สิงหาคม 2548
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
9 สิงหาคม 2548
 

ปฐมบท solution on demands

เศรษฐศาสตร์จำเป็น........

ในขณะที่ศาสตร์ทางด้านการตลาด เป็นตัวชูโรงเด่นทั้งในแง่การบริหารประเทศ และการบริหารองค์กรธุรกิจ แต่แท้ที่จริงแล้ว เบื้องหลังของวิชาการตลาด มีพื้นฐานมาจากแนวคิดของเศรษฐศาสตร์ที่ทุกคนรู้สึกว่ายากแก่การเข้าใจและไกลเกินเอื้อม
คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่า เศรษฐศาสตร์คือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเงิน การธนาคาร หรือไม่ก็ต้องเกี่ยวข้องกับการออกนโยบายต่างๆของภาครัฐ ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจอะไร
ความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ เป็นการมองเหรียญด้านเดียวของเศรษฐศาสตร์ เพราะเศรษฐศาสตร์มีสองแขนงหลักๆ คือเศรษฐศาสตร์มหภาค (Macroeconomics) และเศรษฐศาสตร์จุลภาค (Microeconomics)
เมื่อเร็วๆ นี้ ดิฉันมีโอกาสเข้าอบรมหลักสูตร Kotler on Marketing กับองค์กรแห่งหนึ่ง จากประสบการณ์ในอาชีพสอนหนังสือเป็นทุนเดิม ผนวกกับองค์ความรู้ใหม่ๆ
ดิฉันเห็นว่าตัวเศรษฐศาสตร์จุลภาคนั่นเอง ที่เป็นแนวคิดพื้นฐานการวิเคราะห์กลยุทธ์ต่างๆของการตลาด และรู้สึกทึ่งมากเมื่อศึกษาประวัติของ Philip Kotler ผู้จบการศึกษาทางเศรษฐศาสตร์ทั้งปริญญาโทและปริญญาเอก จนได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งศาสตร์การตลาด
นอกจากนี้ในระหว่างเข้าอบรม มักจะได้ยินศัพท์แสงที่แสนจะคุ้นเคยอยู่เป็นเนืองๆ เช่น Demand Elasticity, Economies of Scale, Oligopoly Market, Product Differentiationฯลฯ
เมื่อมาทบทวนถึงเนื้อหา คิดว่าคงจะดีไม่น้อย ถ้าหากจะเขียนบทความที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดต่างๆทางเศรษฐศาสตร์ที่วิชาทางการตลาดนำมาประยุกต์ใช้ และเพื่อทำความเข้าใจว่า จริงๆ แล้วเศรษฐศาสตร์ ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอย่างที่คิด ตรงกันข้ามกลับเป็นเรื่องที่น่าสนใจและน่าศึกษาเพิ่มเติมเหลือเกิน
แนวของการเขียนบทความชุดนี้ เป็นการเอา concept ของเศรษฐศาสตร์จุลภาคเบื้องต้น มาอธิบายประยุกต์ และตอบคำถามหลายๆ อย่างที่นักการตลาดควรที่จะวิเคราะห์ เช่น
“ทำไมสินค้าชนิดเดียวกัน ผู้ขายสามารถขายราคาได้ต่างกัน?”
“ทำไมการออกแบบสอบถามจึงมีข้อจำกัดของจำนวนข้อคำถาม?”
“สินค้าที่มี price sensitive ที่ต่างกัน ผู้ขายควรที่จะกำหนดราคาอย่างไร และอะไรเป็นเครื่องชี้วัดความแปรปรวนดังกล่าว?”
“Economies of Scale คืออะไร และยังคงมีความสำคัญอยู่หรือไม่ต่อการผลิตในยุคปัจจุบัน?”
“ การสร้างความแตกต่างของสินค้า (product differentiation) คืออะไร มีวิธีการอย่างไร แล้วทำไปเพื่ออะไร?”
“โครงสร้างตลาดแบบต่างๆ มีผลต่อการออกกลยุทธ์ของผู้ผลิตในตลาดหรือไม่ อย่างไร แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเรากำลังอยู่ในตลาดประเภทไหน?” ฯลฯ
ประเด็นเหล่านี้ นักการตลาดหลายท่านอาจจะรู้สึกว่า เป็นเรื่องที่รู้ๆ กันอยู่แล้วมันจะเป็น “เหล้าเก่าในขวดใหม่” หรือเปล่า
ในทัศนะของดิฉันคิดว่า เป็นการมองต่างมุมมากกว่า
คุณคิดว่าเศรษฐศาสตร์ต่างจากการตลาดอย่างไร?

ประเด็นแรกของบทความชุดนี้ ดิฉันจะพาคุณไปหาแก่นแท้ของการศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์ ว่ามีความสำคัญอย่างไร เหตุใดในชีวิตประจำวันของเรา ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะของผู้ผลิต ผู้บริโภค หรือ นักการตลาด จึงหลีกหนีไม่พ้น คำว่า “เศรษฐศาสตร์”
วิชาเศรษฐศาสตร์ คือ การศึกษาถึงพฤติกรรมการตัดสินใจของหน่วยเศรษฐกิจในสังคม ในการเลือกที่จะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ไม่ว่าเราจะศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่เน้นศึกษาเพื่อเข้าใจว่า ทำไมผู้บริโภคจึงเลือกสินค้าบางอย่าง ในขณะเดียวกันก็ไม่เลือกสินค้าอีกหลายๆ อย่าง หรือการศึกษาพฤติกรรมผู้ผลิต ที่เน้นศึกษาถึงการตัดสินใจว่าจะผลิตอะไร ใช้ปัจจัยอะไร อย่างไร แล้วจะขายใคร ปริมาณเท่าใด ราคาเท่าไหร่
จะเห็นได้ว่า เป็นการศึกษาถึงการตัดสินใจ และพฤติกรรมต่างๆของหน่วยเศรษฐกิจทั้งสิ้น
เมื่อวิเคราะห์ในลึกลงไป สาเหตุหลักที่ทำให้เราต้องศึกษาถึงพฤติกรรมดังกล่าว ก็เนื่องมาจาก ทรัพยากรที่มีอย่างจำกัด
นั่นคือ ผู้บริโภคมีรายได้ที่จำกัด
ในขณะที่ผู้ผลิตก็มีเงินทุน หรือ ปัจจัยการผลิตที่จำกัด
ดังนั้น พวกเขาจึงต้องทำการจัดสรรทรัพยากรของตนเอง เพื่อประโยชนที่สูงสุดในแง่มุมที่ต่างกัน
นั่นคือ ผู้บริโภคจะใช้เงินของเขาเพื่อซื้อสินค้า หรือบริการที่ทำให้ตนเองได้รับความพอใจ (utility) สูงสุด ในขณะที่ผู้ผลิตก็จะใช้เงินทุนของตัวเองผลิตสินค้า กำหนดกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อกำไรที่สูงที่สุด
เมื่อเข้าถึงหัวใจของวิชาเศรษฐศาสตร์แล้ว จะทำให้เราเข้าใจได้ง่ายขึ้นว่า...
ทำไมทุกคนจึงเกิดมาเพื่อเลือก
เลือกในสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตัวเอง
แน่นอน เมื่อเราต้องเลือกบางสิ่ง ก็จะมีบางสิ่งที่เราไม่ได้เลือก
ในทางเศรษฐศาสตร์ เรียกต้นทุนที่เกิดจากทางเลือกที่เราไม่ได้เลือกว่า ต้นทุนค่าเสียโอกาส (opportunity cost) ซึ่งต้นทุนนี้อาจจะสามารถตีค่าเป็นตัวเงินหรือไม่ก็ได้
เช่น วันนี้หากดิฉันมีเงินอยู่ 100 บาท แล้วตัดสินใจที่จะเอาเงินดังกล่าวไปดูหนัง แทนที่จะเอาไปทานข้าว เพราะดิฉันคิดว่าการใช้เงิน 100 บาทไปกับการดูหนัง ทำให้ได้รับความพอใจมากกว่าการทำอย่างอื่น
ดังนั้น ดิฉันจึงสูญเสียโอกาสที่จะทานข้าวไป
ทุกๆ คนล้วนแต่ต้องเผชิญกับการเสียโอกาสหลายๆ อย่าง
สินค้าหลายๆ อย่างสูญเสียโอกาสในการขายไป เพราะผู้บริโภคเห็นว่ามีสินค้าอื่นที่ทำให้เขาได้รับความพอใจที่มากกว่า
ถ้าคุณอยู่ในฐานะของผู้ผลิตสินค้า ทำอย่างไรให้สินค้าของคุณเป็นสินค้าอันดับหนึ่งในใจของผู้บริโภคสินค้าของคุณเองเป็นต้นทุนค่าเสียโอกาสของผู้บริโภคหรือเปล่า?

ตีพิมพ์ใน นิตยสาร S+M Strategy and Marketing ฉบับเดือนกรกฎาคม 2548 หน้า 94


Create Date : 09 สิงหาคม 2548
Last Update : 9 สิงหาคม 2548 1:39:03 น. 5 comments
Counter : 992 Pageviews.  
 
 
 
 
ผมเข้ามาศึกษาเศรษฐศาสตร์ บ้างครับ... เผื่อจะได้เก่งกับเข้าบ้าง... อิอิ
 
 

โดย: wbj วันที่: 10 สิงหาคม 2548 เวลา:16:17:50 น.  

 
 
 
แม้จะมึนงงกับสูตรคำนวณต่างๆในวิชาเศรษฐศาสตร์ (เบื้องต้น) ที่เคยเรียนมา แต่ผมก็ยังคิดว่า เศรษฐศาสตร์ เป็นเรื่องน่าสนใจครับ

จะมารออ่านนะครับ
 
 

โดย: Nutty Professor วันที่: 27 สิงหาคม 2548 เวลา:17:26:03 น.  

 
 
 
เมื่อไหร่จะมีบทความเพิ่มมาอีกอ่าครับ
 
 

โดย: vis IP: 125.24.81.188 วันที่: 2 มิถุนายน 2551 เวลา:14:50:34 น.  

 
 
 
วิชาหลักการตลาดที่ผมเรียนก็เอาจุล1มาใช้เยอะครับ
 
 

โดย: Pon IP: 202.28.68.202 วันที่: 20 มกราคม 2552 เวลา:23:56:26 น.  

 
 
 
ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้เรียนทางด้านเศณษฐศาสตร์มานะ เราเรียนนิเทศศาสตร์ แต่เราก็สนใจเรื่องเศรษฐศาสตร์อยู่ไม่น้อยนะ เพิ่มอีกสิจะได้เข้ามาอ่านอีก...
 
 

โดย: น. IP: 10.20.81.37, 203.149.16.36 วันที่: 5 พฤศจิกายน 2552 เวลา:11:26:24 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

ajarntik
 
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




ได้รับทุนภูมิพล(ปริญญาตรี)
เศรษฐศาสตร์ มธ. (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง)
แล้วได้รับทุนจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ปริญญาโทเศรษฐศาสตร์ มธ.)
มีประสบการณ์สอน 15 ปี จากสถาบันกวดวิชาเดอะเบรน
และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ก่อนจะผันตัวเองออกมาทำธุรกิจส่วนตัว พร้อมๆไปกับงานที่ปรึกษา
[Add ajarntik's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com