเครื่อง : แหล่งข้อมูลบทความพระเครื่อง เครื่องรางของขลัง และวัตถุมงคล
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2556
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
30 พฤษภาคม 2556
 
All Blogs
 

ชีวิต ความตาย ณ แอนตาร์กติกา!

ชีวิต ความตาย ณ แอนตาร์กติกา!

สารคดีสัปดาห์นี้ไทยรัฐออนไลน์พาไปพบกับ แอนตาร์กติกา ชีวิตความตาย ประสบการณ์สุดระทึกที่ต้องอ่าน...!

มอว์สันได้ยินเสียงเห่าหอนของสุนัขดังแว่วมาทางด้านหลัง เขาคิดว่าต้องเป็นหนึ่งในสุนัขลากเลื่อน 6 ตัวที่ตามหลังมา แต่เมื่อแมร์ตซ์ซึ่งเดินทางล่วงหน้าไปก่อนด้วยสกีตลอดทั้งเช้านั้น หยุดและสกีกลับมาตามรอยสกีของเขา  มอว์สันเห็นสีหน้าตื่นตระหนกของเพื่อนร่วมทีม จึงเหลียวหลังกลับไปมอง ที่ราบเวิ้งว้างซึ่งปกคลุมด้วยหิมะและน้ำแข็งนั้นทอดยาวสุดสายตา มีเพียงรอยเลื่อนของมอว์สันปรากฏให้เห็น แล้วเลื่อนอีกคันอยู่ที่ไหนกันเล่า มอว์สันรุดเดินเท้ากลับไปตามรอยเลื่อน ทันใดนั้นเขาก็มาถึงปากหลุมกว้าง 3.5 เมตรเหนือพื้นน้ำแข็ง ปากหลุมฝั่งตรงข้ามมีรอยเลื่อนสองรอยแยกกันมุ่งหน้าสู่ปากหลุม แต่ปากหลุมฝั่งนี้กลับมีรอยเลื่อนเพียงรอยเดียวที่เดินหน้าต่อไป


เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ปี 1921 ดักลาส มอว์สัน นักสำรวจผู้ช่ำชองด้วยวัยเพียง 30 ปี เป็นหัวหน้าคณะสำรวจออสเตรเลเชียนแอนตาร์กติกหรือเอเออี (Australasian Antarctic Expedition : AAE) ซึ่งประกอบด้วยลูกทีม 31 คน ปฏิบัติภารกิจการสำรวจที่ทะเยอทะยานที่สุด ณ ทวีปใต้สุดของโลก มอว์สันมุ่งมั่น ที่จะศึกษาทุกสิ่งเท่าที่ทำได้เกี่ยวกับพื้นที่ยาว 3,000 กิโลเมตรในแอนตาร์กติกาซึ่งเป็นดินแดนที่ไม่มีใครรู้จัก หลังจากสร้างกระท่อมเหนือชายฝั่งเว้าแหว่งที่พวกเขาตั้งชื่อให้ว่า อ่าวคอมมอนเวลท์ (Commonwealth Bay) คณะสำรวจเอเออีก็ใช้เวลาช่วงฤดูหนาวในพื้นที่ซึ่งต่อมาได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีลมกระโชกแรงที่สุดในโลก (อย่างน้อยที่ระดับทะเล) โดยกระแสลมอาจพัดแรงถึง 320 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ทีมเลื่อนหิมะของมอว์สันซึ่งออกเดินทางในเดือนพฤศจิกายน ปี 1912 ประกอบด้วยทีมลากเลื่อนทีมละ 3 คน จำนวน 8 ทีม ออกเดินทางไปยังทุกทิศทุกทางเท่าที่จะเป็นไปได้ สำหรับทีมตะวันออกไกลของเขาเอง มอว์สัน เลือกซาเวียร์ แมร์ตซ์ แชมป์สกีชาวสวิส และเบลเกรฟ นินนิส หนุ่มอังกฤษผู้กระตือรือร้น  ทั้งคู่อยู่ในวัย 29 และ 25 ปีตามลำดับ

พอถึงเช้าวันที่ 14 ธันวาคม หลังออกเดินทางมาได้ 35 วัน ทั้งสามก็เดินทางมาถึงจุดที่อยู่ห่างจากกระท่อมราว 480 กิโลเมตร  พวกเขาข้ามธารน้ำแข็งใหญ่ 2 แห่งและเหวน้ำแข็งอีกมากมาย หลังเที่ยงในวันเดียวกันนั้น แมร์ตซ์ซึ่งนำหน้าไปก่อนยกไม้สกีขึ้นสูงเพื่อเป็นสัญญาณว่าพบเหวน้ำแข็งอีกแห่ง มอว์สันคิดว่า นั่นคงเป็นปัญหาเพียงเล็กน้อย เพราะเลื่อนของเขาสามารถเคลื่อนผ่านสะพานหิมะไปได้อย่างราบรื่น เขาตะโกนเตือนนินนิสเหมือนอย่างเคย และเมื่อเหลียวหลังกลับมามองครั้งสุดท้าย  เขาก็เห็นเพื่อนร่วมทีมปรับเส้นทาง ข้ามเหวน้ำแข็งเป็นแนวตรงแทนแนวทแยง

ตอนนี้  มอว์สันและแมร์ตซ์ช่วยกันตัดแผ่นน้ำแข็งบางๆ ที่ยื่นออกมาเหนือปากเหว ผูกเชือกรัดที่ลำตัวและผลัดกันชะโงกมองลงไปในหลุมลึก เบื้องล่างลึกลงไปราว 50 เมตร สุนัขตัวหนึ่งนอนครวญครางอยู่บนหิ้งน้ำแข็ง เห็นได้ชัดว่ามันหลังหัก สุนัขอีกตัวนอนตายแน่นิ่งอยู่ข้างๆ อุปกรณ์สองสามชิ้นกระจัดกระจายอยู่บนหิ้งน้ำแข็งเดียวกัน ไม่มีวี่แววของนินนิสหรือเลื่อนเลยแม้แต่น้อย หลังจากตะโกนเรียกอยู่นานนับชั่วโมง                         

ในที่สุดพวกเขาจำต้องยอมรับสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง นั่นคือนินนิสจากไปแล้ว และจากไปพร้อมอุปกรณ์สำคัญที่สุดของทีม ซึ่งรวมถึงเต็นท์ขนาด 3 คนนอน สุนัขลากเลื่อนที่ดีที่สุด 6 ตัว อาหารสุนัขทั้งหมด และอาหารคนเกือบทั้งหมด

ช่วงวันแรกๆ ของการบ่ายหน้ากลับสู่กระท่อมซึ่งเป็นแคมป์หลัก พวกเขาทำเวลาและระยะทางได้ดีโดยมีอะดรีนาลินเป็นพลังขับเคลื่อน แต่ในช่วงสองสัปดาห์ถัดมา สุนัขลากเลื่อนทยอยตายไปทีละตัว ถึงตอนนี้ มีเพียง “จินเจอร์” ที่แข็งแกร่งที่สุดในบรรดาสุนัขที่เหลือรอดซึ่งสามารถลากเลื่อนได้ ทั้งสองจึงจัดแจงสวมเครื่องรัดเข้าที่หน้าอกและสะโพกของตนเอง และช่วยลากเลื่อนเคียงข้างมัน หลังเดินทางไปได้ไม่กี่กิโลเมตร พวกเขาก็เริ่มหมดเรี่ยวแรง ทั้งคู่ล้มลุกคลุกคลานจนเลื่อนพลิกคว่ำหลายต่อหลายครั้ง

แล้วก็มีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นกับแมร์ตซ์  เขาอ่อนแรงลงอย่างรวดเร็วจนไม่สามารถไปต่อได้ในวันที่ 2  มกราคม   เขากัดฟันเดินทางต่อได้เพียง 8 กิโลเมตรในวันรุ่งขึ้น ก่อนจะยอมแพ้ ทำให้มอว์สันต้องตั้งเต็นท์ขึ้น มอว์สันรู้ดีว่าความหวังเดียวของพวกเขาคือต้องเดินหน้าต่อไป แต่พอถึงวันที่ 5 มกราคม แมร์ตซ์ก็ปฏิเสธที่จะไปต่อโดยบอกว่ารังแต่จะฆ่าตัวตายเปล่าๆ  พอถึงวันที่ 7 มกราคม ทั้งคู่เดินทางกลับไปได้กว่า 300 กิโลเมตร แต่ยังเหลืออีกกว่า 150 กิโลเมตรที่ต้องไปต่อ  ทว่าขณะที่พวกเขาช่วยกันเก็บที่พักในเช้าวันนั้น มอว์สันพบว่าเพื่อนร่วมทีม “ถ่ายอุจจาระรดกางเกง” มอว์สันจัดแจงถอดเสื้อผ้าให้แมร์ตซ์ ทำความสะอาด และจัดให้เขานอนในถุงนอนอีกครั้ง จนเวลา 02.00 น. ของวันที่ 8 มกราคม แมร์ตซ์สิ้นใจขณะนอนหลับ

มอว์สันฝังเพื่อนทั้งถุงนอน ใต้ก้อนหิมะที่สุมรวมกันไว้เป็นเนิน ถึงตอนนี้เสบียงอาหารร่อยหรอจนเกือบหมด และสภาพร่างกายของมอว์สันก็ย่ำแย่ถึงขีดสุด ทั้งแผลเปื่อยที่จมูก ริมฝีปาก และถุงอัณฑะ เส้นผมหลุดร่วงเป็นกระจุก อีกทั้งผิวหนังบริเวณขาก็หลุดลอก และยังต้องเดินทางอีกกว่า 150 กิโลเมตร

มอว์สันยังต้องแข่งกับเวลาและระยะทาง เรือออโรรา ซึ่งเป็นเรือกู้ภัยและสนับสนุนภารกิจสำรวจครั้งนี้มีกำหนดเดินทางถึงอ่าวคอมมอนเวลท์ในวันที่ 15 มกราคม เพื่อรับคณะกลับบ้าน แต่ขณะที่วันเวลาล่วงไป มอว์สันยังอยู่ห่างจากกระท่อมกว่า 120 กิโลเมตร และร่างกายก็อ่อนแรงลงทุกโมงยาม

มอว์สันเชื่อแน่แล้วว่าคงไม่มีโอกาสรอด กำหนดเส้นตายที่ต้องกลับถึงกระท่อมก็ผ่านไปแล้ว เท่าที่รู้เรือออโรรา คงแล่นออกจากฝั่งพร้อมลูกทีมเอเออีคนอื่นๆ สิ่งที่ผลักดันให้เขาฝ่าฟันต่อไปก็คือ ความหวังที่จะทิ้งสมุดบันทึกของตนพร้อมกับของแมร์ตซ์ไว้ในที่ที่คนอื่นๆ อาจมาพบเจอเข้าสักวัน  กระนั้น ปาฏิหาริย์เล็กๆก็เกิดขึ้นในวันที่ 29 มกราคม เขาเห็นเงาอะไรตะคุ่มๆ อยู่ในสายหมอก เป็นกองหิมะคลุมด้วยผ้าสีดำ ด้านในเขาพบข้อความจากลูกทีมสำรวจสามคนที่ออกมาตามหาและเสบียงอาหารหนึ่งถุง ขอบคุณสำหรับอาหาร! จากข้อความดังกล่าว มอว์สันรู้ว่าตนเองอยู่ห่างจากกระท่อมเพียง 45 กิโลเมตรเท่านั้น

ทว่าระยะทางใกล้แค่นี้อาจต้องใช้เวลาถึง 10 วัน เพราะเขาต้องรอให้พายุหิมะที่กินเวลานานผ่านไปก่อน ในที่สุดวันที่ 8 กุมภาพันธ์ มอว์สันก็เริ่มออกเดินทางช่วงสุดท้าย ก่อนจะมองเห็นกระท่อม เขาเห็นจุดดำๆ ที่เส้นขอบฟ้า เป็นไปตามที่เขากลัว นั่นคือเรือออโรรา ที่ออกจากอ่าวคอมมอนเวลท์ จากนั้นกระท่อมก็ปรากฏให้เห็น ด้านนอกมีชายสามคนกำลังง่วนกับงานอะไรสักอย่าง

มอว์สันพลาดเรือออโรรา ไปเพียงห้าชั่วโมง เขาและชายอีกหกคนที่ได้รับมอบหมายให้อยู่ต่อเพื่อค้นหาทีมของมอว์สัน จึงต้องใช้ชีวิตต่ออีกหนึ่งปีในสถานที่ที่ลมแรงที่สุดในโลก


สิบเดือนผ่านไป ก่อนที่เรือออโรรา จะหวนกลับมาอีกครั้ง ท้ายที่สุดเมื่อมอว์สันกลับถึงออสเตรเลียในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1914 เขาได้รับการต้อนรับเยี่ยงวีรบุรุษของชาติ และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์อัศวินจากพระเจ้าจอร์จที่ห้า เขาใช้ชีวิตการทำงานที่เหลือเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยแอดิเลด แม้มอว์สันจะนำภารกิจสำรวจแอนตาร์กติกาอีกสองครั้ง

แต่ผลงานที่โด่งดังที่สุดของเขากลับเป็นรายงานที่ได้รับการตีพิมพ์ทั้ง 96 ฉบับว่าด้วยการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ของคณะสำรวจเอเออี เมื่อมอว์สันจากไปในปี 1958 ชาวออสเตรเลียต่างร่วมไว้อาลัยแด่นักสำรวจผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของพวกเขา

เรื่อง เดวิด โรเบิร์ตส์ ภาพถ่าย แฟรงก์ เฮอร์ลีย์ ข้อมูลจากเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย




 

Create Date : 30 พฤษภาคม 2556
0 comments
Last Update : 30 พฤษภาคม 2556 12:46:27 น.
Counter : 3889 Pageviews.


amulet108
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 96 คน [?]








Friends' blogs
[Add amulet108's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.